บทความ

"เสกสรรค์"ปาฐกถา วันนักเขียน

by Pookun @May,09 2010 13.02 ( IP : 222...180 ) | Tags : บทความ

"การอ่านหนังสือและการเขียนหนังสือ เป็นความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการยกระดับ หรือการแตกสลายทางจิตวิญญาณของผู้คนในสังคม การที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ สังคมไม่เพียงต้องมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ หากยังต้องมีโครงสร้างความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณที่เกื้อหนุนการใช้ชีวิตร่วมกันด้วย นักเขียนเป็นผลงานทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น ภารกิจสร้างสรรค์สังคมในมิตินี้จึงเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้"

ที่ พันธกิจของนักเขียนที่ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นักวิชาการ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพ.ศ.2552 ปาฐกถาเนื่องในวันนักเขียนแห่งชาติ 5 พฤษภาคม 2553

งานไม่ใหญ่โต แต่ก็เนืองแน่นไปด้วยนักเขียน นักอ่าน และนัก (อยาก) เขียน โดยกิจกรรมในช่วงเช้าที่บ้านนักเขียน ซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 33 เป็นพิธีสงฆ์เนื่องในวาระครบรอบชาตกาล 101 ปี ของนักเขียนคนสำคัญ "เสาว์ บุญเสนอ" และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่นักเขียนผู้ทรงคุณค่าอีกหลายท่านที่ล่วงลับไป แล้ว

ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่ายที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ เริ่มต้นด้วยการอ่านบทกวี "ดอกไม้เบ่งบานวันนักเขียน" ผลงานการประพันธ์ของชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และพิธีมอบรางวัล "สุภาว์ เทวกุล" ซึ่งมอบให้วรรณกรรมดีเด่นประเภทนวนิยาย เรื่องสั้น และบทละคร เป็นประจำทุกปี

โดยปีนี้มีเรื่องสั้นได้รับ รางวัลทั้งสิ้น 15 เรื่อง จากผลงานทั้งหมดเกือบ 300 เรื่อง ทั้งนี้ มีเรื่องสั้น 3 เรื่องที่ได้รับรางวัลพิเศษ ได้แก่ "ลูกของลูกสาว" โดย นทธี ศศิวิมล, "เลือดเนื้อและชีวิต" โดย ธารา ศรีอนุรักษ์, และ "โสร่งสีน้ำหมาก" โดย องค์ บรรจุน

ใน โอกาสเดียวกันนี้ ยังมอบรางวัลให้เรื่องสั้นขนาดยาวที่ส่งเข้าประกวดในหัวข้อ "ความจริง ความลวง" เนื่องในวาระครบรอบชาตกาล 110 ปี รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ให้แก่นักเขียน 3 ท่าน โดยรางวัลชนะเลิศเป็นของ "จัตวาลักษณ์" จากผลงานเรื่อง "ตาต้นสน", รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่เรื่อง "หลง"ของสิขรินทร์ เมฆ กระจ่าง, และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่เรื่อง "ปฏิสนธิ" ของ วัฒน์ ยวงแก้ว

และเช่นเดียวกับทุกปี คณะกรรมการ "กอง ทุนศรีบูรพา" ยังมอบรางวัล "ศรีบูรพา" เพื่อเชิดชูศิลปิน นักคิด นักเขียน และนักหนังสือ พิมพ์ ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงาม และเป็นแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม ให้แก่ "พระไพศาล วิสาโล" พระนักธรรมผู้สร้างสะพานเชื่อมธรรมะสู่คนรุ่นใหม่ นักคิดสันติวิธีผู้นำในการแสวงหาทางออกให้สังคมไทย และนักเขียนผู้บันทึกความคิด และถ่ายทอดสู่สังคมสม่ำเสมอ

ที่สำคัญ อีกประการคือ การปาฐกถา "ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" ดังที่เกริ่นไว้บางตอนในข้างต้น ในหัวข้อ "การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ" ที่สะท้อนภาพของแวดวงวรรณกรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และบทบาทของนักเขียนในการสร้างสรรค์ จรรโลง และยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจ

ดร.เสกสรรค์ กล่าวว่า ในอดีตการเขียนหนังสือเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการแสวงหาทางปัญญา และการแสวงหาทางจิตวิญญาณ จนแทบกล่าวได้ว่าการเขียนหนังสือในสมัยก่อนมีฐานะเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นได้จากการใช้ภาษาเขียนบันทึกคัมภีร์ และคำสอนทางศาสนาต่างๆ

อีก ทั้งศิลปะในการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองก็ล้วนเกิดขึ้นโดยแรงบันดาล ใจทางจิตวิญญาณ ผู้ใดเขียนหนังสือผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ เพราะในหลายๆ กรณี ผู้เขียนหนังสือและผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นคนๆ เดียวกัน การเขียนในอดีตนั้นนอกจากจะบรรจุสารทางจิตวิญญาณอันลึกซึ้งแล้ว ยังมีลักษณะเป็นวรรณกรรมต้นแบบและเป็นจุดบรรจบของสิ่งที่เรียกว่า ความจริง ความดี และความงาม

"นัก เขียนบางคนเขียนแทนเพื่อนมนุษย์ที่ไม่มีปากมีเสียง ซึ่งเป็นการยกระดับทางจิตวิญญาณของตัวผู้เขียนเอง บางคนเขียนถึงมิติของชีวิตที่โลกหลงลืม บ้างใช้เรื่องราวรูปธรรมของความจริงเฉพาะส่วน นำพาผู้อ่านไปสู่ความเข้าใจความจริงสูงสุดของการเกิดมาเป็นคน"

"แต่ ไม่ว่าจะมีความหลากหลายสักแค่ไหน ผลงานโดยรวมของท่านเหล่านี้ต่างก็มีส่วนช่วยเชิญชวนมนุษยชาติให้สละทิ้งจิต ใจที่หยาบกระด้างและเห็นแก่ตัว มาสู่จิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อน และการกระทำที่ใช้สติปัญญา พูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่า ที่โลกหมุนไปสู่ความเจริญได้ก็เพราะหนังสือมีส่วนสร้าง"

อย่างไรก็ ตาม ดร.เสกสรรค์มองว่า เมื่อการเขียนหนังสือได้กลายเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง และทั้งผู้เขียน ผู้อ่านมีความหลากหลายมากขึ้น จุดมุ่งหมายในการเขียนได้กระจายไปหลายทิศทาง งานเขียนส่วนหนึ่งยังรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณไว้ได้

งาน เขียนอีกจำนวนมากมีคุณสมบัติกลางๆ ไม่ก่อโทษ แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ และมีงานเขียนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เพียงขาดสาระทางจิตวิญญาณเท่านั้น หากยังเร่งทำลายจิตวิญญาณของมนุษย์ให้ตกต่ำลงไปอีก ลักษณะเช่นนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะกระทบต่อบทบาทการสร้างสรรค์ จรรโลงโลกโดยตรง

"พื้นที่สำหรับหนังสือดีมีน้อยลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย ทั้งในร้านที่จัดจำหน่ายและในชีวิตของผู้คน การที่หนังสือกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง และการผลิตหรือการจำหน่ายกลายเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาจไม่ใช่สิ่งเลวร้ายโดยตัวของมันเอง แต่เมื่อบวกกับปัจจัยอื่นๆ ที่พาสังคมไทยไปสู่สภาวะไร้รสนิยม และแตกสลายทางจิตวิญญาณ"

"นับวัน สภาพของตลาดหนังสือโดยรวมก็ยิ่งปฏิเสธหนังสือที่มีแก่นสารมากขึ้น ในทิศทางตรงกันข้าม หนังสือที่กระตุกกระตุ้นด้านมืดของมนุษย์ หรือหนังสือประเภทจิตวิญญาณแบบเปลือกๆ ทิ้งแก่นเอากาก กลับมีพื้นที่เหลือเฟือในสถานที่จัดจำหน่าย"

ในฐานะคนเขียนหนังสือ จะรับมือกับสภาวะนี้อย่างไร ดร.เสกสรรค์ให้ความเห็นว่า นักเขียนยังคงต้องยืนยันการทำงานเพื่อส่งสารทางจิตวิญญาณต่อไป แม้จะสวนกับกระแสสังคมและนำความยากจนมาให้ตัวเองก็ตาม ทั้งนี้ นักเขียนที่เอาจริงเอาจังในด้านเนื้อหาสาระยังต้องสำรวจตัวเองด้วยว่า งานของตนถึงพร้อมด้วยคุณภาพและพลังทางศิลปะมากน้อยแค่ไหน เพราะการโทษรสนิยมของผู้อ่านเพียงฝ่ายเดียวอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยุติธรรมนัก

"การเขียนหนังสือเพื่อช่วยสร้างเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณให้กับสังคมค่อน ข้างจะเรียกร้องจากตัวผู้เขียนมากทีเดียว คนเขียนต้องสร้างพลังปัญญา และความสามารถทางศิลปะให้กับตัวเองเสียก่อน หาไม่แล้วก็จะไม่มีแรงส่งสารที่เพียงพอ ทั้งนี้ ในโลกที่เป็นอยู่เราคงต้องยอมรับว่า ลำพังความพยายามของนักเขียนเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ บทบาทของสำนักพิมพ์ และองค์กรอย่างสมาคมนักเขียนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้กับงาน เขียนที่ส่งเสริมมนุษยชาติ และจรรโลงสังคมมากยิ่งขึ้น"

เป็นคำแนะนำ จากนักเขียนมากประสบการณ์ที่ฝากให้นักเขียนรุ่นต่อๆ ไป รวมถึงหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือได้ตระหนักในบทบาทของตน ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ จรรโลง และยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์

วิภาวี จุฬามณี

วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7101 ข่าวสดรายวัน

แสดงความคิดเห็น

« 9469
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ