เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม
อาลัยแด่ 4 ศิลปินฯ ผู้จากไป
อาลัยแด่ 4 ศิลปินฯ ผู้จากไป
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 พฤษภาคม 2550 12:00 น.
ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการสูญเสียบุคลากรระดับชั้นครูเลยทีเดียวสำหรับปีหมูในปีนี้ เมื่อเหล่าศิลปินแห่งชาติทั้งหลายต่างพากันจากโลกนี้ไปชนิดติดๆ กันหลายต่อหลายคน
ไล่ไปตั้งแต่ผู้เป็นทั้ง "ครู" และ "พ่อ" ของคนในวงการนาฏศิลป์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงโขน อย่าง "อ.เสรี หวังในธรรม" ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในช่วงค่ำคืนของวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมาด้วยวัย 70 ปี
"สิ่งที่เราเสียดายหรือหาไม่ได้อีกแล้ว คือความคิดความอ่านของพ่อเสรี เพราะถึงแม้เราจะอยู่จะทำงานกันต่อเนื่องต่อไป แต่ก็คงทำไม่ได้แบบที่ท่านทำ เพราะไม่ว่าท่านจะทำอะไรท่านจะมองอย่างรอบคอบ รอบด้าน ซึ่งความรู้ของท่านมีความพิเศษอยู่ในตัว และในตำราไม่มีสอน"
"จึงน่าเสียดายที่สุดที่เราต้องสูญเสียคนเก่ง เพราะพ่อเสรีนั้น ท่านรู้ทุกอย่าง รู้แม้กระทั่งใจคนจึงเป็นเสน่ห์ของงานแสดงของพ่อเสรีที่คนอื่นทำไม่ได้...เป็นคำกล่าวของ "ปกรณ์ พรพิสุทธิ์" พระเอกเงินล้านของกรมศิลป์ฯ ในฐานะลูกศิษย์ที่ยืนยันได้ว่าการเสียชีวิตของบรมครูแห่งวงการนาฏศิลป์ไทยเจ้าของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ศิลปะการละคร)ท่านนี้ ไม่ต่างอะไรกับการสูญสิ้นร่มโพธิ์ร่มไทรของศิลปินแห่งกรมศิลปากรทุกคนเลยทีเดียว
จากนั้นไม่นานในช่วงกลางเดือนเมษายน ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2534 อย่าง "สุวัฒน์ วรดิลก" นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา "รพีพร" รวมทั้งอื่นๆ อาทิ "ไพร วิษณุ" (ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับป่าเขาลำเนาไพร), "ศิวะ รณชิต" (ใช้สำหรับเขียนสารคดีทั่วไป) ก็ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 84 ปี ที่บ้านพักในอำเภอศรีราชา
ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ถือได้ว่าเป็นนักคิดและนักเขียนที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง มีผลงานออกมาแล้วมากมายหลากหลายรูปแบบและได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ มากมาย อาทิ นวนิยาย เรื่อง ขอจำจนวันตาย, นกขมิ้นบินถึงหิมาลัย และรวมเรื่องสั้น เหนือจอมพลยังมีจอมคน และอื่นๆ ทั้ง เปลวสุริยา ราชินีบอด นางไพร แผ่นดินเดียวกัน ลูกทาส ภูติพิษสวาท พิราบแดง เลือดในดิน
นอกจากนี้เจ้าตัวยังเคยได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งชมรมนักเขียน 5 พฤษภาคม, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมาแล้ว
"สุวัฒน์" จากไปได้ไม่นานเรื่องที่น่าสะเทือนใจก็ตามมา เมื่อนักร้องอาวุโสชื่อดังผู้เป็นภรรยาคู่ชีวิตของเขาและมีดีกรีศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปีพุทธศักราช 2534 อย่าง "เพ็ญศรี พุ่มชูศรี" ก็ต้องมาเสียชีวิตตามผู้เป็นสามีไปด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในวัย 78 ปี
สำหรับคู่รักคู่นี้ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตคู่ที่น่ายกย่องเป็นที่สุด ทั้งสองมีความรักและความผูกพันร่วมเสพสุขและทุกข์ชนิดที่ว่าต้องเผชิญกับชะตากรรมให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำขาดอิสระภาพร่วมกันมาแล้วจากภัยของเรื่องการเมือง โดยหลังจากที่นักร้องอาวุโสซึ่งมีน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์หาใครเสมอเหมือนเสียชีวิตลงและมีพิธีไปแล้ว ศพของเธอก็ได้ถูกนำไปเก็บไว้เคียงคู่กับผู้เป็นสามีเพื่อรอทำการฌาปนกิจร่วมกันต่อไป
"เป็นความประสงค์ของคุณพ่อเองว่าหากใครสิ้นลมก่อนก็ให้เก็บศพไว้เพื่อรอให้อีกคนเสียชีวิตแล้วจึงค่อยเผาพร้อมกัน..."..."เจี๊ยบ ฉัตรชัย วรดิลก" ผู้เป็นบุตรบุญธรรมเผยถึงความต้องการของผู้เป็นพ่อ
แม้การเสียชีวิตของผู้เป็นสามีจะเป็นสิ่งที่ "เพ็ญศรี" ไม่สามารถรับรู้ได้กระทั่งวินาทีสุดท้ายที่ตัวเองสิ้นลมเพราะผลพวงของอาการป่วยจากโรคอัลไซเมอร์และการปกปิดของบรรดาญาติๆ ที่ไม่ต้องการให้เธอเกิดความสะเทือนใจ แต่ที่แน่ๆ ก็คือหลายคนเชื่อว่าวิญญาณของทั้งสองจะต้องได้อยู่เคียงข้างกันอย่างแน่นอน
ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ต่อการสูญเสียของศิลปินแห่งชาติทั้ง 3 ยังไม่ทันจาง ข่าวคราวล่าสุดต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของปรมาจารย์ทางด้านหุ่นละครเล็ก "สาคร ยังเขียวสด" หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ โจหลุยส์ วัย 83 ปี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นละครเล็ก) ประจำปี 2539 ในช่วงค่ำของวานนี้(21)ก็ซ้ำเติมให้เกิดความรู้สึกที่ว่ายิ่งขึ้นไปอีก
สาเหตุของการเสียชีวิตนั้นเกิดจากอาการน้ำท่วมปอดที่เจ้าตัวป่วยมานานแล้ว โดยญาติจะจัดให้มีพิธีรดน้ำศพที่วัดบางไผ่ นนทบุรี บ่าย 4 โมงของวันนี้(22) รวมถึงจะมีการสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 7 วัน ก่อนจะขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
ครูสาครเป็นบุตรของ นายคุ่ย และนางเชื่อม ยังเขียวสด เกิดในเรือละครเมื่อ พ.ศ.2467 ขณะที่บิดามารดาเดินทางไปแสดงละครเล็กกับคณะครูแกร ศัพทวนิช ที่วัดปากคลองบางตะไคร้ จ.นนทบุรี สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนประชาระบือธรรม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณแสดงหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สวนอัมพร และได้สาธิตการแสดงหุ่นละครเล็กที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2530 จนหุ่นละครเล็กเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก
สำหรับที่มาของชื่อ โจหลุยส์ นั้น เป็นเพราะช่วงวัยเด็ก ครูสาครมีอาการเจ็บหนัก บิดามารดาจึงยกให้เป็นลูกพระ ตั้งชื่อให้ว่า หลิว เพื่อเป็นการแก้เคล็ด เมื่อโตขึ้นได้ฝึกหัดโขน ละคร และลิเก จนเติบโตได้ออกแสดงตระเวนไปกับบิดา ซึ่งครูสาครนิยมแสดงเป็นตัวตลก และมีการเรียกชื่อเพี้ยนจากหลิวเป็นหลุยส์ ต่อมามีผู้มาเติมให้เป็นโจหลุยส์ เหมือนชื่อนักมวยแชมป์โลกสมัยนั้น
...ปัจจุบันได้นำชื่อ โจหลุยส์ มาตั้งเป็นชื่อของโรงละคร ที่เป็นคณะแสดงหุ่นละครเล็กกับสมาชิกครอบครัวว่า "โจหลุยส์เธียเตอร์" ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์การแสดงที่ว่านี้ไม่ให้สูญหาย รวมถึงยังทำให้ชาวต่างประเทศได้รู้จักการแสดงแบบไทยๆ ที่ว่านี้
ผลงานชิ้นสุดท้ายของครูสาครก็คือการแสดงชุดครุฑ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มีกำหนดเผยแพร่ครั้งแรก ในรายการ "คุณพระช่วย" คืนวันอังคารที่ 22 พฤษภาคมนี้ ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี