บทความ

เพศวิถีของผู้หญิง ในวรรณกรรมไทยยุคฟองสบู่

by Pookun @December,28 2007 21.25 ( IP : 222...133 ) | Tags : บทความ

http://www.matichon.co.th

เพศวิถี (sexuality) หมายถึงแนวประพฤติปฏิบัติของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกามารมณ์ รวมไปถึงแรงปรารถนาจากส่วนลึก การแสดงออก และความคาดหวังของบุคคลนั้นๆ

ในสังคมส่วนใหญ่ เพศวิถีมีลักษณะเป็นเรื่องต้องห้าม (taboo) ในแง่ที่ถือว่าเป็นเรื่อง "น่าอับอาย" มิพึงแสดงออกหรือกล่าวถึงอย่างประเจิดประเจ้อ หากแต่ควรเก็บงำไว้ในพื้นที่ส่วนตัว ในบางวัฒนธรรมนั้น ความเป็นเรื่องต้องห้ามของเพศวิถีถูกตอกย้ำจนถึงขั้นเป็นเรื่อง "น่าละอาย"

การที่สังคมส่วนใหญ่ทำให้เพศวิถีเป็นเรื่องต้องห้ามนั้น ก็เนื่องจากรับรู้เป็นอย่างดีถึงพลังอำนาจอันลึกซึ้งของมัน เพศวิถีมักถูกนำไปเกี่ยวโยงกับ "ดำฤษณา" หรือโมหจริต (passion) ในแง่ที่สิ่งนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมด้วยสติสัมปชัญญะหรือเหตุผล


หากพิจารณาเพศวิถีในแง่ความแตกต่างระหว่างหญิงชาย ก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่า กามารมณ์มักมีลักษณะเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วัฒนธรรมแบบวิกตอเรียน (Victorian) และที่เลียนแบบวิกตอเรียน ซึ่งใช้กรอบของความเป็น "กุลสตรี" และ "ความรักนวลสงวนตัว" เข้าควบคุมผู้หญิงอย่างเป็นระบบ เพื่อตระเตรียมให้ผู้หญิงเป็น "เมีย" และ "แม่" ที่ดี

วรรณกรรมไทยในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ (หรือที่เรียกกันอย่างลำลองว่า "ยุคฟองสบู่") ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเพศวิถีของผู้หญิงอย่างหลากหลาย มีทั้งวรรณกรรมที่แสดงความพยายามสกัดกั้นอารมณ์ปรารถนาของพวกเธอ (เช่น นวนิยายเรื่องคุณหญิงสีวิกา) วรรณกรรมที่เผยแสดงให้เห็นกลไกอันละเอียดอ่อนในตัณหาราคะแบบผู้หญิง (เช่น บทกวีของอัญชัน) และที่นำเสนอการปลดปล่อยเพศวิถีของผู้หญิงจากแบบแผนการควบคุมโดยปิตาธิปไตย (เช่น งานเขียนของสุจินดา ขันตยาลงกต)

ความพยายาม "จำกัด" และ "กำจัด" อารมณ์พิศวาสของผู้หญิง

เป็นที่น่าสังเกตว่าวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ที่ผ่านมามีการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความต้องการทางเพศของผู้หญิงค่อนข้างน้อย ตรงข้ามกับคติความเชื่อเกี่ยวกับเพศชายซึ่งถือกันว่าผู้ชายล้นปรี่ไปด้วยพลังทางเพศจนต้องปลดปล่อยออกมาอยู่เสมอ จนกลายมาเป็นภาพเหมารวม ที่ว่าผู้ชายคือเพศที่ฝักใฝ่ในเรื่อง "ความใคร่" ขณะที่ผู้หญิงคือเพศที่ใส่ใจแต่เรื่อง "ความรัก" แม้ในทศวรรษ ๒๕๓๐ ก็ยังพบงานวรรณกรรมที่นำเสนอความต้องการทางเพศของผู้หญิงในแง่ลบอย่างรุนแรง นั่นคือ ตัวละครหญิงที่ปลดปล่อยอารมณ์พิศวาสของตนโดยเสรีจะถูกจัดให้อยู่ในกระบวนทัศน์ "ผู้ป่วยทางจิต" ดังที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องคุณหญิงสีวิกา หรือถูกประกอบสร้างให้เป็นคนวิปริตวิปลาสในเรื่องสั้นที่ชื่อ "นางบ้าแดด"

คุณหญิงสีวิกา
กับการลงทัณฑ์ผู้หญิงร่านสวาท

คุณหญิงสีวิกา เป็นผลงานที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายอังกฤษเรื่องรีเบคกา (Rebecca) ของดาฟเน ดู โมริเยร์ (Daphne Du Maurier) แม้รีเบคกาจะถูกประพันธ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๒ แต่ก็เป็นผลงานแนวรักๆ ใคร่ๆ ที่บรรจุคติความเชื่อทางเพศของยุควิกตอเรียนไว้อย่างเต็มเปี่ยม

คุณหญิงสีวิกา (๒๕๓๔) ซึ่งได้รับการดัดแปลงโดยนิดา (หรือทัณฑิกา) เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในนิตยสารสกุลไทย และกลายมาเป็นละครโทรทัศน์อันแสน "อื้อฉาว" ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ นวนิยายดังกล่าวเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่ชื่อนิสาชล ซึ่งแต่งงานกับมนัสวีร์ มหาเศรษฐีเจ้าของคฤหาสน์พิมานแมน ในตอนแรกนิสาชลเข้าใจผิดคิดว่ามนัสวีร์ยังรักและอาลัยในตัวภรรยาเก่าที่ชื่อสีวิกา ต่อเมื่อมีการพบศพของสีวิกา นิสาชลจึงรู้ความจริงว่าสีวิกาเสียชีวิตด้วยน้ำมือของมนัสวีร์ เพราะเขาทนความส่ำสอนทางเพศของเธอไม่ไหว นิสาชลเห็นใจและเอาใจช่วยให้มนัสวีร์หลุดพ้นจากข้อหาฆาตกรรม ผลการพิจารณาคดีตัดสินว่าสีวิกาฆ่าตัวตายเพื่อหนีจากความทรมานของโรคมะเร็ง คนใช้เก่าแก่ของสีวิกาเจ็บแค้นแทนเจ้านายเก่า เธอจับนิสาชลขังไว้ในห้องนอนที่สีวิกาเคยใช้และจุดไฟเผาหวังให้ตายตกไปพร้อมกับตน แต่นิสาชลกลับรอดมาได้อย่างหวุดหวิดเพราะชายบ้าคนหนึ่งมาช่วยไว้

หากพิจารณาที่คุณลักษณ์ของตัวละครหญิงทั้งสองจะพบว่า นิสาชล ภรรยาคนใหม่ของมนัสวีร์ เล่าเรียนมาจากโรงเรียนสตรีและจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย เธอกำพร้าทั้งบิดาและมารดา จึงต้องทำงานรับใช้คุณหญิงท่านหนึ่ง นิสาชลมิใช่ผู้หญิงที่สวยพริ้งพราวแต่ก็มีเสน่ห์ที่ความบริสุทธิ์ใสซื่อ นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้หญิงที่มีคุณลักษณะอ่อนไหวเป็นพิเศษ

สีวิกาเป็นผู้หญิงที่เก่งกล้าเกินตัวมาตั้งแต่เด็ก ([คำพูดของสาวใช้ประจำตัวสีวิกา] "อายุแค่สิบสามปี เธอก็ปราบม้าพยศได้...เธอเรียนเก่งเท่ากับเต้นรำเป็นไฟ หนุ่มๆ พากันคลั่งไคล้ แต่เธอไม่รักใครเลย...ไม่เคยแพ้ใครเลย" น. ๔๔๗) เธอยังสามารถใช้จริตจะก้านได้อย่างแพรวพราว ([คำพูดของมนัสวีร์] "สีวิกาเป็นคนที่ทำตัวให้ใครๆ รักหลงได้เก่งมาก ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าคนแก่" น. ๗๐๓) รวมทั้งมีพฤติกรรมทางเพศแบบเสรีไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างให้กับผู้ชายคนไหนทั้งสิ้น (เขา [สีวิกา] จะเห็นการสำส่อนเรื่องเซ็กส์เป็นแค่ความบันเทิงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง น. ๗๐๘)

เป็นที่น่าสังเกตว่าคุณหญิงสีวิกาประกอบไปด้วยคุณลักษณ์ที่เหนือกว่านิสาชลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางการเงิน ฐานันดรทางสังคม รูปร่างหน้าตา ความแก่นกล้า หรือการเป็นผู้กระทำการในเรื่องเพศ แต่ปัจจัยที่มาผลักดันให้สีวิกาต้องกลายเป็นผู้หญิงที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมก็คือการแสดงออกอย่างเสรีทางเพศนั่นเอง


"นางบ้าแดด"
ผู้หญิงกับความวิปลาส

"นางบ้าแดด" บรรจุอยู่ในตะตั้งเทิ้งตั้ง (๒๕๓๙) รวมเรื่องสั้นของศักดิ์สิริ มีสมสืบ เรื่องเล่าทั้ง ๑๐ เรื่องต่างมีเนื้อหาเกี่ยวกับคนบ้าทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะพิจารณาเรื่อง "นางบ้าแดด" โดยละเอียด ควรวิเคราะห์ให้เห็นภาพรวมของผลงานรวมเรื่องสั้นชุดดังกล่าวว่า มีการเสนอภาพผู้หญิงบ้ากับผู้ชายบ้าแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร และสัมพันธ์โยงใยกับคติความเชื่อใดในสังคม

ในแง่ของการแต่งกาย ทั้งผู้ชายบ้าและผู้หญิงบ้ามีลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน ตัวละครวิปลาสทั้งสองเพศล้วนมิได้ใส่ใจต่อการปกปิดร่างกายเท่าที่ควร เช่น ชายบ้าในเรื่อง "แห่ล่อนจ้อน" (สาวแส้ปิดหน้าปิดตาขยะแขยงเรือนร่างฉัน ทุกคนเร่หนีห่างปล่อยเรารำร่ายอยู่สองคน จากตะตั้งเทิ้งตั้ง น. ๘) หรือหญิงบ้าใน "นางหมื่นมาลี" (นางมาก้มๆ เงยๆ อยู่ต่อหน้า กิริยาไม่รู้สำรวมระวัง ทั้งนุ่งห่มก็เรี่ยราดไม่รัดกุม น. ๑๑๕)

สิ่งหนึ่งที่ชายบ้าผิดแผกไปจากหญิงบ้าเห็นจะได้แก่ การนำเสนอหญิงบ้าในฐานะของคน "ไม่ปกติ" อย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ชายบ้าในเรื่องสั้นอย่างน้อย ๒ ชิ้นด้วยกันกลับมีลักษณะที่ซับซ้อนหรือกำกวมกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความบ้าในตัวของเพศชายมีความสลับซับซ้อนกว่าของเพศหญิง


"นางบ้าแดด" เป็นเรื่องสั้นที่เล่าถึงหญิงวิปลาส ซึ่งอาศัยอยู่ในเพิงพักซอมซ่อติดกับกำแพงวัด โดยมีรมณียสถานประเภทซ่องโสเภณีตั้งอยู่อีกฟากถนนหนึ่ง แม้ที่พักของนางจะอยู่ชิดกับดินแดนแห่งโลกุตรธรรม แต่ความประพฤติและจิตใจของนางกลับเอนเอียงไปในวิถีแห่งโลกียะ เห็นได้จากการให้ความสำคัญกับอวัยวะเพศเหนือกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย (นางรู้สึกว่ามันน่ารักน่าเอ็นดูเหลือหลาย นางใส่ใจทะนุถนอม เนื้อตัวนางจะมอมแมมอย่างไร แต่สำหรับมัน นางจะดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ น. ๕๘) และอาการเชื้อเชิญให้ผู้ชายมาประกอบกามกิจซึ่งปรากฏให้เห็นตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง (เด็กกลุ่มหนึ่งห้อรถตะบึงมา นางยุบก้นแอ่นกายไปข้างหน้า ถกผ้าถุงขึ้นถึงเอว ผงึกหน้าท้าทาย มาเหวยมา รถราทั้งหลายมาลอดอุโมงค์ น. ๕๘) เป็นที่ชัดเจนว่ามีการกำหนดให้ความวิปลาสของตัวละครหญิงจำเพาะเจาะจงอยู่ที่ "ความบ้ากาม"

ทั้งนวนิยายเรื่องคุณหญิงสีวิกา และเรื่องสั้นที่ชื่อ "นางบ้าแดด" ต่างจัดวางตัวละครหญิงซึ่งปลดปล่อยความต้องการทางเพศของตนออกมาอย่างเต็มที่ให้ตกอยู่ในสถานะคนวิปริตหรือเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็คืออำนาจของระบบปิตาธิปไตยที่ต้องการปรามเพศหญิงให้สงบเสงี่ยมเจียมตัวในเรื่องเพศเฉกที่เคยเป็นมาในอดีต

การเผยแสดงความต้องการทางเพศของผู้หญิง

จากการวิเคราะห์ผลงานทั้งสองชิ้นในหัวข้อก่อนหน้านี้ พบว่าผู้หญิงที่มีความประพฤติทางเพศอย่างเสรีถูกนำเสนอในเชิงลบอย่างชัดเจน

"สาวน้อยอาบน้ำ" จารีตกับความต้องการของผู้หญิง

เรื่องสั้นชิ้นนี้เล่าถึงหญิงสาวซึ่งเกิดมาในครอบครัวที่มีแต่ผู้หญิง (แม่กับพี่สาวอีก ๓ คน) พ่อคือตัวแทนของความเลวร้ายที่ทุกคนหลาบจำ ตัวเอกหญิงถูกพร่ำสอนให้ดำรงตนเป็นศัตรูกับมนุษย์เพศผู้ทุกคน (บ้านให้ข้อสรุปกับหล่อนว่า ผู้ชายเป็นสัตว์โฉดที่ไว้ใจไม่ได้ ควรแก่การขยะแขยงและเกลียดชังเท่านั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดของผู้หญิงคือการอยู่ตามลำพัง อย่าเอาผู้ชายคนไหนเข้ามาไว้ใกล้ตัว จากลมพัดดอกไม้ไหว น. ๑๑๒)

แต่เธอฝ่าฝืนกฎเหล็กของบ้านด้วยการไปเที่ยวและมีสัมพันธ์สวาทกับผู้ชายคนหนึ่ง ในแง่นี้เรื่องเล่าพยายามนำเสนอความขัดแย้งระหว่างทัศนคติที่เกลียดผู้ชายโดยมีแม่และพี่สาวของตัวเอกหญิงเป็นตัวแทน กับความคิดของตัวเอกหญิงที่ว่าอารมณ์ทางเพศเป็นเรื่องปกติสามัญของมนุษย์ แต่มิใช่ว่าตัวเอกหญิงจะคล้อยตามความคิดแบบหลังนี้โดยสิ้นเชิง การเติบโตมาในบริบทของสังคมไทยที่ยึดมั่นในความเป็นกุลสตรีและการสั่งสอนให้ตระหนักถึงพิษภัยของผู้ชายจากครอบครัว ล้วนมีส่วนทำให้ตัวเอกหญิงสับสนหรือขัดแย้งภายในตัวตนของเธอ

แม้ตัวบทจะพยายามนำเสนอว่าผู้หญิงก็มีอารมณ์ความต้องการทางเพศ หรือการสูญเสียความสาวมิใช่เรื่องสลักสำคัญในชีวิต แต่ความคิดเหล่านี้ก็ถูกฉุดดึงด้วยค่านิยมอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมองว่าผู้หญิงควรรักนวลสงวนตัว หรือความต้องการทางเพศเป็นสิ่งสกปรกโสมม จึงกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นชิ้นนี้จัดวางให้คติความเชื่อ ๒ ชุดมาปะทะสังสรรค์กันอย่างรุนแรง

"อันเป็นเลือดเนื้อ" และ "อันเป็นอารมณ์"
กับการเปลื้องเปลือยอารมณ์เพศของผู้หญิง

กวีนิพนธ์ดังกล่าวอธิบายความรู้สึกทางเพศของผู้หญิงได้อย่างละเอียด โดยจะเริ่มต้นการวิเคราะห์ในชิ้นที่ชื่อ "อันเป็นเลือดเนื้อ" เป็นอันดับแรก

ใบไผ่ประปลิวผิวแก้ม ฝนแต้มฟุ้งหยดรดร่าง ท่อนที่ ๑

เหน็บหนาวร้าวเหลือเนื้อนาง ลมบางลู่ไล้ไรเนื้อ ทรวงสาวคราวลมลูบไต่ วาดรอยลางไรใต้เสื้อ ท่อนที่ ๒

บทกวี ๒ ท่อนแรกบรรยายถึงอารมณ์รัญจวนของหญิงสาวนางหนึ่งเมื่อถูกกระตุ้นจากใบไผ่ ละอองฝน และสายลม การถูกสัมผัสที่ผิวกายเช่นนี้จึงเปรียบเสมือนการถูกเล้าโลมก่อนร่วมเพศ (foreplay) ซึ่งส่งผลให้ร่างกายสั่นสะท้านและหัวใจ "เพ้อพก" จนจินตนาการไปถึงรสสัมผัสจากบุรุษเพศ

อกเจ้าจึงหนาวร้าวเรื้อ หัวใจพร่ำเพรื่อเพ้อพก... เคลิ้มเหมือนมีลมหายใจผ่าวไล้นิ้ว รสนั้นลิ่วหวามวูบลงจูบอก ท่อนที่ ๓

แขนคล้ายถูกล้ำถึงไหล่ไหวสะทก สะท้อนสะท้านสั่นกว่านกในกำมือ แผ่วหวิวเหมือนมือเคลื่อนเลื่อนลูบจับ ต้องตรงไหนเจ้าอ่อนพับมิอาจดื้อ ท่อนที่ ๔


ในท่อนต่อมา กวีใช้อุปมาโวหารเปรียบลมที่มาโลมไล้ร่างกายผู้หญิงในท่อนที่ ๒ กับลมหายใจของผู้ชายในท่อนที่ ๓ จากนั้นจึงแทนที่ลมหายใจด้วยนิ้วมือและปากตามลำดับ โดยอาศัยโวหารประเภทนามนัย (metonymy) เพราะทั้งลมหายใจ นิ้วมือ และปาก ต่างก็เป็นส่วนต่างๆ ของร่างกายผู้ชายที่มาทำหน้าที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศของฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะถูกเล้าโลมจากอวัยวะส่วนใดของผู้ชาย ผู้หญิงก็มีปฏิกิริยาตอบสนองในลักษณะเคลิบเคลิ้ม วาบหวาม หรือสะทกสะท้าน จนกระทั่งถึงขั้นที่ไม่อาจควบคุมจิตใจของตนเองได้อีกต่อไป

แต่ที่สำคัญอย่างมากก็คือ อาการสั่นสะท้านราวกับ "นกในกำมือ" ซึ่งการนำเสนอเช่นนี้ทำให้ประหวัดไปถึงคำกล่าวที่ว่า "ลูกไก่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด" จึงเท่ากับว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้หญิงถูกรุกเร้า ชะตากรรมของเธอขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ชายเท่านั้น ข้อสรุปนี้ยังถูกยืนยันอย่างหนักแน่นอีกครั้งในคำกล่าวที่ว่า "ต้องตรงไหนเจ้าอ่อนพับมิอาจดื้อ" เพราะสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงยามต้องมือชายจะมิอาจแข็งขืนควบคุมร่างกายตนเองได้อีกต่อไป

อกนิ่มเหมือนอิงถูกมือลูบครือ ใจเจ้าหรือมิโลดปล่อยลิ่วลอยไกล เสียวแปลบเหมือนเนื้อผ่านสร้านเสียดเนื้อ พรั่งเหงื่อพรำฝนพรมลอดไผ่ ท่อนที่ ๕

ซึมเม็ดสั่นวาบปลาบเนื้อใน ลึกร้าวหนาวลงไปจนร่างริก... (จากลายสือ น. ๗๘)

ในท่อนที่ ๕ เป็นส่วนที่บรรยายฉากสังวาสระหว่างหญิงชายอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งก็เป็นไปในลักษณะที่ว่าผู้ชายสอดใส่อวัยวะเพศของตนเข้าไปสู่อวัยวะเพศของฝ่ายหญิง (เนื้อผ่านสร้านเสียดเนื้อ) บทกวียังเสนอภาพอวัยวะของผู้หญิงที่เรียกกันอย่างลำลองว่า "เม็ดละมุด" (clitoris)* (พร้อมทั้งเล่าถึงอารมณ์ความรู้สึกยามที่ปุ่มดังกล่าวถูกกระตุ้น (ซึมเม็ดสั่นวาบปลาบเนื้อใน) กวีใช้ชุดคำที่ว่า "เสียวแปลบ" "สั่นวาบ" และ "หนาวจนร่างริก" เพื่อเผยถึงความสุขที่ผู้หญิงได้รับจากการร่วมเพศ

กล่าวได้ว่า กวีนิพนธ์นำเสนอปฏิกิริยาตอบสนองทางกายของฝ่ายหญิงเพื่อชี้ถึง "จุดอ่อน" ของร่างสรีระผู้หญิง และยังฉายภาพอารมณ์ซ่านสุขของผู้หญิงเพื่อตีแผ่ถึงความพึงใจในการ "ถูกกระทำ" จากการมีเพศสัมพันธ์กับฝ่ายชาย หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ บทกวีชิ้นนี้เจาะลึกเข้าไปในวิถีพิศวาส "ของ" ผู้หญิง "โดย" ผู้หญิง "เพื่อ" ให้ผู้หญิงเข้าใจถึงข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของตนเองในอันที่จะสลัดพ้นจากบ่วงอำนาจของเพศชาย

ในบทกวีชิ้นต่อมาที่ชื่อ "อันเป็นอารมณ์" อัญชันกล่าวถึงอารมณ์ทางเพศของผู้หญิงด้วยน้ำเสียงที่ไม่ต่างจากชิ้นแรก แต่ในครั้งนี้เป็นการเพ่งพินิจไปที่การสอดใส่ (penetration) โดยเฉพาะ เพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีความรู้สึกอย่างไร เต็มไปด้วยความสุขหรือเปี่ยมไปด้วยความทุกข์กันแน่ ตัวบทส่วนที่พรรณนาถึงกิจกรรมดังกล่าวได้แก่ท่อนต่อไปนี้

.......

ซาบสุขดื่มด่ำน้ำตาปริ่ม ทุกข์ทิ่มยีย่ำน้ำตาหยด ท่อนที่ ๕

ในบรรทัดที่ ๒ ของท่อนที่ ๕ กวีใช้โวหารประเภทนามนัย (metonymy) โดยแทนอวัยวะเพศชาย ("ลึงค์") ด้วยคำว่า "ทุกข์" กล่าวคือ ในบริบทของการสังวาส สิ่งที่กระทำอาการ "ทิ่ม" อันแท้จริงย่อมมิใช่ "ทุกข์" หากแต่เป็น "ลึงค์" กระนั้น การติดข้องมัวเมาอยู่กับลึงค์นั้นก็ถูกเสนอว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ จึงสามารถใช้คำว่า "ทุกข์" แทน "ลึงค์" ได้ตามตรรกะแบบนามนัย สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่การเชื่อมโยงรสสวาทจากสัมผัสของชายเข้ากับความทุกข์

ซ่านสัมผัสแผกใหม่ได้ซึ้งรส กลับซับหมดมิครั่นคร้ามความน่ากลัว ถูกหลอมถูกลนก็ย่นยู่ เหลวลู่คือเทียนเยิ้มละลายรั่ว ท่อนที่ ๖

ไหลเชื่อมละเลงรสซึ่งเร้ารัว ลอดร่องหลืบมืดมัวหลอมตัวตาม (น. ๘๑)


ในบรรทัดแรกของท่อนที่ ๖ กล่าวถึงอวัยวะเพศหญิงในขณะที่ถูกสอดใส่ (ย่นยู่) ส่วนในบรรทัดต่อมา เป็นภาพ "การหลั่ง" ของเพศชายยามถึงจุดสุดยอด (orgasm) และใน ๒ บรรทัดสุดท้ายเป็นฉากการถึงจุดสุดยอดของฝ่ายหญิงหลังจากที่ฝ่ายชายก้าวล่วงไปก่อนหน้า (หลอมตัวตาม) หากพิจารณาสิ่งนี้ในฐานะความสัมพันธ์เชิงอำนาจของการถึงจุดสุดยอด เราจะพบว่าการที่ผู้หญิงรู้สึกซาบซึ้งเพราะสามารถทำให้ฝ่ายชายมีความสุข

บทกวีทั้ง ๒ ชิ้นที่กล่าวมา ต่างเผยให้เห็นข้อจำกัดด้านเพศวิถีของฝ่ายหญิงอย่างละเอียดลุ่มลึก ทั้งในการตอบสนองทางกายยามเมื่อถูกโลมเล้า การติดยึดในรสแห่งกามารมณ์ และการสมยอมเป็นผู้ตามหรือผู้ถูกกระทำขณะร่วมประเวณี

ความพยายามปฏิวัติ วิถีทางเพศของผู้หญิง

นอกจากในปลายทศวรรษ ๒๕๓๐ จะปรากฏวรรณกรรมที่พูดถึงความต้องการทางเพศของผู้หญิงแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาซึ่งพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิงถูกนำเสนอออกมาในแง่มุมที่แตกต่างจากในอดีต ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันใน "ม่านประเวณี" หนึ่งในรวมเรื่องสั้นชุดลมพัดดอกไม้ไหว (๒๕๓๘) ของไพโรจน์ บุญประกอบ การประกอบอัตกามกิริยาใน "เซเรเนดแห่งยุคสมัยและความเชื่อของหญิงสาว" ผลงานของชมพูคณิต ปัทมดิลก จากเรื่องรักนักเขียนหญิง (๒๕๓๙) หรือความเป็นผู้กระทำทางเพศของตัวละครหญิงในงานเขียนแนวพิศวาสหรือ "อีโรติก" ของสุจินดา ขันตยาลงกต จากรวมเรื่องสั้นชุดใจดวงเปลี่ยว (๒๕๓๕)

"ม่านประเวณี"
กับความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง

เรื่องสั้นชิ้นนี้เล่าเรื่องราวของสามีภรรยาคู่หนึ่ง โดยฝ่ายชายนำน้องสาวของตนซึ่งเคยประพฤติตัวเหลวแหลกมาอยู่ด้วย น้องสาวของเขากลับตัวกลับใจกลายมาเป็นคนดีของพี่ชายและพ่อแม่ แต่สิ่งที่ทำให้ตัวเอกชายต้องตกตะลึงถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อก็คือ เขาเห็นภรรยากับน้องสาวของตนกำลังร่วมรักกัน สิ่งสำคัญที่ตัวบทต้องการนำเสนอก็คือความรู้สึกของฝ่ายชายเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้นเหตุการณ์ในเรื่อง บทสนทนา และความรู้สึกต่างๆ จึงถูกนำเสนอผ่านมุมมองของตัวเอกชายทั้งสิ้น

การกระทำของภรรยาทำให้ความมั่นใจในตนเองของฝ่ายสามีหดหายจนแทบหมดสิ้น (ไม่ว่าหล่อนจะทำลงไปด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันได้ทำให้ความมั่นใจในตัวเองของเขาแห้งขอด ความภาคภูมิไม่หลงเหลือ เขากลายเป็นไอ้ตัวอะไรตัวหนึ่งในความรู้สึกของเขาเอง เป็นตัวอะไรที่ไม่มีน้ำยา โง่เง่า ไม่เป็นท่า ห่วยเสียยิ่งกว่าห่วย จากลมพัดดอกไม้ไหว น. ๓๘) และความเชื่อมั่นที่สำคัญที่สุดของฝ่ายชายก็คือลีลาหรือชั้นเชิงทางเพศ (บางทีเพราะเขารู้สึกว่ากูบ้อท่าก็ได้ กูก็ผู้ชายธรรมดาๆ บทรักบทใคร่ไม่ฉกาจฉกรรจ์มาจากไหน ถ้ามันไม่ถึงใจเขากูก็ผิด น. ๔๔) ตัวเอกชายไม่สามารถยอมรับสภาวการณ์เหล่านี้ได้ เขาจึงด่าว่าภรรยาของตนด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ("มันอัปรีย์รู้มั้ย...ผู้หญิงนอนกับผู้หญิง" น. ๔๘) ในท้ายที่สุดภรรยาก็อธิบายว่าต้องการมีเพศสัมพันธ์ทั้งสองแบบ แต่เขายังคงไม่เข้าใจหรือไม่สามารถยอมรับพฤติกรรมทางเพศในแบบดังกล่าว (หล่อนต้องการทั้งสองอย่าง สองอย่างที่ต่างกัน หล่อนจะเอาทั้งคู่ เขาหลับไป แต่ข้อสรุปนั้นยังแอบวนเวียนอยู่ในสมอง น. ๔๙)

แม้เรื่องเล่าขนาดสั้นชิ้นนี้จะมิได้นำเสนออะไรที่สลับซับซ้อนมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญและแปลกใหม่ก็คือ การจำลองสถานการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องเผชิญเมื่อเธอชื่นชอบในเพศวิถีแบบหญิงรักหญิง แน่นอนว่าการเลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน (homosexuality) ย่อมต้องถูกประณามจากผู้คนในสังคมที่เชื่อว่าความสัมพันธ์แบบต่างเพศ (heterosexuality) คือสิ่งที่สอดคล้องกับหลักการตามธรรมชาติ แต่เพศวิถีแบบหญิงรักหญิงก็เป็นหนทางหนึ่งที่ผู้หญิงสามารถใช้ต่อกรกับผู้ชายหรือประกาศอิสรภาพทางเพศจากผู้ชาย หากนึกย้อนไปถึงบทกวีทั้งสองชิ้นของอัญชัน ซึ่งเผยให้เห็นการยอมตนเป็นเบี้ยล่างทางเพศของผู้หญิง เรื่องสั้นชิ้นนี้จึงเปรียบได้กับทางเลือกหนึ่งสำหรับการปลดแอกทางเพศจากผู้ชาย เหมือนกับที่นักคิดสตรีนิยมแนวสุดขั้ว (radical feminist) มองว่าเพศวิถีแบบหญิงรักหญิง (lesbian) เป็นยุทธวิธีหนึ่งสำหรับการต่อต้านอำนาจของผู้ชาย


"เซเรเนดแห่งยุคสมัยและความเชื่อของหญิงสาว"
กับเสรีภาพทางเพศของผู้หญิง

เรื่องสั้นชิ้นนี้เปิดฉากด้วยการบรรยายถึงตัวเอกหญิง (ซึ่งมีชื่อว่าระบาย) ที่กำลังบำบัดความใคร่ด้วยตนเอง (มือขวาขยับไปมาช้าบ้างเร็วบ้างอยู่ในหว่างขา เสียงหอบถี่ๆ ดังกระชั้นขึ้นก่อนที่ร่างทั้งร่างจะเหยียดเกร็ง...กล้ามเนื้อทุกส่วนคลายออก เจ้าของร่างพลิกกายคว่ำลงเหยียดแขนไปข้างหน้า ปลายนิ้วกลางยังเปียกชื้น จากเรื่องรักนักเขียนหญิง น. ๗๑) เมื่อเสร็จสิ้นในกามกิจ หญิงสาวจึงสูบบุหรี่แล้วปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนึกตำหนิผู้หญิงที่ยอมทนอยู่ในกรอบของความเป็นเมียและแม่ (ระบายนึกเบื่อหน่ายแทนบรรดาเมียๆ ที่ต้องกลายเป็นทาสรับใช้ผัวกับลูกตั้งแต่เช้าจนค่ำ น. ๗๓) ระบายคิดประหวัดไปถึงความเจ้าชู้ของพ่อและความจำยอมของแม่ เธอคิดว่าจะไม่แต่งงานกับผู้ชายคนไหนทั้งสิ้น (เอาเป็นว่าวันนี้ผู้หญิงอย่างระบายปลอดภัยจากการเป็น "เมีย" เธอชอบเป็น "คนรัก" และตั้งใจว่าจะเป็นคนรักชั่วนิรันดร์ เป็นหญิงคนรักที่ไม่เหมือนกับนางเอกในเทพนิยายบางเรื่อง น. ๗๖) เธอยังก่นด่าผู้ชายที่กดขี่ผู้หญิง (มีผู้ชายมากมายที่คิดว่าการกระทำที่กดขี่ทางเพศเป็นเครื่องหมายแห่งวีรบุรุษ คิดมาถึงตรงนี้ระบายอยากถ่มน้ำตารดชะตากรรมของมนุษย์เพศหญิง น. ๗๖)

ใจดวงเปลี่ยว
หนังสือ "อีโรติก" ของผู้หญิง

ที่ผ่านมา เราพอจะเห็นความพยายามของตัวละครหญิงในการปลดปล่อยตนเองในเรื่องทางเพศมาบ้างแล้ว แต่เมื่อพิจารณางานเขียนแนวพิศวาสหรือ "อีโรติก" ของนักเขียนหญิงอย่างสุจินดา ขันตยาลงกต การปลดปล่อยทางเพศได้กลายเป็นประเด็นหลักเพียงหนึ่งเดียว และยังถูกขับเน้นด้วยการเขียนถึงบทพิศวาสโดยละเอียด นักเขียนผู้นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิวัติเรื่องราวทางเพศของผู้หญิง

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า อาณาจักรของวรรณกรรมอีโรติกหรืองานเขียนที่บรรยายฉากสังวาสอย่างตรงไปตรงมาถูกยึดครองด้วยนักเขียนเพศชายมาเป็นเวลานาน การปรากฏตัวของรวมเรื่องสั้นที่ชื่อใจดวงเปลี่ยว ของสุจินดา ขันตยาลงกต ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงสร้างความตื่นตะลึงและก่อให้เกิดการถกเถียงกันในวงกว้าง เพราะนอกเหนือจากการบรรยายบทพิศวาสอย่างโจ่งแจ้งแล้ว ยังจัดวางให้ตัวละครหญิงมีความเป็นอัตบุคคลทางเพศอย่างเต็มที่ ผู้อ่านบางกลุ่มมองว่าเป็นสิ่งล่อแหลมต่อศีลธรรมอันดีของสังคมไทย บ้างก็ว่า "สะใจ" ที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวทางเพศ สุจินดาจึงกลายเป็นนักเขียนที่อื้อฉาวที่สุดประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖ น่าสังเกตว่าในงานเขียนเหล่านี้ นัยยะและคุณค่าของตัวบทมักถูกตีความและประเมินพร้อมไปกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้แต่ง อย่างไรก็ตามเธอก็ยังผลิตผลงานแนวนี้ออกมาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เหมือนระบำดอกนุ่น (๒๕๓๖) แดดหนาว (๒๕๓๗) ปาร์ตี้ (๒๕๓๘) ฯลฯ ในที่นี้จะวิเคราะห์จากผลงานเล่มแรกเท่านั้น เพราะผลงานชิ้นต่อๆ มาก็มิได้เสนอภาพผู้หญิงที่แตกต่างออกไปมากนัก

ไม่ว่าจะนำเสนอในท่วงทำนองที่เพศวิถีของผู้หญิงเป็นสิ่งอันพึงปิดกั้น หรือเป็น "ข้อเท็จจริง" อันพึงสังวร หรือเป็นแรงปรารถนาที่ดิ้นรนแสวงหาการปลดปล่อย วรรณกรรมไทยในทศวรรษ ๒๕๓๐ ก็ได้ดึงเอาสิ่งที่ถือกันว่า "ลึกเร้น" ที่สุดในความเป็นผู้หญิงออกมาสู่หน้ากระดาษเพื่อให้ผู้อ่านได้พินิจพิจารณา ความหลากหลายของทัศนะเกี่ยวกับเพศวิถีที่ปรากฏออกมาผ่านตัวบทเหล่านี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยมีค่านิยมทางเพศสำหรับผู้หญิงหลายระดับที่ซ้อนทับกันอยู่ โดยที่คติเรื่องความสงบเสงี่ยมและรักนวลสงวนตัวแบบกุลสตรียังคงเป็นแนวหลัก ขณะเดียวกันก็มีกระแสที่ตั้งคำถามต่อคติดังกล่าวในแง่ที่ถือว่าเป็นเครื่องจองจำผู้หญิง ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ก็พบความพยายามแสวงหาเสรีภาพทางเพศให้แก่ผู้หญิงอย่างเปิดเผยและท้าทาย ทั้งนี้การปลดปล่อยทางเพศก็มิใช่ภารกิจอันง่ายดาย

สมดังข้อเสนอในบทกวีของอัญชันที่ว่า เพศวิถีที่สมยอมเป็นผู้ตามหรือผู้ถูกกระทำได้แฝงฝังอยู่ในตัวเพศหญิงอย่างแนบแน่น และมันคือแม่แบบอันสำคัญซึ่งนำมาสู่วิถีชีวิตที่สยบยอมต่อเพศชาย (รวมทั้ง "ทอม" ด้วย -meka)ในอีกหลายแง่มุมด้วยกัน

อ่านบทความนี้เจอใน "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับวางแผงล่าสุด (1 สิงหาคม 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 10) เลยเอามาฝากเพื่อนๆให้อ่านกัน ขอ Quote เฉพาะตอนที่น่าสนใจนะคับ...เนื้อหาเต็มๆคงต้องไปหาซื้อหาอ่านกันเอาเอง อ่านแล้วคิดเห็นกันอย่างไร เล่าสู่กันฟังบ้างนะคับ

ที่มา http://www.lesla.com

แสดงความคิดเห็น

« 1011
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ