ก๊วน Writer

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

by 1 @October,21 2006 21.51 ( IP : 222...94 ) | Tags : ก๊วน Writer

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สารานุกรมประเทศไทย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (9 ก.พ. พ.ศ. 2509  13 ก.พ. พ.ศ. 2549) เป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปีพ.ศ. 2539 จากหนังสือรวมเรื่องสั้น แผ่นดินอื่น เป็นสมาชิกก่อตั้งของกลุ่มนาคร เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือไรเตอร์ แมกกาซีน ได้รับรางวัลช่อการะเกดสองครั้ง จากเรื่องสั้น สะพานขาด และเรื่องสั้น โลกใบเล็กของซัลมาน

เดอ " กนกพงศ์ สงสมพันธุ์-นักเขียน นักเขียนรางวัลซีไรท์ปี 2539

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เกิด 9 ก.พ. 2509 ที่อำเภอควนขนุน จ.พัทลุง จบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนวัดพิกุลทอง มัธยมศึกษาจากโรงเรียนพัทลุง ที่อำเภอบ้านเกิด จากนั้น เอ็นทรานซ์เข้าคณะวิทยาการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ เรียนได้พักหนึ่งก็หยุด เพราะรู้สึกสับสนว่าไม่ใช่สิ่งที่อยากเรียน

วันหนึ่งจึงเริ่มเขียนหนังสือ แล้วก็เขียนเยอะขึ้นนับแต่นั้น ก่อนจะไปทำงานที่สำนักพิมพ์ และหันไปใช้ชีวิตคลุกคลี กับชาวบ้านแถบเทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช กระทั่งปัจจุบัน พร้อมกับทุ่มเทให้งานเขียนเต็มตัว

ผลงานด้านกวีบทแรก "ความจริงที่เป็นไป" ตีพิมพ์ใน"สยามใหม่" ขณะเรียนชั้นมัธยมต้น พ.ศ. 2523 ขณะเรียนชั้นมัธยมปลาย พ.ศ. 2527 เป็นสมาชิกยุคก่อตั้งของ "กลุ่มนาคร" กลุ่มทำงานด้านศิลปะวรรณกรรมอันสำคัญของภาคใต้

สำหรับผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกได้แก่ "ดุจตะวันอันเจิดจ้า" ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี 2527 จากนั้นมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารสม่ำเสมอ ในฐานะนักเขียนที่มาแรงที่สุดในยุคนั้น

ปี 2531 มีผลงานร่วมเล่มลำดับแรก เป็นรวมบทกวี "ป่าน้ำค้าง" สำนักพิมพ์นาคร จากนั้นในปี 2532 ออกหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดแรกเรื่อง "สะพานขาด" สำนักพิมพ์นกสีเหลือง ได้รับรางวัลเรื่องสั้นช่อการะเกด และคัดเลือกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2533 เรื่องสั้น "โลกใบเล็กของซัลมาน" ได้รับรางวัลเรื่องั้นช่อการะเกดอีกครั้งในปี 2539 ตามด้วยผลงานชุดที่สอง "คนใบเลี้ยงเดี่ยว" รวมเรื่องสั้นสำนักพิมพ์นกสีเหลือง ปี 2535

รวมเรื่องสั้นชุดที่ 3 "แผ่นดินอื่น" ของสำนักพิมพ์นาคร คว้ารางวัลซีไรท์ในปี 2539

เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2549

(7 ก.ย. 2543)

เพิ่มเติมรายละเอียด จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2549

"หาใช่สิ่งใดอื่น ศรัทธาต่างหาก คือปัจจัยสำคัญสุดที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่และอยู่อย่างเป็นชีวิต

น่าดีใจแค่ไหน ที่วันนี้เรายังมีศรัทธา

ศรัทธาต่อการเขียน อันส่งผลโดยตรงสู่ศรัทธาต่อการมีชีวิต

6 ปีก็แล้ว 7 ปีก็แล้ว... นับแต่ "แผ่นดินอื่น" เรายังไม่มีรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ออกไปสู่ผู้อ่านเลย สายตาภายนอก คงมองเห็นเป็นว่าเราเหลวไหล

ใช่หรือไม่?.. ช่างมันเถอะ! เอ่ยอ้างคำใดออกไป รังแต่จะเป็นข้อแก้ตัว นั่นหาใช่ประเด็นสำคัญหรือจำเป็นเลย ในเมื่อสิ่งสำคัญที่สุด คือการที่เราได้ตระหนักอย่างยิ่งว่า เรายังคงมีชีวิตอยู่

ใช่... เรายังคงเขียน เราจึงยังคงมีชีวิตอยู่"

เป็นบางส่วนของคำนำของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในรวมเรื่องสั้น "โลกหมุนรอบตัวเอง" ซึ่งวันนี้กลายเป็น "หนังสือเล่มสุดท้าย" ของนักเขียนซีไรต์ 2539 ผู้นี้ไปแล้ว

"โลกหมุนรอบตัวเอง" เป็นรวมเรื่องสั้นชุดที่ 4 ของกนกพงศ์ ต่อจาก "แผ่นดินอื่น" (2539) "คนใบเลี้ยงเดี่ยว" (2535) และ "สะพานขาด" (2534)

โลกหมุนรอบตัวเอง พิมพ์ครั้งแรกในเดือนต.ค.2548 อีกเกือบ 4 เดือนหลังจากนั้น พิษไข้หวัดใหญ่ก็พรากกนกพงศ์ไปจากโลกวรรณกรรมในเช้าวันมาฆบูชา 13 ก.พ. หลังเริ่มต้นชีวิตในวัย 40 ได้เพียง 4 วัน

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2509 ที่บ้านอำเภอควนขนุน จ.พัทลุง ในยุค "ถังแดง" ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้อย่างรุนแรง ดังที่สะท้อนออกมาในเรื่องสั้นหลายเรื่อง อาทิ "สะพานขาด" และ "บ้านเกิด" เป็นต้น

เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมต้นโรงเรียนวัดไทรโกบ และมัธยมปลายโรงเรียนวัดพิกุลทอง และจบชั้นมัธยมโรงเรียนพัทลุง

ใฝ่ฝันอยากเป็นกวี-นักเขียนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยเติบโตมาจากกองหนังสือของพ่อวนิช สงสมพันธุ์ ในบ้านมีหนังสือมากมายให้เลือกอ่าน เช่น ชัยพฤกษ์, วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์, วิทยาสาร, ขวัญเรือน เป็นต้น

ไปจนถึงนวนิยายยอดนิยมยุคนั้น อย่างเช่น "ร้อยป่า" ของ อรชร พันธุ์บางกอก แม้กระทั่งแนวกุ๊กกิ๊ก "นิยายรักนักศึกษา" ของ "ศุภักษร"

ตลอดจนนวนิยายเพื่อประชาชนอย่างเช่น "ฟ้าบ่กั้น" ของ ลาว คำหอม, "ปีศาจ" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์, "จนกว่าเราจะพบกันอีก" ของ "ศรีบูรพา", "ตึกกรอสส์" ของ "อ.อุดากร" เป็นต้น

โดยเฉพาะหนังสือ 3 เล่มที่ทำให้อยากเขียนบทกวี คือ "ก่อนไปสู่ภูเขา" ของ สถาพร ศรีสัจจัง, "ทางเลือกเมื่อฟ้าหม่น" ของ คมสัน พงษ์สุธรรม และ "ในอ้อมกอดของภูผา" รวมบทกวีและเรื่องสั้นของ สำราญ รอดเพชร

แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับหนังสือ "ถนนนักเขียน" อัตชีวประวัตินักเขียนชาวอเมริกัน เออร์สกิน คอลด์เวลล์ ที่ทำให้หัวใจของเด็กหนุ่มร้อนรุ่ม และไปใช้ชีวิตเขียนหนังสือเงียบๆ ในป่าเขาอย่างคอลด์เวลล์ในที่สุด

กนกพงศ์รีไทร์ตัวเองวิทยาการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปฝึกเขียนหนังสืออยู่กับ ธัช ธาดา นักเขียน-กวีในกลุ่มนาคร

ทุกวันแต่เช้าตรู่ นักเขียนหนุ่มจะตรึงตัวเองอยู่กับโต๊ะเขียนหนังสือ ฝึกฝนการเขียนไปจรดค่ำทุกวันๆ ตามแบบอย่างคอลด์เวลล์ โดยมีพี่ๆ เช่น สมใจ สมคิด, อัตถากร บำรุง และ เกษม จันดำ คอยช่วยวิพากษ์วิจารณ์ในตอนเช้าของอีกวัน

นักเขียนฝึกหัดจะนั่งฟังคำวิจารณ์อย่างใจจดจ่อและเคร่งเครียด ด้วยรู้ดีว่า เขาจะไม่ได้รับการประนีประนอมจากพี่ๆ แม้แต่น้อยนิด ซ้ำกลับถูกโบยตีอย่างหนักหน่วงด้วยคำวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

กนกพงศ์ให้สัมภาษณ์นิตยสาร "ไฮ-คลาส" ว่า ช่วงฝึกเขียนนั้นเขียนทิ้งๆ ทุกวัน แล้วแต่ว่าจะฝึกลักษณะไหน

"อย่างเช่นว่าถ้าฝึกบรรยายฉาก ผมจะตั้งประเด็นขึ้นมา แล้วก็ฝึกบรรยายฉากไป แล้วก็ทิ้ง ฝึกภาษาเขียนภาษาให้มันสวย ฝึกตัวละครก็สร้างตัวละครขึ้นมาแล้วบรรยายตัวละคร ฝึกการวางพล็อตเรื่องผมก็จะสร้างพลอตขึ้นมา"

นักเขียนหนุ่มฝึกเขียนอย่างมุ่งมั่นนับร้อยชิ้น ก่อนจะลงมือเขียนเรื่องสั้นอย่างจริงๆ จังๆ ในปีต่อมา และเริ่มส่งตามนิตยสารต่างๆ

ระหว่างปี 2531-2533 กนกพงศ์เป็นเจ้าของสถิตินักเขียน ผู้มีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในหน้านิตยสารมากสุด

ทั้งยังเป็นนักเขียนที่สร้างปรากฎการณ์ให้วงวรรณกรรมไทย ด้วยเรื่องสั้นที่มีขนาดยาวกว่า "ขนบ" ทั่วไป

เหนือไปกว่านั้น ยังได้รับประดับ "ช่อการะเกด" จาก "บ.ก.เครางาม" สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถึง 2 ปีซ้อน จากเรื่องสั้น "สะพานขาด" ปี 2532 และ "โลกใบเล็กของซัลมาน" ในปี 2533

เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงทางเรื่องสั้น กนกพงศ์เข้าทำงานกับสำนักพิมพ์เคล็ดไทย ทำตั้งแต่จัดอาร์ตเวิร์คและบรรณาธิการ 2 ปีให้หลังก็ลาออก เพราะเห็นว่าถูกงานประจำดูดกลืนความคิด และเวลาในการเขียนหนังสือไปเสียหมด จึงหวนคืนสู่อ้อมกอดภูเขาอีกครั้ง

ปี 2532 ออกหนังสือเล่มแรกรวมบทกวี "ป่าน้ำค้าง" กับสำนักพิมพ์นาคร ซึ่งกนกพงศ์บอกว่าเป็นงานเขียนตามกระแสช่วงนั้น ปี 2534 ออกรวมเรื่องสั้นชุดแรก "สะพานขาด" และ "คนใบเลี้ยงเดี่ยว" รวมเรื่องสั้นชุดที่ 2 ในปี 2535 ในนามสำนักพิมพ์นกสีเหลือง

เกือบทุกเรื่องในสองเล่มนี้เกิดขึ้นในช่วงฝึกหัดเขียนอยู่กับธัช ธาดา

ปี 2536 ชื่อ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ดังกระฉ่อนไปทั้งวงการ หลัง "มือมืด" ส่งรวมเรื่องสั้นทั้งสองเล่มของเขาเข้าประกวด "ซีไรต์" และกนกพงศ์ประกาศถอน จนได้ชื่อเป็น "นักเขียนขบถ" และ "เด็กก้าวร้าว"

ประเด็นร้อนนี้ กนกพงศ์ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร "ไรเตอร์" ฉบับส.ค.2536 ชนิดดับเครื่องชนว่า ไม่เคยปฏิเสธ "ซีไรต์"!"ผมพร้อมจะส่งก็ต่อเมื่อผมรู้สึกว่า งานของผมดีหรือมีค่าพอที่จะคู่ควรกับรางวัล อย่างน้อยก็อยู่ในขั้นที่ไม่ทำให้รางวัลตกต่ำลง และผมมี "ใจ" ที่จะส่ง"

สำหรับทำเนียบเรื่องสั้นซีไรต์ในปี 2536 นั้น ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ "ศิลา โคมฉาย" จากรวมเรื่องสั้น "ครอบครัวกลางถนน"

ในปี 2539 ซีไรต์เวียนกลับมาถึงรอบเรื่องสั้น กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ก็ถูกจับตาอีกครั้ง เมื่อสำนักพิมพ์นาครส่งรวมเรื่องสั้นชุดที่ 3 "แผ่นดินอื่น"ของเขาเข้าประกวดและคว้ารางวัล "ซีไรต์" ไปในที่สุด

หลังจากได้รับรางวัลใหญ่สุดของประเทศ กนกพงศ์รับไม้เป็นบรรณาธิการนิตยสาร "ไรเตอร์" ต่อจากเพื่อนนักเขียนหนุ่ม ขจรฤทธิ์ รักษา โดยที่ยังใช้ชีวิตเขียนหนังสือในหมู่บ้านเชิงเขาหลวง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช

ในช่วงนี้ กนกพงศ์มีผลงานออกมา 3 เล่ม คือ ความเรียงเชิงบันทึกทัศนะ "บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร" (2544) และเรื่องเล่าเชิงบันทึกทัศนะ "ยามเช้าของชีวิต (บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร ขบวน 2)" (2546) และรวมเรื่องสั้นชุดที่ 4 "โลกหมุนรอบตัวเอง" (2548)"ชมพู" อุรุดา โควินทร์ นักเขียนสาวคู่ชีวิต บอกเล่าถึงวันก่อนที่นักเขียนหนุ่มจะลาจากไปชั่วนิรันดร์ว่า กนกพงศ์ล้มป่วยเมื่อวันที่ 26 ม.ค.จึงพาไปพารักษาที่คลินิกทราบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หมอให้ยามากิน

วันที่ 7 ก.พ.อาการทรุดลง อุรุดาพากนกพงศ์ส่งโรงพยาบาลนครินทร์ เมืองคอน แพทย์เอกซเรย์พบว่าปอดติดเชื้อ พักรักษาตัวอยู่ 3 วัน กระทั่งอาการดีขึ้น หมอจึงอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านและให้ยามากิน

วันที่ 12 ก.พ. กนกพงศ์เริ่มทรุดหนัก ถูกส่งตัวกลับไปยังโรงพยาบาลนครินทร์อีกครั้ง

ก่อนจะเสียชีวิตลงอย่างสงบในยามเช้าวันที่ 13 ก.พ.

เรียงหนังสือและผลงาน

-ป่าน้ำค้าง (2532) -สะพานขาด (2534) -คนใบเลี้ยงเดี่ยว (2535) -แผ่นดินอื่น (2539) -บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร (2544) -ยามเช้าของชีวิต (2546) -โลกหมุนรอบตัวเอง (2548)

แสดงความคิดเห็น

« 4071
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ