ก๊วน Writer
ประวัติชีวิต ชาติ กอบจิตติ
ประวัติชีวิต ชาติ กอบจิตติ
ประวัติชีวิตและผลงาน นายชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
นายชาติ กอบจิตติ ปัจจุบันอายุ ๕๐ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๗ ที่บ้านริมคลองหมาหอน ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เดิมชื่อ สุชาติ เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนบุตรชาย ๔ คน และหญิง ๕ คน ของ นายสุนทรและนางสมจิตต์ กอบจิตติ มีอาชีพค้าขาย ชาติ กอบจิตติ สมรสกับ นางสาวรุจิรา เตชะศีลพิทักษ์ ไม่มีบุตร
ประวัติการศึกษา
ชาติ กอบจิตติ เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดใหญ่บ้านบ่อ ต่อมาขณะที่เรียนเทอมสุดท้ายของ ชั้นประถมปีที่ ๗ จำเป็นต้องไปอยู่กับยาย จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเอกชัยในตัวจังหวัดสมุทรสาคร(มหาชัย) เพราะแม่ต้องไปอยู่เรือทรายกับพ่อที่จังหวัดราชบุรี จากนั้นไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนปทุมคงคา กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยอาศัยอยู่กับพระซึ่งเป็นเพื่อนของอาที่วัดตะพานหรือวัดทัศนารุณ มักกะสัน เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้วได้สอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง ในสาขาภาพพิมพ์
ประวัติการทำงานและงานเขียน
ชาติ กอบจิตติ ชอบวาดรูป ชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนเรียงความและใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนมาตั้งแต่ ยังเด็ก สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีครูฝึกสอนจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อ มาลี มโนเจริญ มีส่วนช่วยสนับสนุนด้วยการหาหนังสือมาให้อ่าน พาไปฟังนักเขียนอภิปราย จึงได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ นักเรียนนักเลง ลงในหนังสืออนุสรณ์ปทุมคงคา ๒๕๑๒ เมื่อไปเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง เริ่มอ่านเรื่องสั้นของ รงค์ วงษ์สวรรค์ สุวรรณี สุคนธา นพพร บุณยฤทธิ์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ฯลฯ เรื่องแปลของ อัลแบร์ กามู, ฌาง ปอลซาร์ต, กีย์ เดอ โมปัสซังต์ ฯลฯ และชื่นชอบมากกับผลงานของสุวัฒน์ ศรีเชื้อ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ รัศมี เผ่าเหลืองทอง ได้มีโอกาสเขียนบทละครแสดงที่เพาะช่างมากกว่าสิบเรื่อง บางครั้งก็ร่วมแสดงเองด้วย ขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๒ เคยสมัครไปทำงานเปิดบาร์อะโกโก้ ที่ถนนพัฒน์พงษ์ เพื่อหาเงินเรียน ต่อมา พ.ศ.๒๕๑๕ ขณะเรียน ชั้นปีที่ ๓ ศิริพงษ์ อยู่ ชวนไปทำอาร์ตเวิรค์หนังสือ เสนาสาร ยุคดารา อยู่ระยะหนึ่งและได้เขียนวิจารณ์โทรทัศน์ด้วย
พ.ศ. ๒๕๒๐ แต่งงานกับ รุจิรา เตชะศีลพิทักษ์ เพื่อนสาวที่จบจากวิทยาลัยเพาะช่างด้วยกัน ซึ่งรับราชการอยู่กองโบราณคดี แผนกซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากร แล้วลาออกมาช่วย ชาติ กอบจิตติ ทำกระเป๋าขาย แต่ ชาติ กอบจิตติ ก็ยังคงทุ่มเทให้แก่การอ่านและการฝึกเขียนอยู่ตลอดเวลา เคยร่วมกับ สุริยะ แซ่ห่าน นักศึกษา รุ่นน้องซึ่งเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่างทำสำนักพิมพ์สายธาร พิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่ม มี เรืองเดช จันทรคีรี ไปช่วยงานด้วย วันหนึ่งได้นำเรื่องสั้นชื่อ ผู้แพ้ ให้ เรืองเดช จันทรคีรี อ่านโดยบอกว่า เป็นเรื่องของ มานพ ถนอมศรี เมื่อ เรืองเดช ได้อ่านแล้วชมว่าเขียนได้ดีมาก ชาติ กอบจิตติ จึงเกิดความ มั่นใจส่งไปให้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งกำลังทำ โลกหนังสือ อยู่ในขณะนั้นพิจารณา ปรากฏว่าเรื่องสั้น ผู้แพ้ ของชาติ กอบจิตติ ได้พิมพ์ในโลกหนังสือ ฉบับเรื่องสั้นชุด คลื่นหัวเดิ่ง เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ และเป็นหนึ่งในสองเรื่องที่ได้รับรางวัล ช่อการะเกด ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลที่ได้มาตรฐานมากที่สุดรางวัลหนึ่งและเรื่องเดียวกันนี้ ยังได้รางวัลชมเชยจากการคัดเลือกเรื่องสั้นดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๒ ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยอีกด้วย
นับแต่นั้น ผลงานเขียนของ ชาติ กอบจิตติ ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ เรื่อยมา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่องสั้นกึ่งนวนิยายชื่อ ทางชนะ ได้รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง จนตรอก ซึ่งพิมพ์ใน พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในทางชื่นชมอย่าง กว้างขวาง ภายหลังมีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น บ้าน และโด่งดังมากที่สุดจากนวนิยายเรื่อง คำพิพากษา ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีผู้นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ นวนิยายเรื่อง พันธุ์หมาบ้า ก็มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย ระยะหลัง ชาติ กอบจิตติ ยึดอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียว และร่วมกับเพื่อนทำสำนักพิมพ์คนวรรณกรรม จัดพิมพ์เรื่องสั้นและนวนิยายของตนเองและคนอื่น ๆ
ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๒ ๒๕๓๕ ชาติ กอบจิตติ ได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย โดยไม่มีผลงานเผยแพร่จริงจัง นอกจากเรื่องสั้นบันทึกชีวิตที่นั่นบางเรื่อง จน พ.ศ.๒๕๓๖ หลังจากไม่มีผลงานเรื่องใหม่มานาน ๔ ปี ชาติ กอบจิตติ ได้พิมพ์นวนิยายเรื่อง เวลา โดยสำนักพิมพ์หอน ของตนเอง ปรากฏว่าได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๗ นับเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลซีไรต์ซ้ำเป็นครั้งที่ ๒ และเรื่องเดียวกันนี้ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๗ ด้วย
ชาติ กอบจิตติ และภรรยา ใช้ชีวิตเงียบ ๆ ในไร่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สร้างสรรค์งานเขียนออกมาเป็นระยะ ๆ นอกจากเรื่องสั้นและนวนิยายแล้วยังเขียนบทความและบทภาพยนตร์ และยังเปิดบ้านพัก เป็นโรงเรียนสอนการเขียนอีกด้วย นับเป็นคุณูปการด้านการถ่ายทอดของ ชาติ กอบจิตติ เป็นอย่างยิ่งในการสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ให้สืบสานด้านการเขียนต่อไป
Relate topics





