เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แนะทางออกหลังเลือกตั้ง 'ถ่วงดุลอำนาจ เปิดพื้นที่การเมืองให้ทุกกลุ่ม'

by Pookun @December,14 2007 21.12 ( IP : 222...169 ) | Tags : เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

วันศุกร์ที่ 14 เดือนธันวาคม พศ. 2550 มติชนออนไลน์

การที่กลุ่มทุนกลุ่มใหญ่ที่ขึ้นมากุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีการใช้อำนาจโดยแยกออกจากฉันทามติทางวัฒนธรรมมากเกินไป หรือที่เรียกว่า 'ลุแก่อำนาจ' ทำ ให้ได้รับการต่อต้านจากคนจำนวนมาก เรื่องความชอบธรรมของการใช้อำนาจ


หมายเหตุ : ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวปาฐกถานำเรื่อง “"เมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน"” เนื่องในโอกาสการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 8 จัดโดยคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศูนย์การค้าและนิทรรศการนานาชาติ กรุงเทพฯ ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม

โดยหลักอนิจจังแล้ว เราควรมองเห็นหลักของการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลของสรรพสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสถานการณ์ทางการเมือง อย่าคิดว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือการเปลี่ยน แปลงเป็นเรื่องไม่ดีตลอดเวลา กล่าวอีกแบบหนึ่งคือเราไม่ควรมองคำนิยามคุณค่า ความหมาย หรือบทบาท หรือตัวแสดง ตลอดจนองค์ประกอบทางการเมืองทั้งหลายอย่างหยุดนิ่งตายตัว

การเมืองไทยโดยเนื้อแท้แล้วมีระบบหรือเปล่า สามารถตีเส้นแบ่งชัดเจนว่าเป็นระบอบอะไรได้แค่ไหน หรือว่าในความเป็นจริงสัมพันธภาพของผู้คนในประเทศนี้ ล้วนล่องลอยไปในสายธารของเหตุการณ์ มีตัวบุคคล ตลอดจนพลังต่างๆ ผลุบโผล่แล้วถอยจมไปตามคลื่นลมของกระแสน้ำ หาได้มีสิ่งใดหยุดนิ่งให้นิยาม ไม่มีรูปนามให้ยึดถือ

ในเมื่ออำนาจคือกระบวนการที่คนบังคับคน ไฉนจึงต้องหาคำแก้ตัวที่ต่างกัน คำถามเหล่านี้แค่พวกเราฉุกคิดขึ้นมาเป็นระยะๆ อาจจะช่วยให้โลกร้อนน้อยลง

สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ถือว่าเป็นวิกฤตหนักหน่วงรุนแรงและส่งผลกระทบต่อคนทุกหมู่เหล่า โดยใน 2 ปีมานี้ ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลังในสังคมทางสังคมไทยทำให้สังคมไทยไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านความจริงของสถานการณ์ครบถ้วนมากนัก และทำให้สังคมถูกชักชวนให้เลือกข่าวให้ขัดแย้งกันในทุกประเด็นจนเกิดเป็นความสับสนและหาคำตอบแทบไม่ได้

ปัญหาการเมืองของไทยเกิดจากประเด็นเรื่องอำนาจ โดยประกอบด้วย

1.อำนาจรัฐโบราณที่มาจากที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน

2.อำนาจที่มาจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์

ทำให้มรดกทางการเมืองไทยที่เราได้รับมีความขัดแย้งกันเองเหมือนประวัติศาสตร์ได้กำหนดเส้นทางให้การเมืองไทยเดินมาภายใต้แนวทางแบบนี้

ความแตกต่างกันระหว่าง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งคณะที่ลงมือเองและให้การสนับสนุน กับคณะบุคคลที่ครองอำนาจด้วยวิธีเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 ก็เหมือนความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญระหว่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือมีส่วนต่างกันอยู่บ้างในเรื่องที่มาและเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ แต่ไม่ได้ต่างกันถึงขั้น ขาวล้วน ดำล้วน ดังที่บางฝ่ายพยายามบอกเรา

แนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ต่างยืนยันอยู่ในกรอบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ซึ่ง หมายถึงว่า ในมิติทางเศรษฐกิจ ระบอบไทยรักไทย และระบอบ คมช. ไม่มีอะไรต่างกันโดยพื้นฐาน ส่วนใครจะบริหารจัดการได้ดีแค่ไหน นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

คำถามมีอยู่ว่า ในเมื่อทุกฝ่ายยอมรับจะเดินตามโลกาภิวัตน์ในกรอบลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว อะไรเล่าคือจุดต่าง อะไรเล่าคือประเด็นขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำของไทย จุดนี้เองที่เป็นความสลับซับซ้อนของสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย กล่าวคือ แม้ชนชั้นนำไทยจะมีอยู่หลายหมู่เหล่าและไม่ได้แตกต่างขัดแย้งในระดับเศรษฐกิจสังคมอย่างแท้จริง แต่ประเด็นหลักของ การกระทบกระทั่งก็ยังเหลืออยู่ที่การจัดฐานะในด้านความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ยังไม่ลงตัว

แต่เมื่อด้านหนึ่งประเทศไทยใช้หลักความสัมพันธ์ทางอำนาจในเรื่องความชอบธรรมของอำนาจ ทั้งแบบจารีตประเพณีซึ่งเน้นคุณธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐไทยก็มีการใช้อำนาจที่เน้นฉันทานุมัติจากการเลือกตั้ง ตลอดจนความเสมอภาคทางด้านการเมือง และมีคนบางกลุ่มที่มีความคิดแบบ "หลังสมัยใหม่" ที่ไม่เชื่อว่าอำนาจมีอยู่จริง สภาพดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีทั้งอำนาจที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ดำรงอยู่อย่างขนานกัน บางทีก็ทับซ้อนกันจนแยกกันไม่ออก ดังนั้น การก้าวขึ้นสู่อำนาจและการรักษาอำนาจจึงยากลำบากเป็นพิเศษ ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ละเอียดอ่อนประณีต และต้องเฉลี่ยความพอใจทางการเมืองไปตามบรรทัด ฐานและความคาดหวังหลายแบบ นี่คือภูมิประเทศทางการเมืองที่ผู้มองข้ามมักจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอันแสนแพง

โดยในยามที่องค์ประกอบของอำนาจเหล่านี้เข้าหากันด้วยดี เมื่อนั้นก็จะไม่เกิดปัญหาตรงกันข้าม หากการผสมผสานกันไม่ลงตัวก็ทำให้เกิดความยุ่งยาก และกลายเป็นวิกฤตการเมืองเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปัจจุบัน บทเรียนที่เกิดขึ้นมีความผิดพลาดจากการที่กลุ่มทุนกลุ่มใหญ่ที่ขึ้นมากุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีการใช้อำนาจโดยแยกออกจากฉันทามติทางวัฒนธรรมมากเกินไป หรือที่เรียกว่า "ลุแก่อำนาจ" ทำ ให้ได้รับการต่อต้านจากคนจำนวนมาก เรื่องความชอบธรรมของการใช้อำนาจว่า 1.ต้องมีที่มาที่ชอบธรรม 2.ต้องมีจุดหมายที่ชอบธรรม และ 3.วิธีการใช้อำนาจต้องชอบธรรมด้วย ไม่ใช่ที่มาชอบธรรมแล้วทำอะไรก็ได้

การเอาตัวเลขหรือเสียงข้างมากที่ได้รับจากการเลือกตั้งมาอ้างเป็นฉันทานุมัติ หรือการยินยอมให้มีการใช้อำนาจ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่ความชอบธรรมอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากแต่เวลาใช้อำนาจจริงๆ ผู้ลงคะแนนเหล่านั้นก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยทุกเรื่อง การใช้อำนาจอย่างขาดความชอบธรรมเช่นนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การเมืองไทยไม่มั่นคง แตกแยกมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ความเป็นจริงที่มากกว่านั้นคือ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหารก็ไม่สามารถกุมอำนาจได้อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีฝ่ายไหนจะรักษาความชอบธรรมได้ครบทุกแบบ ทำให้ไม่มีใครสามารถปกครองประเทศได้ทั้งหมด และส่งผลกลับมายังตัวรัฐที่ไม่อาจทำหน้าที่ศูนย์อำนาจได้อย่างเต็มที่เหมือนก่อน เห็นได้จากการที่ทั้ง "ระบอบทักษิณ" และ "ระบอบ คมช." ต่างก็ถูกต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ความจริงข้อหนึ่งมีอยู่ว่าตราบใดที่ประชาธิปไตยยังคงเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปิดพื้นที่ให้เฉพาะคนบางส่วนและปิดสำหรับคนบางส่วน

ตราบนั้นต้องมีพลังอื่นเคลื่อนไหวทับซ้อนกับระบอบนี้ ดังที่เราได้เห็นว่าปัญญาชนนักวิชาการที่ผิดหวังกับรัฐบาลเลือกตั้งจึงไม่คัดค้านการรัฐประหารทั้งที่เขาก็ไม่อยากได้เผด็จการแต่อย่างใดในทางรัฐศาสตร์ สิ่งนี้เรียกว่า "วิกฤตฉันทานุมัติ" ที่เกิดขึ้น ในระบอบโดยระบอบที่อ่อนแอจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลค่อนข้างมาก ในทางกลับกันระบอบที่มีความแข็งแรงแม้ว่าผู้นำทำผิดพลาดการหักล้างเผชิญหน้าก็คงไม่เกิดขึ้น

อันที่จริงวิกฤตฉันทานุมัติในประเทศไทยแก้ไขได้ ถ้าเรารู้จักเก็บบทเรียนโดยเสริมสร้างความระมัดระวังในการออก แบบระบอบการเมืองไม่ให้เป็นแค่เวทีของ "ชนชั้นนำ" บางกลุ่มซึ่งมักปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองของชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ และของ "มวลชนชั้นล่าง" ในเวลาเดียวกัน

เห็นได้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ไม่ได้ หากไม่ได้รับการค้ำจุนจากฉันทามติของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะประชาธิปไตยหากยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนเพียงบางกลุ่มอยู่แบบนี้ก็จะล้มเหลวตลอดไป และสังคมไทยไม่ควรหมุนวนกับสภาพการณ์แบบนี้ ดังนั้นต้องมีการเปิดพื้นที่ของสังคมให้ชนชั้นอื่นๆ ได้เข้ามาใช้อำนาจด้วยเพื่อให้เกิดความสมดุลของสังคม

รัฐธรรมนูญที่ดีต้องไม่มีการทิ้งใคร และไม่กีดกันใครออกจากระบบ อีกทั้งรัฐบาลควรมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างถึงรากลึกเพื่อแก้ปัญหาการด้อยโอกาสของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่ทำแต่นโยบายประชานิยมและอุปถัมภ์เครือข่ายของตัวเองแบบนี้ เพราะกลายเป็นว่ารัฐอุปถัมภ์สังคมก็เพื่อดำรงความชอบธรรมขั้นต่ำของตนเองในการเข้าสู่อำนาจรัฐไว้เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่ายิ่งมีประชาธิปไตยรัฐยิ่งมีฐานะครอบงำมากขึ้นและสังคมยิ่งอ่อนแอลง

วิกฤตการเมืองที่กดดันประเทศไทยเป็นวิกฤตที่ทั้งลงลึกและถึงรากซับซ้อนซ่อนปมอย่างยิ่ง หนักหน่วงเกินกว่าที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการเอาคนหน้าเก่าไม่กี่พันคนมาแข่งขันกันในเวทีเลือกตั้ง หรือแก้ไขด้วยการยกกองทัพมาขับไล่คนเหล่านี้ออกไป เพราะวิกฤตดังกล่าวไม่ได้เกิดจากภายในล้วนๆ แต่หากยังมีการผ่านพ้นของยุคสมัยเข้ามาเป็นบริบทสำคัญจนทำให้ทั้งอำนาจที่ใช้ในการปกครองและผู้คนที่ถูกปกครองล้วนเปลี่ยนไปจากเดิม

ทั้งนี้ อำนาจทางการเมืองต้องตั้งอยู่บนความเชื่อบางอย่างร่วมกันระหว่างผู้ใช้กับผู้ถูกใช้อำนาจ และต้องยอมรับให้ได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มีอำนาจที่สำเร็จรูปรออยู่ ตรงกันข้ามอาจจะพบกับอำนาจที่ว่างเปล่า

สำหรับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้การเมืองไทยดีขึ้น แต่ภายใต้สภาวการณ์เมืองที่อึมครึมเช่นนี้ถือว่าน่าดีใจ เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปโดยสันติ แต่คงไม่สามารถหวังได้มากนักกับนักเลือกตั้งไม่กี่พันคนที่เราเห็นอยู่นี้ และคงไม่มีใครบอกได้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไร แต่อีกด้านก็เชื่อว่าทหารคงไม่ต้องการที่จะยึดอำนาจอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบบ้านเมืองในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง "ถ่วงดุลอำนาจ" จากภายนอก จากโลกาภิวัตน์ ด้วยการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในให้ประชาชนมีอำนาจโดยตรงมากขึ้น และให้ท้องถิ่นเข้ามารับมรดกทางอำนาจจากรัฐชาติมากขึ้น

อย่าปล่อยให้กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาแปรรูปรัฐไทยตามบุญตามกรรมแบบที่ผ่านมา

แสดงความคิดเห็น

« 3414
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ