นานาทัศนะ
กองทุน-นิตยสารเรื่องสั้น การเกิดใหม่ของ 'กนกพงศ์'
กองทุน-นิตยสารเรื่องสั้น การเกิดใหม่ของ 'กนกพงศ์' โดย เนชั่นสุดสัปดาห์
เหินห่างบ้าง แต่ไม่เคยร้างรา สำหรับบรรยากาศการทำหนังสือ ยัง สำนักพิมพ์นาคร ที่ตั้งอยู่ ณ ชั้น 3 ของอาคารหงสกุล ย่านทุ่งรังสิต โดยเฉพาะวันไหนที่ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ขึ้นมาจากใต้เพื่อทำหนังสือ วันนั้นๆ จะมีสีสันเป็นพิเศษ และหากไม่ป่วยไข้ เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ผ่านมา กนกพงศ์จะปรากฏตัวที่นั่นพร้อมหอบต้นฉบับรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ และเลย์เอาท์ของ 'ราหูอมจันทร์' นิตยสารรวมเรื่องสั้นที่เขาหวังในใจให้เป็น 'เวทีเรื่องสั้นแห่งใหม่' ของวงการน้ำหมึก ได้คึกคักกันอีกครา
และหากไม่ลาลับเมื่อตอนสายของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ตอนนี้เราคงได้เห็นความคิดความตั้งใจของเขาออกมาเป็นรูปเล่มแล้ว
ทว่า เราต่างมิอาจหยุดยั้งการเกิดดับอันเป็นสัจธรรมของชีวิตได้ นับแต่นั้น คนที่ไปเยือนยังชั้น 3 แห่งนั้น จึงกลายเป็น กลุ่มคนทำหนังสือ ที่เป็นพี่ เพื่อน และน้องๆ ของนักเขียนหนุ่มคนนั้นแทน
ไม่ว่าจะเป็น ขจรฤทธิ์ รักษา ชีวี ชีวา พินิจ นิลรัตน์ พิเชฐ แสงทอง อดีตมือปรู๊ฟไรเตอร์ ฯลฯ ทั้งหมดมุ่งหน้าไปที่นั่นโดยมิได้นัดหมาย แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อทำหนังสือที่ระลึก 'คืนสู่แผ่นดิน กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' ให้สมบูรณ์ที่สุด
บรรยากาศทำหนังสือข้ามวันข้ามคืน หวนคืนมาอีกคราหนึ่ง เพียงแต่ไม่มีกนกพงศ์อยู่ที่นั่น-เท่านั้นเอง (เอ๊ะ! หรือจะมี?)
พี่น้องผองเพื่อนของนักเขียนหนุ่ม ต่างคร่ำเคร่งกับตัวหนังสือที่เรียงรายบนหน้ากระดาษ ปรู๊ฟแล้วปรู๊ฟเล่า แต่ห้องเล็กๆ นั้น แม้จะมีความโศกเศร้าโรยเกลื่อนอยู่ทุกซอกมุม แต่ก็ไม่ขาดเรื่องตลกที่นำมาอำมาเล่าสู่กันฟัง
ดังเช่นเรื่องป้ายหน้างานที่เขียนว่า 'นายกนกพงศ์' ก็มีคนไปถามว่า "ตกลงนี่กนกพงศ์ เป็นนายกอะไร เป็นตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะเขาไปอ่านว่านายก-นกพงศ์ ก็แปลกดี" เจน สงสมพันธุ์ พี่ใหญ่ของน้องๆ เล่าไปหัวเราะไป แต่แววตาเต็มไปด้วยความเศร้าสุดประมาณ
ถึงอย่างนั้น ยังคงมีสติอยู่เต็มเปี่ยม
ด้วยเข้าใจน้องชายดีว่า หากรำลึกถึงด้วยการตั้งเป็นอนุสาวรีย์ หรือทำเป็นรูปต่างๆ นั้น หาใช่ความปรารถนาของกนกพงศ์ไม่ การเน้นเนื้อหาสาระต่างหากคือคำตอบ
โดยเฉพาะเรื่องของการทำให้วงการนักเขียนเกิดความคึกคักขึ้นมา เพราะถือว่ากนกพงศ์นั้นเป็นแรงบันดาลใจของนักเขียนหนุ่มอีกมาก แล้วคนที่เหลืออยู่ จึงมาคิดต่อว่า แล้วจะนำแรงบันดาลใจนี้ไปใช้ประโยชน์ให้เกิดกับวงการวรรณกรรมคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร
ที่สุดจึงตัดสินใจร่วมกับสมาชิก 'นกสีเหลือง' ทั้ง 4 คือ เจน สงสมพันธุ์ ชีวี ชีวา ขจรฤทธิ์ รักษา และ ดิเรก นนทชิต (ถ้ารวมกนกพงศ์ด้วยก็เป็น 5 (ใน 7) เสียงส่วนใหญ่ถือว่า-ผ่าน) ร่วมด้วย ไพฑูรย์ ธัญญา ว่า 'ราหูอมจันทร์' นิตยสารรวมเรื่องสั้นรายสี่เดือน ที่น้องชายได้ริเริ่มไว้นั้น จะต้องคงอยู่ต่อไป ด้วยการจัดตั้ง 'กองทุน กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' ขึ้นมา เพื่อดำเนินการสานต่อความตั้งใจครั้งนี้
0 0 0
นิตยสารรายฤดู 'ราหูอมจันทร์' นี้ เป็นโครงการที่กนกพงศ์ ริเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา อาสาเป็น 'บรรณาธิการรวบรวมต้นฉบับ' ทั้งหมด โดยมีทีมศิลปะที่อยู่ในละแวกจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมสร้างสรรค์ด้านอาร์ตเวิร์ค พอเสร็จสรรพจากใต้มาแล้ว ถึงกรุงเทพฯ ก็คือเข้าโรงพิมพ์อย่างเดียว แต่คราวนี้บางอย่างคงต้องปรับเปลี่ยนไป
อันที่จริง พอกนกพงศ์ไม่อยู่แล้ว คนที่เหลืออยู่ จะหยุดก็ย่อมทำได้ แต่ด้วยวัตถุประสงค์ของ 'ราหูอมจันทร์' ที่ว่า "มุ่งหวังที่จะสร้างและส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ในแนวของการเขียนเรื่องสั้น" นั่นเอง พวกเขาจึงมิอาจละทิ้งไว้ได้
ที่สำคัญ ความคิดในการเปิดเวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ ยังอยู่ในใจของคนวรรณกรรมกลุ่มนี้เสมอ ดังเช่นครั้งตั้งสำนักพิมพ์ 'นกสีเหลือง' ก็มีความตั้งใจคล้ายๆ กันไม่แปรเปลี่ยน
โดยเฉพาะกนกพงศ์ มีความคิดตรงนี้ด้วยเช่นกัน เพราะลักษณะของกนกพงศ์ที่ผ่านมานั้น ในขณะที่เขาทำงานเขียนหนังสือ เขาจะคิดถึงว่าจะทำให้แวดวงวรรณกรรม วัฒนธรรมดนตรีพวกนี้ เคลื่อนไหวอย่างไรตลอด จึงไม่น่าแปลกใจที่มวลมิตรของนักเขียนหนุ่มคนนี้จะแผ่ไพศาลไปหลากรุ่นหลายวงการ
"ครั้งนี้เขาสรุปบทเรียนความล้มเหลวของคราวที่แล้วว่า มันล้มเหลวเพราะอะไร การออกมาของกนกพงศ์ในครั้งนี้ ก็คงมีลักษณะเหมือนกับคราวก่อนเรื่องหนึ่งคือ กนกพงศ์ไม่ได้คิดเรื่องตัวเงิน แต่มีแผนในการใช้จ่ายเพื่อให้สำนักพิมพ์ที่จะพิมพ์เรื่องเหล่านี้ หรือทำเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่ได้ อยู่ในหัวสมองเขาแล้ว ทีนี้เขาจะเคลื่อนแบบไหน"
เมื่อนักเขียนหนุ่มจากไป คนที่เหลืออยู่จึงเดาใจว่า กนกพงศ์น่าจะมีปณิธานดังกล่าวนี้ จึงขอนำ 'แรงบันดาลใจ' ที่มีต่อนักเขียนหนุ่มมาสร้างประโยชน์แก่วงการวรรณกรรมดีกว่า
"หลายครั้งที่เราคุยกันว่าวรรณกรรมตายแล้ว แต่จริงๆ ร้านหนังสือก็ยังขายหนังสืออยู่เยอะ แต่ว่าคนไปอ่านของดาราเยอะ ในขณะที่วรรณกรรมยังอยู่ ถ้าคนไม่ซื้อก็เท่ากับว่าวาทกรรมที่ว่า 'ตายแล้ว' ก็จะเกิดขึ้น"
"มิหนำซ้ำในปัจจุบันนี้มีรางวัลอะไรต่างๆ ออกมามากมายเหลือเกิน แต่ 'เรื่องสั้น' ที่ได้รับรางวัลที่เราเห็นๆ กันก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นที่มีคุณภาพอะไรมากมาย ภาวะตกต่ำของวรรณกรรมตรงนี้ เราจะช่วยกันได้ยังไง มันน่าจะมีคนที่เขียนเรื่องที่มีคุณภาพอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ว่าเวทีที่จะให้เรื่องสั้นคุณภาพยังคงอยู่ เวทีมันอาจจะไม่ชัดเจน หนังสือเมื่อก่อนเราเอาเรื่องสั้นมาเป็นประเด็นหลัก แต่ปัจจุบันนี้หนังสือก็จะเอาพวกคอลัมน์เป็นเรื่องหลัก โดยเฉพาะเอาคนที่มีชื่อเสียงมาเขียนคอลัมน์ ก็เบียดบังอะไรต่างๆ ของวรรณกรรมไป ก็เลยจะเปิดเวทีตรงนี้ให้มันชัดเจน"
นายหัวเจน เล่าถึงที่มาที่ไปของการเปิดเวทีเรื่องสั้นแห่งใหม่นี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะตั้งแต่ 'ช่อการะเกด' หายไป เวทีประเภทเรื่องสั้นก็หมดความคึกคักไปอย่างน่าเสียดาย
"ราหูอมจันทร์ก็น่าจะเป็นเวทีที่น่าสนใจต่อไป"
ถึงตอนนี้ ราหูอมจันทร์ยังเป็นราย 4 เดือนเช่นเดิม โดยมีการลงเงินในกองทุนฯ เริ่มต้นที่ 1 แสนบาท รูปแบบที่ว่าไว้เดิมก็คือ แรกๆ จะเป็นเวที 'รับเชิญ' และถ้าเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับเชิญก็จะมีมาตรการในการคัดที่เข้มข้นกว่า โดยตัวของกนกพงศ์จะเป็นคนดูแลคัดสรร
แต่ก็ต้องเปลี่ยน จากนี้ไปหน้าที่คัดสรรจะใช้ระบบ 'ทีมบรรณาธิการ' แทนที่จะเป็นคนใดคนหนึ่ง เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องวิกฤติศรัทธาในวงการวรรณกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เบื้องต้นยกหน้าที่ให้ 'ผู้ก่อตั้งกองทุนฯ ทั้ง 5' ไปก่อน
ด้านเนื้อหาต้นฉบับ แต่เดิมไม่มีการประกวดประชันขันแข่งกัน ได้มาจากการที่กนกพงศ์ได้ออกเทียบเชิญนักเขียน 'ขาใหญ่' มาก่อน ต่อไปจะแปรเป็น 'เวทีของคนรุ่นใหม่' เปิดรับพิจารณาจากทั่วประเทศ ทั้งมือเก่า-มือใหม่ มีสิทธิส่งได้เท่ากัน
พอถึงปีหนึ่งก็จะมีการมอบรางวัลให้กับ 'เรื่องสั้น' ที่ผ่านการพิจารณาและพิมพ์ลงในเล่มไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง โดย 'คณะกรรมการ' ซึ่งอาจจะเป็นกรรมการจาก 'ผู้ก่อตั้งกองทุนฯ' หรือ 'แต่งตั้ง' กรรมการขึ้นมาใหม่ ก็ต้องคุยในรายละเอียดต่อไป เพราะต้องคำนึงและระวังเรื่องวิกฤติของกรรมการในแวดวงมีอยู่สูงมาก
"เราต้องทำให้ได้ว่าเรื่องสั้นที่มีคุณภาพ กรรมการที่มีคุณภาพ เวทีที่มีคุณภาพ ถ้าหากได้จากตรงนี้แล้ว มันจะต้องบอกตัวตนนักเขียนได้ชัดเจน"
ด้านรูปแบบและวิธีการดำเนินการให้ 'เงินรางวัล' นั้น ก็ไม่เหมือนใคร คือจะมีการหักค่าลิขสิทธิ์ส่วนหนึ่งของค่าเรื่องในแต่ละเล่ม แล้วนำไปสมทบปลายปีเป็นรางวัลให้กับเรื่องสั้นที่ดีที่สุดในรอบปี
วิธีนี้นอกจากจะทำให้ระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์แล้ว ยังเป็นเรื่องของ 'ความภาคภูมิใจ' ทั้งคนให้รางวัล และคนได้รับด้วย
"คนที่ได้รางวัลก็ไม่ใช่เอาเงินรางวัลมาจากที่อื่น แต่เป็นค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้นทุนในการทำ สมมติค่าลิขสิทธิ์เรื่องหนึ่ง 4 พัน 3 ฉบับ ก็ 12,000 บาท เป็นเงินของทุกคนที่ถูกหักไว้ ใครเขียนเรื่องสั้นผ่านแต่ไม่ค่อยดี ก็ถูกหักเงิน ใครเขียนดีที่สุดก็ได้เงินก้อนนี้ไป (ปลายปี) ให้เป็นความภาคภูมิใจว่านี่เป็นเงินของพวกคุณเองทุกคน แล้วก็จะทำให้เราไม่ต้องไปหาเงินที่ไหนมาให้รางวัล เพราะมันอยู่ในค่าลิขสิทธิ์แล้ว ไม่ต้องไปยื้อยุดอยู่กับทุนที่จะมาเป็นสปอนเซอร์ให้เลย"
ทั้งนี้ ไม่ต้องห่วงว่ากองทุนนี้เงินจะร่อยหรอไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะจะมีเข้ามาเติมตลอด
ประการแรก มาจากค่าลิขสิทธิ์ของกนกพงศ์ในการตีพิมพ์แต่ละครั้ง จำนวนหนึ่งจะนำมาเติมให้กองทุนนี้ตลอด ส่วนนี้ก็จะทำให้การดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่ต่อเนื่องจากการทำหนังสือเกิดขึ้นได้ด้วย
ประการที่สอง มีระบบเบิก-จ่ายการเงินที่เข้มงวด โปร่งใส โดยมีคณะกรรมการชัดเจน ไม่ใช่มอบหมายให้ใครคนใดคนหนึ่งทำเพียงคนเดียว
สำหรับตำแหน่ง 'ผู้จัดการกองทุน' นั้น ยังไม่ได้เจาะจงให้ใครเป็น แต่คงเริ่มจาก 5 คนผู้ก่อตั้งชุดนี้ก่อน ส่วนคนอื่นที่จะเข้ามาช่วยนั้น ก็คงจะหารือกันหรือเชิญกันมาอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี กำลังทาบทาม อุรุดา โควินทร์ มาเป็นผู้ดูแล แต่ตำแหน่งนี้ก็ไม่ได้มีอำนาจในการเซ็นเช็คใดๆ ทั้งสิ้น คาดว่าหลังงานฌาปนกิจคงได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากกว่านี้ รวมถึงงานอื่นๆ ต่อไป
สำหรับที่ตั้งกองทุนฯ นั้น จะขึ้นป้ายยังตึกด้านหลังของนาครเลขที่ 4/6768 ไปก่อน เพราะมีประวัติศาสตร์กนกพงศ์แนบแน่นอยู่ ทั้งที่มาของตึก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินรางวัลซีไรต์ที่กนกพงศ์ได้ แล้วกนกพงศ์ก็ใช้ตึกนี้เป็นบ้านด้วยคราที่ทำนิตยสารไรเตอร์ ถือว่าใช้ชีวิตที่นี่มากกว่าชื่อเจ้าของตึกเสียอีก
ด้านสำนักงานของนิตยสาร 'ราหูอมจันทร์' ก็จะอยู่ที่นี่ด้วย
"เนื้อหาปีแรกนี้อาจจะเป็นวาระพิเศษหน่อย เพราะมีงานเทียบเชิญอยู่ ฉบับแรกอาจจะไม่นำมาพิจารณาร่วมก็ได้นะ กำลังดูความเหมาะสมอยู่ ในส่วนการมอบรางวัลของปีแรกอาจจะยืดไป นี่เป็นรายละเอียดที่จะต้องไปคุยกันว่า ทำยังไงที่จะให้การพิจารณารางวัล พิจารณาได้ไม่น้อยกว่าสามฉบับ เพราะฉะนั้น ถึงเวลานี้มันอาจจะไม่ถึง 3 ฉบับแล้ว เราอาจจะรวบเป็นปีครึ่งในส่วนของการประกาศรางวัลครั้งแรกเพื่อให้ได้นักเขียนอย่างน้อยสัก 30-40 คน"
โดยเล่มแรกชื่อ 'กีตาร์ที่หายไป' นำมาจากเรื่องสั้นของ สุรชัย จันทิมาธร เตรียมออกฉบับปฐมฤกษ์เดือนมีนาคมนี้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พร้อมด้วยรวมเรื่องสั้นของกนกพงศ์ ชื่อ 'คนตัวเล็ก'
ทั้งนี้ จะไม่มีการเปิดตัวหนังสือใดๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับหนังสือเล่มใหม่ของกนกพงศ์ทุกครั้งที่ผ่านมา
"เราแค่พิมพ์หนังสือเท่านั้น เพราะว่าเราไม่ชัดเจนว่า เวลาที่จัดทำแล้ว กนกพงศ์จะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะกนกพงศ์มีความรู้สึกว่า บางเรื่องที่เราเติมเงินลงไป มันเติมไปในสิ่งที่ไร้สาระ ไม่ได้ก่อให้เกิดภูมิปัญญาทางวรรณกรรม เป็นงานทั่วไป ไม่ใช่งานที่มาเสริมให้การอ่านการเขียนดีขึ้น เราจึงไม่ทำตรงนี้"
เมื่อส่งราหูอมจันทร์ ขึ้นสู่เวิ้งฟ้าวรรณกรรมแล้ว กิจกรรมอื่นๆ ก็คงจะตามมา โดยเฉพาะข้อเสนอของกลุ่มนักเขียนเมืองลิกอร์ ที่ว่า ให้รักษาบ้านกนกพงศ์ที่ อ.พรหมคีรี ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ของการเขียนหนังสือ และเป็นที่พักของนักเขียนหนุ่มที่มาหาแรงบันดาลใจต่อไป
แม้ร่างและลมหายใจของกนกพงศ์จะจากไป แต่ทุกแรงบันดาลใจ จะยังคงอยู่กับแวดวงน้ำหมึกตลอดไป-ไม่แปรเปลี่ยน!!