เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม
กวีหมี่เป็ด ลูกหลานชาวหาดใหญ่คว้าซีไรท์ปี 2550
กวีหมี่เป็ด ลูกหลานชาวหาดใหญ่คว้าซีไรท์ปี 2550
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 สิงหาคม 2550 16:50 น.
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ "มนตรี ศรียงค์" นักเขียนหนุ่มชาวหาดใหญ่ รับรางวัลซีไรท์ ประจำปี 2550 จากผลงานรวมบทกวีร่วมสมัย โลกในดวงตาข้าพเจ้า กลายเป็นคนสงขลาคนที่ 3 ที่ได้รางวัลนี้ หลังจาก "วินทร์ เลียววาริณ" และ "บินหลา สันกาลาคีรี" ลูกหลานชาวสงขลาเคยได้รับมาแล้ว
มีรายงานว่าการประกาศผลรางวัลซีไรท์ประจำปี 2550 นี้ ผลปรากฏว่า มนตรี ศรียงค์ นักเขียนหนุ่มชาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เจ้าของรวมบทกวีร่วมสมัย โลกในดวงตาข้าพเจ้า ได้รับรางวัลนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยมีการประกาศผลไปเมื่อเวลา 14.00 น. ณ โรงแรมโอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ และจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (29 ส.ค.) โดยขณะนี้มนตรี ได้เดินทางขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อรับการประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ผลการตัดสินครั้งนี้ทำให้มนตรี ศรียงค์ กลายเป็นชาว จ.สงขลา คนที่ 3 ที่ได้รางวัลนี้หลังจากวินทร์ เลียววารินทร์ เคยได้รับรางวัลในผลงานนวนิยายเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน และ บินหลา สันกาลาคีรี ได้รับรางวัลในผลงานรวมเรื่องสั้น เจ้าหงิญ
การประกวดรางวัลซีไรท์ครั้งนี้คัดมาจาก 76 บทกวีจากนักเขียนทั่วฟ้าเมืองไทยส่งเข้าประกวด ชิงรางวัลซีไรท์ประจำปี 2550 หนึ่งในจำนวนนั้นมีบทกวีร่วมสมัย โลกในดวงตาข้าพเจ้าของ มนตรี ศรียงค์กวีหมี่เป็ดชาวสงขลา ผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการทะลุเข้ารอบ
สำหรับมนตรี ศรียงค์ เกิดที่หาดใหญ่ อาศัยอยู่ย่านใจกลางเมือง (กิมหยง) เดินผ่านและแวะเข้าห้องสมุดประชาชนทุกวันในช่วงประถม เข้าเรียนที่อำนวยวิทย์ม.1-ม.3 จากนั้นไปเรียนที่มหาวิราวุธ เช่าบ้านอยู่กับเพื่อนจนจบม. 6 โปรแกรมพลานามัย แต่ไม่ได้ดีในแวดวงกีฬา ตั้งเป้าเข้ารามฯปี 2529 เศษๆ ตีตั๋วรถไฟขึ้นไปเรียนรามคำแหงคณะมนุษยศาสตร์ เลือกเอกภาษาไทย ทั้งที่รักการอ่านการเขียนแต่กลับสอบตกซ้ำซากวิชาร้อยกรอง-วรรณวิจารณ์ เลยตัดสินใจเปลี่ยนคณะมาลง รัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ทำท่าจะไปได้ดี 3 ปีแรกทำได้ 84 หน่วยกิต(ทั้งที่เข้าเรียนน้อยถึงน้อยที่สุด)แต่เก็บกี่ยวประสบการณ์ใช้ชีวิตในเมืองหลวงมามากมาย ช่วงนั้นแม่เรียกกลับบ้าน มาช่วยกิจการหมี่เป็ดที่ร้านศิริวัฒน์ฯถนนละม้ายสงเคราะห์ หาดใหญ่ ที่ขายดิบขายดีมาจนถึงวันนี้
ผมเป็นคนชอบอ่านมาแต่เด็ก สมัยเรียนประถม ป.4-5 เดินผ่านห้องสมุดประชาชนทุกวันจะแวะอ่าน พล นิกร กิมหงวน เป็นหนังสือที่อ่านแล้วขำอ่านแล้วติด และมีอิทธิพลต่อการมองโลกให้ขำมาจนถึงปัจจุบันและพลอยให้ชอบการอ่านหนังสือแนวอื่นๆตามมา พอย่างเข้าวัยรุ่นก็อ่านมากขึ้นนักเขียนในดวงใจมีตั้งแต่จอห์น สไตน์เบค หลู่ซิ่น แมกซิม กอร์กี้ ไม้เมืองเดิม ยาขอบ รมย์ รติวัน ส่วนใหญ่จะเป็นแนวเพื่อชีวิต
แรงบันดาลใจจับปากกาเริ่มจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ทำให้อยากพูดอะไรออกไปในสิ่งที่เราคิดออกไปสู่สาธารณะบ้าง เลยเขียน เป็นบทกวี ส่งไปตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆที่ลงบ่อยคือ หนังสือข่าวพิเศษ ของพี่ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ จากนั้นก็เขียนมาเรื่อย เป็นการเริ่มต้นเอาจริงเอาจังทางด้านนักเขียน และเริ่มเขียนแบบมีเป้าหมาย คือการหาที่อยู่ที่ยืนในวงการวรรณกรรม คือการสร้างชื่อ การจะสร้างชื่อได้ในถนนวรรณกรรมไม่ใช่แค่การไปพบปะนักเขียน แต่จะต้องผลิตผลงานตีพิมพ์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ผลงานมีคุณภาพ มีคนกล่าวถึง จึงจะมีตัวตน
ผมใช้เวลาไม่นานนักประมาณ 1 ปี ก็เริ่มมีคนพูดถึง งานผมจะมี 3 กลุ่ม หนึ่งเป็นงานสถานการณ์ที่เขียนด้วยอารมณ์ทันทีทันใดที่เห็นเหตุการณ์นั้นๆ สอง งานภาษาสวยๆภาพสวยๆ เป็นงานโรแมนติกปรัชญา ใช้คำสวยๆภาพสวยๆ และสาม คืองานที่ใช้ภาษาพูดธรรมดา ในการประดิดประดอยคำแต่นำภาษามาใช้จัดวางให้ลงตัว จากเรื่องราวที่มากระทบกับตัวเราเอง โดยใช้ภาษาง่ายๆ อ่านแล้วเข้าใจ เพราะกวีจะใช้คำฟุ่มเฟือยไม่ได้
มนตรี บอกเล่าผ่านปลายปากกาเกี่ยวกับสายตาของเขาในบันทึกจากคนเขียนว่า ข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่าสายตาไม่ปกติเมื่อสัก 20 ปีที่ผ่านมา (วันนี้อายุย่าง 40 ปี) เป็น 20 ปีที่ใบหน้าข้าพเจ้าประดับด้วยแว่นสายตามาโดยตลอด มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของใบหน้าเมื่อใดที่ข้าพเจ้าถอดแว่นจะรู้สึกถึงความไม่มั่นใจในตัวเอง หวาดหวั่นต่อการมองเห็น
โลกของข้าพเจ้า คือ โลกที่มองผ่านเลนส์สายตา มันถูกกลึงเลนส์ให้มีโฟกัสที่เหมาะที่สุดกับสายตาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพยายามครุ่นคิดหาคำตอบว่า แท้แล้วโลกโดนการกลึงเพื่อให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่หรือข้าพเจ้าต่างหากที่ปรับสายตาตนเองให้อยู่ในโลกให้ได้
เด็กน้อยคนหนึ่งถามข้าพเจ้าสายตาสั้นหรือ?...ข้าพเจ้าก็เฝ้าครุ่นคำนึงคำถามนี้ต่อตนเอง และได้คำตอบเมื่อวันวานนี้ ไม่หรอก แท้แล้วข้าพเจ้ามีสายตาปกติ แต่โลกใบนี้ต่างหากที่เบี้ยวบุบผิดรูปทรงไป
ปัจจุบัน มนตรี ศรียงค์ ยึดอาชีพหลักคือขายหมี่เป็ดอยู่ย่านถนนละม้ายสงเคราะห์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และยึดงานเขียนเรื่องสั้นและบทกวีเป็นงานอดิเรก จึงได้รับฉายาจากคนในวงการว่า กวีหมี่เป็ด เขาผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอจนได้รับรางวัลในที่สุด