เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แนะทางออกหลังเลือกตั้ง 'ถ่วงดุลอำนาจ เปิดพื้นที่การเมืองให้ทุกกลุ่ม'
วันศุกร์ที่ 14 เดือนธันวาคม พศ. 2550 มติชนออนไลน์
หมายเหตุ : ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวปาฐกถานำเรื่อง "เมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน" เนื่องในโอกาสการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 8 จัดโดยคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศูนย์การค้าและนิทรรศการนานาชาติ กรุงเทพฯ ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม
โดยหลักอนิจจังแล้ว เราควรมองเห็นหลักของการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลของสรรพสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสถานการณ์ทางการเมือง อย่าคิดว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือการเปลี่ยน แปลงเป็นเรื่องไม่ดีตลอดเวลา กล่าวอีกแบบหนึ่งคือเราไม่ควรมองคำนิยามคุณค่า ความหมาย หรือบทบาท หรือตัวแสดง ตลอดจนองค์ประกอบทางการเมืองทั้งหลายอย่างหยุดนิ่งตายตัว
การเมืองไทยโดยเนื้อแท้แล้วมีระบบหรือเปล่า สามารถตีเส้นแบ่งชัดเจนว่าเป็นระบอบอะไรได้แค่ไหน หรือว่าในความเป็นจริงสัมพันธภาพของผู้คนในประเทศนี้ ล้วนล่องลอยไปในสายธารของเหตุการณ์ มีตัวบุคคล ตลอดจนพลังต่างๆ ผลุบโผล่แล้วถอยจมไปตามคลื่นลมของกระแสน้ำ หาได้มีสิ่งใดหยุดนิ่งให้นิยาม ไม่มีรูปนามให้ยึดถือ
ในเมื่ออำนาจคือกระบวนการที่คนบังคับคน ไฉนจึงต้องหาคำแก้ตัวที่ต่างกัน คำถามเหล่านี้แค่พวกเราฉุกคิดขึ้นมาเป็นระยะๆ อาจจะช่วยให้โลกร้อนน้อยลง
สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ถือว่าเป็นวิกฤตหนักหน่วงรุนแรงและส่งผลกระทบต่อคนทุกหมู่เหล่า โดยใน 2 ปีมานี้ ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลังในสังคมทางสังคมไทยทำให้สังคมไทยไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านความจริงของสถานการณ์ครบถ้วนมากนัก และทำให้สังคมถูกชักชวนให้เลือกข่าวให้ขัดแย้งกันในทุกประเด็นจนเกิดเป็นความสับสนและหาคำตอบแทบไม่ได้
ปัญหาการเมืองของไทยเกิดจากประเด็นเรื่องอำนาจ โดยประกอบด้วย
1.อำนาจรัฐโบราณที่มาจากที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน
2.อำนาจที่มาจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์
ทำให้มรดกทางการเมืองไทยที่เราได้รับมีความขัดแย้งกันเองเหมือนประวัติศาสตร์ได้กำหนดเส้นทางให้การเมืองไทยเดินมาภายใต้แนวทางแบบนี้
ความแตกต่างกันระหว่าง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งคณะที่ลงมือเองและให้การสนับสนุน กับคณะบุคคลที่ครองอำนาจด้วยวิธีเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 ก็เหมือนความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญระหว่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือมีส่วนต่างกันอยู่บ้างในเรื่องที่มาและเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ แต่ไม่ได้ต่างกันถึงขั้น ขาวล้วน ดำล้วน ดังที่บางฝ่ายพยายามบอกเรา
แนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ต่างยืนยันอยู่ในกรอบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ซึ่ง หมายถึงว่า ในมิติทางเศรษฐกิจ ระบอบไทยรักไทย และระบอบ คมช. ไม่มีอะไรต่างกันโดยพื้นฐาน ส่วนใครจะบริหารจัดการได้ดีแค่ไหน นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
คำถามมีอยู่ว่า ในเมื่อทุกฝ่ายยอมรับจะเดินตามโลกาภิวัตน์ในกรอบลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว อะไรเล่าคือจุดต่าง อะไรเล่าคือประเด็นขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำของไทย จุดนี้เองที่เป็นความสลับซับซ้อนของสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย กล่าวคือ แม้ชนชั้นนำไทยจะมีอยู่หลายหมู่เหล่าและไม่ได้แตกต่างขัดแย้งในระดับเศรษฐกิจสังคมอย่างแท้จริง แต่ประเด็นหลักของ การกระทบกระทั่งก็ยังเหลืออยู่ที่การจัดฐานะในด้านความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ยังไม่ลงตัว
แต่เมื่อด้านหนึ่งประเทศไทยใช้หลักความสัมพันธ์ทางอำนาจในเรื่องความชอบธรรมของอำนาจ ทั้งแบบจารีตประเพณีซึ่งเน้นคุณธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐไทยก็มีการใช้อำนาจที่เน้นฉันทานุมัติจากการเลือกตั้ง ตลอดจนความเสมอภาคทางด้านการเมือง และมีคนบางกลุ่มที่มีความคิดแบบ "หลังสมัยใหม่" ที่ไม่เชื่อว่าอำนาจมีอยู่จริง สภาพดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีทั้งอำนาจที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ดำรงอยู่อย่างขนานกัน บางทีก็ทับซ้อนกันจนแยกกันไม่ออก ดังนั้น การก้าวขึ้นสู่อำนาจและการรักษาอำนาจจึงยากลำบากเป็นพิเศษ ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ละเอียดอ่อนประณีต และต้องเฉลี่ยความพอใจทางการเมืองไปตามบรรทัด ฐานและความคาดหวังหลายแบบ นี่คือภูมิประเทศทางการเมืองที่ผู้มองข้ามมักจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอันแสนแพง
โดยในยามที่องค์ประกอบของอำนาจเหล่านี้เข้าหากันด้วยดี เมื่อนั้นก็จะไม่เกิดปัญหาตรงกันข้าม หากการผสมผสานกันไม่ลงตัวก็ทำให้เกิดความยุ่งยาก และกลายเป็นวิกฤตการเมืองเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปัจจุบัน บทเรียนที่เกิดขึ้นมีความผิดพลาดจากการที่กลุ่มทุนกลุ่มใหญ่ที่ขึ้นมากุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีการใช้อำนาจโดยแยกออกจากฉันทามติทางวัฒนธรรมมากเกินไป หรือที่เรียกว่า "ลุแก่อำนาจ" ทำ ให้ได้รับการต่อต้านจากคนจำนวนมาก เรื่องความชอบธรรมของการใช้อำนาจว่า 1.ต้องมีที่มาที่ชอบธรรม 2.ต้องมีจุดหมายที่ชอบธรรม และ 3.วิธีการใช้อำนาจต้องชอบธรรมด้วย ไม่ใช่ที่มาชอบธรรมแล้วทำอะไรก็ได้
การเอาตัวเลขหรือเสียงข้างมากที่ได้รับจากการเลือกตั้งมาอ้างเป็นฉันทานุมัติ หรือการยินยอมให้มีการใช้อำนาจ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่ความชอบธรรมอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากแต่เวลาใช้อำนาจจริงๆ ผู้ลงคะแนนเหล่านั้นก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยทุกเรื่อง การใช้อำนาจอย่างขาดความชอบธรรมเช่นนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การเมืองไทยไม่มั่นคง แตกแยกมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ความเป็นจริงที่มากกว่านั้นคือ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหารก็ไม่สามารถกุมอำนาจได้อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีฝ่ายไหนจะรักษาความชอบธรรมได้ครบทุกแบบ ทำให้ไม่มีใครสามารถปกครองประเทศได้ทั้งหมด และส่งผลกลับมายังตัวรัฐที่ไม่อาจทำหน้าที่ศูนย์อำนาจได้อย่างเต็มที่เหมือนก่อน เห็นได้จากการที่ทั้ง "ระบอบทักษิณ" และ "ระบอบ คมช." ต่างก็ถูกต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ความจริงข้อหนึ่งมีอยู่ว่าตราบใดที่ประชาธิปไตยยังคงเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปิดพื้นที่ให้เฉพาะคนบางส่วนและปิดสำหรับคนบางส่วน
ตราบนั้นต้องมีพลังอื่นเคลื่อนไหวทับซ้อนกับระบอบนี้ ดังที่เราได้เห็นว่าปัญญาชนนักวิชาการที่ผิดหวังกับรัฐบาลเลือกตั้งจึงไม่คัดค้านการรัฐประหารทั้งที่เขาก็ไม่อยากได้เผด็จการแต่อย่างใดในทางรัฐศาสตร์ สิ่งนี้เรียกว่า "วิกฤตฉันทานุมัติ" ที่เกิดขึ้น ในระบอบโดยระบอบที่อ่อนแอจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลค่อนข้างมาก ในทางกลับกันระบอบที่มีความแข็งแรงแม้ว่าผู้นำทำผิดพลาดการหักล้างเผชิญหน้าก็คงไม่เกิดขึ้น
อันที่จริงวิกฤตฉันทานุมัติในประเทศไทยแก้ไขได้ ถ้าเรารู้จักเก็บบทเรียนโดยเสริมสร้างความระมัดระวังในการออก แบบระบอบการเมืองไม่ให้เป็นแค่เวทีของ "ชนชั้นนำ" บางกลุ่มซึ่งมักปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองของชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ และของ "มวลชนชั้นล่าง" ในเวลาเดียวกัน
เห็นได้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ไม่ได้ หากไม่ได้รับการค้ำจุนจากฉันทามติของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะประชาธิปไตยหากยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนเพียงบางกลุ่มอยู่แบบนี้ก็จะล้มเหลวตลอดไป และสังคมไทยไม่ควรหมุนวนกับสภาพการณ์แบบนี้ ดังนั้นต้องมีการเปิดพื้นที่ของสังคมให้ชนชั้นอื่นๆ ได้เข้ามาใช้อำนาจด้วยเพื่อให้เกิดความสมดุลของสังคม
รัฐธรรมนูญที่ดีต้องไม่มีการทิ้งใคร และไม่กีดกันใครออกจากระบบ อีกทั้งรัฐบาลควรมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างถึงรากลึกเพื่อแก้ปัญหาการด้อยโอกาสของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่ทำแต่นโยบายประชานิยมและอุปถัมภ์เครือข่ายของตัวเองแบบนี้ เพราะกลายเป็นว่ารัฐอุปถัมภ์สังคมก็เพื่อดำรงความชอบธรรมขั้นต่ำของตนเองในการเข้าสู่อำนาจรัฐไว้เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่ายิ่งมีประชาธิปไตยรัฐยิ่งมีฐานะครอบงำมากขึ้นและสังคมยิ่งอ่อนแอลง
วิกฤตการเมืองที่กดดันประเทศไทยเป็นวิกฤตที่ทั้งลงลึกและถึงรากซับซ้อนซ่อนปมอย่างยิ่ง หนักหน่วงเกินกว่าที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการเอาคนหน้าเก่าไม่กี่พันคนมาแข่งขันกันในเวทีเลือกตั้ง หรือแก้ไขด้วยการยกกองทัพมาขับไล่คนเหล่านี้ออกไป เพราะวิกฤตดังกล่าวไม่ได้เกิดจากภายในล้วนๆ แต่หากยังมีการผ่านพ้นของยุคสมัยเข้ามาเป็นบริบทสำคัญจนทำให้ทั้งอำนาจที่ใช้ในการปกครองและผู้คนที่ถูกปกครองล้วนเปลี่ยนไปจากเดิม
ทั้งนี้ อำนาจทางการเมืองต้องตั้งอยู่บนความเชื่อบางอย่างร่วมกันระหว่างผู้ใช้กับผู้ถูกใช้อำนาจ และต้องยอมรับให้ได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มีอำนาจที่สำเร็จรูปรออยู่ ตรงกันข้ามอาจจะพบกับอำนาจที่ว่างเปล่า
สำหรับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้การเมืองไทยดีขึ้น แต่ภายใต้สภาวการณ์เมืองที่อึมครึมเช่นนี้ถือว่าน่าดีใจ เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปโดยสันติ แต่คงไม่สามารถหวังได้มากนักกับนักเลือกตั้งไม่กี่พันคนที่เราเห็นอยู่นี้ และคงไม่มีใครบอกได้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไร แต่อีกด้านก็เชื่อว่าทหารคงไม่ต้องการที่จะยึดอำนาจอีกต่อไปแล้ว
ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบบ้านเมืองในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง "ถ่วงดุลอำนาจ" จากภายนอก จากโลกาภิวัตน์ ด้วยการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในให้ประชาชนมีอำนาจโดยตรงมากขึ้น และให้ท้องถิ่นเข้ามารับมรดกทางอำนาจจากรัฐชาติมากขึ้น
อย่าปล่อยให้กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาแปรรูปรัฐไทยตามบุญตามกรรมแบบที่ผ่านมา