เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

ประวัตินักเขียนอมตะคนล่าสุด โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ)

by Pookun @September,19 2007 00.34 ( IP : 117...207 ) | Tags : เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

ประวัตินักเขียนอมตะคนล่าสุด โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ)

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 กันยายน 2550 20:26 น.

      ชื่อ นายโกวิท เอนกชัย       MR. KOVIT ANAKECHAI       นามปากกา “เขมานันทะ” , “รุ่งอรุณ ณ.สนธยา”, “ฉับโผง”, “สหัสนัยน์”, “กาลวิง” (แปลว่านกกระจอก : สำหรับงานวิเคราะห์และวิจารณ์) และ “มุนีนันทะ” (หนังสือ “สุดปลายแผ่นดินโลก”)
      ๑. ประวัติชีวิตส่วนตัว       วันเดือนปีเกิด เกิดวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๑       สถานที่เกิด อ.สทิงพระ จ.สงขลา       ที่อยู่และที่ทำงาน บ้านเลขที่ ๗/๓๒๕ หมู่บ้านบัวขาว ถ.รามคำแหง เขตมีนบุรี       จ. กรุงเทพ โทร. ๐๒–๕๑๗๓๒๗๑       ๒. ประวัติการศึกษา       - ป.๔ ร.ร.วัดชะแม อ.สทิงพระ จ.สงขลา       - ม.๖ ร.ร. มหาวชิราวุธ อ.เมือง จ.สงขลา       - ม.๘ อำนวยศิลป์ จ.พระนคร       - ปริญญาตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๐๗
      ๓. ประวัติการทำงาน       -พ.ศ. ๒๕๐๘–๒๕๑๐       รับราชการประจำวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ สอนวิชาความซาบซึ้งในศิลปะ       -พ.ศ. ๒๕๑๐–๒๕๑๔       บวชและศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านพุทธทาส สวนโมกขพลาราม ขณะอยู่ในสมณเพศ ได้รับผิดชอบบุกเบิกค้นคว้าผลิตงานด้านศิลปะไทยจำนวนมาก สืบต่อทั้งบทกวีและจิตรกรรมโบราณของไทย เพื่อประดับตกแต่งโรงมหรสพทางวิญญาณ ในสวนโมกขพลาราม ซึ่งยังปรากฏหลักฐานสามารถ ใช้งานสอนธรรมะสืบต่อมาได้ถึงปัจจุบัน และได้จาริกแสวงบุญ พร้อมกับเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะ เรื่องราวของแง่มุมต่างๆของชีวิต ศิลปะวรรณกรรม และกวีนิพนธ์จำนวนมาก       -พ.ศ.๒๕๑๔–๒๕๑๕       ปฏิบัติธรรมเพียงลำพังในถ้ำเขาหินดำ จ.สงขลา และลงมาเป็นอาจารย์บรรยายธรรมะ อยู่ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี       เป็นวิทยากรบรรยายงานวิชาการหัวข้อ “วรรณกรรมในมุมมองทางจิตวิญญาณ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ       -พ.ศ.๒๕๑๖       ก่อตั้งสำนักสงฆ์ “หาดแก้ว” ที่ จ.สงขลา เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และทำภาวนาทางด้านจิตวิญญาณ       -พ.ศ.๒๕๑๘       รับผิดชอบวางแผนและร่วมจัดงานสัมมนาระดับชาติ ในประเด็นทางด้าน “พุทธศาสนากับสังคม” ที่สำนักสงฆ์หาดแก้ว จ.สงขลา       เป็นวิทยากร เสนองานวิชาการหัวข้อ “เอกภาพของสรรพสิ่ง-The Unity of All Subjects” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพ       -พ.ศ.๒๕๑๙       ก่อตั้งมูลนิธิ “อริยาภา” เพื่อเผยแพร่พุทธธรรม ส่งเสริมศิลปะ การศึกษา วัฒนธรรมอันดีงาม และสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประพฤติธรรมและเยาวชน เพื่อทดลองการใช้ชีวิตและฝึกปฏิบัติธรรมร่วมกันในรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน       -พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๐       จาริกแสวงบุญ และศึกษาทางด้านธรรมะ ศิลปะ วัฒนธรรม ในประเทศอินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า       -พ.ศ. ๒๕๒๐–๒๕๒๒       ปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์หาดแก้ว จ.สงขลา       เป็นอาจารย์สอนการปฏิบัติสมาธิ ที่วัดผาลาด เชียงใหม่       จาริกแสวงบุญ และบรรยายธรรมะ ศิลป วัฒนธรรมไทย ที่ประเทศอังกฤษ เยอรมันตะวันตก อิตาลี สวีเดน       จัดงานนิทรรศการทางด้านศิลปะ ในกรุงเทพฯ เพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กพิการ       -พ.ศ.๒๕๒๒–๒๕๒๕       ดำเนินการก่อตั้งและดูแล “อาศรมนวชีวัน” ที่ จ.สงขลา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเยาวชนคนหนุ่มสาวในการปฏิบัติธรรม การเรียนรู้ทางด้านจิตวิญญาณ ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย       แนะนำฝึกฝนการปฏิบัติธรรม ให้กับชาวบ้านในพื้นที่รอบอาศรมนวชีวัน       จัดโครงการคลินิกดูแลสุขภาพชาวบ้านภาคใต้รอบอาศรมนวชีวัน โดยการสนับสนุนจากคณะนักศึกษาแพทย์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมการปฏิบัติธรรมในอาศรมนวชีวัน       จัดโครงการพานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นเด็กชาวเมือง ที่มาปฏิบัติธรรมที่อาศรมนวชีวัน ให้ได้เข้าไปในหมู่บ้านของชาวบ้านภาคใต้รอบอาศรมนวชีวัน เพื่อให้นักศึกษาได้รู้จักและแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้าน ได้เรียนรู้ชีวิตชาวนาภาคใต้ การทำเกษตรกรรม การทำประมง และวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ทั้งหนังตะลุง มโนห์รา และมหรสพดนตรีพื้นเมืองของชาวบ้าน       จัดโครงการปฏิบัติธรรม ฝึกฝนให้กับนักศึกษา พระภิกษุ และผู้สนใจทั่วไป       -พ.ศ. ๒๕๒๕       ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ให้ไปเป็นอาจารย์บรรยายความรู้ในประเด็น พุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย ให้กับกลุ่มผู้สนใจที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัย ดังเช่นกลุ่ม Singapore Zen Group       เข้าร่วมแสดงผลงานศิลปะ ในการแสดงงานนิทรรศการทางด้านศิลปะที่ Zen House ประเทศสิงคโปร์       บรรยายธรรมะและฝึกฝนการปฏิบัติภาวนา ให้กับกลุ่มผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม ในประเทศออสเตรเลีย       ลาสิกขาเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๕ แต่ยังคงสอนธรรมะและปฏิบัติภาวนาอยู่ตลอดมา       -พ.ศ. ๒๕๒๖       เป็นอาจารย์สอนวัฒนธรรมไทยและ สอนวิชา “Symbolism in Art and Spiritual” ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สิงคโปร์ ระหว่างนี้ได้เขียนกวีนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ เผยแพร่ทั้งในไทยและในต่างประเทศ ชื่อหนังสือ The Valley ซึ่งได้รับการกล่าวถึงและแนะนำในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ดังเช่นหนังสือพิมพ์ชั้นนำของสิงคโปร์ที่ชื่อ STRAIT TIMES       กลับประเทศไทย       จัดตั้งกลุ่มศึกษาปฏิบัติธรรมในกรุงเทพ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่อาศรมนวชีวัน ที่สงขลา และจัดกิจกรรมฝึกฝนปฏิบัติภาวนาให้กับกลุ่มนักศึกษาและผู้ทำงานศิลปะ       -พ.ศ. ๒๕๒๗–๒๕๒๘       เข้าร่วมในการประชุมทางด้านศาสนธรรมและจิตวิญญาณ และเป็นคุรุผู้ดูแลฝึกฝนกลุ่มปฏิบัติภาวนา ที่Bad Boll Evangelische Akademie ที่ประเทศเยอรมันตะวันตก       ได้รับเชิญให้ไปสอนการปฏิบัติภาวนาและแสดงนิทรรศการภาพศิลปะ ที่ Heimvolkshochshule Lindelhof in Bethel Village เมือง Bielefeld ประเทศเยอรมันตะวันตก       เป็นคุรุผู้อบรมการปฏิบัติภาวนาที่ Theosophical Faculty of Botevonbethel, Bethel Village เมือง Bielefeld ประเทศเยอรมันตะวันตก       แสดงนิทรรศการงานศิลปะที่ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์       บรรยายธรรมะ ที่วัดกัมพูชา ในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์       เป็นคุรุอบรมการปฏิบัติภาวนาที่เมือง Teshino, ประเทศสวิตเซอร์แลนด์       -พ.ศ.๒๕๒๙–๒๕๓๐       เข้าร่วมในการประชุมระหว่างประเทศ ในหัวข้อ พุทธศาสตร์ศึกษา ที่เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน       บรรยายธรรมะจากรากฐานวัฒนธรรมไทย และฝึกสอนการปฏิบัติธรรมในหลายสถานที่ ให้กับหลากหลายองค์กรในประเทศไทย       -พ.ศ.๒๕๓๐–๒๕๓๒       เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาและการประชุมหัวข้อ “The Supreme Being in Religions” ที่ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การประชุมเรื่องศิลปะและสันติภาพ ที่ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เป็นองค์ปาฐกในงานประชุม “Conference on Insight Meditation” ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ       -พ.ศ.๒๕๒๙–๒๕๓๓       เป็นวิทยากรรับเชิญ สอนนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ทางด้านศิลปะวัฒนธรรมเปรียบเทียบ ทั้งไทย ตะวันออก ตะวันตก, ศาสนาเปรียบเทียบและจิตวิทยาคลินิก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร       -พ.ศ.๒๕๓๓       เป็นอาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กรุงเทพ       เป็นวิทยากรรับเชิญ บรรยายความรู้ทางด้านสุนทรียภาพ ให้กับคณาจารย์และนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย       ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายธรรม ศิลป และวัฒนธรรมเปรียบเทียบ และสอนการปฏิบัติภาวนาเป็นประจำที่ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย       ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมทางวิชาการหัวข้อ “Religion into Twenty-first Century” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่       -พ.ศ.๒๕๓๔       เดินทางไปสหรัฐอเมริกา       เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ในหัวข้อ “Religion and Rapid Cutural Change: A Buddhist Perspective”       เป็นวิทยากร ที่ Swartmore College, University of Pensylvania และในอีกหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา       จัดคอร์สอบรมการปฏิบัติธรรมที่วัดไทยในเมืองเซนต์หลุยส์และชิคาโก ที่วัดจวงเหยียนในคาเมล นิวยอร์ก และในอีกหลายสถานที่       -พ.ศ.๒๕๓๕–๒๕๓๙       ทำงานจิตรกรรม สอนการปฏิบัติภาวนา เป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษา เขียนหนังสือ และตีพิมพ์ผลงานจำนวนมากทั้งทางด้านบทกวี วรรณกรรม บทความอันเชื่อมโยงเปรียบเทียบทางด้านศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม อันเป็นรากฐานของสังคมไทย และนำเสนอควาคิดเห็ฯทางด้านการเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาและวัฒนธรรมในสังคมไทยทางสื่อสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุจำนวนมาก, เขียนบทความประจำทางด้านศาสนาศิลปะ และวัฒนธรรมไทยในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ พร้อมไปกับการเขียนบทกวี ลำนำ ทางด้านศาสนา ศิลป วัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และประเด็นร่วมสมัยต่างๆในสังคมไทย       -พ.ศ.๒๕๔๐–๒๕๔๑       เป็นวิทยากรประจำทุกเดือนในรายการ “พบเขมานันทะ” จัดโดยธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย       -พ.ศ.๒๕๔๑       ได้รับเชิญจากองค์กร The Buddhist Association of United States เมืองคาเมล มลรัฐนิวยอร์ก ให้ไปจัดคอร์สอบรมภาวนาที่วัดจวงเหยียน สหรัฐอเมริกา       เป็นวิทยากรบรรยายธรรมะและศิลปวัฒนธรรม เปรียบเทียบตะวันออก-ตะวันตกเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา       เป็นคุรุดูแลฝึกฝนผู้เข้าร่วมอบรมการปฏิบัติภาวนาที่ Dharmarama Temple ชิคาโก สหรัฐอเมริกา       บรรยายธรรมะ ที่วัดพุทธ ที่บรองซ์ มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา       เป็นวิทยากรบรรยายพร้อมฉายภาพสไลด์ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย ที่ New York Buddhist Church, Jodoshinshu Temple นิวยอร์ก       จัดคอร์ส อบรมภาวนา ปฏิบัติธรรมที่ Dharmarama Temple ชิคาโก สหรัฐอเมริกา       จัดคอร์สอบรมภาวนาปฏิบัติธรรม และบรรยายธรรมะศาสนาเปรียบเทียบอีกหลายครั้งทุกวันอาทิตย์ที่ Sri Ratanarama Temple เมืองเซนต์หลุยส์       บรรยายธรรมะศาสนาเปรียบเทียบ ในรายการวันอาทิตย์ที่ Buddhayanandaram Temple ลาสเวกัส       เมื่อกลับมาประเทศไทย ได้รับเชิญให้ไปอ่านบทกวี in praise of the mother earth ในพิธีเปิดกิจกรรมธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา ที่จ.สงขลา       -พ.ศ.๒๕๔๒–ปัจจุบัน       สร้างสรรค์งานศิลปะ จิตรกรรม บทกวี บทความ บทบรรยายธรรม วรรณกรรม กวีนิพนธ์ มีหนังสือตีพิมพ์ออกมาเป็นประจำทุกปีติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง จากสำนักพิมพ์ศยาม สำนักพิมพ์อมรินทร์ และสำนักพิมพ์พิมพ์คำ และสำนักพิมพ์สุขภาพใจ โดยงานเขียนชุด จากดักแด้สู่ผีเสื้อ พิมพ์โดยพิมพ์คำสำนักพิมพ์เคยได้รับรางวัลที่ ๒ ของหนังสือประเภทสารคดี จากการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ ๑“ ประจำปี ๒๕๔๗       และผลงานหนังสือของอาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) นั้น ทางดร. สด ชื่น ชัยประสาทธน์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเคยใช้เป็นหัวข้อทำงานวิจัยเรื่อง “วรรณกรรมและจิตรกรรมแนวเซอร์เรียลิสม์ในประเทศไทย” เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙
      ๔. ประวัติการสร้างสรรค์ผลงาน       หนังสือเล่มแรกของอาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) เริ่มปรากฏต่อบรรณพิภพเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๓ จากนั้นท่านอาจารย์ก็ได้ทำงานเขียนต่อเนื่องมายาวนานถึงบัดนี้เป็นเวลาถึง ๓๗ ปี ประสบการณ์ทางด้านการศึกษาปฏิบัติธรรม ได้เรียนรู้โดยตรงจากครู ผู้เป็นสุดยอดของพระสงฆ์ทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติคือท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ และหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ อีกทั้งท่านอาจารย์เขมานันทะยังได้เดินทางแสวงหาความรู้ความเข้าใจทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกับชาวบ้าน ชาวนา ชาวประมง นักศึกษา ปัญญาชน ผู้คนหลากหลายอาชีพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งผู้คนจากเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รวมทั้งการได้เดินทางตั้งแต่ช่วงเป็นพระธุดงค์ เดินทางไปปฏิบัติธรรม บรรรยายธรรมะในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย และเมื่อลาสิกขาแล้ว ก็ได้รับเชิญให้เดินทางไปบรรยายธรรมะ จัดคอร์สอบรมภาวนา บรรยายความรู้ทางด้านศาสนาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยและโลกตะวันออก โลกตะวันตก สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานทรัพยากรสูงค่าในตัวอาจารย์เขมานันทะ ให้มีมุมมองอันกว้างไกล ลึกซึ้งอย่างยิ่งในศิลปะ ศาสนาและวัฒนธรรมไทยและมีความเป็นสากลหลากหลาย สิ่งเหล่านี้ท่านอาจารย์ได้ถ่ายทอดลงในงานเขียนทุกรูปแบบของท่านอย่างเต็มที่ ทั้งยังทำงานเขียนมายาวนานต่อเนื่องไม่เคยหยุด ผลงานอันมีมุมมองพิเศษและลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณ จากรากฐานศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมไทย อันเปิดกว้างสู่ความเป็นสากลนี้ ทำให้มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติหลากหลายรุ่นชน หลากหลายอาชีพ สนใจในงานเขียนและทัศนะทุกด้านของท่านเขมานันทะมาโดยตลอด       หลายทศวรรษมาแล้วที่ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้ ความเข้าใจ และทัศนะอันลุ่มลึกต่อชีวิต จากผลงานหลากหลายของท่านเขมานันทะ ทั้งในภาคส่วนของงานกวีนิพนธ์ วรรณกรรม บทความทางศาสนาวิชาการ และงานปาฐกถาธรรม       ลักษณะเด่นในงานวรรณกรรมและงานธรรมบรรยายทั้งหมดของท่านเขมานันทะนั้น นอกจากจะมีมิติกว้างไกลทั้งทางด้านศิลปะ นิเวศวิทยา มานุษยวิทยา ให้ความรู้ลุ่มลึกในหนทางพุทธประเพณีของวัฒนธรรมไทยแล้ว ภาษาที่ท่านอาจารย์เลือกใช้ก็มีความคมคาย ไพเราะ กินใจอย่างยิ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเข้าใจลึกซึ้งต่อชีวิตและแก่นของชีวิตที่เปิดเผยอยู่ในหนังสือเล่มต่างๆ ของอาจารย์ล้วนเป็นประสบการณ์ตรงที่ท่านอาจารย์ได้รับจากการปฏิบัติภาวนามายาวนานหลายสิบปี และยังปฏิบัติอยู่ทุกขณะในชีวิตประจำวัน       ผลงานหนังสือของท่านอาจารย์เขมานันทะส่วนใหญ่ มีเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงบทบทัศนะต่างๆ ต่อชีวิต ศาสนธรรม โลก จักรวาล การงาน และความรัก ไว้อย่างลุ่มลึกงดงาม ด้วยเนื้อหาและภาษาอันสงบวิเวก
      ผลงานเขียนของอาจารย์เขมานันทะมีทั้งที่เป็นวรรณกรรมโดยตรง ดังเช่น หนังสือ สุดปลายแผ่นดินโลก ซึ่งเป็นการประสานความเข้าใจระหว่างศาสนาพุทธ คริสต์ และศาสนาโบราณในแผ่นดินทะเลทรายอาหรับ หรือบทกวีอันไพเราะลึกซึ้งด้วยมิติทางพุทธธรรมและประเพณีไทย ดังเช่น “สองสามคำรำพึงถึงสายธาร”, “ภาพประพิมพ์ประพาย” แต่ผลงานที่โดดเด่นมากที่สุด คือ การนำเสนอแนวคิดในการอ่านและตีความวรรณกรรมพื้นบ้านไทย ในหนังสือ “เค้าขวัญวรรณกรรม” และการเข้าใจมิติลึกซึ้งทางพุทธศาสนาในวรรณกรรมจีนที่แพร่หลายในสังคมไทยอย่าง “ไซอิ๋ว” ที่อาจารย์ได้อธิบายความลุ่มลึกเทียบเคียงระหว่างเห้งเจียในไซอิ๋ว หนุมานในรามเกียรติ์ และแนวคิดพุทธศาสนาในไซอิ๋วเอาไว้อย่างละเอียดในหนังสือ “เดินทางไกลกับไซอิ๋ว” และหนังสือ “ลิงจอมโจก”       ผลงานชุด “เค้าขวัญวรรณกรรม” ของท่านอาจารย์เขมานันทะเล่มนี้ ท่านอาจารย์อธิบายความว่า "เค้า" หมายถึง เค้าโครง เค้าเงื่อน ส่วน "ขวัญ" ในทางหนึ่งหมายถึงสติ ชื่อหนังสือ "เค้าขวัญวรรณกรรม" ที่ปรากฏอยู่นี้ จึงหมายถึง เค้าเงื่อนแห่งสติปัญญาอันซ่อนอยู่ในวรรณกรรม ในนิทานชาดกพื้นบ้านไทย ที่บรรพชนได้สั่งสมสืบต่อกันมา       ผลงาน "เค้าขวัญวรรณกรรม" แม้ไม่เน้นหนักทางวิชาการ แต่การมองสู่นิทานพื้นบ้านก็ช่วยให้เราแลเห็นเค้าเงาทางจิตวิญญาณ(Spiritual Glimpse)ที่ซ่อนอยู่อย่างลึกซึ้ง ความแปลกใหม่ในการไขความของท่านอาจารย์เขมานันทะ ดูโดดเด่นผิดกับนักวรรณคดีทั่วไปหรือนักวิจารณ์ตะวันตก เพราะท่านเหล่านั้นมักตีความวรรณกรรมต่างๆบนพื้นฐานทัศนะทางจิตวิเคราะห์และจิตวิทยาสังคมของซิกมันด์ ฟรอยด์ แต่ท่านอาจารย์ยืนอยู่บนฐานของการเดินทางด้านใน ด้วยการปฏิบัติภาวนาผ่านภูมิต่างๆ ของชีวิต ซึ่งได้ถูกกระทำให้เป็นภูมิแห่งการเดินทางไกลในวรรณกรรม ทั้งยังได้เทียบเคียงการไขความสัญลักษณ์ต่างๆกับแนวคิดพุทธศาสนาอย่างมีหลักเกณฑ์ เห็นได้ชัดว่า ท่านอาจารย์ระมัดระวังไม่ให้เป็นการลากเข้าหาความ ด้วยรู้ดีว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง อีกทั้งชาดกต่างๆ หลายเรื่องก็เป็นเพียงนิทานจริยธรรมธรรมดา ท่านอาจารย์จึงเลือกมาพิจารณาเฉพาะบางเรื่องที่มีโครงสร้างเป็นปริศนาธรรมของการเดินทางไกลแห่งชีวิต ข้อเสนอนี้จึงควรจะได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นทรัพย์สมบัติทางปัญญาของมนุษย์       ส่วน “เดินทางไกลกับไซอิ๋ว” หรือที่นำมาตีพิมพ์ใหม่ในชื่อ “ลิงจอมโจก” นั้น เป็นผลงานนำเสนอแนวคิด ผ่านการตีความ” วรรณกรรม ซึ่งผลงานของอาจารย์ และภาษาไพเราะคมคาย สละสลวยงดงามในหนังสือ ก็ได้ทำให้ทั้งงานธรรมบรรยายและงานเขียนทุกเล่ม มีคุณค่าเสมอวรรณกรรมชั้นยอดในตัวเอง
      ผลงานของท่านอาจารย์เขมานันทะสร้างสรรค์ขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ทั้งกวีนิพนธ์ วรรณกรรม สารคดี บทความแสดงทัศนะและบรรยายธรรมะศาสนาเปรียบเทียบ บทความวิชาการเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศิลปะ และภูมิปัญญาไทย นับจำนวนหนังสือที่ท่านอาจารย์เขียนออกมายาวนานนี้ได้มากกว่า ๖๐ เล่มแล้ว ดังมีรายชื่อดังนี้       เพลงปราโมทย์ของเซ็น(๒๕๑๓), ธรรมะหรรษา(๒๕๑๔), ระเหเร่ร่อน(๒๕๑๖), เดินทางไกลกับไซอิ๋ว(๒๕๑๗,๒๕๓๑), แด่ประชาชนชาวสยาม(๒๕๑๗), ชีวิตคุณมีเพียงขณะเดียว(๒๕๑๗), ปาฐกถา ๖ เล่ม ชุดธรรมะกับชีวิต(๒๕๑๘), สุดปลายแผ่นดินโลก(๒๕๑๘), โลกดนตรี(๒๕๑๙), ศานติไมตรี(๒๕๑๙), รอบกองไฟ(๒๕๒๐), แสงไฟในหุบเขา(๒๕๒๐), ประกายไฟกลางสายธาร(๒๕๒๐), กงล้อแห่งกาละ(๒๕๒๑), ธารน้ำพุ(๒๕๒๒), บันทึกจากบ้านดง(๒๕๒๒), แด่มิตรผู้แสวงหาความรัก(๒๕๒๒), รหัสแห่งความรัก(๒๕๒๓), โพล้เพล้เพลา(๒๕๒๔), แสงดาวและคนเดินทาง(๒๕๒๖), The valley (๒๕๒๖), สองสามคำรำพึงถึงสายธาร(๒๕๒๖), เริงรำฉ่ำเดือนฉาย(๒๕๒๗), แรมรายคืน(๒๕๒๘),เ ค้าขวัญนิทานไทย(๒๕๒๙), ตามนก(๒๕๒๙), ดั่งสายน้ำไหล(๒๕๓๒,๒๕๔๔), ไตร่ตรองมองหลัก(๒๕๓๓), หิ่งห้อย(๒๕๓๓), โลกคือครอบครัวเดียว(๒๕๓๓), ฟ้าใกล้แผ่นดินไกล(๒๕๓๔), ช่วงชีวิตช่วงภาวนา(๒๕๓๖,๒๕๔๔), สุขหรือเศร้าก็เท่านั้น(๒๕๓๖), เตกูวากัน(๒๕๓๗), อันเนื่องกับทางไท(๒๕๓๘), พฤษภาผ่าน(๒๕๔๐), จากหิมาลัยถึงแอลป์(๒๕๔๐), ลิงจอมโจก(๒๕๔๐,๒๕๔๗), Know not a thing (๒๕๔๐), บุรีแห่งบรมพุทโธ(๒๕๔๐), ธรรมวิทรรศน์(๒๕๔๑), แผ่นดินดับ(๒๕๔๓),ทะเลสาบสงขลา(๒๕๔๓), ไตร่ตรองมองหลัก(ฉบับปรับปรุงใหม่,๒๕๔๓), เค้าขวัญวรรณกรรม(ฉบับปรับปรุงใหม่,๒๕๔๓), ภาพประพิมพ์ประพาย(๒๕๔๓), นิราศยุโรป(๒๕๔๓), นิราศหิมาลัย(๒๕๔๓), จากดักแด้สู่ผีเสื้อ(๒๕๔๓), กุศลเสน่หา(๒๕๔๓), ชีวิตกับความรัก(ฉบับปรับปรุงใหม่-พิมพ์ครั้งที่ ๗-๒๕๔๔), เพลงปราโมทย์ของเซ็น(ฉบับปรับปรุงใหม่-๒๕๔๔), เปลวไฟกลางสายธาร(ฉบับปรับปรุงใหม่-๒๕๔๔), ดวงตาแห่งชีวิต(๒๕๔๕,๒๕๔๘), เพียงรักและตระหนักรู้(๒๕๔๖), เนื่องในความงาม(๒๕๔๖), ลิงจอมโจก (พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๗), สืบสายธารน้ำพระทัยพระศาสดา (๒๕๔๗), จิตสถาปนา ธรรมะสถาปนา (๒๕๔๗), รุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัว (๒๕๔๘), ทะเลสาบแห่งหัวใจ(๒๕๕๐) , ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ (๒๕๕๐)       และยังมีหนังสือของท่านอาจารย์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดพิมพ์ ทั้งหนังสือใหม่ และหนังสือที่นำมาตีพิมพ์ซ้ำ อีกมากกว่า ๑๐ เล่มดังเช่น “ทางทรายใกล้ทะเลสาบ: อัตประวัติช่วงแสวงหามายาชีวิตของเขมานันทะ”, สุดปลายแผ่นดินโลก (ตีพิมพ์ซ้ำ), ชีวิตคุณมีเพียงขณะเดียว (ตีพิมพ์ซ้ำ), ปาฐกถาชุดธรรมะกับชีวิต ( เล่มตีพิมพ์ซ้ำ), และงานเขียนใหม่อีกหลายเล่ม(แต่ยังไม่ลงตัวในเรื่องชื่อหนังสือ) ที่ดำเนินการจัดพิมพ์อยู่ในขณะนี้
      อาจารย์เขมานันทะทำงานเขียนต่อเนื่องยาวนานมาถึง ๓๗ ปี และยังทำอยู่ มีผลงานตีพิมพ์ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน สำหรับงานเขียนทั้งหมดของอาจารย์ แยกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้       ๑. วรรณกรรม       -สุดปลายแผ่นดินโลก(๒๕๑๘)       -เพลงปราโมทย์ของเซ็น(๒๕๑๓)       -เพลงปราโมทย์ของเซ็น(ฉบับปรับปรุงใหม่-๒๕๔๔)
      ๒. กวีนิพนธ์       -โพล้เพล้เพลา(๒๕๒๔)       -แสงดาวและคนเดินทาง(๒๕๒๖)       -The valley (๒๕๒๖)       -สองสามคำรำพึงถึงสายธาร(๒๕๒๖)       -เริงรำฉ่ำเดือนฉาย(๒๕๒๗)       -ตามนก(๒๕๒๙)       -หิ่งห้อย(๒๕๓๓)       -ฟ้าใกล้แผ่นดินไกล(๒๕๓๔)       -พฤษภาผ่าน(๒๕๔๐)       -ภาพประพิมพ์ประพาย(๒๕๔๓)       -นิราศยุโรป(๒๕๔๓)       -นิราศหิมาลัย(๒๕๔๓)       -กุศลเสน่หา(๒๕๔๓)       -ทะเลสาบแห่งหัวใจ(๒๕๕๐)
      ๓. บทความทางวิชาการ       -เดินทางไกลกับไซอิ๋ว(๒๕๑๗,๒๕๓๑)       -เค้าขวัญนิทานไทย(๒๕๒๙)       -ไตร่ตรองมองหลัก(๒๕๓๓)       -อันเนื่องกับทางไท(๒๕๓๘)       -ลิงจอมโจก(๒๕๔๐, ๒๕๔๗)       -Know not a thing (๒๕๔๐)       -ไตร่ตรองมองหลัก(ฉบับปรับปรุงใหม่,๒๕๔๓)       -เค้าขวัญวรรณกรรม(ฉบับปรับปรุงใหม่,๒๕๔๓)       -เนื่องในความงาม(๒๕๔๖)
      ๔. บทความ       -ชีวิตคุณมีเพียงขณะเดียว(๒๕๑๗)       -แด่ประชาชนชาวสยาม(๒๕๑๗)       -ปาฐกถา ๖ เล่ม ชุดธรรมะกับชีวิต(๒๕๑๘) ประกอบด้วยหนังสือ มิติของชีวิต,ความหมายของชีวิต,เงื่อนไขของชีวิตและสังคม,ชีวิตกับความรัก,อุปมาแห่งชีวิต, ชีวิตกับการเรียนรู้       -ศานติไมตรี(๒๕๑๙)       -รอบกองไฟ(๒๕๒๐)       -แสงไฟในหุบเขา(๒๕๒๐)       -ประกายไฟกลางสายธาร(๒๕๒๐)       -กงล้อแห่งกาละ(๒๕๒๑)       -ธารน้ำพุ(๒๕๒๒)       -บันทึกจากบ้านดง(๒๕๒๒)       -แด่มิตรผู้แสวงหาความรัก(๒๕๒๒)       -รหัสแห่งความรัก(๒๕๒๓)       -ดั่งสายน้ำไหล(๒๕๓๒,๒๕๔๔)       -ช่วงชีวิตช่วงภาวนา(๒๕๓๖,๒๕๔๔)       -สุขหรือเศร้าก็เท่านั้น(๒๕๓๖)       -ธรรมวิทรรศน์(๒๕๔๑)       -จากดักแด้สู่ผีเสื้อ(๒๕๔๓)       -ชีวิตกับความรัก(ฉบับปรับปรุงใหม่-พิมพ์ครั้งที่ ๗-๒๕๔๔)       -เปลวไฟกลางสายธาร(ฉบับปรับปรุงใหม่-๒๕๔๔)       -ดวงตาแห่งชีวิต(๒๕๔๕,๒๕๔๘)       -เพียงรักและตระหนักรู้(๒๕๔๖)       -สืบสายธารน้ำพระทัยพระศาสดา (๒๕๔๗)       -จิตสถาปนา ธรรมะสถาปนา (๒๕๔๗)       -รุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัว (๒๕๔๘)       -ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ (๒๕๕๐)
      ๕.สารคดี       -ธรรมะหรรษา(๒๕๑๔)       -ระเหเร่ร่อน(๒๕๑๖)       -โลกดนตรี(๒๕๑๙)       -แรมรายคืน(๒๕๒๘)       -โลกคือครอบครัวเดียว(๒๕๓๓)       -เตกูวากัน(๒๕๓๗)       -จากหิมาลัยถึงแอลป์(๒๕๔๐)       -บุรีแห่งบรมพุทโธ(๒๕๔๐)       -แผ่นดินดับ(๒๕๔๓)       -ทะเลสาบสงขลา(๒๕๔๓)
      ๕.ตัวอย่างแนวคิดและผลงานสำคัญที่สร้างสรรค์ไว้       ในช่วงเวลาที่ทะเลสาบสงขลายังชุกสาหร่าย อุดมด้วยกุ้งงามและปลาดี กลางแวดล้อมของทุ่งข้าวและดงตาลบนแผ่นดินสทิงพระ จังหวัดสงขลา จิตรกร กวี และวิปัสสนิก ผู้มีนามจริงว่า อาจารย์โกวิท เอนกชัย หรือท่านโกวิท เขมานันทะ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๑ อาจารย์เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนชะแม โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา โรงเรียนอำนวยศิลป์ และจบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยขึ้นเป็นประธานนักศึกษาในสมัยชั้นปีที่ ๔ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมกับบทบาทโดดเด่นในฐานะผู้นำการประท้วงเกี่ยวกับความอยุติธรรมของงบประมาณในมหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษาเพียง ๒ ปี ความสนใจลึกซึ้งทางพุทธศาสนา ผลักดันให้อาจารย์เขมานันทะเข้าสู่ชีวิตนักบวชอย่างยาวนานถึง ๑๖ ปี ได้สร้างสรรค์งานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่าจำนวนมากไว้ที่โรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกขพลาราม กับได้ศึกษาพุทธธรรมและการปฏิบัติภาวนาทั้งจากท่านพุทธทาสและหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ       หลังจากยุติวิถีนักบวชในเครื่องแบบพระภิกษุเถรวาทเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ อาจารย์เขมานันทะได้กลับมาใช้ชีวิตฆราวาส สร้างสรรค์งานจิตรกรรม เขียนบทความ บทกวี ด้วยจุดหมายสูงสุดเพื่อรับใช้พุทธศาสนา พร้อมกับบรรยายธรรมะ อบรมการภาวนา และยังคงปฏิบัติธรรมอยู่ในทุกมิติของการใช้ชีวิต-ผมรับราชการของพระพุทธเจ้า-อาจารย์เคยกล่าวไว้เช่นนั้น       แต่เหนืออื่นใด ในวิถีของนักเขียน กวี และวิปัสสนิกผู้ปฏิบัติธรรมในทุกขั้นตอนของชีวิต ผลงานของอาจารย์เขมานันทะล้วนเด่นชัดว่าสร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงดลดาลของความทรงจำในวัยเด็ก จากมนตร์ขลังและความมั่งคั่งของวัฒนธรรมรอบทะเลสาบสงขลาครั้งยังบริสุทธิ์ ทั้งวิถีธรรมชาติและขนบประเพณีของปู่ย่าล้วนตรึงใจไม่ลืมเลือน เสมือนตราแห่งการเดินทางไกลของชีวิต ที่อาจารย์กล่าวว่า เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งกวีนิพนธ์ เป็นความชื่นชมต่อการเกิดมารับรู้ในสิ่งดีงาม และแนบสนิทกับแม่ธรณี…       การปฏิบัติธรรม งานเขียน งานสร้างสรรค์ทางศิลปะทุกแขนงทั้งหมดของอาจารย์เขมานันทะจึงเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติภาวนาอย่างชัดแจ้ง ดังที่อาจารย์กล่าวไว้เสมอว่า จิตกรรม บทกวี และธรรมบรรยายของตนนั้นเป็นไปเพื่อการภาวนา และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อรับใช้พุทธศาสนา       ผลงานทางด้านบทกวี ธรรมบรรยาย และบทความอันเกี่ยวเนื่องกับมหากาพย์และประเด็นลึกซึ้งทางศาสนานั้น มีหนังสือจำนวนมากของอาจารย์เขมานันทะตีพิมพ์เผยแพร่มายาวนานตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๓ จนถึงปัจจุบันประมาณ ๖๐ เล่ม เริ่มตั้งแต่เพลงปราโมทย์ของเซน(พ.ศ.๒๕๑๓,พ.ศ.๒๕๔๔) อันนับได้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับพุทธศานานิกายเซนในรุ่นแรกๆของเมืองไทย หากผลงานโดดเด่นที่มีคุณค่ายิ่งของท่านคือ “เค้าขวัญวรรณกรรม” (พ.ศ.๒๕๒๙,พ.ศ.๒๕๔๓) และ “ลิงจอมโจก” (พ.ศ.๒๕๑๗,๒๕๔๐) ซึ่งได้ไขความสัญลักษณ์ต่างๆที่ปรากฏในมหากาพย์ วรรณคดี วรรณกรรมไซอิ๋ว ชาดก และนิทานพื้นบ้านไทยหลายเรื่อง โดยเทียบเคียงสัญลักษณ์ที่ปรากฏกับแนวคิดทางพุทธศาสนาอย่างมีหลักเกณฑ์ ด้วยมุมมองที่ผ่านการปฏิบัติภาวนาผ่านภูมิต่างๆของชีวิตมาอย่างยาวนาน ส่วน “อันเนื่องกับทางไท” (พ.ศ.๒๕๓๘) นั้นถือเป็นงานคลาสสิค ที่อธิบายแนวคิดทางสุนทรียภาพของศิลปะตะวันออกเปรียบเทียบกับศิลปะตะวันตกไว้อย่างลุ่มลึก สำหรับ “ไตร่ตรองมองหลัก” (พ.ศ.๒๕๓๓,พ.ศ.๒๕๔๓) นั้น นับได้ว่าเป็นหนังสือที่นำเสนอมติทางพุทธศาสนานิกายวัชรยานไว้อย่างชัดเจนลึกซึ้งที่สุดเล่มหนึ่งที่ปรากฏในภาคภาษาไทย       ยังมีหนังสือบางเล่มของท่านเขมานันทะที่ตีพิมพ์ซ้ำมาแล้วเกือบ ๑๐ ครั้ง คือ ปาฐกถาธรรม “ชีวิตกับความรัก” ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญสืบเนื่องติดต่อกันมาโดยตลอดว่ามีความลึกซึ้งอย่างยิ่งทั้งในทางโลกย์และทางธรรม สามารถประสานขั้วต่างระหว่างความรัก กามารมณ์ และที่สุดแห่งทุกข์ให้เป็นปัจจัยหนุนเอื้อต่อการขัดเกลาพัฒนาชีวิตด้านใน       ส่วนงานปาฐกถาธรรมที่น่าสนใจยิ่งคือ“เปลวไฟกลางสายธาร” (พ.ศ.๒๕๒๐,พ.ศ.๒๕๔๔), “ดั่งสายน้ำไหล”(พ.ศ.๒๕๓๒,พ.ศ.๒๕๔๕), “ช่วงชีวิตช่วงภาวนา”(พ.ศ.๒๕๓๖,พ.ศ.๒๕๔๕), “จากดักแด้สู่ผีเสื้อ”(พ.ศ.๒๕๔๓) , และเล่มล่าสุดคือ “ดวงตาแห่งชีวิต” (พ.ศ.๒๕๔๕) ที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ ธรรมบรรยายเล่มนี้บันทึกถึงวิถีปฏิบัติภาวนาอันมุ่งสู่แก่นของ “ชีวิต” มนุษย์โดยตรง ด้วยสภาพ “รู้” ที่ “เป็น” อยู่แล้วในตัวมนุษย์นั้น มีเสมอกันทั้งปุถุชนและพระพุทธองค์ วิธีการปฏิบัติสมาธิบนฐานการเคลื่อนไหว(dynamic meditation) ที่อาจารย์เขมานันทะนำเสนอนั้น ล่วงพ้นไปจากพรมแดนของเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม เพราะเป็นกลวิธีจับความรู้สึกสดๆ เร้าความรู้สึกตัวหรือสภาพรู้ที่เป็นอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคนนี้ ให้แสดงตัวออกมาทั้งหมด และเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้รู้เห็นการเคลื่อนของกาย-จิต สามารถมองเห็นความคิด เห็นที่มาของความคิด โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ตรงญาณปัญญา อันเป็น “ดวงตา” ภายใน ที่จะประจักษ์ต่อปรากฏการณ์ทางจิต และแลเห็นแนวทางในการคลี่คลายปมปัญหาต่างๆของชีวิต
      ๖. รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ       -ศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ.๒๕๔๒       -จากดักแด้สู่ผีเสื้อ พิมพ์โดยพิมพ์คำสำนักพิมพ์เคยได้รับรางวัลที่ ๒ ของหนังสือประเภทสารคดี จากการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ ๑“ ประจำปี ๒๕๔๗

Comment #1
รส
Posted @April,21 2008 12.37 ip : 202...9

ดิฉันเป็นลูกศิษย์ของหลวงตาเล็ก(สนเฒ่าแสดงธรรม) เคยได้ยินหลวงตาเล่าเรื่องราวของอาจารย์โกวิทให้ฟังหลายครั้ง ดิฉันจึงพยายามค้นหาหนังสือที่อาจารย์เขียนมาอ่าน และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี่เอง ดิฉันเพิ่งได้อ่านหนังสือเพลงปราโมทย์ของเซน อ่านแล้วมีความสุข  ดิฉันสนใจเรื่องNoh drama  ทำอย่างไรจะมีโอกาสได้ขอคำแนะนำจากอาจารย์โกวิทค่ะ ขอบคุณค่ะ

แสดงความคิดเห็น

« 1974
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ