เรื่องสั้น
อ่าน "นิยายกำลังภายใน"ในฐานะ "วรรณกรรมการเมือง"
อ่าน "นิยายกำลังภายใน"ในฐานะ "วรรณกรรมการเมือง"
วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:48:59 น.
สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์๑
วรรณกรรมและสังคมที่ผลิตวรรณกรรมนั้นขึ้นย่อมมีปฏิสัมพันธ์กัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งวรรณกรรมกับผู้อ่านย่อมมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การเลือกเสพวรรณกรรมชนิดหนึ่งย่อมสะท้อนโลกทรรศน์ ความคิด และความคาดหวังของผู้เสพ ขณะเดียวกันเนื้อหาของวรรณกรรมย่อมมีผลหล่อหลอมความคิดและพฤติกรรมของผู้เสพ ด้วย ดังนั้นภาวะเสพติดนิยายกำลังภายในในสังคมไทย ระหว่างทศวรรษ ๒๕๐๐-ทศวรรษ ๒๕๑๐ ย่อมสะท้อนอะไรบางอย่าง
นักวิชาการตะวันตกและจีนจำนวนไม่น้อยได้ทำการศึกษา "บู๊เฮียบ" ๒ ในฐานะวรรณกรรมที่สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแต่ละยุคสมัยไว้อย่างน่า สนใจ๓ ทว่าวงวิชาการไทยกลับมิได้สนใจศึกษานิยายกำลังภายในในฐานะกระจกสะท้อนภาพ สังคมเลย อาจกล่าวได้ว่าเพราะผู้คนจำนวนมากมองนิยายกำลังภายในว่าแปลมาจากภาษาจีนจึง ไม่อาจสะท้อนสภาพสังคมไทยได้อย่างแท้จริง ทั้งยังมองว่านิยายกำลังภายในเป็นเพียงวรรณกรรมประโลมโลกย์ ไร้สาระ กระทั่งโก้วเล้งผู้ประพันธ์นิยายกำลังภายในชื่อดังได้กล่าวถึงทัศนะดังกล่าว ไว้ว่า
"ในสายตาของผู้คนจำนวนมาก เรื่องจีนกำลังภายในมิใช่เพียงไม่ใช่วรรณกรรม ทั้งยังไม่อาจนับเป็นนวนิยายเฉกเช่นกับไส้เดือน แม้เคลื่อนไหวได้ แต่น้อยคนนักที่เห็นมันเป็นสัตว์เลื้อยคลาน"๔
อย่างไรก็ตามความนิยมนิยายกำลังภายในในยุคทศวรรษ ๒๕๐๐-ทศวรรษ ๒๕๑๐ ถึงขั้นเสพติดย่อมมิใช่เรื่องธรรมดา
นิยายกำลังภายในเริ่มปรากฏเป็นที่นิยมแพร่หลายในสังคมไทยราวทศวรรษ ๒๕๐๐ ผ่านการแปลจากภาษาจีนสู่ไทย๕ เรื่องแรกคือมังกรหยก แปลโดย จำลอง พิศนาคะ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยมีสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ (ศิริอักษร) เป็นผู้จัดพิมพ์ การจัดพิมพ์สมัยนั้นมักประกาศให้สั่งจองกันล่วงหน้า และจะมีการพิมพ์ซ้ำเป็นปกแข็งรวมชุดอีกครั้งหนึ่ง
ว่ากันว่าสำหรับเรื่องมังกรหยกช่วงที่โด่งดังนั้น มีคนอ่านเข้าคิวไปซื้อหนังสือสดๆ ร้อนๆ ถึงขั้นยืนอ่านกันตอนเพิ่งออกมาจากแท่นทีเดียว๖ กระทั่งบริเวณร้านเช่าหนังสือแถวบางลำพู หรือตรอกโรงหนังเท็กซัสก็จะเห็นบรรดานักอ่านชายเต็มไปหมด ทุกเย็นร้านให้เช่าหนังสือส่วนใหญ่จะแน่นขนัดไปด้วยนักอ่านผู้กระหายท่องโลก บู๊ลิ้ม บางคนเช่าแล้วไม่อาจรอจนถึงบ้าน ต้องนั่งสลอนอ่านกันจนแทบลืมหายใจ
จากสถิติการให้เช่าหนังสือของร้านหรรษาและชื่นชมสาส์นซึ่งเป็นร้านใหญ่ ย่านบางลำพูช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ พบว่านิยายกำลังภายในมีผู้เช่าอ่านไม่ต่ำกว่าวันละ ๑๐๐ เล่ม ขณะที่หนังสืออื่นรวมทั้งนิยายมีผู้เช่าไม่เกินวันละ ๓๐ เล่ม โดยผู้เช่านิยายกำลังภายในร้อยละ ๘๐ เป็นชาย๗ ยอดพิมพ์นิยายกำลังภายในมีจำนวนสูงถึง ๔,๐๐๐ เล่มต่อวัน ราวร้อยละ ๖๐ ส่งไปจำหน่ายต่างจังหวัด ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายในกรุงเทพฯ๘
จากการประมาณการเบื้องต้นพบว่าระหว่างทศวรรษ ๒๕๐๐-ทศวรรษ ๒๕๑๐ มีการพิมพ์นิยายกำลังภายในอย่างน้อย ๓๔๓ เรื่อง เฉลี่ยแล้วในช่วง ๒๐ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๒๐ มีการพิมพ์นิยายกำลังภายในปีละ ๑๗ เรื่อง โดยปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นปีที่มียอดพิมพ์นิยายกำลังภายในสูงสุดถึง ๓๕ เรื่อง๙
ความคลั่งไคล้ ลุ่มหลงนิยายกำลังภายในราวยาเสพติดนี้สะท้อนให้เห็นจากความทรงจำของผู้อ่าน ในสมัยนั้น ๒ ราย รายแรกได้กล่าวถึงการอ่านนิยายกำลังภายในครั้งแรกว่าได้อ่านขณะบวชเณร เพราะนิยายกำลังภายในแพร่ไปถึงในกุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งเต็มไปด้วยนิยายบู๊ลิ้มมากมาย๑๐ ส่วนอีกรายหนึ่งกล่าวว่าได้สัมผัสกำลังภายในครั้งแรกผ่านการเสพด้วยหูราวต้น ทศวรรษ ๒๕๐๐ เพราะเพื่อนสมัยมัธยมผู้ชมชอบอ่านยุทธนิยายเรื่องมังกรหยก
มาสร้างประเพณีอย่างใหม่เกือบทุกบ่ายให้กลุ่มเพื่อน คือ แทนที่จะไปวิ่งเล่นตามปกติ เขาและเพื่อนกลับล้อมวงฟังสหายผู้ชมชอบยุทธนิยาย เล่าเรื่องราวอันเพริศแพร้วพรรณรายจากยุทธนิยายเรื่องมังกรหยก๑๑
นอกจากการอ่านและฟังเพื่อนเล่านิยายกำลังภายในแล้ว นิยายกำลังภายในยังถูกนำมาอ่านออกอากาศทางเสียงตามสาย และมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เมื่อตกเย็นเป็นต้องมานั่งเฝ้าหน้าตู้ลำโพงไม่เป็นอันไป ไหน๑๒
นิยายมวลชน พลิกผันสู่ วรรณกรรมการเมือง
ระหว่างทศวรรษ ๒๕๐๐-ทศวรรษ ๒๕๑๐ รัฐบาลเผด็จการทหารควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาวิจารณ์รัฐและสังคมอย่าง เข้มงวด หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ส่วนมากจึงเป็นเรื่องทำนองพาฝัน เน้นอารมณ์ส่วนตัว ชวนให้หลงใหลไปกับจินตนาการ การผจญภัยที่เลื่อนลอย ด้วยเหตุที่นิยายกำลังภายในถูกจัดอยู่ในหนังสือประเภทนี้ทำให้การตีพิมพ์เผย แพร่ไม่ถูกจำกัดด้วยอำนาจรัฐ
แม้ดูเผินๆ นิยายกำลังภายในจะเป็นเรื่องไร้สาระ ทว่าหากพิจารณาการดำรงอยู่ของนิยายกำลังภายในที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ย่อมสะท้อนว่านิยายกำลังภายในมีคุณค่าบางอย่างที่สัมพันธ์กับผู้อ่านในสังคม ไทย หากพิจารณานิยายกำลังภายในจากมุมมองอื่นจะพบว่าแท้ที่จริงแล้ว "นิยายกำลังภายใน" เป็น "นิยายการเมือง"
พิจารณาจากโครงเรื่องจะพบว่า โครงเรื่องมักกล่าวถึงตัวเอกที่เป็นวัยรุ่น ทว่ามีความแค้นที่ต้องชำระกับฝ่ายอธรรมที่พยายามก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในใต้ หล้า อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นขุนนางกังฉิน หรือจอมมารในยุทธจักร ชีวิตตัวเอกมักตกระกำลำบากมาแต่เกิด แต่มีโอกาสไปฝึกวิชาตามสำนักต่างๆ ซึ่งจัดอยู่ในฝ่ายธรรมจนเก่งกาจไร้ผู้ใดเทียมทาน แล้วจึงเริ่มออกเดินทางล้างแค้น โดยฝ่ายอธรรมอาจแฝงตัวเป็นวีรบุรุษจอมปลอมหรือนักบุญผู้มีคุณธรรม นิยายกำลังภายในส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการรักษา ปกป้อง และช่วงชิง อำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งหากการเมืองเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจแล้ว นิยายกำลังภายในก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองอย่างปราศจากข้อสงสัย๑๓ ขณะเดียวกันเนื้อหาที่ปราศจากความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐย่อมเป็นมาตร วัดสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มีอยู่เพียงน้อยนิดได้เป็น อย่างดี๑๔ หากพิจารณาโครงเรื่องนิยายกำลังภายในของนักประพันธ์ยอดนิยม คือกิมย้งและโก้วเล้ง จะพบว่านิยายกำลังภายในเป็น "วรรณกรรมต่อต้านรัฐและสังคม" อย่างแท้จริง
แม้โครงเรื่องของกิมย้งจะกล่าวถึงบุญคุณและความแค้นเช่นเดียวกับนิยาย กำลังภายในทั่วไป ทว่านิยายกำลังภายในของกิมย้งมีจุดต่างตรงที่พยายามเน้นให้เห็นความรักชาติ และความต้องการที่จะช่วยเหลือชาติบ้านเมืองโดยไม่สมัครเข้ารับราชการ ไม่รับความดีความชอบจากทางการ กลับพยายามช่วยเหลือประชาราษฎร์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผู้ปกครอง ขุนนางกังฉิน รัฐ วีรบุรุษจอมปลอม และการแย่งชิงอำนาจในกลียุค นอกจากนี้ตัวเอกยังมักหลุดพ้นจากพันธนาการของรัฐและสังคม เช่น เรื่องมังกรหยก เมื่อก้วยเช็งทราบว่าเจงกิสข่านละเมิดสัญญาที่เคยรับปากว่าจะไม่รุกรานแผ่น ดินไต้ซ้องอันเป็นแผ่นดินแม่ ความรักชาติก็ได้ทำให้ก้วยเช็งหนีออกจากกองทัพของเจงกิสข่าน นิยายเรื่องดังของกิมย้งอีกเรื่องคืออุ้ยเซี่ยวป้อ ยิ่งให้ภาพตัวละครเอกที่หลุดพ้นจากพันธนาการของรัฐและสังคมอย่างชัดเจน อุ้ยเซี่ยวป้อเป็นตัวละครเอกจอมเจ้าเล่ห์และเสเพล กิมย้งได้กล่าวถึงตัวละครเอกนี้ไว้ว่า "มีทั้งด้านที่สูงส่งและต่ำช้า อุ้ยเซี่ยวป้อไม่เอาการ เอางาน เพียบพร้อมด้วยอุบายนานาชนิด ทั้งขโมย หลอกลวง ช่วงชิง ละโมบ พนัน เที่ยวสตรี"๑๕
ส่วนโครงเรื่องนิยายกำลังภายในของโก้วเล้ง ส่วนใหญ่มิได้เริ่มต้นเรื่องด้วยการไล่ล่าล้างแค้น หากแต่เน้นความเปลี่ยวเหงา การประพฤติตัวเป็นเสรีชน ความเป็นปัจเจกที่หลุดพ้นจากพันธนาการของรัฐและสังคม คุณธรรมน้ำมิตร การให้อภัย และเสียสละ เช่น เรื่องจับอิดนึ้ง ตัวเอกผู้ถูกประณามว่าเป็นขุนโจรกลับเป็นผู้ช่วยยุทธจักรให้พ้นภัย โดยตัวเอกเป็นปัจเจกผู้อุดมด้วยความเปลี่ยวเหงา ดังนี้
"เซียวจับอิดนึ้ง คล้ายสุนัขจิ้งจอกที่ทั้งโดดเดี่ยวทั้งเงียบเหงา ทั้งหนาวเหน็บทั้งหิวโหย ดิ้นรนอยู่ท่ามกลางพื้นที่หนาวเหน็บ เพื่อการอยู่รอดของตัวเอง แต่ในใต้หล้าไม่มีผู้ใดยื่นมือประคับประคองมัน ทุกผู้คนเพียงคิดเตะมันสักเท้าหนึ่ง เตะมันจนตาย..."๑๖
งานเขียนของโก้วเล้งเกือบทุกเรื่องมักเน้นปัญหาของคำว่า "รัก" โก้วเล้งถือว่าความรักเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับรอยยิ้มและความเชื่อมั่น เขาเห็นว่าชัยชนะที่แท้จริงมิอาจแย่งชิงมาด้วยอาวุธ มีแต่รักแท้และจริงใจ โดยอาศัยความเชื่อมั่นศรัทธาจึงสามารถได้สิ่งเหล่านั้นมา๑๗ ดังนั้นนิยายของโก้วเล้งส่วนมากจึงไม่เน้นฉากต่อสู้ รวมทั้งวิทยายุทธ์สุดอลังการ หากเน้นที่ความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก
กำลังภายใน ในฐานะอาวุธทางการเมือง
ระหว่างทศวรรษ ๒๕๐๐-ทศวรรษ ๒๕๑๐ ความเป็นจีนถูกทำให้เป็นปมด้อยที่น่ารังเกียจ ด้วยวาทกรรมปีศาจจีนแดง ที่สร้างโดยรัฐไทยและโลกเสรีเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้ภาพของกลุ่มชาติพันธุ์จีนเป็นภาพของภัยคุกคาม ป่าเถื่อน และด้อยพัฒนา ดังปรากฏภาพตามสื่อต่างๆ อาทิ วรรณกรรมและหนังสือพิมพ์
"ลูกสาวหลวงพานิชโกศล เจ๊ก เจ๊ก" สุดใจพูดลงเสียงหนักแน่น
"ไม่มีสวยตรงไหนจนนิดเดียว แต่งตัวก็เร่อร่าที่สุด"๑๘
"ในกรุงเทพฯ มีชาวจีนอาศัยอยู่มาก จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีผู้ที่มีเชื้อจีนจำนวนมาก การที่มีคนอยู่ในที่แออัดมากๆ ประกอบกับเป็นผู้ที่ไม่มีความเคร่งครัดในระเบียบประเพณีย่อมจะทำให้เกิดมี ศีลธรรมเสื่อมโทรมเป็นธรรมดา นอกจากนั้นวัฒนธรรมประเพณีของคนที่มีเชื้อสายคนต่างด้าวก็ย่อมจะไม่เคร่ง ครัดไปทางไหนแน่ พูดง่ายๆ ว่าเด็กที่มีเชื้อต่างด้าวนี้ไม่อาจเป็นจีนผู้ดีหรือไทยผู้ดีได้ เพราะไม่มีโอกาสได้รับการอบรมให้ดีทั้งสองทาง"๑๙
สภาวะดังกล่าวทำให้ลูกจีนในไทยพากันถอยห่างจากอัตลักษณ์จีนด้วยวิธีการ ต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนชื่อแซ่เป็นนามสกุลแบบไทย ทว่าคนรุ่นพ่อแม่ที่มาจากแผ่นดินใหญ่ กลับต้องการให้พวกเขาดำรงอัตลักษณ์จีนไว้มากที่สุด สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้สร้างความตึงเครียดให้กับบรรดาลูกจีนมาก อย่างไรก็ตามลึกแล้วๆ บรรดาลูกจีนก็ยังคงสำนึกใน "ความเป็นจีน" ของตน ดังสะท้อนจากการยึด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของลูกจีนรายหนึ่ง
"ในฐานะลูกจีนที่พ่อแม่อพยพมาจาก ′แผ่นดินใหญ่′ ชื่อของอาจารย์ยิ่งมีความหมายต่อผมยิ่งกว่าลายเซ็นในธนบัตร เพราะอาจารย์เป็นเหมือน ′ฮีโร่′ ของครอบครัว ผมยังจำได้ดีว่าเรื่องของอาจารย์เป็นตำนานสอนใจที่แม่คอยเล่าให้ฟังตอนเด็กๆ ไม่ใช่ในฐานะลูกจีนที่ ′ได้ดิบได้ดี′ เท่านั้น...อาจารย์ป๋วยเป็นความภูมิใจของเด็กลูกจีนอย่างเราอีกอย่างหนึ่ง เพราะอาจารย์กล้ายืนยันใช้ชื่อแบบ ′เจ๊ก′ ที่เตี่ยตั้งให้ สมัยที่ผมโตขึ้นมาในยุคสฤษดิ์-ถนอม ความเป็น ′ลูกเจ๊ก′ เป็นปมด้อยอย่างหนึ่ง"๒๐
เพื่อที่จะลืมเลือนปัญหาในเรื่องอัตลักษณ์ ลูกจีนจำต้องแสวงหา "อัตลักษณ์ให้กับตัว" ในเมื่อเป็นไทยก็ไม่เต็มที่ เป็นจีนก็ไม่ได้ ลูกจีน โดยเฉพาะนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย จึงเลือกที่จะดำรงอัตลักษณ์เป็น "วีรชนปฏิวัติ" โดยการรับอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ทั้งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง ซึ่งเน้นปัญหาชนชั้นเป็นแกนหลักทางการเมืองและสังคม ทำให้พวกเขาสามารถลืมเลือนปัญหาในเรื่องชาติพันธุ์ที่ประสบอยู่๒๑
บรรดานักศึกษาเหล่านี้เป็นแกนนำสำคัญ ในการแสดงพลังต่อต้านรัฐเผด็จการทหารในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โดยเหตุการณ์ดังกล่าว มีสามัญชนจีนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งโดยการร่วมเดินขบวนและเอาใจสนับสนุน๒๒
นอกจากการต่อต้านรัฐเผด็จการ โดยการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผย เช่น การเดินขบวนแล้ว การต่อต้านในเชิงการเมืองวัฒนธรรม โดยอาศัย "นิยายกำลังภายใน" เป็นอาวุธ ยังเป็นแนวทางหนึ่งของการเคลื่อนไหว อาทิ การพลิกผันความหมายของงิ้วและกำลังภายใน จากเรื่องของความบันเทิงให้กลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เริ่มเกิดการแสดงงิ้วธรรมศาสตร์โดยบรรดาลูกจีน การแสดงส่วนมากจะใช้เรื่องสามก๊ก ในพงศาวดารจีนแสดงนำ เนื่องจากเรื่องสามก๊กเป็นเรื่องที่มากด้วยแม่ทัพนายกอง มีการรบราฆ่าฟัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนายทหารทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคเผด็จการทหาร เช่น ครั้งหนึ่งมีงิ้วการเมืองล้อเลียนจอมพลสฤษดิ์ ใช้ชื่อตัวละคร "ตั๋งโต๊ะ" เป็นคนแก่ชอบมีเมียสาว๒๓ ภายหลังก็มีการแสดงศิลปะการละครล้อการเมือง ที่นำเอาเรื่องราวกำลังภายในเข้ามาผสมในพล็อตเรื่องด้วย๒๔
นอกจากนี้ความนิยมนิยายกำลังภายใน จนถึงขั้นสำนักพิมพ์หาต้นฉบับแปลไม่ทัน ทำให้ผู้แปลมีการเลียนแบบเขียนนิยายกำลังภายในขึ้นมาเอง๒๕ และการที่นิยายกำลังภายในถูกมองเป็นเพียงนิยายประโลมโลกย์ทำให้นักเขียนบาง คนเขียนนิยายล้อการเมืองโดยใช้โครงเรื่องและสำนวนนิยายกำลังภายใน เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมของรัฐ อาทิ "นิทานการเมืองมหาอาณาจักรเสียมก๊กอันไพศาล" ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ธงไทย ราว พ.ศ. ๒๕๑๓-๑๗ และมีการรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มในสมัยต่อมา การดำเนินเรื่องเริ่มแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมาจนถึงสมัย พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยใช้ชื่อตอน ตัวละคร องค์กร เลียนแบบนิยายกำลังภายในและสามก๊ก เช่น ตอนทำเนียบบู๊ลิ้ม จิวเสพ่ายความเมือง ศึกเสมหะ สุมาตุ๊เครียดศึก การประลองโอ๊ยฮ่วยเกม ส่วนตัวละครสำคัญก็มีดังนี้ เล่าถอม (ถนอม) สุมาตุ๊ (ประภาส) เตียหวี (ทวี) เป็งหมัง (ประมาณ) ตั้งโซริด (สฤษดิ์) จิวเส (เสนีย์) จิวคึก (คึกฤทธิ์) โอวบุ้นป่อ (บุญชู โรจนเสถียร) โค้วตงหมง (ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์) วงบู๊ลิ้ม (วงการเมือง) สำนักกระบี่เหลืองแดง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซือตี๋ซือม่วย (นักศึกษา) เหล่าใบบอก (นักหนังสือพิมพ์)๒๖
พ้นไปจากการใช้กำลังภายในเป็นอาวุธในการเคลื่อนไหว การเสพนิยายกำลังภายในยังมีความสำคัญไม่น้อยต่อบรรดานักศึกษาลูกจีนที่แม้จะ รังเกียจแต่ลึกๆ ยังคงภูมิใจในความเป็นจีนของตน การเสพนิยายกำลังภายในทำให้พวกเขาได้สัมผัสกับความเป็นจีนที่ขาดหาย ขณะเดียวกันเมื่อเสพนิยายกำลังภายใน โครงเรื่องของนิยายจะพาพวกเขาหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่คุณค่าความ สามารถ ความอุตสาหะทุ่มเท การดำรงตนเป็นเสรีชนที่หลุดพ้นจากพันธนาการของกฎระเบียบรัฐและสังคม และความเป็นปัจเจกบุคคลถูกขับเน้น ความรักชาติและการทำเพื่อชาติไม่ได้มีความหมายเฉพาะการรับใช้ราชการ ทว่าสามารถกระทำได้ด้วยการดำรงตนเป็นวีรชนเอกชน ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติจากการถูกกดขี่ของศัตรูซึ่งรวมไปถึงข้าราชการและ ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ มิตรภาพ ความรัก การเสียสละ การแก้แค้น และทดแทนบุญคุณเป็นคุณค่าอันสูงส่งที่ควรปฏิบัติ คุณค่าเหล่านี้ได้แทรกลงไปในสำนึกบรรดาลูกจีนผู้เสพนิยายกำลังภายใน ดังเห็นได้จากการดำรงตนเป็นวีรชนเอกชนของบรรดานักศึกษาที่มีพฤติกรรมต่อต้าน รัฐเผด็จการ ทั้งยังต่อสู้เพื่อชาติได้โดยไม่ต้องสังกัดกับรัฐ
การซ่องเสพนิยายกำลังภายในได้ช่วยเติมเต็มความเป็นจีนที่ขาดหาย ของบรรดาลูกจีน ขณะเดียวกันนิยายกำลังภายในก็ได้พาพวกเขาหลุดจากความตึงเครียดในชีวิตจริง ทั้งยังได้หล่อหลอมสร้างอัตลักษณ์วีรชนเอกชนที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจรัฐ และกฎระเบียบของสังคม ขณะเดียวกันภาพลักษณ์ของนิยายกำลังภายในที่ดูไร้สาระยังเอื้อให้นิยายกำลัง ภายในถูกนำไปใช้เป็นอาวุธทางการเมืองสร้าง "เสียงหัวเราะ" แหวกบรรยากาศการเมืองที่เคร่งเครียด กระทั่งทำให้ความเคร่งขรึมจริงจังของเผด็จการกลายเป็นเรื่องตลก พิจารณาในแง่นี้นิยายกำลังภายในจึงเป็น "วรรณกรรมการเมือง" อย่างแท้จริง
เชิงอรรถ
๑ มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๒ เป็นคำย่อของ - บู๊เฮียบเซียวสัวะ (แต้จิ๋ว) อู่เสียเสี่ยวซัว (จีนกลาง) แปลว่า นิยายกำลังภายใน
๓ ตัวอย่างเช่น John Christopher Hamm. Paper Swordsmen : Jin Yong and the Modern Chinese Martials Arts Novel. (Honolulu : University of Hawaii Press, 2005); Allan Cho. The Hong Kong Wuxia Movie : Identity and Politics, 1966-1976, M.A. Thesis, University of British Columbia, 2004.
๔ วิเวก เอกดำรง. บทวิเคราะห์เส้นทางของนวนิยายกำลังภายใน, ใน โลกหนังสือ. ๓ (ธันวาคม ๒๕๒๒), น. ๓๗.
๕ จิตรลดา สุวัตถิกุล. วรรณกรรมไทยร่วมสมัย. (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., ม.ป.ป.), น. ๑๘๒.
๖ ยอ ภูอักษร. วรรณกรรมบู๊ลิ้ม หรือยุทธจักรกำลังภายใน, ใน โลกหนังสือ. ๑ (ตุลาคม ๒๕๒๐), น. ๖๕.
๗ เรื่องเดียวกัน, น. ๗๔.; ขวัญดี รักพงศ์. วิวัฒนาการของวรรณกรรมจีน แบบจีน และเกี่ยวกับจีนในภาษาไทย, ใน วารสารธรรมศาสตร์. ๗ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๒๐), น. ๑๒๒.
๘ วิเวก เอกดำรง. บทวิเคราะห์เส้นทางของนวนิยายกำลังภายใน, น. ๓๘.
๙ นับการพิมพ์ซ้ำ และการพิมพ์นิยายเรื่องเดียวกันแต่ต่างสำนวนแปลออกไปแยกจากการพิมพ์ครั้งแรก และเน้นผู้แปล ๓ คน คือ ว. ณ เมืองลุง น. นพรัตน์ และ จำลอง พิศนาคะ เป็นหลัก ข้อมูลสืบค้นและดัดแปลงจาก หอสะสมตำรา. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://chinastory.thport.com/list_book.html (๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๓).
๑๐ โก้วเล้ง. คำนำ ว่าด้วยบู๊เฮี้ยบ. แปลโดย โชติช่วง นาดอน. (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๘), น. ๑๓.
๑๑ เสถียร จันทิมาธร. ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์. (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๙), น. ๑๙-๒๐.
๑๒ ยอ ภูอักษร. วรรณกรรมบู๊ลิ้ม หรือยุทธจักรกำลังภายใน, น. ๖๗.
๑๓ เรื่องเดียวกัน, น. ๖๗-๗๐.
๑๔ อุดม รุ่งเรืองศรี. สภาพของวรรณกรรมไทยปัจจุบัน. (เชียงใหม่ : ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๒๒), น. ๑๒๐-๑๒๑.
๑๕ วิเวก เอกดำรง. บทวิเคราะห์เส้นทางของนวนิยายกำลังภายใน, น. ๔๑-๔๓.
๑๖ เรื่องเดียวกัน, น. ๔๖.
๑๗ เรื่องเดียวกัน, น. ๔๗.
๑๘ ดอกไม้สด. ผู้ดี. (พระนคร : แพร่พิทยา, ๒๕๐๕), น. ๓๗๙.; อ้างใน พัชรี วราศรัย. นวนิยายไทยที่เสนอภาพสังคมชาวจีนในเมืองไทย, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต หน่วยวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๗, น. ๓๙.
๑๙ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ก/ป๘/๒๕๑๐/๓๕ บัญชีประมวลข่าวและเหตุการณ์สำคัญ พ.ศ. ๒๕๑๐ เรื่องเยาวชน ปึกที่ ๒ ในจำนวน ๓ ปึก (หลักเมือง ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๐).
๒๐ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง : รวมบทความเกี่ยวกับกรณี ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา. (กรุงเทพฯ : ๖ ตุลารำลึก, ๒๕๔๔), น. ๒๑๖.
๒๑ สายชล สัตยานุรักษ์. คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม ความเป็นไทย, เล่มที่ ๒. (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๒), น. ๓๔๐.
๒๒ รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลหลักฐาน ดู สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. ชีวิตสามัญชนจีนในกรุงเทพฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๑๗, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๕๓, น. ๑๖๘.
๒๓ สุชาฎา ประพันธ์วงศ์. อุปรากรจีนครั้งประวัติศาสตร์ ศิษย์เก่า มธ. เล่น งิ้วการเมือง ไล่นายกฯ. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=print&sid=1118 (๒๙ กันยายน ๒๕๕๒).
๒๔ ทีมงาน ThaiNGO. เขาเล่าว่า...งิ้วธรรมศาสตร์แสดงเมื่อไร! รัฐบาลจบเมื่อนั้น!. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.thaingo.org/HeadnewsKan/ch_opera.htm (๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒).
๒๕ ขวัญดี รักพงศ์. วิวัฒนาการของวรรณกรรมจีน แบบจีน และเกี่ยวกับจีนในภาษาไทย, น. ๑๒๖.
๒๖ จิตรลดา สุวัตถิกุล. วรรณกรรมไทยร่วมสมัย. น. ๑๘๔.; อุดม รุ่งเรืองศรี. สภาพของวรรณกรรมไทยปัจจุบัน. น. ๑๒๖.