บทความ

มอง 'อมรินทร์พริ้นติ้ง' บนเส้นทาง 'Content Business'

by Pookun @April,06 2008 20.34 ( IP : 222...201 ) | Tags : บทความ

4 เมษายน พ.ศ. 2551 05:00:00
เปิดปรัชญาธุรกิจ “ต่อยอด” เครืออมรินทร์พริ้นติ้ง กับบทบาทการพัฒนาตนเองไปเป็น Content Business

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นับจาก ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด วารสารบ้านและสวน ขึ้นเมื่อปี 2519 เพื่อผลิตนิตยสารเกี่ยวกับบ้านและที่อยู่อาศัยชื่อ "วารสารบ้านและสวน" นี่คือ..สายธารเล็กๆ สายแรกที่ไหลรวมจนก่อเกิดเป็น  บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (APRINT) ดำเนินธุรกิจผลิตสิ่งพิมพ์ครบวงจร อย่างทุกวันนี้

ปัจจุบัน เครืออมรินทร์มีผลิตภัณฑ์หลักที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 สายธุรกิจ ได้แก่ สายธุรกิจโรงพิมพ์ รับจ้างพิมพ์งานทั่วไป และสายธุรกิจสำนักพิมพ์  เพื่อผลิตสิ่งพิมพ์ของตนเอง ซึ่งได้ทำการจัดจำหน่ายผ่านบริษัทในเครือ บริษัท อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด (ร้านนายอินทร์) ที่บริษัทถือหุ้น 19%

วันนี้ ระริน อุทกะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสำนักพิมพ์ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ทายาทคนโตของ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ที่ล่วงลับไปแล้ว กล่าวกับ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า ภาวะเศรษฐกิจ ในปี 2550 ที่ผ่านมาจะค่อนข้างยากลำบาก แต่เครืออมรินทร์ก็ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ในปีที่ผ่านมา เครืออมรินทร์มีรายได้รวม 1,715.28 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ทำไว้ 1,747.65 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 225.37 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.13 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ทำไว้ 269.59 ล้านบาท มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 1.35 บาท

เธอบอกว่า ในเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ยอดโฆษณาย่อมตกลงทั้งอุตสาหกรรม แต่อมรินทร์ได้ผลกระทบน้อยกว่ารายอื่น นั่นเพราะแบรนด์ของเราค่อนข้างแข็งแรงในตลาด เจ้าของสินค้าจึงยังเลือกลงโฆษณากับสื่อในเครือเราก่อน แต่อาจลดน้อยลงไปบ้างจากเดิมที่ตั้งเป้าเอาไว้ แต่หากดูจากยอดการจำหน่ายนิตยสาร และหนังสือเล่มยังเติบโตได้ตามเป้าหมาย

ปัจจุบัน นิตยสารในเครืออมรินทร์ มีอยู่ 11 หัว ได้แก่ บ้านและสวน, แพรว, สุดสัปดาห์, เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค, ชีวจิต, WE, Room, Real Parenting, Shape, Health and Cuisine และล่าสุดคือ Instyle โดยในปีนี้ ระริน บอกว่า มีแผนจะออกนิตยสารใหม่อีก 1 หัว ภายในไตรมาส 3 หรือไม่เกินไตรมาส 4 ปีนี้ ตามเป้าหมายที่วางไว้ เครืออมรินทร์ต้องออกนิตยสารใหม่ปีละหนึ่งหัว ซึ่งในรอบ 8 ปี ที่ผ่านมา สามารถทำได้ตามนี้มาโดยตลอด

ในส่วนของธุรกิจหนังสือเล่ม (พ็อกเก็ตบุ๊ค) เครืออมรินทร์มีสำนักพิมพ์ย่อยทั้งหมด 13 สำนักพิมพ์ ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ของหนังสือ และมีแผนที่จะผลิตหนังสือใหม่ (New Title) ปีละ 250-300 เล่ม  สำหรับในปี 2551 ตั้งเป้าจะผลิตหนังสือเล่มให้ได้จำนวนตามตัวเลขนี้เหมือนเช่นทุกปี

ระริน ระบุว่า นิตยสารในเครือทุกหัว มียอดขายอยู่ใน 3 อันดับแรกของแต่ละ Category (การแบ่งหมวดหมู่) ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารผู้หญิง การตกแต่งบ้าน ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพ เป็นต้น โดยนิตยสารในเครือ มีมาร์เกตแชร์ 10% ของตลาดนิตยสารทั้งหมดในประเทศไทย หรือติด 1 ใน 3 ของผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรม ส่วนธุรกิจหนังสือเล่ม ก็มีจำนวนหนังสือใหม่ที่ตีพิมพ์ในแต่ละปี "สูงที่สุด" ในตลาดต่อเนื่องมาแล้วหลายปี

ขณะที่ สายธุรกิจโรงพิมพ์ รับจ้างพิมพ์งานทั่วไปนั้น ลูกค้าหลักจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชน โดยศักยภาพของเทคโนโลยีที่เรามีอยู่สามารถรองรับงานพิมพ์ชนิดพิเศษได้ทุกประเภท

เธออธิบายว่า สัดส่วนรายได้ของอมรินทร์พริ้นติ้ง จะมาจากธุรกิจ 3 ขาหลัก ได้แก่ ธุรกิจรับจ้างพิมพ์ รายได้จากการจำหน่ายหนังสือเล่มและนิตยสาร และค่าโฆษณาในนิตยสาร คิดเป็นสัดส่วนเท่าๆ กันประมาณ 30% ส่วนอีก 10% ที่เหลือ มาจากธุรกิจใหม่ จัดงานแฟร์  ฝึกอบรม ธุรกิจทัวร์ และรายการโทรทัศน์  ส่วนธุรกิจร้านหนังสือ “ร้านนายอินทร์” เป็นเพียงบริษัทที่เกี่ยวข้อง ไม่ถูกนำรายได้มานับรวมในงบการเงินของบริษัท

พร้อมกันนี้ เธอยังบอกด้วยว่า อมรินทร์พริ้นติ้งสามารถรักษาระดับอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ได้สูงกว่าระดับ 15% มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากที่ผ่านมาได้เน้นการควบคุมต้นทุน โดยเฉพาะค่ากระดาษที่เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจได้อย่างดี

สำหรับ เป้าหมายในปี 2551 แม่ทัพหญิงเครืออมรินทร์ บอกว่า บริษัทยังคงยึดแนวทางการบริหารแบบระมัดระวัง โดยเฉพาะการคุมต้นทุนในด้านการขนส่ง ภายใต้เป้าหมายการเติบโตในปีนี้ประมาณ 10% น่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป และคิดว่าน่าจะทำได้ไม่ยาก

เมื่อให้เธอมองอนาคตของธุรกิจสิ่งพิมพ์ สายเลือด ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ยังมั่นใจว่า ธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทุกวันนี้คนไทยมีสัดส่วนการอ่านหนังสือเพียงแค่ 20% ยังห่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่เขาอ่านหนังสือ 80-90% ของประชากรทั้งหมด ใครว่าตลาดนี้กำลังจะตาย เธอจึงไม่เชื่อเช่นนั้น

ในประเด็นข้อขัดแย้งที่ว่า สื่ออินเทอร์เน็ตกำลังจะเข้ามาทดแทนสื่อที่ผลิตจากกระดาษ ระริน เชื่อว่า ไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะสื่ออินเทอร์เน็ตจับต้องได้ยาก สุดท้ายแล้วผู้บริโภคยังคงชอบที่จะเลือกอ่านอะไรที่จับต้องได้มากกว่า

"ธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังไม่ใช่ Sunset Business (ขาลง) อย่างที่ใครๆ คิดกันแน่นอน ตลาดมันยังโตได้อีกมาก แต่อาจมีพื้นที่เหลือให้เฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพจริงๆ เท่านั้น เข้าทำนองที่ว่า เกิดง่าย..ตายเร็ว ถ้าคุณไม่แข็งแรงจริง"

แล้วเครืออมรินทร์จะเติบโตไปในแนวทางไหน ระริน ตอบคำถามนี้ว่า จุดมุ่งหมายของเรา ได้วางสถานะตัวเองเป็น Content Business (ธุรกิจขายเนื้อหาสาระ) ไม่ใช่เป็นเพียงผู้จัดพิมพ์นิตยสาร แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ตั้งแต่การขยายไปสู่ธุรกิจจัดงานแฟร์ นำคอนเทนท์ไปต่อยอดผลิตรายการโทรทัศน์ ไม่ได้ยึดติดกับสื่อสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียว ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำให้คงอยู่ต่อไปได้ด้วย

“นิตยสารเป็นเพียงสื่อทางเลือกหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดจะขึ้นอยู่กับว่าใครจะสร้างคอนเทนท์ให้ตรงกับใจผู้บริโภคมากที่สุด และนั่นคือสิ่งที่เราสร้างมาตลอด 33 ปี”

เธอวิเคราะห์ว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นธุรกิจที่มี Entry Barrier (ขวากหนามสกัดกั้นผู้บุกรุกรายใหม่) ต่ำ หมายความว่า ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในวงการนี้ได้ง่าย เราจึงมีนิตยสารและสำนักพิมพ์เกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าไปดูให้ดีจะพบว่า มีเพียงน้อยรายที่ยืนหยัดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ได้ยาวนาน ยิ่งการแข่งขันสูง ในที่สุดแล้วอุตสาหกรรมนี้จะเหลือผู้เล่นที่แข็งแกร่งอยู่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น

ทางด้านหุ้น APRINT ระริน ยอมรับว่า บริษัทไม่ค่อยมี “ข่าว” ให้นักลงทุนได้รับรู้มากนัก นโยบายของอมรินทร์พริ้นติ้ง คือ เน้นการเติบโตอย่างช้าๆ สร้างความมั่นคงมากกว่าเร่งสร้างธุรกิจให้หวือหวา นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นต้นมา ก็มีผลประกอบการเติบโตมาโดยตลอด

แม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หรือช่วงที่ตลาดหุ้นซบเซา ผลการดำเนินงาน และราคาหุ้นของเราก็ไม่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนเงินปันผลก็ยังจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นทุกปี มีเพียงปีเดียวที่บริษัทต้องลงทุนสร้างสำนักงาน และขยายโรงพิมพ์ใหม่ จึงจ่ายปันผลเป็นหุ้นแทน นอกเหนือจากนั้นก็จ่ายปันผลเป็นเงินสดมาโดยตลอด ดังนั้นนักลงทุน และกองทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นเรา จึงเป็นนักลงทุนระยะยาว

หากเป็นนักลงทุนระยะสั้น ระริน บอกว่า อาจจะไม่เหมาะกับหุ้นตัวนี้ เพราะหุ้น APRINT ของเราไม่ขึ้นลงหวือหวา แม้แต่เวลาที่ตลาดหุ้นตกหนักๆ ถ้าไปดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่า กราฟเราค่อนข้างมั่นคงมากๆ แต่ก็มีคนบ่นมาเหมือนกันว่า หาซื้อหุ้นเรายาก ส่วนใหญ่ถือแล้วจะกอดหุ้นไว้ไม่ยอมปล่อย

นับจากวิกฤติ ปี 2540 ถึงปัจจุบัน 11 ปี ราคาหุ้น APRINT เคยลงไปต่ำสุด 0.48 บาท และขึ้นไปสูงกว่า 14 บาท เมื่อไม่นานมานี้..."ช้า" แต่ "มั่นคง" เปรียบได้กับนิทาน "เต่า" วิ่งแข่งกับ "กระต่าย" ไม่ต้องเร็วแต่วิ่งไปเรื่อยๆ และไม่หยุดอยู่กับที่ ถึงจะเป็น "เต่า" ก็ยัง "ชนะ" กระต่ายได้

Comment #1
pongsak phumadaer
Posted @January,28 2010 22.58 ip : 110...179

เราโดนนายจ้างเอาเปรียบ โบนัสน้อย ท่องเที่ยว-กีฬาประจำปี ยกเลิก เงินเดือนต่ำ  แถม
หัวหน้างาน ประเมินการทำงานของลูกน้องด้วย "ตาตุ่ม" แทนสายตา สิ้นปีปรับลดเงินเดือน เราอีก เอาสมองส่วนไหนคิด superviser search com ไปวันๆ แถมกะกลางคืนแอบหลับอีก เงินเดือนไม่ต้องพูดถึงรับ 20,000 up ทุกคน คิดถึงลูกน้องบ้างจะกินข้าวกับเกลืออยู่แล้ว                                                           ลูกจ้าง คุณชูเกียรติ

แสดงความคิดเห็น

« 6548
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ