บทกวี
เช็กลมหายใจ สำนักพิมพ์ไอ้ตัวเล็ก
เช็กลมหายใจ สำนักพิมพ์ไอ้ตัวเล็ก โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 17 มีนาคม 2552 20:54 น.
นับตั้งแต่โลกไซเบอร์ถือกำเนิดขึ้น มา องค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกต่างเริ่มทยอยปรับตัวไปตามๆ กัน หนังสือพิมพ์หลายฉบับเริ่มขยับฐานที่มั่นคนอ่านจากโลกกระดาษไปสู่โลกออนไลน์ ส่งผลให้ยอดหายกำไรหด โฆษณาลดลง และนำมาซึ่งการปรับลดทั้งขนาดองค์กรและขนาดของหนังสือพิมพ์ บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจที่โลกทั้งใบกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ก็พอดีกันเลย เพราะแม้แต่หนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญอย่าง เลอมองด์ (Le Monde) ที่ นายพลชาร์ลส์ เดอ โกลล์ อดีตผู้นำฝรั่งเศสดำริให้ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยังเจอกับวิกฤตการเงินอย่างหนัก
กระทั่งตำนานเก่าแก่ของอเมริกาอย่าง นิวยอร์ก ไทมส์ ยังต้องปรับลดขนาดองค์กรและจำนวนนักข่าวลง และมหาอาณาจักรอย่าง ไทม์ วอร์เนอร์ เจ้าของนิตยสาร TIME อันยิ่งใหญ่ ก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่เช่นเดียวกัน รวมถึงสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานอย่าง แรนดอม เฮาส์ (Random House) ที่แม้จะมีนักเขียนขายดีอย่าง จอห์น กริแชม เจ้าของนวนิยายสืบสวนสอบสวน และนักเขียนดังระดับนานาชาติอย่าง แดน บราวน์ เจ้าของนวนิยาย รหัสลับดาวินชี ก็ยังมีอาการยอดตก ผลกำไรลดฮวบ จน ปีเตอร์ ออลสัน ซีอีโอของบริษัทต้องกระเด็นจากเก้าอี้!
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากโลกหนึ่งอย่างประเทศไทย ก็ยังแว่วได้ยินข่าวให้รู้สึกหนาวกลางฤดูร้อนว่า เครือบริษัทสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งกำลังเตรียมปรับลดพนักงานเช่นเดียว กัน จะเป็นบริษัทไหน และจะเป็นจริงหรือไม่นั้น ก็ต้องติดตามกันต่อไป...
ขนาดพญาช้างสารยังลำบาก แล้วบรรดาหญ้าแพรกจะอยู่กันอย่างไร
ดังนั้น คงไม่เป็นการเสียมารยาทเกินไปนัก ถ้าเราจะขอข้ามผ่านบรรดาสิ่งพิมพ์รายใหญ่ที่ยังพอห้ามเลือดไหวอยู่ เพื่อมาดูใจบรรดาสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก เช็กหัวใจดูซิว่ายังเต้นอยู่ไหม เพราะคลับคล้ายคลับคลาว่าเราได้ยินเสียงครวญของใครบางคนแว่วมาว่า “ไม่ไหวแล้ว... (โว้ย) !”
คนทำสำนักพิมพ์เหมือนคนบ้านิดๆ
“ตอนนี้สำนักพิมพ์เล็กๆ มันอยู่ยาก เมื่อไม่กี่วันนี้ผมก็ได้คุยกับคุ่น (ปราบดา หยุ่น) เราคุยกันเรื่องนิตยสาร DDT ปิดตัว คุ่นเขาบอกว่ายุคนี้เป็นยุคที่ไม่ควรทำนิตยสาร เพราะมันอยู่ยาก ผมก็บอกว่าไม่ใช่แค่นิตยสาร หนังสือเล่มก็อยู่ยากเหมือนกัน แล้วงานแบบที่เราทำอยู่ มันก็ไม่ได้ไปเสิร์ฟความสนใจของเขา เพราะเราไม่ได้พิมพ์งานแบบเกาหลี นิยายพาฝัน หรือหนังสือเปิดโปงประสบการณ์ชีวิต พวกนักศึกษาขายตัว หนูเป็นเด็กเสี่ย แฉ! หรือว่าอะไรก็ตามแต่ เออ, แล้วก็มีคนอ่านกลุ่มนั้นที่เขาพร้อมจะซื้อหนังสือประเภทนั้น ซึ่งเขาไม่ซื้อหนังสือเราไง (หัวเราะ)” จักรพันธุ์ ขวัญมงคล บรรณาธิการ/เจ้าของสำนักพิมพ์มหาสมุด ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์หนังสือเล่มที่เขาประสบอยู่ในขณะนี้
จักรพันธุ์บอกว่า หนังสือที่เขาพิมพ์ออกมาคือหนังสือที่มีสัดส่วนของความเป็นวรรณกรรมอยู่ หรือมีความพยายามจะเป็นงานวรรณกรรมอยู่บ้าง และถึงแม้จะไม่เป็นวรรณกรรม แต่ก็เป็นหนังสือที่นำเสนอสิ่งที่สร้างสรรค์...
“ตอน นี้ผมก็ประคับประคองสำนักพิมพ์โดยการควบคุมรายจ่ายทุกอย่างให้น้อยลง ทำหนังสือให้มีต้นทุนต่ำที่สุด อย่างหนังสือของผมเองก็พิมพ์แค่สองสี แต่หนังสือเล่มอื่นที่ควรจะมีหน้าสีมันก็ต้องมี คือไม่ให้หนังสือมันน่าเกลียดเกินไป ให้มันมีความสวยงาม อ่านแล้วจะได้มีความสุนทรีย์ แต่เราก็ต้องประหยัดต้นทุนเรื่องกระดาษ ผมมาประหยัดโดยการจ้างคนแทน จากที่สำนักพิมพ์เขาต้องมีกราฟิกดีไซเนอร์ มีพิสูจน์อักษร มีนั่นมีนี่ แต่ผมตัดออกหมดเลย คือผมสามารถพิสูจน์อักษรเองได้ คอมพิวต์เองได้ หรือถ้าจ้างคนผมก็ไม่จ่ายเขาเป็นเงินเดือน แต่ผมจ่ายเขาเป็นงานๆ ไป มันก็ประหยัดกว่า แล้วไม่ต้องเสียค่าเช่าออฟฟิศ เพราะผมทำเป็นโฮมออฟฟิศ”
จักรพันธุ์บอกว่าสำนักพิมพ์มหาสมุดของเขาตอนนี้ถือว่าอยู่ในภาวะที่ ลำบาก...“เพราะว่าเงินที่ได้มาจากส่ายส่งก็ไม่ได้รับมาแบบทั้งหมด มันก็ได้รับมาเท่าที่เดือนนั้นขายได้เท่าไหร่ สมมุติว่าเดือนนั้นขายได้ร้อยเล่ม ก็ได้มาร้อยเล่ม คือรายได้มันมาไม่สม่ำเสมอ”
เราถามเขาว่าถ้ามันลำบากขนาดนั้นแล้วจะยังทำหนังสืออยู่ทำไม ?
“ผมถามตัวเองอยู่ทุกวันเลยครับ ตื่นเช้ามา เอ๊ะ, มันลำบากขนาดนี้แล้วเราจะทำไปทำไม ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเขาจะตอบคำถามนี้ยังไง แต่ผมแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือถ้ามันลำบากขนาดนี้ผมจะอยู่ยังไง ทำไมไม่ไปหางานอื่นทำ มันก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเราว่า เราอยากทำอะไรกันแน่ในชีวิตนี้ ผมรู้ว่าผมไม่อยากทำงานประจำอีกแล้ว มันเหลืออยู่ไม่กี่อย่างที่ผมอยากทำในชีวิต นอกจากทำหนังก็คือทำหนังสือนี่แหละ ผมอยากเขียนหนังสือ มันก็คือหลักการง่ายๆ ว่าเราก็ต้องอยู่กับสิ่งที่เราอยากทำ แล้วมีความสุข ถึงแม้ว่ามันจะลำบากหน่อย ก็ประหยัดเอา ทำกับข้าวกินเอา มาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการทำตัวเองให้ใช้จ่ายเงินน้อยลง ให้บริโภคน้อยลง ผมว่าคนทำสำนักพิมพ์เหมือนคนบ้านิดๆ นะ เหมือนจะรู้อยู่ว่ามันไม่น่าประสบความสำเร็จ แล้วจะทำไปทำไม ผมว่าสังคมมันต้องมีคนบ้าๆ แบบนี้บ้าง”
ฉาบฉวย และเลียนแบบความสำเร็จ
“ที่ บอกว่าอยู่ลำบาก อยู่ไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพิมพ์หนังสือกันอย่างฉาบฉวยไง และเป็นลักษณะของการพยายามเลียนแบบความสำเร็จ อย่างเช่น พอหนังสือหวานแหววแบบแจ่มใส (สำนักพิมพ์แจ่มใสที่เน้นพิมพ์หนังสือสำหรับตลาดวัยรุ่นและก่อนวัยรุ่น) ขายดี หรือว่าเรื่องรักเกาหลีขายดี ก็พิมพ์กันตามกระแส โดยไม่ได้มีฐานคนอ่านที่เป็นของสำนักพิมพ์ตัวเองจริงๆ คือคนที่มาลงทุนทำหนังสือจำนวนหนึ่งไม่ใช่การเติบโตจากลักษณะที่ผลิตหนังสือ ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง แล้วก็มีคนอ่านที่ติดตาม มันไม่ใช่อย่างนั้น จำนวนมากเป็นลักษณะของการพิมพ์ตามกระแสการตลาด ซึ่งเป็นกระแสที่ส่วนหนึ่งก็ฉาบฉวย ส่วนหนึ่งก็มาเร็วไปเร็ว เมื่อเวลาผ่านไป รากฐานเขาไม่ได้แข็งจริงๆ มันก็ตกไปตามสภาพเศรษฐกิจ”
รวี สิริอิสสระนันท์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Shine Publishing House ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือตามกระแส รวีตั้งข้อสังเกตว่าสำนักพิมพ์ที่อยู่ได้คือสำนักพิมพ์ที่เป็นของจริงใน เรื่องนั้นๆ...
“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหวานแหววหรือเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดลักษณะไหน อย่างเช่นสำนักพิมพ์แสงแดดทำหนังสืออาหาร เขาก็ยังทำหนังสืออาหาร เขาก็ยังอยู่ได้ หรือแม้กระทั่งสำนักพิมพ์แจ่มใสก็ยังอยู่ได้ ก็ยังมีผู้อ่านที่ยังเหนียวแน่นอยู่ แต่ว่าคนที่เลียนแบบความสำเร็จของเขากลับอยู่ไม่ได้ ลักษณะนี้น่าจะเป็นลักษณะหนึ่งของสำนักพิมพ์ที่ล้มไป”
เราถามความเห็นเขาว่า แล้วสำนักพิมพ์ขนาดเล็กต้องทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองมีความโดดเด่นขึ้นมา และยืนระยะอยู่ได้ ? รวีบอกว่า...“ก็ ต้องทำเรื่องที่ตัวเองรู้ เรื่องที่ตัวเองเชี่ยวชาญ ในแง่นี้ผมว่ายังมีเรื่องให้ทำอีกเยอะแยะด้วยซ้ำ เรื่องที่ยังไม่มีคนทำ แต่ที่สำคัญคือถ้าเกิดว่าในแง่ของความยั่งยืน ในแง่ของระยะยาวก็ต้องทำเรื่องที่ตัวเองมีความรู้และมีความเชี่ยวชาญอย่าง แท้จริง ซึ่งถ้าเกิดว่ามันมีกลุ่มคนอ่านที่เพียงพอในเรื่องนั้นๆ มันก็จะอยู่ได้ในระยะยาว และต้องอยู่ด้วยลักษณะนี้ ด้วยตลาดเฉพาะกลุ่ม” รวีแนะนำ
คลาสสิกยังไงก็คลาสสิก
“สำนักพิมพ์ของผมพิมพ์งานคลาสสิก วรรณกรรมแปลคลาสสิก ผมเชื่อว่างานประเภทนี้มันขายได้ในระยะยาว เพราะว่างานคลาสสิกมันไม่ตกยุค คือผ่านไปอีกสิบปี งานคลาสสิกมันก็ยังคลาสสิกอยู่ และถ้าเกิดเราสร้างฐานคนอ่านได้เร็วเท่าไหร่ มันก็ยิ่งทำให้รอบมันเร็วขึ้น ในความเห็นของผม การทำสำนักพิมพ์มันเป็นเรื่องการลงทุนระยะยาว” ชัยพร อินทุวิศาลกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ กล่าวถึงผลงานคลาสสิกจากสำนักพิมพ์ของเขา
“ผม เพิ่งเริ่มทำสำนักพิมพ์มาเพียงสองปี ถามว่าดีไหม มันก็ยังไม่ดีอยู่แล้ว มันไม่ดีเพราะมันเพิ่งเริ่มต้น เพราะฉะนั้นผมคงเป็นกรณีศึกษาที่ไม่ถูกต้องเท่าไหร่ สำนักพิมพ์เกิดใหม่มันยากอยู่แล้ว เพราะว่าแบรนด์มันยังไม่ชัดเจน คนอ่านยังไม่รู้จักสำนักพิมพ์เรา ยอดขายก็คงน้อยเป็นปกติ แฟนประจำเราก็ไม่มีเพราะเราไม่เคยทำสื่ออะไรมาก่อน ตอนนี้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่เกิดใหม่สภาพการณ์คงไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก... ผมว่ามันก็ไม่ถึงกับแย่มากหรอก แต่มันต้องการทักษะของคนทำสำนักพิมพ์มากกว่า ไม่ใช่เขียนเรื่องดีอย่างเดียว แต่ดีไซน์ต้องดีด้วย มาร์เก็ตติ้งในแง่ที่ว่าแค่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบปกหนังสือ ทำเลย์เอาต์ข้างใน พวกนี้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กต้องทำเองทั้งหมด พวกนี้ต้องทำให้ได้มาตรฐานเท่ากับสำนักพิมพ์ใหญ่ ผมว่าถึงจะสู้ได้”
ชัยพรให้ความเห็นว่า ถ้าเริ่มต้นไม่ดี โอกาสที่จะล้มหายตายจากไปก็มีมาก เป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าสำนักพิมพ์เกิดขึ้นมาเยอะ ระบบก็จะคัดออกเองโดยธรรมชาติ ไม่ได้บอกว่าระบบคัดกรองเหลือแต่สำนักพิมพ์ดีๆ แต่ระบบจะคัดกรองให้เหลือแต่สำนักพิมพ์ที่รู้วิธีที่จะอยู่รอดในธุรกิจนี้ ได้ยังไงต่างหาก...
“ถึงคุณจะตัวเล็ก ถึงคุณจะพิมพ์หนังสือจำนวนไม่กี่ปก แต่อยู่ได้นะ ในความเป็นจริงที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ผมเห็นมีหลายสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานไม่เยอะแต่ก็อยู่ได้ ผมว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ ถ้าจะอยู่รอดได้ ในทางอุดมคติเลยนะ คือเอางี้...เอาเป็นว่ามันเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะทำ แต่ผมยังทำไม่ได้ คือต้องมีความเป็นมืออาชีพพอๆ กับ หรือมากกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ มืออาชีพในที่นี้หมายถึงมาตรฐานในการผลิต การบรรณาธิการต้นฉบับ การพิสูจน์อักษร การจัดเลย์เอาต์ การออกแบบปกหนังสือ และการควบคุมการผลิต ประมาณห้าเรื่องหลักๆ ที่ผมว่ามันเป็นมาตรฐานในทางวิชาชีพของสำนักพิมพ์ ต้องทำให้ถึง ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก แต่สำนักพิมพ์ขนาดเล็กมีข้อได้เปรียบอยู่อย่างหนึ่งคือทำได้ในต้นทุนที่ต่ำ กว่า”
แล้วแนวโน้มที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ สำนักพิมพ์ขนาดเล็กเริ่มขายหนังสือเองมากขึ้น อย่างการวางแผงตามงานเสวนาวิชาการ แม้กระทั่งในสัปดาห์หนังสือฯ ก็เป็นวิธีการที่เขาจะได้พบกลุ่มคนอ่านได้ตรงกลุ่มมากขึ้น แต่โมเดลนี้จะทำได้ก็ต้องอดทน ต้องเริ่ม ต้องใช้เวลา ตอนนี้มีบางสำนักพิมพ์ที่เริ่มทำไปแล้ว และก็ไปได้ดีเสียด้วย...
“ถามว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ จะอยู่รอดได้อย่างไร ผมว่านอกจากเรื่องมาตรฐานทางวิชาชีพแล้ว ผมคิดว่ายังมีอีกสองสามเรื่องที่สำคัญคือ หนึ่ง - คนที่ทำสำนักพิมพ์ก็ต้องรักที่จะผลิตหนังสือ นี่พูดในแง่ของการเป็นสำนักพิมพ์ที่ดีด้วย ไม่ใช่แค่เล็กอย่างเดียว สอง – ต้องอดทน ต้องยอมรับว่าค่าตอบแทนของวงการสื่อสิ่งพิมพ์มันน้อยกว่าวงการอื่น สาม – การทำให้ภาพของสำนักพิมพ์ชัดเจน ว่าคุณเชี่ยวชาญในการผลิตหนังสือประเภทไหน เนื้อหาแบบไหน จุดแข็งคุณคืออะไร อันนี้ต้องทำให้คนอ่านรู้ แต่อันนี้ต้องทำโดยการผลิตนะครับ ไม่ใช่ทำโดยการป่าวประกาศ...” ชัยพรว่าอย่างนั้น
ขายตรงดีที่สุด
“เท่าที่ได้สัมผัสโดยตรง และเท่าที่ได้ยินมาจากคนอื่นที่ทำสำนักพิมพ์เหมือนกันก็คือถ้าคุณลงเงินไป ก้อนหนึ่ง สมมติถ้าคุณพิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งใช้เงินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท พอเข้าไปสายส่ง เวลาเขาคืนให้คุณ เขาไม่ได้คืนให้คุณมาแบบก้อนใหญ่เลยนะ แต่เขาจะค่อยๆ ทยอยมาทีละนิดๆ ทีละหมื่น ทีละแปดพัน ทีละหมื่นสอง อะไรอย่างนี้ แต่ในขณะเดียวกัน คุณลงทุนไปแล้วหนึ่งแสนกว่าบาท แล้วคุณจำเป็นต้องไปจ่ายโรงพิมพ์ ณ เวลานั้นอีกสามเดือนข้างหน้าหนึ่งแสนกว่าบาท แต่ว่ากับการที่เงินเข้ามาทีละหมื่น ทีละสองหมื่น แล้วมันใช้เวลาเป็นสองสามปีกว่าจะได้ แล้วคุณจะบริหารตรงนี้ยังไง ตอนนี้หลายคนเขาเจอแบบนี้” อำนาจ รัตนมณี เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง บอกเล่าประสบการณ์ตรงจากการทำหนังสือของเขาให้ฟัง
“จริงๆ แล้วไม่ใช่หนังสือขายไม่ได้ ผมว่าหนังสือถ้าพิมพ์ออกมาใหม่ ผมเชื่อเลยว่าสามสี่เดือนแรกเป็นช่วงที่ขายดีที่สุด เพราะฉะนั้นเงินก้อนแรกควรจะเป็นเงินที่มากที่สุด แต่ว่าทำไมเขาจึงให้น้อยแค่นั้นล่ะ มันขัดแย้งกับความรับรู้ของคนทำสำนักพิมพ์หลายคน คือพอพิมพ์ออกมา หนังสือใหม่มันเป็นเรื่องปกติที่ยอดพิมพ์ยอดขายครั้งแรกมันก็สร้างยอดขายได้ ดีจริง แต่พอไปเช็กยอดก็ได้ไม่กี่เล่ม คือมันเป็นเรื่องของจรรยาบรรณบางอย่าง ถ้าสาวให้ลึกๆ ก็คือว่าเขาอาจจะแจ้งยอดที่เป็นเท็จให้กับเรา ด้วยการเก็บเงินสดไว้กับเขาก่อน แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่ให้นะ แต่เขาจะค่อยๆ ทยอยให้มาทีละนิดๆๆ มันกลายเป็นว่าเบี้ยที่ได้มามันเป็นเบี้ยหัวแตก อย่างที่เรารู้กัน เราไม่สามารถเอาทุนนั้นไปชำระหนี้ตามกฎหมายเพื่อจะเริ่มต้นเล่มใหม่ได้ นั่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง”
อำนาจไม่อยากจะมองโลกในแง่ร้าย แต่เขากำลังมองว่าคนที่อยู่ในธุรกิจหนังสือตอนนี้ มีอยู่สักกี่คนที่รักหนังสือจริงๆ...
“มันมีคนที่มองว่าหนังสือคือโปรดักต์อย่างหนึ่งที่ต้องทำกำไรสูงสุด ไม่ว่าจะด้วยกรรมวิธีใดก็ตาม มันตอบคำถามที่เราถามว่า หนึ่ง - การเก็บเงินสดไว้กับตัว ผมว่ามันดีต่อเขา มันอาจจะได้ดอกเบี้ยเล็กๆ น้อยๆ แต่มันก็ได้ และจะเอาไปหมุนอะไรก็ช่างเถอะ แต่มันก็ทำได้ สอง – ในการจัดจำหน่ายหนังสือระหว่างตัวเขาเองกับหนังสือที่เอามาฝากขาย เขาขายหนังสือของเขาเองเขาได้กำไรมากกว่า ถ้าคุณเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ หรือว่าเป็นนักเขียนโนเนม คุณก็แทบที่จะไม่มีสิทธิ์ไปสั่นสะเทือนสายส่งเหล่านั้นได้เลย
“ยกเว้นแต่ว่าคุณคือใครบางคนที่เขาต้องแคร์ เขาก็จะแคร์ อันนี้คือสิ่งที่ผมเจอมาด้วยตัวเอง อย่างกรณีของปราบดา (หยุ่น) นี่ใช่ เขาคิดถูกที่ทำสำนักพิมพ์เอง เพราะหนึ่ง – ตัวเขาอธิบายชัด คือถ้าเกิดว่าสายส่งแห่งนั้นไม่มีเขาจะลำบาก แต่กับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีสถานะเหมือนปราบดา ผมว่าเขาอาจจะเจอเงื่อนไขบางอย่าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ผมว่ามันไม่ใช่ความผิดของใคร มันเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ ซึ่งบางคนมองว่ามันเป็นธุรกิจที่ต้องมีผลประโยชน์สูงสุด แต่สำหรับบางคนที่มองว่าหนังสือก็ควรเป็นเรื่องของปัญญา ควรจะมีอะไรอย่างนี้ บางทีคนเหล่านั้นจะขาดมิติตรงนี้”
แต่อำนาจเชื่อว่าเรื่องนี้มีทางออก แล้วจะทำอย่างไรให้อยู่รอด? เขาบอกว่า...
“ถึงจุดหนึ่งมันต้องคิดถึงกระบวนการจัดจำหน่ายอีกลักษณะหนึ่ง ผมคิดว่าถึงวันหนึ่งมันไม่จำเป็นต้องพิมพ์สามพันหรือห้าพันเล่มก็ได้ ผมคิดว่าถ้าคุณทำมาแค่สักครึ่งหนึ่งพอ ตีสักสองพัน หรือพันห้า แล้วคุณก็หาวิธีจัดจำหน่ายอีกแบบหนึ่งด้วยการ... ผมว่าถ้าเป็นไปได้ ขายตรงดีที่สุด ถ้ามีงานหนังสือคุณอาจจำเป็นต้องไปออกบูธบ้าง งานเสวนา หรืองานอะไรก็แล้วแต่ หรือโมเดลอย่างสำนักพิมพ์ openbooks ที่เขาทำ นั่นล่ะถูกต้องเลย ก็คือเขาไปขายตามงานต่างๆ เพราะคุณจะได้ หนึ่งคือ คุณเจอลูกค้าคุณโดยตรง สองส่วนลดที่คุณได้ ถ้าคุณไปฝากสายส่งคุณให้เขาสี่สิบเปอร์เซ็นต์ใช่ไหม แต่ถ้าไปขายเองคุณได้เต็มๆ ถึงแม้เราลดยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ลูกค้าเขาก็จะรู้สึกแฮปปี้ด้วย แล้วคุณเองก็ได้กำไรเยอะด้วย หรือไม่ก็ทำร้านหนังสือเอง อย่างที่สำนักพิมพ์สามัญชนทำ ทำไมสามัญชนต้องทำ ผมเชื่อเลยเหตุผลที่บังคับให้ดอน (เวียง – วชิระ บัวสนธ์ –บรรณาธิการ/เจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชน) ต้องทำก็คือเรื่องนี้แหละ เพราะว่าหนังสือวรรณกรรม เอาเข้าจริงพื้นที่ในร้านหนังสือแทบจะเหลือน้อยเต็มทีแล้ว”
สรุปว่าถ้าจะให้อยู่ได้ด้วยการพิมพ์หนังสืออย่างเดียว สำหรับคนเล็กๆ แล้วพิมพ์หนังสือในลักษณะที่เป็นอุดมคติ อำนาจบอกว่าอยู่ยาก ยากถึงขั้นอยู่ไม่ได้...
“ผมเชื่อว่าจะมีสำนักพิมพ์เล็กๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าขณะเดียวกันก็จะมีรายที่ล้มหายตายจาก กับรายที่ปรับตัวได้ ผมว่าสำหรับคนที่เขาเข้าใจวงการหนังสือทั้งระบบเขาจะอยู่ได้ แต่สำหรับคนที่อยู่ๆ ฉันอยากทำสำนักพิมพ์ แล้วก็ทำเลย โดยที่ไม่ได้มองว่าพิมพ์แล้วหนังสือจะไปอยู่ตรงไหน อยู่ด้วยเงื่อนไขยังไง ผมว่าคนอย่างนั้นจะไปไม่รอด ผมว่าถ้าจะให้อยู่รอดปลอดภัยจริงๆ เราต้องหากลุ่มของตัวเองให้ได้ ด้วยกรรมวิธีใดก็แล้วแต่ มันต้องค่อยๆ สร้าง อย่างที่ผมพิมพ์หนังสือออกมา ที่ผมทำเพราะว่าผมมีร้าน แล้วกลุ่มลูกค้าที่ร้านผมก็มีประมาณหนึ่ง อาจจะไม่ได้มากมาย แต่อยู่ในวิสัยที่เรารู้สึกว่าถ้าทำไปแล้วมันก็คงไม่ถึงกับขี้เหร่ ผลปรากฏว่า มันก็จริง”
โลก ยุคใหม่, ยุคที่อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นใจไปเสียทั้งหมด ยุคที่คอมพิวเตอร์ครองโลก ยุคที่นรกกับสวรรค์ พระเจ้าและซาตาน ต่างสถิตและสิงสู่อยู่คนละด้านของเหรียญเดียวกัน เหรียญที่ว่านั้นก็คือ - เงิน!
ก้าวต่อไป... สำนักพิมพ์ไอ้ตัวเล็ก!
**********************
เรื่อง : สุรชัย พิงชัยภูมิ
ภาพ : ร้านหนังสือเดินทาง