เรื่องราวข่าวสารวรรณกรรม
สองคมคิด มิตรน้ำหมึก สมาคม-เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย
สองคมคิด มิตรน้ำหมึก สมาคม-เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย
โดย ผู้จัดการรายวัน 27 พฤศจิกายน 2549 10:09 น.
วรรณกรรมไทยตายแล้ว !?
คำพูดนี้พูดกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้วในแวดวงนักเขียนบ้านเรา ต้องยอมรับว่าในประเทศที่มีผลสำรวจคนอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละไม่กี่บรรทัด ขณะที่ภาษีกระดาษและราคาหนังสือผกผันกับรายได้เฉลี่ยของประชากร เมื่อคนอ่านน้อย หนังสือแพง แล้วคนเขียนจะอยู่ได้อย่างไร
แน่นอน บนถนนสายน้ำหมึกมิได้ขับเคลื่อนด้วยแรงบันดาลใจที่มีชื่อว่าเงินเพียงอย่างเดียว ประโยคที่มักล้อเลียนกันว่า 'นักเขียนไส้แห้ง' จึงยังมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย หากกระนั้นกลิ่นกระดาษและมนต์น้ำหมึกก็ยังหอมหวลสำหรับผู้ที่ตกหลุมรักตัวอักษรจนเป็นอาชีพอย่าง 'นักเขียน' ที่อยู่ที่ยืนของนักเขียนไทยใน พ.ศ.นี้ หากมิ
ใช่คนดังหรือดารามีชื่อเสียงแล้วล่ะก็ 'เสียง' ของพวกเขาอาจแผ่วเบาจนสำนักพิมพ์ไม่ได้ยิน
'ผู้จัดการปริทรรศน์' พาไปคุยกับสองหัวเรือใหญ่ในนาวาของตัวอักษร ท่านแรกเป็นนักเขียนผู้คร่ำหวอดบนถนนน้ำหมึกมากว่าสามทศวรรษ และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 'ไมตรี ลิมปิชาติ' อีกคนเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงเจ้าของนามปากกานกป่า อุษาคเนย์ หรือ 'จักรกฤษณ์ สิริริน' ประธานเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย
ชีวิตนักเขียน
"นักเขียนปัจจุบันดีกว่านักเขียนสมัยก่อน ในแง่ความเป็นอยู่ ส่วนคุณภาพของงานไม่ขอพูดถึง" ไมตรี ลิมปิชาติ เจ้าของบทประพันธ์ 'คนอยู่วัด' ที่ตีพิมพ์ซ้ำกว่า 30 ครั้ง รวมยอดพิมพ์สูงถึง 6 แสนเล่ม เอ่ยถึงสภาพความเป็นไปของอาชีพนักเขียนในปัจจุบัน
ที่บอกว่า 'ดีกว่า' นั้น เขาหมายถึงนักเขียนสมัยนี้มีเวทีเปิดกว้างมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะงานเขียนประเภทนวนิยายที่มักถูกซื้อบทประพันธ์ไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ซึ่งนักเขียนก็จะได้ผลประโยชน์จากทั้งจากหนังสือพิมพ์รายวันที่นำเรื่องย่อไปลง อีกทั้งยังมีหนังสือเฉพาะกิจออกมาอีกไม่ต่ำกว่าเรื่องละ 3-4 ฉบับ สรุปแล้วนักเขียนสมัยนี้จึงมีรายได้ดีกว่านักเขียนสมัยก่อน
แต่ก็ใช่ว่านักเขียนทุกคนจะยึดงานเขียนเป็นอาชีพได้สบายอย่างนักเขียนเมืองนอก ที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มเดียวอยู่ได้เป็นปี ขณะที่บ้านเราบางเรื่องพิมพ์ 3,000 เล่มขาย 3 ปีก็ไม่หมด เพราะอุปสรรคใหญ่ประการหนึ่ง
ของนักเขียนไทยก็คือ 'ค่าเรื่อง' ที่ผ่านไปกี่ปีๆ ก็ยังคงอัตราน้อยสม่ำเสมอ
"ค่าเรื่องหรือต้นฉบับเรื่องสั้นสมัยก่อนได้เรื่องละ 300-500 บาท ค่าก๋วยเตี๋ยวตอนนั้นชามละ 2 บาท เดี๋ยวนี้เรื่องสั้นได้เรื่องละ 2,000-3,000 บาทค่าก๋วยเตี๋ยวชามละ 20-30 บาท ค่าเรื่องกับค่าก๋วยเตี๋ยวยังต่างกันเท่าเดิม"
ที่น่าประหลาดใจก็คือนักเขียนสารคดีนั้นกลับได้ค่าเรื่องน้อยกว่างานเขียนประเภทอื่น "ผมเองเขียนทั้งสารคดี เรื่องสั้น เรื่องยาว คนที่เขียนสารคดีมักจะได้ค่าเรื่องถูกกว่าเรื่องยาวเท่าหนึ่ง สมมติว่าบางแห่งเรื่องยาวได้ 5,000 สารคดีได้แค่ 2,500 ทั้งที่งานสารคดีมีต้นทุนค่ารูป ต้องเดินทาง ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนตั้งกฎเกณฑ์ ไม่ว่านิตยสารไหนเหมือนกันหมดทุกฉบับ"
ขณะที่การขยายตัวของธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะในงานสัปดาห์หนังสือที่มีจำนวนผู้เข้าชมล้นหลามแทบทุกปีนั้น นายกสมาคมนักเขียนมองว่าเป็นตัวกระตุ้นให้วงการคึกคักขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านคนดังเขียนหนังสือจากคนในแวดวงวรรณกรรมกันหนาหู แต่เขากลับมองอีกมุมว่า "คนที่อ่านหนังสือดาราจะไม่ค่อยอ่านงานของนักเขียนอาชีพ ยอมรับว่าหนังสือของนักเขียนเฉพาะกิจยอดขายสูงมาก แต่การที่คนไปสนใจมุงดูดาราในงานหนังสือ โอกาสที่เขาจะเดินไปอ่านงานของนักเขียนแท้ๆ ก็จะมีมากขึ้น"
อีกด้านหนึ่ง ที่สะกิดใจนักเขียนรุ่นเก่าอย่างไมตรีก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนกับบรรณาธิการที่ปัจจุบันห่างเหินกลายเป็นเรื่องของธุรกิจซื้อ-ขายงานเขียนเพียงอย่างเดียว สายสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนกับบรรณาธิการ โดยเฉพาะบรรณาธิการหนังสือรุ่นใหม่ๆ นั้นแทบไม่มี ต่างจากในอดีตที่นักเขียนจะสนิทสนมกับบรรณาธิการซึ่งส่วนมากก็เป็นนักเขียนด้วยเช่นกัน
"บก.สมัยก่อนจะมีต้นกำเนิดจากนักเขียน ลลนาก็มีคุณสุวรรณี สุคนธา สตรีสารมีคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ฟ้าเมืองไทยคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ หรือชาวกรุงที่มีคุณประมูล อุณหธูปบรรณาธิการ สมัยก่อน พอส่งเรื่องไปลงหรือไม่ลง บรรณาธิการจะอธิบายว่ายังไม่ดียังไง เขาจะใกล้ชิดกับนักเขียนมาก แล้วเวลาไปรับค่าเรื่องก็จะต้องไปพบกับบก. ซึ่งก็จะชวนคุยว่าฉบับนี้จะจบแล้ว ผู้อ่านชอบมีจดหมายเข้ามามาก หรือเรื่องนี้คนอ่านไม่ค่อยชอบมี
จดหมายน้อย แต่สมัยนี้บรรณาธิการกับผู้เขียนจะห่างเหินกันมากเลย คือส่งไปแล้วจะลงไม่ลงบางทีก็ไม่มีการพูด
คุยกัน"
ว่าด้วย 'ก๊ก' ของนักเขียนไทย
ต่อข้อสงสัยที่ว่าวงการนักเขียนบ้านเรานั้นมักจะแบ่งพรรคแบ่งพวก ทำให้ภาพการรวมตัวกันทำอะไรเป็นกลุ่มก้อนในนามคนหมู่มากนั้นไม่ค่อยมีให้เห็น นายกสมาคมนักเขียนฯ ยอมรับว่า ทุกอาชีพนั้นก็มีการแบ่งแยก คนเขียนหนังสือเองก็มีการแบ่งตามประเภทผลงาน แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นงานเขียนประเภทใดก็มีคุณค่าในตนเองทั้งสิ้น
"คนที่เขียนงานวรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ชอบดูถูกนักเขียนนิยายที่เอาไปทำละครว่าน้ำเน่า แต่นิยายถ้าอ่านให้ดีมีคุณค่าทุกเรื่อง นิยายในละครที่โดนกล่าวหาตอนจบก็ยังมีคติสอนใจ อย่างที่ผมพูดเสมอว่าขนาดในน้ำเน่ายังมีลูกน้ำ มันมีประโยชน์ เพราะนวนิยายมันเป็นจิตวิทยา เป็นอาหารทางใจ สอนให้คนทนอกหักได้ มันก็ดีกันคนละอย่าง ข้อเขียนทุกชนิดมีประโยชน์ทั้งนั้น"
นอกจากการแบ่งกลุ่มตามผลงานแล้ว ไมตรีบอกว่าแวดวงนักเขียนยังมีการแตกแยก 'ทางด้านจิตใจ' แม้แต่รางวัลทางวรรณกรรมนั้นก็จะเห็นว่าเรื่องเศร้ามักจะเป็นเรื่องที่ได้รับรางวัล ขณะที่เรื่องตลกกลับถูกมองข้ามไปด้วยเหตุผลว่าไม่ลึกซึ้งพอ
"ปัจจุบันสมาคมฯ มีนักเขียนเป็นสมาชิกอยู่พันกว่าคน มีตั้งแต่นักเขียนอาวุโส และนักเขียนรุ่นใหม่เอี่ยมก็มี แต่มีจุดน่าคิดอยู่บางอย่าง บางคนเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมานานเป็นสิบๆ ปีแต่ไม่ได้เป็นสมาชิก ความรู้สึกของนักเขียนเหล่านี้ต่อสมาคมอาจจะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมาเป็นสมาชิกก็ได้ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ความผิดของสมาชิก แต่น่าจะเป็นความผิดของสมาคมที่ไม่อาจสร้างศรัทธาให้เขามาเป็นสมาชิกได้ ซึ่งก็ต้องพยายามต่อไป เขาจะถามเสมอว่าเป็นแล้วจะได้อะไร ซึ่งเราอยากจะถามกลับเหมือนกันว่า เราคิดว่าเราเป็นนักเขียนเราจะช่วยสมาคมเราอย่างไร คือถ้าช่วยได้สมาคมก็จะมีแรงทำประโยชน์ให้แก่นักเขียนได้เยอะ เพราะปัญหาก็คือทางสมาคมไม่มีรายได้โดยตรง มีแต่รายรับบริจาค"
อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมนักเขียนฯ กล่าวว่านักเขียนไทยยังแตกแยกกันน้อย เมื่อเทียบกับสาขาอาชีพอื่น อาทิเช่น หนังสือพิมพ์เองที่มีทั้งสมาคมแตกแขนงออกมามากมาย ขณะเดียวกันทางสมาคมฯ ก็ทำงานร่วมกันกับองค์กรนักเขียนที่เกิดใหม่อย่าง 'เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย' ซึ่งเป็นนักเขียนรุ่นใหม่โดยไม่มีความแปลกแยกในการทำงานร่วมกันแต่อย่างใด
หลายคนอาจจะยังจำกันได้ถึงกรณีรางวัลวรรณกรรมการเมืองที่อื้อฉาวที่สุดแห่งยุค 'พานแว่นฟ้า' ที่นำมาสู่การรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิจากนักเขียนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ผนึกกำลังจับมือกันเดินหน้าชนกับ 'ยาดำ' การเมืองที่แฝงอยู่ในคณะกรรมการตัดสินชุดนั้น โดยเป็นแกนนำในการล่ารายชื่อคัดค้านผลการประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า
ผลจากการเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้มีคณะกรรมการหลายคนลาออก ปัจจุบันนี้รางวัลวรรณกรรมของรัฐสภาแห่งนี้ได้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ให้ 'คนวรรณกรรม' เข้ามามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ซึ่งจักรกฤษณ์ สิริริน ประธานเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทยก็ถ่อมตัวไม่ขอรับความดีความชอบฝ่ายเดียว เขาบอกว่าเครือข่ายฯ เป็นเพียงกลไกหนึ่งที่ช่วยเรียกร้องความยุติธรรมแก่นักเขียนให้เกิดขึ้นเท่านั้น
เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเดือนพฤศจิกายน 2548 แม้จะมีอายุเพิ่งครบปี แต่ผลงานที่ผ่านมานั้นจัดว่าไม่ธรรมดา พวกเขาเป็นหนึ่งในองค์กรที่กระโดดลงมารณรงค์การอ่านการเขียนแก่คนรุ่นใหม่
นับตั้งแต่ จัดงานมหกรรมหนังสือทำมือและสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทย, จัดประกวดวรรณกรรม 30 ปี 6 ตุลา, เป็นแกนนำในการล่ารายชื่อนักเขียนไทยไล่คนหน้าเหลี่ยม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549, จัดทำฐานข้อมูลนักเขียนไทย Thai Writer Database รวมทั้งเป็นกรรมการจัดการประกวดรางวัลทางวรรณกรรมอีกมากมาย
แต่งานสำคัญที่ทางเครือข่ายฯ กำลังเร่งจัดทำร่วมกับสมาคมนักเขียนฯ ก็คือ ประเด็นเรื่องของลิขสิทธิ์วรรณกรรม
ลิขสิทธิ์นักเขียน
ปัจจุบันปัญหาลิขสิทธิ์กำลังเป็นประเด็นร้อนในแวดวงนักเขียน ทั้งที่มีผู้ละเมิดและถูกละเมิดจนกลายเป็นประเด็นฟ้องร้องกันให้วุ่น แม้แต่ตัวนายกสมาคมนักเขียนฯ อย่างไมตรี ลิมปิชาติ ก็ยังถูกขโมยผลงานเรื่องสั้นที่เคยลงในนิตยสารชาวกรุงเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยเด็กรุ่นลูกแอบก๊อปปี้ไปทั้งดุ้น ไม่เปลี่ยนแม้แต่ชื่อเรื่องคือ 'ทางออกที่ถูกปิด' ส่งไปยังนิตยสารหญิงไทย
"โทษบก.ไม่ได้ บก.รุ่นใหม่เขาจะรู้จักหนังสือเกือบ 30 ปีที่แล้วหรือ เรารู้มาว่าหากลอกสำนวนอาจฟ้องได้ทางกฎหมาย แต่ลอกพล็อตนั้นฟ้องลำบาก ปัจจุบันสมาคมมีกรรมการทั้งหมด 25 ท่าน แต่ไม่มีนักกฎหมายเลยแม้แต่คนเดียว ตอนนี้ก็มีกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่ติดต่อมาขอคำปรึกษาเรื่องการก๊อปปี้งานเขียน อยากให้กรรมการชุดหน้ามีนักกฎหมายที่มีความรู้ด้านลิขสิทธิ์ และนายกสมาคมฯ คนใหม่ช่วยสานต่อทั้งเรื่องบ้านลุงเสาร์และเรื่องของลิขสิทธิ์"
ทางด้านจักรกฤษณ์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า "ปัจจุบันงานที่ทางเครือข่ายนักเขียนฯ กำลังทำอยู่เงียบๆ คือ ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ ตอนนี้จะเห็นได้ว่านักเขียนโดนลอกลิขสิทธิ์เยอะมาก ซึ่งเร็วๆ นี้เราจะทำการยกร่างสัญญาลิขสิทธิ์ที่นักเขียนกับสำนักพิมพ์จำเป็นต้องมี ซึ่งเดิมทีหลายๆ สำนักพิมพ์ก็มีสัญญานี้อยู่แล้ว แต่สำนักพิมพ์ใหญ่บางแห่งก็ไม่มีสัญญา ซึ่งก็นำมาสู่ข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทภายหลัง เช่น เอาต้นฉบับมาดองไว้เป็นปีๆ ก็ไม่พิมพ์ การกดค่าลิขสิทธิ์ลงไปจากมาตรฐาน 10% เหลือ 7%,5% ผมก็กำลังปรึกษากับทางคุณไมตรีอยู่ว่าทำอย่างไรสององค์กรนี้จะร่วมมือกันในการร่างมาตรฐานสัญญาลิขสิทธิ์ โดยได้ตัวอย่างจากทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา และหลายๆ สำนักพิมพ์เอามารื้อและยกร่างกันใหม่"
วิทยุวรรณกรรม 'ร้านหนังสือบนก้อนเมฆ'
เมื่อคนไทยส่วนมากไม่มีเวลาอ่าน แล้วทำไมเราไม่นำสารจากหนังสือมาส่งถึงหูผู้ฟังเล่า ?
ไอเดียสุดบรรเจิดนี้เป็นฝีมือและผลงานการสร้างสรรค์สื่อผสมทางวรรณกรรมของเครือข่ายนักเขียนฯ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาได้จัดทำ เว็บไซต์ www.thaiwriternetwork.com เพื่อเป็นสื่อประสานนักเขียนไทยทุกรุ่น ประสบความสำเร็จมาแล้ว
รายการวิทยุวรรณกรรม 'ร้านหนังสือบนก้อนเมฆ' ออกอากาศทางคลื่น FM 92.5 เป็นประจำทุกคืนวันอาทิตย์เวลา 22.00-23.00 น. โดยจักรกฤษณ์บอกว่าที่ผ่านมาออกอากาศมาสี่เดือนแล้ว ผลตอบรับก็น่าพอใจ
"มีใบสมัครประกวดต้นฉบับ 'เขียนความดีที่หัวใจ 60 ปี 60 ล้านความดี 60 เรื่องสั้นถวายในหลวง' เข้ามามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ฟังมาจากรายการวิทยุทั้งนั้นเลย มีทั้งแม่บ้าน, รปภ. ไปจนถึงน้องๆ นักเรียน ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าวิทยุสื่อเข้าถึงคนวงกว้างจริงๆ สื่อได้มากกว่าโทรทัศน์อีกนะในมุมมองผม เพราะบางครั้งคนที่ออกไปทำงานนอกสถานที่ อย่างเช่นคนขับแท็กซี่,ยาม หรือว่าคนที่ทำงานตามท้องไร้ท้องนา เขาไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีไฟฟ้าก็จะฟังวิทยุ"
นอกจากนี้ ความที่เครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ครอบคลุมไปทั่วประเทศก็ทำให้ รายการวิทยุวรรณกรรม 'ร้านหนังสือบนก้อนเมฆ' มีแฟนประจำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จักรกฤษณ์เผยรูปแบบรายการที่ได้เวลามา 1 ชั่วโมงว่าจะแบ่งออกเป็น 7 ช่วง ช่วงแรกเป็นช่วง 'เปิดประตูสู่ร้านหนังสือ' ที่เป็นช่วงทักทายและอัพเดตข่าวคราวต่างๆ และเปิดเพลงที่อิงกับวรรณกรรมเป็นหลัก
"อย่างเช่นเพลง 'ช่างไม่รู้เลย' เพลงประกอบหนังเรื่องเพื่อนสนิทซึ่งทำมาจากนิยาย 'กล่องไปรษณีย์สีแดง' ของคุณอภิชาติ เพชรลีลา คือเราพยายามจะเชื่อมวรรณกรรม หนัง และเพลงเข้าด้วยกัน" จักรกฤษณ์อธิบาย
ช่วงที่สองเป็นช่วง 'วรรณกรรมเคลื่อนไหว' ซึ่งก็ได้ 'วรรณฤกษ์' ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ซุบซิบวรรณกรรมมารายงานข่าวคราวกอซซิปต่างๆ ในแวดวงวรรณกรรม ช่วงที่สาม 'จิบกาแฟกับนักเขียน' ให้สมกับชื่อรายการภาษาอังกฤษคือ Book Cafe Radio ก็คล้ายๆ กับเป็นคอฟฟี่ช็อปให้นักเขียนมาจิบกาแฟพูดคุยกับผู้อ่าน ซึ่งจะเน้นสัมภาษณ์เป็นหลักเกี่ยวกับบุคคลในแวดวงวรรณกรรมที่กำลังเป็นประเด็นในช่วงนั้นๆ
ช่วงที่สี่ 'จากหนังสือสู่บทเพลง' จะมีการคัดสรรบทเพลงที่สร้างจากวรรณกรรม อาทิ ขวัญเรียม จากบทประพันธ์ของไม้ เมืองเดิม, เพลงกาเหว่าที่บางเพลงของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น ช่วงถัดมาคือช่วง 'เรื่องสั้นการละคร' ที่คัดเรื่องสั้นที่ส่งมาทั้งจากในเว็บบอร์ด, แฟกซ์ และจดหมายนำมาเล่าออกอากาศในรูปแบบละครวิทยุ โดยจะจัดสลับกันกับช่วง 'บทกวีอยู่ที่ใจ' ซึ่งจะนำบทกวีที่ทางบ้านส่งเข้ามาอ่านออกอากาศ ช่วงที่หก 'อาหารว่างทางปัญญา' บอกเล่าอันดับหนังสือขายดีจากร้านหนังสือทางเลือกต่างๆ ช่วงสุดท้าย 'ดึกแล้วคุณขา' จะเน้นเปิดเพลงที่กวีหรือนักเขียนเป็นคนแต่งขับกล่อมผู้ฟังเข้านอน
"ปีใหม่นี้เราได้เวลาเพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่สองทุ่มครึ่งถึงห้าทุ่มเลย ผมก็เลยไปเชิญทีมงานนิตยสาร Bioscope ให้เขามารับช่วง 'วรรณกรรมบนแผ่นฟิล์ม' ซึ่งนำเสนอหนังที่สร้างจากวรรณกรรม อีกครึ่งชั่วโมงก็ได้คุณพรเทพ เฮง หัวหน้ากองบก.นิตยสาร Way ให้มาวิจารณ์หรือนำเสนอบทเพลงที่สร้างจากงานวรรณกรรม และยังได้สิงห์สนามหลวงมาตอบจดหมายกลางอากาศ" จักรกฤษณ์เผยผังรายการในช่วงต้นปีหน้าที่ได้รับเวลามาเพิ่มอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
เนื่องจากทางกรมประชาสัมพันธ์ห้ามมิให้มีโฆษณาในรายการ ทางจักรกฤษณ์จึงต้องพยายามหมุนเงินทุนจากโครงการอื่นๆ มาช่วยบ้างบางครั้ง แต่เขาบอกว่าการทำรายการนี้แทบไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย เพราะทุกคนล้วนมาทำให้ด้วย 'ใจ'
"วรรณกรรมคนมันน้อย เราเป็นสมาคมที่ไม่แสวงหากำไร ส่วนมากทุกคนก็มีงานประจำทำกันอยู่แล้ว เราวางบทบาทตัวเองเป็นผู้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มวรรณกรรมต่างๆ อาทิ สมาคมนักเขียนฯ สมาคมนักกลอน ไม่มีความแตกแยกกัน เราจะไม่ไปทำซ้ำในส่วนที่กลุ่มอื่นทำอยู่แล้ว อย่างเช่นค่ายวรรณกรรมของครูสลา เขาทำดีอยู่แล้ว เราจะเน้นคนรุ่นใหม่มากกว่า" จักรกฤษณ์สรุป
บรรทัดนี้คงต้องขอยกสำนวนพญาอินทรีแห่งสวนทูนอินที่บอกว่าเรา (นักเขียน) ทั้งผองล้วนเป็น 'ญาติน้ำหมึก' กันทั้งนั้น โครงการดีๆ จากความร่วมมือร่วมใจของนักเขียนไทยน่าจะทำให้อนาคตวรรณกรรมไทยสดใสขึ้นกว่าเดิม
*************
'บ้าน' นักเขียน
ก่อตั้งมาจนครบ 34 ปีแล้ว แต่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยกลับเพิ่งจะมี 'บ้าน' เป็นของตนเองสักทีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่สมาคมพยายามระดมทุนอย่างเต็มที่ ทั้งจัดแสดงละคร, ประมูลภาพจากศิลปินมีชื่อจนได้เป็นเงินทุนค่าก่อสร้างกว่า 1.3 ล้านบาท และเริ่มก่อสร้างเมื่อสองปีที่แล้ว
ที่ดิน 153 ตารางวาบนถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี คือที่ตั้งที่ทำการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งพ่อบ้านใหญ่อย่าง 'ไมตรี ลิมปิชาติ' อยากให้เรียกว่า 'บ้าน' มากกว่าที่ทำการ เพราะนอกจากจะเป็นบ้านนักเขียนหลังแรกแล้ว ที่ดินผืนนี้ยังมีความเป็นมาเชื่อมโยงถึงนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับในอดีต 'ส.บุญเสนอ' ซึ่งยกที่ดินส่วนตัวแห่งนี้ให้เป็นที่ทำการสมาคมนักเขียนฯ ในสมัยของนายกสมาคมฯ คนก่อนคือประภัสสร เสวิกุล ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยเดิมนั้นได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน
บ้านไม้หลังเดิมของ ส.บุญเสนอ นั้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ภายในบ้านยังรักษาสมบัติของท่านเจ้าของเดิมไว้ครบถ้วนเหมือนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ทั้งเตียงนอน โต๊ะเขียนหนังสือ หรือแม้แต่พิมพ์ดีด เป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษาว่าครั้งหนึ่งงานเขียนที่มีคุณภาพชิ้นแล้วชิ้นเล่า ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นที่นี่
วันเปิดที่ทำการสมาคมฯ มีนักเขียนและคนในแวดวงวรรณกรรมไปร่วมงานนับร้อยชีวิต โดยนักเขียนอาวุโสอย่างรพีพร หรือสุวัฒน์ วรดิลกให้เกียรติทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและมอบน้ำใจบริจาคแก่สมาคมเป็นจำนวนหลักแสน เช่นกันกับนักเขียนอาวุโสอีกท่าน คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต เจ้าของนามปากกา 'นิตยา นาตยะสุนทร' ผู้ประพันธ์นวนิยายดัง 'แก้วตาพี่' ที่เซ็นเช็คบริจาคให้ทางสมาคมถึง 1 ล้านบาท ซึ่งนายกสมาคมนักเขียนบอกว่าจะนำเงินบริจาคที่ได้ไปทำประโยชน์ เช่น ซ่อมแซมบ้านของส.บุญเสนอ ซึ่งเป็นบ้านไม้ถูกปลวกกินและระเบียงที่เก่าใกล้จะพังเต็มที เพื่อในอนาคตจะได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์นักเขียนไทยท่านอื่นๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว และใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมผลงานเก่าอันทรงคุณค่าต่อไป
ถึงแม้เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนข้างหน้าก็จะหมดวาระจากตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย แต่เจ้าของผลงานเด่น 'คนอยู่วัด' ก็ยังหวัง...และเชื่อมั่นว่าการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของอาชีพคนเขียนหนังสือในบรรณพิภพไทยจะช่วยขับเคลื่อนและนำทางกงล้อวงวรรณกรรมไทยไปข้างหน้าได้
"เดือนมกราคมคณะกรรมการชุดนี้ก็จะหมดวาระ มอบหมายหน้าที่ให้กับคณะกรรมการชุดใหม่ เราก่อตั้งมา 34 ปี เพิ่งจะมีบ้านนักเขียนเป็นแห่งแรก ไม่อยากให้เรียกที่ทำการสมาคมแต่ให้นับเป็นบ้านที่อบอุ่นของนักเขียนมาจัดกิจกรรมหรือประชุมอบรมกัน ไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักเขียนสมาชิกของสมาคมเท่านั้น"