บทกวี
สวนโมกข์สมัยใหม่ จู พเนจร
คำนำ
สวนโมกข์สมัยใหม่
(พิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์เพื่อนเกลอ)
เพื่อนซึ่งได้รู้จักมักจี่กันคนหนึ่งเอ่ยถามผมว่า "สวนโมกข์สมัยใหม่" นี้หมายถึงเช่นไร แค่เพียงเห็นชื่อเรื่องก็เกิดความสนใจใคร่อ่านเสียแล้ว (ด้วยเขาเองเป็นผู้หนึ่งที่สนใจใฝ่ศึกษาธรรมะของท่านพุทธทาส ภิกขุ) หมายความว่าเป็นเรื่องราวหรือยุคสมัยหลังจากสิ้นท่านพุทธทาสแล้วใช่หรือไม่
ในอีกนัยยะหนึ่ง ธรรมะของท่านพุทธทาสนั้นนับว่ามิเคยล้าสมัย หากแต่กลับทันสมัยอยู่เสมอ
คำว่าสมัยใหม่จึงมีแง่คิดชวนสนใจ
ผมกล่าวของอกขอบใจเขาในเรื่องนี้ และรู้สึกตื้นตันใจลึกๆ
กอปรด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัวขึ้นมาอย่างที่สุด
(ด้วยความไม่นึกมาก่อนในแง่มุมดังกล่าว ซึ่งนับว่าน่านใจทีเดียวในกว่าทศวรรษการจากไปของท่าน)
ประการแรก ความรู้ความสามารถของผมนั้นคงไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมนั้นได้เลย อย่างน้อยก็ในขณะนี้
สำหรับประเด็นนี้ เราเองเห็นพ้องกันว่าออกจะเป็นโครงสร้างระดับมหภาคอยู่จริงๆ ถ้าอย่างนั้น "สวนโมกข์สมัยใหม่" คือนัยยะใดเล่า
ผมบอกเขาว่า ผมมองสวนโมกข์ด้วยนัยยะของปุถุชนคนหนึ่ง ที่พึงมองได้จากเวล่ำเวลาที่ผ่านมา
เสมอคนๆหนึ่งที่ได้มารับรู้เรื่องราวในช่วงเวลาหนึ่งนับจากนี้ และถ่ายทอดออกมา
ดังกล่าวผมก็คิดว่าได้สำคัญตนไว้ไม่น้อยแล้ว
ว่านี่คือ "สวนโมกข์สมัยใหม่"
2) อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่าผมมีโอกาสได้ไปสวนโมกข์เมื่อครั้งท่านพุทธทาสไม่ดำรง(กาย)อยู่แล้ว และเป็นความจริงที่ว่าธรรมะตามแนวทางคำสอนของท่านพุทธทาสเป็นเรื่องที่ไม่ล้าสมัยเลย แม้กาลจะเลยล่วงไปเพียงใด ท่านพุทธทาสจะดำรงอยู่แล้วหรือไม่
และสวนโมกข์นี้เป็นที่ซึ่งใครไปใครมาก็มักจะเล่าขานถึงด้วยความชื่นชมยินดีเสมอ
จนเป็นที่เลื่องลือระบือไกลไปว่า ได้น้อมนำตนสู่ความสงบเย็น
ภายใต้ร่มเงาของธรรมชาติ และความเรียบง่ายธรรมดา
ความเรียบง่ายธรรมดาเช่นนี้ ก็คือธรรมะ และธรรมะอันเรียบง่ายเช่นนี้ ก็คือธรรมชาติ การได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติจึงเป็นหนทางที่จะน้อมนำตนเข้าสู่ธรรมะ ธรรมะอันจะน้อมนำ "คน" มาสู่ความเป็น "มนุษย์" คือผู้มีจิตใจสูง ต่อไป
3) สวนโมกขพลาราม หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "สวนโมกข์" นี้ตั้งอยู่ที่วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อตั้งโดยท่านพุทธทาส ภิกขุ (อริยะ)สงฆ์ฝ่ายเถรวาทรูปหนึ่ง เมื่อครั้งปีพุทธศักราช 2475 ผู้ซึ่งในกาลต่อมาได้ปฏิวัติธรรมจารีตอันล้าสมัยต่างๆประดามีเข้าหาแก่นธรรมโดยตรง อันได้แก่ ลด ละ เลิก "ตัวกู ของกู" เป็นหลักใหญ่หลักเดียว
ธรรมะข้อที่ว่าเป็นการสอนหรือชี้ลงไปแบบตีแสกใจนี้ แม้เป็นสิ่งที่ปุถุชนคนทั่วไปอาจแสลงใจ แต่ท่านก็ไม่ได้นำข้อนี้มายกเว้นหรือเกรงใจใคร ด้วยเพราะท่านเองไม่ได้เห็นว่าจะต้องมี "ตัวใคร" หรือ "ของใคร"ให้ต้องถือหรือเกรงใจนั่นเอง
เพราะท่านเห็นว่านอกจากคนหรือพระจะสอนธรรมะได้แล้ว
ธรรมชาติเป็นเสมอครูสอนธรรมะได้เป็นอย่างดีด้วย
แม้เรามีใจที่คอยเพ่งพิจารณาด้วสงบรำงับแล้วไซร้
ก็จะเห็นสิ่งเหล่านั้นมีชีวิตจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด
ดังที่ท่านกล่าวไว้เสมอว่า "ที่นี่ต้นไม้ใบหญ้าก็พูดได้"
สถานที่ปฏิบัติธรรมของสวนโมกข์จึงอิงแอบแนบอยู่กับธรรมชาติ และความเรียบง่ายธรรมดาเสมอมา งดเว้นพิธีรีตองต่างๆ โดยเฉพาะที่เอิกเริกทั้งหลายลงเสีย แม้กอปรด้วยกุศโลบาย ก็ไม่เป็นด้วยความใหญ่โตโอฬารเป็นสำคัญ ที่เรารู้จักกันดี เช่น ลานหินโค้ง โรงปั้น ธารน้ำไหล สระนาฒิเกร์ มหรสพทางวิญญาณ เป็นต้น และการกวาดใบไม้ หรือเดินป่า เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เรียบง่าย สมถะ ติดดินอยู่กับธรรมชาติทั้งสิ้น
ยกเว้นบ้างก็แต่โรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งเป็นสถานที่ประดับรูปปริศนาธรรมไว้ทั้งภายในและภายนอก กับโบส์ถทรงเรือหลังหนึ่งที่ทำไว้เป็นสัญลักษณ์บางประการเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อกอปรกิจกรรมดังกล่าวให้ลุล่วงไป ไม่ใช่สิ่งพึงยึดติดอันใด
การได้เดินชมนกชมไม้ เพ่งมองสายน้ำไหล นั่งแนบแอบหินติณชาติ และการกวาดใบไม้ก็ดี
ท่านพุทธทาสบอกว่านี้คือการปฏิบัติธรรม ฝึกจิตสมาธิอีกรูปแบบหนึ่ง
ให้พึงมีทั้งฆารวาสและบรรพชิต
สิ่งที่เราจะได้จากการนี้อย่างหนึ่งคือความโล่งโปร่งเบาสบาย
ดังที่ท่านเอ่ยเอื้อนอยู่เสมอว่าคือ นิพพานชั่วคราว หรือนิพพานชิมลาง
สำหรับสถานที่ปฏิบัติธรรม สมาธิ วิปัสสนาโดยตรงเป็นหมู่คณะ
นับเป็นการปฏิบัติอีกขั้นหนึ่ง คือ "สวนโมกข์นานาชาติ"
ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งออกไป ซึ่งชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะไปพำนัก
การไปที่นี่จะต้องเตรียมตัวพร้อมสักหน่อย ผมเองก็จะหาโอกาสไปสักครั้ง
นอกจากปฏิบัติได้กับตนแล้ว
เรื่องราวได้ถูกถ่ายทอดบันทึกไว้โดยผู้ที่เคยไปสวนโมกข์นี้ในรูปหนังสือต่างๆ
ซึ่งเกือบทั้งหมดจะรวบรวมและหาอ่านได้ที่ "ห้องสมุดพุทธทาส" ที่ตั้งขึ้นตามที่ต่างๆ นั้น
จะทำให้รู้จักสวนโมกข์มากขึ้นตามแง่มุมที่ต่างออกไป
และแน่นอนว่าแง่มุมที่ต่างออกไป มุมมองที่ขยายกว้างออกไปในเรื่องราวเหล่านี้ย่อมเป็นอานิสงส์สืบต่อไปกันไปด้วย สำหรับผมเองมีโอกาสได้เก็บบันทึกเรื่องราวที่ได้พบพานมาไว้ในรูปแบบของกวีรจนาไว้ ณ ที่นี้
หวังว่าท่านคงได้เสพอรรถรส เรื่องราวจาก "สวนโมกข์สมัยใหม่" นี้ไว้ตามสมควร และได้พบกับอีกรูปรอยหนึ่งในไม่ช้าไม่นานนี้ต่อไป.