Party หนังสือ
อ่านความสุขของกะทิ
เร็วๆนี้มีคนถามผมว่าอ่านความสุขของกะทิหรือยัง?
ผมตอบว่าอ่านแล้ว เรานั่งคุยกันต่ออีกพักใหญ่ ผมพอจะจับความได้ว่าคนถามเองคงอยากรู้ว่าในฐานะนักเขียนผมจะมองหนังสือเล่มนี้อย่างไร?
กระทั่งมีคำบ่นเปรยหลุดออกมาคำหนึ่งว่า เรื่องนี้ไม่ค่อยสมจริงสักเท่าไร? ผมได้แต่ยิ้มๆ แล้วก็บอกว่า การอ่านวรรณกรรมของผม คงไม่ได้อ่านแค่ว่าเรื่องนี้สมจริงหรือไม่สมจริง ถ้าหากเรามองตรงกันว่า วรรณกรรมก็คือเรื่องแต่ง หาใช่ภาพสะท้อนความจริงอันใดไม่ อาการไม่สมจริง(ซึ่งเราอาจมองไม่เหมือนกันอีก เพราะประสบการณ์ชีวิตแต่ละคนไม่เท่ากัน) ที่อาจจะมีมากบ้างน้อยบ้างในหนังสือแต่ละเล่ม ก็มีส่วนทำให้ผู้อ่านสะดุดแล้วก็หยุดอยู่กับกำแพงแห่งความเคยชินนี้
แล้วก็ชวนให้ตั้งคำถามต่ออีกว่า การประเมินคุณค่าของหนังสือแต่ละเล่มเราจะมีมาตรฐานหรือกรอบเกณฑ์อะไรมาพิจารณาได้หรือไม่?
มีหรือไม่ที่หนังสือสักเล่มจะถูกยกย่องโดยทุกคนในโลกนี้โดยไม่มีเสียงคัดค้าน?
แล้วในการประกวดแต่ละครี้ง กรรมการสิบคนอ่านหนังสือร้อยเล่ม ให้คัดมาสิบเล่ม แน่ใจได้ละหรือว่ากรรมการซึ่งหากเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะคัดหนังสือออกมาได้ตรงกันหมดทั้งสิบเล่ม?
เหล่านี้เป็นคำถามที่อยู่ในใจผมเสมอมา (เพราะฉะนั้นเมื่ออ่านข่าวกรรมการรอบแรกกับรอบสุดท้ายถกโต้กันในส่วนที่เกี่ยวพันกับหนังสือ "ความสุขของกะทิ" ในฐานะที่ได้รับรางวัล ผมว่าเป็นเรื่องตลกดี ไอ้การที่เราเอารสนิยมการคัดสรรหนังสือในแต่ละรอบมาประกวดประชันกัน แล้วไปประกาศกับสาธารณะอย่างนั้นว่า รสนิยมใครจะดีกว่ากัน- ก็ในเมื่อมันเป็นเรื่องสมมุติด้วยกันทั้งสิ้น กรรมการคงจะลืมตัวไปกับหัวโขนที่คนอื่นเขาสวมให้ละมัง จนเผลอคิดไปว่าหนังสือที่ตนคัดมาไมว่าจะรอบไหนก็ตามนี่คือมาตรฐานกลางที่คนอื่นพึงเคารพ-ก็แปลกดี) ผมบอกกับคนถามนั้นไปว่าผมไม่ค่อยสนใจว่าหนังสือเล่มนี้หรือเล่มไหนเขียนได้สมจริงหรือไม่อย่างไร ผมสนใจแง่มุมประเด็นเนื้อหาที่คนเขียนต้องการจะสื่ออกมามากกว่า
ผมแปลกใจเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ที่พบว่า คนเขียนซึ่งตัวเองน่าจะมีความทุกข์อยู่มาก(เพราะร่างกายที่ดูเหมือนจะป่วย)แต่ทัศนะในการมองโลกกลับมองมุมบวกได้ถึงเพียงนั้น การมองหาความสุขในความทุกข์ได้นั้น ทำให้ผมนึกไปถึงพ่อแม่เด็กออทิสติกบางคนที่รู้จัก พวกเขามองโลกในแง่บวกจนน่าประหลาดใจ
ผมบอกคนถามไปว่า ผมชอบหนังสือเล่มนี้ตรงที่มีความละเอียดอ่อน อบอุ่น ที่แฝงเร้นอบอวลอย่ในใจ ผ่านบรรยากาศความเป็นไทยเช่นนี้หาได้ไม่ง่ายนักในวรรณกรรมร่วมสมัย
ความสุขของคนเราอยู่ที่ไหน? ผมได้ยินเสียงกะทิกระซิบถามอยู่เบาๆ
สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ตะหลิว กะทะ ปิ่นโต สายน้ำ ไดอารี่ สิ่งเล็กๆน้อยๆที่รายล้อมรอบชีวิต?
ครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่ลูกอยู่กันพร้อมหน้า? อุดมคติแห่งชีวิตคงเป็นบรรทัดฐานที่ทุกคนไขว่คว้า ทว่าในครอบครัวที่ไม่มีเล่า...
การมองโลกในมุมที่ทำให้คนอ่านมองเห็นแง่งามรอบๆตัว อาจเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ยิ่งใหญ่เท่าพูดถึงการบรรลุความจริงของนักบวชคนหนึ่ง หรือไม่กระทบสาธารณะเหมือนเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การจับประเด็นมาชั่งวัดตัดสินกันว่าหนังสือแต่ละเล่มดีกว่าเพราะเหตุที่ว่าเล็กหรือใหญ่ การมองลักษณะนี้ก็ตลกไม่แพ้กัน
ผมจึงพอใจที่จะอ่านหนังสือสักเล่มโดยที่ไม่อยากจะไปเปรียบเทียบกับเล่มอื่นๆ เราอ่านหนังสือเพราะอยากอ่านมิใช่หรือ? อ่านแล้วก็พบความสุข เราจะไปหวังจากหนังสือหรือคนเขียนไปมากกว่านี้ทำไม
ผมอาจโชคดีที่ไม่ได้มาเป็นกรรมการตัดสินงานประกวดใดๆ