เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม
ตามรอยชีวิต กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
แม้ว่า กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น" จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ใครหลายคนก็ยังไม่คลายความคิดถึงเขา โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนศิลปิน นักเขียน และเพื่อนพ้องเขาหลวง พรหมคีรี ที่ได้เชิญชวนสื่อมวลชนและศิลปินนักเขียนอื่นๆ ร่วมทำบุญในโอกาสครบรอบ 100 วันที่เขาเสียชีวิต ณ วัดพิกุลทอง จ.พัทลุง พร้อมๆ กับการร่วมตามรอยนักเขียนผู้นี้ โดยการไปเยี่ยมบ้านของเขาที่ จ.พัทลุงและนครศรีธรรมราช
การตามรอยชีวิตของกนกพงศ์เริ่มต้นด้วยการไปเยือนบ้านเกิดของเขาที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งมีลักษณะเดียวกับฉากที่กนกพงศ์บรรยายไว้ในงานเขียนของเขาเรื่อง "สะพานขาด" ที่ว่า "มีถนนขรุขระผ่านหน้าบ้านสำหรับเราวิ่งเล่น และลำคลองสายเล็กๆ คดเคี้ยวอยู่หลังบ้านสำหรับเราดำว่าย" ผิดกันก็แต่ถนนในปัจจุบันไม่ขรุขระเหมือนเคยเท่านั้นเอง
นอกจากจะได้เห็นฉากแล้ว คณะเดินทางยังได้พบปะพูดคุยกับ นางเคล้า ศรีสมโภชน์ ผู้เป็นเพื่อนบ้านรั้วติดกับบ้านกนกพงศ์ และเป็นผู้ที่เขานำชื่อมาใช้ในเรื่องสั้น "สะพานขาด" ใครเคยอ่านคงจะพอนึกชื่อ "ป้าเคล้า" ได้ไม่ยาก
จากนั้นก็มาถึง "หุบเขาฝนโปรยไพร" อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ที่ตั้งของบ้านเช่าที่กนกพงศ์ใช้สร้างสรรค์งานในช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิต บ้านสองชั้นในโอบล้อมของป่าเขาดูเรียบง่ายและสงบอย่างยิ่ง ชมพู-อุรุดา โควินท์ คู่ชีวิตของกนกพงศ์ พาชมบ้านที่ตกแต่งอย่างน่าอยู่ พร้อมชี้ให้ดูโต๊ะทำงานบนชั้นสองของเขา
"พี่เขาชอบมานั่งตรงนี้ เพราะมองลงไปจะเห็นลานทรายข้างบ้านพอดี" เธอกล่าวด้วยแววตาอาลัยรัก
อุรุดาเล่าต่อว่า เขาและเธอมีแผนจะย้ายไปอยู่ทางเหนือ แต่เมื่อกนกพงศ์มาด่วนจากไปแผนก็เป็นอันต้องล้มเลิก อุรุดาคงไปอยู่กรุงเทพฯสักพัก ส่วนบ้านหลังนี้เธอคิดจะให้คนมาเช่าอยู่เพื่อเขียนหนังสือ ซึ่งจะไปได้ดีหรือไม่คงต้องรอดู
นอกจากบ้านที่หุบเขาฝนโปรยไพร คณะเดินทางได้มีโอกาสไปตามรอยเดินป่าของกนกพงศ์ที่อุทยานแห่งชาติกรุงชิง ว่ากันว่าที่นี่เป็นเส้นทางที่นักเขียนหนุ่มใช้ทดสอบนักเดินป่าที่จะขึ้นสู่ "ยอดสอยดาว" กับเขา เรียกว่าถ้าใครเดินป่านี้ไม่ไหวก็ไม่ต้องหวังว่าจะขึ้นเขาที่มีทางยากลำบากอย่างยอดสอยดาวได้เลย
คณะเดินทางเองก็เหมือนกำลังถูกทดสอบ เพราะไม่ใช่แค่มาเยี่ยมบ้านหากตั้งใจไว้ว่าจะร่วมกันนำอังคารของกนกพงศ์ไปโปรยที่ยอดเขาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อไปส่งเจ้าตัวในป่าที่เขาแสนจะโปรดปราน
ลงมายังปากทางเข้าอุทยานฯ เราได้แวะเยี่ยมสวน "กรุงชิง" ของกนกพงศ์ด้วย ในสวนนั้นภาพที่ปรากฏแก่สายตามีแต่ป่ากับหญ้า ส่วนเบื้องหลังนั้นคือลำธารพร้อมหาดทรายที่กนกพงศ์มักจะมานั่งเล่นกับเพื่อนพ้อง
"กนกพงศ์เกิดและใช้ชีวิตในอ้อมกอดของป่าเขา" ด้วยสายตาผู้มาเยือน คำนี้น่าจะใช้สรุปได้ดีที่สุด
"คนเมืองไปเดินสยามพารากอน ส่วนเราไปเดินเขา" อุรุดาเอ่ยพร้อมยิ้มน้อยๆ
"ตอนไปเดินป่า เขาก็เหมือนเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ซน สนุก และชอบคิดว่าตัวเก่งสุด"
นักเดินป่าอย่างกนกพงศ์และเพื่อนพ้องไม่ได้เข้าป่าเพื่อเที่ยวเล่นหาความสนุกอย่างคึกคะนอง หากพวกเขาเดินป่าอย่างนักอนุรักษ์
"ป่าบอบบางมากและวิถีชีวิตคนก็ไม่เข้ากันเลยกับป่า เวลามาก็ต้องคิดว่าทำไงป่าจะบอบช้ำน้อยที่สุด ก็คือต้องเก็บขยะ ผูกเปลก็เลือกผูกกับต้นไม้ที่ตายแล้ว ต้นไม้จะได้ไม่ช้ำมาก"
"ตอนแรกที่บอกว่าจะมีคนมาเดินป่าเป็นสิบ ก็คิดเหมือนกันว่าถ้าพี่กนกพงศ์ยังมีชีวิตอยู่จะอยากให้ขึ้นมาไหม"
อาจเป็นโชคดีของป่าที่ไม่ต้องบอบช้ำจากน้ำมือคณะเดินทางอย่างเรา แต่ถือเป็นโชคร้ายที่ความตั้งใจจะ "ไปส่ง" เขาต้องล้มเหลวเพราะฝนฟ้าไม่อำนวยให้ขึ้นเขา หน้าที่ดังกล่าวจึงต้องตกเป็นของ สมพร และ บ่าวน้อง เพื่อนเดินป่าคนสนิทของกนกพงศ์ที่จะนำอังคารเขาไปโปรยในคราวต่อไป
หากถามว่าลำบากขนาดนี้ ทำไมยังต้องกระเสือกกระสนเข้าป่าขึ้นดอยเพียงเพื่อนำเถ้ากระดูกคนตายไปโปรยด้วย คำตอบเป็นดังนี้
"เขาเป็นแค่นักเขียนคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ เป็นแค่หนึ่งในหลายๆ คนในประเทศไทยที่ได้รางวัลซีไรต์ ครั้งนี้เราจึงไม่ได้มารำลึกถึงเขาในแง่นั้น แต่เป็นการคิดถึงด้วยความรักห่วงในการที่น้องคนหนึ่งได้จากไป ความสำคัญของเขาสำหรับเราคืออย่างนั้น" เพื่อนนักเขียนคนหนึ่งกล่าว
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดงานทำบุญ 100 วันและทริปตามรอยกนกพงศ์ครั้งนี้จึงได้มีญาติมิตรและเพื่อนพ้อง อาทิ นักเขียน อย่าง ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, กานติ ณ ศรัทธา, ขวัญยืน ลูกจันทร์, เสน่ห์ วงศ์กำแหง หรือศิลปินอย่าง ไข่ วงมาลีฮวนน่า, วงราษฎร ฯลฯ แวะเวียนมาอยู่ไม่ขาด
"เพราะเขาเป็นที่รัก" น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจน
ที่มาจากหนังสือพิมพ์มติชน