ปกิณกะ

จุลสาร พื้นบ้านพื้นเมือง

by จู พเนจร @December,27 2007 14.34 ( IP : 222...49 ) | Tags : ปกิณกะ

จุลสาร พื้นบ้านพื้นเมือง

สื่อสืบสาน ข้าวพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง

ฉบับขึ้นอาน : มกราคม 2551


ข้าว ผัก จักรยาน

“ข้าว ผัก จักรยาน” เป็นคำคล้องจองธรรมดาๆ ที่เราเลือกมาบอกเล่าถึงบางสิ่งบางอย่าง ที่เราคิดฝัน ความจริงที่เราเป็นอยู่ และรากเหง้าของเรา แม้เราจะเริ่มมักคุ้นกับการกินแฮมเบอร์เกอร์ แซนด์วิส ไก่เคเอฟซี อะไรต่างๆ กันแล้ว แต่เราก็ยังกินข้าวเป็นอาหารหลัก
กินผักเป็นเครื่องเคียง ที่ปักษ์ใต้บ้านเราเรียกว่า “ผักเหนาะ”
น้ำชุบเคย น้ำพริกอ่อง ปลาร้า บูดู-บีบส้มนาวหี้ด ฮาย... หรอยจังหู!

กินข้าวกับกินผักนั้นเป็นของดีของแน่ แต่จะให้ดีเราลองมากินข้าวพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองกันบ้างดีไหม ต้องดีแน่ๆ สด หอม กรอบ อร่อย อุดมคุณค่า และไม่ต้องกลัวสารพิษปนเปื้อน ถ้าเราปลูกเองกินเอง แบ่งปันเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ซื้อขาย

จากแนวคิด
“สู่สมดุลของชีวิตด้วยผลผลิตจากธรรมชาติ”
ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง และวิถีชีวิตชุมชน จากพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบ โดยนำข้าวพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น มาปลูกกินและแบ่งปัน
ตามแนวคิดที่เราต้องช่วยกันส่งเสริมวิถีนิเวศน์เกษตรพื้นบ้าน มีการจัดหาตลาดที่เหมาะสม ทำการค้าที่เป็นธรรม
โดยใช้ผลิตผลตามฤดูกาล สำหรับเราคิดต่อไปว่าแล้ว...

จัดส่งผลผลิตให้คุณถึงบ้าน

หลายคนไม่มีเวลา ไม่สามารถ ไม่มั่นใจว่าจะไปหากินข้าวสังหยด ข้าวเล็บนก ข้าวไอ้เฉี้ยง  หรือผักริ้น ผักหวาน ผักกูด ลำเพ็ง กะทกรก  ผักเหมรียง ย่านาง  ผักพื้นบ้านชื่อแปลก กินแล้วเป็นยาเหล่านี้ได้ที่ไหน

แต่แรกมีแต่เดี๋ยวนี้หา(กิน)ยาก แต่ไม่ต้องห่วง

เราจะจัดส่งแบบดิลิเวอร์รี่ไปให้ด้วย “จักรยานคนจน”สำหรับเพื่อนสมาชิกที่อยู่ละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงกับศูนย์สืบสานพื้นบ้านพื้นเมืองของเรา

อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง (ศุกร์ เสาร์ หรืออาทิตย์)

ถีบจักรยาน ออกแรงออกเหงื่อ เราถือว่าออกกำลังกาย กินลม ไม่เปลืองน้ำมัน เราถือว่าช่วยลดพลังงานและมลภาวะ (โลกร้อน) เพื่อสุขภาพและเพื่อนสมาชิก
เราเห็น “ดี”เห็น “งาม”ในวิถีเหล่านี้ และเราก็จะทำตามกำลังอัตภาพอันพึงจะมีของเรา
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์พื้นบ้านอื่นๆ เช่นน้ำมันมะพร้าวจากสวนพันธุ์ป่า ข้าวกล้องเพื่อชีวิตจากขนำปลักควายแห ผลไม้ สมุนไพรจากชาวบ้าน ฯลฯ และอยากให้สิ่งเหล่านี้ได้ขยับขยายออกไป
โดยเฉพาะเพื่อนสมาชิกที่เราเชื่อว่าชอบวิถี ข้าว ผัก จักรยาน อะไรเหล่านี้อยู่มากมายทั้งบ้านใกล้แดนไกลทั่วไทยแลนด์
แต่จะอยู่ที่ไหนยังไงบ้างนั้นเรายังไม่รู้แน่ชัด วันนี้เราขอแนะนำตัวกับท่าน ขอเชิญชวนท่านมาร่วมเป็นสมาชิกสัมพันธ์ อุปถัมภ์ หรือทักทายสวัสดี ชี้แนะติชมกันก่อน
สำหรับโครงการลำดับถัดไปของเราถ้าสนใจแล้วอย่ารีรอเลยนะครับ
แรกเริ่มเราคงรับส่งจำนวนจำกัดจำเขี่ยไม่มากไม่น้อยประมาณ ๒๐ หลังคาเรือน
กริ๊งๆ กริ๊งๆ กริ๊งๆ ข้าว ผัก จักรยานมาแล้วครับ...บบบบบบ


..............................................................................................................











รู้ไว้ใช่ว่า

หวันอ้อมข้าว : เรื่องเล่าข้าวพื้นบ้าน ของผืนดินลุ่มน้ำทะเลสาบ

เทพรัตน์ จันทพันธ์

พันธุกรรมพื้นบ้าน ที่วันนี้อยู่ในสภาพของการสูญเสียไปจากท้องนา เนื่องด้วยการเข้ามาของเกษตรกรรมสมัยใหม่<br />

รวมถึงพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่นยาง และปาล์ม ได้รุกเข้าสู่ท้องนาบ้านเราแล้ว

ในส่วนของวิถีการทำนาที่นี่ พันธุกรรมข้าวพันธุ์พื้นบ้านถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำนา ที่มีมุมมองต่อข้าว คือความมั่นคงทางอาหารของครอบครัวและชุมชน
ข้าวพันธุ์พื้นบ้านของประเทศไทยที่คาดว่าเคยมีประมาณ 50,000 ถึง 100,000 สายพันธุ์
และมีคุณภาพข้าวดีที่สุดในโลก ในปีพ.ศ.2516 พันธุ์ข้าวไทยได้รับรางวัลที่หนึ่ง คือข้าวปิ่นแก้ว
ในครั้งนั้น พันธุ์ข้าวของภาคใต้ได้รับรางวัลที่เก้า เป็นข้าวเหนียวซึ่งเป็นข้าวมูกมูสัง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์เดียวที่ได้รับรางวัล และเป็นพันธุ์ข้าวภาคใต้พันธุ์เดียวที่ได้รับรางวัลระดับโลก ซึ่งเก็บพันธุ์จากตำบลสะทิงหม้อ จังหวัดสงขลา

ทว่าในปัจจุบัน พันธุ์ข้าวพื้นบ้านได้สูญหายไปเป็นจำนวนมาก
จากข้าวเลของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ซึ่งเก็บรวบรวมสายพันธุ์ข้าวที่ซึ่งไม่ซ้ำกันมีเพียง 5928 สายพันธุ์เท่านั้น วันนี้ชุมชนท้องถิ่นรวมถึงผู้บริโภคเองจะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพันธุ์พื้นบ้านให้คงอยู่ได้
เพราะความสำคัญของความหลากหลายสายพันธุ์ข้าวหมายถึงหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของครอบครัว
และความรู้ในการจัดการทำนาตามความเหมาะสมของภูมินิเวศน์กับสายพันธุ์ข้าวที่แตกต่างกัน

กิจกรรมหวันอ้อมข้าวเป็นกิจกรรมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
บนองค์ความรู้ของท้องถิ่น สร้างการมีส่วนร่วมทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภคได้ร่วมกันมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูให้ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนดำรงอยู่สืบไป








เมนูอาหาร

“เมล็ดพันธุ์นี้ออกแบบมาเพื่อให้ปลูกได้แค่ฤดูกาลเดียว
คุณต้องมีจิตใจที่โหดร้ายจริงๆ ถึงจะคิดแบบนี้ได้”

(วันทนา ศิวะ นักฟิสิกก์,นักนิเวศวิทยา,นักรณรงค์ต้านเมล็ดพันธุ์พืช จีเอ็มโอ)


























เดือนละหม้อ

โดย...ผักเหนาะ

แกงเลียง

เดี๋ยวนี้บ้านเราสายฝนโปรยปราย เดี๋ยวแดดออก ตั้งตัวไม่ติด แต่ยังไงเสีย การหุงหาอาหารกินเองก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนและเตรียมการ แต่อาหารหม้อนี้เหมาะดีแท้กับบรรยากาศฝนโปรยแบบภาคใต้บ้านเรา เพราะบรรดาผักต่างๆก็พากันงอกงาม ให้เก็บกินได้อย่างเอร็ดอร่อย เมนูวันนี้จึงเสนอ “แกงเลียง” อาหารรสเลิศของคนบ้านเรา แกงเลียงเป็นอาหารจำพวกดับพิษร้อน ถอนพิษไข้

จะว่าไปแล้วเดี๋ยวนี้แกงเลียงก็เขยิบฐานะขึ้นไปโลดแล่นอวดความอร่อยกันทั้งบาง ไปถึงร้านอาหารใหญ่ๆในเมืองกันโน่นแล้ว
แม้ว่าถ้าให้เหมาะแล้ว คนบ้านๆ ลุง ป้า น้า อา จะเลือกแกงเลียงกันช่วงหน้าร้อน เพราะเข้ากันได้ดีกับบรรยากาศ
และถ้าให้เหมาะมักทำกินกันมื้อเที่ยง แดดร้อนๆ แกงร้อนๆ ข้าวร้อนๆ หรอยจังหู ซับเหงื่อดีนัก ซดกันฮวบฮาบ
ยิ่งได้ปลา(เค็ม)ปิ้ง ยิ่งเพิ่มอรรถรสยิ่งนัก แต่หน้านี้ก็น่าซดน้ำอุ่นๆแซบๆ หาผักก็ง่าย

แกงเลียงขาดไม่ได้ในมื้อต้องกินกับน้ำชุบ ผักเหนาะ พูดแล้วน้ำลายสอ

ว่าไปแล้ว แกงเลียงในสมัยนี้ย่อมเป็นที่นิยม โดยเฉพาะพวกเราชาวรักสุขภาพ และสาวๆที่กลัวความอ้วนทั้งหลาย พึงสรรหาแกงเลียงมากินสยบไขมัน
เฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ลูกอ่อนหรือท้องแก่ เพื่อเตรียมน้ำนมในอกไว้ให้เจ้าตัวน้อยที่กำลังจะเกิดมายลโลกร้อนๆใบนี้

สำหรับพืชผักก็หาได้ไม่ยาก เพราะฤดูฝนอย่างนี้ผักทอดยอดกินดีนัก
หันขวาเจอหน่อไม้ หันซ้ายเจอตำลึง บวบหอม บวบเหลี่ยม น้ำเต้า มันหลา ยอดข้าวโพดอ่อนๆ ถั่วฝักยาว เห็ดสารพัดเห็ด
แต่สำหรับแม่ลูกอ่อนก็เพิ่มหัวปลีเข้าไปเป็นพิเศษ ท่านว่าน้ำนมจะคัดดีนักแล

คุณจุ๋ม แห่งร้านผักพื้นบ้านธรรมชาติ ตลาดเกษตร มอ.หาดใหญ่ บอกมาว่า ถ้าให้อร่อยเธอชอบใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่ยังอ่อน
และถ้าช่วงหน้าร้อนมีแตงโมมาก เธอบอกว่าที่บ้านนิยมใส่เปลือกแตงโมฝานลงไปด้วย (แต่เดี๋ยวนี้ไม่กล้าใส่ เพราะแตงโมฉีดยาม๊ากมาก)

ส่วนนายพันธุ์ป่า แห่งสวนพันธุ์ป่า ทุ่งลุง บอกว่า “ยอดลำเพ็งขาดไม่ได้ และถ้ามีปลาแห้งตัองปิ้ง ไม่ปิ้งไม่หอม
ยิ่งแกงในหม้อดินยิ่งได้รส เพราะหม้อดินจะเข้าเครื่องและคงความร้อนได้นานกว่าหม้อเหล็ก...เขาว่าหม้อเหล็กเหมาะจะหุงข้าวมากกว่า”

คราวนี้ก็ถึงเวลาลงมือทำกันแล้ว

เรามาดูเครื่องปรุงที่แสนง่ายกัน

1) กะปิ (กะปิสำหรับตำน้ำพริกจะหอมกว่า) โดยเฉพาะกะปิแห่งบ้านนาทับ อ.จะนะ ท่านว่าอร่อยรสล้ำเลิศนัก 2) หอมแดง 3) ใส่กุ้งแห้ง หรือบางตำรับปลาย่างบด 4) พริกไทยดำ

นำทุกอย่างลงครก ตำพอหยาบๆ แล้วใส่ลงในหม้อน้ำเดือดพล่าน ทีนี้เอาผักลง
ผักไหนสุกยากก็เอาลงก่อน ผักไหนสุกง่ายเอาลงทีหลัง ยิ่งพวกผักใบเอาลงแล้วปิดฝายกลงได้เลย
ทีนี้เราก็ได้แกงเลียงหนึ่งหม้อ กับปลาเค็มปิ้งหอมหวน และน้ำชุบอร่อยๆ
คงไม่ต้องบอกล่ะว่าเวลาอย่างนี้ควรทำอะไร...ต่อไป























บทกวีชาวบ้าน

หรอย

พอมุ้งมิ้งเรไรร้องก้องไพรสณฑ์ สุวคนธ์หิ้วขี้พร้ามาตามหลัง ทั้งดีปลีตอดองของหรอยจัง พะรุงพะรังปลาทูคู่ลูกเนียง ที่นอกชานแม่ทิ่มเครื่องไว้รอท่า แกงส้มปลากับลอกอหนอกหน่อเหรียง แกงเคยปลาคั่วควายได้ยกเรียง บ่าวส่งเสียงดังฉาวว่าบาวเนือย!

โดย...ยา เข้าท่า











ผักแนะนำ โดย...นายทรงผัก

ผักริ้น























ศูนย์สืบสาน : พื้นบ้านพื้นเมือง เลขที่ 75/89 ซอย 4 ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 4 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทรศัพท์ / โทรสาร 074 – 366922
Email : greenday_2550@yahoo.com

วัตถุประสงค์ เจตจำนง และพันธกิจ

1) ศูนย์ประสานงาน ที่ประชุมสัมมนา และบริการที่พักสำหรับกัลยาณมิตร
(กลุ่มเลสาบเจ้าเอย กลุ่มศิลปะวรรณกรรม ควน ป่า นา เล กลุ่มรวงธรรม กองทุนหวันอ้อมข้าว ฯลฯ)

2) สถานที่ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยน ฝากจำหน่ายสินค้าเกษตรพื้นบ้านพื้นเมือง ศิลปหัตถกรรม ทำมือ งานสร้างสรรค์
(ผ้ามัดย้อม ข้าวกล้อง หนังสือทำมือ เดโมเทปฯลฯ)

3) ห้องค้นคว้าข้อมูลเอกสาร หนังสือนิตยสารให้ยืม และแลกเปลี่ยนกันอ่าน (สำหรับสมาชิก)

4) กิจกรรมนำเที่ยวเชิงนิเวศ (เช่น ออกค่าย เดินป่า ทำนา ที่ยวสวนเกษตรธรรมชาติเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม บ้านพักโฮมสเตย์ สร้างบ้านดิน ฯลฯ)

5) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารจุลสาร และกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์อื่นๆ (เช่น ผลิตจุลสาร นิตยสาร หนังสือทำมือ บอร์ดนิทรรศการ ข่าวสารบ้านเมือง ฯลฯ) 6) อื่นๆ

ศูนย์สืบสานพื้นบ้านพื้นเมือง เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราจะทำอะไรกันเล็กๆน้อยๆ เท่าที่พอทำได้ และไม่มีใครเคยทำ
เช่น ทำจุลสารจดหมายข่าวเล็กๆ (เกี่ยวกับอาหารและวรรณกรรม)แจกจ่ายบอกเล่าข่าวสาร และกิจกรรมที่เราจะทำสำหรับเพื่อนสมาชิก
ได้แก่ โครงการที่จะทำในลำดับต่อไป เช่น "ข้าว ผัก จักรยาน" ฯลฯ





สมัครสมาชิกสัมพันธ์ / อุปถัมภ์ (รายปี 12 ฉบับ 100 บาท)

ชื่อ...........................สกุล...................................... อายุ.....................ปี อาชีพ.................................... สถานภาพ...มีครอบครัว...โสด เลขที่...................ซอย..................................ถนน.................................. หมู่ที่.......................ตำบล............................เขต/อำเภอ......................... จังหวัด.................................รหัสไปรษณีย์............................................ โทรศัพท์บ้าน.......................มือถือ.......................อีเมล.........................

แสดงความคิดเห็น

« 5119
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ