เรื่องสั้น

บัวเหล่าที่ 2.5749 ยกกำลัง n

by zahsamerr @August,11 2009 08.02 ( IP : 158...223 ) | Tags : เรื่องสั้น

“ก็ยังดีนะคะหมอ ที่ไม่ได้เป็นจิตเภท...เคยเห็นคนเป็นแล้ว...น่ากลัว” เธอขอมีส่วนร่วมในการบำบัดด้วยอารมณ์สดใสร่าเริงที่ตั้งใจเติมลงบนน้ำเสียงและสีหน้า เพื่อที่จะหลอกไม่ให้ตัวเองรู้สึกว่า มันเป็นการปลอบใจตัวเธอเอง

“โรคที่คุณเป็นนี่ ก็ถือว่ามีดีกรีความซีเรียสพอๆ กับโรคจิตเภทล่ะครับ เพียงแต่อยู่คนละขั้วกัน...” คุณหมออธิบายด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่นิ่ง ไม่มีการแต่งเติมด้วยอารมณ์ใดใด

นั่นเป็นน้ำเสียงและสีหน้าที่เหมือนกับวันที่เธอเริ่มเข้ามาบำบัด และก็เป็นน้ำเสียงและสีหน้าที่ทำให้เธอไว้วางใจ และยินยอมเข้ารับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง

แต่ในครั้งนี้... น้ำเสียงและสีหน้าที่นิ่งนั้น กลับไม่ช่วยทำให้เธอรู้สึกสบายใจขึ้นอย่างทุกครั้ง เนื่องจากเธอเพิ่งได้รับรู้ว่า โรคที่เธอเป็นอยู่ ในทางการแพทย์ ถือว่า มีความรุนแรงเทียบเท่ากับโรคจิตเภท หรือโรคที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามว่า “โรควิกลจริต” หรือ “โรคบ้า”


“คุณเป็นโรคซึมเศร้าครับ” คุณหมอสรุปความด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่นิ่ง มันเป็นเหตุการณ์ปรกติในชีวิตจิตแพทย์วัยกลางคนที่พบว่า คนไข้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

แต่สำหรับเธอ... ผู้ซึ่งเพิ่งผ่านวัยเบญจเพสมาเพียงหนึ่งปี มันไม่ใช่เหตุการณ์ปรกติที่เกิดขึ้นในชีวิตเลย

เธอเพิ่งย่างก้าวเข้ามาในสถานบำบัดทางจิตเป็นครั้งแรก และเธอก็เพิ่งได้ยินชื่อโรค “ซึมเศร้า” นี้เป็นครั้งแรก

“คะ!?” เธอไม่ได้ตกใจ แต่สงสัยสลับสับสนกับเหตุการณ์ที่ไม่ปรกติที่เกิดขึ้นกับชีวิต

“ครับ โรคซึมเศร้า หรือ Depressive Illness อาการของโรคโดยทั่วไปก็ กังวล คิดมาก คิดอะไรในแง่ลบซ้ำไปซ้ำมา จนเกิดเป็นความเครียด ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ คิดว่าตัวเองไร้ค่า ท้ายสุดก็คิดฆ่าตัวตาย...” คุณหมอขยายความต่อด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่ยังนิ่ง

“คะ!!?” เธอยิ่งสงสัยสลับสับสนเมื่อได้รับรู้รายละเอียดเพิ่มเติม

“สาเหตุของโรคอาจเกิดได้จากกรรมพันธุ์ แต่สำหรับคุณ... หมอจะให้ยา... ฮอร์โมน... ระงับประสาท... รับประทานครั้งละ... ง่วงนอน... ติดยา... แอลกอฮอล์... ออกกำลังกาย... แสงแดด...” คุณหมอยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่ยังคงความนิ่งเป็นปรกติ


เธอเป็นคนประเภทที่สังคมนิยามว่า เป็นคนสดใสร่าเริง มีความมั่นใจในตัวเองสูง เก่ง และเป็นคนดี ซึ่งเธอก็ภาคภูมิใจกับคำนิยามนี้มาก

สังคมยังนิยามเธออีกว่า เป็นคนซีเรียส จริงจัง (มากเกินไป) และเป็นคนนิยมความสมบูรณ์แบบ (ซึ่งไม่สามารถหาได้ในสังคมโลกมนุษย์นี้) ซึ่งเธอก็ยอมรับและภาคภูมิใจมาก จนมองข้ามส่วนที่เรียกว่า “มากเกินไป” และ “ไม่สามารถหาได้”


“ตอนนั้นนะ คิด... คิดเยอะมาก คิดว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เราทำอะไรผิด แล้วจะทำยังไงต่อไป คิดจนความคิดมันลอยออกมาเป็นก้อนความคิดเหมือนเมฆ ลอยเต็มห้องไปหมด เครียดมาก เลยตัดสินใจร้องไห้ ให้มันได้ปล่อยออกมา ก็ร้อง... ร้องตั้งแต่ประมาณสามทุ่ม ยันตีสอง ก็ไม่เห็นน้ำตามันกลายเป็นสายเลือดยังไงเลย แล้วก็ไม่เห็นว่าน้ำจะหมดไปจากตัวด้วย ก็ยังไหลมาเรื่อยๆ เลยเลิกร้อง แล้วก็หลับไปตอนไหนก็ไม่รู้” เธอพยายามอธิบายให้คนสนิทหลายคนฟัง ถึงเหตุการณ์ไม่ปรกติที่เกิดขึ้นกับชีวิต ซึ่งเธอนิยามมันว่าเป็นความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอ

คนสนิทเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับรายละเอียดที่เธอพยายามอธิบายนัก เพราะพวกเขาล้วนมีคำถามเดียวกันอยู่ในใจว่า “คนอย่างแกนี่นะ เป็นโรคซมเศร้า แล้วถ้าไม่ซึมมันจะขนาดไหน (วะ) เนี่ย”

อย่าว่าแต่คนสนิท... ตัวเธอเองก็ยังกังขาด้วยคำถามเดียวกัน แต่เธอก็ยินดียอมรับกับคำตอบของคุณหมอ เพราะมันเป็นคำตอบที่ดูดี มากกว่าคำตอบอื่นๆ ที่เธอเองก็ยังไม่สามารถสรุปได้

แต่ลึกๆ แล้ว... เธอยังกลัวที่จะคิดถึงกระบวนการที่จะนำไปสู้คำตอบ โดยเฉพาะกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความคิดของเธอตีบตันจน “สั้น” มากในครั้งนั้น

เมื่อข้อกังขาต้องยอมจำนนด้วยคำตอบที่ดูดี เธอจึงเริ่มตั้งคำถามใหม่ให้ชีวิต (ใหม่) “ในเมื่อตัดสินใจจะมีชีวิตอยู่ต่อไป (ถึงแม้จะยังไม่มีเหตุผลรองรับที่ดูดีพอสำหรับมนุษย์ประเภทสมบูรณ์แบบนิยมอย่างเธอ) แล้วจะอยู่อย่างไรให้ตัวเอง คนที่รัก และสังคมมีความสุข?”

บ่อยครั้งที่เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไม่เธอถึงคิดถึงคนอื่นมากนัก ทำไมความกังวลของเธอมักเป็นความกังวลระดับโลก... ระดับมนุษยชาติ?”

เธอไม่มีคำตอบ (แม้แต่คำตอบที่ดูไม่ดี) แต่เธอรู้ว่า เธอภาคภูมิใจมากที่เธอเป็นอย่างนั้น

เธอยังคงจำคำตอบที่ดูดีมาก (ในความรู้สึกของเธอ) ตอนที่เธอตัดสินใจเปลี่ยนจากการเรียนแพทย์มาเป็นวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพราะหมอรักษา (โรค) คนได้ทีละคน แต่สิ่งแวดล้อมรักษา (โลก) คนได้ทั้งโลก”

แต่บ่อยครั้ง... ยามรู้สึกท้อใจจากการรักษาคนและโลก เธอก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมไม่เรียนเศรษฐศาสตร์ (วะ) วันๆ จะได้คิดแต่การทำกำไรให้สูงที่สุด ไม่ต้องคิดเรื่องความสุขที่สุดของคน... ความสุขที่สุดของโลก?”

“มันเป็นไปตามกรรม...” นั่นคือ คำตอบที่ดูดีที่สุดเท่าที่จะสรุปได้ (ในความรู้สึกของเธอ) สำหรับคำถามที่เคยไม่มีคำตอบ (แม้แต่คำตอบที่ดูไม่ดี) ของเธอ

เธอพบคำตอบนี้ ขณะที่กำลังหา “มรรค” (ทางที่จะทำให้พ้นทุกข์) ให้ “ทุกข์” (ความไม่สบายกายไม่สบายใจ) ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่ปรกติที่เกิดขึ้นกับชีวิต ซึ่งเธอนิยามมันว่าเป็นความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอ


“มันเกิดจากความคาดหวังของตัวคุณเองครับ... คุณเป็นคนคาดหวังสูงมาก คนอื่นเค้าหวังแค่นี้ แต่คุณคาดหวังขนาดนี้” คุณหมอทำมือประกอบคำอธิบายตั้งแต่ขนาดเล็ก จนกางแขนออกกว้างเพื่อแสดงคำว่า “ขนาดนี้”

เธอขำกับน้ำเสียงและสีหน้าที่นิ่ง ซึ่งไม่ค่อยเข้ากับท่าทางประกอบคำอธิบายของจิตแพทย์ที่บำบัดรักษากันมาจนเข้าปีที่สี่

“แล้วมันผิดตรงไหนล่ะคะหมอ ก็คาดหวังที่จะเห็นสังคมดีขึ้น... น่าอยู่ขึ้น” เธอถามด้วยน้ำเสียงซีเรียสจริงจัง แต่สีหน้ายังแต้มด้วยรอยยิ้มจากการขำท่าทางการอธิบายของคุณหมอ

“ไม่ผิดครับ แต่... ขนาดพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้คาดหวังสูงมากขนาดนั้นนะครับ ท่านไม่ได้คาดหวังที่จะทำให้ทุกคนบรรลุธรรมเหมือนท่าน ท่านสอนว่า คนเราน่ะเปรียบเสมือนดอกบัวสี่เหล่า เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้เหมือนกันหมด บัวเหล่าที่สีก็จำเป็นต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรม...”

เธอรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในความเก่งและความเป็นคนดีของเธอที่ค่อยๆ เล็กลงจนแทบมองไม่เห็น เมื่อถูกเปรียบเทียบกับมหาปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

แล้วเธอก็หวนคิดไปถึงคำกล่าวของมหาปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชาติไทยที่ว่า “ในสังคมมีทั้งคนดีและคนเลว เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่เราสามารถให้คนดีปกครองสังคมได้”

แล้วคำถามข้อใหม่ก็ได้โผล่พ้นน้ำขึ้นมากังขาในใจเธอ... “แล้วเราเป็น บัวเหล่าไหนล่ะ?”

เธอนึกทบทวนถึงสมัยที่เรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน เรื่อง บัวสี่เหล่า ...

บัวเหล่าที่หนึ่ง คือ บัวที่อยู่เหนือน้ำ หมายถึง มนุษย์ที่มีศีล สมาธิ และปัญญาดี สามารถบรรลุธรรมได้ง่าย

บัวเหล่าที่สอง คือ บัวที่อยู่ปริ่มน้ำ สามารถโผล่พ้นน้ำขึ้นมาบานได้ หากมีความเพียรพยายาม

บัวเหล่าที่สาม คือ บัวที่อยู่ในน้ำ โผล่พ้นโคลนตมออกมา รอดจากการเป็นอาหารของเต่า ปู และปลา แต่ต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างหนักมากถึงจะสามารถบรรลุธรรมได้

และ...บัวเหล่าที่สี่ เป็นบัวที่อยู่ในโคลนตม ไม่มีโอกาสที่จะบาน ต้องยอมปล่อยให้เป็นอาหารของเต่า ปู และปลา

เธอคิดเข้าข้างตัวเองจากระดับการศึกษา พร้อมผลการศึกษาระดับดีเด่นมากของเธอว่า “เธอเป็นปัญญาชนที่สมควรที่จะถูกเปรียบเทียบได้กับบัวเหล่าที่หนึ่ง”

แล้วเธอก็นึกทบทวนต่อมาในสมัยที่เรียนในมหาวิทยาลัย เรื่อง ประชากร... สภาวะที่เรียกได้ว่า สมดุลในเชิงประชากร สามารถแสดงได้ดังรูปพีระมิดประชากรมาตรฐาน ที่มีฐานกว้าง (หมายถึง มีประชากรในวัยเด็กมาก) และยอดแหลม (หมายถึง มีประชากรในวัยชราน้อย)

เธอคิดและสรุป (เอาเอง) ว่า “หลักการของบัวสี่เหล่าคงคล้ายกับพีระมิดประชากรมาตรฐาน ดังนั้น บัวที่อยู่เหนือน้ำ จึงมักจะมีจำนวนน้อย จนอาจเรียกได้ว่า อยู่อย่างโดดเดี่ยว”


เธอยังเป็นคนประเภทที่สังคมนิยามว่า เป็นคนแปลก (แยก) ซึ่งเธอก็ยอมรับและค่อนข้างภาคภูมิใจ (มาก) ในความไม่เหมือนใครของเธอ

มันจึงไม่ยากกับการยอมรับว่า “เธอต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะเธอเป็นบัวเหล่าที่หนึ่ง”

“... คุณควรจะฝึกการปล่อยวาง ลดการคาดหวัง... โดยเฉพาะกับคนอื่น... ลงบ้าง” คุณหมอสรุปทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่ยังคงความนิ่งเป็นปรกติ

เธอรู้สึกโล่ง และมีความสุขมากที่สามารถหาคำตอบที่ดูดีที่สุดสำหรับคำถามที่เคยไม่มีคำตอบของเธอ จนมองข้ามข้อสรุปทิ้งท้ายของคุณหมอ

เธอบอกกับตัวเอง (โดยไม่รู้ตัวว่า เธอกำลังคาดหวัง และเป็นความคาดหวังครั้งใหม่ที่สูงกว่าเดิมมาก) ว่า “เธอจะได้มีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมอย่างมีความสุขที่สุดเสียที!!!”


แต่แล้ววันหนึ่ง... เธอประสบกับเหตุการณ์ปรกติที่ไม่มีความสำคัญมากมายขนาดที่จะทำให้เธอจดจำ แต่กลับเป็น “มรรค” ให้ “ทุกข์” ของเธอ...

ชีวิต... ไม่ว่าจะคู่ หรือจะ (โดด) เดี่ยว มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว

มันไม่เหมือนการนับเลขจากหนึ่งถึงสิบ...

บัว... มันก็ไม่ได้มีแค่ “สี่” เหล่า...

เพราะวันนี้เธอเจอบัวเหล่าที่ 2.5749 ยกกำลัง n!!!

แสดงความคิดเห็น

« 6486
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ