เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม
ชะตากรรมของนักเขียนที่ตกเป็นเหยื่อ ชาตินิยม
ชะตากรรมของนักเขียนที่ตกเป็นเหยื่อ ชาตินิยม
กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงวรรณกรรมระดับโลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนชาวตุรกีวัย 54 ปี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2549 ต้องขอลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ว่ากันว่า นอกจากมาตรา 301 ในประมวลกฏหมายอาญาของตุรกี ที่พูดถึงบทลงโทษ ผู้ที่ให้ร้าย ดูหมิ่น และสร้างความเสื่อมเสียให้กับความเป็นตุรกี จะต้องถูกตัดสินจำคุกอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่ง ออร์ฮาน ปามุก ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา เขายังตกเป็นเป้านิ่งของกลุ่มชาตินิยมที่ต้องการทำให้เขาหุบปาก ไม่พูดหรือเขียนเรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับตุรกีอีกด้วย
เท่าที่ผ่านมา ผลงานเขียนของออร์ฮาน ปามุก มักบอกเล่าถึงความคับแค้นและประณามการกดขี่ที่ชาวตุรกีกระทำต่อชาวอาร์เมเนียน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย รวมถึงวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่าการที่ชาวตุรกีปล่อยให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวอาร์เมเนียนเกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นความร้ายกาจไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุด ทำให้ชาวตุรกีที่เชิดชูความเป็นรัฐชาติเหนือสิ่งอื่นใดไม่อาจยอมรับได้ เพราะสิ่งที่เขาเอาออกมาตีแผ่ คือการสร้างความด่างพร้อยกับประเทศ จึงมีการกระท้วงการให้รางวัลโนเบลแก่ปามุกเมื่อปีที่ผ่านมาด้วย
ความแปลกแยกของปามุกในฐานะชาวตุรกีที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดของเพื่อนร่วมชาติ ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นคนไม่รักชาติ และในฐานะนักเขียนมุสลิมคนแรกที่ออกมาประณามประกาศิตหรือ ฟัตวา ของอยาตุลเลาะห์ อาลี โคไมนี อดีตประมุขทางจิตวิญญาณสูงสุดของอิหร่าน ที่สั่งให้สังหาร ซัลมาน รัชดี นักเขียนนิยายเรื่องหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่า หมิ่นศาสนาอิสลาม ทำให้เขากลายเป็นที่เกลียดชังของชาวตุรกีคลั่งชาติมากยิ่งขึ้น
ก่อนหน้าที่เขาจะลี้ภัยไปอยู่อเมริกาได้ไม่นาน Hrant Dink นักหนังสือพิมพ์ชาวอาร์เมเนียน ซึ่งเป็นเพื่อนของออร์ฮาน ปามุก เพิ่งถูกยิงเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา
Dink เป็นชาวอาร์เมเนียนที่เรียกร้องสิทธิเพื่อชนกลุ่มน้อยมาโดยตลอด เมื่อปี 2549 Dink ถูกตัดสินโดนกักบริเวณเป็นเวลา 6 เดือน ด้วยข้อหาเดิม นั่นคือการกระทำผิดตามมาตรา 301 สืบเนื่องมาจากบทความวิพากษ์วิจารณ์การเอารัดเอาเปรียบชาวอาร์เมเนียนที่เขาเขียนลงในหนังสือพิมพ์ Agos
เมื่อพ้นจากการถูกลงโทษ Dink ไปสอนหนังสือตามปกติ และกลับไปทำงานให้กับหนังสือพิมพ์เช่นเดิม แต่เวลาเพียงไม่นานหลังจากได้รับอิสรภาพ Dink ก็ถูกมือปืนลึกลับยิงตายหน้าที่ทำงานของเขานั่นเอง
เมื่อสหายร่วมอุดมการณ์อย่าง Dink ถูกทำให้จากโลกไปอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ออร์ฮาน ปามุก จึงต้องขอลี้ภัยไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เพื่อต่ออายุของตัวเองออกไปอีกนิด
ด้วยเรื่องราวเช่นนี้ ทำรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของตุรกีต้องออกมาแก้ข่าวแก้ความเข้าใจผิดกับนานาประเทศ โดยกล่าวว่าทางการกำลังสืบหาตัวคนร้ายมาลงโทษให้ได้ และจะเรียกร้องให้รัฐบาลลองทบทวนเรื่องมาตรา 301 เสียใหม่ ไม่ให้ถูกใครนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดคนที่เห็นต่าง
อย่างไรก็ตาม ออร์ฮาน ปามุก ขอลี้ภัยไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเรียบร้อยแล้ว และคงจะไม่กลับไปอยู่ที่ตุรกีบ้านเกิดในเร็ววันนี้แน่ๆ แต่คงต้องรอให้เรื่องทุกอย่างซาไปจากความสนใจของชาวตุรกีเสียก่อน
ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่นักเขียนคนแรกที่ถูกพวกชาตินิยมในตุรกีหมายหัว และอาจไม่ได้เจออะไรร้ายแรงเท่าที่ซัลมาน รัชดีเคยเจอ เพราะฟัตวาของโคไมนี แทบไม่ต่างจากคำสั่งให้ฆ่าโดยทางอ้อม แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตของคนที่เห็นต่างจากคนอื่น ไม่ควรจะต้องถูกปลิดปลงอย่างง่ายดายขนาดนั้น
ออร์ฮาน ปามุก แสดงความคิดเห็นต่อความตายของ Hrant Dink ว่า ผมเสียใจที่เขาต้องตาย เขาเป็นเพื่อนที่ดีของผม และผมรู้สึกว่าผมต้องรับผิดชอบต่อการตายของเขาด้วย เพราะผมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมนี้ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ทำให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเองเช่นกัน
โดย : ประชาไท วันที่ : 17/2/2550