เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

เมื่อหญ้ารกบนสนาม “ช่อการะเกด” ถูกถางถอน

by Pookun @June,01 2007 17.51 ( IP : 124...50 ) | Tags : เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

เมื่อหญ้ารกบนสนาม “ช่อการะเกด” ถูกถางถอน

โดย ผู้จัดการรายวัน 31 พฤษภาคม 2550 21:41 น.

  ทุกช่วงต้นและปลายของรอบปี       งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 จะถูกจัดขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีผู้คนมากมายจากทั่วสารทิศแห่แหนหลั่งไหลมางานกันมากขึ้น และมากขึ้นทุกครั้ง
      หากนับดูจากยอดจำนวนประชาชนที่เดินทางมางานและยอดจำหน่ายหนังสือในแต่ละครั้ง ดูจะขัดผลการวิจัยที่ออกมาบ่งระบุว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 6 บรรทัดอย่างสิ้นเชิง
      แต่ทว่าหากจำแนกแจกจ่ายประเภทของหนังสือที่ผู้คนสนใจซื้อหาลงไปให้ลึกแล้ว จะพบว่าหนังสือจำพวกจุดประกายทางปัญญา หรือที่เรียกขานในแวดวงว่า “วรรณกรรม” นั้น กลับนอนแน่นิ่งหลบอยู่ตามหลืบชั้น ได้รับการหยิบพลิกจากผู้อ่านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น       ..........
      แม้จะยังมีคนคิด ถึงจะยังมีผู้เขียน หากแต่พื้นที่และการต้อนรับสนับสนุนของสังคมกลับมืดหม่น วรรณกรรมกลายเป็นส่วนเกินของสังคมมักง่าย ที่ต้องการเพียงความสะดวกสบายสนุกสนาน ในวินาทีที่ช่องทางต่างๆ กำลังตีบตัน พื้นที่หนึ่งซึ่งเคยเป็นเสมือนลู่แนวให้คนวรรณกรรมได้ยืนเหยียด ซึ่งเคยถูกปล่อยให้หญ้าหนาขึ้นร้างรก กำลังได้รับการแผ้วถางจากคนสามคนให้เตียนโล่ง เปิดรอต้อนรับนักวรรณกรรมทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ พื้นที่ดังกล่าวคือ นิตยสารวรรณกรรม ที่ชื่อ “ช่อการะเกด”
      หากกล่าวคำว่า “ช่อการะเกด” นิตยสารวรรณกรรมรายสามเดือนที่มีอดีตอันยาวนานนั้น หนึ่งในผู้ลงเสาหมุด ซึ่งคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นเสมือนสัญลักษณ์คู่เคียงไปกับช่อการะเกดนั้น คือ “สิงห์ สนามหลวง” หรือ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” กว่า 9 ปีที่เขาปล่อยให้รกหญ้าขึ้นสูงกลบสนาม ”ช่อการะเกด” บัดนี้ สุชาติกลับมาพร้อมการคืนสถานะและพื้นที่ให้แก่แวดวงวรรณกรรมอีกครั้งหนึ่งแล้ว
      สุชาติรำลึกกาลที่ผ่านเลยของช่อการะเกด ซึ่งเสมือนการต่อยอดจากโลกหนังสือรายเดือน ซึ่งเป็นหนังสือวรรณกรรมรายเดือนที่สุข สูงสว่าง หุ้นส่วนวรรณกรรมท่านแรกของเขาปูเปิดทางเอาไว้
      “ย้อนไปช่วงปี 2521 หนังสือวรรณกรรมช่อการะเกดถือกำเนิดขึ้น ระยะแรกเป็นรายสะดวก เพราะตอนนั้นผมเป็นกองบรรณาธิการโลกหนังสือรายเดือนซึ่งเป็นหนังสือวรรณกรรมรายเดือนของบริษัทดวงกมลของคุณสุข สูงสว่างอยู่ ไม่มีเวลา คำว่าช่อการะเกดมันก็เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับที่เราทำโลกหนังสือรายเดือน จะเห็นว่าในช่อการะเกดนี่ เราใช้คำว่าโลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น แต่ในนี้มีการประดับช่อการะเกดตั้งแต่เริ่มต้นช่วงปี 2521 คือหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2 ปี แล้วต่อมาผมไม่มีเวลา ต้องหยุดลงปี 2523 เพราะต้องเอาเวลาไปทำโลกหนังสือฉบับรายเดือนด้วย แต่ก็ต้องให้เครดิตคุณสุข ที่เขาเป็นเสมือนผู้ริเริ่มของหนังสือเรื่องสั้นช่อการะเกดด้วยนะครับ”
      “พอช่อการะเกดหยุดไปเมื่อปี 2523 ต่อมา โลกหนังสือรายเดือนก็ปิดตัวลง แล้วก็เว้นช่วงไปนาน จนกระทั่งผมมาเป็นที่ปรึกษาให้กับถนนหนังสือรายเดือน ของคุณเรืองเดช จันทรคีรี ตอนนั้นเขาเป็นบรรณาธิการถนนหนังสือ เราก็เลยชวนเขาทำช่อการะเกดขึ้นมาใหม่ โดยครั้งแรกคิดว่าจะให้สายส่งเป็นคนลงทุน คือให้เขาซื้อขาด แต่ก็ทำเช่นนั้นได้เพียงเล่มเดียวเขาก็ไม่เอา เลยมาลงขันกันกับคุณเรืองเดช ตั้งแต่ปี 2532 จากนั้นก็ทำเรื่อยมา ภายใต้ชื่อสำนักช่างวรรณกรรม ทำช่อการะเกดตั้งแต่ฉบับที่ 5 มาจนถึงฉบับที่ 41 กระทั่งมามีปัญหาขึ้น”
      “ช่อการะเกดที่ผ่านมามีทั้งหมด 41 เล่ม โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 3 เล่ม แล้วก็เว้นไป 9 ปี ช่วงที่ 2 ตอนที่เราทำสำนักช่างวรรณกรรม แล้วครั้งใหม่ปี พ.ศ. 2550 นี้ถือเป็นช่วงที่ 3 เว้นมาอีก 9 ปีเหมือนกัน คือตอนนั้นเลิกต้นปี 2542 เพราะฉะนั้นถ้านับมาจนถึงปีนี้มันก็ 9 ปีพอดี”       ..........
      ทางฝั่งฟากของบรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชนอย่าง “เวียง-วชิระ บัวสินธิ์” ซึ่งมักคุ้นกับช่อการะเกดตั้งแต่ก้าวแรกบนถนนวรรณกรรม ยอมรับว่านี่คือพื้นที่หนึ่งซึ่งมีบทบาทต่อการสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ในอดีต
      “ผมรู้จักช่อการะเกดตั้งแต่เล่มแรก คือตั้งแต่ยุคโลกหนังสือ คือผมอ่านโลกหนังสือมาก่อน เพราะฉะนั้นช่วงที่พี่สุชาติทำช่อการะเกด 4 เล่มแรก ตั้งแต่ “วันเวลาที่ผ่านเลย” เป็นต้นมาก็รู้จักแล้ว กระทั่งว่าต่อมา พอตอนที่มาออกเล่มที่ 5 ก็คือ “เดินข้ามคืน” ตอนนั้นผมเป็นส่วนหนึ่งของถนนหนังสือแล้ว แล้วพี่เดช (เรืองเดช จันทรคีรี) ก็เป็นคนทำร่วมกับพี่สุชาติ เราก็ได้เห็นหน้าตาเพราะก็ทำงานอยู่ด้วยกันที่สำนักงานที่เฟื่องนคร ช่วงนั้นผมอยู่ที่ถนนหนังสือแล้ว”
      “โดยส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนในแวดวงก็มองว่าหน้าที่สำคัญของช่อการะเกด ก็คือได้สร้างนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ให้กับวงการวรรณกรรมไทย แน่นอนล่ะครับว่า จะไปถือว่าทั้งหมดนี้เนื่องมาจากช่อการะเกดเสียทีเดียวมันก็คงไม่ใช่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวนักเขียนด้วย คือนักเขียนจะต้องไปพัฒนาต่อ หมายถึงเพื่อจะปรากฏตัวตนขึ้นมาในวงการวรรณกรรมอะไรทำนองนั้นนะครับ เพราะฉะนั้นพอสังเกตแล้ว เราจะพบว่ามีนักเขียนหลายคนที่เรารู้จักในวันนี้ หมายถึงที่มีตัวตน มีชื่อเสียงขึ้นมา ก็ล้วนแต่ผ่านเวทีช่อการะเกดมาเกือบทั้งนั้น”
      ส่วน”สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ”เจ้าของบริษัททีวีบูรพา เผยว่า เขาพบเจอช่อการะเกดขณะกำลังเดินบนถนนที่เต็มไปด้วยทางแยกมากมาย ช่วงที่จังหวะชีวิตกำลังสะดุดติด เขาก็ได้รู้จักกับสิงห์ สนามหลวง ทั้งผ่านทางตัวหนังสือ กระทั่งถึงได้มาทำงานในคณะละครสองแปดที่สุชาติเป็นหนึ่งในหัวจักรสำคัญ และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาได้ส่งเรื่องสั้นไปจนได้รับการประดับช่อโดยที่บรรณาธิการเครางามก็หาได้ทราบว่าเขาคือ สุทธิพงษ์ผู้ที่ส่งเรื่องสั้น "เนื้อสองชิ้น” เข้าไป
      “ผมรู้จักช่อการะเกดในสมัยที่ยังอยู่ในช่วงของการค้นหาตัวเองนะครับ ตอนนั้นต้องบอกว่าโลกแคบมาก หมายความว่าไม่รู้ว่าจะเดินไปประตูไหน แต่ก็พอจะรู้ว่าตัวเองมีความสนใจในเรื่องการทำหนังสืออยู่ แต่มันเขียนอย่างไรถึงจะเข้าท่า อย่างไรเรียกว่าเขียนดี ไม่ดี วิธีคิดมันเป็นอย่างไร อะไรพวกนี้เราไม่รู้เลย แต่ก็อาศัยความคุ้นเคยจากหนังสือที่อ่าน ซึ่งในจำนวนหนังสือที่อ่านอยู่ทั้งหมดนี้ จะพูดถึงคนคนหนึ่ง นั่นคือพี่สุชาติ ว่าเขาเป็นเหมือนพหูสูตในเรื่องของแวดวงหนังสืออะไรทำนองนั้นนะครับ ก็ได้ติดตามอ่านคอลัมน์สิงห์ สนามหลวง แล้วก็อ่านโลกหนังสือที่แกเป็นบรรณาธิการ จนกระทั่งถึงบานไม่รู้โรยนะครับ แล้วทีนี้ก่อนหน้านั้น ว่างๆ ผมไม่รู้จะทำอะไร ผมก็แอบเขียนเรื่องสั้นไว้สอง สามเรื่อง”
      “เพราะว่าผมเคยเขียนแล้วพยายามส่งไป แต่มันไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เลย ขณะเดียวกันก็คือว่า คนที่จะมาแนะนำไม่มี เพราะว่ามันอยู่ห่างจากแวดวงมาก มันไม่มีตัวองค์ความรู้อยู่เลย มันมีแต่ความอยาก ทีนี้ก็คือเหมือนกับมีรางวัลช่อการะเกดกลับมาใหม่ เรื่อง เนื้อสองชิ้นที่ผมเขียนแล้วได้รางวัลนี่ เป็นการกลับมายุคที่สอง แล้วตอนนั้นบังเอิญเป็นช่วงเดียวกันกับที่ผมได้ขึ้นไปอยู่กรุงเทพฯที่เรียกได้ว่าเกือบจะถาวร เพราะได้ไปทำละครอยู่กับคณะละครสองแปด โดยที่บังเอิญมากเลยก็คือว่า ผู้ใหญ่คนหนึ่งในคณะละครสองแปดนี่ ก็คือพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เหมือนโลกกลมนะครับ”       ..........
      ตอบแทนบุญคุณ
      ด้วยวัยวุฒิที่เติบโตมาพร้อมช่อการะเกด อดีตเด็กหนุ่มทั้งสองกลับมามีบทบาทในฐานะของผู้กอบกู้พื้นที่วรรณกรรม ร่วมกันกับผู้บุกเบิกพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งต้นธารของเรื่องนี้ สุทธิพงษ์ บอกว่าเกิดจากความรู้สึกอาวรณ์ที่ช่อการะเกดจำต้องปิดตัวลงไปในสมัยนั้น และมีการพูดคุยกันเรื่อยมา ว่าอยากจะให้พื้นที่ของวรรณกรรมแห่งนั้นกลับคืนอีกครั้ง
      “ต้องย้อนไปในช่วงที่ช่างวรรณกรรมมีปัญหา แล้วพี่สุชาติแถลงถึงขั้นจะอำลาวงการตอนนั้น ผมกับเวียงเป็นคนที่ร่วมรับรู้สถานการณ์มาโดยตลอด ผมเองก็เคยคุยกับเวียง ก็มีความรู้สึกเสียดายมาก ที่ภาวะความไม่เข้าใจมันเกิดขึ้น แล้วมันทำให้มีปัญหาที่ทำให้พี่สุชาติต้องยุติช่อการะเกดและสำนักช่างวรรณกรรม ซึ่งความจริงผมคุยกับเวียงทีเล่นทีจริงตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เพียงแต่ว่าตัวศักยภาพมันไม่สามารถที่จะทำได้”
      “ตอนนั้นคุยกันเล่นๆ นะครับว่า เอาไหม ทำอย่างไรเพื่อที่จะให้มันกลับมาทำใหม่ แล้วหลังจากนั้นมันก็เว้นไปประมาณสามสี่ปี แล้วช่วงที่พี่สุชาติเขาเริ่มเขียนรูป เขาก็คงอยากจะโชว์รูป เขาก็ชวนผมกับเวียงไปดูคลังรูปเขาที่บ้าน ตอนนั้นก็ได้คุยกันเรื่องนี้ แต่ตอนนั้นแกยังไม่อยาก แล้วผมก็คุยต่อเนื่องมาอีกสองสามครั้ง ซึ่งก็เว้นระยะต่างๆ กัน แต่กับเวียงที่ผมได้คุยอย่างจริงจังว่าเอาเถอะ ก็ตอนสองปีหลังมานี้ ผมเองก็เป็นคนให้ความมั่นใจกับเวียงว่า เราดูแลได้ ส่วนเวียงก็เป็นเหมือนตัวกลางที่ไปเจรจากับพี่สุชาติ”
      “ด้วยความรู้สึก ว่ารางวัลนี้มันมีความหมายสำหรับคนเขียนเรื่องสั้นจริงๆ พอมันไม่มี ถึงแม้รางวัลอื่นๆ จะมีอยู่เยอะนะครับ แต่ไอ้ความรู้สึกขรึมขลัง หรือความรู้สึกอะไรสักอย่างหนึ่ง มันไม่เหมือนช่อการะเกด เพราะฉะนั้นก็มีความรู้สึกว่า ถ้านำกลับมาแล้วมันน่าจะส่งผลอะไรบางอย่างนะครับ ต่อคนที่อยากจะเขียนหนังสือใหม่ๆ หรือต่อคนที่เขียนหนังสือเก่าๆ ที่อยากจะลองพิสูจน์ตัวเองต่อรสนิยมของพี่สุชาติดู ก็น่าจะครึกครื้นดี”
      เช่นเดียวกับ เวียง วชิระ ที่ยอมรับว่าถึงจะเข้าใจแต่ไม่เห็นด้วยกับการปิดตัวของช่อการะเกดในยุคนั้น ซึ่งเขาเองก็ไถ่ถามถึงการกลับมาของนิตยสารวรรณกรรมรายสามเดือนเล่มนี้อยู่เนืองๆ
      “จริงๆ แล้ว ตอนที่หยุดนั้น โดยส่วนตัวผมเอง ผมก็คิดว่า ไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลที่ดีอะไรที่จะต้องหยุด แต่ก็เข้าใจว่าส่วนหนึ่งมันเป็นปัญหาระหว่างความพยายามที่จะทำมูลนิธิ หรือช่างวรรณกรรมอะไรต่อมิอะไรกัน ซึ่งผมดูแล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องของพี่เดช พี่สุชาติ แล้วก็พรรคพวกมิตรสหายในกลุ่มนั้น ซึ่งตอนนั้นผมอยู่นอกวง แต่โดยส่วนตัวก็มองว่า มันไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับวงการวรรณกรรมที่ถึงขั้นจะต้องเลิกหรือยุติไป แต่ก็เข้าใจ ว่ามันคงมีเหตุผลส่วนตัวหรืออะไรต่อมิอะไร นั่นก็ส่วนหนึ่งที่ผมเองไม่เห็นด้วยว่าทำไมถึงต้องเลิก ถึงแม้ว่าจะเข้าใจและยอมรับได้นะครับ แล้วผมเองก็เทียวไล้เทียวขื่อกันอยู่นานนะครับ กับเช็คนี่ก็คุยกันว่า มันน่าจะนำกลับมาทำใหม่ เดิมทีมันมาจากความคิดที่ว่า ถ้าเรามีเรี่ยวแรงกัน ในฐานะที่เราเองกับพี่สุชาติก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล และเนื่องจากผมเป็นคนไม่เคยมีข้อสงสัยในความเป็นพี่สุชาติ อันนี้สำคัญสำหรับผม จริงๆ ผมกับเช็คคุยกันมาตั้งนานแล้ว”
      จากประกายแว่วของสะเก็ดไฟความอาลัยช่อการะเกด ถูกเติมต่อหัวเชื้อให้โหมกระพือด้วยงานเรื่องสั้นจำนวนมาก ที่ส่งเข้ามาเมื่อครั้งที่เขาทั้งสองร่วมกันทำนิตยสาร ชื่อ ฅ คน ด้วยกัน
      “กระทั่งต่อมาเราได้มาทำ ฅ คนกัน ผมได้มาสังเกตว่า เรื่องสั้นที่ส่งมา ฅ คน ต่อเดือนมันเยอะ แล้วพบว่าส่วนใหญ่ที่ส่งมาก็ล้วนแต่เคยปรากฏชื่ออยู่ในช่อการะเกด เคยผ่านเวทีช่อการะเกดมาแล้ว ซึ่งก็แปลกใจว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มีนักเขียนหน้าใหม่นะครับ ที่ส่งมาที่ ฅ คนก็มีทั้งนักเขียนหน้าใหม่และนักเขียนรุ่นที่เคยผ่านเวทีช่อการะเกด ขณะเดียวกันเราก็พบว่าทำไมนักเขียนที่เราคุ้นชื่อคุ้นนามปากกาเหล่านี้ ทำไมถึงไม่ไปปรากฏในนิตยสารเล่มอื่น หรือเวทีอื่น เราก็พยายามถามไถ่บรรดาผู้ที่เคยส่งต้นฉบับมา ว่าทำไมถึงเลือกส่งมาที่ ฅ คน ส่วนหนึ่งก็ได้รับคำตอบว่าที่เขาเลือกส่งมาที่ ฅ คนเพราะเขารู้สึกว่ามันมีบรรยากาศ มีสภาพอะไรบางอย่างเชื่อมโยงกับช่อการะเกด อาจจะเป็นเพราะว่าหนึ่งคือเพราะเช็คกับผมด้วย ในฐานะที่เช็คเองก็เคยได้รับการประดับช่อ จากช่อการะเกดรวมไปถึงเคยทำคณะละครสองแปดอยู่กับพี่สุชาติมาก่อน ผมก็เข้าใจว่าอารมณ์แบบนี้ หรือวิญญาณประมาณแบบนี้ ที่ทำให้คนที่เคยผ่านเวทีช่อการะเกดมาแล้ว เขาส่งต้นฉบับมาที่ ฅ คน”
      “พอมันเยอะขึ้น ผมก็หารือกับเช็ค เนื่องจาก ฅ คนเรารองรับได้เพียงเดือนละเรื่อง เท่ากับว่าปีหนึ่งเรามีพื้นที่ 12 เรื่องเท่านั้น ซึ่งเช็คก็บอกว่า ถ้าเรื่องมันมีคุณภาพจริง ก็ทำ ฅ คน ฉบับเรื่องสั้นออกมาต่างหากดีไหม ก็เริ่มมาจากตรงนั้น พอคิดไปคิดมาก็คิดว่าจะทำอย่างไร เช็คก็บอกว่า ก็น่าจะทำให้มันถี่ ไม่ใช่แค่ปีละเล่ม พอคุยกันไปคุยกันมาเช็คก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่ไปยืมชื่อช่อการะเกด หมายถึงเป็น ฅ คนฉบับช่อการะเกดอะไรอย่างนี้ แต่พอปรึกษาต่อมาเราพบว่ามันไม่น่าจะดี เพราะสถานะของช่อการะเกดโดยตัวมันเอง อย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้มันก็พ่วงกับความเป็นสุชาติ สวัสดิ์ศรีอยู่แล้วด้วย”
      “ตอนที่พอเกริ่นเรื่องนี้ออกมา ตัวพี่สุชาติด้านหนึ่งก็เหมือนว่ายินดี จะเอาช่อการะเกดไปใช้งานเกี่ยวกับเรื่องวรรณกรรม เกี่ยวกับเรื่องสั้น แกก็มองออกว่า ทางผมและเช็คไม่ได้คิดที่จะเอาไปทำมาหากิน แต่พอคุยกันไปคุยกันมา เราก็คิดว่า ก็ให้พี่สุชาติกลับมาเลยดีกว่า เหมือนกับว่ามันก็กลับไปสู่จริตดั้งเดิม ก็คุยกันลักษณะนี้มาเรื่อยๆ ซึ่งพี่สุชาติก็รับหลักการในที่สุด ว่าจะกลับมาโดยที่ทางเรามีเงื่อนไขพูดง่ายๆ ว่าเป็นการให้หลักประกันว่า การกลับมาในครั้งนี้ พวกเราไม่คิดจะกลับมาชั่ววูบชั่ววาบหรือล้อเล่น อย่างน้อยที่สุดพี่สบายใจได้เลยว่า ไม่ว่ามันจะขายได้หรือไม่ได้ พวกผมจะพิมพ์ออกมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ถ้ามันไปได้มันไปได้ มีผู้อ่านต้อนรับสนับสนุน ก็ว่ากันไปเรื่อยๆ อะไรแบบนั้น”       ..........
      อนาคต + หนทางแห่งการอยู่รอด
      สำหรับพื้นที่ของตลาดวรรณกรรมนั้น สุชาติ ยอมรับอย่างทดท้อว่า มันแคบเล็กและมืดหมองมาเนิ่นนานแล้ว และดูเหมือนว่ายุคสมัยยิ่งล่วงผ่านมากเท่าไร ผู้คนยิ่งห่างไกลจากวรรณกรรมมากขึ้นทุกที
      “ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ช่อการะเกดเป็นนิตยสารวรรณกรรมที่ระบุไว้เลยว่า ให้พื้นที่สำหรับงานเขียนเรื่องสั้น เพราฉะนั้นมันอยู่ลำบากในตลาดหนังสือบ้านเรา เพราะนิตยสารวรรณกรรมมีผู้สนใจ ผู้อ่านอยู่ในวงจำกัด การทำนิตยสารประเภทวรรณกรรมจะพบว่าไม่ค่อยมีคู่แข่ง ที่ผ่านมาผมทำนิตยสารวรรณกรรมอย่าง โลกหนังสือ ก็อยู่ได้ 6 ปี พอมาทำช่อการะเกดก็อยู่ได้ระยะหนึ่ง น่าแปลกใจว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้นนะ คือตลาดหนังสือวรรณกรรมบ้านเรา เป็นตลาดหนังสือที่น่าจะมีความหวัง เพราะว่าเรามีนักศึกษาที่จบระดับอุดมศึกษา ที่เรียนมาทางด้านศึกษาศาสตร์,ศิลปศาสตร์,อักษรศาสตร์,มนุษยศาสตร์ทั้งหลายนี้ ปีหนึ่งหลายหมื่นคน ก็น่าแปลกใจว่า เขาไม่ค่อยมีรสนิยมที่จะเสพวรรณกรรมกันเท่าไร ช่อการะเกดนี่พิมพ์ประมาณ 1,500 ถึง 2,000 เล่ม ก็จะมีปัญหาในการจำหน่ายเสมอ”
      “มันน่าแปลกเพราะสมัย 70-80 ปีก่อนนี่ คนที่ทำหนังสือวรรณกรรมรุ่นก่อน เช่น ยุคศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ทำสุภาพบุรุษรายปักษ์ ตอนนั้นคนไทยมีแค่ 11 ล้านคน มหาวิทยาลัยมีแห่งเดียว เพิ่งเริ่มต้นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน คือ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ยังไม่เกิด เพราะว่าสุภาพบุรุษรายปักษ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดขึ้นปี 2472 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 ปี ก็เป็นหนังสือรายปักษ์ที่เป็นนิตยสารวรรณกรรม ที่มีเรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร ความเรียง พิมพ์ครั้งแรกในขณะนั้น 2300 เล่ม ประชากรไทยตอนนั้นมีประมาณ 11 ล้านคน ปัจจุบันนี้ประชากรไทยมีมากกว่า 60 ล้านคน มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย จบกันปีละเกือบแสน ถ้าหากเอาเฉพาะในสายมนุษย์ศาสตร์ก็หลายหมื่นคนต่อปี แต่ว่าหนังสือประเภทเชิงสร้างสรรค์ เชิงคุณภาพกลับมีปัญหาในแง่ตลาดหนังสือ”
      จุดมุ่งหวังของคนทำช่อการะเกด นั่นคือต้องการกรุยถางพื้นที่สำหรับผู้มีใจรัก เพื่อเลี้ยงหล่อหัวเชื้อทางวรรณกรรมให้คงอยู่ ซึ่งก็คือเจตจำนงในการกลับมา เพียงเพราะต้องการสร้าง “บรรยากาศ” ทางวรรณกรรมในปัจจุบันนั่นเอง
      “หนังสือวรรณกรรมบ้านเราเริ่มต้นนับหนึ่งตลอดเวลา และมีตัวตายตัวแทนตลอดเวลาด้วย มีนักเขียนประเภทนี้เกิดอยู่เสมอ แต่พอมันขาดช่วงไป มันก็แตกฉานซ่านเซ็นกันไป คนที่มีความอดทนมากหน่อย มีพื้นที่มากหน่อย ยิ่งถ้าหากเขาได้รางวัลอะไรด้วย เขาก็จะยืนพื้นได้”
      “แต่ช่อการะเกดไม่มองตรงนี้ เรามองตรงที่จะสร้างบรรยากาศ เราจะสร้างคนที่สนใจอ่าน สิ่งที่เรียกว่าวรรณกรรม ผมว่าการบริโภคหนังสือในตลาดหนังสือในยุคที่ผ่านมาประมาณ 10 กว่าปีนี้ หลายสิ่งหลายอย่างมันเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่คนจะไปสนใจหนังสือที่มันไม่ใช่คนเขียนหนังสือที่เกิดใหม่ คนเขียนหนังสือทุกวันนี้จะพบว่าเขาเป็นคนที่มีพื้นที่อยู่แล้ว เช่น เป็นคนดัง เป็นพิธีกร เป็นดาราอะไรอย่างนี้นะ คือผมไม่ปฏิเสธว่าเขาก็สามารถที่จะทำงานเขียนได้ แต่ผมคิดว่าเขาเข้ามาเพียงเพื่อที่จะฉวยโอกาสบางอย่างเท่านั้น น้ำขึ้นรีบตักอะไรทำนองนี้ แล้วจะไปโทษเขาก็ไม่ได้เพราะสำนักพิมพ์เอง ก็อาศัยผลประโยชน์จากการเอาชื่อเสียงของเขามาหากิน บางแห่งถึงขนาดมีปรากฏการณ์เขียนแทนให้ที่เรียกว่า นักเขียนผี (Ghost Writer)”
      ถึงแม้ว่าวันเวลาจะล่วงเลย แต่สุชาติยังคงยืนยันมั่นใจว่า อำนาจทางวรรณกรรมมีอยู่จริงแม้เพียงริบหรี่ก็ตามที กระนั้นเขายังต้องการอ่านผลงานที่เต็มไปด้วยวาทะทางวรรณศิลป์ของคนรุ่นใหม่ต่อไป
      “ในใจลึกๆ ที่ผมกลับมาทำอีกครั้งหนึ่ง เพราะ ผมก็ยังเชื่อมั่นเรื่องอำนาจวรรณกรรมอยู่ ถึงจะเพียงน้อยนิด แต่ว่ามันก็ยังคงมีอยู่ แล้วก็เชื่อว่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ก็สามารถที่จะต่อติด เขาก็คงมีวิธีการ อันนี้ก็คงจะต้องพิสูจน์กันว่า งานเขียนของคนใหม่ๆ ที่จะส่งมาให้ผมนั้นเป็นอย่างไร เท่าที่อ่านดูตามที่ต่างๆ ทั่วไป ก็รู้ว่ามีความปราดเปรื่องที่นำเสนอในงานเขียนของคนรุ่นใหม่ ผมก็อยากจะคัดตรงนี้ อยากเห็นตรงนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็คิดว่า บรรดานักเขียนรุ่นก่อนหน้านี้ ที่เคยเขียนลงช่อการะเกดก็อาจจะมีไฟหวนกลับมาอีก ซึ่งเท่าที่รู้หลายคนก็ยังทำงานต่อเนื่อง”
      “ถ้าหากใครสนใจส่งเรื่องมาได้ที่ ตู้ ปณ. 1143 ปท. ดอนเมือง กรุงเทพฯ 10211 วงเล็บมุมซองว่า เรื่องสั้นช่อการะเกด แล้วผมไม่รับเรื่องเป็นส่วนตัว ไม่รับเรื่องตามงานชุมนุมสังสรรค์ หรือที่รู้จักกันเป็นส่วนตัว เพราะฉะนั้นใครก็ตาม ไม่ว่าผมจะรู้จักหรือไม่รู้จัก ถ้าอยากจะส่งเรื่องสั้นช่อการะเกด มีสิทธิเท่าเทียมกันหมด คือต้องส่งลงตู้ไปรษณีย์ เล่มแรกจะหมดเขต 15 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันปิดต้นฉบับวันสุดท้าย...”
      ******************       เรื่อง : เวสารัช โทณผลิน

แสดงความคิดเห็น

« 6723
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ