นานาทัศนะ
จดหมายฉบับแรกและฉบับสุดท้ายของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
สิงห์สนามหลวงสนทนา / สิงห์สนามหลวง
จดหมายฉบับแรกและฉบับสุดท้ายของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
จดหมายฉบับแรก : พ.ศ.2524 อายุ 15
พัทลุง
5 มกราคม 24
เรียน ปริทัศน์สาร ที่เคารพ
ขอบคุณมากสำหรับความใจกว้างของปริทัศน์ในการรับฟังปัญหา แต่นั่นแหละ ถ้าจะเล่น 'พระปิดทวาร' กัน ก็ปิดไปได้ไม่นานหรอก บรรณารักษ์คนเก่าก็ย้ายไป บรรณารักษ์หนุ่มคนใหม่ก็ย้ายมา พร้อมกับความโชติช่วงชัชวาลอันเป็นนิมิตหมายอันดี จะมีก็เพียงแต่ 'ครูปกครอง' เท่านั้นแหละที่เผด็จการชะมัด
คลุกคลีอยู่กับห้องสมุดมามากพอสมควร พิจารณามา 2 ปีกว่าๆ แล้ว จึงพอจะเห็นว่าหนังสือที่ชอบยืมไปอ่านกันมากที่สุด คือชุดนิยายรัก ไม่ว่าของ ศุภักษร สีฟ้า นันทนา วีระชน วลัย นวาระ หนังบู๊และหนังจีน ต่อเมื่อไม่มีอะไรจะอ่านนั่นแหละจึงจะพลิกดู ฉันจึงมาหาความหมาย ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง ฝันให้ไกลไปให้ถึง ทางเลือกเมื่อฟ้าหม่น ฯลฯ
อย่างไปซื้อหนังสือก็เหมือนกัน เพื่อนๆ เขาก็ว่าเชย พอเราก้าวหน้า ครูก็ว่าหัวรุนแรง พอเราเฉยๆเขาก็ว่าทึมทึบ 'ทางเดินที่เขาสร้างไปสู่หุบเขา' เท่านั้นที่เขายกย่องว่า 'ดีมาก'
เขาจะสรุปได้หรือยังว่า บทเรียนและนโยบายการศึกษามุ่งไปสู่จุดไหน? คนส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่? เกิดจากอะไร? ความขี้ขลาดของผู้ปกครอง หรือความต้องการให้ชาติเจริญ? และถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะทบทวนบทเรียนและแก้ไขเปลี่ยนแปลง? ใครจะเป็นคนทำ? ผู้ปกครอง ปัญญาชน คนส่วนใหญ่ ครู หรือว่านักเรียนเอง?
เพราะการศึกษาคือการสร้างชาติมิใช่หรือ?
ด้วยความเคารพ
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ป.ล.ช่วงนี้ คนป่าคืนเมืองกันมาก ทำให้สงสัยอยู่ครามครันว่า เขาละทิ้งอุดมการณ์ หรือเพียงเพื่อหาเส้นทางสายใหม่ จึงส่ง บันทึกถึงคนเดินทาง มาให้พิจารณาด้วย
บันทึกถึงคนเดินทาง
.........
คนเดินทาง
เจ้าคงจะอ้างว้างและเปล่าเปลี่ยว
เมื่อร่ำลาสายัณห์พระจันทร์เรียว
รูปคมเคียวเรียวรับกับขอบฟ้า
คงซานซมขมขื่นเมื่อคืนหนาว
คงร้าวรวดปวดร้าวเสียหนักหนา
มีเพียงจันทร์ฉันมิตร ยามนิทรา
กับดวงใจแกร่งกล้ากว่าเหล็กเพชร
มือถือเคียวเหนี่ยวปืนขึ้นยืนสู้
ตะโกนก้องร้องกู่ไม่ขามเข็ด
ทวงน้ำตาที่หลั่งไปในทุกเม็ด
ทวงน้ำเลือด ที่ลอดเล็ดและไหลทา
อยู่ป่าเขาสันภูฤๅรู้ข่าว
เสียงโฉ่ฉาวเร่าร้องก้องแผ่นฟ้า
เมื่อตะวันโพล้พลบมาลบลา
ยินเพียงว่าเสียงกู่ให้สู้คน
คนเดินทาง
บัดนี้เจ้าแรมร้างเหมือนสิ้นหน
เพียงเพราะทางเดินไกล...ไกลเกินพ้น
หรือเพื่อค้นหาทางใหม่ได้สัญจร
หรือพวกเจ้าจะหยุดความใฝ่ฝัน
หรือจะทิ้งอุดมการณ์มาสำส่อน
หรือพวกเจ้า 'หมดถ่านกลับบ้านนอน'
หยุดพร่ำวอนหยุดต่อสู้เพื่อชูไท
แม้ว่าเจ้าเหนื่อยนักก็พักเสีย
ความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียคงหายได้
ขอเพียงเจ้ายึดสัจจาว่าจริงใจ
สูงก็เตี้ย ไกลก็ใกล้ ใช่ยากเย็น
จดบันทึกการเดินทางการต่อสู้
ความเจ็บปวดที่ได้รู้ได้พบเห็น
บันทึกถึงชาวชนคนลำเค็ญ
เพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์การเดินทาง
ความผิดพลาดทั้งหมดจดบันทึก
แม้ส่วนลึกจะปวดร้าว ทุกก้าวย่าง
หากดวงดาวยังพราวแสงอยู่รางราง
ก็รู้ได้ว่าทางยังพอมี
คนเดินทาง
จะขอสร้างทางใหม่ในวันนี้
คือทางธรรมทอดตัวทั่วปฐพี
เพื่อผู้คนพรุ่งนี้ได้สัญจร
ช่วยกันขุดฉุดลากช่วยถากถาง
ชูแสงทองส่องทางอย่างเช่นก่อน
เร่งตัดตรงจากป่ามานาคร
เพื่อจะแผ่ไออ่อนอ้อมอกภู
หยดเลือดพลิกประวัติศาสตร์คนเดินทาง
แม้เยื่อใยความหลังยังคงอยู่
จดบันทึกแล้วสรุปบทเรียนดู
ก่อนจะก้าวเท้าสู่ความเป็นไท
สองมือเคยฟาดฟันรวมกันเข้า
ตายไปแล้วเกิดเล่า สร้างทางใหม่
คือเส้นทางที่ไปถึงซึ่งทางชัย
เสรีภาพกว่าจะได้ต้องฝ่าฟัน
คนเดินทาง
ขอจงสร้างทางใหม่ แม้ในฝัน
อุดมการณ์ต้องเป็นจริงขึ้นสักวัน
และเมื่อนั้นประชาชนจะชิงชัย
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
กลุ่มสานแสงทอง
จดหมายฉบับสุดท้าย : พ.ศ.2548 อายุ 39
30 พฤษภาคม 48 เขาหลวง
พี่สุชาติครับ
ขออนุญาตสื่อสารกับพี่ ผ่านตู้ ป.ณ.ของสิงห์ฯ นะครับ คงไม่เป็นไร อยากคุยกับพี่มากกว่าคุยกับสิงห์ฯ นะครับ (ฮา)
เมื่องาน 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในวาระครบรอบ 60 ปี' ดูท่าน่าสนุกนะครับ ตอนแรกคิดอยู่ว่า จะหาโอกาสมาร่วมแซยิด (ผมเรียกถูกหรือเปล่า?) อยู่เหมือนกัน รวมทั้งงานช่างวรรณกรรมเชิดชูเกียรติศรีบูรพาก่อนหน้านี้ แต่ด้วยเงื่อนไขความห่างไกลของระยะทาง บวกกับเงื่อนไขปัจจัยอีกนานาที่เป็นอุปสรรค ทำให้ไม่ได้ทำตามความตั้งใจ
ความจริงพักหลังๆ มานี้ ผมเกิดอาการรัก 'ถ้ำ' ไม่ค่อยได้ออกจากถ้ำไปไหนบ่อยนัก ได้ข่าวมาแว่วๆ ว่า พี่มีโครงการ - หรือกำลังคิดให้มี - กิจกรรมเชิดชูเกียรติศรีบูรพาสัญจรไปต่างจังหวัดด้วย และภาคใต้เลือกเอานครศรีธรรมราช ม.วลัยลักษณ์
ผมก็คิดเป็นห่วงนะครับ ว่าโดยเงื่อนไขของวลัยลักษณ์ คงเอื้อให้เกิดผลได้ไม่เต็มที่นักในแง่คนทั่วไปจะเข้าร่วม หนึ่งก็คือ เงื่อนไขของพื้นที่ อยู่ห่างไกลออกไป และค่อนข้างจำกัด เป็นสังคมเฉพาะ ไม่เอื้อให้คนภายนอกเข้าไป หรือ รู้สึก อยากเข้าไป อีกทั้งสมาชิกในสังคมภายใน ส่วนมากก็จะเป็นนักศึกษา+ครูอาจารย์ในทางสายวิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยมีความสนใจในเรื่องศิลปะ วรรณกรรม หรือสุนทรียะมากนัก นี่ประเมินเอาจากกิจกรรมอื่นใดที่เคยมีมา
ผมเกรงว่า หากไหนๆ ต้องลงทุนลงแรงสัญจรมาได้จริง ก็น่าจะเลือก สถานที่ เป็นลำดับแรก 'สถานที่' น่าจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้กิจกรรมบรรลุผล หรือไม่บรรลุ
ผมมองว่า หากเป็นเงื่อนไขการ เข้าร่วม ทั้งจากสมาชิกภายในและผู้สนใจภายนอก ม.ราชภัฏน่าจะเหมาะกว่า ที่ที่เราเคยจัดชุมนุมช่างวรรณกรรม-ช่อการะเกดนั่นแหละครับ อย่างน้อยก็มีคณะศึกษาที่เรียนสายนี้-สายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาความเป็นศรีบูรพา มีกลุ่ม มีชมรมที่เกี่ยวกับศิลปะวรรณกรรม รวมทั้งการไป-มาของบุคคลภายนอกสะดวกกว่า ใกล้เมืองกว่า การเดินทางสะดวกกว่า รวมทั้ง 'ท่าที' ของสถาบัน-สถานที่ เปิดรับ หรือต้อนรับผู้คนจากภายนอกมากกว่า
บุคลากรในสังกัดราชภัฏที่สนใจ และน่าจะให้การสนับสนุนกิจกรรมนี้ก็พอมีนะครับ เริ่มแต่ ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ซึ่งเคยเป็นแม่งานตอนชุมนุมช่อการะเกด ตอนนี้ท่านขึ้นเป็นอธิการแล้ว คิดว่าคงยินดีอำนวยความสะดวก
หรือบรรดาอาจารย์ในภาควิชาภาษาไทย อาทิ อ.ประหยัดเกษม (คงมีอีกหลายคน ผมนึกชื่อไม่ออก) หรือแม้แต่อาจารย์ภาควิชาศิลปกรรม อย่าง ปริทรรศ หุตางกูร เหล่านี้ก็คิดว่าน่าจะเต็มใจ ยินดี และรู้งาน!
ผมคิดดั่งนี้ จึงลองเสนอมายังพี่เพื่อพิจารณา ทั้งนี้ โปรดอย่าได้เข้าใจว่าผมรังเกียจรังงอน ม.วลัยลักษณ์ ปิดกั้น หรือแย่งชิงนะครับ และหาใช่เพราะอคติชมชอบราชภัฏ เลยมาล็อบบี้ให้ ผมเพียงคิด-พิจารณาตามสภาพที่เป็นจริง ด้วยหวังจะเห็นกิจกรรมของพี่บรรลุผลสูงสุด-เท่าที่มันจะเป็นไปได้ นี่น่าจะเป็นการแสดงมุทิตาจิตแก่ศรีบูรพาอย่างหนึ่ง
ผมคิดขึ้นมาของผมโดยลำพังคนเดียว ยังไม่ได้พูดคุยปรึกษากับใคร เลือกที่จะพูดคุยปรึกษากับพี่นี่แหละครับ
อย่างไร, พี่ก็ลองพิจารณา และหากต้องการให้ผมช่วยเหลือ-ทำงานในสิ่งใด ก็โปรดบอกมา ผมยินดี เต็มใจ และตั้งใจ!
ทั้งเพื่อพี่ และเพื่อศรีบูรพา ที่ผมล้วนเคารพนับถือ
หุบเขากำลังฉ่ำอยู่ด้วยฝนต้นฤดู ผลไม้รายรอบบ้านเริ่มติดลูก มังคุด 7-8 ต้นซึ่งเรียงรายอยู่ตรงเขตรั้ว ออกลูกเต็มต้นเลยครับ
ผมคิดถึงวันที่พี่มาเยี่ยมบ้านหลังนี้ วิ่งเข้าหาต้นมังคุดอย่างตื่นเต้นเหมือนเด็กๆ พร่ำพูดแต่คำว่า "ศรีดาวเรืองเขาชอบ!" ผมยังประทับใจไม่รู้เลือน เป็นภาพน่ารักจริงๆ ครับ
นานแล้วผมไม่ได้ขึ้นกรุงเทพฯ เป็น 2 หรือ 3 ปีแล้วกระมัง ตั้งใจไว้ว่า หน้าผลไม้ปีนี้ จะหาโอกาสขึ้นมาสักหน ก่อนที่กรุงเทพฯ จะยิ่งแปลกหน้าสำหรับผมไปมากกว่านี้ หากความตั้งใจดังกล่าวเป็นไปได้จริง พี่วรรณาคงได้ลิ้มรสชาติมังคุดจากสวนนะครับ
สุดท้าย ขอโทษอย่างยิ่งที่ผมเหมือนจะห่างหายจากพี่ไปนาน แต่อย่างไรผมก็ยังระลึกถึง และนับถืออยู่เสมอ-ตลอดมา
หวังว่าพี่-พี่วรรณา-และโมน คงสุขสบายดีนะครับ
ด้วยความนับถือ
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ตู้ ปณ.1143 ปท.ดอนเมือง กท.10211
20 มิถุนายน 2548
คุณกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ยินดีที่ได้ข่าว ทราบว่าคุณเก็บตัวอยู่แต่ในถ้ำ ผมเองพยายามอยากทำอย่างนั้นบ้าง แต่ไม่เคยทำได้เลย อะไรต่ออะไรที่ผ่านมา เลยค่อนข้างจะเป็น 'จับฉ่าย'
เรื่องการไปเชิดชูเกียรติ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่นครศรีธรรมราชนั้น ก็ยังไม่ได้ตกลงแน่นอนกับทาง ม.วลัยลักษณ์ เอาเป็นว่า ถ้า ม.ราชภัฏนครฯ สนใจ ผมก็ยินดี เพราะรู้สึกผูกพันกันตั้งแต่ครั้งมาชุมนุมช่อการะเกด ปริทรรศก็อยากให้ลงไปทำอะไรที่นั่นบ้าง
ขอให้เปิดว่างตรงนี้ไว้ ถ้า ม.ราชภัฏนครฯ ต้องการ ก็อยากขอทราบกำหนดเวลาเท่านั้น เพราะช่วง 2-3 เดือนนี้ผมมีกำหนดเรื่องนี้หลายแห่ง และช่วงกันยายน-ตุลาคม ก็อาจต้องไปอังกฤษ
ถ้าหากทาง ม.ราชภัฏนครฯ ริเริ่มเองได้ ผมยินดีจะไปปาฐกถา หรืออภิปราย โดยมีการฉายแผ่นชีวิตและงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และนักเขียนคณะ 'สุภาพบุรุษ' ประกอบ และหรือหากทำประโยชน์ให้ทั้งสองสถาบันได้ ก็ยินดีพร้อมกัน
รีบเขียนมา เพื่อคุณจะได้ปรึกษากัน ช่วยตอบด้วย
ระลึกถึง
สุชาติ
หมายเหตุ 'สิงห์สนามหลวง'
จดหมายแนบบทกวี บันทึกถึงคนเดินทาง ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ส่งไปให้กองบรรณาธิการนิตยสาร ปริทัศน์สาร รายเดือน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2524 ถือเป็นจดหมายในยุคแรกที่ กนกพงศ์เริ่มแสดงตัวด้วยชิ้นงานเป็นบทกวี จากวันเดือนปีที่ปรากฏในจดหมาย ทำให้ระบุได้ว่า เขายังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนพัทลุง นับอายุจากวันเวลาช่วงนั้น คือ 15 ปี เด็กวัยรุ่นอายุ 15 ปี เขียนบทกวี ชื่อ บันทึกถึงคนเดินทาง ส่งไปถึงกองบรรณาธิการนิตยสาร ปริทัศน์สาร รายเดือนระยะนั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ปริทัศน์สาร เป็นนิตยสารรายเดือนแนววิเคราะห์ข่าวการเมือง-สังคม ที่มีแนวไปทาง 'ลัทธิมาร์กซ์' และความคิดสังคมนิยม ถือเป็นนิตยสารรายเดือนยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516 ที่มีความแหลมคม และเป็นรอยต่อทางความคิดที่มุ่งเน้นวิเคราะห์สังคมไทยโดยนำเอาวิธีการแบบ 'เศรษฐศาสตร์การเมือง' เข้าจับ บุคคลที่อยู่ในกองบรรณาธิการทั้งแบบ 'เปิดตัว' และ 'ไม่เปิดตัว' ยุคนั้นมีตั้งแต่ระดับปัญญาชนอย่างเช่น ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ฯลฯ หรือแม้แต่นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่ยึดถือทางสังคมนิยมโดยไม่ต้องไปเรียนต่อ 'ต่างจังหวัด' อย่างเช่น ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ฯลฯ ปริทัศน์สาร รายเดือนมีเนื้อหาเข้มข้นจนบางครั้งออกไปทางซ้ายจัด และมีงานเขียนในชั้นเชิงกวีนิพนธ์ และเรื่องสั้นแบบ 'เพื่อชีวิต' ยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516 เข้ามาแสดงพื้นที่ของ 'แรงเฉื่อยเพื่อชีวิต' โดยยังเห็นความหวังของคำว่า 'สังคมนิยม' แม้ขณะนั้นจะเกิด 'วิกฤติศรัทธา' ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขึ้นแล้วตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2523 และสอดรับกับนโยบายการเมืองนำการทหารยุค 66/23 ของพล.อ.เปรม ติณสูยานนท์ ที่ทำให้ 'คนป่าคืนเมือง' ในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นในระยะนั้น แต่สำหรับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมอายุ 15 ปี จากโรงเรียนพัทลุง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่ในพื้นที่แห่งตำนาน 'ถีบลงเขา เผาลงถัง' มาตั้งแต่เกิด คงอดรู้สึกสะเทือนใจไปกับความไม่แน่ใจในหลายสิ่งหลายประการที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น จึงนำเอาความไม่แน่ใจดังกล่าวมาเขียนบทกวี ชื่อ บันทึกถึงคนเดินทาง เหมือนเป็นการตั้งคำถามถึง 'คนพันธุ์ใหม่' ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทยยุคต่อมา และก็ถือเป็นการตั้งคำถามเหมือนยังมีแสงแห่งความหวังด้วยหัวใจบริสุทธิ์
คนเดินทาง
ขอจงสร้างทางใหม่ แม้ในฝัน
อุดมการณ์ต้องเป็นจริงขึ้นสักวัน
และเมื่อนั้นประชาชนจะชิงชัย
ผมไม่ทราบว่าบทกวีชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน ปริทัศน์สาร หรือไม่ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน นิตยสาร ปริทัศน์สาร ก็ได้ปิดตัวเองลง และก็จำไม่ได้อีกเช่นกันว่า บทกวีชิ้นนี้ได้รับเลือกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทกวี ชื่อ ป่าน้ำค้าง ผลงานเล่มแรกของเขาที่สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ.2532 หรือไม่
อย่างไรก็ตาม นี่คือชิ้นงานบทกวีของหนุ่มวัยรุ่นอายุ 15 ปีแห่งตำบลควนขนุนที่ถือเสมือนเป็นคำถามแห่งยุคสมัยได้เช่นกัน และในเวลาต่อมาได้ส่งอิทธิพลกำกับชีวิตของเขาไว้ในฐานะนักเขียน นักประพันธ์เรื่องสั้น 'ช่อการะเกดยอดเยี่ยม' อย่างเช่น สะพานขาด และ โลกใบเล็กของซัลมาน
จดหมายเมื่ออายุ 15 ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ส่งไปถึงกอง บก. ปริทัศน์สาร พร้อมบทกวี บันทึกถึงคนเดินทาง ที่เป็นลายลักษณ์หลักฐานชิ้นนี้ ผมได้รับมาจากคุณธนาพล อิ๋วสกุล แห่งนิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ราย 3 เดือน