บทความ

ความรักของกวี อังคาร กัลยาณพงศ์

by Pookun @February,15 2007 09.35 ( IP : 222...123 ) | Tags : บทความ
photo  , 400x533 pixel , 272,491 bytes.

ความรักของกวี อังคาร กัลยาณพงศ์

โดย ผู้จัดการรายวัน 14 กุมภาพันธ์ 2550 18:48 น.

  ในวัย 81 ปี อังคาร กัลยาณพงศ์ ยังสุขภาพแข็งแรงและความจำดีพอที่จะร่ายกาพย์กลอนเสภาขุนช้างขุนแผนให้หนุ่มสาวที่ล้อมวงนิ่งฟังด้วยความทึ่งจนลืมจิบกาแฟ
      แม้อาจต้องอาศัยไม้เท้าและสองมือของ ‘อ้อมแก้ว’ ลูกสาวคนกลางช่วยประคองยามก้าวเดินบ้าง แต่กวีผู้มีดวงตาเห็นความงามของสายรุ้ง วักทะเลและเอื้อมเก็บดวงดาวมากินต่างข้าวผู้นี้ ยังคงแววตาทรหด ไม่ระย่อต่อโรคภัยที่รุมเร้ามาตามวันเวลาของชีวิต
      สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยกย่องให้ อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นหนึ่งในสิบบุคคลที่มีอิทธิพลต่อคนไทยในรอบพันปี (ชื่อของเขาอยู่ถัดจากปรีดี พนมยงค์ และอยู่ก่อนมหาตมะคานธี) ซึ่งเขาเป็นเพียงคนเดียวที่ยังคงมีชีวิตอยู่ พร้อมกล่าวยกย่องไว้ว่า เขาเป็น ‘กวีวิเศษสุดในสมัยของเราด้วยแล้ว เขาอาบและกลืนกินกวีวัจนะแต่สมัยกรุงสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ มาโลมไล้และย่อยเป็นหยาดเหงื่อเลือดเนื้อ ทั้งเขายังรับรู้ทางด้านจิตรกรรมได้อย่างยากที่คนอื่นจะเข้าถึง’
      เสียงเล่าลือถึงภาพเขียนของอังคารที่ซื้อขายกันในระดับหลักล้าน หากอีกด้านหนึ่งของชีวิตกวีและศิลปินในเมืองไทย ใครจะรู้บ้างว่า-ในวันที่ล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล ครั้งนั้น…ครอบครัวเขามีเงินติดตัวเพียงห้าร้อยบาท อย่าว่าแต่จะเอ่ยถึงเงินแสนที่หมอบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเลย
      หากวันเวลาเหล่านั้นก็ผ่านพ้นมาได้ ด้วยความช่วยเหลือจากมิตรสหาย และที่สำคัญคือ ความรักจากคนรอบตัว ทั้งคู่ชีวิตนาม ‘อุ่นเรือน’ ผู้เป็นภรรยา รวมทั้งลูกชายลูกสาวทั้งสาม ภูหลวง, อ้อมแก้ว และ วิศาขา
      11 กุมภาพันธ์ ก่อนครบรอบวันเกิดของอังคาร กัลยาณพงศ์เพียงไม่กี่วัน กลุ่มลูกขุนน้ำและกลุ่มคีรีวงเพื่อความยั่งยืน แห่งบ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมใจกันจัดงานแสดงมุทิตาจิตเพื่อเป็นเกียรติแก่กวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ผู้ซึ่งเป็นคนดีศรีธรรมราช อันเป็นการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปีของกวีรัตนโกสินทร์ผู้นี้
      บ้านเกิด
      เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ที่ยาวนานเกือบ 12 ชั่วโมง ทำให้คนกรุงที่เคยชินกับรถติดเพียง 2-3 ชั่วโมงบนท้องถนนถึงกับระย่อ เมื่อยล้าไปทั้งตัว หากแต่เมื่อเปิดประตูออกมาปะทะกับอากาศเย็นจัดยามเช้าตรู่กลางหุบเขาของคีรีวง ก็ต้องประหลาดปนละอายใจเมื่อพบว่าท่านเจ้าของงาน ซึ่งมีวัยมากกว่าเกือบ 5 รอบ ตื่นขึ้นมาทักทายดวงตะวันก่อนนานแล้ว
      อังคาร กัลยาณพงศ์ ที่คนรุ่นหลังเรียกขานด้วยความเคารพว่า ‘ท่านอังคาร’ ดูสดชื่นและรื่นรมย์อยู่ในแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้าบนโขดหินก้อนใหญ่ “มาต่างถิ่นที่เราไม่เคยมาไม่ควรตื่นสาย เราควรตื่นมารับพรจากพระอาทิตย์และน้ำนมจากจักรวาล” เสียงเขาบอกพลางยิ้มเยื้อน
      หากจะว่าที่นี่คือต่างถิ่นของอังคารก็ไม่เชิง เพราะแม้คีรีวงจะไม่ใช่บ้านเกิด แต่คนนครฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งกาพย์กลอนก็รู้สึกภาคภูมิใจในตัวกวีชาวนครฯ ผู้นี้ ไม่ว่าจะเป็นคนตำบลหรืออำเภอไหน หากเอ่ยชื่ออังคาร กัลยาณพงศ์ออกไป ก็รู้สึกชิดใกล้เสมือนเป็นญาติพี่น้องกับคนดีศรีธรรมราชท่านนี้
      วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ เมื่อ 81 ปีก่อน ณ บ้านหลังวัดจันทาราม ตำบลท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราชครอบครัวของกำนันเข็บและแม่ขุ้มได้ให้กำเนิดทายาทเพศชาย โดยตั้งชื่อว่า ‘บุญส่ง’ ตามประสงค์ของย่า ไม่มีใครคาดคิดว่าต่อมาเด็กชายขี้โรคที่เคยป่วยหนักจนเกือบเป็นอัมพาต จะกลายเป็นกวีที่มีชื่อเสียงนาม ‘อังคาร กัลยาณพงศ์’
      เขาหลงใหลในกาพย์กลอนตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นประถม เขาชอบอ่านวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์, อิเหนา, ขุนช้างขุนแผน มาตั้งแต่เด็ก นอกจากชอบอ่านหนังสือแล้ว อังคารยังชอบวาดรูปและเล่นสร้างโบสถ์ เจดีย์ ทำกำแพงที่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งต่อมาภายหลังเขาก็ได้เข้ามาเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในคณะประติมากรรม รุ่นเดียวกับอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ, อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) ซึ่งต่อมาท่านเหล่านี้ได้กลายเป็นเสาหลักแห่งแวดวงศิลปวัฒนธรรมไทย
      ท่านอังคารยังได้ออกไปช่วยอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ คัดลอกภาพจิตรกรรมโบราณตามเมืองสำคัญต่างๆ เช่น อยุธยา, สุโขทัย, ศรีสัชนาลัย, เพชรบุรี เป็นต้น ต่อมาได้พบกับ ส.ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งหนังสือ ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ซึ่งได้รวบรวมและตีพิมพ์เผยแพร่บทกวีของอังคารเป็นเล่มครั้งแรกต่อสาธารณชนตั้งแต่ พ.ศ.2507 เป็นต้นมา ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากนักเลงกลอนและผู้อ่าน อันเนื่องมาจากบทกวีแนวแหวกฉันทลักษณ์ของเขา
      และ ส.ศิวรักษ์ นี่เองที่เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในความรักของท่านอังคาร
      ความที่ต้องห่างบ้านเกิดเข้ามาเล่าเรียนในเมืองหลวง แถมยังรอนแรมไปทำงานตามโบราณสถานต่างถิ่น ทำให้ท่านอังคารต้องอาศัยบ้านเช่าเป็นที่พักพิงหลายต่อหลายแห่ง จนเขาเอ่ยปากว่าตัวเองเกือบจะได้ ‘ปริญญาเอกทางย้ายบ้าน’
      “ผมเป็นนักเช่าบ้านตัวยง เกือบจะได้ปริญญาเอกทางย้ายบ้าน พวกศิลปินประเทศเราจะมีอะไรนี่มันคือที่ซุกหัวนอนกับที่เก็บหนังสือเท่านั้น บ้านในความหมายของผมคือบริเวณที่กว้างขวางและมีตัวเรือนไว้อาศัย เขาถึงเรียกว่าบ้านเรือนไง ผมน่ะไม่มีบ้านหรอก ที่มีก็แค่ตัวเรือนพอซุกหัวอยู่ ว่างๆ อยู่บ้านตัวเองยังนึกว่าอยู่บ้านเช่าเลย” เขาเคยพูดถึง ‘บ้าน’ ไว้อย่างนั้น
      หากบ้านสองชั้นในซอยพระรามเก้า 59 ที่เป็นทั้งบ้าน แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ และสำนักพิมพ์กินรินที่จัดพิมพ์ผลงานเฉพาะของอังคาร กัลยาณพงศ์ กลับแตกต่างจากที่ซุกหัวนอนอย่างที่ว่า เพราะที่นี่อบอวลด้วยความรักและความทรงจำมากมาย เกินกว่าจะเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่ใช้อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว
      คนรักของกวี
      ภาพใบหน้าของหญิงสาวในภาพเขียนหลายภาพของอังคาร กัลยาณพงศ์ ดูประพิมประพายคล้ายคลึงราวกับคนเดียวกัน ทำให้มีผู้คาดเดาว่า นี่คือภาพวาดของคนรักและคู่ชีวิตของเขาที่มีอายุต่างกันถึง 24 ปี
      หากสตรีที่อยู่เบื้องหลังข้อสันนิษฐานมากมายนี้ กล่าวเพียงว่า ภาพแรกที่ท่านอังคารวาดเธอเป็นแบบนั้น เป็นภาพที่ไม่ค่อยมีใครเห็นมากนัก เพราะวาดสเกตช์ง่ายๆ เมื่อครั้งที่เธอขึ้นไปเป็นครูอาสาบนดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย ในยุคสมัยที่มีการแตกแยกทางความคิด และนักศึกษาอย่างเธอในตอนนั้นถูกทางการเพ่งเล็งจับตามอง
      อุ่นเรือน กัลยาณพงศ์ ภรรยาคู่ชีวิตของกวีเล่าย้อนถึงการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ว่า ตอนนั้นเธอไปฝึกตรวจปรูฟที่โรงพิมพ์ของนิตยสารลลนา ซึ่งมีสุวรรณี สุคนธา เป็นบรรณาธิการ วันนั้นคุณอุ่นเรือนได้รับการแนะนำให้รู้จักท่านอังคารเป็นครั้งแรก และท่านอังคารก็ได้ชักชวนให้ขึ้นไปหาคุณสุวรรณีด้วยกัน บังเอิญที่ตอนนั้นคุณสุวรรณีกำลังจัดแจกันดอกไม้อยู่ และคุณอุ่นเรือนในวันนั้นก็สวมกระโปรงลายดอกกุหลาบ ท่านอังคารจึงได้ขอกุหลาบจากคุณสุวรรณีมามอบให้แก่เธอ
      “แรกรู้จักไม่ได้รู้สึกในฐานะหนุ่มสาว รู้สึกเหมือนญาติผู้ใหญ่ เพราะอายุห่างกันถึง 24 ปี” คุณอุ่นเรือนกล่าว
      ส่วนท่านอังคารบอกยิ้มๆ ว่า แค่ได้ยินชื่อก็พึงใจแล้ว เพราะชื่ออุ่นเรือนนั้นเป็นไทยดี เหมือนอย่างชื่อของน้องสาวมอญมะกะโทในเรื่องราชาธิราช จากนั้นความรู้สึกของสองท่านก็งอกงามกลายเป็นความรักในที่สุด แต่ทว่า ชีวิตของทั้งคู่ก็มิใช่โรยด้วยกลีบกุหลาบ คุณอุ่นเรือนเล่าว่า หลังจากตัดสินใจใช้ชีวิตคู่อยู่กับท่านอังคาร จึงเดินทางไปสู่ขอจากพ่อแม่คุณอุ่นเรือนที่โคราชตามธรรมเนียม โดยมีพี่สาวท่านอังคารและ ส.ศิวรักษ์เป็นเถ้าแก่ให้
      “พอที่บ้านรู้ว่ามาอยู่กับท่านอังคาร พ่อกับคุณปู่ก็รู้จักท่านอังคารเพราะเคยอ่านหนังสือ แต่แม่นี่ไม่ชอบเลย วันที่คุณสุลักษณ์ไปแม่ไปตลาด พอแม่กลับมาก็หน้าเครียดเลย ถามว่าคุณตำแหน่งอะไร คุณสุลักษณ์นี่ปากสั่น ก็ได้พี่สาวท่านอังคารช่วยเป็นนักการทูตเจรจาให้” คุณอุ่นเรือนเล่าว่าเมื่อกลับจากการแต่งงานที่โคราชทั้งคู่เหลือเงินติดตัวอยู่แค่ 200 บาท โดย ส.ศิวรักษ์ได้ซื้อที่ดินย่านฝั่งธนฯ 100 ตร.ว. มอบให้เป็นของขวัญแต่งงานแก่ทั้งคู่
      “ตอนนั้นรูปท่านอังคารยังขายไม่ได้เหมือนในปัจจุบันนี้ รูปเพิ่งขึ้นราคามาแพงพอที่พวกเราจะอยู่ได้เมื่อ 10 กว่าปีมานี้เอง แต่ดิฉันอยู่กับท่านอังคารมา 30 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาฯ ปี 17 แต่ก่อนรูปละ 150 บาท ท่านอังคารก็ได้ค่าเรื่องจากบทกวีบ้าง ได้ค่ารูปจากเพื่อนอาจารย์บ้าง ด้วยความจำเป็นของชีวิตพอมาอยู่กับท่านอังคารก็ทำให้ดิฉันสำเร็จลัทธิเซ็น จากปากซอยไปหลังซอย เอาข้าวสารเอากับข้าวมาก่อน สิ้นเดือนค่อยหาเงินจ่ายให้เขา” คุณอุ่นเรือนเล่าพลางหัวเราะร่วนเมื่อคิดถึงความหลัง
      พอขายรูปได้ตอนนั้นท่านอังคารก็จะมอบเงินไว้ให้ภรรยาใช้จ่ายทั้งหมด คุณอุ่นเรือนเล่าว่าตอนนั้นพอได้เงินมาเธอจะตรงไปบางลำพูเพื่อซื้อขนมปุยฝ้าย ไส้กรอก ช็อกโกแลตที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้กินบ่อยๆ จนบางครั้งนอนหลับไปทั้งที่อมช็อกโกแลตอยู่ก็ยังเคย
      “น่าสงสารอุ่นเรือนเขาเหมือนกัน” ท่านอังคารเอ่ยเมื่อนึกถึงความอัตคัดที่ภรรยาต้องลำบากในความหลัง บางครั้งต้องคอยหลบเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่มาร้องเก็บเงินอยู่หน้าบ้าน แม้แต่เวลาเข็นรถลูกไปตามถนนในซอยแถวบ้านก็ยังโดนคนแถวนั้นมองอย่างดูถูก กว่าชีวิตจะดีขึ้นก็เมื่อมีลูกคนที่สอง ‘อ้อมแก้ว’
      “วันที่จะออกจากโรงพยาบาลท่านอังคารก็ไปรับ เขาก็ผิดหวังเพราะชอบลูกผู้ชายมาก คนแรกคือเจ้าเข้ม ท่านอังคารจะไปไหนเจ้าเข้มต้องไปด้วย สมัยก่อนดิฉันจะเย็บผ้าให้ลูกใส่เอง ลูกชายใส่เสื้อใส่กางเกงเหมือนพ่อเดี๊ยะ พ่อใส่ยังไงดิฉันก็ตัดให้ลูกเหมือนกับพ่อ เวลาเดินไปด้วยกันสองพ่อลูกน่ารักมาก พอเรามีขวัญเกิดเป็นผู้หญิง ท่านอังคารก็เฉยๆ” ถึงตอนนี้ท่านอังคารที่นิ่งฟังอยู่ข้างๆ เสริมขึ้นมาคล้ายจะอธิบายเมื่อเห็นอ้อมแก้ว ลูกสาวนั่งฟังอยู่ด้วยว่า “ตอนนั้นพ่ออยากได้ลูกผู้ชาย”
      “แต่พอโตแล้วเขารักลูกสาวมากที่สุด” คุณอุ่นเรือนเล่าต่อ ท่านอังคารแย้งเบาๆ ว่า “ไม่ อยากให้เข้มเขาเป็นจิตรกร” คุณอุ่นเรือนจึงอธิบายให้ฟังว่าท่านอังคารอยากให้ลูกชายอ่านหนังสือ เป็นกวีเหมือนอย่างพ่อ แต่เข้มหรือภูหลวงนั้นไม่ใช่ว่าไม่ชอบศิลปะ เพียงแต่ชอบจัดการงานต่างๆ เหมือนแม่มากกว่า
      “เลือดเนื้อเชื้อไขของเราเขาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่เขา ไม่ใช่เราบังคับได้ สุดแล้วแต่วิญญาณของเขาปรารถนาจะเป็นอะไร อย่างเราดูดวงดาวเราก็คงไม่หวังปรารถนาเอามาทำหัวแหวนของเรา เราให้อิสระเสรีเต็มที่ เหมือนเรารักนก เราไม่เอามาใส่กรง เราให้ขอบฟ้าเขา เราให้อากาศเขา เราให้ดวงดาวเขา จะเป็นอะไรก็ได้สุดแต่ใจเขาจะเป็น”
      “ขวัญพ่อก็รัก แต่ตอนนั้นอยากได้ลูกผู้ชาย เพราะว่านึกว่าลูกผู้ชายจะดำรงวงศ์สกุล ไอ้เจ้าเหมียว (ลูกสาวคนสุดท้อง) มันคล้ายๆ ย่า ก็นึกว่าเอ๊ ย่ากลับมาใช้ชาติเพราะว่าเมื่อผมมาเรียนหนังสือเหมือนกับหนีมา ไม่กลับบ้านกลับช่อง ย่าเขาคิดถึงเขาก็น้ำตาตก ทีนี้พอเขามาเกิดเขาก็คล้ายๆ ย่า คล้ายกับว่าเขามาทวงหนี้เสน่หามาเก็บดอกเบี้ย ขวัญก็สงสารเอ็นดูคิดถึงความเป็นลูกผู้หญิงจะต้องไปต่อสู้ เหมียวน่ะก็รักเพราะว่าเราไม่เอาใจใส่แม่ตอนที่เขามีชีวิตอยู่ พอเกิดลูกสาวมาคล้ายแม่ก็เลยเทความรักมาทางนี้” ท่านอังคารชี้แจงเมื่อถูกถามว่ารักลูกไม่เท่ากันหรือเปล่า
      วันนี้ลูกๆ โตเป็นหนุ่มสาวกันหมดแล้ว กลับเป็นฝ่ายที่พวกเขาต้องห่วงใยสุขภาพของผู้เป็นพ่อแม่แทน ตัวท่านอังคารนั้นเคยเฉียดใกล้ความเป็นความตายมาถึงสองครั้ง ขณะที่คุณอุ่นเรือนเองก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในสมองเมื่อหลายปีก่อน ในช่วงเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล เธอถึงกับเขียนจดหมายบอกลาสามีและลูกๆ ไว้ล่วงหน้า เผื่อว่าหากเธอสิ้นลมหายใจไป จะขอไปเกิดเป็นนกมาเกาะอยู่ริมหน้าต่าง ณ ‘บ้าน’ หลังแรกที่เป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวแห่งนี้
      “ในสามคนนี้ดิฉันไม่ห่วงใครเลย เพราะเชื่อมั่นว่าถ้าดิฉันถ้าคุณอังคารเป็นอะไรไป พวกเขาไม่อดตายหรอก ดิฉันคิดว่าทั้งสามคนฉลาดที่จะอยู่ในโลกนี้ เพราะดิฉันสั่งสอนเขามาทั้งสามคน เรียกได้ว่าเข้มแข็งเอาตัวรอดได้ทุกคน ความใฝ่ฝันเดียวที่เป็นแสงสว่างให้ก็คืออยากจะมีพิพิธภัณฑ์จิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงศ์ เราทำฐานไว้แล้ว เหลือให้ลูกสามคนเขาจะต้องต่อยอดงานของพ่อไว้เองถ้าเราเป็นอะไรไป”
      เขียนบทกวีรักที่จับใจคนอ่านมาก็มาก เมื่อเอ่ยถามถึงทัศนะความรักของอังคาร กัลยาณพงศ์ เขาตอบว่า “หัวใจมนุษย์มันเต็มไปด้วยความบกพร่อง ความรักมันเป็นอะไรก็ไม่รู้แต่มันมาเติมให้หัวใจนี้เต็มเปี่ยม แก้วชีวิตของมนุษย์ที่มันไม่เต็ม ความรักมันมาเติมให้เปี่ยมไปด้วยความปีติยินดีก็ได้ ไปด้วยความเมตตากรุณาก็ได้ ทำให้แก้วมณีเรามีรุ้ง ในวัยหนุ่มสาวจริงๆ เราไม่รู้จักหรอก เรารู้จักแต่เซ็กซ์ แต่พอเราเป็นพ่อแม่คนแล้ว ความรักจะกลายเป็นความเมตตากรุณา ก็เหมือนเราเป็นต้นโพธิ์แล้วออกลูกนกก็มากิน ต้นโพธิ์ก็มีใจคิดแล้วว่านกเป็นเหมือนลูก ไม่คิดจะแต่งงานกับนกหรอก”
      “เราจะพูดกับหัวใจว่าเรารักไม่รัก หัวใจก็ยังเต้นในอกของเรา มันก็เต้นให้ชีวิตเราดำรงอยู่ได้ บางทีความรักมันก็แก่ชราลงไป บางทีคนรักเกรี้ยวกราดมากก็เหมือนมีเมฆมาบดบังแสงจันทร์ แต่เมื่อเมฆหายไปแล้วความรักหรือความหลังมันก็รื้อฟื้นขึ้นมาได้ น้ำตาถ้าหยดลงในมหาสมุทรมันลอยขึ้นเป็นเมฆ เมฆนี้ก็ตกมาเป็นฝน ดีไม่ดีมาเข้าสายตาเป็นน้ำตาตามเดิม มันหมุนเวียนเป็นวงกลม ความรักคือความรู้สึกของหัวใจที่เดินเป็นเส้นวงกลม มันจะไปไหนสุดท้ายก็เดินเป็นเส้นวงกลมมาที่หัวใจตามเดิม”
      ปณิธานกวี
      ในการที่มีผู้จัดงานแสดงมุทิตาจิตให้ในครั้งนี้ ท่านอังคารบอกว่า ไม่ได้รู้สึกอะไรมากกว่ารู้สึกถึงแต่อากาศดีๆ ที่นี่เพราะอยู่มา 80 กว่าปีแล้ว งานนี้ก็นับเป็นหนึ่งในโลกธรรม 8 ประการ หากมนุษย์มัวแต่ยึดติดกับโลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญก็แย่ เมาสมมติจองหองเพราะดื่มตัวเอง
      “อังคารไม่ใช่คนที่เมาตัวเอง” เขาย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ก่อนกล่าวถึงการที่มิตรสหายอย่าง ส.ศิวรักษ์เขียนยกย่องเขาบ่อยครั้งว่า “คนเราถ้ารักใคร่ชอบพอกันในความลึกของหัวใจจะมีความเมตตา” และเขาถือความเมตตานั้นเป็นน้ำใจไม่ใช่น้ำเมาที่ทำให้ลุ่มหลงในอัตตา
      “มนุษย์เรามีสติปัญญาเป็นสาระ ความคิดที่จะเกิดมาหาแก้วแหวนเงินทองอย่างเดียวไม่ถูกต้อง มนุษย์นี่มีดวงแก้วอยู่กับตัวเองเรียกว่าแก้วสารพัดนึก ไม่ต้องไปขุดหาเพชรพลอยที่ไหน เพราะสติปัญญาก็เป็นดุจแก้วสารพัดนึก สติปัญญาเป็นองค์ประธานของมนุษย์ ถ้าเราไม่มีสติปัญญาแสดงว่าเราขาดองค์ประธาน แล้วองค์ประธานตัวนี้คือแก้วสารพัดนึกเป็นมโนคติ เช่นกันกับนักเขียนต้องอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า มโนคติ มันอยู่ที่ตัวมนุษย์เองว่าจะเจียระไนตัวเองให้เป็นยังไง เราจะเจียระไนให้เป็นเม็ดพลาสติกก็ได้ เป็นแก้วมณีก็ได้”
      ทุกวันนี้ท่านอังคารยังติดตามข่าวสารและความเป็นไปของบ้านเมืองมิได้ขาด บ้านเลขที่ 66 หลังนี้จะรับหนังสือพิมพ์ทุกเช้าวันละหลายฉบับ รวมถึงนิตยสารประเภทวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ และข่าวสารการเมืองทางช่องเอเอสทีวีที่เจ้าของบ้านทั้งสองติดตามเป็นประจำ
      “ประชาธิปไตยของเรานี่วิปริต แต่ก่อนมีพระเจ้าเสือองค์เดียว เดี๋ยวนี้ตามหัวเมืองตำรวจยิ่งกว่าพระเจ้าเสืออีก พอเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย พระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจบริหาร ตุลาการ มันไปลงอยู่ที่ตำรวจหมด อำนาจไปอยู่ในมือคนในเครื่องแบบเป็นแสนๆ ทั้งสิบเอก สิบโทตามต่างจังหวัดยิ่งกว่าพระเจ้าเสืออีก ประชาธิปไตยของเรานี่วิปริต แต่เรามองไม่เห็น เหมือนเปลือกไข่เป็นหนามแทงเอาลูกไก่เอง ถ้าเปลือกไข่เป็นแบบเปลือกทุเรียนแต่มันกลับเข้าข้างในมันก็ทิ่มเอาลูกไก่ นั่นแหละประชาธิปไตยของเราก็อย่างนั้น”
      ในวัย 81 ปี ท่านอังคารยังมีความทรงจำแม่นยำราวกล้องถ่ายภาพที่บันทึกทุกอย่างไว้ในสมอง ด้วยเขายึดมั่นว่าคุณสมบัติของงานจะแบ่งขั้นของมนุษย์ ฉะนั้น ความจำจึงเป็นสิ่งมีค่าในการมีชีวิตอยู่ “ถ้าเราเลอะเลือนก็แย่สิ เวลาที่เรามีชีวิตอยู่เป็นร้อยๆ ปีเท่ากับเราแก่มะพร้าวเฒ่ามะละกอ หาแก่นสารไม่ได้”
      หลายครั้งของบทสนทนา ท่านอังคารชักชวนให้หยุดฟังเสียงนกร้องและแมลงไพรขับขานด้วยแววตาอ่อนละมุน ด้วยจิตวิญญาณกวีที่สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันกับธรรมชาติอย่างแท้จริง
      ในวัยวันสู่ปีที่ 81 ของชีวิต กวีนามอังคาร กัลยาณพงศ์ ยังคงยืนยันและยืนหยัดว่าชาติที่แล้วเขาเป็นกวี ชาตินี้ก็เป็นกวี และชาติหน้าเขาก็ยังคงจะเป็นกวีอีกต่อไป เพราะ “กวีเป็นผู้แปลความหมายของยูนิเวิร์ส ทำให้จักรวาลนี้มีความหมาย จักรวาลเขาสร้างทางช้างเผือก เขาสร้างดวงอาทิตย์ เวลาเดียวกันเขาสร้างโลกมนุษย์ เขาก็สร้างอังคารขึ้นมาด้วย ให้อังคารเข้าใจธรรมชาติของดอกไม้ ของอากาศ ถ้าไม่มีอังคารใครจะบรรยายกลิ่นหอมของดอกจันทน์กะพ้อว่าเป็นกลิ่นของสุโขทัย กวีมันเป็นเส้นประสาทของจักรวาล”
      ///////////////
      ‘ภูหลวง-อ้อมแก้ว-วิศาขา’       ลูกไม้ของกวี
      เป็นธรรมดาที่เมื่อเกิดมาใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ ลูกไม้นั้นก็จะถูกจับตามองว่าจะหล่นไกลต้นหรือไม่ แต่ทั้งสามพี่น้องล้วนพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถเติบโตได้ในวิถีทางของตน โดยมิได้กดดันกับชื่อเสียงของพ่อแต่อย่างใด
      ภูหลวง กัลยาณพงศ์ หรือ ‘เข้ม’ ลูกชายคนโตของอังคาร เป็นคนหนึ่งที่คุณอุ่นเรือนบอกว่า เขามีอารมณ์อ่อนไหวอย่างผู้เป็นพ่อ แต่หากเมื่อโตขึ้นเขากลับเลือกจะเดินในเส้นทางที่ตนถนัดและพอใจอย่างการทำธุรกิจ มากกว่าจะวาดรูปและเขียนบทกวีเหมือนอย่างพ่อ ปัจจุบันนี้เขาทำธุรกิจส่วนตัวอยู่กับเพื่อนที่จังหวัดพะเยา จึงห่างไกลจากครอบครัวด้วยระยะทาง หากเมื่อมีงานสำคัญๆ อย่างในครั้งนี้ เขาก็ขับรถมาจากพะเยามาช่วยทำหน้าที่ช่างภาพและอัดวิดีโอการจัดงานอย่างแข็งขัน
      “ไม่ได้คิดว่ากดดันหรือไม่กดดัน แต่เมื่อเราเกิดมาเป็นลูกพ่อแล้ว ถ้าเราชอบในทางที่ไม่เหมือนพ่อ เราก็เดินไปให้ดีที่สุด แต่ถ้าเราเดินตามพ่อแล้ว ถ้าเกิดว่าเราวาดรูปเก่งจริง แต่งบทกวีเก่งจริง เราก็แค่เสมอตัว มันก็ไม่สามารถดีไปกว่าพ่อได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถเลือกทางอื่นได้ก็ควรจะเป็นทางอื่นมากกว่า”
      ขณะที่ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ หรือ ‘ขวัญ’ น้องสาวคนกลาง เรียนจบจากสถาปัตย์ ลาดกระบัง ปัจจุบันทำอาชีพกราฟิกดีไซน์อิสระ อ้อมแก้วเล่าให้ฟังว่า อยู่ที่บ้านพ่อจะไม่ดุหรือเคร่งขรึมอย่างภาพภายนอกที่คนอื่นคิด ตรงข้าม กลับเป็นพ่อที่ขี้เล่นและอารมณ์ดี ด้วยความที่รักการอ่านและสะสมหนังสือมาก ที่บ้านจึงมีหนังสือทุกประเภท
      “ความที่เราโตมากับหนังสือ หรือเวลาเห็นพ่อเขียนรูปมันก็ทำให้เราซึมซับมาบ้าง แต่ว่าโดยส่วนตัวแล้วก็บ่มเพาะความชอบเป็นลักษณะของตัวเอง เราอาจจะชอบการวาดหรือการเขียนสไตล์นี้ ซึ่งก็คือไม่ได้รับทุกอย่างมาจากพ่อโดยตรง แต่ซึมซับมาเรื่อยๆ มากกว่า”
      ถามถึงบรรยากาศการเมืองภายในบ้าน อ้อมแก้วกล่าวว่าครอบครัวของเธอมีความคิดเห็นด้านการเมืองไปในทางเดียวกันหมดเลย อาจจะเป็นเพราะว่าการเลี้ยงดูที่เปิดโอกาสให้ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ไม่มีการชี้นำหรือเผด็จการทางความคิดแต่อย่างใด
      ส่วนน้องสาวคนเล็กสุด วิศาขา กัลยาณพงศ์ หรือ ‘ขา’ ที่เจ้าตัวชอบให้เรียกว่า ‘เหมียว’ มากกว่านั้น ไม่ได้มาในงานนี้ด้วยเนื่องจากติดงานละครที่มหาวิทยาลัยรังสิต คุณอุ่นเรือนพูดถึงลูกสาวคนเล็กว่า เป็นคนนิสัยช่างฉอเลาะ ชอบเอาอกเอาใจพ่อแม่ตามแบบลูกคนเล็ก แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องเข้มแข็งเธอก็ทำได้ดี เช่นครั้งที่น้องขาต้องขึ้นอ่านบทกวีแทนท่านอังคารที่สุขภาพไม่สู้ดีบนเวทีพันธมิตร เธอก็ขึ้นไปอ่านอย่างฉาดฉาน แม้จะมีเสียงเตือนภายหลังว่ามีชื่อไปติดอยู่ในแบล๊คลิสต์ของสันติบาล หากแต่ครอบครัวก็คอยเป็นกำลังใจให้ลูกๆ ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้อง
      ////////////////////
      เรื่อง - รัชตวดี จิตดี

แสดงความคิดเห็น

« 1279
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ