บทความ

ประกาศผลแล้ว"เสกสรรค์-ปรีชา-มัณฑนา" เป็นศิลปินแห่งชาติปี 52

by kai @January,07 2010 23.15 ( IP : 222...39 ) | Tags : บทความ

ประกาศผลแล้ว"เสกสรรค์-ปรีชา-มัณฑนา" เป็นศิลปินแห่งชาติปี 52 โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 มกราคม 2553 18:43 น.

ประกาศผลศิลปินแห่งชาติ 2552 คนดังติดชื่อรับ “ปรีชา เถาทอง” สาขาทัศนศิลป์ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” สาขาวรณศิลป์ “มัณฑนา โมรากุล” สาขาศิลปะการแสดง ขณะที่วธ.ออกโรงแก้ต่างไม่ได้ทอดทิ้งศิลปิน-เงินกองทุนศิลปินแห่งชาติพอ เลี้ยงตัวเอง แต่สัญญาว่าปีหน้าจะเพิ่มกิจกรรมในมิติของศิลปินแห่งชาติมากขึ้น

วันนี้(7 ม.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายธีระ สลักเพชร รม ว.วัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ประกาศผลการคัดเลือกศิลปินที่ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติใน 3 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปีพ.ศ.2552 มีรายชื่อดังต่อไปนี้

  1. ศ.ปรีชา เถาทอง สาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม
  2. นายองอาจ สาตรพันธุ์ สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
  3. นางเพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ สาขาทัศนศิลป์ ด้านประณีตศิลป์- แกะสลักเครื่องสด
  4. นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย
  5. นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล สาขาวรรณศิลป์ ด้านเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์
  6. นายจตุพร รัตนวราหะ สาขาศิลปะการแสดง ด้านนาฏศิลป-โขน
  7. นายอุทัย แก้วละเอียด สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทย
  8. นางมัณฑนา โมรากุล สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยสากล-คำร้อง
  9. นายประยงค์ ชื่นเย็น สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยลูกทุ่ง-ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน

อย่างไรก็ตามภายหลังการประกาศรายชื่อศิลปิน รมว.วัฒนธรรม ได้เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่า กองทุนศิลปินแห่งชาติมีงบประมาณเหลือเพียง 3 ล้านบาทนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากเงินจำนวนี้นี้เป็นงบประมาณของวัฒนธรรมจังหวัดที่จะได้รับเป็นปกติ และใช้ในกิจกรรมวัฒนธรรมในแต่ละจังหวัดเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปินแห่งชาติแต่อย่างใด ตนขอให้สังคมอย่ากังวล และยืนยันว่าวธ.จะดูแลศิลปินแห่งชาติเป็นอย่างดี ซึ่งมีค่าตอบแทนให้เดือนละ 20,000 บาท อีกทั้งยังได้สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบราชการ

"กรณี เงินกองทุนศิลปินที่ว่าถังแตกนั้นเป็นข่าวคลาดเคลื่อนทาง เพราะวธ.มีเงินทุนอยู่ 315 ล้านบาทเป็นเงินที่จะไม่แตะต้องเงินต้น แต่จะนำดอกเบี้ยมาใช้ ซึ่งได้ประมาณปีละ 8 ล้านบาท ในจำนวนนี้จะใช้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติในรอบปี อีกทั้งในปี 2553 นี้ รบ.ได้ให้เงินงบประมาณลงมา 39.6 ล้านบาท ถือว่าน่าจะเพียงพอ"

นายธีระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ วธ.ผลักดันให้ศิลปินแห่งชาติถ่ายทอดความรู้ให้เด็กและเยาวชนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมกิจกรรมของศิลปินแห่งชาติให้มากขึ้นด้วย รวมถึงจะพยายามส่งเสริมงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในมิติของศิลปินแห่งชาติ ด้วย

“เรา ดูแลศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมที่เจ็บป่วยทั้งสิ้น 232 ครั้งใช้งบ 4.5 ล้านบาท ปีที่แล้วสูญเสียศิลปินแห่งชาติ 14 ท่านถือว่ามากทีเดียว ซึ่งศิลปินแห่งช่าติที่ป่วยขณะนี้เช่นครูหวังเต๊ะ วธ.ได้ดูแลอย่างต่อเนื่องมีเจ้าหน้าที่คอยถามอาการที่โรงพยาบาลและตามถึง บ้าน นอกจากนี้กองทุนศิลปินแห่งชาติก็ไม่ได้หวังพึ่งแต่รัฐบาล ได้พยายามจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ช่วยเหลือศิลปินที่ป่วยอย่างเต็มที่อยู่ แล้ว ฉะนั้นประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง” นายธีระ กล่าวและว่า สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีนี้ ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น เป็นผู้มีคุณธรรม มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ ได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งในปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวนมาก และมีกระบวนการพิจารณาอย่างละเอียดมากที่สุดโดยศิลปินแห่งชาติปี 2552 จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 ก.พ. นี้ เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับประวัติโดยย่อของศิลปินแห่งชาติทั้ง 9 คนมี ดังนี้

**ศ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

ปัจจุบันอายุ 61 ปี เกิดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. พ.ศ. 2491 ที่กทม.จบการศึกษาศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่าง  ได้รับปริญญาศิลปะบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 (จิตรกรรม) จากม.ศิลปากร และปริญญาศิลปะมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) จากม.ศิลปากร ได้รับทุนไปศึกษาที่ L’ Academia di belle Arte ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์โท คณะจิตรกรรม ประติมากรรม  และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร เกษียณอายุในตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 9 คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร


ศ.ปรีชาเป็นศิลปินที่มีแนวคิดที่ทันสมัย  สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ เกิดดุลยภาพระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาศิลปะให้เป็นแนวทางสร้างสรรค์ ศิลปกรรมไทยร่วมสมัยอย่างมีเอกลักษณ์ ทั้งทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะและผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ  ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม เมื่อ พ.ศ. 2522  นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะร่วมสมัยที่มีคุณูปการต่อวงการศึกษาศิลปะ และเป็นแรงบันดาลใจให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง อีกทั้งได้อุทิศตนให้กับงานการกุศลโดยร่วมบริจาคผลงานให้กับสาธารณกุศลทำคุณ ประโยชน์ให้กับสังคมอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลายาวนาน


**นายองอาจ  สาตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์  (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย)

เกิดเมื่อวันที่ 8  ก.พ. พ.ศ.  2487  ที่กทม.  จบการศึกษาจาก Cornell University , Ithaca, N.Y., U.S.A. และ Yale University , New Haven, CT., U.S.A.  เป็นสถาปนิกที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย ที่มีความสามารถในการสืบทอดและประยุกต์ใช้ศิลปะแบบดั้งเดิมผสมผสานกับศิลปะ สมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืนและแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมได้เป็นอย่าง ดี และนอกจากจะเป็นสถาปนิกที่ได้การยอมรับในการออกแบบบ้านพัก โรงเรียน โรงแรม และอาคารใช้สอยต่างๆแล้ว ท่านยังเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินผลงานดีเด่นทางสถาปัตยกรรมของสมาคมสถาปนิก สยาม    และอุทิศตนทำงานการกุศลอยู่เสมอ และยังคงสร้างสรรค์ผลงานด้านสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่องเสมอมา


**นางเพ็ญพรรณ  สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์  (ประณีตศิลป์ - แกะสลักเครื่องสด)

ปัจจุบันอายุ  83  ปี  เกิดเมื่อวันที่ 28 ม.ค.พ.ศ.2469 ที่สกลนคร จบการศึกษาประโยควิชาชีพชั้นสูง โรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ และได้รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ทั่วไป วิทยาลัยครูจันทรเกษม  เป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะการแกะสลัก เครื่องสดโดยการแกะสลักผัก ผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด ได้พัฒนารูปแบบ ลวดลาย เนื้อหาและวิธีการนำเสนอให้กว้างขวางขึ้นสู่สายตาชาวโลก เผยแพร่ทั้งผลงาน อบรมถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ชาวไทยและชาวต่างประเทศ สาธิตและเขียนตำราวิชาการมากมา นอกจากนี้  ยังสามารถนำเครื่องสดมาตกแต่งในงานต่างๆ  และประยุกต์ใช้ในงานปัจจุบันได้อย่างสวยงาม  เช่น งานเลี้ยงรับรองทูตานุทูต และราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ งานอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี งานเลี้ยงพระราชทานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นต้น และได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ (ศิลปะการแกะสลักผัก ผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2532

**นายวรนันทน์  ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย)

ปัจจุบันอายุ  55  ปี  เกิดเมื่อวันที่  19  ส.ค. พ.ศ.  2497 ที่กทม. จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 โรงเรียนวัดราชสิงขร และเข้าอบรมการถ่ายภาพทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งฝึกฝนการถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอมากว่า 30 ปี  เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ภาพถ่ายได้โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตน เน้นการถ่ายภาพที่ให้แสงธรรมชาติตามที่พบ และสามารถนำเสนอด้วยศิลปะการถ่ายภาพในแง่มุมต่างๆ ที่มีความงดงาม และนอกจากจะมีผลงานด้านถ่ายภาพแล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพให้กับสมาคม ถ่ายภาพ  สถาบันการศึกษาและผู้สนใจการถ่ายภาพ ซึ่งส่งผลให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน สนใจการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น ผลงานได้รับรางวัลจากสมาคมถ่ายภาพทั่วโลกประมาณ 1,000 รางวัล เช่น รางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม (Best of Show) การประกวดภาพถ่ายสไลด์สีนานาชาติทั่วโลก เหรียญทองจากสมาคมถ่ายภาพแห่งสหรัฐอเมริกา จำนวน 72 ครั้ง


**นายเสกสรรค์  ประเสริฐกุล  ศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์

ปัจจุบันอายุ  60  ปี  เกิดเมื่อวันที่  28  ม.ค. พ.ศ. 2492 ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา  จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์  ม.ธรรมศาสตร์  ปริญญาโทและปริญญาเอก จากม.คอร์แนลล์  สหรัฐอเมริกา  เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์  ม.ธรรมศาสตร์  สำหรับผลงานการเขียน นายเสกสรรค์ได้เขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา มีผลงานที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องตลอดมากว่า 3 ทศวรรษทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง  ผลงานร้อยแก้วมีหลากหลายรูปแบบ  ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย  บันทึก  ความเรียง  บทความ  บทปาฐกถา  บทวิจารณ์วรรณกรรม  และงานแปล  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนในทศวรรษแรกและทศวรรษที่สองสะท้อนทัศนะและอารมณ์ ในฐานะปัญญาชนที่เป็นผู้นำในเหตุการณ์  14 ต.ค. 2516


**นายจตุพร  รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง  (นาฏศิลป์-โขน)

ปัจจุบันอายุ 73 ปี  เกิดวันที่ 9 ธ.ค. พ.ศ.  2479 ที่กทม. จบการศึกษาวิชานาฏศิลป์โขน  จากวิทยาลัยนาฏศิลป  กรุงเทพมหานคร  เป็นศิษย์ครูยอแสง  ภักดีเทวา  และครูอร่าม  อินทรนัฏ    เริ่มรับราชการในกองการสังคีต  เมื่อ พ.ศ. 2500  ต่อมาได้ทำหน้าที่ครูตำแหน่งครูตรี  สาขาโขน  วิทยาลัยนาฏศิลปะกรุงเทพ  ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการที่วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัยพ.ศ.  2540  ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย  สำนักการสังคีต  กรมศิลปากร  เป็นผู้แสดงโขน – ละคร  ให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศชม ณ โรงละครศิลปากร โรงละครแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล และไปเผยแพร่ผลงานทางด้านการแสดงในต่างประเทศหลายครั้ง  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เข้ารับพระราช ทานครอบประธานพิธีไหว้ครูโขนละคร และการต่อกระบวนรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ  ณ  ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ พ.ศ. 2527 นอกจากนี้ยังได้เขียนตำราไว้มากมาย และยังเป็นผู้สืบทอดกระบวนท่ารำที่ได้รับจากโบราณจารย์    ปัจจุบันเป็นผู้ควบคุมและเป็นอาจารย์พิเศษสอนโขนในสถาบันการศึกษาต่างๆ  มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก


**นายอุทัย  แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง  (ดนตรีไทย)

ปัจจุบันอายุ 77 ปี เกิดเมื่อวันที่ 23 ก.ค.พ.ศ.2475  ที่อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม    สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เติบโตในครอบครัวปี่พาทย์ ได้หัดดนตรีไทยจนมีความสามารถ  ต่อมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ระนาดเอกของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ณ สำนักปี่พาทย์บ้านบาตร เป็นศิษย์ที่คุณครูรักมากที่สุดคนหนึ่ง  ได้รับการถ่ายทอดชั้นเชิงการบรรเลงเดี่ยวระนาด เพลงหน้าพาทย์  การปรับวง  การขับร้อง  และการประชันวงอย่างลึกซึ้ง  มีความรู้เแตกฉานทั้งทางระนาดเอกและระนาดทุ้ม นายอุทัยมีผลงานและประสบการณ์ด้านดนตรีไทยมาอย่างยาวนานกว่า  65  ปี ไ ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม  สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนและปรับวงดนตรีไทย อยู่ที่อำเภออัมพวา  ตลอดจนยังเป็นครูสอนดนตรีไทยในสถานการศึกษาและสถานที่ต่างๆ  มีลูกศิษย์จำนวนมาก


**นางมัณฑนา  โมรากุล ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง  (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)

ปัจจุบันอายุ  86  ปี  เกิดเมื่อวันที่  30 มี.ค. พ.ศ.  2466  ที่กทม. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่  2  ที่โรงเรียนเสาวภา กรุงเทพมหานคร เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโดดเด่นมาตลอดตั้งแต่เริ่มร้องเพลงที่กรมโฆษณาการ เริ่มมีผลงานขับร้อง ได้รับการฝึกฝนการขับร้องเพลงในด้านอักขระ การผันวรรณยุกต์ การหายใจ การออกเสียงให้ชัดเจน  จากครูดนตรีหลายท่านทำให้มีความชำนาญในด้านการร้องเพลงไทยเดิมและเพลงไทย สากล และมีการพัฒนาการขับร้องเพลงจากการทดลองด้วยตนเองจนมีลีลาการขับร้องที่ฟัง ดูเป็นธรรมชาติ  มีเสียงหนาและมั่นคง  แต่สะท้อนอารมณ์ที่อ่อนไหวได้ดี  เข้าใจอารมณ์เพลงได้อย่างถ่องแท้ อีกทั้งยังร้องเพลงได้ชัดเจนออกเสียงอักขระได้ถูกต้อง มีศิลปะการขับร้องที่เป็นเอกลักษณ์ มีเสียงไพเราะกังวานหวานใส  มีอารมณ์มีชีวิตชีวา สามารถทำเสียงให้เศร้าได้โดยธรรมชาติ  ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ฟัง  นอกจากนี้ ยังมีความเฉลียวฉลาดตีความหมายของบทเพลงแตกทุกเพลง  เป็นนักร้องหญิงรุ่นบุกเบิกที่โดดเด่น  ของกรมโฆษณาการ  ที่อยู่ในความทรงจำของผู้ฟังตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ฟังเพลงรุ่นเก่ายังคงชื่นชอบไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นนักร้องแม่แบบให้แก่นักร้องรุ่นใหม่ได้ขับร้องบันทึกเสียงใหม่ได้สืบ สานต่อมาจนถึงปัจจุบัน  และเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาดนตรีเป็นอย่างมาก

**นายประยงค์  ชื่นเย็น ศิลปินสาขาศิลปะการแสดง  (ดนตรีไทยลูกทุ่ง-ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน)

ปัจจุบันอายุ 63 ปี เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.พ. พ.ศ.2489 ที่จังหวัดพระตะบอง สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่  6  ที่โรงเรียนการช่างบุรีรัมย์  อำเภอเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์ ศึกษาดนตรีที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการสุขุมวิท ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต กิตติมศักดิ์  สาขาดนตรี จากม.ราชภัฏบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์  มีผลงานและประสบการณ์ด้านดนตรีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี เริ่มเข้าวงการเพลงโดยเป็นนักดนตรีเป่าทรัมเป็ท อยู่กับวงดนตรีรวมดาวกระจาย 2510 ต่อมามาอยู่กับวงดนตรีสุรพัฒน์  ผ่องศรี วรนุช  และเพลิน  พรหมแดน  พ.ศ.  2519 - ปัจจุบัน  ออกมาทำงานประพันธ์เพลง  ควบคุมการบรรเลงเพลงวงดนตรีไทยลูกทุ่งและไทยสากล  ผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงทุกรูปแบบ  และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ เพลงส้มตำ  เพลงแดร็กคูล่าผู้น่ารัก  เพลงเพ็ญจันทร์  เพลงพลบค่ำ  ได้เริ่มนำเอาเครื่องดนตรีไทยหลายชนิดมาบรรเลงผสมกับเครื่องดนตรีสากล เพื่อให้ดนตรีลูกทุ่งได้เผยแพร่สู่สากลจนเป็นที่ยอมรับของนักฟังเพลงทั่ว โลก  ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในฐานะเพลงไทยลูกทุ่งยอดเยี่ยม และวงดนตรีไทยลูกทุ่งยอดเยี่ยม  และได้รับโล่เกียรติยศ ในฐานะเรียบเรียงเสียงประสานเพลงไทยลูกทุ่งตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังได้ประพันธ์เพลง เป็นอาจารย์พิเศษ เป็นวิทยากรบรรยาย  กรรมการตัดสินทางด้านดนตรีให้กับสถาบันต่างๆ  และเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีให้กับม.ราชภัฏบุรีรัมย์โดยไม่รับค่าตอบแทน    เพราะต้องการให้บุคคลในถิ่นฐานบ้านเกิดได้มีความรู้ด้านดนตรี

Comment #1
กนกกร
Posted @December,25 2010 20.08 ip : 125...219

แน่ใจหรือว่าไม่เล่นพวกเล่นพ้อง  การส่งชื่อเข้าไปคัดเลือกมีความยุติธรรมพอหรือไม่  ข่าวจากวงในพบว่าปีนี้มีการแอบเอาชื่อผู้ที่ได้เป็นตัวสำรองออกโดยพละการ  เพื่อที่จะนำเสนอชื่อของพวกตัวเองเดี่ยวๆ  บอร์ดเล็กยังมีชื่อแต่พอไปถึงบอร์ดใหญ่ชื่อกลับอันตรธานหายไปซะยังงั้น  อย่างนี้จะมีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่  คนที่มีคุณภาพมีผลงานจริงๆกลับไม่ได้เพราะไม่มีพวกพ้อง  น่าสงสารวงการศิลปะไทยจริงๆ

แสดงความคิดเห็น

« 5155
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ