หน้าแรก   เขียนคำไว้อาลัย   อ่านคำไว้อาลัย
banner ร่วมส่งบทกวีร่วมไว้อาลัยแด่ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้ที่ นสพ.โฟกัสภาคใต้ อีเมลล์ focuspaktai@yahoo.com ทาง บ.ก.จะพิจารณาและตีพิมพ์ใน นสพ.โฟกัสภาคใต้

นักเขียน-นักอ่าน ช็อค!!! สูญเสีย ..กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

ช่วงเช้าวันมาฆบูชา 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา วันที่ฝนตกพรำไปทั่วแผ่นดินใต้ จู่ๆ ข่าวเศร้าที่ช็อคความรู้สึกนักเขียน-นักอ่าน ก็ค่อยแพร่มาจากนครศรีธรรมราช หลายคนแทบไม่เชื่อหูตัวเองว่า “ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ” เสียชีวิตอย่างกระทันหัน จนได้รับการยืนยัน ครั้งแล้วครั้งเล่า จึงได้แต่ยอมรับความจริงอย่างนิ่งงัน ระลึกถึงนักเขียนหนุ่ม แห่งหุบเขาฝนโปรยไพร เจ้าของรางวัลซีไรท์ ประจำปี พ.ศ. 2539 ผู้จากไปพร้อมทิ้งแรงบันดาลใจ และผลงานวรรณกรรมอันมีค่า เอาไว้ให้กับโลกใบนี้อย่างมากมาย

ข่าวคราวบอกว่า กนกพงศ์เริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ และทรุดหนัก ญาติจึงตัดสินใจส่งไปเอกซเรย์ปอดที่โรงพยาบาลมหาราช จ.นครศรีธรรมราช เพราะคิดว่าจะมีอาการทางปอด เนื่องจากกนกพงศ์ได้เลิกสูบบุหรี่อย่างฉับพลัน จากปกติที่เป็นคนสูบบุหรี่จัด แต่ผลเอกซเรย์ปรากฏว่าไม่มีอาการที่ปอดแต่อย่างใด แพทย์จึงให้ยากลับมารักษาตัวที่บ้าน แต่จากนั้นไม่กี่วันอาการก็ทรุดลงไปอีก ญาติๆ จึงนำส่งโรงพยาบาลอีกครั้งที่โรงพยาบาลนครินทร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ปรากฏว่า มีปัญหาติดเชื้อในปอดร่วมด้วย

กระทั่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ แพทย์ได้นำตัวเข้ารักษาในห้องไอซียู แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ เนื่องจากมีอาการน้ำท่วมปอด กระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 09.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์

......................

จรูญ หยูทอง ได้บันทึกเรื่อง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ : นักเขียนซีไรท์ ลงในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ว่า กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นนักเขียนชาวอ.ควนขนุน จ.พัทลุง และได้รับรางวัลซีไรท์ ประจำปี พ.ศ. 2539

กนกพงศ์ เกิดเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2509 ที่บ้านจันนา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นบุตรของนายวณิช นาง ยุพา สงสมพันธุ์

เรียนที่วัดไทรโกบ อ.ควนขนุน จนจบ ป. 4 แล้วจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนวัดพิกุลทอง อ.เมืองพัทลุง จนจบ ป. 7 จากนั้นศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนพัทลุง อ.เมืองพัทลุง จนจบ ม. 6 เอนทรานซ์เข้าเรียนต่อได้ที่คณะวิทยาการจัดการ (เอกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรียนอยู่ระยะหนึ่ง และสอบเข้าศึกษาในคณะเดิม(เอกรัฐประศาสนศาสตร์) อยู่ 3 ปี จึงตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเขียนหนังสือ

เขาเริ่มสนใจการอ่านวรรณกรรมมาตั้งแต่พออ่านออกเขียนได้ เพราะบิดามารดาเป็นครู และที่บ้านมีหนังสือให้เลือกอ่านได้หลายเล่ม

กนกพงศ์ เกิดและเติบโตขึ้นมาในยุคที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะแถบเทือกเขาบรรทัดอันเป็นถิ่นกำเนิด เป็นความขัดแย้งระหว่างกองกำลังของรัฐกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย(ทปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทสไทย(พคท.) เป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง จากการปราบปรามแบบเหวี่ยงแหและมาตรการในการกำจัดแบบตัดรากถอนโคนและการทารุณกรรมของฝ่าบรัฐบาลที่เรียกว่า “ ถังแดง ” และการตัดใบหูของศพเพื่อแลกกับเงินรางวัลของกองกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหารที่เกิดขึ้นเพื่อปราบปรามผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะ ก่อนที่จะมีนโยบายการเมืองนำการทหารตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท ์เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องราวเหล่านี้จึงปรากฏอยู่ในงานเขียนของเขา โดยเฉพาะเรื่องสั้น “ สะพานขาด ” ที่ได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยมจาก บรรณาธิการ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในปี พ.ศ. 2532 นอกจากนั้นยังมีเรื่อง “ ยามเช้า ” และ “ ในห้วงน้ำกว้าง ” เป็นต้น

การพัฒนาการทางวรรณกรรมเขาเติบโตมาจากกรอบความคิดที่อิสระ มองถึงลักษณะของปัจเจกอัตถภาวนิยม การแสดงออกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์และอารมณ์ความรู้สึกที่เข้าไปสัมผัสกับเรื่องเหล่านั้น โดยเรื่องดังกล่าวได้ถูกปรุงแต่งจากระบบการศึกษา จากรั้วมหาวิทยาลัยหรือจากอิทธิพลของงานเขียน งานแปลทั้งขากนักเขียนไทยและนักเขียนต่างประเทศ

กวีบทแรก “ ความจริงที่เป็นไป ” ตีพิมพ์ใน “ สยามใหม่ ” ขณะเรียนชั้นมัธยมต้น พ.ศ. 2523 ขณะเรียนชั้นมัธยมปลาย พ.ศ. 2527 เป็นสมาชิกยุคก่อตั้งของ “ กลุ่มนาคร ” กลุ่มทำงานด้านศิลปะวรรณกรรมอันสำคัญของภาคใต้

ผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์ คือเรื่อง “ ดุจตะวันอันเจิดจ้า ” ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อ พ.ศ. 2527 แต่เขาเขียนบทกวีมาก่อน จะเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงต่อมา

เขาหลงใหลในผลงาน “ ลาว คำหอม ” โดยเฉพาะชุด “ ฟ้าบ่กั้น ” ก่อนที่จะหันมาสนใจวรรณกรรมแปลจากต่างประเทศในยุคหลัง นอกจากนี้เขายังซึมซับงานเขียนของ “ เสนีย์ เสาวพงศ์ ” จากนวนิยายเรื่อง “ ปีศาจ ” งานเขียนของ “ สถาพร ศรีสัจจัง ” จากหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทกวี “ ก่อนไปสู่ภูเขา ” งานเขียนของ “ คมสัน พงษ์สุธรรม ” จากหนังสือเรื่อง “ ทางเลือกเมื่อวันฟ้าหม่น ” และงานเขียนของ “ สำราญ รอดเพชร ” จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “ อ้อมกอดของภูผา ” โดย 3 เล่มหลังนั่นทำให้เขาอยากเป็นนักเขียน

หนังสือและนักเขียนต่างประเทศที่จุดประกายให้กนกพงศ์ อยากเป็นนักเขียนมากคือ หนังสือของ “ เออร์คิล คอล์ดเวลล์ ” ชื่อ “ ถนนนักเขียน ” ชีวประวัติของนักเขียนชาวอเมริกัน ที่ต้องการเป็นนักเขียน และออกไปอยู่ในสังคมชนบท ทุ่มเททำงานตั้งแต่เช้าจนดึก ฝึกฝนการเขียนจนต้นฉบับท่วมห้อง ขนาดใบบอกปฏิเสธเรื่องของเขายังสูงถึงเข่า กนกพงศ์จึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยไปใช้ชีวิตแบบเดียวกับนักเขียนคนนั้น

เขาเริ่มฝึกฝนการเขียนตามแบบฉบับของ “ คอล์ดเวลล์ ” ตื่นเช้าขึ้นมาก็เขียนหนังสือจนถึง 4-5 ทุ่ม ถ้าไม่เขียนก็อ่าน หลังจากเขียนเสร็จเอามาวิพากษ์วิจารณ์ ฝึกฝนทุกเรื่องทั้งภาษา การวางพล็อต ค้นหาความถนัดของตนเอง เขาเขียนนับร้อยๆ เรื่อง เขียนทิ้ง เขียนทิ้งจนกว่าจะมั่นใจว่า เรื่องนั้นดีจริงๆ จึงจะส่งไปตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จเมื่อนิตยสารต่างๆ เริ่มตอบรับงาน ไม่ว่า อิมเมจ , ลลนา , ชีวิตกลางแจ้ง , สู่อนาคต , ไฮ-คลาส , จันทร์ , ปาจารยาสาร และเจนเนอเรชั่น เป็นต้น

กนกพงศ์ เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในด้านเรื่องสั้น เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำเลี้ยงชีพโดยเข้าทำงานที่บริษัทเคล็ดไทย โดยการทำอาร์ตเวิร์คบ้าง เป็นบรรณาธิการบ้าง เขาอยู่ได้เพียง 2 ปี ก็เริ่มมองเห็นว่า งานประจำมาแย่งเวลางานคิดเขียนหนังสือของเขามากเกินไป จึงตัดสินใจลาออกจากงานในปี พ.ศ. 2532 ปีที่เรื่องสั้น “ สะพานขาด ” ได้รับรางวัลช่อการะเกด และต่อมาเรื่องสั้น “ โลกใบเล็กของซัลมาน ” ที่เขียนได้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533 ก็ได้รับรางวัลช่อการะเกดเป็นเรื่องที่สอง นับจากวันนั้นเขาก็ถูกจับตามองจากคนในแวดวงวรรณกรรม

ในปี พ.ศ. 2532 สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์หนังสือรวมบทกวี “ ป่าน้ำค้าง ” ของเขา อันเป็นบทกวีที่สะท้อนภาพปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นบ้านเกิดของเขา....

ปี พ.ศ. 2534 สำนักพิมพ์นกสีเหลือจัดพิมพ์รวมเรื่องสั้น “ สะพานขาด ” รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเขา ปี พ.ศ. 2535 สำนักพิมพ์เดิมก็จัดพิมพ์รวมเล่มเรื่องสั้นเล่มที่ 2 “ คนใบเลี้ยงเดี่ยว ”

ปี พ.ศ. 2539 สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์รวมเรื่องสั้นเล่มที่ 3 “ แผ่นดินอื่น ” ประกอบด้วยเรื่องสั้นขนาดยาว 8 เรื่อง คือ “ บนถนนโคลีเซี่ยม ” “ บ้านเกิด ” “ แมวแห่งบูเต๊กรือซอ ” “ บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ” “ ผีอยู่ในบ้าน ” “ แม่มดแห่งหุบเขา ” “ แพะในกุโบร์ ” และ “ น้ำตก ” เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนปัญหาของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวและสังคม สะท้อนความคิด ความเชื่อ คุณค่า และคตเนิยมพื้นถิ่นต่อการดำรงชีวิต และหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยน(ซีไรท์) ปี พ.ศ. 2539

หลังจากนั้น เขาใช้ชีวิต อยู่กับการเขียนหนังสือที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช เคยเป็นบรรณาธิการ หนังสือ WRITER MAGAZINE และ มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลงานรวมเล่ม บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร , ยามเช้าแห่งชีวิต เป็นต้น

ก่อนนี้ มีข่าวว่าเขาจะย้ายไปปลูกบ้านที่จังหวัดเชียงราย โดยปลายปี 2548 ที่ผ่านมา ได้ไปอยู่และเตรียมการมาระยะหนึ่ง และกำลังเป็นบรรณาธิการหนังสือรวมเรื่องสั้นราย 4 เดือน ชุด “ ราหูอมจันทร์ ” ของสำนักพิมพ์นาคร ซึ่งเสร็จสิ้นเรียบร้อยเตรียมส่งต้นฉบับ แต่ก็มาเสียชีวิตเสียก่อน


แม่ ...ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าของนักเขียนจะเป็นอย่างไร

นาง ยุพา สงสมพันธุ์ มารดาของกนกพงศ์ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ ในหนังสือ "WRITER MAGAZINE" ปีที่ 4 ฉบับ ที่ 43 ซึ่งปกหนังสือฉบับนี้ เป็นรูปกนกพงศ์ เป็นการสัมภาษณ์เขา ในวาระหลังจากเพิ่งได้รับรางวัลซีไรท์มาหมาดๆ

นางยุพาเล่าส่วนหนึ่งว่า...

ใจจริงของแม่ อยากให้เขา (กนกพงศ์) จบปริญญา ถึงจะทำงานหรือไม่ก็ตามแต่ พอลูกออกมาแม่ก็ร้องไห้ เขาบอกว่าถ้าเรียนจบเขาต้องออกไปทำงานธนาคาร ซึ่งเขาไม่อาจทำก็ได้ แม่ก็ต้องเสียเงินเปล่า เขาออกมาเสียดีกว่าจะได้ประหยัดเงิน พอออกมาแล้วแม่ก็ไม่ว่า ไม่มีอะไรก็ทำนาเลี้ยงวัวเถอะ ตอนนั้นมีวัวอยู่ 19 ตัว เลี้ยงวัวอยู่สักวันสองวันก็เหนื่อย แล้วก็หายสาบสูญไปเลย ได้ข่าวว่าไปอยู่กับวงดนตรีคนด่านเกวียน บอกแม่เพียงว่า จะไปเขียนหนังสือ

ด้วยความที่แม่เป็นคนมีลูกมาก วันๆ ง่วนอยู่กับงาน คำว่า นักเขียนนี่แม่ไม่เข้าใจเลย ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าของนักเขียนจะเป็นอย่างไร แม่คิดว่านักเขียนต้องจบดอกเตอร์ ถึงจะเขียนหนังสือได้ แต่ถ้าไม่จบอย่างลูก เขียนออกมาก็ขายไม่ได้ แล้วไม่มีวันดัง

กลับมาบ้านทีไร เขาก็ไม่ได้รบกวนเงินทอง ถึงในกระเป๋าไม่มีเขาจะบอกว่า มีเสมอ มาครั้งละวันสองวันแล้วก็หายไปจากบ้าน ตอนนั้นเริ่มไว้ผมยาว พอผมยาวแม่ยิ่งไม่ชอบ ถึงขนาดร้องไห้ เพราะคนผมยาวที่บ้านหมายถึงคนที่ไม่เอาไหน ชาวบ้านร้อยคนจะเกลียดผมยาวเสียแปดสิบ ถึงมีรูปลงหนังสือพิมพ์แล้วเพื่อนบ้านยังมาถามว่า ทำไมไม่ให้ลูกตัดผมเสียบ้าง แม่ก็ตอบไม่ทราบ ไม่อยากพูดกับเขาแล้ว ถึงทุกวันนี้ก็ยังยืนยันว่า อยากให้ลูกตัดผม...


บทเพลงคนเลว
แต่งโดย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ดนตรี/ขับร้องโดย มาลีฮวนน่า