เรื่องสั้น

เรื่องสั้น : ทางช้างเผือก

by Pookun @November,14 2006 12.29 ( IP : 58...100 ) | Tags : เรื่องสั้น

ทางช้างเผือก ชาคริต โภชะเรือง

๑ เส้นทางชีวิตแท้จริงแล้วมิได้ไปไกลเกินกว่าที่เราจะคาดคิด คนเรามาดแม้นเดินทางไปถึงสุดขอบโลก ทะลุถึงจักรวาลทางช้างเผือก ทว่าผมกลับรู้สึกว่าสุดท้าย เราก็กลับมาหาจุดกำเนิดของตัวเอง ทางช้างเผือกที่ดูเหมือนไกลแสนไกลนั้นที่แท้กลับอยู่ในใจเรา

สองวันก่อน ผมกับโนราจวนมานั่งอยู่ตรงนี้ ผมเปิดโน๊ตบุ๊คของโนราจวนฆ่าเวลา เราดูคำทำนายในโปรแกรมดูหมออันแปลกประหลาดที่บอกว่าผมถึงคราวเคราะห์ ถึงที่สุดแล้ว ผมจะต้องต่ออายุตัวเอง ทำบุญ กลับไปเอาดินบ้านเกิดมาบูชา ผมบอกโนราจวนว่า ไม่รู้ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อดี...

มีบางอย่างทำให้ผมฉุกใจคิด และนั่นเป็นเหตุให้ผมเริ่มสำเหนียกได้ถึงความจำเป็น และทำให้ผมกลับมานั่งทบทวน แน่ล่ะว่าเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตที่เริ่มเพิ่มพูนตามวัย พอมีอายุมากขึ้น ผ่านร้อนผ่านหนาวมากขึ้น ทำให้ผมหลอมรวมเสี้ยวส่วนของชีวิตที่แตกกระจายอยู่นั้นขึ้นมาใหม่ นั่นทำให้ผมแลเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม และเหนืออื่นใด ผมเริ่มที่จะหยั่งเห็น จุดเริ่มต้น เส้นทาง จังหวะก้าวย่าง และจุดสิ้นสุด ทั้งหมดล้วนผูกโยงเชื่อมร้อยเข้าหากันด้วยบางสิ่งบางอย่างอันเร้นลับ เพียงแค่เราหยิบแง่มุมใดที่แหลมคมขึ้นมาส่องพินิจดูก็จะมองเห็นได้ไม่ยาก

คลื่นผู้คนนับพันกำลังเบียดเสียดยัดเยียดอยู่เบื้องหน้า ผมพยายามมองฝ่าเขม่าควันไฟจากถ่านไม้ในเตาที่กำลังโชยกระจายอยู่รอบๆตัว  ผมเห็นโนราจวนเวลานี้ยืนอยู่ด้านหลังเวที ขณะที่วัดคลองแหชุลมุนอยู่ภายใต้แสงไฟ การแสดงของค่ำคืนกำลังจะเริ่ม ผมรู้ว่าโนราจวนจะต้องทำหน้าที่คอยดูคิวนักดนตรีให้เล่นรับกับการแสดงที่สลับกันระหว่างละคร หนังตะลุง เพลงบอก แล้วก็เพลงเรือ ซึ่งว่าไปแล้วก็ทำได้ไม่ง่ายนัก

ไม่ง่ายนักที่จะหลอมรวมมหรสพการแสดงหลายๆอย่างเข้าด้วยกันแล้วยังคงรักษาเอกลักษณ์ของนาฏกรรมพื้นบ้านเอาไว้ได้ แต่นี่ก็เป็นปรับปรน ท่ามกลางเส้นทางของความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่เราพร้อมยอมรับ และยินดีที่จะก้าวไปร่วมเดินกับมัน เพราะอย่างไรเสีย เราก็ยังยืนอยู่บนก้าวย่างของเรา

ผมรู้ดี เราพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ มิเช่นนั้นเราก็ยืนหยัดอยู่บนโลกใบนี้ไม่ได้ เราพร้อมจะเผยตัวพร้อมต้อนรับใครก็ได้ (เราพร้อมรับคนทั้งโลกด้วยซ้ำ) และเราก็พร้อมจะซึมซับวัฒนธรรมที่หลากหลายนั้น จนกระทั่งบางครั้งผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าเราไม่เป็นตัวของตัวเองหรือไม่ก็เป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่งในแบบฉบับของเรา เห็นได้จากการที่เราเป็นคนที่ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งใหม่ๆได้ง่าย พร้อมจะปรับมันให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ลอกเลียน ปรับปรน กระทั่งเรามองไม่ออกว่าสุดท้ายสิ่งนั้นต้นตอรากเหง้ามันมาจากที่ใด

งานวันลอยกระทงกำลังจะเริ่มนั่นละผมจึงละจากความครุ่นคำนึง ฉุดกระชากภาพในระหว่างห้วงคำนึงจางหาย พลางไล่สายตาไปตามแสงไฟจากสปอตไลท์ที่กำลังฉายกราดไปจับอยู่กลางเวทีที่มีข้อความ ร่วมสืบสานงานประเพณี...ซึ่งจัดสืบต่อกันมาหลายสิบปี

โฆษกของงาน(ซึ่งผมได้ยินแต่เสียง)เริ่มต้นทักทายผู้ชมในลีลาที่ให้เดาได้ไม่ยากว่าน่าจะเป็นนายหนังตะลุงมาก่อน ตะแกโหนเสียงอันหนักแน่นอารัมภบทเบิกโรงอยู่ชั่วครู่เป็นการผูกมัดสัญญากับคนดูว่าจะได้ชมได้ยินอะไรนับจากนี้ไป

ในที่สุดการแสดงของค่ำคืนอันยาวนานก็เริ่มต้นด้วยการบรรยายบอกเล่าประวัติความเป็นมาของวัด  ซึ่งผมได้ยินได้ฟังมาแล้วนับสิบครั้ง คราวนี้ก็เช่นกัน  เสียงบรรยายนั้นบอกให้ทุกคนรู้ว่าสมัยก่อนวัดแห่งนี้นั้นแต่เดิมตั้งอยู่ค่อนไปทางทิศเหนือของวัดไปร่วม ๕๐๐  เมตร  กล่าวคือ อยู่ถัดไปบริเวณริมฝั่งคลองแหด้านตะวันออกแต่ด้วยเหตุที่ว่าพื้นที่เดิมนั้นคับแคบไม่เหมาะสมในการตั้งวัด  พระภิกษุรูปหนึ่งมีชื่อว่ายกกลิ่น  ที่มาจำวัดในขณะนั้นจึงได้ย้ายมาตั้ง  ณ ที่วัดคลองแหในปัจจุบันซึ่งเป็นที่ดินมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของพระภิกษุยกกลิ่นเอง  นัยว่าเมื่อท่านบรรพชาอุปสมบทแล้ว และแน่ใจว่าจะไม่ลาสิกขาแล้ว  จึงอุทิศที่ดินแปลงนี้ตั้งวัด  แล้วท่านก็ได้เป็นปฐมเจ้าอาวาส...

เจ้าอาวาสองค์แล้วองค์เล่าปรากฏขึ้นในจอสไลด์ ก่อนที่จะจบลงด้วยคำบอกเล่าความเป็นมาของวัดโดยหลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ภาพวัดประกอบคำบรรยายไปด้วยก่ออารมณ์แห่งความศรัทธาและการย้อนรำลึกวันเวลาแห่งอดีต  สำหรับคนในคงจะซึมซับรับไปได้ไม่ยาก แต่สำหรับผมที่ไม่ได้เป็นคนที่นี่แต่แรกก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ตรงศาลาที่ผมนั่งอยู่ ถัดไปด้านซ้ายเป็นช่องทางเดิน สองข้างทางเป็นแผงขายขนมพื้นบ้านสารพัดชนิด ผมเห็นแต่ผู้คนค่อนข้างพลุกพล่านเดินสวนกันไปมา แต่ก็มีกลุ่มใหญ่ที่ปักหลักอยู่หน้าเวที มีอยู่ไม่น้อยที่ไปขลุกอยู่ที่ลานรำวงและซุ้มสาธิตที่อยู่ด้านหลังของอุโบสถ ใจผมจดจ่ออยู่กับไฮไลท์ของงานที่ต้องการย้อนตำนาน บอกเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชนซึ่งกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่

ย้อนหลังไปเมื่อสองปีก่อนนับแต่วันที่ผมเข้ามาทำงานด้วยกับท่านเจ้าอาวาส ผมกับทีมงานในมูลนิธิฯอีก 3 คน เราตามเส้นทางของสายน้ำจากเมืองใหญ่เข้ามาถึงที่นี่ เพื่อที่จะหาทางขจัดกลิ่นเหม็นคลุ้งของน้ำเสียในคลอง ครั้งนั้นเรานัดหมายหลวงพ่อเจ้าอาวาส ผมกับทีมงานและชมรมโนราโรงครู(ซึ่งโนราจวนเป็นประธานชมรมอาสาเป็นผู้แสดงหลักของงานวันนี้) มาหารือร่วมกัน  หาทางสนับสนุนกิจกรรมของวัดซึ่งกำลังตื่นตัว เรานัดหมายกันที่ศาลาริมน้ำ ที่นั่นทำให้ผมรับรู้ถึงความทุกข์ของที่นี่ได้ไม่ยาก ด้วยว่าทุกครั้งที่ลมรำเพยผ่าน เราทุกคนแทบสำลักกลิ่นเหม็นคละคลุ้งของน้ำเน่า ผมเองกลั้นลมหายใจแทบไม่ทัน

ตอนนั้นหลวงพ่อแนะนำผมให้ทุกคนรู้จักคณะทำงานของวัดและชมรมโนราโรงครูไล่เลียงไปทีละคนพอมาถึงโนราจวน พอผมแนะนำตัวแล้วเสร็จโนราจวนเงยหน้ามองผมแล้วก็ร้องถาม

“ลูกบ่าวเป็นอะไรกับครูสมจิตร สุวรรณชาตรี”

สมจิตร สุวรรณชาตรี...ผมทวนคำในใจ งงๆอยู่ ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีคนแปลกหน้าเอ่ยชื่อพ่อออกมา  ผมนิ่งไปอย่างลังเลครู่หนึ่งแล้วก็บอกว่าผมเป็นลูกพ่อสมจิตร

พ่อสมจิตร...ใช่แล้วทั้งสีหน้า แววตาอ่อนโยน ท่าทางนิ่งลึก โนราจวนทำให้ผมคิดถึงพ่อขึ้นมาอย่างแปลกประหลาด!

๒ การได้พบโนราจวน คล้ายกับว่าผมได้พบตัวเชื่อมประสานที่ร้อยรัดเสี้ยวส่วนชีวิตที่แตกกระจายของผมให้หลอมเข้าหากันใหม่ โนราจวนคล้ายเป็นจิ๊กซอร์ส่วนสำคัญที่มาเติมที่ว่าง ปะติดปะต่อภาพที่มีอยู่เดิมก่อนหน้านั้นแล้วให้ปรากฏภาพที่แจ่มชัดขึ้นในที่สุด

นับแต่วันนั้นโนราจวนทำให้ผมนึกถึงภาพเก่าๆเมื่อครั้งวัยเด็กแจ่มชัดขึ้นอีก คล้ายกับว่าเวลาได้หวนย้อนกลับ และก็คล้ายกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เคยสูญหายไปไหน

ผมตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ดี และก็อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรก ผมรู้มากไปกว่านั้นอีกว่าการพบโนราจวนมีบางอย่างที่มากไปกว่าแค่การได้ร่วมทำงาน

การแสดงเบื้องหน้ามีถึง 6 องก์ ครู่เดียวการแสดงเข้าสู่องก์ที่ 1 ในแผ่นพับแนะนำการแสดงเขียนไว้ว่าเป็นตอน  : คนเฒ่าเล่าเรื่อง ตอนนี้จะมีตัวละครหลัก  3  คน ได้แก่  ปู่  และหลานชาย  หญิง  โดยที่ทั้ง 3  จะแต่งตัวเป็นคนในยุคปัจจุบัน และตอนนี้พวกเขาก็เดินออกมานั่งอยู่บนตั่งไม้ข้างเวทีแล้ว

พวกเขาเดินออกมานั่งอยู่บนตั่งไม้ข้างเวทีแล้ว แสงจากสปอตไลท์ทำหน้าที่นำสายตาคนดูมาหยุดอยู่ที่ปู่กับหลาน เด็กชายผิวคล้ำแต่งหน้าจนขาววอก ทาปากสีแดงหน้าตาแปลกๆ เอื้อมมือคว้าไมค์มาถือไว้ แล้วส่งต่อให้ปู่

นั่งมองหน้ากันอยู่ชั่วอึดใจ ตัวปู่หยิบน้ำชามารินใส่ถ้วย “เออ.. วันนี้  พวกหลาน ๆ มีธุระไรกัน  ถึงได้มาหาปู่กันแต่เช้า” ผู้เป็นปู่รำพึงขึ้น

“พวกผมอยากจะมาสอบถามคุณปู่เกี่ยวกับเรื่องประวัติของคลองแหของเรา” หลานชายที่มีชื่อว่าสากลตอบเสียงใส

คำถามซื่อๆ ตรงๆ ไม่ต้องเกริ่นนำเยิ่นเย้อให้มากความ
เด็กหญิงผู้เป็นหลานอีกคนชื่อว่าเชอรี่ที่นั่งอยู่ข้างๆ หันมาถามบ้างว่า “จริงไหมปู่ ที่เขาเล่ากันว่าที่ “โคกนกคุ่ม” นั่นศักดิ์สิทธิ์และมีทรัพย์สมบัติของคนโบราณฝังอยู่”

ปู่หัวเราะหึๆ “ อ้าว ยังไงกัน...ตกลงจะฟังเรื่องไหนก่อน”

สากลหันไปมองหน้าเชอรี่ก่อนรีบตอบ

“ฟังเรื่องหลังดีหวา มีเรื่องแปลก ๆ  ตั้งหลายเรื่อง”

ปู่กระแอมขึ้นเบาๆ หันมาสบตาคนดูก่อนพูด “ตกลงว่าให้ปู่เล่าเรื่องโคกนกคุ่มก่อน แล้วเล่าเรื่องประวัติหรือตำนานของคลองแหทีหลังล่ะสิ ความจริงจะเล่าอะไรก่อนหลังก็ได้ เพราะจะว่าไปแล้ว ทั้งสองเรื่องก็เป็นตำนานของคลองแหเราที่เกิดมาพร้อมๆกัน เป็นเรื่องเดียวกัน และก็เป็นเรื่องที่คนเฒ่าคนแก่บ้านเราได้เล่าต่อๆ กันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ว่า เกิดขึ้นมาแต่ในอดีตกาล เมื่อครั้งที่เขาสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ที่เมืองตามพรลิงค์ หรือเมืองมะตะลิง หรือเมืองนครศรีธรรมราช หรือพระธาตุเมืองนครในปัจจุบันนี้โน่นแน่ะ”

เชอรี่ร้องโอ้โห “คงจะนานมากนะคะปู่”

“ใช่” ปู่คว้าไมค์ แล้วพูดต่อ “ลองนึกดูเถอะว่านานแค่ไหน ก็ตามตำนานเขาเล่ากันว่าพระธาตุเจดีย์นั้นสร้างครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 854 โน่น โดยคณะพระธรรมทูตจากลังกา แล้วหลานรู้ไหมว่า เดิมน่ะมาสร้างขึ้นที่หาดทรายแก้ว-สงขลาบ้านเรา ตอนสร้างสมัยแรกเป็นเพียงเจดีย์เล็กๆ ที่ก่อครอบพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ ต่อมากษัตริย์ศรีธรรมโศกราช หรือบางทีที่เขาเรียกว่าพระเจ้าจันทรภาณุ ได้สั่งให้ขุดพระเจดีย์องค์เล็กแล้วสร้างพระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นแทนที่ที่นครศรีธรรมราช  ราวๆปี  พ.ศ. 1089  จนสำเร็จใน พ.ศ. 1100 จึงประกาศให้หัวเมืองต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระบรมธาตุเจดีย์องค์นั้น ที่มาของตำนานคลองแหก็เริ่มขึ้น  ณ  ในช่วงเวลานั้นเอง”

ฟังคนเฒ่าเล่าความหลังไปเรื่อยๆ ผมเดินออกมายืนด้านข้างเวที เบียดเสียดกับกลุ่มคนดูที่มีทั้งเด็ก คนเฒ่าคนแก่ อออยู่เต็มแลละลานตาไปหมด ใกล้ๆกับพระบรมรูปของสมเด็จพระราชินี แสงไฟหลากสีส่องแสงนวลตา แสงจากสปอตไลท์ดวงโตกำลังฉายจับไปยังปู่และหลาน ด้านขวามือของเวที ตรงบริเวณฉากหลังซึ่งทาสีฟ้ามีตัวหนังสือเขียนชื่องานไว้ว่า “ย้อนตำนานคลองแห” ผมหันไปดูชาวบ้านที่ทั้งนั่งและยืนอยู่ตรงลานวัด คะเนด้วยสายตาไม่น่าจะต่ำกว่า 3 พันคน

ผมเองไม่คิดไม่ฝันว่าคณะทำงานของวัดจะเตรียมตัวมาดีถึงเพียงนี้ แรกนั่งคิดกิจกรรมด้วยกันผมเพียงอยากเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนมาเล่าความเป็นมาของตนให้กับลูกๆหลานๆฟัง ท่านเจ้าอาวาสเองกลับฝันไปไกลกว่านั้น นั่นคือ อยากเปิดแสดงแสงสีเสียงเป็นงานมหกรรมย้อนตำนาน ผมเองไม่อยากขัดแม้นว่าจะนึกภาพงานไม่ออก ขณะที่ทีมงานคนอื่นๆ ช่วยกันจินตนาการถึงภาพงานกันใหญ่ แต่ผมก็ไม่นึกหรอกว่าภาพฝันนั้นจะกลายมาเป็นความจริงไปได้

แต่มาวันนี้ผมรู้แล้วว่าผมคิดผิด

๓ ครู่เดียว การแสดงก็เข้าสู่องก์ที่ 2  เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่เมืองตามพรลิงค์  (หรือเมืองมะตะลิง)  องก์นี้ที่ประชุมลงความเห็นร่วมกันว่าน่าจะเป็นศิลปการแสดงหนังตะลุง เราจึงนัดหมายให้เจ้าอาวาสประสานงานนายหนังนครินทร์  ชาทอง นายหนังใหญ่ซึ่งนานๆครั้งจะเปิดการแสดงให้คนดู รับหน้าที่เล่าเรื่อง พลันที่แสงบนเวทีดับพรึบลง บนจอหนังตะลุงขนาดย่อมอยู่เยื้องไปทางด้านขวาของเวที ก็ออกรูปเจ้าเมืองกับทหาร  2  ตัว

    <em>“จะกล่าวเรื่องที่ในเมืองตามพรลิงค์      เราได้สิ่งสมมาตรปรารถนา
องค์พระสารีริกธาตุพระศาสดา      เป็นพุทธบูชาบรรจุไว้ในเจดีย์”</em>

ดนตรีเริ่มโหมประโคม เปลี่ยนอารมณ์คนดู ย้อนรำลึกไปถึงช่วงเวลาที่เคยนั่งนอนบนเสื่อสาดหน้าโรงหนังตะลุงในวัด ตากน้ำค้างดูหนังตะลุงจนรุ่งสาง รสสัมผัสจากดนตรีที่ซึมซาบผ่านโสตประสาตเขย่าเลือดเนื้อ ปลุกอารมณ์ความรู้สึกของเราให้ตื่นตัว ผันแปรไปตามท่วงทำนอง และสุ้มเสียงอันไพเราะแตกต่างกันของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด โรงหนังขนาดย่อมอยู่เยื้องมาทางด้านขวามือของเวทีใหญ่ ลานวัดที่เคยกว้างโล่งกลับคับแคบไปถนัดใจ แสงจากสปอตไลท์กลางเวทีฉายไปจับเหนือท้องฟ้าอันดำมืดเพื่อให้คนดูเพ่งความสนใจมายังโรงหนังตะลุงได้อย่างถนัดถนี่ นายหนังชื่อดังแสดงไปเรื่อยๆ เล่าเรื่องย้อนไปถึงอดีตกาล ว่า ตำนานนี้เริ่มความนับแต่ทางเมืองมะตะลิงได้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัดนี้การก่อสร้างเจดีย์ดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ซึ่งในพระบรมธาตุเจดีย์นี้ได้สร้างขึ้นตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเชื่อว่าภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ คือ ที่ฐานของพระบรมธาตุมีสระแก้วกว้างยาวเท่ากัน  คือ  8 วา  ลึก 5 วา  รองด้วยก้อนหินใหญ่  ข้าง ๆ  ก่อยึดด้วยปูนเพชรปูนขาวผสมน้ำอ้อยทุกด้าน  ภายในสระมีสระเล็กอีกสระหนึ่ง  สระเล็กนี้หล่อด้วยปูนเพชรขนาดกว้างยาวเท่ากัน คือ 2 วา  ความลึก 2 วา สระนี้บรรจุพิษของนาคอยู่ทั้งสระ  ภายในสระมีขันทองลอยอยู่ ภายในขันทองบรรจุผอบทองซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่

เรื่องเล่าอันมหัศจรรย์พันลึกยังไม่จบสิ้น ที่มุมสระทั้ง 4 มุม ทุกมุมยังมีทองคำหนักตุ่มละ 38 คนหาบวางอยู่ มุมละตุ่ม  แล้วเรื่องของเรื่องมาเริ่มตรงที่ทางเมืองตามพรลิงค์มีความประสงค์ที่จะให้ประชาชนในหัวเมืองต่าง ๆ ในทางตอนใต้แห่งแหลมทอง  อาทิ  เมืองสายบุรี(ผมเพิ่งรู้ว่ามีตราสัญลักษณ์เป็นรูปหนู) เมืองปัตตานี(วัว)  เมืองกลันตัน(เสือ)  เมืองปะหัง(กระต่าย) เมืองไทรบุรี(งูใหญ่) เมืองพัทลุง(งูเล็ก) เมืองชุมพร(แพะ) เมืองบันไทยสมอ(ลิง) เมืองสงขลา (ไก่) เมืองตะกั่วป่า (หมา) เมืองกระ(บุรี)(หมู)  ที่เลื่อมใสและนับถือพระพุทธศาสนาให้มาร่วมเฉลิมฉลองในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในผอบทองและจะประดิษฐานไว้ในพระบรมธาตุเจดีย์ในครั้งนี้

    <em>“ราชานังสั่งให้ทำคำประกาศ       ประกาศราชทั่วรอบขอบเขตขันธ์
พวกเสนากราบทูลลาออกมาพลัน           เรื่องสำคัญยังยาวสาวนิยาย”</em>

ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ ขณะที่นายหนังนั่งแสดงอยู่นั้น แสงไฟจากสปอตไลท์เริ่มกวาดไปทั่วลานวัด ผมหลบไปด้านหลังของเวที เยื้องมาด้านขวามือของคนดู ตรงกึ่งกลางลานทรายโล่งอัดแน่นไปด้วยคนดู ด้านข้างชิดกับลำคลองมีซุ้มสาธิตวิถีวัฒนธรรมสารพัดชนิด ตั้งแต่ซุ้มลอมข้าว นวดข้าว ขวัดข้าว ตำข้าวสาร ขนำโบราณที่มีไซ ซ่อน สุ่ม ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านประดับประดา ถัดไปเป็นซุ้มขนมจีนโบราณ ซุ้มขนมพื้นบ้าน ซุ้มขายน้ำชา กาแฟ ลานการละเล่นพื้นบ้าน อย่างเช่น วิ่งเปี้ยว ขี่ม้าหางแดง ม้าโย่ง ลากเตาะหมาก เดินกะลา หมากขุม เวทีมวยตับจาก รวมไปถึงการแสดงกาหลอที่ทำเอาผมแสลงใจชวนให้คิดถึงวัดที่บ้านเกิด

เหมือนเดินย้อนไปสู่อดีต คนเฒ่าคนแก่ที่มาตำข้าว นวดข้าว ล้วนนัดกันแต่งกายย้อนยุค  ภาพเหล่านี้เองที่ปลุกภาพในอดีตให้ฟื้นขึ้นมาเต้นเร่าในหัวใจอีกคำรบ

๔ องก์ที่  ๓  ที่ชื่อว่า : บอกสิ่งสำคัญ เพื่อให้เข้ากับเนื้อหาองก์นี้เราจึงเลือกใช้การแสดงเพลงบอกมาสื่อกับคนดู  จับเอาช่วงเวลาที่ทางเมืองตามพรลิงค์ประกาศข่าวให้ชาวพุทธในแหลมทองร่วมเฉลิมฉลองและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพุทธเจดีย์

    <em>“กล่าวสุนทรกลอนเพลงบอก      มาเอ่ยออกเป็นเรื่องราว
แจ้งออกข่าวกันทั่วไป                รู้กันไว้หนา”</em>

โนราจวนเป็นผู้แสดงสำคัญในฉากนี้เสียด้วยสิ ผมแทรกคนดูที่ยืนบังอยู่เห็นโนราจวนออกมายืนเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเวที แทนที่การแสดงของหนังตะลุงที่ใช้เวลาสั้นๆเพียงสิบห้านาที อาจเป็นเพราะการว่าเพลงบอกจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์จากครูเพลงอย่างมาก ทำให้โนราจวนต้องลงมารับบทนำด้วยตนเอง การนำเพลงบอกมาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงคราวนี้ทำให้ผมรู้จักเพลงบอกได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ว่าที่จริงผมได้ยินเพลงบอกมาหลายครั้งแต่คราวนี้แปลกออกไป อาจเป็นเพราะมีความหมายที่มีนัยเชื่อมโยงไปถึงธรรมมะ เป็นการบอกบุญให้กับผู้ชมได้มาร่วมสร้างพระธาตุทำให้ผมลืมภาพประทับที่ผูกตรึงความหมายของการว่าเพลงบอกในทำนองร้องชมแล้วก็ขอเงินของบรรดาเหล่าขี้เมาไปสนิทใจ

โนราจวนซึ่งแต่งกายในชุดชายไทยโบราณ นุ่งโจงกะเบน เปลือยร่างท่อนบน มีผ้าขาวม้าพาดไหล่เดินร้องเพลงจากบนเวทีลงไปข้างล่างบริเวณที่มีผู้ชมแล้วเดินหายไป

แสงไฟจากสปอตไลท์ไล่ตามหลังโนราจวนเดินหายไปท่ามกลางคนดู ความมืดของค่ำคืนทำให้ไม่อาจมองเห็นขบวนเรือที่มีนกคุ่มเงินและนกคุ่มทองที่จอดอยู่บริเวณใต้ร่มโพธิ์ด้านหลัง รวมไปถึงคนดูที่นั่งบนเก้าอี้ซึ่งจัดเรียงไว้ไม่ต่ำกว่า 500 ตัว

ในบางขณะที่แสงไฟฉายผ่านผมเห็นทั้งคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มสาว หอบลูกจูงหลานมายืนฟังเต็มไปหมด

๕ ผมเดินสำรวจไปรอบๆ มาถึงเวทีอีกครั้งการแสดงก็ตัดเข้าสู่องก์ที่  ๔  เป็นเรื่องราวของชาวกลันตัน องก์นี้ผู้แสดงขับกลอนสี่ซึ่งเป็นกลอนโนรากลอนรับ เป็นการเปิดฉากผู้แสดงซึ่งเป็นลูกหลานของชุมชน  ผมรู้จักพวกเขาทั้งหมดดี

ผมเห็นปั้นหยาเดินออกมาขับกลอนโนรา

    <em>“ฟังเสียงบอกข่าว            เรื่องราวฉลอง
ในถิ่นแหลมทอง               ฉลองเจดีย์
    บรรจุพระธาตุ            พระชินสีห์
แก้วแหวนทองมี               ของดีมากมาย
    เป็นพุทธบูชา            นำมาถวาย
ศรัทธาใจกาย             ให้ถึงนิพพาน”</em>

ชาวดียืนเท้าสะเอว ส่ายหน้าแล้วชี้หน้าปั้นหยา  “แม่เฮ้ย  พ่อสังหรีวัด วัน ๆ ไม่ทำไหร หัดขับแต่บทไร เบี้ย”

ปั้นหยาหันมายิ้มๆกับคนดู “ก็ได้บุญเหมือนกันแหละ”

ลิตาที่ยืนอยู่ข้างชาวดีออกมาผสมโรงด้วยทันที  “เขาว่าเอาเบี้ยเพื่อนทำบุญ  แต่ของเองไม่ทำ  บุญนั่นได้แหละ –ได้เป็นเทวดาเหมือนกันแหละแต่ว่าบารมีไม่ถึงสวรรค์เพราะเป็นเบี้ยเพื่อน”

“ได้เป็นเทวดาพรื่อเท่ไม่ได้อยู่บนสวรรค์” ปั้นหยาเลิกคิ้วถาม

“กะเป็นรุกขเทวดานั่นแหล้    เทวดาเท่อยู่ตามต้นไม้  เป็นเทพารักษ์ไอไหรพัน นั้น”  ลิตาตอบ

ปั้นหยาหัวเราะ “ก็ดีหวาไอ้โหม เท่ขวางเพื่อนทำบุญแหล้หา ไอ้พวกนี่ถ้าเป็นหญิงตายไปกะอยู่ตามต้นไม้เหมือนกัน”

“ไปเป็นเทวดาไอไหรเล่าละหือ” ชาวดีแปลกใจ

“ไปขวางเขาทำบุญอี้ไปเป็นเทวดาพรือ ละหา ไอ้พวกนี่ไปเกิดเป็นผีไม้ ผีนางตะเคียนไอไหรพันนั้นนแหละ” ปั้นหยาหัวเราะ

“แต่ก็ดีหวาไอ้พวกเท่ไปกินของเขาทำบุญ ไอ้พวกนี่ไม่ได้ไปสวรรค์  ไม่ตกนรก” ชาวดีแย่งไมค์ไปพูดบ้าง

“แล้วไปเป็นไอไหร”

“ถ้ายังบุญมั่งกะเขาเลี้ยงไว้ในคอก ถ้าไม่บุญกะเที่ยวดุด กินหัวมันกินไหรๆ อยู่ตามท่ง ” ชาวดีหันมายิ้มๆกับคนดู

คนดูฮาหัวเราะชอบใจ

ปั้นหยาเลิกคิ้วถาม “นี่สูว่าใครหือ”

“อย่ากินปูนร้อนท้องแหล้”

เงียบกันไปชั่วอึดใจ ชาวดีหันมาถามปั้นหยา “ว่าแต่ว่าเรื่องที่อี้ไปเมืองตามพรลิงค์หนิ นี่ถึงกำหนดอีไปกันแล้วหนิ หน้าเท่รับผิดชอบของตัวนั่นเรียบร้อยแล้วไม่”

“เรียบร้อยแล้ว  ขบวนเรือ  ครบเหม็ดทั้งฝีพายผีพราย”

“อ้าว แล้วผีพรายเอาไปทำไหรละ”

“เอาไปเป็นเกลอกับผีตะเคียนแหล้”

ชาวดีเดินไปเดินมา ทำท่าทางครุ่นคิด “เท่าแต่เรือกับฝีพาย แล้วเสบียงอาหารละ เพราะเราต้องเดินทางจากกลันตันไปตามพรลิงค์นั้นต้องใช้เวลาตั้งหลายวัน  ข้าวปลาอาหารต้องเพียบพร้อมนะ”
ปั้นหยาโบกมือให้ “บาย ๆ อย่าว่าแต่เดือน 2 เดือนเหอ  ต่อให้  3 เดือนกะกินไม่เหม็ด”
“ แล้วพวกเงินทองของทำบุญละ เห็นเที่ยวเรี่ยไรเขาอยู่ได้เท่าใดเหลย”

“ได้พอสมควร  กะได้แบ่งแยกเป็นหมวดเป็นหมู่ โดยแบ่งเป็นแก้วแหวนเพชรนิลจินดาพวกหนึ่ง ทองพวกหนึ่ง”

“แล้วไซ่ ต้องแบ่งเป็นพวกๆ ละคะ”

“เพื่อสะดวกในการขนย้าย ที่สำคัญที่สุดก็คือพวกทองได้เอามาหลอมเป็นทองแท่งแล้วตีเป็นฆ้องใบใหญ่ เพื่อให้สำหรับขบวนแห่ของเราแล้วถวายเป็นพุทธบูชาต่อไป แต่เท่านั่นยังไม่พอได้จัดทำเป็นนกคุ่มเงิน นกคุ่มทอง ใส่ในเรือด้วย”

“ทำไปทำไหรละคะ ไอ้นกคุ่มเงิน นกคุ่มทองนั่น”

ปั้นหยายิงฟังขาว “ก็เอาไปใส่ของที่ชาวบ้านโมทนาถวายเป็นพุทธบูชาพระบรมสารีริกธาตุในพุทธเจดีย์แหล้”

ยืนดูเหล่าเด็กๆซึ่งแต่งกายเป็นชาวกลันตันเต็มยศขยับถอยไปข้างหลังเปิดทางให้เด็กๆขึ้นมาแสดงการรำพัด ก่อนหน้านี้ผมเคยเห็นพวกเขามาหัดร้องเพลงเรือ บางคนเป็นนักดนตรีเป็นลูกคู่ให้หนังตะลุงและโนรา เด็กๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของชาวคลองแห มาวันนี้ได้สวมชุดชาวกลันตัน ผมไม่รู้ว่าแต่ละคนคิดอะไรอยู่ในใจ เป็นความภาคภูมิใจ? แปลกใจ? ที่มีโอกาสได้มาสวมบทบรรพบุรุษของตนในวันนี้

คิดไปก็น่าประหลาดใจ ผู้คนนับร้อยนับพันเราต่างคนต่างอยู่คนละทิศคนละทาง ต่างถิ่นต่างที่ต่างอาชีพ ต่างเชื้อพันธุ์ภาษา มาวันนี้แรงบุญ แรงศรัทธาใดเล่านำพาเรามารวมกัน ผมรู้สึกได้ถึงช่องว่างของเวลา ช่องว่างของความสัมพันธ์ ที่เราสร้างมันขึ้นมากระทั่งกลายเป็นกำแพงขวางกั้นเราห่างจากกัน  และแม้ว่าจะไม่มีใครเหมือนใครกระแสแห่งชีวิตได้พัดพาเรากระจัดกระจายไป วันนี้กระแสแห่งชีวิตเดียวกันก็พัดพาหัวใจและเลือดเนื้ออันเปี่ยมชีวิตของความเป็นมนุษย์เหมือนๆกันมาอยู่ด้วยกัน เราพร้อมจะทลายกำแพงที่ขวางกั้นเราไว้ พร้อมที่จะเรียนรู้ผู้คนที่แตกต่างไปจากเรา และรู้ที่จะค้นพบว่า เราต่างก็มีจุดกำเนิดเดียวกัน

ผมอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงความหมายของคำว่า “บ้านเกิด” ผมเคยย้อนถามโนราจวนขณะแกดูดวงให้ผมผ่านคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คเมื่อสองวันที่ผ่านมา-แกไปได้โปรแกรมดูหมอมาจากโหรชื่อดังคนหนึ่ง ที่บอกขายโปรแกรมดูหมอทางอินเตอร์เน็ต โนราจวนถามวันเดือนปีเกิดของผม แล้วก็ถามว่าผมเกิดที่ไหน

“อาจะเอาที่ไหนล่ะ ที่ภูมิลำเนา หรือว่าที่โรงพยาบาล” ผมถามอย่างลังเลใจ

“เอาที่โรงพยาบาลก็แล้วกัน”

“งั้นก็สงขลา...”

ผมตอบไปพลางนึกแปลกๆ คนสมัยผมแทบทุกคนล้วนเกิดที่โรงพยาบาล หาใช่รุ่นพ่อรุ่นโนราจวนที่เป็นเพื่อนรุ่นน้องของพ่อ ที่มีที่เกิดที่ฝังรกรากอยู่ที่บ้านเกิดจริงๆ หาใช่โรงพยาบาลคนละจังหวัดจากภูมิลำเนาเดิมอย่างผม สุดท้ายเลยไม่รู้ว่าที่ไหนคือบ้านเกิด

วันนั้นโปรแกรมดูดวงในคอมพิวเตอร์ของโนราจวนทำนายโชคชะตาผมว่าทุกอย่างดีหมด แต่ถ้าจะให้ดี ปีนี้ผมจะต้องต่ออายุ โดยที่ไปทำบุญแล้วกลับไปเอาดินที่บ้านเกิดมาบูชา

“เพื่อความเป็นสิริมงคล” โนราจวนว่า

๖ ภาพแผ่นดินแม่กระจ่างขึ้นมาอีก ในขณะที่รำพัดแสดงอยู่นั้นขบวนเรือเริ่มออกเดินทางจากต้นร่มโพธิ์ตรงจุดที่ตั้งเคลื่อนตัวมายังเวที...

ปั้นหยาชี้ไปทางขบวนเรือที่กำลังจะมาที่เวที แสงไฟจากสปอตไลท์ฉายนำสายตาคนดูไปยังขบวนเรือที่มีนกคุ่มเงิน นกคุ่มทองตัวใหญ่บรรจุสมบัติ กำลังแห่แหนมาตามทาง ได้ยินเสียงร้องเพลงเรือแว่วอยู่ไกลๆ ผมเห็นกำนันไสวบอกให้คนดูหน้าเวทีลากเก้าอี้แถวหน้าถอยออกไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้ขบวนเรือได้เดินผ่าน

เสียงบรรยายจากโฆษกหน้าเวทีทำหน้าที่เชื่อมโยงการแสดงย้อนตำนานที่นำเอาวัฒนธรรมพื้นบ้านอันหลากหลายมานำเสนอไม่ให้คนดูสับสน

“....ประชาชนในหัวเมืองต่าง ๆ ที่ได้ทราบข่าวต่างก็ไปร่วมฉลองพระบรมธาตุเจดีย์ของเมืองตามพรลิงค์ฝ่ายประชาชนทางเมืองกลันตันซึ่งอยู่ห่างไกลจากเมืองตามพรลิงค์มากกว่าหัวเมืองอื่น ก็รวบรวมประชาชนหลายร้อยคนจัดขบวนเรือเดินทางรอนแรมมาตามลำน้ำเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อมืดค่ำ ณ สถานที่ใด ก็พักแรมที่นั่น ครั้นเดินทางมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งเป็นสถานที่สบายพื้นที่เป็นเนินสูงมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมสบาย เป็นคุ้งคลองน้ำใสสะอาด ก็พักแรมที่นั่นหนึ่งคืน แล้ววันรุ่งขึ้นก็เตรียมเดินทางต่อไป...”

ผมรู้สึกราวกับว่าเรากำลังเดินทางอยู่บนสะพานแห่งเวลาเชื่อมโยงอดีตมาสู่ปัจจุบัน โดยมีตำนาน เรื่องเล่าทำหน้าที่เชื่อมโยง ซุ้มต่างๆของวัด การแต่งกายย้อนยุคของเด็กๆรวมถึงคนเฒ่าคนแก่ทำให้เราลืมกาลเวลาปัจจุบันไปเลยก็ว่าได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เราย้อนคิด มองเห็นภาพเปรียบระหว่างอดีตและปัจจุบัน ทั้งชีวิตของเราเองและสังคมรอบๆข้าง นั่นอาจทำให้หลายคนตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในเส้นทางที่เลวร้าย เสื่อมโทรม จนเกิดสำนึกใหม่...นั่นเป็นสิ่งที่เราคาดหวัง

หลวงพ่อเจ้าอาวาสบอกว่ามนุษย์เรานี่แหละที่ทำร้ายและทำลายพระแม่แห่งแผ่นดิน สายน้ำ ขุนเขา โดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นั่นเป็นเพราะสิ่งที่เราควรรู้มันมีน้อยเกินไป ขณะที่โลกซับซ้อนเกินไป เปลี่ยนแปลงเร็วจนเกินไป  มนุษย์ยิ่งถูกบีบให้ตัวเล็กลง แยกส่วนกระจัดกระจายอยู่คนละทิศละทาง มืดมนหลงทางอยู่ท่ามกลางหุบเหวแห่งอวิชชาที่พร้อมจะแปลงโฉมมาภายใต้ใบหน้าที่สวยงาม หลอกล่อดูดดึงเราให้ตกลงไปยังก้นบึ้งแห่งมัน เราช่วยตัวเองไม่ได้ หัวใจเรามืดบอดไปด้วยอำนาจแห่งเงินตราครอบงำ

ทว่าผมยังเชื่อในสำนึกดีงามที่ยังหลงเหลือในหัวใจ เราทำอย่างไรที่จะให้สิ่งดีงามนั้นฟื้นคืนกลับมา

ตรงนี้เองที่ทำให้ผมฉุกคิด สามสี่ปีที่ผ่านมา การทำงานของเราจึงเพียรพยายามทดลองค้นหา เพื่อที่จะซึมซับรับเอาวิถีและพลังแห่งภูมิปัญญาของบรรพชนมาต่อสู้กับปัญหาที่หมักหมมนานา การจำลองภาพอดีตอาจทำให้ผมรับรู้ได้ถึงวงล้อแห่งเวลาที่อาจหมุนวนคืนกลับมาในบางขณะ แต่ก็ใช่ทุกอย่างจะหยุดลงอยู่กับที่
ผมรู้ได้ถึงการแสวงหาของตน เราจำเป็นต้องย้อนฟื้นคุณค่าแห่งอดีตที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหลักยึดเป็นฐานอิงทำให้เรารอดพ้นคมเขี้ยวหนามนานา คลองแหวันนี้ก็เช่นกัน ต่างจากวันวาน ทอดตาไปยังสายน้ำที่เคยสะอาดใสแต่กลับมาหมองคล้ำสกปรกด้วยคราบไขมัน ขยะ ที่ลอยสะสมมาจากในเมืองหาดใหญ่ คนเดี๋ยวนี้มองเห็นธรรมชาติเป็นเพียงแหล่งระบายของเสียที่ตนไม่พึงปรารถนา โดยหารู้ไม่ว่ากำลังทำร้ายผืนแผ่นดินให้สิ้นอายุขัยในเร็ววัน

อาจเพราะคนรุ่นผมเติบโตมาทันทั้งยุคเก่าและสมัยใหม่ เราได้ทันเห็นความเสื่อมสลายและแตกดับไปของสิ่งที่เคยถูกมองว่าเร่อร่าล้าสมัย มองเห็นวิทยาการสมัยใหม่ที่รุกรานเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง หากทว่าผมมิใช่คนที่หลงอยู่กับอดีตจนโงหัวไม่ขึ้น แต่ผมเชื่อว่าสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดมีคุณค่าหรือสิ่งใดไร้สาระ นี้อาจเป็นสิ่งดีๆที่เราได้รับจากการเป็นคน 2 วัฒนธรรม ความจริงในข้อนี้ทำให้ผมเริ่มตื่นตัว มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกัน การนำเอาสิ่งดีงามจากอดีตมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย

หากทว่าทางที่เราเสาะแสวงหาที่แท้แล้วอยู่ที่ไหนกัน? ผมสำเหนียกถึงคำถามนี้ ผมเดินทางไปถึงอินเดีย ผมไปดูงานที่ภูฐาน ผมไปร่วมเดินธรรมยาตราที่เขมร  สุดท้าย ทางช้างเผือกที่เราแสวงหาไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล หากทว่าอยู่ในตัวของเรา ในแผ่นดินของเรา ในก้าวย่าง ในเส้นทางของเราเอง

ขบวนเรือแห่แหนมาถึงหน้าเวทีแล้ว เด็กๆร้องเพลงเรือแล้วก็ทำท่าพาย หัวเรือใหญ่เชิดขึ้น สมมุติพื้นที่ลานวัดกลายเป็นลำคลองใหญ่ เรือของชาวกลันตันและทรัพย์สมบัติทั้งหลายได้เดินทางมาถึง ความยิ่งใหญ่อลังการของการแสดงสะกดคนดูให้นั่งนิ่งอยู่กับที่ ยิ่งได้เห็นลูกหลานของตนมีส่วนร่วมเป็นผู้แสดงด้วยแล้วยิ่งปลาบปลื้มจนน้ำตาแทบไหล


๗ เข้าสู่องก์ที่ ๕ ชื่อตอน : วันแห่งศรัทธา พอจบบรรยาย ขบวนเรือของชาวเมืองกลันตันก็มาถึงเวทีพอดี ผมเห็นส่วนของหัวเรืออยู่กลางเวทีพอดี

ปั้นหยาก้าวออกมายืนขอบเวที เขาประกาศ “พวกเราได้พักผ่อนที่คุ้งน้ำนี่สองสามวันแล้ว พอยังเรี่ยวยังแรง ได้เพิ่มเสบียงอาหาร กะต้องเดินทางกันต่อไป เดี๋ยวอีไม่ทันบรรจุบรมสารีริกธาตุ”

ชาวดีเห็นด้วย “นั่นแหล้ เห็นตัวลุกตั้งแต่ไม่รุ่งหนุ๊”

“เป็นหัวหน้าทีมต้องตื่นก่อนเพื่อนแหล้หา ว่าแต่พวกสูละแม่ครัวคดหอแล้วไม”

“คดแล้ว”

“เอาถ้าพร้อมแล้วลงเรือเดินทาง”

“ไปกะไป”

แล้วทั้งสองคนก็ทำท่าลงเรือ...

อีกฟากหนึ่งของลานวัด ขบวนช้างม้าที่กลับมาจากเมืองตามพรลิงค์ เริ่มขบวนกลองยาวแห่ตรงมายังเวที เสียงกลองยาวอึงมี่ขึ้นผมสังเกตเห็นตอนเพลงเรือร้อง “คดห่อใส่พาย” ขบวนนี้เข้ามาทางด้านขวาของเวที แล้วเดินขึ้นไปบนเวที ขบวนเรือเมืองกลันตันยังหยุดอยู่ที่เดิม ปั้นหยา ชาวดี ขึ้นจากเรือไปบนเวที ขบวนใหม่ที่เพิ่งมาร้องถาม “พวกท่านจะยกขบวน ตีฆ้องร้องป่าว แห่แหน อีไปไหนกัน”

ปั้นหยาหันไปตอบ “พวกเราจะไปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาธาตุเจดีย์เมืองตามพรลิงค์ แล้วพวกท่านละยกขบวนมาแต่ไหนกัน”

“พวกเรากลับมาจากเมืองตามพรลิงค์ ไปร่วมพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและฉลองพระมหาธาตุเจดีย์ของเมืองตามพรลิงค์” คนเดินนำหน้าตอบ

“อ้าว พวกท่านกลับมาจากเมืองตามพรลิงค์รึ”

“ใช่ พวกเรากลับมาจากเมืองต

แสดงความคิดเห็น

« 1689
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ