เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ช่อการะเกด ยุคที่ 3

by Pookun @May,27 2007 02.04 ( IP : 222...151 ) | Tags : เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ช่อการะเกด ยุคที่ 3

พรชัย จันทโสก : รายงาน jantasok@yahoo.com


การประกาศปิดตัวนิตยสารวรรณกรรมเรื่องสั้น ช่อการะเกด ของบรรณาธิการเครางาม สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง เมื่อช่วงต้นปี 2542 ไม่เพียงส่งผลให้นักเขียนเรื่องสั้นของไทยต้องสูญเสียเวทีแสดงออกที่ได้รับความสนใจสูงสุดแห่งหนึ่งลงเท่านั้น หากยังทำให้วรรณกรรมเรื่องสั้นยุคหลังตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากไม่มีเวทีให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้ 'ผ่านเกิด' เหมือนเช่นเวทีประดับช่อการะเกดอีก

ย้อนกลับไปยุคเบ่งบาน รางวัลช่อการะเกด เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่นเพื่อส่งเสริมนักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหม่ รางวัลนี้มีต้นกำเนิดจากนิตยสาร โลกหนังสือ ที่ก่อเกิดขึ้นเมื่อปี 2520 ซึ่งเป็นการรวบรวมเรื่องสั้นของนักเขียนร่วมสมัยมาจัดพิมพ์ไว้ในชุด โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น โดยมี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ และมีการประดับ 'ช่อการะเกด' ให้เรื่องสั้นดีเด่น สร้างความคึกคักให้กับแวดวงวรรณกรรมเป็นอย่างมาก

หนังสือ ช่อการะเกด ฉบับแรกตีพิมพ์เมื่อปี 2521 และหยุดชะงักไปเมื่อ 2523 หลังจากนั้นกลับคืนมาอีกครั้งเมื่อปี 2532 และตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องจนยุติลงเมื่อต้นปี 2542 เนื่องจากเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกและแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว

ล่าสุดงานแถลงข่าวประกาศถึงการกลับมาอีกครั้งของ ช่อการะเกด หลังจากเว้นวรรคไปนานถึง 9 ปี โดยได้ทีมงานผู้ก่อตั้งชุดเดิมคือ สำนักช่างวรรณกรรม ของบรรณาธิการผู้มีรสนิยมส่วนตัว สุชาติ สวัสดิ์ศรี และทีมงานใหม่คือสำนักพิมพ์บูรพา สำนักพิมพ์สามัญชน นำโดยศิษย์เก่าช่อการะเกด เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ และเวียง-วชิระ บัวสนธ์ โดยงานแถลงข่าวเพื่อประกาศเปิดรับ 'ต้นฉบับ' เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2550 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ นั้นมีคนในแวดวงวรรณกรรมและนักเขียนศิษย์เก่าช่อการะเกดไปให้กำลังใจอย่างคับคั่ง

ต่อไปนี้เป็นถ้อยคำของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปว่าทำไม ช่อการะเกด ถึงต้องเกิดใหม่อีกครั้ง เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยประกาศลาออกจากแวดวงวรรณกรรมเพราะความไม่เชื่อใน 'อำนาจวรรณกรรม' โดยหันไปวาดรูปแสดงผลงานศิลปะและทำหนังสั้นทดลองแทน

30 ปี ช่อการะเกด

ช่วงระยะเวลาที่ ช่อการะเกด ห่างหายไปจากวงการวรรณกรรมนานถึง 9 ปี คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคนี้ส่วนหนึ่งแทบจะไม่รู้จัก 'ช่อการะเกด' ว่ามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร และการกลับมาครั้งนี้มีวาระสำคัญอะไร

"ถามถึงการกลับมาครั้งนี้ผมไม่ค่อยเต็มใจเท่าไร เพราะผมเป็นห่วงสองคนนี้ เพราะว่าคนทำหนังสือวรรณกรรมโดยเฉพาะหนังสือที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่เรื่องสั้นโดยตรงมันอยู่ลำบาก แต่เมื่อทั้งสองคนมีใจรักอยากจะทำด้วยความผูกพันบางอย่าง การกลับมาวันนี้ถือว่าเป็นยุคที่สาม ส่วนช่อการะเกดยุคแรกคือช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผมได้พบกับนายทุนท่านหนึ่งคือคุณสุข สูงสว่าง ตอนนั้นเขาทำร้านหนังสือดวงกมลอยู่ที่สยามสแควร์ ตอนนั้นผมหลบอยู่ ตัดสินใจไม่เข้าป่า ด้วยความสับสน ผมให้คนใกล้ชิดมาหาคุณสุขเพื่อขอยืมสตางค์ พอเขารู้ว่าผมยังอยู่ก็ให้สตางค์มา 6 พันบาท สำหรับสมัยนั้นถือว่าเป็นเงินจำนวนมาก และฝากบอกมาว่าให้ผมไปทำหนังสือกับเขา

ผมได้รู้จักกับคุณสุขตอนแรกคือตอนที่ผมเสนอหนังสือให้สำนักพิมพ์ดวงกมลพิมพ์ พอคุณสุขบอกว่าให้มาคุยกันเรื่องทำหนังสือ นั่นคือการก่อเกิดของ 'โลกหนังสือ' ออกฉบับแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2520 คือหลังเหตุการณ์ตุลาไม่เท่าไร โลกหนังสือฉบับแนะนำตัวจึงเกิดขึ้นเพื่อรอเวลาได้รับหัวหนังสืออย่างเป็นทางการ พอถึงเดือนตุลาคม 'โลกหนังสือ' ฉบับแรกหรือฉบับปฐมฤกษ์เกิดขึ้น ฉะนั้นปีนี้ครบรอบ 30 ปีของนิตยสารโลกหนังสือ และคุณสุข สูงสว่างเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสอันหนึ่งว่าถ้าจะทำอะไรก็ควรทำในวาระนี้

จุดสำคัญของโลกหนังสือยุคนั้น ผมได้ก่อเกิด 'ช่อการะเกด' คือตั้งชื่อว่า 'โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น' และเล่มแรกคือ 'วันเวลาที่ผ่านเลย' ถือเป็นการก่อกำเนิดช่อการะเกด เพราะต้องการให้เป็นพื้นที่สำหรับเรื่องสั้นของคนที่เขียนเรื่องส่งมาให้พิจารณา และจะมีการตั้งข้อสังเกตคล้ายๆ กับว่าเป็นข้อสังเกตส่วนตัวของบรรณาธิการโดยใช้ชื่อว่า 'ประกาศช่อการะเกด' เริ่มต้นไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้เป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นรางวัล คือหนึ่งเล่มมี 15 เรื่อง อาจจะมีประดับช่อการะเกดสัก 3-5 เรื่อง บรรดาคนเขียนเรื่องสั้นก็ไปทึกทักว่าเป็นรางวัลซึ่งไม่เป็นไร เท่ากับว่าทำให้คนสนใจพื้นที่ตรงนี้

ยุคแรกทำออกมา 4 เล่ม คือ 'วันเวลาที่ผ่านเลย' คล้ายๆ กับว่าพวกที่เคยมีความสัมพันธ์กันในเมือง พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 วันเวลาที่เคยมีอะไรดีๆ ต่อกันก็หายไป หลายคนเข้าป่า ส่วนเล่มต่อมาคือ 'ราคาแห่งชีวิต' 'เพชรน้ำงาม' และ 'คลื่นหัวเดิ่ง' ฉะนั้นคุณสุข สูงสว่างเป็นผู้ลงทุนคนแรกหรือยุคเริ่มต้นของช่อการะเกด" สุชาติ สวัสดิ์ศรี เล่าเท้าความถึงจุดเริ่มต้นยุคก่อนผลิบานเป็นช่อการะเกด

ยุคแรกเป็นการก่อเกิดของนักเขียนที่ต่อมามีชื่อเสียงอย่างเช่น วิมล ไทรนิ่มนวล มาลา คำจันทร์ ชาติ กอบจิตติ จำลอง ฝั่งชลจิตร เป็นต้น เนื่องจากนักเขียนเรื่องสั้นยุคก่อนหน้านั้นก็หายไปเพราะเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 แต่ออกมาได้ 4 เล่มก็ต้องยุติไปปี 2523 เพราะเขาไม่มีเวลาพอที่จะทำได้ต่อเนื่อง เนื่องจากต้องทำนิตยสารโลกหนังสือรายเดือน แต่ทำได้เพียง 6 ปีก็ต้องล้มเลิกไปเช่นกัน

ช่อการะเกด ยุคที่ 2

"พอโลกหนังสือล้มเลิกไปก็มีนิตยสาร 'ถนนหนังสือ' ที่คุณเรืองเดช จันทรคีรี เป็นบรรณาธิการเกิดขึ้น คุณเรืองเดชชวนผมไปเป็นบรรณาธิการที่ปรึกษา เราคิดกันว่าจะมาทำหนังสือเล่ม น่าจะเอาเรื่องสั้นกลับมาในลักษณะที่ทำ 'โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น' ผมกับเรืองเดชจึงลงขันกันเพื่อทำช่อการะเกดและหาทุกวิถีทางที่จะทำให้มันอยู่รอดได้ ตั้งเป็นบริษัทดวงกมลวรรณกรรมเพื่อจะให้เป็นหลังพิงของช่อการะเกด รับทำหนังสือให้คนนั้นคนนี้ และทำช่อการะเกดรายสามเดือน ผมเสนอว่าเมื่อเป็นการลงขันของเราก็เลยทำชื่อใหม่ขึ้นมาว่า 'สำนักช่างวรรณกรรม' คือนักเขียนนั่นแหละ

ถ้านับระยะเวลาตั้งแต่ยุคแรกกว่าจะมาถึงยุคที่สองใช้เวลาผ่านไปถึง 9 ปี ผมกับคุณเรืองเดชถึงได้มาทำช่อการะเกดตั้งแต่ฉบับที่ 5 จนกระทั่งถึงฉบับที่ 41 พอมาถึงยุคที่สามคงจะเป็นแรงดลใจหรืออะไรก็ไม่ทราบ ถ้านับเวลาที่คุณสุทธิพงษ์กับคุณเวียงบอกว่าอยากรื้อฟื้นช่อการะเกดกลับมาใหม่ เวลาก็ผ่านไปอีก 9 ปี พูดง่ายๆ ว่าช่อการะเกดเล่มสุดท้ายคือเล่มที่ 41 เดือนตุลาคม 2542" เขาเล่า

กรณีข้อสงสัยของหลายๆ คนที่ถามถึงเกี่ยวกับสาเหตุการปิดตัวไปคราวนั้น บรรณาธิการผู้มีรสนิยมส่วนตัวแจงว่า

"สาเหตุที่ต้องล้มเลิกไปนั้นมีอยู่เรื่องเดียวคือปัญหาเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตก หลังพิงล้ม พูดง่ายๆ ว่าบริษัทดวงกมลของเราล้มเพราะว่าฟองสบู่แตก ทำให้ช่อการะเกดอยู่ไม่ได้ ง่ายๆ ว่าคนอื่นเป็นหนี้เราแล้วเราเก็บเงินไม่ได้ ตอนนั้นคุณเรืองเดชยังไม่บอกบัญชีตัวแดงกับผม ปล่อยให้ผมทำช่อการะเกดผ่านมาอีกตั้งหลายเล่ม พยายามหาวิถีทางทุกอย่างที่จะทำให้มันอยู่รอด ถ้าใครเป็นศิษย์เก่าช่อการะเกดคงจะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าในที่สุดมันก็อยู่ไม่ได้เพราะว่าถึงวาระที่ว่าควรจะยุติได้แล้ว

ตอนที่ยุติช่อการะเกดยุคผมกับคุณเรืองเดชเป็นช่วงที่ผมบอกกับแวดวงวรรณกรรมว่าผมมีข้อสงสัยหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรม ถึงกับขนาดตั้งคำถามว่า 'อำนาจวรรณกรรม' มันมีจริงหรือ ถ้ามีจริงทำไมหนังสือที่ถือว่ามีคุณภาพสร้างสรรค์หรือหนังสือในแนวที่คิดว่าจะเป็นพื้นที่ในลักษณะเข้มข้นจริงจังจึงอยู่ไม่ได้ มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมประเทศนี้ที่มีผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาปีละเกือบแสนทุกปี และมีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่ผลิตคนจบอุดมศึกษาจำนวนมาก แต่หนังสือในลักษณะที่เข้มข้นสร้างสรรค์ประเภทที่พิมพ์ครั้งละ 2,000 เล่มมันจึงมีปัญหา คนที่สร้างผลงาน สั่งสมตัวตนในการเป็นนักคิด นักเขียน นักประพันธ์ในประเทศนี้มีปัญหาหรืออย่างไร

การเกิดขึ้นของหนังสือประเภทนี้ต้องเป็นการนับหนึ่งกันอยู่เสมอ บทเสียดสีตัวเองที่ผมพูดตอนนั้นคือคิดว่า 'อำนาจวรรณกรรม' นั้นอาจจะไม่ได้มีจริงก็ได้ เพราะถ้ามีจริงแล้วคงจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ยกตัวอย่างเช่นสมัยที่ 'กุหลาบ สายประดิษฐ์' เป็นเจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรมที่ชื่อว่า 'สภาพบุรุษ' รายปักษ์ ตอนนั้นพิมพ์จำนวน 2,000-2,300 เล่ม ประชากรไทยขณะนั้นมี 10 ล้านคน สามารถทำสภาพบุรุษได้ตั้ง 37 เล่ม ในยุคเมื่อ 2472 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 หรือหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงพิมพ์ 'ละครแห่งชีวิต' ขายแพงที่สุดตอนนั้นเล่มละ 4 บาท พิมพ์ออกมา 2,000 เล่ม ขายหมดภายใน 6 เดือน

แต่ตอนผมทำช่อการะเกดกับคุณเรืองเดชประชากรมากกว่า 60 ล้านคน มีคนจบการศึกษาปีละมากๆ เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า 'วัฒนธรรมการอ่าน' บางทีสังคมไทยอาจจะมีแต่มหกรรมหนังสือ ไม่ได้มีวัฒนธรรมการอ่าน ทั้งๆ ที่มีบรรพบุรุษที่เริ่มต้นมาแล้ว แต่มันขาดช่วงไป มันเกิดอะไรขึ้นผมไม่ทราบ 'โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น' หรือ 'ช่อการะเกด' เอาง่ายๆ ว่าไม่ต้องวางในตลาดหนังสือก็ได้ ถ้าหากว่าเครือข่ายห้องสมุดของสังคมของประเทศนี้มีความเข้มแข็ง เพราะมีห้องสมุดในประเทศไทยมากกว่าสองพันแห่ง ผมไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น"

ช่วงเวลานับตั้งแต่ 'ช่อการะเกด' ยุติลงเป็นเวลานานเกือบทศวรรษ การพิมพ์หนังสือในปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจมากขึ้น

"ช่วง 9 ปีของยุคที่สามที่ผ่านมาผมเห็นว่ามีการผลิตหนังสือกันมากๆ เข้าใจว่าหลายเรื่องด้วยกันเป็นยุคที่เรียกว่า 'พันธุ์ใหม่' รวมทั้งเรื่องการพิมพ์หนังสือด้วย เพราะว่าการพิมพ์หนังสือมีลักษณะกลายเป็นสินค้าไป แต่เผอิญสินค้านี้เรียกว่า 'หนังสือ' เป็นการผลิตหนังสือเพื่อบริโภคมากกว่าสนองรสนิยม สนองการศึกษา สนองคุณค่าทางจิตใจ คือสิ่งที่เรียกว่าพื้นฐานการมีวัฒนธรรมการอ่านมันเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบ แต่มีปัญหาอย่างที่เขาบอกว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัด แต่ทุกปีจะเห็นหนังสือผลิตออกมาเต็มไปหมด มีนักเขียนประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด

แต่สิ่งที่จะทำให้หนังสือประเภทนี้อยู่ได้กลับมีปัญหา เนื่องจากระบบการวางหน้าร้าน ระบบขายส่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ ตอนนั้นผมบอกกับแวดวงว่าผมเลิกแล้ว ผมขอลาออกจากแวดวงวรรณกรรม ทุกคนคงจำได้ ผมมาวันนี้เหมือนกับเทศนาในสิ่งที่ตนเองไม่เชื่อ ตอนหลังผมหันไปทำอย่างอื่น ถามตัวเองว่าอยากทำอะไร ความจริงผมยังไม่ได้ออกเต็มที่หรอก ยังเขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์ ทำหนังสือเฉพาะกิจเป็นบางครั้งบางคราว แต่ว่าจะให้เป็นบรรณาธิการแบบเดิมคงไม่ทำแล้ว" สุชาติ กล่าว

ช่อการะเกด ยุคที่ 3

เมื่อตัดสินใจประกาศลาออกจากวงการวรรณกรรม เขาหันไปวาดรูป แสดงงานศิลปะ และทำหนังสั้นทดลอง

"ช่วงระยะที่ผมแสดงงานศิลปะ เช็คกับเวียงจะมาให้กำลังใจตลอด เวียงก็เป็นคนที่อยู่ในแวดวงการเป็นบรรณาธิการหนังสือวรรณกรรมมาโดยตลอด สำนักพิมพ์สามัญชนพิมพ์หนังสือแปลของนักเขียนที่ถือว่าขายได้ยากในตลาดประเภทหนังสือพันธุ์ใหม่ทั้งหลาย แต่เวียงเขาก็ยังทำ แสดงว่าเขาเชื่อมั่นในอำนาจวรรณกรรมคนหนึ่ง ผมเชื่อว่าเขารักที่จะทำหนังสือจริงๆ เพราะคนที่จะมาเสนอตัวเป็นผู้ลงทุนตรงนี้ จะต้องรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในแง่ธุรกิจ เขาอยากจะให้ผมมารื้อฟื้นพื้นที่วรรณกรรม ผมก็สองจิตสองใจเพราะว่าได้บอกกับแวดวงไปแล้วว่าจะไม่เข้ามาอีก

เขาบอกว่าถ้าช่อการะเกดกลับมา ถ้าผมกลับมา แม้หนังสือจะขายไม่ได้สักเล่มเขาก็จะพิมพ์ ผมเลยขอเงื่อนไขไป คิดว่าเขาจะไม่รับ เพราะผมเคยมีประสบการณ์ที่มีคนมาขอชื่อ 'ช่อการะเกด' ไปรื้อฟื้นใหม่ และผมไม่ให้ แต่ให้ชื่อ 'ช่อปาริชาติ' ไป แต่มาตอนนี้ที่ยอมให้ใช้ชื่อ 'ช่อการะเกด' เพราะสองคนนี้มาในฐานะผู้ลงทุน ผมยื่นเงื่อนไขไปว่าทำต่อเนื่องได้ไหม เป็นรายสามเดือน ทำสามปี เขาบอกสบายเลย เขาเอาจริง เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือ สำนักช่างวรรณกรรมจะเป็นผู้จัดพิมพ์ บริษัทพิมพ์บูรพาจะเป็นผู้ลงทุน ผมในฐานะที่ว่าให้ยืมหัวหนังสือ 'ช่อการะเกด' มาโดยที่ตัวบรรณาธิการก็จะต้องมาด้วย

คล้ายๆ กับเป็นเงื่อนไขกลายๆ ปีหนึ่งผมจะทำงานลักษณะเป็นบรรณาธิการเต็มรูปแบบ หมายความว่าเรื่องสั้นจะต้องผ่านตาผม ทั้งๆ ที่ผมก็ไม่ค่อยมั่นใจสุขภาพสายตาผมเท่าไร ต้องอ่านทุกเรื่อง ให้เขามั่นใจว่าแม้เรื่องสั้นของเขาจะไม่ผ่านเกิด แต่เรื่องสั้นของเขาก็ได้ผ่านตาบรรณาธิการ ขอเวลาที่จะทำอย่างนี้ไปหนึ่งปี พอปีที่สองและสามขอส่งไม้ ผมเชื่อว่าถึงตอนนั้นเวียงจะสามารถรับต่อได้ หรืออาจจะขอต่อสัญญาเป็นสองปีก็ได้

ฉะนั้นเดือนกันยายนช่อการะเกดเล่มที่ 42 จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา หมายความว่าเล่มแรกจะปิดรับเรื่องวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ลักษณะของเนื้อหายังต่อเนื่องจากเล่มที่ 41 คือเป็นช่อการะเกดเล่มที่ 42 จะมีสองส่วนด้วยกันคือเป็นเนื้อหาของพื้นที่เรื่องสั้นประมาณ 12-15 เรื่อง และอีก 20 เปอร์เซ็นต์จะเป็นช่อการะเกดฉบับโลกหนังสือ หมายความว่าถ้าซื้อช่อการะเกดก็จะได้สองส่วนคือส่วนของเรื่องสั้นและส่วนของช่อการะเกดฉบับโลกหนังสือที่กล่าวถึงวรรณกรรมระดับนานาชาติ แวดวงความเคลื่อนไหวของนักเขียนในภูมิภาค บทบาทวรรณกรรมในลักษณะที่ลงลึก หรืออาจจะเป็นบทความวิจารณ์วรรณกรรม คือจำลองมาจากฉบับโลกหนังสือที่ผมเป็นบรรณาธิการจะอยู่ในเล่มนี้ด้วย"

บางคนเกิดความสงสัยว่าทำไม สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถึงยอมใจอ่อนให้หัว 'ช่อการะเกด' กับ เวียง-วชิระ บัวสนธ์ และเช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ พร้อมกลับมานั่งเป็นบรรณาธิการอ่านต้นฉบับ

"ผมใจอ่อนให้กับทั้งสองคนนี้เพราะเขาเกิดกับช่อการะเกด และเขาไม่ได้ชวนผมไปค้าขายอย่างอื่นเลย ไม่ได้ชวนเข้าวงการทีวี เขาชวนให้ผมมาทำอย่างที่ผมเคยทำ ยืนยันว่าจะต้องเป็นหนังสือวรรณกรรมเท่านั้น จะไปทำนิตยสารอย่างอื่นไม่ได้ ถ้ายุติบทบาทลงหัว 'ช่อการะเกด' ก็จะกลับคืนไปหาแม่ของมันคือสำนักช่างวรรณกรรม การที่ผมกลับมาถึงแม้ว่าจะต้องเสียคำพูดไปบ้าง เทศนาในสิ่งที่ไม่เชื่อ อย่างน้อยต้องผูกพันอยู่ตรงนี้ปีแรก จำนวน 6 เล่มนี้ผมจะดูแลทั้งหมด และขอคำมั่นว่าจะต้องมีกิจกรรมทางวรรณกรรม เช่น รางวัลเต็มรูปแบบ จะคุยรายละเอียดกันต่อไปว่าจะเป็นลักษณะเดิมหรือลักษณะใหม่

ลักษณะเดิมก็อยากจะให้คงไว้ ส่วนลักษณะอื่นต้องคุยกันว่าเป็นแบบคณะกรรมการดีไหมหรือผู้อ่านลงคะแนนยอดนิยมเหมือนอย่างที่เคยทำ เมื่อมีตัวงานเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นก็น่าจะว่ากันไปได้ ตัวกิจกรรมก็จะเกิดขึ้น เพราะชุมนุมช่างวรรณกรรมก็ยังเกิดขึ้นโดยตอนนั้นยังไม่มีช่อการะเกด เพราะฉะนั้นถ้าจะทำเป็นกิจกรรมเพื่อชุมนุมคนในแวดวง รื้อฟื้นบางอย่างหรือว่าได้พบปะหน้าตากัน มีกิจกรรมทางวิชาการ มีปาฐกถาช่างวรรณกรรม มีนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ

ปีนี้คุยกันว่าช่อการะเกดที่กลับมาในยุคที่สามนี้กลับมาในวาระของ 'ราชาเรื่องสั้นไทย' ในวันที่ 10 มิถุนายนปีนี้เป็นวันครบรอบ '100 ปี ชาตกาล มนัส จรรยงค์' ถือว่าการเกิดขึ้นของช่อการะเกดก็เหมือนเป็นการให้เกียรติกับมนัส จรรยงค์ว่าท่านเป็น 'ราชาเรื่องสั้นของไทย' เรื่องสั้นที่ท่านเขียนไว้มีมากมายมหาศาลเหลือเกิน ฉะนั้นการเกิดขึ้นของช่อการะเกดยุคที่สามถือเป็นการให้เกียรติกับมนัส จรรยงค์ ในฐานะเป็นนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ คือแต่ก่อนนี้จะให้กับคนที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งจะยังให้อยู่ต่อไป ส่วนนักเขียนที่เสียชีวิตไปก็จะประกาศเกียรติคุณให้เป็นเรื่องเป็นราว และปีนี้เป็นวาระ '30 ปี โลกหนังสือ' ถือว่ามีวาระหลายเรื่องถ้าจะอ้าง ไม่เสียเปล่าหรอกที่จะเทศนาในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นขอให้สองคนนี้หนักแน่นหน่อย

หวังไว้ว่าศิษย์เก่าช่อการะเกดนั้นเลือดลมยังดีอยู่ พอมีเวทีเกิดขึ้นเขายังจะกลับมาด้วยความเข้มข้นเท่าเดิมหรือมากขึ้น เพราะมาตรฐานยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นผมยืนยันแง่ของการอ่านตรงนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าคนรุ่นใหม่จะมาแบบไหน ภาษาเขาจะเป็นยังไง มุมมองของเขาจะเป็นยังไง โลกหรือลักษณะพันธุ์ใหม่ของเขาจะเป็นยังไง แต่ผมคิดว่าพอพูดถึงพื้นที่เรื่องสั้นคงจะมีภาพรวมๆ ที่น่าจะเข้าใจร่วมกันได้ ผมปล่อยเสรีภาพเต็มที่" สุชาติ กล่าว

การกลับมาของ 'ช่อการะเกด' ยุคที่สามนี้นับได้ว่ามีนัยความสำคัญหลายวาระด้วยกัน แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือนิตยสารแนวไหนก็ตามจะต้องเผชิญคือ การต่อสู้กับตลาดหนังสือในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 0

------------------------------------


0สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ

"ผมรับรู้ทุกสถานการณ์ที่เกี่ยวกับคุณสุชาติและสิ่งที่เกิดขึ้นกับช่อการะเกด เพียงแต่ว่าสิ่งที่ทำให้สุกงอมคือว่าประการที่หนึ่ง ผมกับเวียงทำนิตยสารเล่มหนึ่งคือนิตยสาร 'ฅ คน' จะมีเซคชั่นที่เป็นพื้นที่เรื่องสั้น ปรากฏว่ามีเรื่องสั้นส่งเข้ามาเยอะมาก เวียงซึ่งเป็นคนอ่านบอกว่าดีๆ ทั้งนั้นเลย แต่ว่าลงได้แค่เดือนละเรื่อง พอมาถึงตรงจุดที่เวียงมีความคิดว่าถ้าอย่างนั้นทำเป็นฉบับเรื่องสั้นแยกออกมาเลย ผมเห็นด้วย แต่ในทางสถานะถ้าจะทำให้มีมรรคมีผล ผมคิดว่าต้องเอาความรู้สึกของตัวเองในสมัยที่ผมเขียนเรื่องสั้นส่งไปแล้วได้ประดับ 'ช่อการะเกด' ความรู้สึกของเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่อยากจะเขียนหนังสือ พอได้ผ่านเกิด หรือได้ประดับช่อนั้น มันมีความหมายกับชีวิต ผมคิดว่าความรู้สึกแบบนี้ไม่น่าจะเป็นเพียงความรู้สึกของผมตามลำพัง"

--------------------------------------


0เวียง-วชิระ บัวสนธ์

"การทำงานแบ่งหน้าที่กันชัดเจน พี่สุชาติเป็นบรรณาธิการ ผมทำหน้าที่เรื่องการจัดการการผลิต เช็คทำหน้าที่เชียร์ของ แต่คงไม่ได้คิดเรื่องค้าขายมากมาย สัญญาได้เลยว่าการกลับมาครั้งนี้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ปี ไม่ใช่ทำเล่นๆ ต่อให้ขายไม่ได้สักเล่มก็จะทำ พวกผมทำหนังสือที่ขายไม่ได้เป็น 20 ปี ไม่เห็นมีปัญหาเลย ที่บอกว่าพิมพ์สามปีหมายถึงอย่างน้อย แต่จริงๆ ผมจินตนาการไปว่าจะถึง 30 ปี อยากให้อยู่ยาวๆ"


หมายเหตุ : ส่งต้นฉบับเรื่องสั้นมาได้ที่ ตู้ ปณ.1143 ปท.ดอนเมือง กรุงเทพฯ 10211 เพื่อพิจารณานำลงตีพิมพ์ในนิตยสาร 'ช่อการะเกด ฉบับที่ 42' หมดเขตรับผลงานวันที่ 15 สิงหาคม 2550

แสดงความคิดเห็น

« 6723
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ