เรื่องสั้น
กังหันลม
กังหันลม โดย ประมวล มณีโรจน์
๑.
เช้าวันอาทิตย์แดดเช้าไม่ผ่องใส ฝนหลงฤดูที่ซัดผ่านหมู่บ้านกลางหุบเขาเมื่อค่อนรุ่ง กลับโปรยปรายลงมาอีกเมื่อฝูงนกเริ่มตื่นนอน ใบไม้ใบหญ้าชุ่มเปียก บางหลุมดินเริ่มมีน้ำขัง ชีวิตของสถานที่ราชการดูเงียบเหงาเศร้าซึม แต่วิถีของผู้คนยังดำเนินอย่างเข้มแข็งเหมือนทุกวัน
เพิงขายขนมครกตรงสามแยกหน้าสถานีอนามัยส่งควันไฟขึ้นจับกลุ่มอ้อยอิ่งในบรรยากาศชื้นเย็น มันเป็นเช้าที่ข้าพเจ้าเพิ่งรู้สึกถึงความเงียบสงบ และเหมือนได้สัมผัสกับความสดชื่นอย่างเต็มทรวงอกเป็นครั้งแรก ขณะที่ทอดน่องผ่านม่านฝนปรอยไปยังเพิงขนมครกด้วยความคิดเรื่อยเปื่อย ข้าพเจ้าเคยคิด ได้ขนมครกร้อนๆสักเจ็ดแปดคู่มานั่งกินกับลูกๆ แม้จะเป็นมื้อเช้าง่ายๆราคาถูก แต่ชีวิตก็ไม่น่าจะต้องการอะไรมากมายนัก
ทางดินแดงหน้าที่ว่าการอำเภอเฉอะแฉะไปด้วยรอยเท้าวัวฝูงและล้อรถยนต์ แถบรุ้งกินน้ำลากสีจางๆทาบผ่านเส้นตัดระหว่างตีนฟ้าชุ่มฝนกับทิวเขาด้านตะวันตก สายลมอ่อนแรง เสียง 'ลูกร้อง' ของกังหันลมบนยอดภูทางด้านทิศเหนือของหุบเขา จึงแผ่วโผยลงไปจนเกือบไม่ได้ยิน
เพียงชั่วครู่ที่มีโอกาสได้ปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปกับเสียงกังหันลม หูก็ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ครางกระหึ่มมาทางด้านหลัง สมองเพียงคิดจะก้าวหลีกความเฉอะแฉะขึ้นไปยืนแอบอยู่บนพื้นหญ้าข้างทาง ปิคอั้พตอนครึ่งยี่ห้อดังคันหนึ่งก็พุ่งพรวดมาถึงพร้อมน้ำโคลนที่พุ่งฉีดเต็มร่าง ข้าพเจ้าฉุนกึก แต่สีแดงเลือดนกของมันบาดความรู้สึกจนลืมโกรธ ได้แต่มองตามปิคอั้พรุ่นใหม่คันนั้นไปอย่างไม่กะพริบตา พร้อมคิดถึงความอบอุ่นมั่นคงของคนที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัย เหมือนดวงไฟที่กำลังเรียนรู้ถึงภาวะแห่งการมอดดับ ได้ถูกกระตุ้นให้ตื่นฟื้นและคืนเปลวเริงร้อนขึ้นมาอีกวาระ
ถ้าจะนิยามให้ความประทับใจที่มีต่อส่วนสัมพันธ์ขององค์ประกอบ รูปร่าง และสีสันของวัตถุเคลื่อนที่สี่ล้อเป็น 'ความงาม' ยนตรกรรมชิ้นนั้นก็งดงามเสียจนต้องกลืนน้ำลาย มันเป็นความใฝ่ฝันอยู่ในส่วนลึกนานแล้วที่จะเป็นเจ้าของวัตถุเคลื่อนที่สี่ล้อสักคัน และด้วยความใฝ่ฝันนี้เองที่ขับเคลื่อนให้ข้าพเจ้าหันไปมองหาอาชีพเสริม งานสอนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาในเมือง เป็นตัวแทนขายสินค้าจำพวกเครื่องใช้พลาสติกบางยี่ห้อ ขายบริการประกันภัยแบบต่างๆ ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ผงซักฟอก ยาสีฟัน ที่นอนสุขภาพ ยาดองเหล้าสำหรับคนชรา ฯลฯ เหล่านี้คือลู่ทางที่กำลังพิจารณาเพื่อการเริ่มต้น ท่ามกลางความเป็นไปของชีวิตสมัยใหม่ที่ต้องแบ่งซอยช่วงเวลาอย่างถี่ยิบ
ใช่สิ...ชีวิตสมัยใหม่ที่วัตถุเคลื่อนที่สี่ล้อชนิดนั้นกลายเป็นปัจจัยสำคัญไปแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาจากภายนอกหรือภายใน ดูเถิด ขนาดฝนตกทางเฉอะแฉะถึงปานนี้ มันก็ยังควบผ่านหลุมโคลนไปได้อย่างไม่อนาทรร้อนใจ แต่ด้วยความสะดวกสบาย อบอุ่น และทันสมัย โดยพลังของม้าศึกไม่น้อยกว่า ๙๐-๑๐๐ ตัว บนล้อยางทั้งสี่ซึ่งดูแข็งแกร่งมั่นคงและงดงามเป็นอย่างยิ่ง
ปิคอั้พคันนั้นเปิดไฟกะพริบบอกทิศทางเลี้ยวขวา และพาบั้นท้ายสีแดงเลือดนกของมันลับหายไปแล้วจากสามแยกหน้าสถานีอนามัย ข้าพเจ้าจึงไหวตัวและก้าวเท้าออกเดิน ม่านฝนยังคงโปรยปราย ผมเผ้าเปียกชุ่ม และเริ่มรู้สึกถึงความหนาวเย็น
ลมภูเขาพัดแรงขึ้น เสียงลูกร้องของกังหันลมบนยอดเขาเริ่มส่งเสียงหวีดโหวย ชั่วขณะจิตนั้นข้าพเจ้าฟังเป็นเสียงโหยหวนของบ่างบาดเจ็บที่กรีดลึกเข้าไปในความรู้สึก...
บนยอดภูขนาดย่อมทางด้านทิศเหนือของหุบเขา คือที่มาของเสียงหวีดโหวยที่ได้ยินกันทั่วทั้งหมู่บ้านและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว ข้าพเจ้าก็เคยรู้สึก วันใดไม่ได้ยินเสียงกรีดจาก 'ลูกร้อง' ของกังหันลม วันนั้นเหมือนหมู่บ้านกลางหุบเขาจะเงียบเหงาและเศร้าหมอง...
มองขึ้นไปจากสามแยกหน้าสถานีอนามัย ภาพของกังหันลมดอกนั้นจะปรากฏแก่สายตาก็เฉพาะแพนหาง ซึ่งคอยบังคับให้ใบกังหันโต้อยู่กับทิศทางลมตลอดเวลาเท่านั้น ขนาดของมันก็ดูจะไม่ใหญ่โตอะไรนัก แต่ลูกร้องที่ผูกติดอยู่กับปลายทั้งสองของใบกังหัน กลับส่งเสียงคลุมพื้นที่ได้กว้างไกลหลายสิบตารางกิโลเมตร ข้าพเจ้าคิดถึงขลุ่ย-ดนตรีพื้นบ้านที่ใช้หลักลมผ่านในกระบอกไม้ไผ่เช่นเดียวกับลูกร้องกังหัน เสียงของมันเบาแหบไม่แผดหูแต่ก้องกังวานไปไกลอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่ง 'น้ำพะ' เจิ่งนองเต็มท้องทุ่ง 'เสียงขลุ่ยก้องน้ำ' จะดังให้ได้ยินกันทั่วทั้งทุ่งกว้างทีเดียว
ท่ามกลางสีเขียวอมดำของยอดภูทางด้านทิศเหนือ ซึ่งรู้จักกันในนามของ 'เขาหน้าแดง' นอกจากแพนหางทรงหางไก่ตัวผู้นั้นแล้ว ก็ไม่สามารถมองเห็นส่วนประกอบอื่นใดของกังหันลมดอกนั้นได้อีก 'ก้านธง' หรือเสากังหันซึ่งมี 'เส้า' (แกนหมุน) ประกอบอยู่ใน 'บอกเวียน' (กระบอกหมุน) สำหรับหมุนปรับทิศทางให้ใบกังหันโต้ลมตามการบังคับของแพนหางนั้น กลับเป็นส่วนที่ซ่อนลึกอยู่ในพุ่มใบของไม้ใหญ่ ยิ่งเป็นใบกังหันและ 'ลูกร้อง' อันเป็นส่วนสำคัญของมันด้วยแล้วก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมันต้องหมุนติ้วตามแรงตีของลมภูเขาอยู่เกือบตลอดเวลา
เกาะเล็กๆที่โผล่ขึ้นมากลางมหาสมุทรกว้างใหญ่แห่งใดก็ตาม มันต้องเริ่มรากฐานขึ้นที่ก้นของมหาสมุทร และต้องมีขนาดทั้งหมดสัมพันธ์กับความสูง ซึ่งย่อมสูงกว่าความลึกของระดับน้ำ มันจึงจะโผล่ส่วนเล็กๆขึ้นมาให้เรามองเห็นได้ กังหันลมบนยอดเขาทางด้านทิศเหนือของหุบเขาก็เช่นกัน ข้าพเจ้ารู้ว่าขนาดของมันไม่ได้เป็นไปตามที่สายตามองเห็น แพนหางบังคับทิศทางที่อาจจะทำด้วยทางพนหรือทางสาคูนั้น ความจริงแล้วขนาดของมันก็คือทางมะพร้าวดีๆนี่เอง ลูกร้องที่กรีดโหวยอยู่ตลอดเวลานั่นก็เถอะ ส่วนของ 'ลูกโหวย' หรือ 'ลูกฮุย' ซึ่งเป็นลูกร้องตัวใหญ่และให้เสียงทุ้มต่ำคือปล้องของลำไผ่ตงขนาดลำแข้ง ส่วนทางด้าน 'ลูกหวีด' หรือ 'ลูกเหวย' ที่เป็นลูกร้องตัวเล็กและให้เสียงแหลมสูงนั้น คือปล้องของไม้ไผ่ขนาดเล็กหลายปล้องที่รวบเข้าเป็นมัดขนาดข้อมือ ยิ่งเป็นส่วนใบของมันก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะข้าพเจ้ารู้ว่า "เผกหวา' ลงทุนล้มไม้หลอขาวแก่จัดลงทั้งต้น และต้องใช้เวลาอยู่กับมันไม่ต่ำกว่าสองเดือน กว่าจะจัดการให้ไม้ขนาดเต็มโอบนั้น กลายเป็นใบกังหันกว้างสองคืบยาวสามวาได้อย่างงดงามและเกลี้ยงเกลา
ข้าพเจ้ารู้ว่าเผกหวาเป็นเจ้าของสัมปทานกังหันลมบนยอดเขาหน้าแดง ตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาอยู่กลางหุบเขา แต่เราก็ไม่ได้พบปะพูดคุยกันบ่อยนัก เขาเป็นคนพูดน้อยและชอบเก็บตัว จึงไม่ค่อยมีใครพบเห็นเขาบนทางเดินใดในหมู่บ้าน ยกเว้นในช่วงที่ขึ้นธงกังหันลมเสร็จใหม่ๆ ซึ่งเขาจะพาสังขารผอมสูงเหมือน 'ไม้เสียบผี' มาปรากฏอยู่บน 'ทางเดินลัดสนาม' หน้าโรงเรียนทุกเช้าเย็น
เขาใช้ทางเดินลัดสนามเป็นเส้นทางไปกลับระหว่างภูเขาหน้าแดงกับกระท่อมซอมซ่อในหย่อมป่าหลังโรงเรียน
จำได้ว่าเราพบกันครั้งสุดท้ายเมื่อต้นมรสุมตะวันตกปีที่แล้ว (บนทางเดินลัดสนามหน้าโรงเรียน) เขาลงมาจากภูเขาหน้าแดง ข้าพเจ้ามาเดินออกกำลังกายซึ่งเป็นกิจวัตรเกือบทุกเย็นหลังเลิกงาน เจ้าของกิจการกังหันลมอยู่ในชุดแต่งกายชุดเดิมชุดเดียวนั้น เหมือนเช่นทุกครั้งที่พบเห็น คือผ้าถุงลายตาหมากรุกที่นุ่งแบบ 'เพ็ดจ้อน' ขึ้นมาจนชายล่างสูงเหนือเช่า เปลือยท่อนบน และคอนพร้าไว้ในวงแขนยาวเก้งก้าง เขารู้ว่าข้าพเจ้าเป็นครูอยู่ในโรงเรียนนี้ และข้าพเจ้าก็รู้ว่าเขาชมชอบที่จะปราศรัยกับคนที่เอ่ยชมกังหันลมของเขา
"เสียงของลูกลมดอกนี้ฟังนุ่มดีนะ" ข้าพเจ้าเอ่ยทัก (ถิ่นใต้เรียกกังหันลมว่า 'ลูกลม' 'ลิ้นลม' หรือ 'ดอก-ลม')
เจ้าของร่างผอมสูง (เหมือนไม้เสียบผี) หยุดดยืนตรงหน้า ยกมือขึ้นลูบเคราสีเทาที่ครึ้มยาวถึงราวนมอย่างเคยชิน หน้าผากผายกว้างเกิดรอยยับย่น ดวงตาในกรอบเล็กเรียวเหมือนตาเหยี่ยวจ้องนิ่งเหมือนเป็นคำถาม
"ผมว่าลูกลมดอกนี้เสียงดังดี...น่าฟัง" ข้าพเจ้าย้ำความ
วงปากบางเฉียบในป่าเครารกครึ้มเปิดรอยยิ้มกว้าง ปล่อยพร้าลื่นหลุดจากวงแขนลงค้ำกับพื้นหญ้าปนทราย เสียงแหบนั้นตอบความเบาช้า "ปีหน้าจะทำให้ดอกใหญ่กว่านี้อีก ลูกร้องก็จะใหญ่กว่า ดอกนี้เสียงมันยังไม่ค่อยสิทธี ผมขึ้นไปนั่งฟังอยู่ใกล้ๆโคนต้นสองวันแล้ว พรุ่งนี้จะขึ้นไปเอาลงมาแต่งปากลูกฮุยเสียใหม่"
"วันก่อนเห็นขึ้นไปดูครั้งหนึ่งแล้วไม่ใช่รึ" ข้าพเจ้าถาม
"เอาลงมาแต่งสองหนแล้วแต่ยังไม่ได้แรงอก" เจ้าของสัมปทานตอบเสียงเบา ข้าพเจ้าเห็นประกายวาวผ่านแวบในแววตาและสัมผัสได้ถึงความสุขในหางเสียง
เห็นประกายตาของเจ้าของกรอบตาเรียวเล็กเมื่อเย็นวันนั้นแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกอิจฉาและอดไม่ได้ที่จะทบทวนถึงเรื่องราวของตัวเอง...ดูเหมือนความสุขของคนเราจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย-มากมายรูปแบบ-และหลากหลายที่ทาง แต่ทำไมวิถีของข้าพเจ้าจึงเต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสนไม่จบสิ้น เพื่อนร่วมงานทั้งนั้นก็ล้วนแล้วแต่ต้องแบกความทุกข์ร้อนเอาไว้จนเกินบ่า คนนี้ทุกข์เรื่องบ้าน คนนั้นทุกข์เรื่องรถ คนโน้นทุกข์เรื่องหาที่เรียนดีๆให้ลูกๆหลานๆบางคนทุกข์เรื่องรูปร่างหน้าตา บางคนเรื่องครอบครัว เรื่องหน้าที่การงาน ตำแหน่งแห่งชั้น ชื่อเสียงเกียรติยศ ฯลฯ หลายทุกข์-หลายโศก-และหลายเศร้าหมอง
สำหรับข้าพเจ้า เงินเดือนก้อนเท่ากำหมัดกับหนี้สินก้อนเท่าภูเขา มันทำให้ความต้องการพื้นฐานกลายเป็นเรื่องยากกว่าการกลิ้งภูเขาขึ้นครก ข้าพเจ้าอยากมีรถกลางใช้สักคัน เพื่อความมั่นคงและความอบอุ่น บนเส้นทางที่เราจะต้องสัญจรไปมาด้วยความจำเป็น นานวันเข้า 'ความอยาก' ที่ถูกควบแน่นจนตกค้างเป็นผลึก ได้ให้ข้อสรุปแก่ข้าพเจ้าว่า ความสุขและ/หรือความต้องการของคนเรา มันช่างไม่ต่างกันอย่างไรกับภาวะ 'ใกล้ตาไกลตีน' ที่ถูกสะท้อนไว้อย่างเจ็บปวดในบทเพลงอำลาป่าของคาราวาน เหมือนใกล้แต่ไกล เหมือนง่ายแต่ยาก เหมือนจะมีอยู่อย่างมากมายในทุกแห่งหน แต่ก็ไม่ใช่ เพราะในความเป็นจริงแล้วมันสัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่กับความลึกล้ำไพศาลของพื้นที่หัวใจ
ปราชญ์แห่งความรักเคยกล่าวว่า 'ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ' บนทางเดินลัดสนาม เมื่อต้นมรสุมปีก่อน หน้าต่างหัวใจของเผกหวาได้เปิดบานแห่งความสุขออกมาให้ประจักษ์ แต่ในวันที่ข้าพเจ้าไปพบเขาที่กระท่อมซอมซ่อเมื่อต้นมรสุมปีนี้ หลังคำถามที่ข้าพเจ้าตั้งใจ บานหัวใจของชายผู้มีกรอบตาเล็กเรียวเหมือนตาเหยี่ยว กลับฉายแววที่แปลกต่างออกไป ดูระคนปนเปกันระหว่างความขุ่นมัว-เจ็บช้ำ-เกลียดชัง-และเศร้าหมอง ซึ่งประทับเป็นเครื่องหมายคำถามรบกวนความรู้สึกของข้าพเจ้าอยู่แม้ในวาระนี้...
๒.
ปีนี้ฤดูฝนมาล่าแต่ตกน้อยกว่าปีก่อน เผกหวาเริ่มงานของเขาตั้งแต่กลางเดือนอ้าย-หลังจากฤดูฝนห่างหายไปเพียงสองสามวัน นักเรียนคนหนึ่งมาส่งข่าวว่าเผกหวาล้มหลอขาวขนาดเต็มโอบลงต้นหนึ่ง หลังเลิกงานอีกสองสามวันต่อมา ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสลอดรั้วลวดหนามหลังโรงเรียนไปเยี่ยมกระท่อมซอมซ่อของเขาเป็นครั้งแรก
ไม้ขนาดเต็มโอบที่ว่าถูกแปรสภาพเป็นใบกังหันเรียบร้อยแล้ว มันถูกตรึงแน่นด้วยเส้นหวายกับเสาหลักใต้ร่มรำไรของจำปาหลังกระท่อม เจ้าของร่างผอมสูงกำลังง่วนอยู่กับการกวดสายเชือก ที่ดึงโยงระหว่างต้นไม้กับใบกังหันเพื่อดัดให้มันบิดตัวเข้ารูป เปลือกไม้ เศษไม้ และฝอยไม้กองเกลื่อนรอบตัว ข้าพเจ้าไปยืนมองอยู่หลายอึดใจ กว่าเขาจะพักงานเงยหน้าขึ้นเช็ดเหงื่อ
"กว้างยาวเท่าไหร่น่ะ" ข้าพเจ้าถาม
"ดอกนี้โตกว่าทุกดอกที่ผมเคยทำ..." เขาตอบเสียงเบา "กว้างเกือบศอก ยาวสามวา"
"ไม้อะไร"
"ไม้หลอ..." เขาว่าพร้อมกับจัดการส่วนโคนเต็มโอบให้ข้าพเจ้านั่ง "ปีนี้ได้หลอขาวตามขนาด"
"หลอขาว...แสดงว่ามีหลออื่นอีกสิ"
เขาถอนหายใจเบาๆ แต่ดวงตาในกรอบเล็กเรียวเหมือนตาเหยี่ยว กลับสาดวาวด้วยประกายเจิดจ้า...มันเป็นประกายซึ่งข้าพเจ้าได้สัมผัสทุกครั้งที่มีโอกาสได้สนทนากับเขา
"โดยทั่วๆไปแล้วไม้ในป่าจะมีอยู่สามชาติเป็นอย่างน้อย ไม้หลอนี่ก็มีหลอขาว-หลอดำ-และหลอใบใหญ่ อย่างไม้ตีนเป็ดก็จะมีตีนเป็ดขาว-ตีนเป็ดใหญ่-และตีนเป็ดป่า" เขาว่า
ข้าพเจ้าพยักหน้าถึงบางอ้อก่อนจะมีคำถามต่อไป และด้วยคำถามจากคนที่ไม่เคยรู้อะไรเลยเกี่ยวกับกิจการกังหันลม ทำให้เผกหวาต้องถอนหายใจอีกหลายครั้ง แต่แววตาของเขาสาดวาวไปด้วยประกายแห่งความสุข... เผกหวาอรรถาธิบายว่า นอกจากไม้หลอแล้วไม้อื่นๆที่นิยมใช้ทำกังหันลม ก็มีไม้ตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ พวมพร้าวหรือกฤษณา จงเล็ดหรือปอจง หรือไม้อะไรก็ได้ที่เป็น 'ไม้เริ่มระบบป่า' เขาหมายถึงไม้ขนาดกลางที่สามารถเจริญเติบโตได้ทุกสภาพดิน หนีการยึดเหนี่ยวของเถาวัลย์ได้อย่างรวดเร็ว แผ่ร่มเงาออกควบคุมวัชพืช และสร้างความชุ่มชื้นให้หน้าดิน ทำให้เมล็ดพันธุ์และต้นกล้าของไม้ขนาดใหญ่ที่เติบโตช้า มีโอกาสได้เติบโตภายใต้ร่มเงาของมัน
"...ไม้เหล่านี้เป็นไม้เนื้ออ่อน เบา เหนียว ไม่มีเสี้ยน จะเหลาไปทางไหนก็ได้ไม่ทวนเกล็ด ดัดง่าย จะดัดอย่างไรก็ได้โดยเฉพาะเวลาบิดทำรูป ยกเว้นไม้ตีนเป็ดจะทำยากสักหน่อย เพราะดัดแล้วมันคืนรูป ต้องค่อยๆดัดและต้องตากแดดอ่อนๆ แดดแรงเกินไปมันอาจจะแตก แดดน้อยเกินไปมันอาจจะขึ้นรา ถ้าจะให้ทนก็ต้องไม้พวมพร้าว ถ้าจะให้ทำง่ายก็ต้องไม้จงเล็ด แต่ปีนี้ผมได้หลอขาว หลอขาวแก่จัดใหญ่เท่านี้ผมหามานานแล้ว..."
"ทำไมล่ะ"
"มันเป็นเคล็ด ลูกลมที่ธงบนควนนิยมใช้หลอขาว ธงในนานิยมใช้แคนา บางคนเรียกแคนาว่าแคแตรเพราะดอกของมันมีรูปร่างคล้ายแตร...ครูเป็นเด็กทุ่ง ครูเคยรู้เรื่องลูกลมที่ทำจากไม้แคนาบ้างมั้ย" เขาทั้งตอบและถาม
ข้าพเจ้าสั่นหน้า
"บ่าวๆสมัยผมเด็กๆจะใช้แคนาทำลูกลมไว้จีบสาว..." เขาว่าขณะถอยไปพิงหลักที่ใช้ตรึงใบกังหันในลักษณะกึ่งยืนกึ่งนั่ง "บ่าวสาวสมัยนั้นไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกันหรอก นอกจากวันที่มีงานสำคัญในรอบปี ฤดูเก็บข้าวสาวๆในหมู่บ้านต่างก็เต็มใจไปช่วยแรงเก็บข้าว บ่าวๆก็จะทำลูกลมกันคนละดอกไปธงไว้ตามปลายหว้าปลายแพหรือหัวครกริมนา แต่จะให้เข้าสูตรก็ต้องปลายรัก ช่วงที่สาวๆกำลังเก็บข้าว ก็จะได้ยินเสียงลูกร้องของลูกลมเป็นสิบๆดอกดังประสานเสียงกันลั่นทุ่ง เจ้าของลูกลมหวังเพียงว่า อาจมีสาวใดถามถึงลูกลมของเขาบ้าง 'ลูกลมบนปลายรักนั่นของใครนะดังดีจัง' เพียงเท่านั้นบ่าวเจ้าของลูกลมก็จะกลับไปนอนยิ้มกับจากมุงหลังคาขนำ และฝันดีไปตลอดคืน"
"รู้เรื่องดีจัง สมัยบ่าวๆคงเคยใช้วิธีนี้จีบสาวละซีท่า" ข้าพเจ้าพยายามสร้างบรรยากาศในการสนทนา
เขาฉาบสายตาผ่านแต่ไม่มีคำตอบ
"ที่ว่าเป็นเคล็ดน่ะมันหมายความว่ายังไง" ข้าพเจ้าเปลี่ยนคำถาม
เขายังไม่ตอบแต่หยิบปล้องไม้ไผ่ขนาดใหญ่ยื่นมาจนเกือบทิ่มหน้าข้าพเจ้า "ไผ่ตง..." เขาบอก "ใช้ทำลูกร้องติดกับปลายใบลูกลม เวลาหมุนลมจะเข้ารูปากเล็กๆของมันเกิดเสียงหวีดน่าฟัง อันนี้จะเป็นเสียงทุ้มเรียกว่าลูกโหวยหรือลูกฮุย ด้านหนึ่งปาดเป็นปากเป็ด ใช้ขี้อุง (ชันโรง) พอกเป็นรูปาก แต่อันนี้ใหญ่เกินไปผมเลยใช้วิธีปาดตรงข้อปล้องแทนการพอกด้วยขี้อุง..." ยังไม่ทันจบความดีเขาก็หันไปหยิบไม้ไผ่ขนาดหัวแม่มือยื่นตามมาอีกอัน "-ส่วนอันนี้ไม้ไผ่กล้อง บางคนเรียกไม้ไผ่ปล้อง ชนิดเดียวกันกับที่พวกเงาะป่าใช้ทำกระบอกตุดยิงสัตว์ ครูเคยเห็นมั้ย..."
ข้าพเจ้าสั่นหน้าอีกครั้ง
"สี่ห้าปล้องมัดรวมกันเข้าแล้วติดที่ปลายอีกด้านของใบลูกลม อันนี้จะให้เสียงแหลมเรียกว่าลูกเหวยหรือลูกหวีด"
"ด้านหนึ่งติดลูกร้องเสียงทุ้ม อีกด้านติดเสียงแหลม" ข้าพเจ้าทวนความ
"ก็แล้วแต่...บางคนอาจติดลูกฮุยทั้งสองข้าง บางคนอาจติดลูกหวีดทั้งสองข้าง แต่ผมชอบเสียงทุ้มข้างแหลมข้าง เวลาลมจัดๆลูกฮุยจะให้เสียงทุ้มต่ำประสานกับเสียงกรีดโหยหวนของลูกหวีด"
"อันโน้นล่ะ" ข้าพเจ้าบุ้ยปากไปที่ไม้ไผ่อีกท่อนที่วางอยู่ใกล้ๆกัน
"อันนี้เป็นไผ่สีสุกใช้ทำแกนหมุนติดตรงสะดือของใบลูกลม เนื้อมันหนาทนแรงลมได้ดี ไผ่อื่นจะบางกว่า โดนเข้าไม่กี่ลมก็แตก ขนาดไผ่สีสุกแล้วถูกเข้าบางลมยังแตกกระจาย แกนหมุนที่สะดือนี่ต้องพิถีพิถันมาก เพราะมันต้านแรงลมโดยตรง บางทีแรงเสียดสีทำให้ลุกเป็นไฟ
"ถึงงั้นเชียว"
เขาหัวเราะในลำคอ "บางทีไฟลุกท่วมยอดไม้เลยครู"
"ตกลงผมยังไม่รู้เลยว่าที่เลือกใช้ไม้หลอขาวน่ะมันเป็นเคล็ดยังไง"
"ครูเคยได้ยินคำว่าลูกลมพรหมโหดมั้ย"
ข้าพเจ้าไม่อยากสั่นหน้าจึงต้องตอบเบาๆว่า "ไม่"
"เป็นครูยังไง ไม่รู้จักลูกลมพรหมโหด"
ข้าพเจ้าฉุนกึก "เป็นครูมันเกี่ยวอะไรกับลูกลมพรหมโหดพรหมเหวอะไรนั่นด้วยล่ะ"
"ก็ในเรื่องพระลอ พระเพื่อน กับพระแพงหลงรักพระลอ จึงให้สองสาวใช้คือนางรื่นกับนายโรยไปหาปู่เจ้าสมิงพราย ปู่เจ้าใช้คาถาเสกลูกลมธงขึ้นบนยอดไม้ ลูกลมอาคมของปู่เจ้านั่นแหละที่เรียกและนำทางพระลอมาพบรักกับสองศรีพี่น้อง และต้องมาตายด้วยกันทั้งสามคน ครูยังไม่ได้อ่านหรือแกล้งลืม"
ข้าพเจ้านั่งอ้าปากอยู่สองสามอึดใจ ยอมรับกับตัวเองว่าประมาทคู่ต่อสู้เกินไป (ปกติข้าพเจ้าเป็นคนอ่านน้อยอยู่แล้ว อย่าว่าแต่วรรณคดีคลาสสิคอย่างพระลอนั่นเลย แม้แต่เรื่องที่อ่านกันแพร่หลายอย่างพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ก็ได้อ่านเฉพาะตอนที่ต้องใช้สอนนักเรียนเท่านั้น) แต่แกล้งพยักหน้าทำอมภูมิและถามกลับไปว่า "รู้ได้ยังไง"
"ผมอ่าน..." เขาตอบเสียงเบาตามบุคลิก "ครูอาจไม่รู้ว่าสมัยบ่าวๆผมเป็นนักสวดหนังสือตัวยง"
เขาหมายถึงการอ่านออกเสียงแบบทำนองเสนาะของถิ่นใต้ มีลีลาคล้ายกลอนหนังตะลุง
ข้าพเจ้าอ้าปากกว้างกว่าเดิมและนิ่งเงียบไปราวสี่ห้าอึดใจ
"เล่ากันว่าบ่าวไหนหลงรักสาวไหนแล้วไม่มีโอกาสสมหวัง ก็จะไปหาหมอลูกลม..." เขาว่าต่อ "พ่อหมอผู้แก่กล้าอาคมก็จะทำลูกลมเสกคาถาที่ปากลูกร้อง เอาไปธงไว้บนยอดเขา แต่ต้องเป็นยอดเขาที่ทำพิธีขอแล้วและเจ้าที่เจ้าทางไม่ขัดขวาง ใกล้ไกลพอประมาณกะว่าพอให้สาวได้แว่วเสียง คนอื่นที่อาจได้ยินด้วยก็จะได้ยินเสียงลูกร้องของลูกลมเหมือนที่เราได้ยิน แต่สาวที่ถูกเจาะจงจะกระสับกระส่ายนอนไม่หลับ ได้ยินเสียงลูกร้องลงอาคมเรียกวอนอ้อนรักอยู่ตลอดเวลา เสียงเรียกนั้นจะดัง 'สาวเหอ...สาวเหอ...สาวเหอ...' ผ่านคืนไปจนสว่าง ยิ่งดึกดื่นยิ่งหนาวเย็นยิ่งโหยหวน หนุ่มไปยืนรออยู่ใต้ต้นไม้ที่ธงลูกลม ไม่เกินสามคืนสาวก็จะหนีจากบ้านมาถึงโคนลูกลมตามเสียงเรียก แล้วรักก็จะสมหวัง..." เขายิ้มเต็มวงหน้าขณะจบประโยคสุดท้าย
"รู้ได้ยังไง" เหมือนว่าข้าพเจ้าจะถามเป็นอยู่คำถามเดียว
"ก็...ทวดเล่าให้ปู่ฟัง ปูเล่าให้พ่อฟัง และพ่อเล่าให้ผมฟัง"
"เดี๋ยวนี้ยังพอหาได้อีกมั้ย"
เขาสบตาข้าพเจ้าแทนคำถาม
"ผมจะเอาไปธงที่ใกล้บ้านนายก ได้ข่าวว่าลูกสาวคนสุดท้องทั้งสวยทั้งรวย"
เขาหัวเราะและจำขี้ปากของนักปรัชญาขี้เท่อมาผลิตซ้ำว่า "อารมณ์ขันเป็นความสุขที่ไม่ต้องซื้อหา"
"ตกลงยังหาได้อีกมั้ย...ไอ้ลูกลมพรหมโหดพรหมเหวที่ว่าน่ะ"
"ที่ไหน...ผมก็ฟังเขามา..." เขาหัวเราะอีก "-แต่ตอนเด็กๆผมเห็นคนในหุบเขานี่ธงลูกลมแก้บนกันเป็นประจำ บนให้มีโชค ให้หายป่วยหายไข้ มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เรื่องของหาย เรื่องฝนเรื่องฟ้า ก็บนทวดยาโฮ้ง ทวดกรุงจีน ทวดแซ่แกน..." เขาหมายถึงภูเขาสามลูกทางด้านทิศเหนือซึ่งเป็นที่มาของตำนานแห่งหุบเขา "บนแล้วก็ต้องแก้บน เดือนสามเดือนสี่ก็จะทำลูกลมไปธงถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันทุกปี" ข้าพเจ้าลุกขึ้นบิดสะเอวเป็นเชิงบอกเขาว่าหมดเวลาสนทนา แต่ก่อนกลับข้าพเจ้ายังมีคำถามและเป็นคำถามที่ตั้งใจ...บางทีเขาก็ควรจะรู้จักตัวเองบ้างว่าคนอย่างเขานี่แหละคือต้นแบบของคนที่ 'รู้มาก-ยากนาน'
"เอาละผมจะถามคำถามสุดท้าย..." ข้าพเจ้ากลืนน้ำลายก่อนเริ่มคำถาม เผกหวา ประสานสายตาและนิ่งฟังอย่างตั้งใจ (เขาเป็นคู่สนทนาที่น่าชื่นชม คือจะพูดเสียงเบาสั้นกระชับ และตั้งใจฟังเวลาคนอื่นพูด) "วันนี้ผมได้รู้เรื่องราวของลูกลมมากมาย เป็นเรื่องที่ผมไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แต่ถึงยังไงมันก็ไม่มีประโยชน์หรือมีราคาค่างวดอะไรอีกแล้วในปัจจุบัน มันกลายเป็นของเล่นที่ต้องลงทุนแรงกันข้ามเดือนข้ามปี ต้องใช้เวลาประดิดประดอย และต้องแบกหามมันขึ้นไปผูกไว้กับยอดไม้บนภูเขาด้วยความเหนื่อยยาก ผมอยากถามจริงๆว่าทำมันไปทำไมทุกปี และมันเกิดประโยชน์โภชน์ผลอะไรกับตัวเอง-กับคนอื่น-และกับสังคมบ้าง"
หลังคำถามยืดยาว ข้าพเจ้าเห็นเผกหวานั่งก้มหน้านิ่งเงียบไปเนิ่นนาน ก่อนจะได้ยินเสียงถอนหายใจและค่อยๆเงยหน้าขึ้นสบตาข้าพเจ้า วงหน้าสามเหลี่ยมที่มีหน้าผากผายกว้างนั้นดูแข็งกระด้างและทระนง แต่แววตาในกรอบตาเรียวเล็กกลับแปลกต่างออกไป วาบแรกที่เขาเงยหน้าขึ้นคล้ายจะคละระคนกันระหว่างความผิดหวังเจ็บปวดและเกลียดชัง วาบหลังก่อนที่เขาจะหลบตาลงมันกลับลึกล้ำว้าเหว่อยู่ในความหม่นเศร้าและโดดเดี่ยว
เขาไม่ตอบคำแต่ผละจากวงสนทนาและเร้นหายไปในแนวป่าหลังกระท่อมอย่างเงียบๆ...
๓.
'ฝนแช่ซัง' ซึ่งโปรยปรายลงสู่หุบเขาตั้งแต่ฝูงนกเพิ่งตื่นนอน เริ่มขาดเม็ดไปแล้วเมื่อข้าพเจ้าไปถึงเพิงขายขนมครก ควันไฟจับกลุ่มโขมงจนมองไม่เห็นแม่ค้า เด็กผู้หญิงสองคนซึ่งยืนรออยู่ก่อนแล้วเขย่าเพิงร้องเร่งไม่หยุดปาก
"เร็วหน่อยๆ...ครบหรือยัง...กระทงนี้ของเรา...เรามาก่อน...ให้เราก่อนเรารีบ...เราก็รีบ...เรารีบกว่า..."
"รีบๆกันทั้งนั้นแหละ แม่ค้ายิ่งรีบกว่าใคร...รีบจะเอากะตังค์..." แม่ค้าว่ากลั้วเสียงหัวเราะ สองมือของนางร่ายมนตร์เป็นจักรผัน ทั้งพัดไฟ ทำความสะอาดหลุมขนม หยอดแป้ง หยอดน้ำกะทิ แคะขนมที่สุกแล้ว ประกบคู่และจัดใส่กระทงใบตอง ขณะที่ปากก็บรรเลงแข่งกับลูกค้าตัวน้อยๆแบบไม่หายใจหายคอ "อีกแป๊บเดียวก็ได้แล้ว...ฝนเจ้ากรรมนี่ก็ดันลงมาผิดเวล่ำเวลา...ไม้ไฟไม้ฟืนเปียกหมด...สองฝานี่สุกพอดี...อีกสองคู่ก็ครบแล้ว...เอ้าฝานี้เกรียมไปหน่อย...ไฟก็ติดๆดับๆ...ร้อนไม่เสมอ...ขนมสุกไม่พร้อมกันอย่างนี้แคะยาก...ฝาโน้นยังไม่สุก...ฝานี้เกรียมแล้ว...ที่เกรียมๆอย่างนี้กรอบน่ากิน...กรอบก็อร่อย...นิ่มก็อร่อย..."
"แต่ที่ดิบๆไม่อร่อย...พุงขึ้น" ใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้นเบาๆ แม่ค้าเงยหน้ายิ้มหลังม่านควันสีเทาหม่น "ครูจะเอาเท่าไหร่คะ"
"สองกระทง...ขอที่เกรียมๆหน่อย...ดิบๆไม่เอา" ข้าพเจ้าบอก
"ไม่ดิบหรอก...ไอ้พวกนี้ก็ทะลึ่งไม่เข้าเรื่อง...รอเดี๋ยวนะคะ"
ขณะที่ยืนรอขนมครกอยู่นั้น ข้าพเจ้าเห็นมือของแม่ค้าเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับการงานอย่างได้จังหวะจะโคน มันทำให้ความยุ่งเหยิงมากมายที่สุมอยู่ข้างหน้าของนาง กลายเป็นสิ่งละอันพันละน้อย ที่เรียงลำดับลงตัวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ช่วงเวลาที่ต้องยืนรอทำให้ข้าพเจ้าเริ่มสังเกตรายละเอียดด้วยความตั้งใจ
รางขนมครกขนาดกลางซึ่งทำจากเหล็กหล่อแบบโบราณนั้น มีหลุมขนมเรียงอยู่เต็มพื้นที่วงกลม ข้าพเจ้าลองนับแล้วนับอีกถึงสามครั้งจึงมั่นใจว่ามันมีอยู่ทั้งหมด ๑๔ หลุม เรียงเป็นวงกลมตามแนวขอบราง ๑๐ หลุม อยู่ตรงกลางวงอีก ๔ หลุม ถ้าดูในแนวตั้งหรือแนวนอน จำนวนหลุมในแถวสี่แถวจากซ้ายไปขวา หรือสี่แถวจากบนลงล่าง ก็จะเรียงด้วยจำนวน ๓-๔-๔-๓ เหมือนกัน แต่ถ้าจะดูให้เป็นสองซีก ซีกบนสองแถวจะมี ๗ หลุม (๓ กับ ๔) และซีกล่างสองแถวอีก ๗ หลุม (๔ กับ ๓) ประการสำคัญคือฝาปิดหลุมซึ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนที่อยู่ตลอดเวลานั้น มันมีเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนหลุมเท่านั้น
แม่ค้าใช้เปลือกมะพร้าวที่ตัดแต่งเป็นชิ้นเล็กๆขนาดหัวแม่มือ แตะน้ำมันมะพร้าวซึ่งผสมด้วยไข่แดงต้มสุก แล้วเช็ดหลุมขนมในรางซีกล่างอย่างรวดเร็ว ๑-๒-๓-๔ และ ๑-๒-๓ ใช้จวักอะลูมิเนียมคนแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำในหม้อเคลือบสองสามรอบ แล้วตักหยอดลงในหลุม หลุมละครึ่ง ก่อนจะตักน้ำกะทิจากหม้ออีกใบหยอดตามลงไป เมื่อหยิบฝาครอบจากรางซีกบนลงมาปิดนั่นหมายถึงการเปิดฝาหลุมทั้งแปด ของรางซีกบน ซึ่งขนมในหลุมใต้ฝาครอบจะสุกพอดี นางใช้ซ้อนสังกะสีแคะขนมจากหลุมลงวางหงายเรียงแถวไว้ในถาด...หยิบเปลือกมะพร้าวที่วางอยู่ในถ้วยน้ำมันเช็ดหลุมในรางซีกบน ๑-๒-๓ และ ๑-๒-๓-๔ ตักแป้งหยอดลงไป ตักน้ำกะทิหยอดตาม เปิดขวาครอบจากรางซีกล่างขึ้นไปปิด ขนมในรางซีกล่างทั้งเจ็ดหลุมจะสุกพอดีอีกเช่นกัน หยิบช้อนแคะและประกบลงไปบนซีกที่วางหงายรออยู่ในถาดก่อนแล้ว ครบกระบวนนางก็จะได้ขนมครกสำหรับลูกค้าตัวน้อยของนาง ๗ คู่ ๑ กระทง
ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าฝาครอบหลุมจะมีครบตามจำนวนของหลุมบนรางขนมครกหรือไม่ แต่การเคลื่อนไหวอย่างมีทักษะของมือแม่ค้าบอกข้าพเจ้าว่า ฝาครอบหลุมเพียงครึ่งเดียวของจำนวนหลุมคือความพอดี มันเป็นความพอดีที่ดูเหมือนจะขาดหายไป (จากสายตาที่มองอย่างผิวเผิน) ทั้งที่ในความจริงของการทำขนมครกแล้ว หากฝาครอบหลุมมีครบตามจำนวนหลุม อีกครึ่งหนึ่งก็จะกลายเป็นส่วนเหลือที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้เลย
ก้อนหินหรือ 'ก้อนเส้า' ที่วางอยู่บน 'แม่ไฟ' เบื้องหน้าของนางก็เช่นกัน ความจริงแล้วมันคือเตาไฟง่ายๆที่เคยใช้อยู่ตามครัวไฟของชาวบ้าน ในยุคที่ไม้ฟืนยังไม่มีมูลค่า ก้อนหินขนาดเดียวกันวางแยกมุมเป็นสามเส้า ระหว่างหินสามก้อนเป็นทั้งช่องใส่ฟืนและช่องระบายลม ไม้ฟืนสามสี่ท่อนจะเข้าไปเกยหัวกันกลางเตา ที่ว่างระหว่างดุ้นฟืนทำให้ไฟติดสม่ำเสมอ ช่องระบายลมช่วยไม่ให้ไฟแรงเกินไป รางขนมเหล็กหล่อเก็บความร้อนไว้ได้นาน ขนมครกในหลุมเล็กๆที่ได้ไฟอ่อนๆสม่ำเสมอ จึงกรอบนอกนุ่มในและหอมกลิ่นควันไฟ
นอกจากมันจะเป็นเตาไฟสำหรับขนมครกที่เหมาะเจาะลงตัวที่สุดแล้ว รางเหล็กหล่อที่วางอย่างง่ายๆแต่มั่นคงอยู่บนก้อนหินสามก้อนนั้น ยังบอกเล่าถึงความลงตัวพอดีในอีกมุมหนึ่งด้วย...ท่ามกลางความต้องการความมั่นคงและความสะดวกจากรถยนต์สักคัน ข้าพเจ้าเพิ่งได้คิด ความมั่นคงไม่จำเป็นจะต้องวางอยู่บนฐานสี่ตำแหน่งหรือสี่ล้อของรถยนต์เสมอไป...
คิดถึงวงหน้าสามเหลี่ยมซึ่งมีหน้าผากผายกว้างของเจ้าของกังหันลมบนยอดเขาหน้าแดง และคิดถึงสีแดงเลือดนกที่บาดความรู้สึกของยนตรกรรมคันที่เพิ่งผ่านไป เช้าวันนี้การงานอันลงตัวและเรียบง่ายของแม่ค้าขนมครก ช่วยชี้ลู่ทางให้คำถามที่เคยขึ้งเคียดและหนักอึ้งดั่งหินผาได้คลี่คลายไปพบคำตอบของมัน...เป็นคำตอบที่เรียบง่ายและบางเบาดั่งลักษณาการของขนนกปลิวลม
แดดอ่อนอุ่นสาดผ่านยอดไม้ลงอาบไล้ยอดหญ้าชุ่มฝน ข้าพเจ้าหิ้วขนมครกสองกระทงย่ำกลับไปบนทางดินแดงเขรอะโคลน ลมภูเขาล่องหุบผ่านใบไม้หมาดน้ำ เสียงลูกร้องของกังหันลมบนยอดเขาหน้าแดงอ่อนแรงลงครวญคราง เหมือนเสียงโอมอ่านคาถาศักดิ์สิทธิ์จากวงปากกลางดงหนวดของปู่เจ้าสมิงพรายกำลังเริ่มขึ้น...จากสามแยกหน้าสถานีอนามัย ผู้คนในหุบเขาอาจแหงนขึ้นดูทิศทางลมได้จากแพนหางขนาดทางมะพร้าว อาจฟังความแรงของลมได้จากเสียงกรีดของลูกร้อง และการคาดคำนวณก็ย่อมนำไปสู่เรื่องราวของฝนฟ้า ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของพวกเขา ไม่มีอะไรเปล่าดายในวิถีอันเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยศิลปะอันสูงส่งของชีวิตหมู่บ้าน เพียงว่าความหยาบกระด้างของวิถีบริโภคจะทำความเข้าใจได้หรือไม่เท่านั้น
ข้าพเจ้าสูดเอาความสดชื่นกลางลำแดดอ่อนอุ่นจนเต็มปอด ชั่วขณะจิตนั้นเหมือนร่างผอมสูงดั่งไม้เสียบผีของเผกหวาจะปลิวลมผ่านทางไปอย่างรวดเร็ว...