เรื่องสั้น
ข้อจำกัด
ข้อจำกัด โดย ไร้นาม
ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น?... ประเทศนี้อะไรต่อมิอะไรมันถึงได้สับสนอลหม่านผิดที่ผิดทางไปหมด... ความที่เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นซ้ำซากจนหลายปีมานี้ ผมท้อใจแล้วก็เหนื่อยหน่ายอย่างบอกไม่ถูก แต่ถ้าเราไม่อดทนอดกลั้นและรอคอยสิ่งดีๆที่เราฝันถึงก็คงไม่เกิด
และหนึ่งในความเลวร้ายนั้น... สึนามิ-ผมพบตัวเองกลับมาจมลึกอยู่กับบางฉากภาพบางเหตุการณ์ เพื่อเสาะหาบทเรียนที่เกิดขึ้นดั่งแสงสว่างในอุโมงค์แห่งความมืด หากทว่ามันมีบางสิ่งตอกย้ำความเข้าใจของผมให้ฝังแน่นลงไปอีก
และในวันที่ความโศกเศร้าโสมนัสถาโถมลงมานั้น... เสธ.ใหญ่- ผมปล่อยให้ภาพเก่าๆ ผุดพราย-ตามข่าว เขาเพิ่งได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ลงมาเป็น ผู้บัญชาการศูนย์ฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่นั่น ทุกคนที่รู้จักเสธ.พูดกันเป็นเสียงเดียวว่าโชคเข้าข้างเขาแล้ว งานช่วยเหลือผู้ประสพภัยสึนามิ กำลังทำให้เลือดลมความเป็นทหารหาญแล่นสูบฉีดแผ่ซ่านขึ้นอีกครั้ง
เมื่อกลับมาถึงบ้าน นายทหารขมีขมันให้ภรรยาเก็บสัมภาระติดตัวไปให้มากที่สุด เขาวาดภาพตัวเองเสมือนวีรบุรุษลงไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และแน่ละว่างานครั้งนี้เขาจะต้องกลับมาพร้อมความสำเร็จ
สองวันต่อมา เขากับภรรยาเดินทางไปกับทหารกองช่างพร้อมด้วยอุปกรณ์ก่อสร้าง นายทหารลงไปรายงานตัวยังศาลากลางจังหวัด หาที่พัก ประชุมร่วมกับคณะทำงาน เขาพกพาความฝันอันแจ่มจรัส ขณะอยู่ในรถตู้เขาลำดับภารกิจที่ต้องทำเร่งด่วน ภาพบ้านเรือนอันยับเยินของผู้คนถูกคลื่นยักษ์พัดถล่มพังทลายไม่เหลือชิ้นดี ผุดกระจ่างขึ้นกลางห้วงนึก เขาลังเลว่าลงถึงฟื้นที่แล้วจะไปหาคนช่วยงานจากไหนดี และในตอนนั้นเองมีคนมากระซิบบอกว่าให้ไปหากำนัน
อีกฟากหนึ่งของจังหวัดเดียวกัน วีรยุทธ บุญมาก พร้อมด้วยทีมงานอีก 4 ชีวิต พวกเขาลงมาอยู่ในพื้นที่ได้ 2 เดือนแล้ว ด้วยความตั้งใจว่าจะช่วยเหลือผู้ประสบภัย สิ่งแรกที่พวกเขาได้ทำไปก็คือสร้างบ้านพักถาวรให้ชาวบ้าน 3 หลัง และหาเงินบริจาคมาได้ 1 ล้าน 2 แสนกว่าบาทจากเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก
พวกเขาร่วมกับอาสาสมัครที่เป็นเด็กหนุ่มจากรามคำแหงอีก 5 คน อาสาสมัครชาวสวีเดน อเมริกา ออสเตรเลีย อีก 7 คน ผมเห็นพวกเขาวิ่งพล่านกับการจัดระบบการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ ซึ่งยังชุลมุนสับสน ภาครัฐที่ลงไปดูก็เอาอกเอาใจแต่จังหวัดใหญ่ๆ ที่มีผลประโยชน์การท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างภูเก็ต พังงา กระบี่ จังหวัดเล็กๆอย่างระนองเลยถูกมองข้าม สื่อมวลชนเองก็เฮโลไปกองอยู่ที่ภูเก็ต คอยแต่ตามข่าว(อดีตและว่าที่)นายกรัฐมนตรีและคนสำคัญลงพื้นที่
วันแรกๆ นอกจากคอยดูแลเด็กๆ ผู้หญิง คนชราที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้...หาข้าวหาปลา สร้างพี่พักชั่วคราวให้อยู่ พวกเขาติดต่อไปยังองค์กรส่วนกลาง(ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ) ให้รีบจัดส่งเต็นท์มาให้(นั่นเพราะว่าราคาถูกกว่าที่ซื้อในระนอง) วิ่งเต้นหาน้ำหาท่ามาให้ทุกคนได้อาบ พร้อมๆกับเริ่มต้นเก็บข้อมูล ทำทะเบียนผู้ประสบภัย กว่าที่เจ้าหน้าที่ของทางการจะลงมา พวกเขาก็รวบรวมคนที่เดือดร้อนได้แล้วเกือบสองร้อยคน
และในบรรดาผู้เดือดร้อนเกือบพันคนเหล่านี้ มีคนไทยพลัดถิ่นที่เป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ที่เขาดูแลอยู่เกือบ 50 คนมาทำงานรับจ้างบ้าง ทำประมงบ้าง พวกเขาแต่ละคนต่างเผชิญชะตากรรม ได้รับความยากลำบากไม่แพ้ชาวบ้านคนอื่นๆ
ในท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ เขาเห็นเป็นโอกาสที่จะต้องช่วงชิง ทำงานความคิดกับชาวบ้าน มีแต่ห้วงวิกฤตเท่านั้นที่จะทำให้คนจนๆ หาเช้ากินค่ำพร้อมที่จะเรียนรู้ค้นหาบทเรียนชีวิตใหม่ๆ
กำนันชุม ประทุมรัตน์ ในฐานะผู้รับผิดชอบในพื้นที่เรียกประชุมชาวบ้าน แกหัวเสียไม่น้อยเมื่อรู้ว่ามีคนภายนอกลงมาเจ้ากี้เจ้าการช่วยเหลือลูกบ้านอีกแล้ว และนั่นทำให้แกนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ เหมือนถูกนักเลงดีมาเหยียบถึงถิ่น แกคิด เห็นทีจะต้องทำอะไรสักอย่าง
ความที่ตะแกเป็นถึงหัวคะแนนสำคัญของนักการเมืองใหญ่ และก้าวขึ้นมาเป็นกำนันได้ก็เพราะอาศัยบารมีของตระกูลเก่า ที่ปกครองหมู่บ้านมานาน มีคนพูดว่า อีกไม่ช้าแกกำลังจะลงสมัครชิงชัยตำแหน่ง สจ. สองวันก่อนกำนันถูกเรียกตัวไปยังจังหวัด...
ข่าวลือที่ว่าทางการให้เงินช่วยเหลือเป็นเงินสร้างบ้านมาหลังละ 3 หมื่นบาทพร้อมกับเงินกู้ให้ซ่อมแซมเรือหาปลาแพร่สะพัดไปทั่ว โหมประโคมไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้กระแสแห่งคลื่นยักษ์ ที่ซัดกระหน่ำผืนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่ได้เข้าประชุมกับกำนันเริ่มลังเลใจ ในที่สุดเงินช่วยเหลือจากทางการก็มาเสียที หลังจากรอคอยอย่างใจจดจ่อกันมานาน
เงินสดๆร้อนๆที่รอการเบิกจ่ายอยู่ทำให้ชาวบ้านตาลุกวาว
"คนกำลังจมน้ำมีอะไรลอยตามน้ำมาให้คว้าติดมือไว้ได้ ก็ต้องรีบคว้าไว้ก่อนนั่นแหละพี่" น้อย-ผู้ช่วยเขาบ่นเสียงอยู่ในคอ
"อื้อ" วีรยุทธครุ่นคิด เขารู้ดี ปัญหาใหม่กำลังตามมา
เวลาเขาเหลือไม่มากนัก เพราะว่าภารกิจของงานประจำกำลังเรียกร้องให้เขากลับไปสะสาง อย่างไรก็ตาม เขาเข้าใจชาวบ้านดี ในเมื่อเวลานี้ชาวบ้านมีทางเลือกมากขึ้น ความอดทนของทุกคนก็ลดน้อยลง บางคนไม่คุ้นชินกับการพึ่งพาตนเองแม้แต่จะบอกความต้องการ อย่างเช่นการช่วยกันเนรมิตรบ้านในฝัน ก็ยังนึกไม่ออกว่ารูปลักษณ์ควรจะมีหน้าตาเช่นไร (ซึ่งต้องผ่านกระบวนการคิด การมีส่วนร่วมที่ยุ่งยาก เชื่องช้า-ทำไมไม่ทำมาให้เลยล่ะ จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป) เมื่อรู้ว่าความช่วยเหลือรออยู่ตรงหน้าก็เริ่มถอดใจ ความหวั่นไหวเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าของชาวบ้าน ทำให้วีรยุทธหงุดหงิดไม่น้อย เพราะนั่นทำให้ภารกิจเขาเพิ่มพูนมากขึ้นอีก ไหนเลยต้องจัดการกับของบริจาคที่ประดังเข้ามาไม่ขาดสาย ไหนเลยต้องจัดการบริหารเงินบริจาคไม่ให้ไหลเข้ากระเป๋าใครคนใดคนหนึ่ง
เขาได้แต่หวังว่าก่อนทางการจะโปรยเม็ดเงินลงมา ตอนนั้นพวกเขาคงเตรียมชาวบ้านไว้ให้พร้อมกว่านี้ กระทั่งมั่นใจว่าพวกเขามั่นคงพอที่จะรับมือกับทุกอย่างที่กระหน่ำลงมา ทำอย่างไรให้พวกเขาพึ่งตัวเองได้มากที่สุด
ในวันที่เก็บข้อมูลทำทะเบียนจนรู้พื้นฐานของปัญหา เขาเฟ้นหาแกนนำแต่ละหมู่บ้านขึ้นมาเป็นผู้ประสานงานกลาง จัดสรรโควตาให้หมู่บ้านละ 1 คนคอยเป็นคนกลางเชื่อมโยงข้อมูลจากชาวบ้านกับทีมอาสาสมัครกลาง ที่มาช่วยชาวบ้าน แล้วควานหาคนรับผิดชอบเงินบริจาคที่เป็นตัวแทนของทุกหมู่บ้าน หาข้อตกลงเป็นกติการ่วมกัน จากนั้นก็หาที่ดินสาธารณะที่จะมาสร้างบ้านใหม่ เขายกหูโทรศัพท์หาเพื่อนสถาปนิกลงมาช่วยระดมความต้องการ เนรมิตรบ้านในฝันของชาวบ้านจากงบประมาณที่มีจำกัด
งานรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เขาอยากทำในขณะนี้ก็คือ เขาอยากพิสูจน์ให้รู้ว่า การทำงานของภาครัฐที่มาแบบสั่งการ(และมาพร้อมกับแบบบ้านสำเร็จรูป) กับการที่ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการกำหนดความต้องการ กระทั่งได้บ้านที่พอจะเรียกได้เต็มปากว่าบ้าน เขาอยากจะท้าพิสูจน์ให้ประจักษ์แก่ตาว่า จะแตกต่างกันอย่างไร
เขาเข้าไปในเมือง ซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง
ทว่าในวันที่เขาขนอุปกรณ์ก่อสร้างกลับมา ก็เป็นวันเดียวกับที่เงินจากภาครัฐลงมาสมทบ
ชาวบ้านหลายคนเริ่มลังเล
ภายในเต็นท์กลาง พวกชาวบ้านกับแกนนำเริ่มจับกลุ่มโต้เถียงกันหน้าดำหน้าแดง ความเห็นแตกเป็น 2 กลุ่ม(กลุ่มหนึ่งอ้างว่า หากไม่เข้าไปรับความช่วยเหลือของทางการ จะทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆที่จะตามมาอีก แต่อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า เราต้องการเงินแต่ต้องให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการเงินก้อนนั้นด้วย) แล้วก็หาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ และสิ่งที่เขาหวั่นกลัวกำลังจะเกิด
ความขัดแย้งในหมู่ผู้ประสบภัยเริ่มเกิดขึ้น...
และในอีกมุมหนึ่งของหมู่บ้าน กำนันชุมไม่รอช้า ทันทีที่กลับจากจังหวัดพร้อมงบประมาณในมือ แกรีบสำรวจข้อมูลใหม่เพื่อที่จะสร้างบ้านพักถาวรให้ผู้ประสบภัย ชาวบ้านกว่าครึ่งหนึ่งพร้อมใจกันเฮโลไปอาศัยบ้านที่ภาครัฐสร้างให้ (ที่นายทหารช่วยกันเนรมิตร ขณะที่บ้านในฝัน ชาวบ้านต้องลงแรงช่วยกันสร้าง) วีรยุทธได้แต่นั่งมอง เขาเห็นรถของทหารช่างวิ่งเข้าวิ่งออกกันจ้าละหวั่น
ทุกอย่างกำลังจะเข้าอิหรอบเดิม
สื่อมวลชนเริ่มลงมา นักการเมืองเริ่มลงมา องค์กรสาธารณะทั้งหลายก็เริ่มลงมา เขาสงสารชาวบ้านที่ต้องตอบคำถามซ้ำซากของหลายหน่วยงาน ที่ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างทำ มาถึงก็นับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง
ในที่สุดวันแตกหักก็มาถึง วันนั้นมีการประชุมใหญ่ที่ศาลากลางจังหวัด รองผู้ว่าฯนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ห้องใหญ่อันโอ่โถง เปิดแอร์เย็นฉ่ำ มีข้าราชการน้อยใหญ่นั่งกันหน้าสลอน ที่นั่นมีทั้งทหาร ตำรวจ สสจ. ป้องกันภัยจังหวัด พวกเขาถูกเชิญตัวไปในฐานะผู้สังเกตการณ์
เริ่มประชุมไปได้เพียงสิบนาที กำนันชุมที่ดูแลพื้นที่อยู่มีท่าทีไม่พอใจเมื่อเขาบอกรองผู้ว่าฯ ประธานในที่ประชุมไปว่าได้สำรวจชาวบ้านในหมู่บ้าน แล้วพบว่าข้อมูลของกำนันไม่ตรงกับความเป็นจริง
เขาเดินถือเอกสารในมือไปยื่นให้รองผู้ว่าฯ "จากข้อมูลที่เรามีอยู่ ยังมีชาวบ้านต้องการความช่วยเหลืออีกไม่ต่ำกว่า 30 ครัวเรือน นี่ถ้านับรวมกับคนไทยพลัดถิ่นที่เข้ามาทำงานรับจ้างไปด้วย ก็ยังมีผู้เดือดร้อนอีกร่วม 10 คน"
รองผู้ว่าฯ หันไปหากำนัน "ว่าไงกำนัน?"
กำนันชุมเลือดขึ้นหน้า ตะแกเริ่มไม่พอใจ คิ้วเข้มผูกเป็นช่อกลางหน้าผาก "ไม่มี-ผมไปดูมาหมดแล้ว ชาวบ้านทุกคนได้รับความช่วยเหลือหมดแล้ว ที่เหลือก็เป็นพวกพม่ามาหากินแถวนี้ ไม่ใช่คนไทยที่ไหนหรอก ท่านรองครับที่นี่ผมดูแลได้ท่านไม่ต้องเป็นห่วง"
เขารีบยกมือคัดค้าน
"แต่ว่าตัวเลขของผมยืนยืนว่ามีชาวบ้านที่ม.6 ม.8 กับม.10 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกไม่ต่ำกว่า 30 ครัวเรือน มันหมายความว่าไง..."
"บ๊ะ! หมายความว่าไง ก็หมายความว่าเขตพื้นที่ผมรับผิดชอบ พวกคุณเป็นใครมาก้าวก่ายหน้าที่ผม ที่นี่ผมจะเป็นคนดูแลเองเข้าใจไหม"
"งั้นเรากลับเถอะ" นันทาผู้ช่วยเขากระซิบ
วีรยุทธไม่อยากขัดแย้งกับกำนันที่ดูแลพื้นที่ ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้ชาวบ้านอึดอัดใจมากขึ้นไปอีก เขาไม่อยากให้เกิดเรื่องซ้ำซาก เพราะอีกไม่ช้าพวกเขาก็ต้องกลับออกไป ชาวบ้านอย่างไรก็ต้องพึ่งพากำนันมากกว่าเขาที่เป็นคนนอก แต่ทว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการจัดการชีวิตตัวเอง มากกว่าที่เป็นอยู่
วีรยุทธเดินกลับออกมา
เขามองเห็นความขัดแย้งกำลังก่อตัวขึ้นมาเป็นคลื่นใต้น้ำ มันพร้อมที่จะซัดถล่มชาวบ้านได้ทุกเมื่อ
กระหน่ำซ้ำความทุกข์ยากที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มพูนทับทวีมากขึ้นไปอีก ต่อไปกำนันชุมกับพวกก็จะทำมาหากินกับชาวบ้านได้อย่างสะดวกมือมากขึ้น
เขามีแผนที่จะประสาน จัดเวทีนำชาวบ้านทุกพื้นที่ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเจรจากับผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง ใครมีปัญหามีความต้องการอย่างไร จะได้มีเวลาได้หารือกัน
อย่างน้อยๆ ชาวบ้านจะได้มีเวทีในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นเมื่อชาวบ้านได้มารับรู้สุขทุกข์ร่วมกันพวกเขา จะได้รู้ว่าคนที่ทุกข์แสนสาหัสนอกจากตัวเองและครอบครัวแล้วยังมีคนอื่นๆอีกมาก และทุกข์ที่ดูเหมือนว่าหนักหนาสาหัสนั้นความจริงนั้นแล้วอาจไม่ได้มากมายดั่งคิด
คนเราจะเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อเผชิญอุปสรรค แล้วข้ามพ้นข้อจำกัดของมัน
วีรยุทธกลับไปช่วยชาวบ้านสร้างบ้าน...
นี่เป็นสิ่งเดียวที่เขาพอจะทำได้ในเวลานี้ รอจนบ้านหลังแรกแล้วเสร็จ เขาเดินทางกลับไปสะสางงานเก่าที่ค้างอยู่ ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้ง
ประสบการณ์งานพัฒนาสอนให้เขารู้ว่า เขาจะต้องอดทนอย่างยิ่งยวด งานสร้างคนสำหรับประเทศนี้แล้วต้องใช้เวลาอีกนาน ไม่- เขาไม่ได้ท้อใจ ทุกอย่างย่อมมีจุดสิ้นสุดของมัน ดูอย่างคนไทยพลัดถิ่นนับพันคนที่เขารู้จักสิ 2 ปีมาแล้วที่เขาพยายามช่วยเหลือคนไทยโชคร้ายเหล่านี้ "นี่เป็นอีกเรื่องที่ค้างคาใจ เขาอยู่ในพื้นที่จึงรู้ดีว่าพวกเขาไม่ใช่คนพม่าดังที่หลายคนกล่าวหา แต่ละคนพูดภาษาพม่าไม่ได้เลยสักคำเดียว คนเหล่านี้ล้วนเป็นคนไทยที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ไทยถูกแบ่งดินแดนไปแต่ละคนพูดจาเหมือนคนไทยทุกอย่าง เพียงแต่ไม่มีบัตรประชาชนเท่านั้น...
การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งบัตรประชาชนทำให้คนไทยพลัดถิ่นถูกหลอกมานักต่อนักแล้ว
ตอนนั้นเขาเพิ่งลงมาทำงานที่ระนอง ประสานงานกับองค์กรชาวบ้านที่มีอยู่ (ด้วยความตั้งใจว่าจะผลักดันให้ร่วมกันสร้างธนาคารขยะ) เขาจับงานกลุ่มออมทรัพย์จนรู้ว่าเครือข่ายของชาวบ้าน อย่างเช่นธนาคารหมู่บ้านทั้งหลายที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเกิดขึ้นมาได้ เพราะว่าคนของทางการนั่นแหละไปจัดตั้งให้ เพื่อว่าจะได้เข้าหลักเกณฑ์เป็นช่องทาง ไปเอาเงินสินเชื่อของเงินกองทุนพัฒนาสังคมที่ลงมา ทำให้เกิดกลุ่มเป็นจำนวนมาก ตอนนั้นความที่เขาอยากจะมาทำงานธนาคารขยะกับชาวบ้าน ด้วยความหวังดีเขาจึงเข้าไปรื้อองค์กรเสียใหม่
พวกเขาเริ่มต้นงานด้วยลงไปเก็บข้อมูลของชาวบ้านใหม่ ผ่าน 3 เครือข่าย(ซึ่งได้แก่ เครือข่ายธนาคารหมู่บ้านเมือง เครือข่ายเกษตรทฤษฎีใหม่ และเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต) รวมไปถึงเครือข่ายใหม่ที่เพิ่งเข้าไปจับก็คือเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น ที่เข้าร่วมงานกับพวกเขาเกือบ 4,000 คน
นั่นทำให้เขาขัดแย้งกับนายชัยชาญ-นักการเมืองท้องถิ่นหนักขึ้นไปอีก เพราะว่านายชัยชาญหากินกับคนไทยพลัดถิ่นมานาน
เขาถึงกับหัวเราะไม่ออก เมื่อรู้ว่านายทหารใหญ่ที่เพิ่งลงมาเป็นผู้ดูแลศูนย์ฟื้นฟู ร่วมกับกำนันชุมยืนกรานที่จะนำเงินที่ได้จากการบริจาค ไปจัดการสร้างบ้านและช่วยเหลือชาวบ้าน โดยมอบหมายให้นายชัยชาญซึ่งเป็นลูกไล่ของกำนันเข้ามาสานงานต่อ
วีรยุทธได้แต่นึกหงุดหงิดใจ
ช่วงทุ่มตรง เขาลุกขึ้นไปปิดทีวี.นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมครม. กำลังให้สัมภาษณ์นักข่าว เขายืนดูสายน้ำแห่งอันดามันในค่ำคืนอันมืดมัว มันเป็นทะเลเดียวกับที่กวาดเอาทุกสิ่งบนแผ่นดินพังพินาศไปสิ้น และเป็นทะเลเดียวกับที่คงอยู่มาเนิ่นนานนับศตวรรษ บัดนี้ทอดกายไหวระลอกไหลกระเพื่อมไปอย่างเงียบงัน และอย่างต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด...
จันทร์เสี้ยวซ่อนแสงเรืองในม่านเทาทึบหลังซากปรักหักพังของซากตึก เงาสนไหวริกๆเหมือนมือปีศาจ เขาขนลุกซู่
อนิจจา โลกหมุนไปแต่คนไม่หมุนตาม เขาวูบนึกสงสารชาวบ้านจับใจ.