เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

‘รงค์ วงษ์สวรรค์ OLD JOURNALIST NEVER DIE

by Pookun @August,11 2007 01.07 ( IP : 222...196 ) | Tags : เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

‘รงค์ วงษ์สวรรค์ OLD JOURNALIST NEVER DIE
เรื่องราวของกว่า 50 ปีบนเส้นทางนักเขียนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่บางคนยกให้เป็น”พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” ไม่ใช่เรื่องใหม่ คนสัมภาษณ์ ถึงขั้นวิตกจริตว่าจะเขียนเช่นไร ไม่ให้ซ้ำ ไม่ให้เชย ซึ่งยากนัก เพราะนอกจากหนังสือรวมเล่มกว่า 100 เล่มที่เปล่งวาจาแทนเจ้าตัวมาเนิ่นนานแล้ว บทสัมภาษณ์ เล่าขาน นินทา ก็กำจรกระจายไปทั่ว ไม่หยุดหย่อน ไม่มีเว้นสักเรื่อง

(จีบปากพูด) Anyway! ....ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณกรรรม ในวัย 72ปี และโรคภัยเบียดเบียดพอให้ไม่เหงา ยังคงทำงานเขียนหนักหน่วง เหน็ดเหนื่อย ที่บ้านหลังสุดท้าย”สวนทูนอิน” บนม่อนดอยโป่งแยง เชียงใหม่ ชีวิตที่ยังคงต้องดิ้นรน ไม่อนุญาตให้ผ่อนพัก ไหนจะยังนวนิยายยาวเรื่องใหม่ ที่เริ่มลงมือแล้วหลังว่างเว้นมานานปี

นั่นทำให้ยุ่งพอ กระทั่งหนังสือที่ส่งมาจากวิทยาลัยโยนก ลำปาง ยืนยันว่าสภาวิทยาลัยฯ อนุมัติให้ประสาทดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ให้แก่เจ้าตัว กลายเป็นเรื่อง-แม้ไม่เล็กน้อยเกินไป-แต่ยังไกลเกินกว่าจะตื่นเต้น

และบทสนทนาแรกของเรื่องนี้ จึงเป็นดั่งนี้..

ได้รับดุษฎีกิติมศักดิ์ ต้องเรียนดอกเตอร์ปุ๊ ณ โป่งแยงหรือเปล่า? เฮ่ย..บ้าน่า!

นัยว่าเขายกย่องให้ได้ปริญญาทางหนังสือพิมพ์ เพราะคุณ’รงค์เริ่มต้นด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์? เราเป็นนักข่าวในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เป็นนักข่าวเฉพาะกิจมากกว่า ไม่ได้วิ่งเข้าไปหาข่าว นอกจากข่าวที่รายสัปดาห์ต้องการ ทำงานตามที่นายสั่ง งานที่ได้ถึงต้องแปรออกมาเป็นสารคดี ไม่ใช่ข่าวแท้ๆ

เอาวิธีการทำข่าวมาจากไหน?ก็เรียนวิชาการหนังสือพิมพ์มาบ้างที่จุฬาฯ ตอนนั้นเขาเปิดสอนวิชาการหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกในเมืองไทย รู้สึกจะหลักสูตร 2ปี ไม่ใช่ระดับปริญญา เรียนกันตอนเย็น อาจารย์ที่มาสอนระดับหัวกะทิทั้งนั้น อย่างอาจารย์จินตนา ยศสุนทร ส่วนคนที่มาเรียนก็พวกที่ทำงานหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว คนเก่งๆทั้งนั้น หลวงเมือง (นักเขียนแม่นข้อมูล ประจำมติชนรายสัปดาห์ ) ก็เรียน เรียนกันที่ตึกขาว คณะวิทยาศาสตร์

เขาสอนอะไรกันบ้าง? จำไม่ได้แล้ว โธ่..ตั้งห้าสิบปีแล้ว แต่ก็สอนทั้งนั้นแหละ สอนภาษาอังกฤษ วรรณคดี สอนหลักการหนังสือพิมพ์ แต่เราเรียนได้เทอมสองเทอมเท่านั้น แล้วก็เลิกเรียน เผ่นมาอยู่เมืองเหนือนี่ ทำป่าไม้ทำอะไร

ฉะนั้นส่วนหนึ่งได้จากการเรียนที่จุฬา อีกส่วนได้จาก learning by doing? ก็เห็นจะเป็นอย่างนั้น อีกส่วนหนึ่งก็ได้จากที่เกเรมาบ้าง

ไปเรียนวิชาหนังสือพิมพ์ก็แสดงว่าที่จริงอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์? ชอบ เราชอบ จุดแรกที่ทำให้อยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน คือหนังสือของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง (รพีพัฒน์ ) เรื่องละครแห่งชีวิต ( วาว..เล่ากันว่า EXOTIC NOVEL เรื่องแรกของเมืองไทยเล่มนี้ ทำให้นายวิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา พระเอกของเรื่องผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์ ใช้ชีวิตโลดโผนในหลายประเทศ กลายเป็นต้นแบบของใครต่อใครในวงการหนังสือพิมพ์ )

เป็นหนังสือที่ดีมาก มีบทบาทมากในสังคมยุคนั้น มีอิทธิพลมากกับคนรุ่นเรา คนหนุ่มคนสาวอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ทั้งนั้นไม่ว่าใคร อย่างรัตนะ ยาวประภาษ ก็ใช่ เราอ่านกันตอนมัธยม อ่านแล้วอยากเป็นเหมือนพระเอกคนนี้

เมื่อเข้ามาจริงแล้วเหมือนอย่างที่อ่านมาไหม? คนละเรื่องเลย

ตอนทำหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้วิชาการทำหนังสือพิมพ์จากมรว.คึกฤทธิ์ (ปราโมช- ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการยาวนาน ) หรือจากการฝึกฝนเองแค่ไหน? เราเข้าไปในฐานะคนตรวจปรู๊ฟนะ แต่เป็นคนตรวจปรู๊ฟที่พิเศษหน่อย เพราะเป็นคนตรวจปรู๊ฟที่ถ่ายรูปได้ พอมาทำงานไม่กี่วันก็เขียนคอลัมน์ได้ ( คอลัมน์รำพึงรำพัน โดยลำพู ที่ผู้อ่านอนุมัติให้เขาเป็นนักเขียนฉับพลัน ) ส่วนงานก็แล้วแต่ท่านคึกฤทธิ์ หรือบรรณาธิการ คือคุณประหยัด ศ นาคะนาท เป็นคนสั่ง ทำมาเพื่อใช้ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

เราก็เขียนอย่างตั้งใจจะให้คนอ่านมากๆ อยากเป็นนักเขียนที่ดี แล้วก็โชคดีที่พอเขียนไปเรื่องสองเรื่อง จดหมายเข้ามาเต็มเลย คนชมมา คนที่ไปรับโทรศัพท์จากคนชมคือท่านคึกฤทธิ์ ท่านบอก ”เฮ้ยไอ้ปุ๊ !…เอ็ง มีแฟนแล้วโว้ย” เราก็ดีใจ คือเราเป็นเด็กที่มีประสบการณ์มาก อายุน้อยแต่เรียนหนังสือเร็วกว่าอายุ อ่านหนังสือมาก อ่านตั้งแต่เด็ก อายุ4-5ขวบอ่านหนังสือได้แล้ว อ่านให้พ่อฟัง อ่านให้ยายฟัง พอเราหันเหมาทางนี้มันก็ไม่เป็นการยาก ประสบการณ์จากการอ่านทำให้เรารู้อะไรมาก โลกทัศน์กว้าง เรื่องรัสเซีย เรื่องอเมริกา เรื่องฝรั่งเศส เรารู้จากการอ่านมาก่อน ถึงบอกกับทุกคนๆ รวมทั้งลูกด้วยว่า อ่านเข้าไปเถอะ หนังสือโป๊ก็อ่าน อ่านอะไรก็ได้อ่านเข้าไป มันจะต้องให้อะไรเสมอ

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรท่านว่า ท่านเรียนรู้ชีวิตจากนวนิยาย เพราะนวนิยายมันอ่านง่าย ไม่น่าเบื่อ นวนิยายดีๆมีอะไรที่เราใช้ประโยชน์ได้ ถ้ารู้จักหยิบมาใช้ เดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยคิดอะไรกันแบบนี้เท่าไหร่ เขาคิดแต่ว่าต้องเรียนกันเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย
อีกอย่างเราเป็นเด็กที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง นี่ทำให้มีประสบการณ์มาก ได้เห็นความตาย ความพินาศฉิบหายของกรุงเทพ ได้เห็นความร่ำรวยของเศรษฐีสงคราม ได้เห็นความยากจนของคนที่ไม่มีสติปัญญาที่จะต่อสู้

เราเรียนรู้จากการอ่าน เพราะเป็นคนไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ เบื่อง่าย เรียนเดี๋ยวก็เบื่อแล้ว

เบื่อบรรยากาศของห้องเรียน หรือเบื่อเพราะคิดว่ามันไม่ได้ให้อะไร? ก็ไม่รู้ เบื่อง่าย เป็นคนชอบคิดอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เป็นคนที่มีความขัดแย้งในตัวเอง การทำงานหนังสือพิมพ์ก็เป็นความนึกคิดของเด็ก การเป็นนักเขียนก็เกิดขึ้นจากแบบนี้ อยากจะเล่าให้ใครฟังเหมือนปรับทุกข์

แม้จะเป็นนักเขียนอาชีพ แต่สังเกตว่างานของคุณ’รงค์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เรื่อยมา นับแต่สยามรัฐ เดลินิวส์ จนถึงมติชน มีความมุ่งหวังอะไรที่เอางานเขียนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์? อยากให้คนรู้จักเราทุกคน ทุกชนชั้น เพื่อนบางคนเขาเขียนลงหนังสือพิมพ์อย่าง สยามสมัย แล้วเขาจะไม่เขียนลงหนังสือที่เล็กกว่านี้ แต่เราเขียนหมดแหละ หนังสือดาราภาพยนตร์ก็เขียน เขียนหมด เพราะต้องการคนอ่าน และเราเชื่อว่าคนอ่านมันมีอยู่ทั่วไป ไม่ได้อ่านฉบับเดียว อันนี้คือเหตุผลที่หนึ่ง เหตุผลที่สองคือการต้องการเงิน ต้องการค่าใช้จ่าย เพราะนักเขียนสมัยก่อนรายได้ต่ำ

นักเขียนบางคนเขาอาจเน้นแต่งานรวมเล่ม ไม่กระจายงานไปมาก แต่เรานี่เขียนได้หมด และงานของเรามีค่า ไม่เคยชุ่ย ไม่เคยทำงานลวกๆ พิจารณาแล้วว่างานนี้เหมาะกับเล่มนี้ มารวมเล่มทีหลัง บางทีเขียนมาตั้ง30ปีแล้วถึงรวมเล่มก็มี เก็บไว้หมด เพราะมันก็มีคุณค่าในยุคของมัน และมันอาจมีค่าในยุคต่อมาอีกก็ได้

เวลาทำงานก็ต้องวางแผนว่าจะเขียนอะไร อย่างสมัยก่อนเขียนในหนังสือพิมพ์รายวัน ทำมาเป็นสิบฉบับ เราจะวางแผน วันจันทร์จะเขียนอะไร วันอังคารเขียนอะไร แนวไหน วันจันทร์เขียนเรื่องเบาๆ ต้นไม้ใบหญ้า วันอังคารอาจเขียนวิจารณ์หนังสือสักเล่มหนึ่ง วันพุธอาจไปดูหนังหรือละครสักเรื่อง วันศุกร์อาจพูดเรื่องการท่องเที่ยว วันอาทิตย์เขียนเบาๆ ผูกเปลนอนใต้ต้นไม้ ฟังเสียงนกร้อง อ่านหนังสือ ลูกเมียทำข้าวมันส้มตำกินกัน และวันไหนจะเขียนการเมือง สลับกันไป

บางคนคิดว่างานเขียนหนังสือใช้จินตนาการมากกว่าข้อเท็จจริง ขณะที่การทำงานของหนังสือพิมพ์ใช้ข้อเท็จจริงมากกว่า แต่จากการสังเกตการทำงานของคุณ’รงค์ ใช้ข้อเท็จจริงและข้อมูลจำนวนมาก เพื่อสร้างงานเขียน ใช้มากกว่าจินตนาการมาก.. นักเขียนรุ่นก่อนไม่รู้นะ แต่เราใช้ข้อมูลมาก ไม่รู้ก็ต้องถามคนอื่น ว่า “เฮ้ย!อย่างนี้ใช่ไหมวะ?” นักเขียนบางคนโกรธเรา เพราะเขาเขียนว่า”คนขายฝัน” แต่เราว่าเราไม่เคยขายฝัน เราขายแต่ความจริง จะฝันได้ยังไง

ตอนไปอยู่อเมริกา มันมีหนังสือเล่มหนึ่งเป็นสารบัญอาชีพของคนอเมริกัน มีกว่า4พันอาชีพ ก็ใช้เล่มนี้เวลาที่คิดอะไรไม่ออก พลิกอ่านไปเรื่อยๆ จะไปพบอาชีพที่หากอยู่เฉยๆเราจะคิดไม่ออก มีบุรุษไปรษณีย์ คนส่งนม คนเช็ดกระจก คนดำน้ำเก็บขยะ คนทาสีสะพาน สัปเหร่อ คนลับมีดโกน คนตัดหญ้า คนเป็นทหาร คนทำงานนาโต้ เวลาเขียนติด เปิดเลย ไม่มีจนมุม เปิดแล้วก็..”เขียนไอ้คนนี้ล่ะวะ” หรือไม่งั้นก็ไปสัมภาษณ์เขา

กลับมาเมืองไทยก็ใช้แนวนี้ในการเขียนคอลัมน์ คิดว่าวันนี้จะเขียนถึงใครดี หยิบแง่มุมมาเขียนให้เข้ากับสถานการณ์ ข้อมูลแบบนี้มีประโยชน์มากสำหรับคนหนังสือพิมพ์ ถ้าวันหนึ่งจนปัญญาไม่มีข่าว ไปสัมภาษณ์คนล้างท่อก็ได้เรื่องแล้ว

คิดอย่างไรที่เขาวิจารณ์กันมากว่านักข่าวนักหนังสือพิมพ์สมัยนี้ไม่ค่อยทำการบ้าน?เราใช้ข้อมูลมาตั้งแต่เป็นเริ่มนักเขียน จะเก็บข้อมูล จะเป็นคนที่มีCLIPPINGมากที่สุด ดูแฟ้มนั่นสิ (กราดนิ้วไปทั่วห้องขนาดย่อมนั้น) ทั้งนั้นเลย สำคัญมากนะ

ตอนมีเวลามีแรงมากกว่านี้ เราจะเก็บไว้หมดเลย ข่าวสำคัญอย่างกรณีชู้สาว เรื่องคนแก้ผ้าเมคเลิฟกันในรถที่สุโขทัย ให้ภรรยาตัดเก็บไว้ วันหนึ่งจะมีประโยชน์ อาจเอามาใช้ในคอลัมน์ หรือเรื่องสั้น หรือเรื่องยาว ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เอาลงคอมพิวเตอร์ไว้ ต้องสังเกตให้มาก ใบไม้แต่ละใบมันเหมือนกันที่ไหน ต้องทำความเข้าใจและเก็บข้อมูล ของอย่างนี้มันวัตถุดิบทั้งนั้น บางคนอาจจะลวกไปหน่อย อันนี้ไม่ได้ว่าใคร แต่เขามองไม่ทะลุ

การเป็นนักเขียน กับนักหนังสือพิมพ์มันเคยคู่กัน ก่อนนี้คนหนังสือพิมพ์ก็จะเป็นนักเขียน นักเขียนก็จะเป็นคนหนังสือพิมพ์ ธรรมชาติแต่ก่อนมันเป็นอย่างนั้น เริ่มแรกก็พวกกิตติมศักดิ์ พวกเจ้านายที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ คนที่มีการศึกษาสูง แต่พอรุ่นก่อนหน้าเราไม่มาก อย่างรุ่นมนัส จรรยงค์ รุ่น สด กรูมะโรหิต คำว่านักเขียนกับคำว่านักหนังสือพิมพ์มาด้วยกัน อย่างพี่มนัส แกก็เป็นนักข่าวมาก่อนแล้วก็มาหัดเขียนหนังสือ มันมาด้วยกัน ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่แยกไปเลย

ก่อนนี้เราต้องทำได้ทุกอย่าง ต้องทำข่าวได้ ต้องเขียนได้ ถ่ายรูปได้ ไปทำข่าวกลับมาต้องล้างฟิล์ม เข้าห้องมืด อัดรูปเอง เดี๋ยวนี้ทำไม่เป็นกันเลย ไปถึงก็ยื่นเทปให้บรรณาธิการ.- บรรณาธิการเอาไปให้รีไรท์เตอร์ จะว่าอะไรดีกว่ากันก็ยังเถียงกันอยู่ เราก็ไม่อยากลงสนามเถียงด้วย

แต่เราจะสัมภาษณ์ใครต้องศึกษาก่อน ท่านคึกฤทธิ์สั่ง “เฮ้ยไอ้ปุ๊! พรุ่งนี้ไปสัมภาษณ์คุณพจน์ สารสิน”… เราเกิดมาในชีวิตไม่เคยเจอคุณพจน์ นอกจากเห็นในข่าว ท่านบอกว่าหนังสือนั่นมีเรื่องคุณพจน์ เอ็งเอาไปอ่าน เราก็กลับบ้านอ่านตอนดึก มีประโยคหนึ่งเขาเขียนว่า คุณพจน์ชอบทานอาหารง่ายๆ กระเดียดๆไปทางไทยปนจีน ท่านชอบขนมผักกาด ตอนเราไปสัมภาษณ์ท่านตีกอล์ฟ เราก็เดินตามไปเรื่อย พอสิบเอ็ดโมงกว่าท่านก็บอก นี่คุณน่ะ จะกินข้าวกลางวันที่ไหน? เราก็บอกยังไม่คิดหรอกครับ คิดแต่จะขอสัมภาษณ์ท่าน ขอเวลาท่านอีกสักเล็กน้อย ท่านบอกว่าเอางี้แล้วกัน เดี๋ยวไปกินที่บ้าน มีอะไรกินบ้างก็ไม่รู้ เราก็บอกว่าเห็นว่าที่บ้านท่านมีอาหารง่ายๆ อย่างขนมผักกาด …ทีนี้ชอบเลย ทานอาหารกัน รินเบียร์ให้เรา คุยกันไปถึงบ่ายสามโมง

แต่นักข่าวต้องรักษาระยะห่างให้เหมาะสม ไกลมากก็ไม่ได้ข่าว ใกล้มากก็กลายเป็นไปกินของเขา เป็นหนี้บุญคุณ

ตอนที่ยังเป็นนักข่าว พากันไปสัมภาษณ์พ่อค้าข้าวใหญ่ เสร็จแล้วเขาแจกปากกาปาร์คเกอร์ สีเทอร์ควอยซ์หนึ่งคู่ ใส่กล่องอย่างดี แกะสลักชื่อให้เรียบร้อย เงินเดือนเราพันกว่าบาท แต่ปากกาคู่นั้น500-600บาท พอเอามาถึงโรงพิมพ์ ท่านคึกฤทธิ์เรียกไปดู แล้วสั่งเอาไปคืน ตั้งแต่นั้นมาเราไม่เคยยุ่งเรื่องพวกนี้ ไม่เคยรับสินบนใครแม้แต่สลึงเดียว คนอื่นเขาเอา แต่เราไม่เอา แล้วก็ไม่เห็นไอ้พวกที่เอา มันร่ำรวยหรือเติบใหญ่ เดี๋ยวนี้น่าจะเบาไปมากแล้ว เพราะอาชีพหนังสือพิมพ์เลี้ยงตัวเองได้ ดำรงตนอยู่ได้อย่างสบายและมีศักดิ์ศรีพอ แล้วนี่ตกลงจะให้ใครเขาเรียกดอกเตอร์ปุ๊หรือเปล่า? แข่งกับดอกเตอร์ป๊อบเลยสิงั้น(หัวเราะ)


กรรณิกา เพชรแก้ว 27 พ.ย.47

www.tuneingarden.com

Comment #1
น้อย
Posted @April,11 2008 18.52 ip : 58...234

ขอบคุณมากนะคะที่แบ่งปันความรู้จากศิลปินแห่งชาติให้ได้อ่าน อ่านแล้วประทับใจมาก

แสดงความคิดเห็น

« 9515
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ