เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม
"สมภารระดับ 8" ควง "มหาชเล" คว้านายอินทร์อะวอร์ด
จัดต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 8 แล้ว สำหรับรางวัลเพื่อคนรักการอ่าน และรักงานเขียนเป็นชีวิตจิตใจ กับรางวัล "นายอินทร์อะวอร์ด" ซึ่งจัดโดยร้านหนังสือในเครือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์หรูที่ว่า "มากกว่ารางวัล คือโอกาส" ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็คือ ต้องการเป็นเวทีให้นักเขียนหน้าใหม่ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ผ่านผลงานเขียนของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ก้าวเข้ามาสู่วงการวรรณกรรมอย่างสง่างาม
ด้วยวัตถุประสงค์อย่างแน่วแน่เช่นนี้ จึงทำให้ปีนี้มีนักเขียนจากทั่วทุกสารทิศ สนใจส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมากถึง 629 เรื่อง เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความหนักใจแก่คณะกรรมการ จึงได้แบ่งงานเขียนออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ สารคดี หนังสือภาพสำหรับเด็ก วรรณกรรมเยาวชน นวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์
ในที่สุดก็มีเพียง 2 ผลงานเขียนที่โดนใจคณะกรรมการ คว้ารางวัลยอดเยี่ยมไปครองในปีนี้ ได้แก่ผลงานเรื่องสั้น เรื่อง "สมภารระดับ 8" จากเจ้าของนามปากกา "ทัศนาวดี" หรือ สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร และประเภทกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยม เรื่อง มหาชเล ของ วรภ วรภา หนึ่งในเจ้าของนามปากกาของ "ฉลอง โหลสกุล" ขณะที่ประเภทอื่นๆ คณะกรรมการลงความเห็นว่ายังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานที่ได้กำหนดไว้
สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร อาจารย์หนุ่มสาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร พกพาความเป็นครูด้านภาษาไทย และพรานอักษรตัวจริง มาเข้าประกวด เพราะฉะนั้นการถ่ายทอดอารมณ์และภาษาของเรื่อง จึงเต็มไปด้วยความละเมียดละไมโดยใช้ชั้นเชิงทางภาษาที่งดงาม เสียดสีสถาบันหลักในสังคมได้อย่างกลมกลืนและลื่นไหล จึงทำให้ผลงานเข้าตาคณะกรรมการอย่างจัง เบียดเอาชนะผลงานเรื่องสั้นทั้ง 395 เรื่องไปได้
สุทัศน์ เล่าถึงแนวคิดของเรื่องสั้นเรื่องนี้ว่า ต้องการจะสะท้อนให้เห็นสภาพของปัญหาในสังคมที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันนี้ อันเนื่องมาจากสถาบันหลัก อย่างครอบครัว โรงเรียน และ ศาสนา ที่ได้ตกเป็นทาสของกระแสบริโภคนิยมอย่างบ้าคลั่งจนหลงลืมการทำหน้าที่แท้จริงของตัวเอง ในที่สุดก็สะสมกลายมาเป็นปัญหาสังคมที่ยากต่อการแก้ไข
"ผมคิดว่า สังคมเราทุกวันนี้ยังมีความอ่อนแอ เพราะคนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวเอง อันเนื่องมาจากคนยังขาดความรับผิดชอบต่อสังคม"
สุทัศน์ยกตัวอย่างถึงสถาบันหลักที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เช่น พ่อควรทำหน้าที่สั่งสอนลูกก็ไม่ทำกลับส่งให้ลูกไปอยู่ในอีกที่ ส่วนอาจารย์มีหน้าที่ให้ความรู้เด็กนักเรียน แต่ปฏิบัติตนไม่เป็นแบบอย่างให้กับเด็กนักเรียน รวมถึงสถาบันศาสนามีหน้าที่จรรโลงจิตใจให้แก่คนในสังคม แต่กลับประพฤติตนไม่ให้เป็นที่เคารพ
สำหรับผลงานกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมเป็นของหนุ่มลูกน้ำเค็มเมืองสตูล ฉลอง โหลสกุล ที่ได้นำประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่เกิดและจำความได้ก็อยู่กับทะเล มาถักทอเป็นภาษากวีได้อย่างละเมียดบรรจง ประกอบกับการนำเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของคลื่นในทะเล มาเปรียบเทียบให้เห็นถึงชีวิตของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง
ฉลอง เล่าว่า ตั้งแต่เกิดและจำความได้ชีวิตก็เห็นท้องทะเลมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นชาวประมง แต่บ้านก็อยู่ติดริมทะเล จึงได้สัมผัสเวิ้งน้ำอันกว้างใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัฏสงสาร ซึ่งไม่ได้ต่างกับชีวิตของมนุษย์ที่ต้องแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตราบใดที่ลมหายใจยังไม่หยุดนิ่ง
"ผมคิดว่าเรื่องราวเกี่ยวกับทะเล สามารถจะบอกอะไรกับชีวิตมนุษย์ได้บ้าง เช่นบางครั้งคลื่นในทะเลก็สงบ แต่บางครั้งก็เกรี้ยวกราดอย่างน่ากลัว ซึ่งมันไม่ต่างอะไรไปจากชีวิตของมนุษย์ที่ยังคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามคลื่นของอารมณ์" ฉลองแสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ เจ้าของนามปากกา วรภ วรภา ยังได้ให้ข้อคิดว่า ความกว้างใหญ่ในท้องทะเลก็เปรียบเหมือนดังชีวิตมนุษย์ทุกคน ที่จะต้องเวียนว่ายอยู่ในห้วงแห่งวัฏสงสารนั้น ด้วยความรู้สึกต่างๆ นานัปการที่ถาโถมเข้ามาใส่อย่างหลีกพ้นไม่ได้
นี่เป็นอีกหยดน้ำหมึก ที่หวังฝากผลงานเพื่อให้ได้รับการจารึกไว้ในวงการวรรณกรรม เพราะอย่างน้อยสิ่งที่พวกเขาได้รับในวันนี้ที่มากกว่ารางวัลก็คือ โอกาสในการสร้างสรรค์งานเขียนให้คงอยู่ต่อไป
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 20 มิถุนายน 2550 13:22 น.