เรื่องสั้น

เรื่องสั้น ๕๐๐ เรื่อง

by 1 @October,22 2006 20.53 ( IP : 222...94 ) | Tags : เรื่องสั้น

เรื่องสั้น ๕๐๐ เรื่อง ชาคริต โภชะเรือง
๑ อากาศข้างนอกยังคงร้อนอบอ้าว ร้อนจนแทบบ้า ผมว่าอุณหภูมิวันนี้ไม่น่าต่ำกว่า 37 องศาเซนเซียส แม้นมีลมพัดต้นโพธิ์ใหญ่ทว่าไม่ไหวใบแม้สักนิด
ถ้าหากได้น้ำเย็นๆสักแก้วดื่มให้ชื่นใจน่าจะดีไม่น้อย ผมคิด ละสายตาจากภาพทหารและตัวอักษรที่พล่าพลายอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สองชั่วโมงมาแล้วผมได้ยินแต่เสียงโม่ปูนจากคนงานก่อสร้างพม่าหลังบ้านคำรามครืดครืดประหนึ่งว่ากำลังจะเข้ามาโม่อยู่ในหัว  ผมไม่อยากอารมณ์เสียมากกว่านี้จึงเสือกหัวเก้าอี้ทำงานกลับที่เดิม เอื้อมมือไปปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์
เดินไปเปิดหน้าต่างห้องทำงาน อากาศข้างนอกยังร้อนอ้าวเป็นดั่งไฟเผาผลาญทำลายสมาธิผมมอดไหม้ไปจนหมดสิ้น มันต้องมีอะไรผิดพลาดสักอย่าง...ผมคิด

๒ ตอนนั้นคณะรัฐมนตรีรับทราบการประกาศใช้กฎอัยการศึกตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ตามประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ ให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส เฉพาะอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอยี่งอ และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดปัตตานี เฉพาะอำเภอกะพ้อ และจังหวัดยะลา เฉพาะอำเภอรามัน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป...
ผมอ่านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพื่อเรียงลำดับเวลาวันสำคัญต่างๆนับแต่กำเนิดรัฐปัตตานี ผมรู้แค่ว่ามันเป็นดินแดนที่เรียกว่า "ปัตตานีดารุสสลาม" (ดินแดนแห่งสันติ) เดิมทีนั้นเจ้าเมืองมลายูมุสลิมปกครองรัฐปัตตานีดารุสสลามต่อเนื่องกันเกือบ ๖๐๐ ปี ทว่าในที่สุดก็ได้เสียอธิปไตยอย่างสมบูรณ์แก่ราชอาณาจักรสยามในต้นศตวรรษที่ ๑๙ ทำให้รัฐปัตตานีดารุสสลามถูกแบ่งออกเป็น ๓ จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เมื่อดินแดนส่วนนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามหรือไทย รัฐปัตตานีในทางวิชาการกลายเป็นรัฐกันชน (Buffer State) ระหว่างโลกมลายูกับรัฐไทย (Malay World and Thai World) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือระหว่างโลกมุสลิมกับโลกพุทธ (Muslim World and Buddist World) ซึ่งทั้งสองรัฐมีโลกทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผมถามตัวเองอย่างไม่ยั้งว่าแท้จริงแล้วผมรู้เรื่องเกี่ยวกับรัฐปัตตานีสักเพียงใด  ผมตอบไม่ได้เต็มปากนัก ผมอาจจะต่างจากคนไทยอีกมากที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รู้สึกรู้สาว่าคนใน ๓ จังหวัดนั้นเป็นคนไทยเหมือนๆกัน อย่างน้อยผมก็รู้จักคน 3 จังหวัดดีกว่าคนอีกค่อนประเทศ
เพื่อให้บางสิ่งที่อัดอั้นในใจเบาบางลงไป ผมจำเป็นต้องขุดล้วงเอาบางสิ่งที่ข้นคลั่กในใจออกทิ้งไปเสียบ้าง ในฐานะที่เกิดมาเป็นนักเขียน หลังจากวันนั้นผมก็เริ่มหาข้อมูล กระทั่งวันหนึ่งผมบอกตัวเองว่าถึงเวลาแล้ว ผมจะเขียนถึงเรื่องร้ายๆที่บังเกิด ผมลองวางพล็อตเรื่องสั้นไว้จำนวนหนึ่งเท่าที่จะจินตนาการได้

พล็อตที ๑ : เรื่อง “ไอ้โม่ง” ผมวาดภาพตัวละครเอกให้เป็นนายตำรวจหนุ่มอนาคตไกล ชื่อร้อยตำรวจเอกสุรพล ทองเกลี้ยง เขาเติบโตจากดินแดนอิสาน ชายหนุ่มรู้สึกไม่พอใจที่ถูกย้ายมาทำงานที่ปัตตานี เพราะสำหรับเขาแล้ว ที่นี่มีแต่ปัญหา เหนืออื่นใด บัดนี้สถานการณ์ที่นั่นถูกยึดกุมในมือของฝ่ายทหารจนหมดสิ้น(ต่างจากก่อนหน้าที่ตำรวจถูกวางตัวเป็นผู้รับผิดชอบหลัก) การถูกส่งตัวไปแก้ปัญหาที่นั่น จึงไม่ผิดกับการถูกลงโทษ แต่ก็นั่นแหละ เมื่อชะตาลิขิต เขาถูกสั่งย้ายไปปฎิบัติราชการที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันแรกที่เขาเดินทางไปถึง เขาก็ถูกต้อนรับด้วยข่าวร้าย เกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายทหารที่นราธิวาส เขาได้ยินชาวบ้านพูดกันหนาหูว่า พวกทหารนั่นแหละเป็นคนอยู่เบื้องหลัง เพราะว่าไม่มีใจรกลุ่มใดมีศักยภาพมากพอที่จะปล้นเงียบได้มีประสิทธิภาพถึงเพียงนั้น ข่าวลือไหม้สะพัดไปทั่ว เขาติดตามมาด้วยการลอบวางเพลิงโรงเรียน กรณีฆ่า ๑๐๗ ศพ ทำให้นายตำรวจหนุ่มตั้งใจที่จะสืบเรื่องนี้ให้แจ่มชัด จนเริ่มรู้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังนั้นเป็นใคร ขณะเดียวกัน ฝ่ายตรงข้ามก็เริ่มรู้ตัวว่านายตำรวจหนุ่มคนหนึ่งกำลังทำตัวเป็นนักสืบ ชีวิตเขาจึงเริ่มตกอยู่ในอันตราย ไฮไลท์ของเรื่องนี้อยู่ที่นายตำรวจหนุ่มถูก “อุ้ม” ไปยังเซฟเฮาท์แห่งหนึ่งในป่าใหญ่ ที่นั่นเขาพบว่าเป็นที่ซ่องสุมกำลังของนายทหารใหญ่ นายตำรวจหนุ่มถึงกับไม่เชื่อสายตาตัวเองเมื่อพบว่า “ไอ้โม่ง” ที่เขาควานหาตัวนั้นเป็นใคร ผมตั้งใจจะปล่อยเรื่องของเรื่องจบลงตรงที่นายตำรวจหนุ่มถูกไฟฟ้าช็อคจนสิ้นลมหายใจไปก่อนที่จะสื่อกับคนอ่านว่า “ไอ้โม่ง” คนนั้นเป็นใคร ทิ้งความลับอันดำมืดไว้เป็นปริศนาสำหรับคนอ่านต่อไป?

พล็อตที่ ๒ : เรื่อง “คนนอก” ผมวางเรื่องไว้ว่ามีนักการเมืองใหญ่ อดีตเลขาฯหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน กำลังดิ้นรนเฮือกสุดท้ายเพื่อที่จะให้ตัวเองได้มีที่ยืนในพรรค สส.กำพล จงวิสุทธิ นี้เองที่เป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริง ว่าไปแล้วเขาซ่องสุมมือปืนไว้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีสมุนตัวเล็กตัวน้อยที่ช่วยเขาหาเงินในทางลับ ไม่ว่าจะเป็น ขนน้ำมันเถื่อน ค้ายาเสพติด ขายอาวุธข้ามแดน อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผมนักการเมืองคนนี้ก็มีเหตุผลในการกระทำของเขาที่น่าเห็นใจไม่น้อย นั่นเพราะว่า หากเขาไม่ทำเช่นนั้น เขาจะไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันเขาก็ไม่อาจต่อกรกับนักการเมืองคู่ต่อสู้ฝ่ายตรงข้ามได้ และนั่นหมายความถึงอันตรายถึงชีวิต อยู่ที่นี่ ทุกคนจำเป็นต้องมีเขี้ยวเล็บ ความรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หากว่าไม่มีคนอย่างเขากำหราบป้องปรามเอาไว้โดยเอาผลประโยชน์เข้าล่อ ป่านนี้แผ่นดินคงจะลุกเป็นไฟ
วันหนึ่ง ลูกสมุนตัวเอ้เขาถูกสั่งเก็บ เกิดกรณีวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล เขาถูกซัดทอดว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทำให้เขาต้องหลบหนีไปต่างประเทศ หัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองใหม่ในท้องถิ่นกำลังขยับใกล้เข้ามา ตัวละครสำคัญอีกตัวก็คือ ลูกสาวคนสุดท้องของนักการเมืองได้ปรากฏตัวขึ้น หล่อนคนนี้เพิ่งเรียนจบจากเมืองนอก กลับมาตั้งใจที่จะเล่นการเมืองเจริญรอยตามพ่อ แต่ชีวิตการเมืองกลับต้องมาสะดุดลงเพราะว่าพ่อต้องคดีเป็นผู้มีอิทธิพล ทว่าสุดท้ายหล่อนไม่ย่อท้อลงสมัครในนามพรรคอิสระ ได้แรงหนุนจากพ่อจนชนะการเลือกตั้งได้เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่แล้วในวันที่ประกาศผลเลือกตั้ง หล่อนก็ถูกฆ่า ผมอยากจะเขียนถึงฉากจบชาวบ้านนับหมื่นคนแห่แหนศพของเธอมายังศาลากลางจังหวัดเรียกร้องให้ผู้ว่าควานหาตัวโจรทมิฬที่อาจหาญฆ่าหล่อนกลางวันแสกๆ ปัญหาคือว่าผมจะทำให้หล่อนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านได้อย่างไร ในเมื่อหล่อนเป็น “คนนอก” การที่เข้ามาเป็นนักการเมืองในพื้นที่ หล่อนก้าวขึ้นมาได้ก็ด้วยอิทธิพลของบิดา อีกอย่างเรารู้กันดีว่าประชาชนเดี๋ยวนี้รักศรัทธานักการเมืองมากน้อยเพียงใด

พล็อตที่ ๘ : เรื่อง “คำพิพากษา” ผมตั้งใจที่จะเขียนถึง ธิดา นารีกระจ่าง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ลงไปเยี่ยมเยียนลูกเมียของผู้เสียชีวิตกรณีตากใบและกรือเซะ หล่อนเดินทางไปเพียงลำพัง แต่ปกปิดโฉมหน้าด้วยการแต่งกายในชุดฮิญาป เข้าไปอยู่ร่วมกับพวกผู้หญิงที่กำลังสิ้นไร้ไม้ตอก วันหนึ่ง พวกหล่อนก็ถูกหมายเรียกตัวจากศาลให้ไปฟังคำพิพากษา พวกหล่อนไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร ไม่มีใครในหมู่ภรรยาและญาติผู้เสียชีวิตอ่านหนังสือภาษาไทยแตกฉาน ได้แต่ฟังคำของผู้ใหญ่บ้านที่มาบอกว่าให้เดินทางไปยังศาล เพื่อเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาของสามี เมื่อธิดาไปร่วมรับทราบผลของคดีที่ศาล หล่อนกลับพบว่า ในหนังสือที่ภรรยาผู้สูญเสียได้เซ็นชื่อรับรองนั้นเป็นคำรับสารภาพว่าสามีของพวกหล่อนเป็นผู้กระทำความผิด

พล็อตที่ ๒๔ : เรื่อง “ถนนสายแห่งความตาย” ผมเขียนในมุมมองของ จาตุรงค์ แสงคง รัฐมนตรีหนุ่ม ที่ลงไปรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เขาเป็นรัฐมนตรีสาย “พิราบ” ตั้งใจที่จะช่วยภาคประชาชน และผลักดันแนวคิดใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา ผมบรรยายความรู้สึกในชั่วเวลาที่รัฐมนตรีหนุ่มนั่งรถผ่านถนนสายแห่งความตาย เขาพบกับ “ผีแขก” ยืนโบกมืออยู่เต็มถนน ทุกคนหน้าซีดเผือด ดวงตาแดงก่ำ มีเลือดเปรอะเต็มตัว ทว่าในรถคันนั้นไม่มีใครมองเห็น ต่อมาเขาจึงรู้ว่าถนนแห่งนี้มีเรื่องเล่า เขาพบว่ามีความตายซุกซ่อนอยู่ทุกตารางนิ้ว โดยที่ในฉากนั้นจะมีโต๊ะอิหม่ามใหญ่เป็นผู้บอกเล่าข้อมูลให้รัฐมนตรีอย่างละเอียดลออ โต๊ะอิหม่ามคนนี้ฝังใจกับความตายที่เกิดขึ้นบนถนนสายนั้นมาก แกจดจำได้แม้กระทั่งวัน เวลา ที่ผู้ตายนับสิบคนได้จากไป

พล็อตที่ ๓๕ : เรื่อง “กระดูกครูร้องให้” ผมวางให้ดุสิต ไชยรักษ์ ตัวเอกเป็นครูหนุ่ม ที่กำลังจะก้าวขึ้นไปเป็นนักการเมือง แต่ว่าถูกคู่อริจ้างมือปืนมาฆ่าเขาตายเสียก่อน อาศัยจังหวะที่มีเหตุการณ์ไม่สงบที่จับมือใครดมไม่ได้ การตายของครูหนุ่มจึงถูกโยงใยไปสัมพันธ์กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยที่ทางการปั้นแต่งเหตุผลว่าเพราะครูหนุ่มมีแม่ยายเป็นญาติกับเจ้าเมืองปัตตานีที่เป็นคนพุทธคนแรก ขณะที่สมาพันธ์ครูก็ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ติดอาวุธให้กับครูในพื้นที่ ผมบรรยายฉากเหตุการณ์ในเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ บนถนนใกล้โรงเรียนที่มีสวนมะพร้าวรายล้อม มีกลุ่มวัยรุ่นยืนขวางถนนถือไม้กระดานดักรถที่แล่นผ่านไปเพียงคันเดียว ทำให้ครูหนุ่มต้องชะลอความเร็ว เขาถูกกลุ่มวัยรุ่นระดมยิงเข้าใส่จนรถปรุพรุนไปด้วยรูกระสุน ในขณะที่กรรมการสมานฉันท์ลงไปตรวจสอบ พบว่าในหมู่บ้านมีปัญหาเรื่องโรงเรียนปอเนาะถูกสั่งปิด ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนของครูดุสิต โต๊ะครูถูกจับด้วยข้อหามีอาวุธปืนไว้ครอบครองทั้งที่เป็นของรางวัลที่นักการเมืองคนหนึ่งมอบให้ และถูกทางการกล่าวหาว่าลักลอบฝึกกองกำลังติดอาวุธ ด้วยหลักฐานที่ว่าต้นมะพร้าวข้างบ้านเป็นรูพรุนเพราะพิษกระสุน แต่เมื่อกรรมการสมานฉันท์ลงไปตรวจสอบกลับพบความจริงว่า รูกระสุนที่ว่าเป็นเพียงรูที่เกิดจากด้วงมะพร้าวชอนไช เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก
ในคืนก่อนครูดุสิตตาย พ่อของครูดุสิตตื่นขึ้นมากลางดึก เขาฝันเห็นลูกที่ซูบเซียวเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกยืนร้องห่มร้องให้ พอรุ่งเช้า ครูดุสิตก็ถูกฆ่า พ่อของครูดุสิตไปรับศพลูกด้วยใบหน้านองน้ำตา เขาเล่าให้นักข่าวฟังถึงหัวอกของพ่อที่มีลูกเป็นครูสอนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวนี้ว่า “กระดูกครูร้องให้” เพื่อให้เรื่องแต่งของผมดูหนักแน่น น่าเชื่อถือ ผมได้ตัดบทความที่นักวิชาการบางคนเขียนบอกเล่าเอาไว้ ตั้งใจแทรกลงไปในเรื่องสั้นเท่าที่จะแทรกได้เพื่อทำความเข้าใจสภาพพื้นฐานของปัญหา เช่น สิ่งที่พี่น้องชาวไทยมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความภาคภูมิใจ ๓ ประการด้วยกัน อันได้แก่ ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์รัฐปัตตานีอันยาวนาน  ความภาคภูมิใจ ในฐานะศูนย์กลางที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่ง ในภูมิภาคเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ ในศตวรรษที่ ๑๗ และการเป็นศูนย์กลาง การศึกษาอิสลาม แห่งภูมิภาคเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ ในศตวรรษที่ ๑๙ ความภาคภูมิใจสามประการนี้ นักวิชาการท่านนั้นสรุปว่ายังตรึงอยู่ในความรู้สึกของประชาชนมุสลิมตราบถึงทุกวันนี้ ฉะนั้นเมื่อรัฐจะกำหนดนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐจะต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ภูมิหลังของบริเวณนี้อย่างชัดเจน มิฉะนั้นนโยบายที่กำหนดอาจผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังเช่น นโยบายรัฐนิยม (Thai Nationalism) นโยบายผสมกลมกลืน (Acesimilation) และนโยบายเลือกปฏิบัติ (Discrimination)
ในอดีตหลังจากอังกฤษและไทยได้เซ็นสัญญาที่เรียกว่า "สัญญาอังกฤษ-ไทย" ซึ่งเซ็นในวันที่ ๑๐ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๙ (พ.ศ.๒๔๕๒) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นการแลกกับอธิปไตยทางการศาล และอธิปไตยทางด้านเศรษฐกิจ ที่ชาติไทยเสียแก่ชาติตะวันตกที่รู้จักในนามสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extra Territorial Right) นำไปสู่การยกดินแดนบางส่วนให้แก่ชาติอังกฤษ คือ กลันตัน ตรังกานู เปอร์ลิส และเคดะห์ เป็นส่วนหนึ่งของไทย ส่วนเส้นแบ่งเขตแดนทางรัฐกลันตันกับจังหวัดนราธิวาส ยึดแม่น้ำสุไหงโก-ลก โดยเอา "ร่องน้ำลึก" เป็นฐาน ส่วนทางด้านรัฐเปรัก เปอร์ลิส และเคดะห์ ยึดเส้นสันปันน้ำเป็นฐาน ปัญหาเขตแดนทั้งสองฝ่าย
สถานการณ์ความรุนแรง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเกิดขึ้นภายหลังเซ็นสนธิสัญญา ๑๐ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๙ (พ.ศ.๒๔๕๒) นี้เอง

พล็อตที่ ๖๖ : เรื่อง “๒๔ สส.” ในขณะที่เกิดเหตุความไม่สงบรายวัน มีทั้งข่าวคาร์บอม ข่าวตำรวจถูกลอบยิง ข่าวเผาโรงเรียน กระแสความไม่พอใจของคนชั้นกลางคุกรุ่นรุนแรงขึ้น รัฐบาลเปลี่ยนผู้รับผิดชอบเป็นว่าเล่น ว่ากันว่ามีรัฐมนตรีและแม่ทัพภาค ๔ สังเวยความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนคนแล้วคนเล่าทว่าเหตุการณ์ก็ไม่กระเตื้องดีขึ้น มิหนำซ้ำหุ้นตกอย่างต่อเนื่อง การเมืองเริ่มเข้าภาวะสู่วิกฤต ผมตัดข่าวนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ๒๔ สส.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ลงไปสำรวจข้อมูลในพื้นที่เพื่อนำมาสู่แนวทางแก้ปัญหา แล้วแต่งเรื่องเสริมขึ้น วาดภาพสส.ทั้งหมดลงไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน ๓ เดือน ก่อนที่จะกลับมาประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ผมให้ภาพการทำงานของสส.ที่แต่ละคนทุกครั้งเวลาลงไปพื้นที่ จะมีกองกำลังทหาร ตำรวจคุ้มครองเต็มไปหมด พวกเขาให้ “สายข่าว” ของตนเองชักชวนผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนามาพบ
ความสำคัญของ สส.กลุ่มนี้ก็คือ จะเป็น “หมาก” ในกระดาน ให้กับนายกรัฐมนตรีเลือกใช้ ในเวลาที่ต้องการข่าวมากลบกระแสการเมือง “ขาลง” สส.ในกลุ่มจะออกมาเสนอทางออกที่หมิ่นเหม่ เช่น ข้อเสนอปิดปอเนาะ เปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ให้กับสาธารณะ

พล็อตที่ ๑๔๗ : เรื่อง “ข่าว” ผมเขียนถึงเหตุวางระเบิดห้างสรรพสินค้ากลางใจเมือง ตำรวจแถลงข่าวว่าจับวัยรุ่นผู้ต้องสงสัยได้ ๓ คน แต่ปรากฏว่าทั้ง ๓ คนนั้นออกมาปฎิเสธ พร้อมกับแฉกลับว่าตำรวจต้องการสร้างผลงานเอาตัวรอด จับผู้ต้องหาเหวี่ยงแห พวกเขาเพียงแค่ไปรับคนรักที่กำลังจะเลิกงานที่ห้างสรรพสินค้า ตำรวจเห็นว่าเป็นกลุ่มวัยรุ่นไปยืนอออยู่ใกล้เหตุการณ์จึงจับกุมตัวเอาไว้ก่อน เหตุการณ์ในเรื่องนี้ ผมตั้งใจจะเขียนจากมุมมองของ อรพรรณ สุวรรณชาตรี พี่สาวของวัยรุ่น ๑ ใน ๓ คนดังกล่าวที่ทำงานอยู่กับหน้าห้องของรัฐมนตรีคนหนึ่ง หล่อนเห็นภาพน้องชายปรากฏอยู่หน้าหนังสือพิมพ์ พร้อมกับถูกตราหน้าว่าเป็นโจรใต้ หล่อนตกใจจนแทบสิ้นสติ

๑๐ พล็อตที่ ๒๔๘ : เรื่อง “มณฑลปัตตานี” ผมดำดิ่งย้อนลึกลงไปถึงเหตุการณ์ในอดีตไปในปลายรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีเหตุไม่สงบเกิดขึ้นในท้องที่ต่างๆ มีผู้กล่าวพาดพิงไปว่า เบื้องหลังของเหตุการณ์ เนื่องมาจากการสนับสนุนของบรรดาเจ้าเมืองเก่าที่เสียผลประโยชน์ ทางรัฐบาลก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงการบริหารราชการใหม่อีกครั้ง โดยจัดตั้งมณฑลปัตตานี และกำหนดนโยบายการปกครองบริเวณหัวเมืองโดยการออกระเบียบ วิธีการ ปฏิบัติการ ให้สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และศาสนาที่แตกต่างกันเพื่อมิให้เกิดการกระทบกระเทือนจิตใจผู้คน
ผมให้ภาพการคัดเลือกบุคลากรของรัชกาลที่ ๕ ที่จะส่งเข้ามาเป็นผู้บริหารกิจการจากบุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ มีคุณธรรม สามารถเข้ากับประชาชนได้
ผมจะเขียนถึงการแถลงนโยบายของรัชกาลที่ ๕ ที่ให้มีการเร่งรัดพัฒนา เศรษฐกิจ การศึกษา การคมนาคม การสาธารณสุข ให้รุดหน้ายิ่งกว่าหัวเมืองมลายูที่อังกฤษปกครอง เพื่อผลทางสังคมจิตวิทยา
ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือ กุศโลบายในการรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าเป็นจังหวัดโดยวิธีการอันละมุนละม่อม จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้มีการยุบหัวเมืองต่างๆ เป็นจังหวัดรวม ๔ จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี สายบุรี ยะลา และนราธิวาส และในปี พ.ศ.๒๔๗๔ จึงได้ยุบเลิกมณฑลปัตตานี และลดฐานะจังหวัดสายบุรี ลงเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นกับจังหวัดปัตตานี ในช่วงนี้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาการคุกคามของอังกฤษได้สำเร็จ ด้วยการเสียสละดินแดนบางส่วนของประเทศ คือ รัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และ รัฐเปอร์ลิส ให้แก่อังกฤษไปในเดือนมีนาคม ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) เพื่ออังกฤษจะได้ยุติการเข้ามาแทรกแซงงานปฏิรูปการปกครองบริเวณหัวเมืองทั้ง ๗ อีกต่อไป

๑๑ พล็อตที่ ๓๑๘ : เรื่อง “งบลับ” คราวนี้ตัวละครเอกของผมเป็นดอกเตอร์ พลิกเหตุการณ์หวนกลับมาสู่ปัจจุบัน หลังจากรัฐไทยพยายามแก้ปัญหาต่างๆนานา ผมวางไว้ให้นักวิชาการคนหนึ่ง ที่สนใจปัญหาของ ๓ จังหวัด เขาทบทวนประวัติศาสตร์ศึกษาความขัดแย้งในอดีต ไล่เลียงมาตั้งแต่ก่อนมีรัฐปัตตานี จนกระทั่งมาเสียอิสรภาพให้กับสยามประเทศ เขาเดินทางไปควานหาตัวญาติพี่น้องของอดีตเจ้าเมือง สัมภาษณ์ลูกหลานของตนกูอับดุลกาเดร์ จนมั่นใจได้ว่า ข้อเรียกร้องหรือสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการนั้น กำลังจะถูกบิดเบือนไปเป็นเรื่องของการหาผลประโยชน์ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพราะว่าการที่จะได้มาซึ่ง “งบลับ” จำเป็นต้องมีสถานการณ์ไม่สงบก่อตัวขึ้น
และนั่นเป็นที่มาของการถูก “อุ้ม” นักวิชาการคนนี้ได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย เหลือทิ้งแต่ข้อมูลบางส่วนเอาไว้... ข้อมูลที่ว่าได้อ้างถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลธรฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสด็จออกมาดำรงตำแหน่งอุปราช ผู้สำเร็จราชการประจำหัวเมืองปักษ์ใต้ ควบคุมดูแลหัวเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ ซึ่งผลของการปฏิรูปการปกครองและดำเนินตามนโยบายที่กล่าวมาแล้วนี้ สามารถลดหย่อนผ่อนคลายเหตุการณ์อันไม่สงบทางด้านการเมืองลงได้ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง  อังกฤษซึ่งเป็นคู่สงครามของไทยได้ให้ความสนับสนุน ตนกูมูฮัมหมัดยิดดิน บุตรชายของตนกูอับดุล กาเดร์ อดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่ถูกปลดออกจากราชการเพื่อใช้ เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกดินแดน ๓ จังหวัดภาคใต้ออกเป็นรัฐปัตตานี
หลังจาก ตนกูมูฮัมหมัดยิดดิน ถึงแก่กรรมลงก็เกิดขบวนการ ต่างๆ อาทิ ขบวนการโจรก่อการร้าย (ข.จ.ก.) และโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) และผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) และอื่นๆ ติดตามมา กลุ่มที่รู้จักกันแพร่หลาย ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (National Liberation Front of Pattani หรือ N.L.F.P.) องค์การแนวร่วมปลดปล่อยปัตตานี (Patani United Liberation Organization หรือ P.U.L.O.) องค์การแห่งชาติกู้เอกราชสาธารณรัฐ ปัตตานี (Gerakan National Pemberasan Republic Patani หรือ G.N.R.P.) เป็นต้น

๑๒ พล็อตที่ ๓๕๖ : “โจรร้าย” ในเรื่องนี้ผมเขียนถึงหมัน เด็กหนุ่มที่ได้รับรู้เรื่องราวแต่ครั้งประวัติศาสตร์ ป๊ะของเขาถูกตำรวจ “อุ้ม” หายไปขณะที่เขายังเป็นเด็ก ต่อมาเขาเดินทางไปเรียนที่อิรัก ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันเป็นกลุ่มมุสลิมรุ่นใหม่ พวกเขาได้รับความสนับสนุนจากองค์การเมืองในประเทศมุสลิมบางประเทศ เพื่อทำการก่อกวนความไม่สงบขึ้น ในดินแดน ๓ จังหวัดภาคใต้ ก่อคดีเป็นว่าเล่น เช่น การจับผู้คนไปเรียกค่าไถ่ เรียกค่าคุ้มครอง สวนยาง และทรัพย์สิน เป็นการทำลายขวัญ และจิตใจประชาชน ผู้ประกอบสัมมาชีพ และบ่อนทำลาย รากฐานเศรษฐกิจ ของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มิให้ เจริญเติบโตเท่าที่ควร

๑๓ พล็อตที่ ๓๔๘ : “การประท้วง” ผมตั้งใจจะเขียนถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ที่มีการประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นเป็นประวัติการณ์ อันเนื่องมาจากกลุ่มบุคคล ผู้ใช้นามว่า "ศูนย์พิทักษ์ประชาชน" ได้ทำการปลุกระดมชาวไทยมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดน กล่าวหาว่าทหารนาวิกโยธินฆ่าและทำร้ายประชาชนในพื้นที่ การประท้วงเริ่มขึ้น ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี วันนั้นเริ่มต้นจากการที่ได้มีการอภิปรายโจมตีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่และรัฐบาล จนกระทั่งถึงล่วงเข้ากลางคืน มีผู้ปาลูกระเบิดเข้าไปในท่ามกลางฝูงชนที่มาชุมนุมกันอยู่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที ๑๒ คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นฝูงชนที่เหลืออยู่ก็พากันไปตั้งชุมนุมประท้วงต่อที่ลานมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เป็นการประท้วงที่ใช้เวลายืดยาวติดต่อกัน ถึงหนึ่งเดือน จนกระทั่งนายกรัฐมนตรี ส่งผู้แทนลงมา เจรจากับผู้แทนของ "ศูนย์พิทักษ์ประชาชน"
๑๔ พล็อตที่ ๔๑๒ : ชื่อ “รัฐนิยม” ผมเขียนถึงกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่พยายามโจมตีจุดอ่อนทางฝ่ายรัฐไทย นับแต่ที่ได้ดำเนินนโยบาย "รัฐนิยม" ขึ้นด้วยการเน้นด้านการปราบปราม และวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นหลัก ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ผสมโรงกับการตายของนายฮะยีสุหลง โต๊ะมีนา ที่ไร้ร่องรอยและไม่มีคำตอบ สถานการณ์ดูเหมือนจะเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของปัตตานี
ในช่วงเวลานั้นประชาชนตกอยู่ในภาวะที่หวาดกลัว ทุกคนไม่มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการประกอบอาชีพและศาสนา ถูกกดดันจากฝ่ายรัฐต่างๆนานา กฎหมายอิสลามที่ว่าด้วยครอบครัวและมรดกและวัฒนธรรมมุสลิมถูกยกเลิกไปด้วยรัฐ
มีเอกสารที่อ้างถึงเรื่องนี้มาก ว่ากันว่านี่คือจุดเริ่มต้นของขบวนการ BRN (Barisan National Revolusi) แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ ภายใต้การนำโดยนายฮายีอับดุลการีม ฮะยีอาแซ เพราะทางฝ่ายเจ้าของ "ปอเนาะ" ถือว่ารัฐบาลแทรกแซงกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมมลายู ที่พวกเขาดำเนินกิจกรรมมาเป็นเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดความหวาดวิตกว่าปัตตานีจะต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และเป็นครั้งแรกที่หลักสูตรสามัญและอาจารย์ที่มิใช่มุสลิมเข้ามาสู่สถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอิสลาม ทำให้บรรดาเจ้าของ "ปอเนาะ" หรือ "โต๊ะครู" (อาจารย์) ไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐ จนถึงปัจจุบันนี้
มิหนำซ้ำ ผสมโรงด้วยการที่รัฐบาลมีนโยบายการสร้าง "ดุลย์ประชากร" ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอพยพพี่น้องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มาอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการตั้ง "นิคมสร้างตนเอง" (Self Settlement) สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนชาวไทยมุสลิมเป็นจำนวนมาก ว่ารัฐบาลใช้มาตรการขยายดินแดนให้ชาวไทยพุทธ มารุกรานชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ในขณะที่ชาวไทยมุสลิมเองมีปัญหาที่ทำมาหากิน กลับไม่ได้รับการจัดสรร ก็ยิ่งสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตประจำวันของพวกเขามากขึ้น
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือว่า พี่น้องชาวไทยพุทธที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของมุสลิม อันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นี้เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ถูกจับเอาไปเป็นอาหารซึ่งสัตว์บางชนิด เป็นที่ห้ามในศาสนาอิสลาม พี่น้องทางอีสานจับมาเป็นอาหาร โดยไม่สนใจว่าการรับประทานสัตว์บางชนิด ต่อหน้าต่อตาชาวไทยมุสลิม สร้างความน่ารังเกียจขนาดไหน ซึ่งยังเลี้ยงสุนัขและสุกร ซึ่งก็เป็นสัตว์ที่ชาวไทยมุสลิมรังเกียจ ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งมากขึ้น อันเป็นต้นเหตุของความไม่พอใจและความขัดแย้งในพื้นที่มากขึ้น
ต่อมามีการอพยพ ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ไปอาศัยอยู่ ในประเทศเพื่อนบ้าน ของบริติสมาเลย์ (British Malay) โดยอาศัยญาติพี่น้องที่อยู่ฝั่งมาเลย์มากขึ้น ว่ากันว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกจับกุม โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม หรือการฆ่าโดยไม่รู้สาเหตุ ทำให้ประชาชนเกิดความกลัวและเกลียดชังฝ่ายรัฐ และแม้ต่อมาเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ กลับจะมีนโยบายจัดการการศึกษาให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการศึกษาเกี่ยวกับโรงเรียนเอกชน สอนศาสนาอิสลาม "ปอเนาะ" ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางศาสนา กลายเป็นเหยื่อของพระราชบัญญัติฉบับนี้
ผลของนโยบายนี้ ทำให้ปอเนาะ 150 โรงจาก 500 กว่าโรง ปิดตัวเอง เป็นการประท้วงรัฐบาล ที่จะให้ "ปอเนาะ" จดทะเบียนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จากจำนวน "ปอเนาะ" 150 โรง 1 ในจำนวนนั้น คือ ปอเนาะที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ปิดตัวเอง เพราะประกาศต่อสู้ด้วยอาวุธต่อต้านรัฐบาล

๑๕ พล็อตที่ ๔๑๓  : เรื่อง “กระสุนผีสิง” ผมจะเขียนถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงปี 2546 ที่มีตัวละครสำคัญเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ทำเรื่องขอย้ายตัวเองลงไปปฎิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อุดมการณ์นี้ทำให้เขาขัดแย้งกับครอบครัวอย่างหนัก เพราะทุกคนไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้ลงไปเสี่ยงภัย แต่ด้วยความมุ่งมั่นจะแก้ปัญหา ทำให้เขาขัดแย้งกับนายทหารใหญ่คนหนึ่ง วันหนึ่งเขาถูกลอบทำร้าย เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วประเทศ เช้าตรู่ของวันนั้นมีเหตุลอบวางระเบิด รองผู้ว่าฯลงไปตรวจการ จู่ๆก็มีกระสุนปืนแล่นมาจากไหนไม่มีใครทราบได้ พุ่งทะลุเฉียดใกล้หัวใจของท่าน
ต่อมา บนถนนสายเดียวกันก็มีเหตุฆาตรกรรมไม่เว้นวัน ทุกคนที่ตายล้วนตายไปเพราะกระสุนลึกลับ ข่าวลือเรื่องกระสุนผีสิงลามสะพัดไปทั่ว
เรื่องนี้ผมหยิบเค้าเรื่องมาจากเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นกับรองผู้ว่าฯ ท่านหนึ่ง แม้ว่าคราวนั้นท่านจะรอดจากการลอบทำร้ายมาได้ แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่ากระสุนปืนนัดนั้นมาจากไหน บ้างก็ว่าท่านถูกลอบยิง บ้างก็ว่าอาสาสมัครที่เดินตามหลังทำกระสุนปืนลั่น บ้างก็ว่าเขาเป็นเหยื่อความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือว่าในวันที่ท่านรองผู้ว่าฯกำลังจะออกจากโรงพยาบาล จู่ๆท่านก็เสียชีวิตไปโดยไม่คาดฝัน ว่ากันว่า ในวันที่ท่านจะออกจากโรงพยาบาล ท่านนัดนักข่าวที่จะเปิดเผย “ความลับ” ที่ท่านได้ล่วงรู้มา ท่านจึงถูกมือดีสั่งเก็บ

๑๖ พล็อตที่ ๔๑๔ : เรื่อง “ผู้พิพากษาสมทบ” ผมเขียนถึงแปะกิม นักธุรกิจใหญ่ของจังหวัด ที่วัยหนุ่มถูกส่งมาทำงานสร้างทางรถไฟที่หาดใหญ่ตั้งแต่สมัยนายเจียซีกี หรือขุนนิพัทธ์อุทิศ บุกเบิกเมือง เขาลงหลักปักฐานที่นี่จนกระทั่งร่ำรวย เขาขยายกิจการไปถึง 3 จังหวัดภาคใต้ ที่นี่ทุกคนรู้จักเขาดีในฐานะพ่อค้าใหญ่ ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจใหญ่โต มีเส้นสายกับนักการเมืองใหญ่ เขาพยายามผลักดันตัวเองจนเข้าไปเป็นผู้พิพากษาสมทบ อาศัยช่องว่างที่มีฉกฉวยผลประโยชน์และหลบหลีกกฎหมายอย่างที่ผู้รู้ไม่สามารถหาร่องรอยได้

๑๗ พล็อตที่ ๔๕๕ : เรื่อง “คู่หู” ผมเขียนถึงปลัดอำเภอที่ถูกคำสั่งย้ายลงมาจากอุบลราชธานี ปลัดคนนี้มีประวัติฉาวโฉ่ ถูกชาวบ้านขับไล่มาจากพื้นที่ด้วยข้อหาโกงกินไม่เลือก วันแรกที่เขามาถึงนราธิวาส เขาพบกับเพื่อนตำรวจที่เคยมีผลประโยชน์ด้วยกัน ทั้งคู่ฉลองความสำเร็จล่วงหน้า ร่วมกันคิดแผนหาเงินจากนักการเมืองท้องถิ่นและบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ ในช่วงหนึ่งผมอ่านข่าวนายพลอดีตแม่ทัพใหญ่ ออกมาเปิดโปงขบวนการโจรก่อการร้ายที่ยังคงดำรงสภาพอยู่ ว่าดำเนินการก่อการร้าย บ่อนทำลายและใช้กองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล โดยมีเป้าหมายการปฏิบัติแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรัฐปัตตานี โดยการใช้อาวุธและความรุนแรงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
นายพลใหญ่ชี้ชัดว่าองค์กรก่อการร้ายต่างประเทศได้เข้ามาแทรกซึม และชี้นำทางด้านอุดมการณ์ และแนวทางการต่อสู้ โดยให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน ในรูปแบบต่างๆ เช่น ทุนการศึกษา การพัฒนาปอเนาะ ฯลฯ โดยเฉพาะ KMM และ JI มีความสัมพันธ์กับขบวนการมูจาฮีดินปัตตานี โดยปะติดปะต่อภาพให้เห็นว่าทั้งหมดนี้สืบเนื่องจากเมื่อประมาณ ค.ศ. 1981 ขบวนการมูจาฮีดิน ได้เข้าไปร่วมรบกับชาวอัฟกานิสถานเพื่อขับไล่ทหารรัสเซียให้ออกจากประเทศอัฟกานิสถาน มีชาวมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลกได้ไปร่วมรบด้วย โดยเฉพาะชาวอินโดนีเซีย ชาวมาเลเซีย ชาวพิลิปปินส์ รวมทั้งชาวไทยมุสลิมภาคใต้ และเมื่อค.ศ.1989 รัสเซียถอนตัวจากอาฟกานิสถาน บินลาดิน ได้จัดตั้งขบวนการอัลไคดาขึ้น นักรบมุสลิมจากอินโดนีเซีย กลับมาจัดตั้งขบวนการ JI ขึ้น นักรบมุสลิมจากมาเลเซีย จัดตั้ง KMM และนักรบมุสลิมจากไทย จัดตั้งมูจาฮีดินปัตตานี น่าจะพิจารณาได้ว่า ขบวนการ JI และ ขบวนการ KMM น่าจะมีความเชื่อมโยงกับขบวนการโจรก่อการร้ายมูจาฮีดินปัตตานีในประเทศไทย ทั้งตัวบุคคลและอุดมการณ์ และน่าจะเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายสากลด้วย
ที่สำคัญ แนวความคิดในการจัดตั้งรัฐปัตตานีของขบวนการก่อการร้ายได้พัฒนาไปสู่อุดมการณ์การจัดตั้งรัฐอิสลามบริสุทธิ์ (Pan Islamic States) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ อินโดนีเชีย มาเลเซีย ภาคใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ภาคใต้ของประเทศไทยและบางส่วนของพม่าทางภาคตะวันต

Comment #1ตีพิมพ์เป็นเล่มขายที่ไหน
Anna
Posted @December,03 2011 21.28 ip : 58...89

อยากได้อ่านทั้ง 500  เรื่องค่ะ มีขายตรงไหนคะ อยากซื้อสักสองสามเล่มค่ะ

แสดงความคิดเห็น

« 4401
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ