Party หนังสือ

อุทกภัย : สิ่งที่เขาเห็นคนอื่นมองไม่เห็น

by Pookun @November,04 2006 22.25 ( IP : 58...231 ) | Tags : Party หนังสือ

อุทกภัย : สิ่งที่เขาเห็นคนอื่นมองไม่เห็น

รวมเรื่องสั้น : อุทกภัย ผู้เขียน : รัตนชัย มานะบุตร สำนักพิมพ์ : นาคร พิมพ์ครั้งแรก : เมษายน 2545

เมื่อน้ำท่วมโลก&โลกจะเหลือเพียงสัตว์อย่างละคู่ ซึ่งมีความดีพร้อมต่อการดำรงตนในโลก ความเชื่อนี้มีอยู่ในความรู้สึกอันยาวนาน

ในมิติที่มโนทัศน์เรื่อง การพัฒนา ได้ครอบคลุมไปทั่วทุกหัวระแหง สำนึกของการทำตัวให้ ทันสมัย รุกรานเข้าไปแฝงตัวอยู่ในซอกหลืบแห่งจิตใต้สำนึกของผู้คน ดั่งอุทกภัยที่พร้อมท่วมท้น ทำลายรากฐานความเชื่อพื้นถิ่นอันเป็นวิถีของคนแต่โบร่ำโบราณ รัตนชัย มานะบุตร ได้เดินย้อนสำรวจความเชื่อเก่าๆ ย้อนเวลากลับไปสู่อดีต กลับไปยังเมื่อครั้งที่คุณค่าแห่งโลกใบเก่า ยังคงเปี่ยมความหมายขณะเดียวกันก็หยั่งลึกถึงความจริงที่ว่าเมื่อมาสู่ยุคปัจจุบัน คุณค่าเก่าๆ ที่แฝงตัวผ่านความเชื่อเหล่านั้นมีสภาพการดำรงอยู่อย่างไร

ความพ่ายแพ้ของ ต้นไอ้สัน ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นลูกยางที่ไม่เคยแพ้ใคร วันหนึ่งมีนก็แพ้ต่อ ไอเสือเหลือง แต่ที่ร้ายกว่านั้น มันก็ได้แพ้ต่อความเจริญที่มาในรูปของ รถแทรกเตอร์

ผ้าขาวม้าของ ตา ที่ครั้งหนึ่งเคยสามารถบัญชาให้ลมพัดไปตามต้องการ ทว่าเดี๋ยวนี้ลมได้พัดเปลี่ยนทิศทางไปแล้ว ตาเอาตัวเองเข้าขวางไฟที่กำลังไหม้ลามเข้าหาต้นไม้ที่เปรียบเหมือนชีวิตของแก ด้วยความเชื่อว่าต้นไม่สมบูรณ์ เจ้าของสมบูรณ์ ต้นไม้ล้มเจ้าของล้ม

ไม่ต่างไปจากเฒ่าสิงห์ที่ไม่อาจเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษในงานพิธี โต๊ะชุมพุก วันนี้ไม่มีนา บรรพบุรุษทั้งสี่อันกอปรไปด้วยด้วย ตากระบุตร ยายกระบัตร ตาสีรัด และยายพุทโธ จึงไม่มาเข้าร่างทรง งานวิวาห์โต๊ะชุมพุกในวันนี้ไม่อาจส่งจิตเชื่อมต่อวิญญาณบรรพบุรุษได้

ตีเมาะที่แต่งกายมาเพื่อทำหน้าที่เป็นนางรำรองเง็ง กับพวกชาวบ้านถูกหลอกให้มาร่วมพิธี บู-ญอ-บาตา ทว่างานคราวนี้ไม่มีการเชือดความขาว ต่างไปจากเมื่อครั้งในอดีต

นักรบเล่มาที่ต่อกรกับโต๊ะหลวง-นายบ้านแม้ว่าจะพ่ายแพ้แต่ทว่าการที่เขาได้เห็น ลูกแทงแม่ ซึ่งเป็นสายน้ำสองสายที่ตัดกัน สายน้ำใหม่กำลังแทงตัดท้องน้ำสายแม่ทะลุเลยไปยังตลิ่งฝั่งตรงข้าม นั่นเป็นลางบอกเหตุสะท้อนให้เห็นชะตากรรมของโต๊ะหลวงในวันหน้า แผ่นดินตรงนี้บอกเขาเช่นนั้น

ภาพย่อยของโลกที่เกิดขึ้นท่ามกลางความหลายไหลของวัฒนธรรมใหม่ เป็นอุทกภัยที่กำลังไหลบ่า เป็นอุทกภัยของโลกที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา เป็นข้อสรุปจากรวมเรื่องสั้นชุดนี้ สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม นั่นก็คือรากฐานของความเป็นมุสลิมของตัวผู้เขียน

มีเรื่องสั้นในชุดนี้อยู่หลายเรื่องที่สะท้อนมุมมอง ของมุสลิมออกมาได้อย่างแจ่มชัด ที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือว่าเมื่อได้อ่านเรื่องราวที่ผู้เขียนนำเสนอออกมาผ่านมุมมองของคนที่อยู่ ข้างใน เป็นคนในรั้วของมุสลิมด้วยกันซึ่งตรงนี้หาอ่านได้ยากยิ่ง

สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ก็คือ ท่าทีที่ผู้เขียนได้นำเสนอ หรือว่าแง่มุมของเรื่องราวที่หยิบยกมาเขียนถึงบางเรื่อง ผมถือว่าเป็นการวิพากษ์ความเป็นมุสลิมโดยคนที่เป็นมุสลิมด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ท่านอีหม่าม หรือ นอกกำแพง บอกให้รู้ว่าแม้แต่ในสังคมที่ถือว่าเป็นสังคมอนุรักษ์ดังเช่นมุสลิม บางคนก็ยังพ่ายให้กับสิ่งที่เรียกว่า ทุน หรืออำนาจแห่งเงินตรา

เรื่องที่ผมเห็นว่าเฉียบคมที่สุดในชุดเรื่องมุสลิมก็คือ กาลีมะฮ์ แม้ผู้เขียนให้ภาพของคนที่รับ กาลีมะฮ์ ไปแล้วแต่ไม่ได้ปฏิบัติตัวเฉกเช่นมุสลิมทั่วไป ว่าเป็นลูกคนจีนที่ผ่านเข้ามา ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น คนนอก หาใช่เป็นเด็กมุสลิมรุ่นใหม่ แต่ก็สะท้อนให้เห็นช่องว่างและความแตกต่างระหว่างรุ่น และปัญหาภายในที่เกิดขึ้นภายในสังคมมุสลิมได้เช่นกัน เหนืออื่นใด ทัศนะในเชิงปฏิรูปของผู้เขียนที่กล้าวิพากษ์ความเป็นมุสลิม ในเรื่องนี้ผมถือว่ากล้าหาญมาก

ส่วนเรื่อง อุทกภัย ที่เป็นเรื่องเปิดและเป็นชื่อปก เรื่องนี้ผู้เขียนได้นำความเชื่อที่แตกต่างกันระหว่างพุทธและมุสลิม นำมาวิพากษ์ปัญหาความไร้จริยธรรมที่เกิดในเมืองใหญ่ ผ่านเหตุการณ์อุทกภัย ขณะเดียวกัน โดยความหมายของชื่อเรื่องก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นจากวิถีแห่งการพัฒนาที่กลืนกินและทำลายวิถีหรือคุณค่าในโลกใบเก่าลงไป เปรียบดังอุทกภัยที่ไหลบ่าท่วมท้นเข้าทำลายทุกสิ่ง

งานเขียนของรัตนชัย มีอยู่หลายเรื่องได้อิทธิพลของงานในรูปแบบที่เรียกกันว่าแมจิกค่อล เรียลิสซึ่ม ซึ่งมักจะนำเอาความเชื่อตำนานพื้นถิ่น เรื่องเล่าต่างๆ นำมาเขียนในลีลาที่เหมือนจริง พูดง่ายๆ ก็คือทำเรื่องเหลือเชื่อให้ดูสมจริงนั่นเอง (ดู หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เก๊ซ หรือ เพดโดพาราโม ของ ฮวล รุลโฟ)

งานในช่วงหลังๆ หลายชิ้น อย่าง เชือกวัดรอบ เพียงชั่วงีบหลับ ลูกแทงแม่ ผู้เขียนเล่นกับมิติของเวลามากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นทางออกอย่างหนึ่งในการ กลับไปสู่อดีต บางเรื่องตัวละครก็หลุดหายไปสู่โลกของอดีต บางเรื่องตัวละครจากอดีตก็หลุดเข้ามาอยู่ในโลกของปัจจุบัน การนำเอาอดีตมาซ้อนทับเปรียบกับปัจจุบัน ผลก็คือทำให้สิ่งที่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลงนั้น มองเห็นได้ชัดขึ้นเป็นเทคนิคหนึ่งในการนำเสนอ&รูปแบบนี้ยังค่อนข้างใหม่สำหรับผู้อ่าน

อย่างไรก็ได้สิ่งที่เป็นข้อสังเกตของผม ที่มีต่องานเล่มนี้ก็คือการวางลำดับเรื่องและเลือกแนวคิดสะท้อนความเปลี่ยนแปลง ซึ่งฉายภาพสังคมเก่าที่ถูกวิถีแห่งการพัฒนา กลืนกินแนวคิดลักษณะนี้กลายเป็นเนื้อหาหลักของนักเขียน กลุ่มนาครมักจะเขียนถึง ผมไม่แน่ใจว่าเป็นด้วย กรอบ ของ บ.ก. ซึ่งก็คือกนกพงษ์ สงสมพันธุ์ เป็นผู้คัดสรรหรือเกิดขึ้นด้วยตัวของผู้เขียนเอง

รวมเล่ม อุทกภัย นี้ จุดเด่นก็คงอยู่ที่รายละเอียดของความเชื่อในรูปแบบต่างๆ ที่หาอ่านได้ยาก หลายเรื่องไม่เคยมีการจดบันทึกหรือพูดถึงมาก่อน การทำงานของผู้เขียนเกิดขึ้น ก็โดยการเข้าไปเก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ตรงหาใช่อ่านมาจากข้อมูลขั้นสอง ถือได้ว่าเป็นข้อมูลในเชิงคติวิทยาชั้นเยี่ยม

การลงแรงทำนาของเกษตรกร จึงมิใช่การมีงานทำตามความหมายของทฤษฎีการพัฒนา

การลงแรงออกไปหาหลาของชาวประมง ก็มิใช่การมีงานทำหากเอาหลักการดังกล่าวมาเป็นกรอบแนวคิด อะไรคือความหมายของการพัฒนาที่แท้จริง?


ชาคริต โภชเรือง

Comment #1
มิตรริมชายแดน
Posted @November,17 2006 10.21 ip : 125...69

เรื่องประมาณตื่นเช้าพร้อมนำค้างเหมย... นาร้าง ...ทำขวัญข้าว...ดักโพพาง... ตามรอยวัวลัก... คนกับความเชื่อ... ของรัตนชัย หายไปไหน  หรือรัตนชัยเปลี้ยนไป๋....

แสดงความคิดเห็น

« 6241
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ