เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

Orhan Pamuk นักเขียนรางวัลโนเบล 2006

by 1 @November,25 2006 22.39 ( IP : 222...243 ) | Tags : เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม

Orhan Pamuk นักเขียนรางวัลโนเบล 2006


นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ : แปลและเรียบเรียง

"การกะเทาะอย่างถึงแก่นลงไปในจิตวิญญาณ อันเป็นรากเหง้าของประเทศบ้านเกิด ก่อให้เกิดการค้นพบสัญลักษณ์ใหม่ๆ ในการปะทะและการหลอมรวมกันของวัฒนธรรมอื่นๆ"

โมเรซ อิงดาห์ล (Mr. Morace Engdahl) เลขานุการคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลปี 2006 กล่าวสั้นๆ พร้อมประกาศว่า ออร์ฮัน ปามุก (Orhan Pamuk) นักเขียนดังชาวตุรกี คือผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมของปีนี้ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา


จากนั้น อดัม สมิธ (Adam Smith) หัวหน้าบรรณาธิการเวบไซต์รางวัลโนเบล ได้ต่อสายโทรศัพท์เพื่อไปแสดงความยินดีกับปามุกเป็นสายแรก ซึ่งปามุกเองกำลังหลับอยู่ในที่พักในกรุงนิวยอร์ก เขาเดินทางไปนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมบรรยายและฟังการบรรยายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เสียงโทรศัพท์จากสมิธปลุกให้เขาตื่นเพื่อออกไปมหาวิทยาลัยในตอนเช้า และนึกขึ้นได้ว่าวันนั้นเป็นวันประกาศผลรางวัลโนเบล คงมีใครสักคนโทรมาแจ้งผลว่าใครได้รับรางวัล

สมิธชูประเด็นหลักจากคำกล่าวข้างต้นของคณะกรรมการที่ยกเรื่อง 'วัฒนธรรม' มาเป็นตัวชี้วัดผลงานของปามุกและนักเขียนรางวัลโนเบลคนล่าสุดปีนี้ โดยให้ความเห็นว่า ด้วยความที่ตุรกีมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และคำว่าวัฒนธรรมสำหรับปามุกนั้นก่อเกิดมาจากหลากหลายที่มา ปามุกแนะนำคนที่อยากจะเริ่มอ่านงานเขียนของเขาว่าควรเริ่มต้นจาก My Name is Red ตามมาด้วย The Black Book ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นหนักๆ ทางการเมืองในเรื่อง Snow

ในช่วงปีเศษๆ ที่ผ่านมา บทสัมภาษณ์ของเขาใน Swiss Newspaper เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2005 พร้อมวาทกรรมที่ว่า

"มีชาวเคิร์ดสามหมื่นคนและชาวอาร์มาเนียกว่าหนึ่งล้านคนถูกสังหารในตุรกี และมีผมคนเดียวที่กล้าพูดเรื่องนี้"

คำให้สัมภาษณ์นี้เป็นชนวนให้เขาถูกตราหน้าจากทางการและพวกฝ่ายขวาว่า "ไอ้คนทรยศ" และขึ้นแท่นเป็นศัตรูหมายเลยหนึ่งกับฟากที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับเขาทันที ซึ่งจริงๆ แล้วเขาเริ่มถูกจับตามองตั้งแต่นวนิยายเรื่อง Snow (2002) ออกวางจำหน่ายแล้ว และเขาเป็นนักเขียนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเคิร์ดและชาวอาร์มาเนีย รวมถึงการแสดงความเห็นเรื่องการเมืองในตุรกี จนส่งผลให้เขาต้องขึ้นศาลมีความผิดตามมาตรา 301 และศาลได้ตัดสินให้เขาพ้นโทษจากคดีหมิ่นอัตลักษณ์ชาวตุรกี ในขณะที่เพื่อนนักเขียน นักข่าว และนักวิชาการอีกหลายคน ยังต้องคดีลักษณะเดียวกันอยู่ในชั้นศาลอีกเกือบร้อยคน

พอผลการตัดสินออกมาว่าปามุกคือผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า รางวัลนี้มอบให้สำหรับงานเขียนหรือว่าวาทศิลป์ในการพูดเรื่องการเมืองของเขากันแน่ ฝ่ายขวาในตุรกีประณามว่า รางวัลดังกล่าวทำให้พวกเขารู้สึกละอายใจ และเปิดประเด็นว่าเป็นรางวัลการเมือง และเป็นการเยาะให้ชาวตุรกีที่ไม่ชอบหน้าปามุก รู้สึกเสียหน้าจากชัยชนะในเวทีโนเบลของปามุกในครั้งนี้

ส่วนนักวิจารณ์หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ในปีที่แล้ว ฮาร์โรล พินเตอร์ (Harold Pinter) ก็ซิวโนเบลจากการวิพากษ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ มาปีนี้ ออร์ฮัน ปามุก ผู้ที่ตลอดปีกว่าที่ผ่านมาได้กลายเป็นบุคคลสาธารณะจากบทสัมภาษณ์อันร้อนแรงดังกล่าว หรือหากย้อนกลับไปอีกเมื่อปี 2004 Elfriede Jelinek ก็ได้รับรางวัลนี้จากผลพวงของการวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองหัวโบราณของออสเตรีย และพูดเกี่ยวกับเรื่องชนชั้นในสังคมที่นั่น

โฮเรซ อิงคาห์ล ได้ออกมาชี้แจงกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า "ปามุกเป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์งานเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวา ทำให้ชาวตะวันตกอย่างพวกเรารู้ในบางสิ่งที่แตกต่าง และสิ่งที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน ถ้าได้อ่านงานเขียนของเขา จะเห็นว่าด้วยความที่เขามีรากเหง้าที่คาบเกี่ยวกับสองวัฒนธรรม ทำให้เขาปลดปล่อยสิ่งนี้ออกมาในงานเขียนได้น่าทึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนรางวัลนี้เป็นการเมืองหรือเปล่านั้น คดีทางการเมืองของเขาไม่เกี่ยวใดๆ กับการตัดสินในครั้งนี้ จริงอยู่ที่ปามุกมีเรื่องขัดแย้งกับประเทศของเขา แต่ ณ ตอนนี้ เขาเป็นผู้กำชัยรางวัลโนเบล 2006 และอย่างที่ผมได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า เขาสมควรแก่รางวัลนี้ เพราะรากเหง้าที่เปี่ยมด้วยความร่วมสมัยของการหลอมรวมเอาความแตกต่างของตะวันตกและตะวันออกไว้ด้วยกันอย่างลงตัว"

ปามุกเป็นนักเขียนตุรกีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นนักเขียนคนที่สองจากประเทศมุสลิมต่อจาก นากิบ มาห์ฟูซ์ (Naguib Mahfouz) นักเขียนชาวอียิปต์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1988 และเพิ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

หลังจากทราบผลรางวัล ปามุก วัย 54 ปี ได้กล่าวขอบคุณและขอฉลองให้กับภาษาและวัฒนธรรมตุรกีของเขา ที่ทำให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของภาษาและวัฒนธรรมนี้ และเขารู้สึกยินดีกับตัวเอง เพราะกว่า 32 ปีแล้วที่เขาอุทิศตัวทำงานศิลปะชั้นเอกอุในรูปแบบของงานเขียน หลังจากเขาปฏิเสธที่จะเดินตามรอยปู่และพ่อด้วยการเป็นสถาปนิก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเขามีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเป็นศิลปินวาดรูป แต่ในที่สุดเขาก็เลือกที่จะจับอาชีพนักเขียน และภาพวาดของเขาถูกแทนที่ด้วยคำพูดที่เขายืนหยัดทำงานตลอดเจ็ดวันของสัปดาห์ และค่อยๆ ละเมียดเขียนเรื่องราวต่างๆ ด้วยปากกา และไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการเขียนเรื่อง เขาจึงกล้าประกาศว่า เขามีอาชีพเดียวคือการเป็นนักเขียน และพ่อของเขาต้องดูแลจุนเจือเขาด้านทุนทรัพย์จนกระทั่งปามุกอายุ 32 ปี

ปี 1998 รัฐบาลตุรกีเสนอรางวัล ศิลปินแห่งรัฐ ให้แก่ปามุก เขาได้ปฏิเสธรางวัลนั้นไปพร้อมให้เหตุผลว่า "พอผมมองไปยังประชาชนร่วมชาติ ผมเป็นห่วงพวกเขา จึงไม่ยินดีรับรางวัลศิลปินแห่งรัฐ" ถ้าในวันนั้นปามุกยืดอกรับรางวัลนี้ เขาคงไม่ต่างจากศิลปินที่เป็นลิ่วล้อให้กับรัฐบาลตุรกี และหมดโอกาสในการออกมาวิพากษ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน

หลังทราบผลไม่กี่ชั่วโมงถัดมา มัลคอล์ม โจนส์ (Malcolm Jones) ผู้สื่อข่าวจาก นิวส์วีค ติดต่อขอสัมภาษณ์ปามุกเกี่ยวกับการทำงานเขียน ความรู้สึกต่อประเทศ และเขาปฏิเสธที่จะพูดเรื่องการเมืองในวันที่เขาได้รับรางวัลโนเบล

เขาให้สัมภาษณ์กับโจนส์ว่า ในการทำงานของเขานั้น สถานที่นับเป็นส่วนสำคัญในการเขียนงาน โดยเฉพาะงานเขียนเล่มล่าสุดของเขาเรื่อง Istanbul ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของปามุกที่ปนทั้งความสุขเศร้าเคล้าน้ำตาเกี่ยวกับประเทศของเขานั้น ปามุกซึ่งปกติมีชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ต้องออกไปพบปะเพื่อนบ้าน เดินไปตามถนนในกรุงอิสตันบูลเพื่อซึมซับกับสถานที่ และการที่เขาเกิดและเติบโตที่นี่ทำให้เขาทั้งรู้สึกรักและต่อต้านไปพร้อมๆ กัน จะเห็นความหัวรั้นแบบชนฝาของเขาในงานเขียนของเขาตลอดโดยเฉพาะเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในตุรกี

ปามุกบอกว่า เขาเห็นทิศทางในการทำงานของเขาชัดเจนมากขึ้นจากเรื่อง The House of Silence แต่ที่เห็นการพัฒนาอย่างเด่นชัดก็จากเรื่อง My Name is Red แต่หลายคนก็บอกว่าปามุกพบทางของเขาตั้งแต่เรื่อง The White Castle และ The Black Book แล้ว งานเขียนสองเล่มนั้นทำให้เขาค้นพบเสียงความหม่นจากจิตใจด้านในของเขา ส่วน The New Life เป็นงานเขียนเชิงทดลองที่เขาทุ่มเทอย่างหนักและสร้างความปลื้มให้กับเขาอย่างมาก พอมาถึง Snow มีความสมจริงอย่างเต็มเปี่ยม และเพื่อให้สมจริงมากขึ้น เขาได้ออกไปเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้คน บันทึกวิดีโอตามถนนในเมือง เพื่อให้ Snow เป็นหิมะที่เหน็บหนาวจับขั้วหัวใจของผู้อ่าน ซึ่งต่างจากการทำงานในเรื่อง My Name is Red ที่เขาอาศัยการเก็บข้อมูลจากการอ่าน

อีกเล่มที่เขากำลังเขียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ของตุรกีในช่วงทศวรรษ 1970 เขาบอกกับโจนส์ว่า เขาจะไม่ปลื้มถ้าคนอ่านที่บอกว่างานเขียนของเขานั้นมีคุณค่า เพราะการออกเก็บข้อมูลมาอย่างดี เพราะปามุกยืนยันว่าเขาทำการเก็บข้อมูลจริง แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำงานเขียนก็เพราะจิตวิญญาณของความเป็นศิลปิน และแรงบันดาลใจที่จะเป็นศิลปินของเขาต่างหากที่ดำรงคุณค่าในงานเขียนของปามุก

แม้เขาจะมาจับปากกาเขียนหนังสือ แต่วิถีชีวิตของเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนจากการเป็นศิลปิน เพราะเขาก็ยังเก็บตัวคนเดียวอยู่ในห้อง หลายปีผ่านไปพร้อมกับการได้อ่านหนังสือดีๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น The Possessed, The Brother Karamazov, Buddenbrooks, Anna Karenina หนังสือเหล่านี้ปลุกจิตให้เขาอยากเป็นนักเขียน การได้อ่านงานวรรณกรรมอันวิจิตรของนักเขียนอย่าง Tolstoy, Dostoevsky, Mann, Proust และ Nabokov นั้น คือแหล่งบ่มเพาะในชีวิตของเขา ส่วนงานเขียนของ Borges และ Calvina นั้น ทำให้เขาตระหนักว่างานวรรณกรรมนั้นมีมิติความลึก ไม่ใช่เพราะจากสิ่งที่เราเห็นเท่านั้น แต่โครงสร้างของงานวรรณกรรมทำให้เกิดสัญชาตญาณแห่งความงามขึ้นในตัวเรา

แม้เขาจะเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของรัฐบาล แต่เขาก็ยังตั้งใจที่จะเขียนงานให้เพื่อนร่วมประเทศชาวตุรกีอ่าน และเขาให้ความสนใจกับรูปแบบการเขียนที่หลากหลาย ทั้งการผสมผสานขนบการเขียนแบบดั้งเดิมของอิสลามและสมัยใหม่ หรือแม้แต่แบบหลังสมัยใหม่ และแนวเขียนแบบทดลอง เขารู้สึกว่าการนำความหลากหลายเหล่านี้ใส่ไว้ในรูปแบบงานเขียนของเขานั้น เป็นการสร้างการรับรู้ในการอ่านเรื่องได้เช่นกัน

พอถูกถามว่าสำคัญไหมที่นักเขียนต้องแบกรับภาระการเป็นผู้สังเกตการณ์ความเป็นไปของประเทศ ปามุกบอกว่า

"การทำแบบนั้นไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นการกระทำของคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาด้านศีลธรรม ถ้าคุณจะเป็นนักเขียนไม่เห็นต้องทำแบบนั้นเลย แต่ถ้าคุณเป็นนักเขียนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านจริยธรรม คุณก็ควรไปเล่นการเมือง แล้วคุณก็ขีดเส้นมาว่า คุณต้องคุยกับนิวส์วีคนะ วันนี้ควรจะเริงร่ากับรางวัลที่ได้รับดีกว่าจะมาพูดแสดงความเห็นทางการเมือง" ปามุกกล่าวปิดท้ายแบบเหน็บเล็กๆ กับโจนส์ในนิวส์วีค

มัวรีน ฟรีลี (Maureen Freely) จากเดอะการ์เดียน ให้ความเห็นว่า รางวัลโนเบลที่ปามุกได้รับนั้นไม่เกี่ยวกับการออกโรงพูดเรื่องการเมือง แต่สิ่งที่เขาพูด บุคลิก ความคิดของเขา และการกำเนิดมาในวัฒนธรรมที่เมื่อไม่นานมานี้ได้ถูกตัดรากเหง้าความเป็นตะวันออกไปจากตัวตนของตุรกีจนโกร๋น แล้วก็พยายามกระเสือกกระสนที่จะเป็นประเทศตะวันตกนั่นต่างหาก ที่ทำให้ปามุกรู้สึกถึงมาตรฐานทางอัตลักษณ์ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตของปามุกและเพื่อนร่วมชาติ การได้รับรางวัลนี้ไม่มีผลต่อการแสดงความเห็นทางการเมืองของเขา เขายังเป็นนักเขียนที่ท้าทายอำนาจรัฐและไม่ได้รับเสียงแซ่ซ้องจากฝ่ายขวาอย่างแน่นอน

มาร์กาเร็ต อัทวูด (Margaret Atwood) กล่าวถึงงานเขียนของปามุกว่า "ออร์ฮัน ปามุก ได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้อ่านเหมือนกับนักเขียนคนอื่นๆ นั่นคือ ความจริง ซึ่งไม่ใช่ความจริงที่เป็นข้อมูลทางสถิติ แต่เป็นความจริงแห่งประสบการณ์ของมนุษย์ในที่แห่งหนึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง และกับงานวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่นั้น คุณจะรู้สึกหลายขณะจิตว่าคุณกำลังเฝ้าสังเกตเขา แต่จริงๆ แล้วเขาต่างหากที่กำลังเฝ้าดูคุณอยู่ และถ้าคุณอยากเข้าอกเข้าใจว่าหัวจิตหัวใจของผู้คนว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คุณควรจะอ่านงานเขียนของปามุก ชีวิต จิตใจและวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มีแต่ในตุรกีเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในทุกๆ ที่"

ออร์ฮัน ปามุก จะเข้ารับรางวัลโนเบลในวันที่ 10 ธันวาคม 2549 (วันคล้ายวันเสียชีวิตของ Alfred Nobel) พร้อมเงินรางวัล 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกาศนียบัตรและเหรียญทอง ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

หากมองย้อนกลับไปถึงเหตุผลหลักในการมอบรางวัลโนเบลให้แก่ ออร์ฮัน ปามุก มีประเด็นหลักที่คณะกรรมการพิจารณาว่าเป็นเรื่องของการหลอมรวมทางวัฒนธรรม และปามุกเองก็บอกแก่สมิธว่า วัฒนธรรมก่อเกิดจากหลากหลายที่มา จึงไม่แปลกที่โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมจะทำให้เกิดวัฒนธรรมร่วม รู้สึกร่วมไปด้วยกับสิ่งเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกนี้ที่ถูกถ่ายทอดลงในงานเขียนของปามุก

และการวิพากษ์การเมืองของปามุก นับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดผ่านทางงานวรรณกรรมและอิสรภาพหนึ่งในการแสดงความคิดเห็น เขาจึงกลายเป็นนักเขียนหอกข้างแคร่ของนักการเมืองและพวกขวาจัดในตุรกี

ออร์ฮัน ปามุก นักเขียนรางวัลโนเบล 2006 ชาวตุรกีคนแรก ศิลปินนักเขียนผู้เปิดโลกทัศน์นักอ่านจากทั่วมุมโลกให้รู้จักตุรกีจากระยะทางที่แสนไกลโพ้น 0

http://www.bangkokbiznews.com/jud/wan/

จุดประกาย วรรณกรรม
ปีที่ 16 ฉบับที่ 6498
วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2549

Comment #1
คนที่ไม่เคยรักการอ่า
Posted @September,24 2008 15.40 ip : 118...11

+) ขอบคุณสำหรับสาระดีๆๆ คะ ขอบคุณคะ ดีจังคะ ถ้าคนไทยเราอ่านกันให้มากๆๆก็จะได้รู้อะไรมากมายในโลกนี้นะคะ

แสดงความคิดเห็น

« 5095
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ