เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม
วรรณกรรมชีวิตแห่ง'ดอริส เลสซิ่ง' เจ้าของรางวัลโนเบล2007
วรรณกรรมชีวิตแห่ง'ดอริส เลสซิ่ง' เจ้าของรางวัลโนเบล2007
นสพ.มติชน วันที่ 20 ตุลาคม 2550 - เวลา 08:50:29 น.
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
จอยซ์ แครอล โอตส์ นักเขียนอเมริกัน กัลยาณมิตรในแวดวงวรรณกรรม แสดงปฏิกิริยาเมื่อรับทราบว่า ดอริส เลสซิ่ง นักเขียนวัย 87 ปี ชาวอังกฤษคือผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปีนี้ไว้ว่า ดอริสควรได้รับรางวัลนี้เมื่อ 20 หรือ 30 ปีก่อนด้วยซ้ำไป
ความเห็นดังกล่าวสะท้อนฉันทามติในแวดวงวรรณกรรมทั่วโลกที่ไม่มีข้อครหาใดๆ กับความเหมาะสมของ ดอริส เลสซิ่ง กับรางวัลที่ทรงเกียรติภูมิที่สุดของโลกรางวัลนี้
คำประกาศเชิดชูเกียรติของคณะกรรมการบ่งบอกไว้ครบถ้วนว่า ทำไม นักเขียนสูงวัยผู้นี้ถึงเหมาะสมกับรางวัลนี้ ตอนหนึ่งคณะกรรมการบอกว่า ทุกอย่างที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวตนของ ดอริส เลสซิ่ง คือมหากาพย์ เป็นวรรณกรรมแห่งชีวิตที่เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์ของเพศหญิง ที่ถูกนำมาใช้เป็นพลังในการตั้งคำถาม เป็นไฟที่เร่าร้อนและเป็นวิสัยทัศน์ล้ำกาลเวลาในการรังสรรค์ผลงานที่ใช้ 'ตรวจสอบอย่างพินิจพิเคราะห์' ต่อสภาวะแปลกแยกของอารยธรรมต่างขั้ว
ดอริส เลสซิ่ง ถือได้ว่าเป็นนักเขียนมหัศจรรย์ผู้หนึ่ง ตลอดช่วงระยะเวลาร่วม 60 ปี งานเขียนหลั่งไหลออกมาจากตัวเธอไม่หยุดหย่อน ที่สำคัญก็คือ ไม่เพียงแต่ดูเหมือนวัตถุดิบของเธอจะมีไม่สิ้นสุดเท่านั้น ยังเปี่ยมพลังและชี้นำไม่สิ้นสุดอีกด้วย
งานเขียนเล่มแรกของ ดอริส เลสซิ่ง คือ 'เดอะ กราสส์ อิส ซิงกิ้ง' (1950) ที่เป็นงานพรรณนาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 'นายหญิง' ชาวไร่ผิวขาวกับทาสรับใช้ผิวสีนั้นได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลว่าเป็นทั้ง 'งานโศกนาฏกรรมบนพื้นฐานของความรักกับความชิงชัง และเป็นผลงานการศึกษาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ที่ดูเหมือนไม่มีวันผสานกันได้'
แต่ผลงานชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อทั้งในฐานะนักเขียน และทำให้ ดอริส เลสซิ่ง กลายเป็น 'คบส่องทาง' สำหรับประดาเฟมินิสต์ทั้งหลาย ก็คือ 'เดอะ โกลเด้น โน้ตบุ๊ก' ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1962 เนื้อหา 'โกลเด้น โน้ตบุ๊ก' บอกเล่าเรื่องราวของนักเขียนชื่อ แอนนา วูลฟ์ ที่เผชิญกับภาวะ 'ตีบตัน' ทางความคิด และพยายามหาทางแก้ปมดังกล่าวด้วยการระบายความคิด ความรู้สึกทั้งหลายลงไว้ในไดอารี่ 5 เล่ม งานเขียนที่ไม่ปะติดปะต่อ ไม่ต่อเนื่องกันตลอดเล่มเล่มนี้ กลายเป็นงานสะท้อนความคิดความรู้สึกของ ดอริส เลสซิ่ง เกี่ยวกับ แอฟริกา, การเมือง, เซ็กซ์, การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาตามแนวทาง คาร์ล จุง (นักทฤษฎีจิตวิทยาชาวสวิส) และความฝันของเธอได้อย่างเอกอุ
คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลวรรณกรรม ยกย่องหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ โดยถือว่าเป็นงานเขียนยุคบุกเบิกในศตวรรษที่ 20 ซึ่งสื่อสารถึงทรรศนะที่เกี่ยวเนื่องกับสัมพันธภาพระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ในห้วงเวลาที่มีหนังสือเพียงแค่หยิบมือเขียนถึงเรื่องราวเหล่านี้เท่านั้น
ดอริส เลสซิ่ง เกิดในเปอร์เซีย (อิหร่านในปัจจุบัน) เมื่อปี 1919 จากครอบครัวชาวอังกฤษที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ชื่อสกุลเดิมคือ ดอริส เมย์ เทย์เลอร์ แต่กลับต้องระหกระเหินตามครอบครัวไปเติบใหญ่ใน โรดีเซีย ประเทศในกาฬทวีป (ปัจจุบันคือ ซิมบับเว) ต้องเรียนรู้หนังสือด้วยตัวเองมาตั้งแต่อายุ 14 ในสภาวะที่เธอให้คำจำกัดความไว้เองว่า 'เหงาเหมือนตกนรก'
พ่อของเธอเป็นทหารผ่านศึกที่ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้เป็นแม่เป็นเหมือนคน 'หัวใจสลาย' เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับดินแดนแปลกหน้าได้ ดอริสเคยพูดถึงผู้เป็นมารดาไว้ว่าเป็นคนที่ 'ไม่ควรเลยที่จะอพยพออกมาอยู่นอกประเทศอังกฤษ' น่าสนใจที่ความเป็นตัวตนของดอริส เกิดขึ้นจากการบ่มเพาะของผู้เป็นแม่ที่มักสั่งซื้อหนังสือจำนวนมากจากอังกฤษไปให้ดอริสเป็นผู้อ่านให้ฟัง
ซัลส์บิวรี่ เมืองที่เธอและครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในวัยเด็ก กลายเป็นสิ่งที่ดอริส ชิงชังฝังใจ 'ฉันเอาแค่ครุ่นคิดหาทางหนีออกมาอยู่ตลอดเวลา' เธอบอก นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ดอริสแต่งงานตั้งแต่อายุแค่ 19 ปี การแต่งงานที่สั้นอย่างยิ่งและเป็นหายนะอย่างยิ่งสำหรับเธอ ไม่นานเธอก็เดินออกมาจากชีวิตคู่ พร้อมกับลูก 2 คน เพื่อแต่งงานใหม่อีกครั้งกับ กอตต์ฟรีด เลสซิ่ง นักการเมืองเยอรมัน เป็นการแต่งงานที่เธอให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น 'สมรสการเมือง'
เธอให้สัมภาษณ์ไว้หลายปีให้หลังว่า ภูมิใจอย่างมากที่อาจหาญมากพอที่จะทำอย่างนั้นเพื่อหนีให้พ้นจากโรดีเซีย ไม่เช่นนั้น เธออาจลงเอยกลายเป็นคนป่วยด้วยโรค 'พิษสุราเรื้อรัง' หรือไม่ก็ 'วิกลจริต' ไปเลย
ดอริสแยกทางกับสามีคนที่ 2 ในปี 1949 ปีเดียวกันนั้นเธออพยพกลับมายังอังกฤษ พร้อมกับปีเตอร์ ลูกชายและต้นฉบับหนังสือเล่มแรกของตัวเอง แล้วไม่ยอมโยกย้ายออกจากอังกฤษไปไหนอีกเลย แต่ย้ายบ้านไปโน่นมานี่อยู่ในอังกฤษร่วมๆ 60 ครั้งแล้วเห็นจะได้ ก่อนที่จะมาปักหลักอยู่ที่เวสต์แฮมป์สตีด กับแมวตัวโปรดในเวลานี้
หลัง 'เดอะ กราสส์ อิส ซิงกิ้ง' ได้รับการตีพิมพ์ ดอริสหยิบเอาชีวิตและประสบการณ์วัยเด็กของเธอ มาเรียงร้อยเป็นงานซีรีส์ชุด 'ชิลเดรน ออฟ ไวโอเลนซ์' (ตีพิมพ์ระหว่างปี 1952-1969 แต่มักรู้จักกันมากกว่าในชื่อหนังสือชุด (มาร์ธา เควสต์) อันเป็นงานเขียนแนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของเฟมินิสม์ยุคบุกเบิกเต็มตัว และเป็นผลงานที่บรรดานักวิจารณ์ระบุว่าฉายให้เห็นแวนักเขียนคุณภาพของดอริส เลสซิ่ง ออกมากระจะชัดเจน
หลังประสบความสำเร็จกับ 'เดอะ โกลเด้น โน้ตบุ๊ก' ดอริส ผลิตงานเขียนออกมาต่อเนื่อง แต่หันเหออกจากแนวเฟมินิสม์และโซเชียล เรียลลิสม์ ที่เคยใช้ในยุคทศวรรษ 60-70 มาเป็นแนวอื่นๆอีกหลายแนว รวมทั้งนิยายวิทยาศาสตร์ หนังสือเล่มล่าสุดของเธอที่เพิ่งตีพิมพ์ในปีนี้ชื่อ 'เดอะ เคลฟท์' เป็นนิยายย้อนยุคไปในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการตอบรับก้ำกึ่งกันระหว่างชื่นชมพอๆ กับวิพากษ์วิจารณ์
ดอริส เลสซิ่ง กวาดรางวัลด้านวรรณกรรมมามากมาย ทั้งที่ไม่ยากเย็นนักและที่ต้องเชือดเฉือนกันชนิดที่เธอบอกว่า 'อาบเลือด' กันเลยทีเดียว แต่ก็ยังยินดีกับรางวัลโนเบลวรรณกรรมที่ได้ในปีนี้ หลังจากที่เคยคิดว่าจะไม่ได้รางวัลนี้ตลอดชีวิต เพราะกรรมการโนเบลผู้หนึ่งบอกเธอตรงๆ ว่า 'โนเบล ไม่ชอบคุณ'
โนเบลวรรณกรรมสำหรับเธอแล้วเหมือนกับเล่นโป๊กเกอร์แล้วได้ไพ่ รอยัล ฟลัช ยังไงยังงั้น
ดอริส เลสซิ่ง บอกว่า จะยังไม่หยุดเขียน งานเขียนสำหรับเธอแล้วเป็นทั้งชีวิต จิตใจและกิจวัตรที่ต้องทำ
'ถ้าไม่เขียน ฉันคงต้องออกเดินท่อมๆ ไปตามถนน พูดไอ้สิ่งที่อยู่ในหัวออกมาดังๆ ให้ใครต่อใครที่ไม่รู้จักฟังตลอดวันแน่นอน'