บทความ

พันธกิจต่อวงการวรรณกรรม (3)

by Pookun @September,09 2007 13.21 ( IP : 222...185 ) | Tags : บทความ

พันธกิจต่อวงการวรรณกรรม (3)

ประสบการณ์จากการเข้าไปร่วมงานการส่งเสริมการอ่านการเขียนของหน่วยงานหลัก ไม่ว่าหน่วยงานราชการ หรือว่าหน่วยงานเอกชนต่างๆ หลายครั้งจะพบว่า หัวใจของการส่งเสริมดังกล่าวถูกบิดเบือนไปจนกลายเป็นเรื่องของการแก่งแย่งแข่งขันประกวดประชันไปเสีย

นักเรียนนักศึกษาที่ส่งตัวเองเข้าประกวดเพื่อล่ารางวัลทั้งหลาย พวกเขาอาจต้องเตรียมตัวเป็นแรมเดือน โดยมีพี่เลี้ยงที่จะคอยซักซ้อม ตรวจทาน ปรับปรุง เพิ่มทักษะในการสร้างสรรค์ เราจึงพบว่าในหลายๆเวทีของการประกวดเราได้พบเพียงนักล่ารางวัลมืออาชีพ ที่เดินสายประกวดไปทั่ว สุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์หลังชัยชนะแต่ละครั้ง อาจเป็นชื่อเสียงของโรงเรียน ตำแหน่งหน้าที่การงานของคนที่เกี่ยวข้อง และเงินรางวัลสำหรับเด็ก ส่วนทักษะความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ที่ติดตัวและได้กับตัวเด็กโดยตรง ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า สุดท้ายเด็กๆเหล่านี้จะเป็นได้เพียง “ช่างทางภาษา” หรือว่าศิลปินผู้สร้างสรรค์กันแน่

ต่อกรณีรางวัลระดับชาติก็เช่นกัน อย่างรางวัลซีไรต์ที่กำลังอยู่ในความสนใจ ผู้เขียนไม่ได้มีส่วนได้เสียกับรางวัลดังกล่าว แต่ก็อยากเสนอแนะความเห็นไว้ตรงนี้เผื่อเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่จะสะท้อนการยกระดับรางวัลที่จะพึงมีในอนาคต (แม้ว่าโดยลึกๆในใจแล้ว ไม่อยากให้เราให้คุณค่ากับรางวัลมากเกินไปนัก)

ปัญหาหลักของรางวัลดังกล่าวในมุมมองของผู้เขียนมี 2 ประการได้แก่

  1. การขาดการมีส่วนร่วมในแทบทุกกระบวนการของรางวัล การพิจารณาตั้งแต่การคัดสรรกรรมการ การคัดสรรผลงาน การกำหนดรูปแบบ/ประเภทของรางวัล มีลักษณะ “ปิด” ไม่ได้เปิดกว้างให้สาธารณะเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก นักเขียนหรือสำนักพิมพ์ทำได้เพียงร่วมส่งผลงานไปตามกติกาที่ใครไม่รู้กำหนด สุญญากาศดังกล่าวจึงเป็นตัวบั่นทอนคุณค่าของรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย

แม้นว่าทุกรางวัลจะมีหน่วยงานหรือองค์กรเจ้าภาพหลัก แต่รางวัลที่เป็นสาธารณะนี้ยังมีไม่มากนัก ภาวะลักลั่นดังกล่าวสะท้อนความล้าหลังก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีความหลากหลายและต้องการการมีส่วนร่วมในแทบทุกเรื่อง พลวัตรทางสังคมจะเป็นตัวกดดันให้รางวัลไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับที่

2.การตัดสินงานศิลปะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัวเอง การประกวดเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลวิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมหรือยกระดับผลงานศิลปะ บ่อยครั้งเราจะพบว่าผลงานดีๆ หรือนักเขียนดีๆ อยู่เลยพ้นรางวัลทั้งหลายแหล่ เพราะตัวชี้ขาดจริงๆนั้นย่อมอยู่ที่ผลงานและผู้สร้างมากกว่าองค์ประกอบเสริมแต่งอื่นใด

เมื่อเลือกที่จะหยิบยกผลงานที่มีความหลากหลาย มีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และถูกกำหนดโดยรสนิยมของคนอ่าน กรรมการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่ารสนิยมใครดีกว่าใคร หรือจะมีผลงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่นปรากฏชัดจนเป็นที่ยอมรับของทุกคน เราจึงยอมกล้ำกลืนกับภาวะที่ด้านหนึ่งต้องยกย่องผลงานที่ผ่านการคัดสรรของตัวแทนคนจำนวนหนึ่ง ที่มีรสนิยมหรือมาตรฐานส่วนบุคคลกำกับ และเสียดายผลงานอื่นๆที่ตกหล่น หรือว่าไม่ได้ถูกหยิบยกมาเชิดชู ทั้งที่อาจมีคุณภาพมากกว่า หรือเทียบเท่า เพียงแต่ว่าดีเด่นในคนละแง่มุม การฝืนสภาพดังกล่าว จึงทำให้รางวัลนี้(หรือรางวัลอื่นๆ) ตกอยู่ในภาวะขัดแย้งในตัวเองอยู่ตลอดเวลา

การสถาปนาผลงานที่ดีที่สุดหรือนักเขียน/กวีที่ดีที่สุดในรอบปีผ่านรางวัลจึงเป็นการลดทอนคุณค่าทั้งตัวนักเขียน/กวีและผลงานนั้นๆ ไปในตัวของมัน เป็นผลเนื่องจากเงื่อนไขการประกวดที่มีข้อจำกัดเกินไป(นักเขียน/สำนักพิมพ์ตีพิมพ์ผลงานเพื่อส่งประกวดตามจังหวะซีไรต์ในแต่ละปี) เราจึงได้เพียงผลไม้บ่มแก๊สมากกว่าผลไม้ตามฤดูกาล ขาดการบ่มเพาะและผ่านกาลเวลาที่จะเข้าไปประเมินคุณค่าจนสุกงอม

ส่วนทางออกนั้น ในมุมมองของผู้เขียนก็มีอยู่ ประการเดียว ได้แก่

หากเราเชื่อว่ารางวัลดังกล่าวควรที่จะดำรงอยู่และมีสถานะเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป เราควรทบทวนความหมายของรางวัลว่าแท้จริงเป็นเช่นไร มีภาวะ “มายา” ซุกซ่อนอยู่อย่างไร มีกระบวนการได้มาซึ่งรางวัล และผลโดยตลอดเส้นทางของรางวัลมีสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ โดยดูตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งนี้สามารถทำคู่ขนานไปกับการให้รางวัลในแต่ละปี

วิธีการสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการทำแบบสอบถาม การทำวิจัย การเปิดเวทีย่อยสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมายมิใช่เพียงแค่เปิดเวทีสัมมนาพูดคุยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากได้ผลน้อยเราจะได้แค่ความเห็น หรือความรู้สึก หากทว่าขาดข้อมูล ข้อเท็จจริงประกอบ ซีไรต์ควรที่จะกล้าลงทุนหรือหาเอกชนสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว อาจทำร่วมกับสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้

หลังจากนั้นควรให้การเรียนรู้กับสังคมว่า รางวัลแต่ละรางวัลมีสภาพในเชิง “ความเป็นจริง” อย่างไร เพื่อให้รางวัลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ช่วยกันยกระดับคุณภาพงานเขียนและนักเขียน โดยมองภาพรวมทั้งระบบมากกว่ามองแยกย่อยเฉพาะหนังสือเล่มเดียวที่ได้รางวัล ทำอย่างไรที่จะให้ซีไรต์มิใช่กำหนดหรือชี้นำการอ่านและสร้างภาพลวงว่า นี่คือผลงานสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดในแต่ละปี(ผู้เขียนไม่คาดหวังว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะเห็นด้วย) แต่เป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ  เช่น สมาคมนักเขียน นักวิจารณ์ หรือนักอ่าน

ส่วนวิธีการปลีกย่อย กรรมการจะเป็นใคร มาจากไหน มีจำนวนเท่าไร หนังสือควรจะผลิตก่อนล่วงหน้าสัก 1-2 ปีก่อนส่งประกวดดีหรือไม่ หรือให้กรรมการพิจารณาอย่างโปร่งใส มีการถอดเทปการตัดสินเผยแพร่ หรือมีบทความต่อเนื่องสำหรับแนะนำหนังสือที่เข้าประกวดในแต่ละปี เพื่อให้สังคมมีทางเลือก...เหล่านี้ยังเป็นเรื่องปลีกย่อย สามารถสอบถามหรือเสนอแนะกันได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ดี เราจะเห็นว่าการมองแบบแยกส่วนมีลักษณะเป็นเส้นดิ่งเช่นนี้ ก็ไม่สามาถรถตอบโจทย์โดยภาพรวมได้ เนื่องจากบริบททางวรรณกรรม รางวัลเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น สำหรับผู้เขียนแล้วอยากเรียกร้องต้นทางคือตัวแทนของผู้ที่จะไปกำหนด “ระบบ” มากกว่า ก็คือ ส่วนนโยบายภาครัฐ ส่วนสำนักพิมพ์(รวมสายส่ง ร้านค้า) ผู้ผลิต นักอ่าน และนักวิจารณ์ ทำอย่างไรที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่แท้จริง มากกว่ามองแยกส่วนเฉพาะรางวัล

แสดงความคิดเห็น

« 7801
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ