เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

เมื่อหนังสือเด็กในเมืองไทยเริ่มตั้งไข่

by Pookun @July,27 2007 13.26 ( IP : 58...238 ) | Tags : เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

เมื่อหนังสือเด็กในเมืองไทยเริ่มตั้งไข่
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 กรกฎาคม 2550 16:49 น.

  แม้จะรับรู้โดยเข้าใจทั่วกันว่า "หนังสือ" เป็นสื่อที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการแก่เด็กได้มากกว่าสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งเต็มไปด้วยความอันตรายล่อแหลมที่เคลือบแฝงอยู่ แต่ค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดของคนไทยตามการวิจัยของต่างประเทศดูจะเป็นเรื่องที่ตรงข้ามทีเดียว
        โดยเฉพาะกับเด็กเล็กในช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงสามขวบ ซึ่งถือเป็นวัยแห่งการเริ่มต้นปลูกฝังจินตนาการที่จะพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้มากที่สุด
        "คือความรู้เรื่องหนังสือเด็กในบ้านเรา พี่พูดได้เลยว่ามันไม่มี เพราะว่ามันเริ่มใหม่หมด มันไม่เหมือนเรื่องสั้น วรรณกรรม ที่ย้อนกลับไป 50 - 60 ปี มันยังมีคนสร้างสรรค์งานอยู่ แต่หนังสือภาพสำหรับเด็ก โดยเฉพาะที่เป็น Baby Book ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับเด็ก 0 - 3 ขวบจริงๆ มันน้อยมาก"
        "ระพีพรรณ พัฒนาเวช" อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือเด็กมาเป็นเวลานานกว่า 14 ปี บอกเล่าถึงบรรยากาศตลาดหนังสือเด็กของบ้านเรา
        "เราเพิ่งจะมาเริ่มทำกันไม่กี่ปี และเป็นในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ด้วยความเข้าใจว่า มันน่าจะใช่ ซึ่งจริงๆ มันใช่หรือเปล่าเราก็ไม่รู้"
        "หนังสือนั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาเด็กอยู่แล้ว หนังสือสำหรับเด็กเล็กมันก็เป็นการให้ประสบการณ์ เพราะเด็กเล็ก อายุหนึ่งขวบครึ่งถึงสองขวบนั้น เขาออกไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว โลกของเขาคือ บ้าน หรือสถานที่ที่พ่อแม่พาไป หนังสือสำหรับเด็กเล็กมันจึงถือเป็นการเปิดโลก"
        "เป็นการให้ประสบการณ์แก่เด็กผ่านรูปภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารกับเด็กได้อย่างเข้าใจมากที่สุด เป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กที่ใช้ได้ง่ายที่สุดอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการที่แม่จะร้องเพลงให้ลูกฟัง ซึ่งสำหรับพ่อแม่บางคน เขาไม่รู้ว่าจะร้องเพลงอะไร หรือรู้สึกว่าเสียงตัวเองไม่เพราะจึงไม่กล้าร้อง หนังสือจึงเป็นตัวช่วยได้ อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ชี้ชวนกันดูรูปภาพ เป็นการกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้อีกวิธีหนึ่งค่ะ"
        "ความแตกต่างมันอยู่ตรงที่หนังสือสำหรับเด็กเล็กส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่เป็นภาพเดี่ยวและภาพกึ่งเหมือนจริงมากๆ และส่วนใหญ่จะพื้นสะอาดๆ และถ้าพูดถึงอะไรก็พูดถึงเรื่องนั้นเรื่องเดียว เช่น เสื้อผ้า, สี, ลูกบอล หรือของกลมๆ อะไรอย่างนี้ มันก็จะเป็นภาพชัดๆ และภาพเสมือนจริง เด็กเล็กยังไม่สามารถเข้าใจภาพที่มันถูกลดทอนไปมากๆ ได้"
        "แต่พอโตขึ้นมาหน่อย สมองเด็กเขาจะเริ่มพัฒนาแยกแยะได้แล้ว อย่างกระต่าย แค่เราวาดหูยาวขึ้นมานิดๆ เด็กก็จะรู้แล้วว่าเป็นกระต่าย แต่ถ้า Baby Book นั้นกระต่ายจะต้องเหมือนกระต่ายมากๆ น่ะค่ะ นี่คือข้อแตกต่างทางด้านกายภาพนะคะ"
        อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก บอกว่า ปัญหาที่คนทำหนังสือเด็กในบ้านเราประสบอยู่ คือเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ ทั้งในส่วนของผู้ซื้อและตัวผู้ผลิตเอง
        "ปัญหาประการแรกเลยก็คือ เราทำกันตามความรู้สึก ซึ่งจริงๆ มันก็ดีนะคะ แต่ถ้ามันมีเรื่องวิชาการหรือความเป็นสากลมาช่วยย้ำเราอีกทีหนึ่ง เราจะมั่นใจมากขึ้น"
        "ปัญหาที่เห็นคือเราขาดองค์ความรู้ ประการที่สองคือ กลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่พ่อแม่ พี่รวมไปถึงภาครัฐ เอกชนที่รวมถึงโรงเรียนอนุบาลด้วย นั้นยังเข้าใจไม่มาก คนทำก็ขาดองค์ความรู้ คนซื้อก็ขาดความเข้าใจว่าหนังสือเด็ก มันส่งผลต่อเด็กอย่างไร พี่ไม่ได้หมายถึงว่าขาดถึงศูนย์เปอร์เซ็นต์นะคะ"
        "แต่มีคนที่เข้าใจน้อยมากน่ะค่ะ ถ้าเทียบกับเด็กที่ต้องไปนั่งดูทีวีหน้าจอ ประการสุดท้ายคือ เราไม่มีแกนไม่มีการรวมตัวกันระหว่างคนทำงานด้านนี้ ปัญหาทั้งสามข้อดังกล่าว พี่คิดว่ามันใหญ่พอแล้วที่เราจะรวมตัวกันเสียที"
        แม้ว่าพัฒนาการของหนังสือเด็กจะยังล่าช้า แต่เธอก็ยอมรับอย่างเข้าใจว่า เป็นช่วงการลองผิดลองถูก ตามประสาของผู้ที่เริ่มต้นใหม่ทั้งหลาย
        "ในบ้านเราเพิ่งเริ่ม มันก็ต้องลองผิดลองถูกไป ประเทศในเอเชียบางประเทศ อย่างญี่ปุ่น เขาลองผิดลองถูกมา 50 กว่าปีแล้ว ซึ่งเขาก็เริ่มเรียนรู้มาจากฝั่งยุโรป ในขณะที่ทางยุโรปเขาเริ่มมาเป็นร้อยปี เมืองไทยเพิ่งเริ่มมา 10 ปี เราจึงตามหลังญี่ปุ่นอยู่ 40 ปี เพราะฉะนั้นพี่คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ที่เราจะต้องสะสมองค์ความรู้ของเรา แล้วพี่คิดว่าสมมุติอีก 20 ปีข้างหน้าเราอาจจะเชี่ยวชาญแล้ว เราก็ไม่ต้องมานั่งพูดกันถึงเรื่องนี้แล้ว"
        "เราอาจจะก้าวไปไกลถึงขนาดที่ สำนักพิมพ์หนังสือเด็กของไทยสามารถเข้าไปยืนในงานโบรอนญ่า ชิวเดนท์ บุ๊คแฟร์ (งานซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือสำหรับเด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก)ที่อิตาลีได้ ไปเปิดบูธกันเป็นปกติ แต่ตอนนี้เรายังไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้ เป้าหมายของพี่คืออยากจะพัฒนาหนังสือเด็กไปสู่มาตราฐานสากล คำว่ามาตราฐานสากลในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนฝรั่ง แต่หมายถึงขายลิขสิทธ์ได้"
        สืบเนื่องจากปัญหาในการเจริญเติบโต "ระพีพรรณ" จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการติดต่อประสานงาน เพื่อจัดสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาหนังสือสำหรับเด็ก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ย. หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของ ส.ส.ส. อีกทอดหนึ่ง
        "เนื่องจากในงานเทศกาลหนังสือเด็กที่จะถึงนี้ พี่ได้ทุนมาจาก ส.ส.ย.(แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน) เพื่อจัดสัมนาเรื่อง "การพัฒนาหนังสือภาพสำหรับเด็ก" ในนามของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ในวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งคนไทยเราก็มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถด้านนี้"
        "พี่คิดว่าถ้าเราเอาความรู้จากประเทศที่เขามีประสบการณ์ด้านหนังสือเด็กที่หลากหลายและยาวนานมาปรับใช้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ก็เลยเชิญวิทยากรจากอังกฤษ คือ คุณ Sarah Pabiny บรรณาธิการอำนวยการของสำนักพิมพ์ Campbell Books(สำนักพิมพ์ชื่อดังจากประเทศอังกฤษ) และวิทยากรจากญี่ปุ่น คือ คุณ Hideharu Tanaka บรรณาธิการอาวุโสที่ทำเรื่องหนังสือสำหรับเด็กเล็กอยู่ที่สำนักพิมพ์ Fukuinkan(สำนักพิมพ์หนังสือเด็กเล็กชื่อดังของญี่ปุ่น)"
        "เนื่องจากพี่ทำหนังสือเด็กมา 14 ปีแล้ว ก็เห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ตลาดเติบโตขึ้น คนเข้าใจหนังสือเด็กเยอะขึ้น ทุกฝ่ายร่วมกันรณรงค์ เห็นว่าหนังสือเด็กสำคัญ แต่พอมามองที่หนังสือเด็กเล็กจริงๆ ที่เรียกว่า Baby Book นี้ มันยังน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับปริมาณเด็กที่เกิดใหม่ในแต่ละปี เนื่องจากว่าประการสำคัญคือ พอทำออกมาแล้ว คนทำก็ตั้งคำถามว่า มันใช่หรือไม่?"
        อดีตบรรณาธิการผู้ครำหวอดในวงการหนังสือเด็ก เปรียบความต่างระหว่างวงการหนังสือเด็กในประเทศไทย กับต่างประเทศว่า ความจริงจังของแวดวงนี้ที่บ้านเรายังอ่อนด้อยกว่าต่างประเทศหลายเท่าตัว..."สำนักพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กในบ้านเรายังไม่พอแน่นอน ตัวนักเขียนเองก็ยังไม่พอเพราะทุกคนต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง"
        "การทำหนังสือเด็กจึงไม่ใช่อาชีพหลัก คือเขามีความสามารถ มีความสนใจ แล้วก็มาทำ จากนั้นก็กลับไปทำอาชีพหลักอย่างอื่น เมื่อรู้สึกว่าภายในเรียกร้องก็กลับมาทำอีก เราจึงมีคนที่ยืนด้วยอาชีพนี้อย่างแท้จริงน้อยมาก นับคนได้เลยค่ะ"
        "แต่ในต่างประเทศเขาถือเป็นอาชีพหลักเลยค่ะ ไม่ต้องทำอย่างอื่น ปีหนึ่งทำหนังสือเล่มเดียวก็อยู่ได้แล้ว เพราะยอดพิมพ์เขาสูง ค่าลิขสิทธิ์ก็เยอะ ค่าตอบแทนสูง มันทำให้เขาอยู่ได้ แต่สำหรับบ้านเราถึงแม้ว่าค่าตอบแทนอาจจะเท่ากัน แต่ราคาหนังสือของเราไม่สูงเท่าเขา ในขณะเดียวกันยอดพิมพ์เราก็ต่ำ ฉะนั้นแม้จะจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์อย่างไร มันก็ไม่พอกินหรอกค่ะ"
        "การทำงานหนังสือเด็ก พี่มองว่ามันเป็นการทำงานศิลปะอย่างหนึ่ง เป็นศิลปะที่ต้องเข้าใจว่าเด็กต้องการอะไร เนื่องจากว่าเราโตแล้ว ถ้าเราทำงานศิลปะสื่อสารกับผู้ใหญ่ เราก็พอจะรู้ว่าผู้ใหญ่ต้องการอะไร แต่ถ้าให้เราย้อนกลับไปคิดว่า แล้วเด็กเขาต้องการอะไร มันก็ยากขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เพราะบางคนคิดไม่ออก บางคนอาจลืมไป"
        ต้นกล้าที่คนทำหนังสือเด็กหวังจะเห็น จากการเพาะหว่านงานสัมมนาดังกล่าวไป นั่นคือ การเติบโตอย่างสวยงามของวงการหนังสือสำหรับเด็กในเมืองไทย ทั้งกิ่งใบของชมรมนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ และก้านสาขาของตำราความรู้สำหรับผู้สนใจสืบค้นในอนาคต         "ในความคิดของพี่ เราน่าจะมีการรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพราะตอนนี้มันเหมือนต่างคนต่างทำ หมายความว่า ในส่วนของสำนักพิมพ์นั้น ก็ต่างคนต่างทำไป แต่สำหรับนักเขียน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้สังกัดสำนักพิมพ์ใดๆ เพราะฉะนั้นนักเขียนจึงสามารถไปรวมตัวกันเองได้"
        "พี่จึงอยากก่อตั้ง ชมรมนักเขียนและนักวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก ประโยชน์ของมันคือเวลาเราพูดอะไร มันจะเป็นเสียงเดียวกัน และอะไรที่มันเป็นกลุ่มก้อน มันมักจะได้รับการยอมรับ พูดง่ายๆ เราจะได้มีตัวมีตนน่ะค่ะ"
        "ความมุ่งหวังของการจัดสัมมนาครั้งนี้คือ หนึ่ง การรวมตัวกันก่อตั้งชมรมนักเขียนและนักวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก สอง เราอยากจะมองเห็นทิศทาง ในการทำหนังสือเด็ก ส่วนสาม พี่คิดว่าจะรวบรวมเป็นองค์ความรู้ขึ้นหนึ่งฉบับ แล้วถ้าสมมุติเรามีงานอย่างนี้ต่อเนื่องสักสามปี สี่ปี ห้าปี เด็กรุ่นหลังสามารถมาศึกษาได้แล้ว พี่คิดว่าเราได้รวบรวมองค์ความรู้เอาไว้แล้ว"
        "เพราะตอนนี้เราจะอ่านตำราเกี่ยวกับหนังสือเด็ก เราต้องซื้อหนังสือต่างประเทศมาอ่าน หรือไม่ก็ต้องเข้าไปดูในเวปต่างประเทศ พี่คิดว่าแค่สามข้อนี้ก็ใหญ่พอแล้วค่ะ..."

แสดงความคิดเห็น

« 6547
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ