เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม
กวีศิลปินแห่งชาติ-นักแสดง ชี้ภาษา'แอ๊บแบ๊ว'เหตุการศึกษาไม่เน้นวรรณคดีไทย
กวีศิลปินแห่งชาติ-นักแสดง ชี้ภาษา'แอ๊บแบ๊ว'เหตุการศึกษาไม่เน้นวรรณคดีไทย
22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 17:01:00
"เนาวรัตน์" ชี้ภาษา"แอ๊บแบ๊ว" เหตุเด็กไทยไม่อ่านหนังสือ คิดคำศัพท์ใหม่สละสวยไม่ได้ "ครูมืด" ชี้โรงเรียนไม่เน้นสอนวรรณคดีไทยให้ซึมซับ "ครูลิลลี่"วอนผู้ใหญ่เข้าใจเด็กแค่ใช้สื่อในกลุ่ม
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงการใช้ภาษาไทยแบบ "แอ๊บแบ๊ว" ว่า การใช้ภาษาไทยแบบนี้ของวัยรุ่นนั้น เกิดจากวิวัฒนาการใช้ภาษาสื่อสารแบบภาษากลาย และการสื่อสารแบบโพสโมเดิร์น หรือวัฒนธรรมมือถือ ที่เข้ามามีอิทธิพลทางด้านภาษาและการสื่อสาร
เนื่องจากคนต้องการสื่อสารกันมากขึ้น แต่มีคำศัพท์ที่ใช้น้อยลง จึงทำให้คนต้องคิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้กันเอง ในขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชน ก็ไม่อ่านหนังสือ จึงทำให้เกิดจุดด้อย คือไม่สามารถคิดคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เป็นภาษาสละสวยได้ ส่งผลให้เกิดภาษาแสลง การใช้ภาษาแบบแอ๊บแบ๊ว การใช้สำเนียงฝรั่งเข้ามาสื่อสารมากขึ้น จนกระทั่งภาษาไทย กลายเป็น ภาษากลาย
"การใช้ภาษาแบบแอ๊บแบ๊ว เป็นผลพวงมาจากระบบการศึกษาที่ล้มเหลว เมื่อเด็กและเยาวชนใช้กันมากขึ้นจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เพราะจะพูดกันไม่รู้เรื่อง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรไปแก้ที่ต้นเหตุก็ คือ การที่เด็กไม่อ่านหนังสือจะดีกว่า ถ้าแก้ปัญหาการไม่อ่านหนังสือได้ก็จะทำให้การใช้ภาษาไทยแบบผิดเพี้ยนไม่เกิดขึ้น ซึ่งผมมองว่า การใช้ภาษาไทยแบบแอ๊บแบ๊วไม่ใช่วิกฤติของภาษาและรู้สึกเฉยๆ แต่การไม่อ่านหนังสือเป็นเรื่องที่น่ากังวลกว่านายเนาวรัตน์ กล่าว
ด้าน นายประสาท ทองอร่าม หรือครูมืด ศิลปินอาวุโส นาฎศิลป์ กรมศิลปากร ผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ยกย่องเป็นผู้ใช้ภาษาดีเด่น ของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนไม่ได้เน้นการสอนเกี่ยวกับวรรณคดีไทย แตกต่างจากอดีตที่นักเรียนจะได้เรียนบทกลอนในวรรณคดี ซึ่งภาษาในวรรณคดีของไทยมีความไพเราะ สละสลวย การเรียนรู้จะทำให้เด็กได้ซึมซับโคลงกลอนเข้าใจความหมายลึกซึ้งว่า ภาษาไทยมีความสละสลวย พร้อมมีทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียนเป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันเด็กไทยขาดช่วงการใช้ภาษาไทย ส่งผลให้มีการออกเสียงที่ผิดๆ นำไปสู่การนำภาษาไทยไปใช้ไม่ถูกต้อง
นายรอง เค้ามูลคดี นักแสดงอาวุโส ผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติและยกย่องเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กล่าวว่า ขณะนี้สังคมอยู่ในสภาวะที่ภาษาและศิลปวัฒนธรรมไทยอยู่ในขั้นวิกฤตมาก โดยต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการพูดของนักแสดง พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ และนักร้องในวงการบันเทิง ที่พูดไม่ชัดแล้วส่งผลต่อเด็กที่รับชมนำไปเลียนแบบ โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ คงโทษนักแสดง นักร้องรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ เพราะบางคนเป็นลูกครึ่ง เมื่อได้รับบทบาทการแสดงก็จะพูดผิดๆ ออกไป ส่วนผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ช่วยสอนและแก้ไข
"คำว่า แอ๊บแบ๊ว นั้น เวลานี้ตัวผมเองไม่สนใจจะติดตาม เรียนรู้ความหมายของคำศัพท์แปลกๆ พวกนี้ เพราะขณะนี้มีการบัญญัติศัพท์ใหม่ที่มาใช้มากเกินไปจนสังคมตามไม่ทัน ทำให้การพูดหรือใช้สื่อสารผิดความหมายออกไปทันทีอย่างคำว่า แอ๊บแบ๊ว หรือ คำว่า กิ๊ก เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะที่เป็นนักแสดงอาวุโส และกระทรวงวัฒนธรรมยกย่องให้เป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จึงอยากเชิญชวนผู้ผลิตสื่อในวงการบันเทิงให้ช่วยระมัดระวังในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อย่าให้ผิดเพี้ยนมากเกินไป ที่สำคัญสื่อสิ่งพิมพ์ต้องระวังเรื่องการออกแบบคิดคำศัพท์ใหม่ หรือคำแสลง เช่น คำว่า กิ๊ก เป็นต้น" นายรอง เค้ามูลคดี กล่าว
นายกิจมาโนจญ์ โรจนทรัพย์ หรือครูลิลลี่ ติวเตอร์วิชาภาษาไทยชื่อดังขวัญใจวัยรุ่น กล่าวว่า การที่เด็กและเยาวชนใช้ภาษาไทยแบบแอ๊บแบ๊วนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะบางครั้งเด็กจะใช้สื่อสารระหว่างเพื่อนระหว่างกลุ่มเท่านั้น เพื่อเป็นการสร้างรอยยิ้ม สร้างสีสันให้แก่กลุ่ม แต่บางคนอาจจะติดมาใช้กับผู้ใหญ่บ้าง ผู้ใหญ่ ก็ควรที่จะมีการแนะนำให้เด็กรู้วิธีการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องว่า ควรพูดอย่างไร เพราะภาษาไทยมีการพูดและการใช้หลายระดับ เช่น พูดกับผู้ใหญ่ พูดกับเพื่อนด้วยกันเอง พูดกับพระสงฆ์ จึงไม่อยากให้ไปกล่าวหาเด็กว่า ทำให้ภาษาไทยวิบัติ เนื่องจากการใช้ภาษาไทย แบบแอ๊บแบ๊วเป็นวิวัฒนาการของภาษารูปแบบหนึ่งและไม่มีใครไปบังคับไม่ให้เกิดขึ้นได้ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์
"ไม่ห่วงว่า ภาษาไทยจะวิบัติ เพราะภาษาเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยอยู่แล้ว แต่ห่วงการนำไปใช้ของเด็กและเยาวชนมากว่า ถ้าเด็กนำไปใช้แบบขาดสติ หรือแยกแยะไม่ออกว่า กาลเทศะนี้ควรใช้ภาษาไทยแบบไหน จะเกิดอันตรายต่อเด็กเป็นอย่างมาก เช่น นำไปใช้ในการเขียนข้อสอบ นำไปเขียนหนังสือที่เป็นทางการ อยากให้รัฐบาล หน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน พ่อแม่ ครู ช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่เด็ก อย่ามาโทษเด็กว่า ทำให้ภาษาวิบัติ ชี้ว่า สิ่งที่เขาทำผิด ซึ่งเป็นคำที่รุนแรง เพราะเด็กเขาจะเข้าใจว่า อะไร อะไร ก็มาลงที่เด็กเสียทุกอย่าง จะเป็นการปิดโอกาสไม่ให้เด็กได้เรียนรู้" ครูลิลลี่ กล่าว