Party หนังสือ
ภาพผ่านกระจกหม่นมัว
ดอนฮวน เคยบอกไว้ใน หยุดโลก ว่า "ความตายเป็นสหายของเราตลอดไป มันอยู่ทางซ้ายมือของเราตลอดเวลา มันเฝ้าคุณไม่ห่างไปไหน จนกระทั่งถึงวันนั้น มันจะยื่นมือของมันออกมาแตะที่ตัวคุณ"
เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะจริงเท็จหรืออย่างไร นั่นคือสิ่งซึ่งมนุษย์ทุกผู้ย่อมไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ผมเคยอ่านเรื่องราวของความตายมาก็หลากหลายรูปแบบ ทั้ง "ความตายอันแสนสุข" ของอัลแบร์ การ์มู (หนังสือที่ถูกทอดทิ้ง อันเนื่องจากความไม่พึงพอใจในผลงานโดยผู้เขียนเอง) และ ชะตากรรมของ เมอโซ ใน คนนอก จากผลงานของอัลแบร์ การ์มู เช่นกัน การ์มู ผู้ที่เคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตของคนเราเฉาโฉดไร้สาระ" และความตายในชีวิตจริงของการ์มู ก็เพื่อที่จะสนับสนุนคำกล่าวของเขาเช่นกัน
แต่ว่า... วันนี้ผมไม่อยากพูดเรื่องราวหนักสมองเลย เอาเป็นว่าเรามาดูเรื่องราวความตายที่สุนทรีย์ เท่าที่มนุษย์สามัญจะคิดคำนึงถึงได้บ้าง
ผมอยากจะพูดถึงหนังสือเด็กสักเล่มหนึ่ง ครั้งแรกที่ผมอ่าน "โลกของโซฟี" (หนังสือเล่มหนึ่งที่ทำให้ผมเรียบเรียงความเป็นไปในโลกนี้ได้ดียิ่งขึ้น) ผมรู้สึกชอบในรูปแบบการนำเสนอของ "โยสไตน์ กอร์เดอร์" ที่สามารถเรียงร้อยปรัชญาความคิดแต่ละช่วงของมนุษย์โลก ให้อยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจติดตามจนจบ (แม้หนังสือออกจะเล่มหนามาก แต่อ่านไม่เหมือนหนังสือเรียนที่น่าเบื่อของท่านนักวิชาการผู้รู้ดีทั้งหลาย) เล่มนี้ไม่เกี่ยวกับความตายหรอก!!!
ถ้าจะพูดถึงความตายอันสวยงาม ผมคงต้องพูดถึง "ภาพผ่านกระจกที่หม่นมัว" ของ "โยสไตน์ กอร์เดอร์" เช่นกัน "ซีซิเลีย" เด็กหญิงผู้ที่ยังไม่เคยตระหนักว่าตนเองเคยอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ เด็กหญิงผู้ที่ยังไม่ได้ใช้ความเป็นมนุษย์ของตนเอง ก่อเกิดโภชน์ผลอันใดทิ้งไว้ให้แก่โลกอันกว้างใหญ่ใบนี้เลย กลับต้องผจญกับโรคร้ายตั้งแต่อายุยังน้อย
ก่อนตาย ซีซิเลียได้พบกับเทวดาตัวน้อยนาม "เอเรี่ยล" และได้รับฟังเรื่องราวอันแสนมหัศจรรย์ต่างๆ ทั้งยังได้ถกกันถึงเรื่องราวของการมีชีวิตอยู่ ความรู้สึกแห่งเนื้อหนังและการรับรู้ ทำให้ซีซิเลียตระหนักว่า "การที่มนุษย์ยังไม่เห็นสวรรค์เป็นสวรรค์ เป็นเพียงเพราะมนุษย์มองเห็นแต่ ภาพผ่านกระจกหม่นมัว เท่านั้น"
กอร์เดอร์ ได้ช่วยเปิดจินตนาการของผู้อ่านให้เห็นว่า "ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่แสนประเสริฐ ไม่ว่าจะอยู่บนโลกนี้หรือสวรรค์?"