เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

หนังสั้นจากหนังสือ From Books to Celluloid

by Pookun @October,07 2007 22.04 ( IP : 117...14 ) | Tags : เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

หนังสั้นจากหนังสือ From Books to Celluloid


พรชัย จันทโสก : รายงาน jantasok@yahoo.com


ต้องยอมรับว่า 'ภาพยนตร์' ถือเป็นสื่ออีกแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญในการสื่อสารข้อมูลไปสู่ประชาชน และเป็นสื่อที่อยู่ในกระแสความสนใจของคนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ในกระแสจากต่างประเทศและในประเทศ รวมไปถึงภาพยนตร์นอกกระแสหรือหนังอินดี้ที่มีฐานผู้ชมขยายขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันจะเห็นว่า ภาพยนตร์สั้น หรือ หนังสั้น (Short Film) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ล่าสุดใน งานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5 (World Film Festival of Bangkok 2007) ซึ่งมีการจัดฉายภาพยนตร์จากทั่วโลกขึ้นเป็นประจำทุกปี ยังได้จัดประกวดหนังสั้นเพื่อเพิ่มสีสันและบรรยากาศในช่วงเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2550 อีกด้วย

ทั้งนี้ การจัดประกวดสำหรับประเภทนักเรียนนักศึกษานั้น ได้กำหนดหัวข้อ จากหนังสือสู่ภาพยนตร์ (From Books to Celluloid) โดยเป็นการนำรวมบทกวีร่วมสมัยเรื่อง โลกในดวงตาข้าพเจ้า ของกวีหมี่เป็ด มนตรี ศรียงค์ เจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2550 มาเป็นโจทย์ในการตีความหรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นต้นแบบของเนื้อหาสำหรับภาพยนตร์สั้นที่ส่งเข้าประกวดนั่นเอง

เป้าหมายเพื่อเป็นการเชื่อมโลกวรรณกรรมเข้ากับโลกภาพยนตร์ ที่ต่างเป็นแขนงสำคัญของศิลปะอันโน้มนำมนุษย์ไปสู่ความละเอียดอ่อนของจิตใจและปัญญาอันลึกซึ้ง ตลอดจนเพื่อช่วยกระตุ้นคนไทยให้หันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่จะได้อ่านและเข้าถึงงานเขียนประเภทกวีนิพนธ์มากขึ้นตามไปด้วย

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการนำวรรณกรรมหรือนิยายขายดีหลายต่อหลายเรื่อง มาสร้างเป็นภาพยนตร์จนโด่งดังประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย แต่การนำเอาบทกวีมาสร้างเป็นหนังอาจยังเป็นเรื่องใหม่

จากคำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ว่า... "โลกในดวงตาข้าพเจ้า ของ มนตรี ศรียงค์ เป็นบันทึกภาพความเคลื่อนไหวในชุมชนเล็กๆ ผ่านดวงตาพิเศษของกวีด้วยมุมมองเฉพาะตัวที่โดดเด่น ผสมผสานกับการย้อนรำลึกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สามารถทำให้เรื่องที่เป็นรูปธรรมเหล่านั้นโยงไปสู่ภาพสังคมโดยรวมได้

มนตรี ศรียงค์ ได้ประจักษ์ในสาระของชีวิตจากการงานที่เป็นจริงและผู้คนรายล้อม แล้วนำมาถ่ายทอดไว้ในบทกวีได้อย่างกลมกลืน มีชีวิตชีวา ศิลปะในการนำเสนออยู่ที่การสรรคำและการเรียบเรียงลำดับภาพความคิดด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์และชวนคิด"

แต่การตีโจทย์ของผู้สร้างหนังเมื่อต้องนำบทกวีในหนังสือเล่มนี้มาเป็นต้นเเบบของหนังสั้นนั้น มนตรี ศรียงค์ เจ้าของบทกวีร่วมสมัยมองว่า

"เข้าใจว่าเป็นครั้งเเรกที่มีการนำบทกวีมาถ่ายทอดเป็นหนังสั้น และเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการเปิดให้พื้นที่กวีขยายวงกว้างออกไป เพื่อให้ผู้เสพสามารถเข้าถึงบทกวีได้หลายมิติ และผู้เสพหนังสั้นก็จะสามารถเข้าถึงบทกวีของผมได้ด้วย ผมว่างานนี้เป็นการเชื่อมโลกวรรณกรรมเข้ากับโลกภาพยนตร์ เพราะทั้งสองสิ่งนี้ล้วนถือว่าเป็นศิลปะอีกเเขนงที่จะโน้มนำมนุษย์ไปสู่ความละเอียดอ่อนของจิตใจ ส่วนการตีความบทกวีของผมนั้น เป็นสิทธิตามประสบการณ์ตามวิธีคิดของแต่ละคน ว่าจะตีความออกมาอย่างไร ผมไม่ได้ไปจำกัดตรงนั้น"

ส่วนตัวเขาเองคิดว่ากวีทุกบทในหนังสือ 'โลกในดวงตาข้าพเจ้า' สามารถนำไปทำเป็นหนังสั้นได้ทั้งหมด "ผมคิดว่ามันเป็นสิทธิของแต่ละคน บางคนเขาอ่านบทกวีชิ้นนี้แล้วเขาเห็นภาพ แต่คนอื่นอาจจะเห็นเป็นชิ้นอื่นไป มันขึ้นอยู่ที่การตีความ เพราะสำหรับคนเขียนมองว่าบทกวีทุกชิ้นสามารถนำไปทำเป็นหนังสั้นได้หมด อย่างที่ผมพูดเสมอว่าการเขียนบทกวีของผม จะสร้างเป็นหนังขึ้นในหัวก่อน เห็นภาพเคลื่อนไหว ค่อยเขียนออกมาเป็นบทกวี บางทีเขียนไปคิดไป ฉะนั้นด้วยวิธีการเขียนแบบนี้จึงน่าจะง่ายขึ้นหน่อยสำหรับการเอาไปทำเป็นหนังสั้น เพราะมันตีโจทย์ได้ง่าย"

นอกจากนี้รวมบทกวีนิพนธ์เล่มนี้ยังมีหลายชิ้นที่ร่วมสมัยมากๆ เพราะเป็นเสมือนบันทึกภาพความเคลื่อนไหวในชุมชนเล็กๆ ผ่านดวงตาพิเศษของกวี ฉากต่อฉากจนกลายเป็นภาพรวมของสังคมใหญ่ และที่น่าจะโดนใจวัยรุ่นมากที่สุดคือบทกวีชื่อว่า 'มนต์รัก MSN' 'ขบวนการคลิปเรนเจอร์' หรือ 'น้องแอ๋มแคมฟร็อก' แต่ถ้าเป็นบทกวีฉายภาพอารมณ์ความเข้มขลังของกวีออกมาได้อย่างชัดเจน น่าจะเป็น 'นิพพานในร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์' หรือ 'แรมนราฯ' เป็นต้น

"บทกวีทุกชิ้น ถ้ามันสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่าได้ และสามารถนำแนวคิดมุมมองไปตีความทำเป็นหนังสั้นได้ก็จะยินดีอย่างยิ่ง หรือถ้ากลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อ่านอยากเขียนเป็นเรื่องสั้น อยากเขียนเป็นนิยายได้ ยิ่งจะดีเข้าไปใหญ่ ในฐานะผมเป็นคนจุดประเด็นนี้ขึ้นมา อย่างที่บอกคือศิลปะเหล่านี้อยู่ในแขนงเดียวกัน มันสามารถถ่ายทอดถึงกันได้

ผมดีใจมาก เวลามีคนอ่านเรื่องสั้นที่ผมเขียนแล้วเขาบอกว่าอย่างนี้เขาก็เขียนได้ แสดงว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากผม เขาเขียนได้ เพียงแต่เขาจะเขียนเมื่อไรเท่านั้นเอง สำหรับหนังสั้นได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเอาบทกวีเป็นโมเดล ตีความ ใส่รายละเอียดลงไป และต้องดูว่าประเด็นที่ต้องการจะสื่อคืออะไร" เขายังฝากไปถึงน้องนักเรียนนักศึกษาที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดด้วยว่า "ต้องอ่านหนังสือและตีโจทย์ให้แตก อ่านให้เข้าใจ จับให้ได้ว่าประเด็นที่ต้องการสื่อคืออะไร ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของรายละเอียด"

ขณะที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ 'สิงห์สนามหลวง' บรรณาธิการเครางาม ผู้ริเริ่มทำ หนังทดลอง (Experimental Film) ในประเทศไทยอย่างเอาจริงเอาจัง กล่าวถึงผลงานของเขาเองว่าเป็นการนำเสนอหนังในลักษณะ 'ภาพเล่าเรื่อง' แทนที่จะเป็น 'เรื่องเล่าภาพ' เหมือนหนังทั่วไป และยืนยันว่าเป็น 'หนังทดลอง' ไม่ได้เป็น 'หนังสั้น' อย่างที่คนเข้าใจกันมาตลอด

ในแง่ของการนำเอารวมบทกวีนิพนธ์เรื่อง 'โลกในดวงตาข้าพเจ้า' มาเป็นต้นแบบทำหนังสั้นนั้น นักเขียนและบรรณาธิการอาวุโสมองว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

"บทกวีกับหนังเป็นคนละทางกัน ฉะนั้นคนที่จะทำออกมาได้ ต้องเป็นคนที่มีความเข้าใจในเรื่องตีความบทกวี และทำให้ออกมาเป็นภาพ หมายความว่าต้องเอาไปเขียนเป็นบทก่อน ในแง่งานของมนตรีมีทางจะทำได้ แต่ว่าจะทำแบบไหนเท่านั้นเอง ถ้าตีความเป็นเรื่องเล่าภาพหมายถึงหนังตามขนบ เพราะหนังสั้นบ้านเรามีลักษณะเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบหรือเป็นเรื่องตามขนบ ฉะนั้นเขาจะเข้าใจมากแค่ไหน การเอาบทกวีมาเล่าเรื่องมันลำบาก ต้องเข้าใจ ก่อนจะนำเรื่องมาเล่าด้วยภาพให้ลงตัวได้

อย่างลักษณะงานของผมจะออกมาเป็นแนว 'หนังทดลอง' เรื่องบทไม่มีปัญหา เพราะผมเป็นคนเขียนบทเอง บางทีเอาเรื่องของผมจากสองสามหน้าหรือสองสามบรรทัดมานำเสนอในลักษณะ 'ภาพเล่าเรื่อง' เพราะส่วนใหญ่ที่เขาทำหนังกันจะเป็น 'เรื่องเล่าภาพ' ฉะนั้นคนสร้างเขาจะทำยังไง คิดว่าทำได้ ผมก็อยากดูเหมือนกัน แต่จริงๆ ผมอยากให้ผู้จัดงานเปิดกว้างมากกว่า อย่างเอาเรื่องสั้นของนักเขียนคนไหนก็ได้ที่เป็นแรงบันดาลใจไปทำเป็นหนังสั้น แต่ถ้าเอาบทกวีมาทำเป็นหนังสั้น ผมไม่รู้ว่าคนทำเขาเข้าใจมากแค่ไหน" ศิลปินผู้แสวงหาศิลปะแขนงใหม่ๆ กล่าว

ทั้งนี้ภาพยนตร์แนวทดลองชุดแรกของเขา จะได้ร่วมแสดงในงานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งนี้ด้วย พร้อมกับการเสวนาพูดคุยเปิดใจถึงผลงานทั้ง 14 เรื่อง ในวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคมนี้ เวลา 19.00 น.ณ โรงภาพยนตร์เอสพละนาด ซีนีเพล็กซ์ ถนนรัชดา ซึ่งเขาบอกว่าค่อนข้างตื่นเต้นกับหนังทดลองชุดนี้มาก

ในแง่ความเกี่ยวข้องกันระหว่างหนังสั้นกับบทกวีนั้น เขาอธิบายว่า "การนำเอาบทกวีมาทำเป็นภาพ ถ้ามองดูแง่ของการใช้ภาษาภาพ หนังมันมีภาวะเป็นเชิงกวีอยู่แล้ว ถ้าคุณตีความจากบทกวีเป็นภาพได้ เท่ากับคุณทำบทกวีออกมาเป็นภาพได้ ซึ่งเป็นแง่มุมออกมาในเชิงทดลอง หนังแนวทดลองในต่างประเทศมีความเป็นมาเป็นไป แต่บ้านเราพูดเหมารวมว่าเป็นหนังสั้นหมด อย่างหนังของผมบางเรื่องไม่มีเสียงด้วยซ้ำ บางเรื่องมีแต่ภาพ บางเรื่องมีบทกวีขึ้นสามบรรทัด เอาภาพเป็นตัวเล่าเรื่อง เพราะถ้าสร้างตามหนังสั้นที่เขาสร้างประกวดกัน งานของผมไม่ใช่หนังสั้น สำหรับผมถือว่านี่งานศิลปะเชิงทดลองหรือหนังทดลองมากกว่า

การทำหนังเป็น 'ภาพเคลื่อนไหว' หรือภาษาอังกฤษว่า 'Image Moving' ถ้าใช้โปรแกรมตัดต่อคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยมันสามารถทำได้ แต่งานของผมมีลักษณะเป็นอารมณ์เชิงกวี (Poetic Feeling) เหมาะที่จะใช้ภาพนำเสนอ แต่มันขึ้นอยู่กับการตีความของผู้สร้างว่าจะสั้นแบบไหน มุมมองลักษณะตัวเองต่างหากเป็นจุดบันดาลใจ คงไม่มีทางอื่นนอกจากต้องแปลคำออกมาเป็นภาพให้สำเร็จ ถ้าหากว่าการแปลคำเป็นภาพแล้วมันเล่าเรื่องแก่นเนื้อหาของกวีชิ้นนั้นได้

ตรงนี้มันท้าทายมาก ผมอยากเห็นว่าใครจะสามารถตีความแปลถ้อยคำออกมาเป็นภาษาภาพเชิงกวีนิพนธ์หรือเป็นหนังแนวทดลองได้ อย่างที่ผมบอกคือภาพไม่จำเป็นต้องมีบทสนทนา ไม่จำเป็นต้องมีตัวละคร มันขึ้นอยู่ที่ว่าเขาจะไปหยิบเอากวีตีความออกมาในลักษณะไหน มันมีความริเริ่ม ท้าทาย ผมว่ามันยาก คนทำต้องมีความเข้าใจทั้งเรื่องภาษาภาพและภาษากวีด้วย ถือเป็นความท้าทาย ผมอยากเห็นมาก"

บางทีถ้อยกวีเพียงวรรคเดียว อาจสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนคนหนึ่งได้มากมายมหาศาล 0

---------------------------------


กติกาการส่งประกวดหนังสั้นโครงการ World Film Festival of Bangkok 1.ประเภทนักเรียนนักศึกษา หัวข้อ 'จากหนังสือสู่ภาพยนตร์' (From Books to Celluloid) จากเรื่อง 'โลกในดวงตาข้าพเจ้า' รวมบทกวีรางวัลซีไรต์ 2550 ของ มนตรี ศรียงค์ 2.ประเภทบุคคลทั่วไป หัวข้อ 'พ่อ' ความยาว 10-15 นาที ไม่จำกัดแนวภาพยนตร์ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้-27 ตุลาคม 2550 กำหนดส่งงานวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550

ผู้ส่งผลงานต้องแนบสำเนาบทประพันธ์ตอนที่เป็นแรงบันดาลใจ (เฉพาะประเภทนักเรียนนักศึกษา) 2.ผู้ส่งผลงานต้องส่งรายละเอียดภาพยนตร์พร้อมเรื่องย่อ และ 3.รูปแบบในการส่งผลงานเป็น DVD เท่านั้น โดยส่งผลงานมาได้ที่แผนก World Film Festival of Bangkok ชั้น 12 อาคารเนชั่น ทาวเวอร์ เลขที่ 1854 ถ.บางนา-ตราด กม.4.5 บางนา กรุงเทพฯ 10260 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.0-2338-3645 และสมัครได้ที่ www.worldfilmbkk.com

รางวัลชนะเลิศ 20,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 10,000 บาท รางวัลชมเชย (5 รางวัล) รางวัลละ 5,000 บาท และรางวัลพิเศษจากผลโหวตทางโทรศัพท์ (1 รางวัล) นอกจากนี้ภาพยนตร์สั้นที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย จำนวน 14 เรื่อง จะนำไปเผยแพร่ทาง MCOT 2 ระหว่างวันที่ 1-5 ธันวาคม 2550

แสดงความคิดเห็น

« 1292
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ