เรื่องสั้น

วงวรรณกรรมเดือด ... คำถามถึง "หน้าที่" ของ "นักเขียน"

by kai @May,16 2011 22.50 ( IP : 223...219 ) | Tags : เรื่องสั้น

วงวรรณกรรมเดือด ... คำถามถึง "หน้าที่" ของ "นักเขียน"

วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:45:00 น.

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2554)

ในงานแสดงมุทิตาจิต "ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีกิจกรรมจากนักวิชาการหลายท่านในหัวข้อที่น่าสนใจ

แต่คงไม่มีปาฐกถาไหนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้ออกมาจากหอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ได้เท่ากับ "ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน" โดย "รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์"

จริง อยู่ ประเด็น "พันธกิจของนักเขียน" ที่ รศ.ชูศักดิ์กล่าวนั้น เคยพูดถึงมาบ้างแล้วในวารสาร "อ่าน" แต่ก็คงไม่กว้างเท่าการพูดต่อหน้ามวลชน

รศ.ชูศักดิ์ ยกเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553 และปฏิกิริยาของนักเขียนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะบทกวีจาก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และจีรนันท์ พิตรปรีชา มาเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน จึงถือเป็นความท้าทายของกวีและนักเขียนไทยว่าจะสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในยุค นี้ไปในทิศทางใด

ตัวอย่างหนึ่งที่ รศ.ชูศักดิ์ ยกมาคือบทกวีของเนาวรัตน์ในหนังสือ "คำขาดของทิดเที่ยง" ซึ่ง รศ.ชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นบทกวีที่พูดถึงเหตุการณ์ในสมัย 14 ตุลาฯ แต่เมื่อมาถึงปี 2553 ที่บรรดาทิดเที่ยงออกมาสวมใส่เสื้อแดงร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ทิดเที่ยงในนามเนาวรัตน์กลับมองว่าพวกเขาเป็นลูกสมุนโจรร้ายที่กำลังต้อง การเปลี่ยนประเทศไทย

รศ.ชูศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลังเหตุการณ์ดังกล่าวในกลุ่มนักเขียนและกวีได้นิยามเหตุการณ์เป็น 2 นิยามใหญ่ๆ คือ นิยามเผาบ้านเผาเมือง กับการปราบปรามประชาชน พร้อมยกตัวอย่างบทนำในหนังสือ "เพลิงพฤษภา รวมบทกวีร่วมสมัยบันทึกไว้ในความทรงจำ" โดยมี แก้ว ลายทอง ทำหน้าที่บรรณาธิการคัดสรรเรื่องมาประกอบ

"ผม อดถามไม่ได้ว่า แล้วบรรดาเหล่ากวีและนักเขียนที่ได้รับอานิสงส์จากความเป็นนักเขียนเพื่อ ประชาชน จนกระทั่งเชิดหน้าชูตาในฐานะตัวแทนของเสียงแห่งมโนธรรม พวกเขาไปอยู่ที่ไหนในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเพราะพวกเขาไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเหล่านั้นเป็นคน ดังนั้น ความตายของพวกเขาจึงไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.2553 จึงอำมหิตกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในแง่ที่ไม่เพียงคนตายเท่านั้นที่ถูกปฏิเสธความเป็นมนุษย์ แต่ผู้ชุมนุมนับหมื่นนับแสนในเหตุการณ์นี้ถูกทำให้ด้อยค่า ไร้ความหมายยิ่งเสียกว่าโค กระบือ ซึ่งคนเมืองชอบไปซื้อขายชีวิตเป็นประจำ"

(ฟังฉบับเต็มได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=HtQSRRgLQ4A)

หลังปาฐกถานี้เผยแพร่สู่สาธารณชน ได้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันในวงวรรณกรรมอย่างกว้างขวาง เข้าขั้น "เดือด" กันเลยด้วยซ้ำ

ว่า ที่จริงแล้วหน้าที่ของนักเขียนคืออะไรกันแน่ กำลังละเลยสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจริงหรือเปล่า รวมถึงนี่คือการมองแค่เพียงมุมเดียวตามทัศนคติทางการเมืองของ อ.ชูศักดิ์ จนก่อเกิดการ "เหมารวม" หรือเปล่า"

และจากนี้คือมุมคิดบางส่วนของนักวิจารณ์-นักเขียน ที่ทั้งสองท่านได้ฟังปาฐกถาด้วยตัวเอง

---จรูญพร ปรปักษ์ประลัย---

"ร้อน ท่ามกลางสายฝนกระหน่ำ นี่เป็นบรรยากาศของแวดวงนักเขียน หลังการแสดงปาฐกถาาของ อ.ชูศักดิ์ ที่เหมือนกำหมัดซัดใส่ปลายคางกวี/นักเขียนที่ไม่ได้เขียนงานเอียงข้าง ประชาชนคนเสื้อแดง กวีรุ่นใหญ่และรุ่นกลางถูกเช็คบิลกันโดยทั่วหน้า หลายชื่อถูกเอ่ยถึงแบบไม่ลังเล ชนิดเล่นกันแบบจะๆ ไปเลย

"ทว่า ดูเหมือน อ.ชูศักดิ์ ไม่ได้คาดหวังว่าการพูดครั้งนี้จะเปลี่ยนกวี/นักเขียนทั้งหลาย ให้หันมาเขียนงานเพื่อประชาชนคนเสื้อแดงได้จริงๆ เพราะอาจารย์ก็คงรู้ดีว่าการพูดด้วยน้ำเสียงกร้าวกลางที่สาธารณะเช่นนี้ ย่อมไม่น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีนัก ดังนั้น การพูดนี้จึงอาจแค่เป็นการระบายสิ่งที่อึดอัดอยู่ภายใน ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ อ.ชูศักดิ์ ออกมาพูดทำนองนี้ เพียงแต่คราวนี้การพูดได้กระจายไปในวงกว้างกว่าครั้งที่ผ่านมาเท่านั้น

"สิ่ง ที่น่าสนใจในเหตุการณ์นี้ นอกเหนือจากการตั้งประเด็นที่ช่างท้าทายให้เกิดการโต้เถียงเพื่อความเจริญ งอกงามทางสติปัญญาอย่างเหลือเกินแล้ว ยังเป็นท่าทีแบบประกาศสงครามของนักวิชาการวรรณกรรมอย่าง อ.ชูศักดิ์ ที่ดูเหมือนจะเอียงกระเท่เร่ไปข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจน

"ประเด็น คำถามที่ อ.ชูศักดิ์ ตั้งขึ้นมา คงทำให้กวี/นักเขียนทั้งหลายต้องนำไปขบคิด เพื่อตอบตัวเองอีกครั้งถึงจุดยืนของแต่ละคน แต่ขณะเดียวกัน มันก็เหมือนงูที่ขว้างไม่พ้นคอ สิ่งที่อาจารย์พูด สุดท้ายจะย้อนกลับมาเล่นงานตัวผู้พูดเองในลักษณะที่ว่า ก่อนที่จะไถ่ถามถึงคุณธรรมของผู้อื่น จงไถ่ถามถึงคุณธรรมของตัวท่านเองเสียก่อน"

---ศิริวร แก้วกาญจน์---

"ในสังคมที่แตกกระจายเช่นสังคมไทย ณ ขณะนี้ การจะมานั่งไถ่ถามถึงพันธกิจของงานเขียน ผมว่ามันไม่น่าจะมีประโยชน์

"เพราะ ท่ามกลางสภาวะอันแตกกระจายเช่นที่เรารับรู้กันอยู่นี้ แม้แต่ความจริงก็ถูกช่วงชิงจากทุกฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็เชื่อว่าตนเป็นผู้เกาะกุมความจริง ยึดกุมความรู้ที่เชื่อว่าถูกต้องกันคนละชุด

"ฉะนั้น ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ที่ผมสนใจก็คือ กวี/นักเขียนควรถอดรื้อความคิดสองชุดหลักๆ ของสองอุดมการณ์ที่กำลังปะทะกันอย่างเข้มข้นในสังคมออกมา เพื่อหาโครงสร้างของความบิดเบี้ยวซึ่งกำลังสั่นสะเทือนประเทศเรา แต่ยังมีความจริงอีกแบบหนึ่งก็คือ กวีและนักเขียนเองจำนวนไม่น้อยก็สังกัดอยู่ในอุดมคติสองแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้พวกเขาทั้งสองฟากฝ่ายความเชื่อ ถอดตัวเองออกจากตัวเอง อีกทั้งสองฝ่ายความเชื่อนี้ต่างฝ่ายต่างมุ่งมองกันด้วยสายตาที่กดข่มกันอยู่ เช่นฝ่ายหนึ่งมองว่าอีกฝ่ายมองโลกมองสังคมแบบโรแมนติคเกินไป ขณะอีกฝ่ายก็เห็นฝ่ายตรงข้ามเอ็กโซติคจนเกินจริงไปหน่อย จึงยากที่จะถอดรื้อความคิดที่ปะทะกันอยู่ได้โดยง่าย

"สังคมวรรณกรรมไทยต้องการนักวิจารณ์วรรณกรรมที่แหลมคม แต่ต้องเป็นนักวิจารณ์ที่ไม่เลือกบรรจุตัวเองลงในกรอบอุดมคติแบบใดแบบหนึ่ง

"แทน ที่จะมุ่งวิพากษ์วิจารณ์อุดมการณ์เกี่ยวกับประชาชนที่เปลี่ยนไปของกวี นักเขียน ก็ควรจะตั้งคำถามใหม่ว่า เพราะเหตุใดในยุคปัจจุบันถึงตีความคำว่าประชาชนต่างกันไปคนละขั้วอย่างที่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

"อะไรทำให้การเขียนความ หมายของประชาชนโดยกวี/นักเขียน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมถึงเปลี่ยนไปจากเดิม ขณะที่ฝ่ายซึ่งเรียกตัวเองว่าฝ่ายก้าวหน้า ทำไมถึงพยายามแช่แข็งความหมายของประชาชนไว้ในนิยามเก่าๆ ทั้งที่ประชาชนในทศวรรษที่ 2510 กับ 2550 ถูกหล่อหลอมมาคนละแบบ และแทบจะไม่เหมือนกันเลย

"ผมเชื่อว่าถ้านักวิจารณ์ลุกขึ้นเอาตัวบท มาถอดรื้อหานิยามความหมายและโครงสร้างของความโกลาหลที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เลือกถอดรื้อตัวบทจากอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง แล้วสถาปนาความหมายให้อีกฝ่ายเพื่อกดข่มอีกฝ่ายลงด้วยวาทกรรม ชี้นิ้วว่าควรจะคิดหรือไม่คิดแบบนี้แบบนั้น โดยลากความหมายเข้าสู่ปริมณฑลของอุดมคติทางการเมืองที่ตนสังกัด ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้สังคมไทยยิ่งแตกกระจายแล้วนั้น

"สังคมเราก็จะได้ความรู้ชุดใหม่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านบางอย่างในทางที่ดีขึ้น"

---ดร. ภาณุ ตรัยเวช---

"เรา อาจจะแบ่งวิธีการมองโลกในสังคมไทยได้เป็นสองแบบ คือแบบวิพากษ์วิจารณ์ (criticizing) ตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่ถูกใจและผิดใจเรา และแบบดื่มด่ำฝันหวาน (romanticizing) คือปักธงไว้ล่วงหน้าแล้วว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้เลว จากนั้นใช้สำนวนโวหาร และเครื่องมือทางวัฒนธรรม เชิดชูสิ่งหนึ่งและขับไล่ไสส่งอีกสิ่งหนึ่ง

"ผม มองต่างจากคนอื่น คือไม่ได้มองไปที่ประเด็นพันธกิจนักเขียน สำหรับผมคุณูปการสูงสุดของปาฐกถาชิ้นนี้คืออาจารย์ได้นำโลกทรรศน์สองแบบฟาด เปรี้ยงเข้าหากัน สังเกตว่าในวันที่ 7 พฤษภาคม มีปาฐกถาทั้งหมดห้าชิ้น ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ แต่เพราะเหตุใดปาฐกถาว่าด้วยวรรณกรรมถึงสร้างกระแสตีกลับรุนแรงสุด

"ผม เชื่อว่าเพราะนี่เป็นปาฐกถาชิ้นเดียวที่คนนอกวงการ (ซึ่งเป็นนักวิชาการ) มองเข้าไปในโลกของนักเขียน ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการมองวรรณกรรมจากโลกทรรศน์ที่แตกต่างไปจากเดิม (แม้แต่จิตร ศรีบูรพา หรือนายผีก็ยังติดอยู่ในกรอบดื่มด่ำฝันหวานแบบเพื่อชีวิต)

"คำ ถามว่า ′นักเขียนจำเป็นต้องนำเสนอภาพคนตายในโศกนาฏกรรมราชดำเนิน-ราชประสงค์หรือไม่ ′ จึงมีความหมายน้อยกว่า ′วรรณกรรมไทยมีส่วนสร้างความขัดแย้งในสังคมหรือเปล่า′ และถ้าใช่ ด้วยกรอบความคิดแบบใด ถ้าเราจะเดินออกจากความขัดแย้งนี้ เราควรเลือกหนทางเดิมที่พาเราเดินเข้ามา หรือเปลี่ยนมาใช้โลกทรรศน์แบบอื่นดู

"ถ้าผมจะมีพันธกิจในฐานะนักเขียน คงไม่ใช่การรับใช้ประชาชน แต่เป็นการรับใช้ความจริง"

แสดงความคิดเห็น

« 1466
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ