เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

ติช นัท ฮันห์ พลังแห่งสติ...ความสุขหนึ่งเดียว

by Pookun @May,29 2007 20.01 ( IP : 124...50 ) | Tags : เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

ติช นัท ฮันห์ พลังแห่งสติ...ความสุขหนึ่งเดียว

สุทธาสินี จิตรกรรมไทย
"หายใจเข้า...ให้ตระหนักรู้ว่าหายใจเข้า"

"หายใจออก...ให้ตระหนักรู้ว่าหายใจออก"

ดวงอาทิตย์ยังคงแผดแสงจ้าในยามบ่าย หากภายในอาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี สถานที่จัดกิจกรรม "วันแห่งสติ" กลับร่มเย็น เงียบ สงบ

ด้วยผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทุกเพศวัย-หลายศาสนาหลายพันคนล้วนเจริญสติ ตระหนักรู้ถึงลมหายใจของตน สร้างบรรยากาศแห่งธรรมให้เกิดขึ้น

หลังภิกษุและภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ร่วมกันขับขานบทเพลงแห่งสติแล้ว เป็นเวลาที่ ท่านติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายเซน ชาวเวียดนาม แสดงปาฐกถาธรรม "สู่ศานติสมานฉันท์ : ความสุขอันเป็นหนึ่งเดียวในครอบครัวและสังคม"

ท่านติช นัท ฮันห์ แสดงปาฐกถาธรรมด้วยใบหน้าอิ่มเอิบผ่องใสตอนหนึ่งว่า เมื่อร่างกายตึงเครียดใจก็หงุดหงิดง่าย เกิดการแสดงออกต่อคนในครอบครัวและคนรอบข้าง

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการตระหนักรู้ให้มนุษย์จัดการอารมณ์ตัวเอง เมื่อพลังแห่งความโกรธผุดขึ้นมาก็ต้องหาพลังแง่บวกมาจัดการ คือ พลังแห่งสติ จึงควรทำทุกอย่างอย่างมีสติ

"เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่งสติเจริญเติบโตก็จะดูแลความเจ็บปวดและความรู้สึกต่างๆ เมื่อปฏิบัติเช่นนั้นได้ก็ช่วยคนในครอบครัวปลดปล่อยความตึงเครียดได้

"เมื่อเรากลับมาดูแลสันติในตัวเราก็เป็นการง่ายที่จะเชิญผู้อื่นให้มีสันติ ความโกรธและความหงุดหงิดก็จะเกิดขึ้นได้ยาก" ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าว

พอแดดร่มลมตกก็ถึงช่วงของ การเดินวิถีแห่งสติ

ท่านติช นัท ฮันห์ พร้อมด้วยพระครูใบฎีกาพิทยา ฐานิสสโร ภิกษุณีนิรามิสา และภิกษุ-ภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัมรูปอื่น เป็นผู้นำชาวไทยและชาวต่างชาติ "เดินสมาธิ" รอบสวนลุมพินี

เป็นการเดินอย่างช้าๆ สัมผัสผืนดินผืนหญ้า แต่ละก้าวให้ตระหนักรู้ว่ากำลังสัมผัสแผ่นดินผู้ให้กำเนิด...เป็นแผ่นดินอันงดงาม

เมื่อการเดินวิถีแห่งสติสิ้นสุดลง ความปีติก็งอกงามขึ้นในใจของใครหลายคน

เพราะอย่างน้อยท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมโลกทุนนิยม-บริโภคนิยมในปัจจุบัน ยังมีสิ่งที่เรียกว่า "สติ" ช่วยเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้หลงทาง

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ท่านติช นัท ฮันห์ ฝึกการเจริญสติ และแสดงปาฐกถาธรรมเกี่ยวกับ "สันติ" แก่ผู้คนโดยไม่เลือกชาติศาสนา แต่ท่านได้กระทำเช่นนี้มานานต่อเนื่องหลายสิบปี

ท่านติช นัท ฮันห์ มีนามเดิมว่า เหงียน ซวน เบ๋า เกิดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2469 ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม เมื่ออายุ 16 ปี บรรพชาเป็นสามเณร และอายุ 23 ปี ก็อุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายเซน

ฉายาของท่านเมื่อบวชแล้วคือ ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)

"ติช" เป็นคำเรียกพระ แปลว่า "แห่งศากยะ" คือ ผู้สืบทอดพุทธศาสนา "นัท ฮันห์" แปลว่า "สติอยู่กับปัจจุบันขณะ" ติช นัท ฮันห์ แสดงปาฐกถาธรรมที่อาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี




ท่านติช นัท ฮันห์ มีความคิดว่าพุทธศาสนาต้องรับใช้สังคม จะมัวเจริญสติเจริญภาวนาอยู่ในวัดอย่างเดียวไม่ได้ ท่านจึงช่วยเหลือผู้คนและสังคมด้วยวิถีแห่งสติและสันติตามแนวทางพุทธศาสนา ช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาให้เข้ากับยุคสมัย รวมทั้งเขียนบทความทางพุทธศาสนา แต่กลับถูกรัฐบาลเวียดนามต่อต้าน

ต้นทศวรรษ 2500 ท่านเดินทางไปศึกษาต่อด้านศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากได้รับทุน จากนั้นท่านได้เป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

ราวปี 2506 ท่านติช นัท ฮันห์ ตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อช่วยสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับมหายานในเวียดนามใต้ ดำเนินการตั้งโรงเรียนยุวชนรับใช้สังคม ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามเวียดนาม และพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น

เมื่อถึงปี 2509 ท่านได้จัดตั้ง "คณะเทียบหิน" เป็นกลุ่มสังฆะประกอบด้วยภิกษุ-ภิกษุณีและฆราวาส ปฏิบัติตนตามหลัก 14 ข้อ ซึ่งครอบคลุมการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่

ในปีเดียวกันท่านติช นัท ฮันห์ กลับไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เพื่อร่วมการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในเวียดนามที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ รวมถึงพยายามทำให้สังคมมีสันติภาพ ด้วยการกระตุ้นให้คนไม่ว่าชาติใดก็ตามเห็นถึงความสำคัญของสันติภาพ

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกา ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อ พ.ศ.2507 จึงเสนอนามท่านติช นัท ฮันห์ เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2510

ผลของการเคลื่อนไหวต่างๆ ของท่านติช นัท ฮันห์ ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามใต้ไม่อนุญาตให้ท่านกลับเข้าประเทศ ท่านจึงต้องลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส และทำงานเพื่อสันติภาพควบคู่ไปกับการนำธรรมสู่ผู้คนทุกเชื้อชาติ

กระทั่งปี 2548-หลังไฟของสงครามเวียดนามดับมอดไปแล้วถึง 30 ปี ท่านติช นัท ฮันห์ จึงได้เดินทางกลับสู่แผ่นดินเกิด

ถึงตอนนี้ ท่านติช นัท ฮันห์ พำนักที่หมู่บ้านพลัม และยังคงเดินทางไปประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก พร้อมด้วยภิกษุและภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัม เพื่อเผยแผ่ธรรมและนำเจริญสติเจริญภาวนาแก่ผู้สนใจซึ่งมีเป็นจำนวนมาก

ท่านติช นัท ฮันห์ เคยกล่าวไว้ว่า พุทธศาสนาเป็นวิถีชีวิต เนื่องด้วยคติข้อหนึ่งที่แพร่อยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือ วิถีทางแห่งพุทธธรรม คือ วิถีทางแห่งชีวิต

ท่านจึงนำธรรมเข้าสู่ชีวิตประจำวัน เช่น ฝึกลมหายใจเพื่อนำสู่ "สติ" และ "สันติ" ไม่ว่าจะในขณะเดิน นั่ง รับประทานอาหาร หรือขณะทำกิจกรรมอื่นๆ

ในหนังสือ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ (The Miracle of Being Awake) ซึ่งท่านติช นัท ฮันห์ เป็นผู้แต่ง กล่าวไว้ว่า

ในพระสูตรต่างๆ พระพุทธเจ้ามักทรงสอนให้ใช้ลมหายใจบำเพ็ญสติเสมอ มีพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องการใช้ลมหายใจ เพื่อฝึกสติเจริญสมาธิโดยเฉพาะสูตรหนึ่ง คือ อานาปานัสสติสูตร

การหายใจเป็นเครื่องมือตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการป้องกันความคิดฟุ้งซ่าน ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชีวิตและจิตสำนึก ทำให้ร่างกายและความคิดเป็นเอกภาพกัน หากเกิดความคิดฟุ้งกระจายไป ผู้ปฏิบัติงานควรใช้ลมหายใจในการรวมจิตเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง

"เราไม่ควรปล่อยตนเองให้หลงไปในความคิดที่ฟุ้งซ่านและสิ่งแวดล้อมรอบตัว จงเรียนรู้วิธีฝึกลมหายใจ เพื่อจะได้คอยควบคุมจิตใจและร่างกายของเรา ฝึกสติ พัฒนาสมาธิและปัญญา

"...การตื่นตัวและพร้อมเสมอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างสามารถและมีไหวพริบ นี่แหละคือความมีสติโดยแท้..." ท่านติช นัท ฮันห์ แนะไว้ใน ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

ท่านติช นัท ฮันห์ ยังสอนให้มองทุกอย่างอย่างเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน (interbeing) ไม่มีสิ่งใดที่จะอยู่แยกจากสิ่งอื่นได้

"...บางทีเราอาจจะพูดได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่จริง มิใช่อยู่อย่างตายซาก ก็ต่อเมื่ออยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโลก ดังนั้น จงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ความทุกข์ของคนอื่นก็คือความทุกข์ของเรา ความสุขของคนอื่นก็คือความสุขของเรา..." เป็นอีกคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์


คนไทยส่วนใหญ่อาจเคยได้ยินนาม "ติช นัท ฮันห์" หรือทำความรู้จักท่านและคำสอนทางธรรมผ่านงานเขียนของท่าน อาทิ "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" "ความโกรธ ปัญญาดับเปลวไฟแห่งโทสะ" (Anger) "สันติภาพทุกย่างก้าว" (Peace Is Every Step) "กุญแจเซน" (Zen Key) "ศานติในเรือนใจ" (Touching Peace) "ปลูกรัก" (Cultivting the Mind of love) ฯลฯ

แต่น้อยคนนักที่จะเคยพบท่านในเมืองไทย

ท่านติช นัท ฮันห์ มาเยือนเมืองไทยครั้งแรกเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว คราวที่ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามอาราธนาท่านมายังอาศรมที่วัดผาลาด จ.เชียงใหม่

ครั้งนั้นนั่นเองที่ ส.ศิวรักษ์ สนับสนุนให้มีการแปลงานเขียนของท่านติช นัท ฮันห์ เป็นภาษาไทยหลายต่อหลายเล่ม รวมถึงกลุ่มอื่นยังมีการจัดเสวนาในประเด็นที่ว่าด้วยธรรมของท่านติช นัท ฮันห์ อยู่หลายครั้ง ส่งผลให้คนไทยได้ลิ้มรสแห่งธรรมจากท่านติช นัท ฮันห์

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ พระนักกิจกรรม กล่าวถึงท่านติช นัท ฮันห์ ไว้ในการเสวนาเรื่อง "3 ทศวรรษสายธารความคิด ติช นัท ฮันห์ กับสังคมไทย" เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า

ถ้าพูดถึงท่านติช นัท ฮันห์ หรือที่ศิษย์ของท่านเรียกว่า "ไถ่" คือ อาจารย์ คนที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นสะพานให้คนไทยได้รู้จักท่านติช นัท ฮันห์ หนีไม่พ้นอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ความรู้สึกที่ได้อ่านบทความชิ้นแรกๆ ของท่านติช นัท ฮันห์ พระไพศาลเล่าว่า ไม่ได้ทำให้ประทับใจอะไรมาก แต่จะเริ่มประทับใจเมื่อทราบถึงบทบาทและขบวนการของท่าน คือ "ขบวนการของชาวพุทธในเวียดนาม"

พระไพศาลเล่าอีกว่า การที่ได้รู้จักและประทับใจท่านติช นัท ฮันห์ กับขบวนการของท่าน เพราะตอนนั้นไม่เชื่อเรื่องการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา แต่เชื่อในสันติวิธี

สิ่งที่ขบวนการชาวพุทธทำ คือ อุทิศตัวเพื่อสันติภาพโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นการต่อสู้อุทิศตัวซึ่งมีแรงขับเคลื่อนจากภายใน คือ เมตตา กรุณา ไม่ใช่ความเกลียด ความโลภ หลายคนในขบวนการที่เกี่ยวข้องถูกฆ่า แต่ท่านติช นัท ฮันห์ ได้เรียกร้องให้อภัยต่อผู้ที่ฆ่า ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร

"จนมีโอกาสพบท่านเมื่อเดือนเมษายน ปี 2518 ท่านมาประชุมอาศรมแปซิฟิกที่วัดผาลาด เชียงใหม่ ตอนนั้นอาตมายังเป็นนักเรียนอยู่ แล้วรู้สึกว่าท่านเป็นฮีโร่ของเรา

"ท่านทำให้เห็นว่าในการทำงานเพื่อสันติภาพหรืออะไรก็ตาม จิตใจเราต้องสงบ ต้องมีสันติ และท่านทำให้ชีวิตและการทำงานเพื่อสังคมนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว คือ ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับชีวิตประจำวัน และไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับการทำงานเพื่อสังคม

"คำสอนของท่านยังมีคุณค่า ไม่ว่าเรื่องของการใช้สันติวิธีและการให้อภัย หรือความสงบสุขภายในที่ต้องเผชิญกับการยั่วยุของบริโภคนิยม

"ถ้ามีความสงบสุขภายในแล้ว ก็สามารถเผชิญกับวัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียด และวัฒนธรรมแห่งความละโมบได้" พระไพศาลเล่า

ด้าน ภิกษุณีนิรามิสา นักบวชแห่งหมู่บ้านพลัม เล่าถึงความพยายามหนึ่งของท่านติช นัท ฮันห์ ในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ที่หมู่บ้านพลัมจะมีการจัดให้ชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์มาอยู่ภาวนาร่วมกันทุกปี ช่วงแรกให้ต่างฝ่ายต่างฝึก มีการฟังเทศน์จากท่าน แลกเปลี่ยนทรรศนะกับนักบวชแห่งหมู่บ้านพลัม จากนั้น 1 อาทิตย์จึงให้มีการสนทนากัน

ถึงวันสุดท้ายจึงให้ 2 ฝ่ายขึ้นเวที ซึ่งเมื่อต่างฝ่ายต่างรับรู้ว่าญาติพี่น้องของอีกฝ่ายประสบความทุกข์ยากจากความขัดแย้ง ความเมตตาและความสงสารในกันและกันก็เกิดขึ้น

"หลวงปู่และคณะสังฆะพยายามคุยกับทางสหรัฐอเมริกาขอให้เขาตั้งคณะกรรมการรับฟังอย่างลึกซึ้งในฝ่ายชาวมุสลิมและฝ่ายชาวอเมริกาทั่วไป ให้รู้ว่าคนมุสลิมในอเมริกามีความทุกข์มาก คนอเมริกาเองก็ทุกข์เช่นกัน

"ถ้าจัดให้คนเหล่านั้นมารวมกันแล้วรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เพื่อวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิ ก็จะเกิดปัญญาและทำให้เห็นทางออกว่าควรจะช่วยกันอย่างไร"

การมาเยือนเมืองไทยของท่านติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ-ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัมครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นให้คนไทย "หัน" มาสนใจพุทธศาสนามากขึ้น

Comment #1
น้ำ
Posted @June,21 2007 00.33 ip : 124...93

อ่านข้อความแล้วรู้สึกถึงความสงบมากขึ้นจริงๆค่ะ

Comment #2
จิระ
Posted @October,01 2008 21.13 ip : 58...129

สาธุๆๆ

แสดงความคิดเห็น

« 5482
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ