Party หนังสือ
นิทานประเทศ
เต็มอิ่มกับการอ่านหนังสือสักเล่มหนึ่ง...นี้เป็นความรู้สึกที่มีหลังจากห่างหายไปเสียนาน โดยเฉพาะกับหนังสือวรรณกรรมไทย
ผมหยิบ "นิทานประเทศ" ผลงานล่าสุดของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธ์ ที่ได้ลาลับไปแล้วมาอ่านอย่างหิวกระหาย อ่านนับแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย บอกได้เลยว่าความหนาของหนังสือหาใช่อุปสรรค จะมีเพียงแค่ถือลำบากนิดหน่อยขณะนอนอ่าน เพราะว่าหนังสือหนักไปหน่อย (ฮา)
ผมอ่านจบรวดเดียว คืนเดียว!
รุ่งเช้าถามตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร เห็นอะไรที่เปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไรจากผลงานเล่มก่อน ผมอ่านงานของเขาเกือบทุกเล่ม โดยเฉพาะเรื่องสั้น ผมเลยมานั่งทบทวนความเห็นที่มีต่องานของกนกพงศ์อีกครั้ง ก่อนที่จะมีความเห็นต่องานเล่มใหม่
จากผลงานเขียนเล่มแรกมาถึงเล่มล่าสุดนี้ หากมองรวมๆ ที่เห็นได้เด่นชัดสำหรับรูปลักษณ์ในงานของเขาก็คือ แนวคิดและรูปแบบวิธีการนำเสนอที่มีความเฉพาะตัว เป็นความเฉพาะที่เกิดมาจากการหล่อหลอมใน 2 ลักษณะ คือ จากเบ้าหลอมเพื่อชีวิตที่เกิดจากกระแสสังคมและกระแสแวดล้อมที่คลุกคลีกับพี่ๆในกลุ่มนาคร และจากประสบการณ์ชีวิตเฉพาะตัว
ผมอยากจะกล่าวถึงในแง่หลังนี้มากกว่า เพราะว่าจะสะท้อนภาพของกนกพงศ์ได้ชัดเจนกว่า
อย่างที่รู้กันว่า นักเขียนกับสังคมไม่อาจแยกขาดจากกัน ประสบการณ์ของคนในวัยล่วง 40 อย่างกนกพงศ์ก็เช่นกัน เมื่อมาวางทาบกับการเป็นไปของสังคมไทย จะพบว่าตกอยู่ในระหว่างห้วงกระแสแห่งการพัฒนา 2 ลักษณะเช่นกัน คือ กระแสโลกตะวันตกผ่านวิถีแห่งทุนนิยม และกระแสแห่งโลกตะวันออกที่รายล้อมเป็นพื้นฐานชีวิตในวัยเด็ก การเติบโตท่ามกลาง 2 แนวคิดที่เข้ามาปะทะกันดังกล่าว บวกกับความขัดแย้งทางการเมือง เหล่านี้เป็นเบ้าหลอมสร้างความรู้สึกนึกคิด สร้างตัวตนให้นักเขียนหนุ่มได้เป็นอย่างดี
จากเบ้าหลอมของกลุ่มพี่ๆ ที่มีความพยายามลงลึกในวิถีอันเป็นรากเหง้าของตนทำให้นักเขียนหนุ่มพบรากของปัญหาที่การพัฒนาที่เกิดขึ้นในสังคม ความเป็นอื่นที่สะท้อนผ่านทั้งธรรมชาติ ผู้คน วิถีประเพณีวัฒนธรรม ได้เข้ามาเยือน และก่อตัวไม่เว้นแม้ในจิตใจคน
ความเป็นอื่นสะท้อนผ่านตัวละครในแบบฉบับของกนกพงศ์ ตัวละครเด่นมักจะมีลักษณะที่แปลกแยก แตกต่าง มีบุคลิกเฉพาะที่ผสมผสานระหว่างความดิบเถื่อน รักอิสระ เจ้าคิด เจ้าอารมณ์ แฝงความไร้เดียงสา อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในวิถีแห่งโลกที่สาม เมื่อมาวางขัดกับตัวละครที่เป็นภาพตัวแทนแห่งวิถีสมัยใหม่ ทำให้เนื้อหาที่เขาต้องการนำเสนอเด่นชัดมากขึ้น
ไม่นับรายละเอียดของฉากและสภาพแวดล้อมที่ว่าไปแล้วก็แทบจะสำคัญเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง สะท้อนความช่างคิดช่างสังเกต -นี้ก็เป็นอีกลักษณะเด่นของเขา
ไม่พักเอ่ยถึงความจริงจังในการทำงาน ความจริงจังในวิธีคิด ซึ่งต่อมาทำให้เขาแยกตัวออกมาจากกลุ่มนาคร พบความแตกต่างในแนวทางของตัวเอง และกล้าที่จะแสวงหาเส้นทางของตนอย่างโดดเดี่ยว และสิ่งที่เขาค้ยพบก็เริ่มเด่นชัดขึ้นไปพร้อมๆกับผลงานที่ประดังออกมา
แต่จะว่าไป ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตไปด้วยตรงนี้ว่า ความแตกต่างระหว่างนักเขียนแนวเพื่อชีวิตกับความเป็นกนกพงศ์ในวันนี้อาจจะอยู่ตรงที่เขาทำให้งานเพื่อชีวิตไม่ดูเป็นสูตรสำเร็จจนเกินไป ขณะเดียวกัน เขาเองก็วางตัวอยู่กับบริบทของยุคสมัยมากกว่า งานของเขาสะท้อนสังคมร่วมสมัยมากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้สะท้อนแต่โลกของอดีต แต่พยายามก้าวมาเดินเคียงคู่กับโลกใหม่ที่ซับซ้อน หลากหลาย และรื่นไหล
ที่สำคัญ งานเขียนของเขามักจะไม่ชี้ทางออกอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ใช้สูตรสำเร็จ งานเขียนของเขาดูเผินๆเหมือนแค่สะท้อนตัวปัญหา โดยหยิบยกโลกที่แตกต่าง โลกที่อยู่รอบๆตัวเรานั่นแหละ มาให้เราได้ตระหนักและพิจารณาอย่างละเอียดรอบด้าน จนกกระทั่งเกิดความฉุกคิด และเลยไปถึงการแสวงหาความเข้าใจ เข้าใจในความเป็นอื่นที่แฝงอยู่ในสังคมและในตัวเรา
วิธีการชี้ทางออกของกนกพงศ์แบบนี้แหละที่ทำให้งานแนวนี้ยังสามารถต่อลมหายใจออกไปได้อีก
กล่าวเฉพาะการสร้างตัวละคร ซึ่งเขาทำได้โดดเด่นมาก และน่าฉงนนักที่ตัวละครของกนกพงศ์มักจะเป็นคนแปลกๆ แต่ละคนเหมือนไม่มีอยู่ในชีวิตจริง แต่ถ้าเราดูดีๆ เราจะพบคนเหล่านี้เต็มไปหมด ตรงนี้เองที่เป็นเสน่ห์ในงานของเขา เพราะนอกจากท่าทีที่ไม่ชี้แนะทางออกตรงๆ ไม่ออกมาชี้นำผู้อ่านว่าควรคิด ควรรู้สึกอย่างไร แต่ปล่อยให้รายละเอียดของเรื่องพาไป นำพาความรู้สึกพร้อมการใคร่ครวญไปเรื่อยๆ เท่ากับเขาเดินไปพร้อมกับผู้อ่าน จนบทสุดท้าย คำตอบที่เราค้นพบกับคำตอบของนักเขียนหนุ่ม อาจจะตรงกันหรือไม่ตรงกัน ก็ไม่อาจบอกได้ ทำให้ในวันนี้งานของกนกพงศ์สามารถเบียดแทรกงานหลากสกุลก้าวมายืนเด่นอย่างสง่างามในโลกวรรณกรรมไทย
แต่กระนั้น ความหนักหนาสาหัสในการอ่านงานของเขาก็เห็นจะเป็นการเดินเข้าไปสู่โลกที่แปลกเปลี่ยนดำมืด เต็มไปด้วยความแตกต่างจนน่าฉงน ต่างดาหน้าเข้ามาปะทะประสบการณ์ในโลกของคนอ่านอยู่ตลอดเวลา แม้นว่าจะมีรายละเอียดแตกต่าง แต่โทนรวม เนื้อหารวม ช่างบาดลึกเจิดจ้าอยู่ในแนวทางเฉพาะ จนบางครั้งต้องอุทานว่า ชีวิตมันจะทุกข์หนักอะไรกันนักวะ สีดำของโลกที่นักเขียนหนุ่มมอบให้อาจทำให้หลายคนไม่อยากเข้ามาสัมผัส
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้สามารถก้าวข้ามความหนักหน่วงนั้นไปได้ก็คือทัศนะของผู้เขียนที่แฝงฝังอยู่ในเรื่อง ไม่ว่าจะสะท้อนผ่านตัวละคร สัตว์ พันธ์พืช ซึ่งกนกพงศ์หยิบยก ชี้ชวนให้เราพิจารณา เหล่านี้ทำให้คนอ่านเกิดฉุกใจคิด อ่านจบแล้วทำให้เกิดมุมมองใหม่ในการมองโลกและชีวิต ประสบการณ์ทางปัญญาเช่นนี้หาได้ไม่ง่ายนักสำหรับงานเขียนหลังสมัยใหม่ ซึ่งกนกพงศ์ไม่เพียงแต่มีทักษะอันหนักแน่น แต่หากต้องมีประสบการณ์ชีวิตที่เข้มข้นและมีคุณภาพในเชิงความคิดด้วย
และมีศรัทธาอย่างยิ่งต่อการทำงานเขียนของตน
นี่คือสิ่งที่ผมพบในงานเขียนเล่มนี้
น่าเสียดายเหลือเกิน ที่กนกพงศ์ด่วนลากโลกไปก่อน ก่อนที่จะสร้างงานดีๆได้อีกมาก ซึ่งผมเชื่อว่าหากเขามีชีวิตอยู่ พื้นฐานที่งานที่เห็นการก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เราได้อ่านงานวรรณกรรมดีๆอีกมาก
ไม่ใช่แค่ที่มีแทนตัวเขาเพียงไม่กี่เล่มอยู่อย่างในเวลานี้