Party หนังสือ

แม่มดบนตึก...แส้แห่งอารมณ์ขันอันร้ายกาจที่โบยกระหน่ำเราให้หัวเราะทั้งน้ำตา

by ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ @November,30 2006 17.57 ( IP : 124...61 ) | Tags : Party หนังสือ

แม่มดบนตึก...แส้แห่งอารมณ์ขันอันร้ายกาจที่โบยกระหน่ำเราให้หัวเราะทั้งน้ำตา

ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน อำนาจของสื่อมวลชน เป็นประเด็นซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ครั้งแล้วครั้งเล่าๆ ๆ...ในลักษณะตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ที่ห่างไกลจากการเป็นฐานันดรที่ 4 ของสังคมไปเรื่อยๆ โดยหลายครั้งลดทอนบทบาทตนเองลงเป็นเพียงสะพาน ผู้ถ่ายทอดภาพฝันแห่งลัทธิบริโภคนิยม และมายาภาพอันฉาบฉวยของความสวยหล่อ สู่สายตามวลชน ผ่านการนำเสนอแบบพาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) อย่างอุตสาหกรรมบันเทิง ทีวี และโฆษณา ที่ก้าวเข้ามาหยิบยื่นโลกอันเย้ายวนใจของการเข้าพระเข้านาง ครอบครัวสมัยใหม่ ความสมบูรณ์สวยสดของรูปร่างหน้าตา ฯลฯ ด้วยการครีเอทจากสมองบัณฑิต ด้วยอำนาจสื่อ ด้วยเม็ดเงินมหาศาล อย่างแนบเนียน อย่างปลุกเร้า และน่าหลงใหลครอบครอง  ซึ่งกระบวนการดังกล่าว มุ่งหวังผลตอบแทนเป็นกำไรสูงสุด (Maximum Profit) มากกว่าจะเน้นการยกระดับสติปัญญาและจิตใจคน

จึงเป็นเรื่องหลีกหนีไม่พ้น ที่การกระทำซ้ำๆ ของกระบวนการดังกล่าว จักกลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างกระแสค่านิยมแบบ “บริโภคนิยม” (Consumerism) ที่ให้ความสนใจกับวัตถุและรูปลักษณ์ภายนอก เช่น เสื้อผ้าที่เราใส่ ยี่ห้อกางเกงในที่เราซื้อ รถที่เราขับ บ้านที่เราอยู่ มากไปกว่าคุณค่าของความงามที่แท้อย่างเรื่องของ สัจธรรม ศิลปะ และปรัชญา&nbsp;  ความคิดที่ลุ่มลึกจึงกลายเป็นเพียงเรื่องชวนหัวในยุคสมัยนี้อย่างช่วยไม่ได้<br />

และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่กระแสบริโภคนิยมอันเชี่ยวกรากและสุดกู่ ผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดที่ละเอียดยิบยับ-ซับซ้อนซ่อนกลได้อย่างลงตัว รูปแบบและพฤติกรรมการบริโภคของมวลชน ก็จะติดอยู่ในกับดักอันลวงตายิ่งขึ้นไปอีก กล่าวคือ เมื่อปัจเจกบุคคลหนึ่งซื้อเสื้อยืดแบรนด์เนม ราคาตัวละ 2,500 บาท เขาอาจไม่ได้ตัดสินใจซื้อเพราะอรรถประโยชน์ที่แท้จริงอีกต่อไป หากแต่ซื้อเพราะต้องการเสพในภาพลักษณ์หรือตราสินค้า (ยี่ห้อ) ของเสื้อยืดตัวนั้น ทั้งนี้อาจเพื่อแสวงหาการยอมรับจากกลุ่มอ้างอิงทางสังคม (ที่ต่างก็ได้รับการปลูกฝังค่านิยมอันฉาบฉวยมาจากสื่อเช่นเดียวกัน) และเมื่อนั้นเองที่เราอาจกล่าวได้ว่า สภาวะ “การตกเป็นเหยื่อ” (Victimization) อย่างแท้จริงของลัทธิบริโภคนิยมได้เกิดขึ้นแล้ว

การตกเป็นเหยื่อ (Victimization) ของลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) อย่างไม่ทันรู้ตัว “แม่มดบนตึก” ของปริทรรศ หุตางกูร รวมเรื่องสั้นแนวเสียดสี (Satire) ที่มีน้ำเสียงเย้ยหยัน ยั่วล้อในชะตากรรมอันไร้สาระและน่าสมเพชของมนุษย์ ท่ามกลางความสับสน ซับซ้อน วุ่นวาย และโกลาหลของชีวิตในศตวรรษที่ 21 พยายามตอกย้ำถึงสภาวะนี้ ผ่านเรื่องสั้นเรื่องแล้วเรื่องเล่า โดยเป้าหมายสำคัญที่ถูกกล่าวถึงซ้ำๆ ในฐานะตัวแปรหลัก (เครื่องมือ) ที่มีอิทธิพลต่อการปลุกปั่นกระแส-สร้างค่านิยมในการบริโภคอันฉาบฉวยและเกินพอดี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นั่นก็คือ “สื่อ” ผู้นำเสนอภาพฝันสำเร็จรูปอันมีสีสันฉูดฉาดและฉาบฉวยเกินจริง ผ่านความสวยหยาดเยิ้มและหล่อลากดินของพระ-นางในละครหลังข่าว ที่มีเนื้อหาอยู่ในขั้วตรงข้ามกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งฉุดรั้งผู้รับสารให้ละทิ้งโลกของความเป็นจริงเอาไว้เบื้องหลัง (Escape From The Truth) แล้วหมกตัวเองอยู่กับเรื่องราวพาฝันเหล่านั้น รวมไปถึงกระตุ้นต่อมความปรารถนาอยากเป็นส่วนหนึ่งของโลกนั้นก็ด้วย  ดังที่ผู้เขียนได้เสียดสีมายาภาพไว้ในส่วนหนึ่งของเรื่องสั้น “หมอเปลี่ยนหัว (1)”

“ ‘อย่ารีรอ’ มีเสียงจากพิธีกรหัวสีในทีวีตะโกนขึ้นมานะหมอ หัวเขาแดงหวานเหมือนงานภาพประกอบแมกกาซีน ‘อย่ารีรอ การรอทำให้สับสน ผมคือผู้นำลัทธิหวาน มีลูกกวาดและน้ำตาลเป็นอาวุธเคลือบความสกปรกทั้งมวล คุณเคลือบของคุณหรือยัง ส่งใบสมัครมาที่เรา ผมอยู่ในทีวี ผมคือตำรา คือประชาสัมพันธ์ สนุกกันเข้าไว้ รื่นเริงกันเข้าไป ความอวบอั๋นกำลังเผยออก ลัทธิหวานแหววจงเจริญ’ ”  และ “ผมรีบวิ่งไปล้างมือ ล้างตีน ล้างหน้า ทาโลชั่น ทาแป้ง ทาโรลออน โกนหนวด เปลี่ยนชุด ตัดผม แล้วเดินออกมา ‘ยู ลุค กู้ด’ ”  หรือ “ปี้ฮู้ว่าเจ้าฝันจะเป็นดารานักฮ้อง แต่มันยากแต๊ๆ ละน้องเอ๋ย”

กระทั่งการนำเสนอซ้ำๆ ผ่านเนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณาที่แสดงถึงไลฟ์สไตล์ (Life Style) อันสุขสบาย สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ด้วยบ้านหรูหลังใหญ่พร้อมเฟอร์นิเจอร์ครบครัน อีกทั้งเสื้อผ้าแบรนด์เนมดังตั้งแต่หัวจรดเท้า กับรถยนต์คันโก้ที่พร้อมจะพุ่งทะยาน พาไปสนุกสุขสันต์แสนหฤหรรษ์ได้ทุกที่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วภาพฝันอันล่องลอยเหล่านั้นก็หาได้ต้องการอะไรมากไปกว่า การกระตุ้นให้เกิดกิเลส ความอยากเป็นอยากได้ใคร่มี อันนำไปสู่ความต้องการเสนอซื้อ (Demand) และจบลงที่การอุปโภคบริโภคในซุปเปอร์มาร์เกตนั่นเอง  ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง “เพลิงรัก ลานแค้น” ซึ่งพักอยู่เขต บางบัวทอง จังหวัดปทุมธานี แต่กลับมาเดินซื้อของไกลถึงห้างสรรพสินค้าแถวบางนา อีกทั้งยังกดเอทีเอ็ม เบิกเงินใส่กระเป๋าไว้ถึง 3,000 บาท สำหรับซื้อของที่แม้แต่ตัวเขาเอง ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าคืออะไร

นอกจากประเด็นการตอกย้ำซ้ำๆ อย่างเกินพอดี ในแง่ของความถี่ ที่ผู้เขียนเรียกร้องให้ “สื่อ” หันมาสำรวจตรวจสอบและทบทวนบทบาทของตนเอง ในฐานะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ก่อให้เกิดค่านิยมแบบ “บริโภคนิยม” และ ทำให้มวลชน (ผู้รับสาร) ตกอยู่ในฐานะของเหยื่อแล้ว  ประเด็นการตอกย้ำซ้ำๆ ในแง่ของเนื้อหา เช่น เรื่องเซ็กซ์ ก็เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของเรื่องสั้น “ไอ้นกแก้ว” “ทุกวันนี้ ภาพยั่วสวาทถูกปลดออก เหลือไว้แค่ถูกใจจริงๆ 2-3 ภาพ  สิ่งหนึ่งที่เจ้าฟันบนพูดถึงวาทะไอ้นกแก้วว่า ‘ทุกสิ่งบนโลกมีไว้เพื่อข้าโดยแท้’ ข้าพเจ้าเพิ่งจะสังเกตเห็นว่าเป็นความจริง สิ่งนั้นเหมือนจะแฝงอยู่ในสรรพสื่อจนต้องระมัดระวัง”

คำว่า “สิ่งนั้น” ที่ผู้เขียนกล่าวถึง คงเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากบรรดา “เซ็กซ์แอพพีล” (Sex Appeal)  ที่ทั้ง ปรากฏชัดเด่นหรา หรือ แฝงฝังอย่างแนบเนียน อยู่ใน “สรรพสื่อ” ทั้งมิวสิควิดีโอ ละครหลังข่าว โฆษณาสินค้า ภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ บนป้ายคัทเอาท์ริมทางด่วน โฆษณาตรงป้ายรถเมล์ กระทั่งขาอ่อนและหน้าอกอวบๆ ตรงท้ายรถตุ๊กตุ๊กนั่นก็ด้วย

ประเด็นเรื่อง อำนาจและอิทธิพลของสื่อ ในการเสกคนเดินดินให้กลายเป็นเทวดาในชั่วข้ามคืนเหมือนอย่างซินเดอร์เรลล่า ผู้เขียนก็ไม่ลืมที่จะเหน็บแนมเอาไว้อย่างถึงแก่น...<br />

“คุณเตรียมดังได้แล้ว ภาพคุณจะออกอากาศต้นเดือนหน้า นอกจากนั้นเรายังมีภาพนิ่งตอนคุณตกใจหลับตาปี๋ลงโฆษณาในแทบทุกสื่อ หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน แผ่นพับ ป้ายคัตเอาท์ขนาดยักษ์ ตลอดจนรถสามล้อ ใบหน้าคุณจะเต็มบ้านเต็มเมืองเต็มประเทศนี้”  และ “ใช่ฮะ เดือนหน้าคนทั้งประเทศจะได้เห็นหน้าคุณพี่ทุกคนฮะ ความตกใจที่สมบูรณ์แบบ เราจะเริ่มพีอาร์เบื้องหลังกองถ่ายให้ดังตั้งแต่วันพรุ่งนี้ฮะ ภาพตกใจหลับตาปี๋จะ ฮิต ระเบิด โคตรเท่เลยฮะ”    หรือ “เธอเคยฝันจะเป็นเจ้าหญิงในฉับพลันอย่างซินเดอร์เรลล่า แต่ก็เป็นได้แค่ ‘โพสต์ซินเดอร์เรลล่า’ หรือภรรยาน้อยเท่านั้น”

นัยทางเพศ กับ การกระตุ้นเตือนให้สำรวจตรวจสอบสัญชาตญาณพื้นฐาน ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “แม่มดบนตึก” นั้น ปรากฏสัญญะ (Sign) ต่างๆ อยู่มากมาย เช่น สัญญะแห่งระบอบทุนนิยม ที่ถูกกล่าวถึงในเชิงเสียดสีครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างเช่น

“เราลากเอาบ้านหลังใหญ่ รถคันโต ลูกเมียชู้ อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์จิปาถะ กว่าจะโลกาภิวัตน์กับเขาเป็น ภาระเหล่านี้ก็ถูกลากเข้าพันตูซับซ้อนหนักหน่วง...โอ ข้าเหนื่อยเหลือเกิน ขอเป๊ปซี่หน่อย”    หรือ “ม่วนสายพิณออกปากกับป้าใหญ่ใจดี ซึ่งใส่ทองปล้องเท่าข้อมะขามร้อยเรียง ป้ายิ้มอย่างแม่พระปฏิมา ยกมือขึ้นลูบศีรษะ ทั้งมอบดันกิ้นโดนัทไส้บาวาเรียน และเงินก้อนหนึ่งไว้ให้ใช้ล่วงหน้า”

แต่กว่าครึ่งของทั้งหมด กลับเป็นสัญญะและข้อความที่มีนัยทางเพศสอดแทรกอยู่เกือบตลอดทั้งเล่ม โดยถูกสื่อผ่านความคิด คำพูด และการกระทำของตัวละคร ซึ่งมีบุคลิกแปลกแยก กระเดียดไปทางหมกมุ่นในเรื่องกามารมณ์อยู่ไม่น้อย  การตอกย้ำซ้ำๆ ในประเด็นเดิมๆ อย่างตั้งใจ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง สภาวะการตกเป็นทาสแห่งสัญชาตญาณดิบ (เซ็กซ์) ของมนุษย์อย่างยอมจำนน

ดังตัวอย่างในตอนหนึ่งของเรื่องสั้น “ไอ้นกแก้ว” ที่ผู้เขียนกำหนดให้ตัวละคร คือ ไอ้นกแก้ว (อวัยวะเพศชาย-ตัวแทนของสัญชาตญาณทางเพศ) กล่าววาทะกับฟันบนว่า “ทุกสิ่งบนโลกมีไว้เพื่อข้าโดยแท้” ซึ่งหากพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า คำพูดดังกล่าวเกี่ยวโยงกับอมตะวาจา “Sex make the world go around” ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งวิชาจิตวิเคราะห์อย่างมีนัยสำคัญ  ในฐานะที่สัญชาตญาณทางเพศของมนุษย์(สัญชาตญาณดิบ) อันหมายรวมถึง ความรู้สึกทางเพศ ความพึงพอใจในเพศตรงข้าม ความเสน่หาในเพศรส เป็นแรงขับสำคัญที่ ผลักดัน ให้มนุษย์แสดงออกทางพฤติกรรมในด้านต่างๆ  รวมถึง ดึงดูด มนุษย์เราให้เข้าหากัน เพื่อประกอบพิธีกรรมพื้นฐานอย่าง “การร่วมเพศ” (Sex) ที่นำไปสู่ผลผลิตโดยตรง คือการสืบสานเผ่าพันธุ์มนุษย์  เหมือนที่ผู้เขียนได้ตั้งคำถามถึงสภาวะดังกล่าวไว้ในส่วนหนึ่งของเรื่องสั้น “ห้องเธอห้องฉันคั่นกันด้วยความเหงา (เรทx)”

“พระเจ้า...ชีวิตคือบ้าอะไรกันแน่ ฤาเซ็กซ์คือเชื้อเพลิงเกรดพรีเมี่ยมไร้สาร ที่ฉุดวิญญาณตกต่ำให้โลดสุดสุดเหมือนรถเกียร์ 5 เหนือเชื้อเพลิงใด...ผมร้องไห้ขณะเมคเลิฟ”

คล้ายผู้เขียนจะยอมรับอยู่กลายๆ ว่าการตกเป็นทาสของสัญชาตญาณดิบอย่างเซ็กซ์ เป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่จำต้องยอมรับ เหมือนมีชิปกำหนดการทำงานบางอย่างแฝงฝังอยู่ในหัวของมนุษย์เราทุกคนอย่างมิอาจแข็งขืน ชิปที่คอยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจอันนำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมอื่นๆ ของมนุษย์เรา...ดังปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของเรื่องสั้น “ช่างทาสี”

“สักครู่ชายหนุ่มก็รู้สึกราวเคลิ้มฝัน...เขารู้สึกเหมือนมีมือนุ่มอุ่นของหญิงสาวมาลูบไล้ส่วนต่างๆ&nbsp; แตะไหล่ พลิกใบหน้า รับรู้แม้ทรวงอกที่ค้อมลงใกล้...สัมผัสทั้งหมดช่างมีมนต์ชวนให้คิดถึงแม่เป็นยิ่งนัก แต่ไม่ดีกว่า ขอเปลี่ยนแม่เป็นหญิงสาวแทนเถอะ”

แต่กระนั้นผู้เขียนก็หาได้กล่าวว่ามนุษย์เราจักควรยอมจำนนต่อชะตากรรมดังกล่าว หากแต่ควรรู้เท่าทันเพื่อควบคุมมิให้ข้อจำกัดเหล่านั้น ทำความเดือดร้อนต่อตัวเองและผู้อื่น ดังจะเห็นได้จากสภาวะขัดแย้งและการต่อสู้ภายใจจิตใจของตัวละครที่เขาบรรจงสร้างขึ้น

“เธอจะรู้ตัวหรือไม่ว่า ข้าเกิดอารมณ์ขึ้นมาซะแล้ว เธอไม่ควรสัมผัสข้า ไม่ควรใกล้ชิดข้า เพราะข้าคือคนเซ็กซ์จัดที่ไม่อาจยับยั้งใจตัวเองได้ ต่อมข้าไวยิ่งกว่าฆาตกรโรคจิต ข้าคือช่างทาสีที่มีอดีตบัดซบ ชอบใช้กำลังข่มเหงผู้หญิง ชอบอ่านข่าววิตถารหน้าหนึ่ง ชอบปฏิทินโป๊ ชอบวิดีโอเอ็กซ์ ชอบหนังสือปลุกใจ เธอไม่ควรสัมผัสข้าในบรรยากาศมืดสลัวเป็นใจแบบนี้ ข้าควรจัดการเธออย่างไรดี...ไอ้ทุเรศ...นี่ข้าคิดงี่เง่าระยำอีกแล้ว...ข้ากลับคิดมิดีมิร้ายกับเธอผู้มีน้ำใจให้ซะแล้ว ไม่...ข้าต้องไม่ทำเธอเช่นนั้น”&nbsp;  และ
“ขณะร่างเธอเริ่มกึ่งเปลือย เสื้อผ้าหลุดลุ่ย สมองบัดซบของเขา เหมือนกรอกลับมา ตีแผ่เห็นความเถื่อนชั่ว ตัวเอง ผ่านท่านเศรษฐีออกมาหมดเปลือก...แล้วสำนึกแห่งคนชั่วก็ราวผุดตูมจนค่อยๆ เปลี่ยนปลายแหลมของยอดบัวให้กลายเป็นจรวดพุ่ง เขาแทบจะมีญาณมองทะลุเห็นอัมพาตเกาะกล้ามเนื้อใจเธอ ไม่ต่างจาก 2 ขาของเขา จิตเริ่มเปรียบเทียบรุนแรง เห็นเศรษฐีกลายเป็นเขา เห็นเขากลายเป็นเธอ กลับไปกลับมา แล้วไม่นาน สำนึกนั้นก็ราวแตกเป็นเสี่ยงๆ เหมือนจานกระเบื้องถูกเขวี้ยง...เขาเริ่มเข้าใจภาวะเซ็กซ์ล้นกลาดเกลื่อน กำลังไล่บี้ไม่เข้าใครออกใคร”<br />

กลวิธีการนำเสนอ – การผสมผสานเรื่องจริงกับเรื่องแต่งด้วยท่าทียั่วล้อเสียดเย้ย
ด้วยอารมณ์ขันอันโดดเด่นและเนื้อหาที่แปลกแหวกแนวของ “แม่มดบนตึก” จึงทำให้น้ำหนักของวิธีการเล่าเรื่องถูกลดบทบาทไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อาจกล่าวได้ว่า กลวิธีที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้น ต่างก็เต็มไปด้วยเทคนิคแพรวพราว มีลูกล่อลูกชน และแสดงถึงความเป็นหัวก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด

ในเรื่องสั้น “หมอเปลี่ยนหัว (1)” ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบละครเวที (บท) ซึ่งไม่เน้นการให้รายละเอียดขององค์ประกอบต่างๆ อย่างการเขียนเรื่องสั้นทั่วๆ ไปมากนัก และเมื่อผสมรวมกับบุคลิกของตัวละครที่เป็นคนไข้โรคจิตด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้เนื้อเรื่องที่ไม่ปะติดปะต่อนั้น ดูถูกต้องชอบธรรมยิ่งขึ้นไปอีก และหากพินิจให้ดีจากอีกมุมหนึ่ง จะเห็นได้ว่าท่ามกลางความแหว่งวิ่นของการเล่าเรื่องที่ขาดหายไปนั่นเอง ที่กลับกลายเป็นเสน่ห์ของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ซึ่งชวนให้เกิดการตีความอันหลากหลายได้อย่างน่าประหลาด ดังปรากฏอยู่ในตอนหนึ่ง

“เราดื่มกันมามาก ทั้งเสพกันมามาก ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ยังมีอะไรอีกเล่าหมอที่ยังมิได้ผลิตมา สนองให้สาสมใจปรารถนาอันโสมมของเรา ผมว่ากลางวันน่าจะดีกว่าที่สอนให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ ผิดกับความมืดของกลางคืนที่เปิดโอกาสให้แสดงความมั่วและความชั่วได้บ่อยๆ แล้วหมอเคยสังเกตไหมว่า ไอ้แมวตัวนั้นแอบถ่มถุยอยู่นานแล้ว มันดูถูกว่านี่คือฉากละครที่ไม่มีวันจบของมนุษย์ แต่หมาฉลาดกว่านะ มันไม่เคยคิดว่าเรื่องซับซ้อนเหล่านี้คือละคร กลับเป็นความลงตัวที่มีความจริงกับความลวง ผลัดกันแสดงบทพระเอกและนางเอก มีวิชชาในอวิชชา หมารู้จักจังหวะฉวยโอกาสได้ดี”

เช่นเดียวกับเรื่องสั้น “พระเจ้ากับมนุษย์” ที่ผู้เขียนใช้วิธีการดำเนินเรื่องแบบจั่วหัวข้อและขยายความ ซึ่งคล้ายกับวิธีการเขียนบทความ ที่ชื่อของแต่ละหัวข้อนั้น เป็นการสรุปความโดยรวมจากเนื้อหาภายใต้หัวข้อนั้นๆ  ยกตัวอย่างเช่น หัวข้อ “คำเทศนาตรงตีนเขา” ก็เป็นการเปิดฉากเรื่องด้วยหมัดฮุค ที่สะกดผู้อ่านให้งงงวย ดึงความสนใจใคร่รู้ทั้งหมดทั้งมวล ให้จมหายไปกับการเล่าเรื่องราวดังกล่าว ซึ่งก็คือการเทศนาตรงตีนเขาของตัวละครเอกนั่นเอง ในขณะที่หัวข้อ “เขาไม่ใช่คนบ้า” นั้น ก็หาใช่อื่นใดไม่ นอกจากการปูพื้นตัวละครอย่างมีชั้นเชิงนั่นเอง  แม้จะไม่ใช่เทคนิคใหม่แต่อย่างใด แต่ก็กล่าวได้ว่า ผู้เขียนใช้กลวิธีนี้ เล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ กระชับ และลงตัวเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนในเรื่อง “แม่มดบนตึก” ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบล้อเลียนอย่างขบขัน (Parody) โดยหยิบยกเอาบทประพันธ์คลาสสิคอย่าง “The Wizard of OZ” (พ่อมดแห่งอ๊อซ) มาล้อเลียนด้วยท่วงทำนองเสียดสีและเย้ยหยันอย่างเหนือชั้น กล่าวคือ จงใจผสมผสานเรื่องจริง (ข้อมูลจริง) กับเรื่องแต่ง (จินตนาการของผู้เขียน) ซ้อนทับลงไปบนเรื่องแต่งคลาสสิคอย่าง “The Wizard of OZ”  ด้วยอารมณ์ทีเล่นทีจริงได้อย่างลงตัว

ผู้เขียนหยิบประเด็นปัญหาทางสังคมอย่าง ค่านิยมของหญิงสาวต่างจังหวัด (โดยเฉพาะจากทางเหนือ) ที่มักหลีกหนีความแร้นแค้น อพยพเข้าเมืองหลวง แล้วยึดอาชีพขายบริการทางเพศ ทำงานเก็บเงินส่งเสียทางบ้าน มาสร้างตัวละครอย่าง ม่วนสายคำ (ตัวแทนของโดโรธี) ที่จำต้องออกเดินทางสู่แดนประหารความอาย ไปหาแม่มด (ตัวแทนของพ่อมดแห่งอ๊อซ) บนตึกดำ 54 เพื่อประกอบพิธีเสกดินต้มลงยันต์ สำหรับอุดถมห้องหัวใจอันขลาดอายต่อบาปให้เต็มแน่น จะได้ขายตัวได้อย่างไร้ยางอาย โดยระหว่างทางหล่อนก็พบเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์อันแปลกพิสดารและเหนือจริง อย่างสิงโต หุ่นไล่กา และหุ่นกระป๋อง (ตัวละครหลักจาก “The Wizard of OZ”) ซึ่งต่างก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน คือเป็นผู้ถูกกระทำจากอะไรบางอย่าง เช่น ความจน ความละอายแก่ใจฯ

ท่าทียั่วล้อเสียดเย้ยอย่างตั้งคำถาม ถึงความฟอนเฟะของระบบ ค่านิยมบางอย่างในสังคม ตลอดจนความเป็นโลกาภิวัตน์ ยังคงปรากฏอยู่ในการดำเนินเรื่องเป็นระยะๆ เช่น “เธอไม่รู้จักแวนโก๊ะและปิกัสโซ่ มิพักต้องพูดถึงโจเซฟ เบย์ หรือแอนดี้ วาฮอลล์ ผู้นำศิลปะเขย่าวัฒนธรรมทั้งโลกนี้ แต่สำหรับไก่ทอดเคนตั๊กกี้, เฟร้นช์ฟราย, ค่ายแกรมมีและอาร์เอสเอ็นเตอร์เทน เธอจะไม่ตกสมัยเด็ดขาด”  และ “แม้เป็นเพียงหญิงสาวขี้อาย แต่เธอก็อยากสำรอกให้กับบรรยากาศบ้าๆ ที่กดดันอยู่รายรอบ มันค่อยๆ กลายเป็นความคับแค้นอันจำนนต่อฉากลวงใหญ่โตของประเทศนี้ การศึกษาส้นตีนไม่เคยสร้างสำนึกอะไรมากกว่าเงินคือสวรรค์ของชีวิต และก็จริงถ้าจะได้มันมาเร็วๆ”  หรือ

“ต้องยอมรับว่า ไอ้เงินเยอะๆ นั่นทำให้ผมเครียดมาก อยากกลายเป็นคน ได้กินดื่มเฮฮา มีรถ มีสาวๆ มีคนยกย่อง ผมแอบคำนวณเงินในกระเป๋าหยาบๆ ก็รู้ไม่พอแน่ ถ้าต้องแบ่งให้อีกาตัวนั้นด้วย ผม...ผมก็เลยฆ่ามัน ผมบีบมันตายคามือ ผมทรยศเพื่อน โฮ โฮ”

คล้ายผู้เขียนจงใจตั้งคำถามกับคนอ่านว่า การมีชีวิตรอดอยู่ท่ามกลางสังคม (ทุนนิยม) ระยำตำบอนอย่างทุกวันนี้ เราจำต้อง “ไร้ยางอาย ไร้หัวใจ ไร้ความใสซื่อ” เช่นนั้นหรือ เพราะกระทั่งตัวละครในเรื่องที่เป็นเพียงสัตว์อย่าง สิงโต หรือสิ่งไร้ชีวิตอย่าง หุ่นไล่กาและหุ่นกระป๋อง ยังมีความละอายแก่ใจตน เมื่อกระทำเรื่องที่ไม่สมควร แล้วมนุษย์อย่างเราๆ เล่า...

ณ สุดขอบพรมแดนแห่งการล้อเลียนเสียดสี หลายครั้งหลายหนที่ “พระเจ้า” ถูกนำมากล่าวถึงในงานวรรณกรรม ทั้งของไทยและของต่างประเทศ ในหลากหลายแง่มุมและมิติที่ตื้นลึกแตกต่างกันไป กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การ “เล่น” กับสิ่งที่เป็น “ความเชื่อ” สูงสุดของคน โดยบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ พระเจ้าจะมีจริงหรือไม่ หากแต่อยู่ที่ “ศรัทธา” อันแรงกล้าของมนุษย์ ซึ่งมีต่ออำนาจของอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์นั้น มีอยู่จริง
มิพักต้องพูดถึงว่า การ “เล่น” นั้น เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญของเรื่องสั้นแนวเสียดสี (Satire) ที่เน้นอารมณ์ขัน อีกทั้งมีน้ำเสียงคล้ายยั่วล้อ (Parody) ตำนานความเชื่อทางศาสนาอย่างจงใจ ดังปรากฏอยู่ในบางตอนของเรื่องสั้น “พระเจ้ากับมนุษย์”

“หลังคืนนั้น เขาหาสบู่แชมพูชำระล้างตนเสียใหม่ ผมที่ดำยาวกับหนวดเคราก็ย้อมเป็นขาว เขาพบกิ่งประดู่หลังบ้านก็นำมาทำไม้เท้า รื้อหาผ้าคลุมยาวมาห่มทับง่ายๆ ถึงหัวเข่า และหาย่ามโทรมใส่แผ่นกระดาษที่เตรียมไปเป็นพิเศษ...จากต้นตำรับแบบโมเสสพบพระเจ้าบนเขา เขาก็ปักใจเชื่อเช่นกันว่า ขึ้นเขาสูงด้วยชุดแบบนี้จะสามารถพบพระองค์”  และ

“เขาเสยผมกระเซอะกระเซิงขาวยาว ขยับผ้าคลุมโทรมนุ่งง่ายๆ ให้เข้าที่ ดูๆ ไปเหมือนเขาจะเลียนแบบโมเสส ผู้นำบัญญัติ 10 ประการ จากพระเจ้าสู่ชาวอิสราเอล มือซ้ายเขาถือไม้เท้า มือขวาชูแผ่นกระดาษเก่าคร่ำ จารึกลายมือขยุกขยิก”

ยิ่งไปกว่านั้น “พระเจ้า” ยังถูกนำมาเป็น หนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่องอีกด้วย ดังที่ผู้เขียนบรรยายไว้

“พระเจ้าก็คือมนุษย์ฝรั่งดีๆ นี่เอง หนวดเคราผมยาวขาวบลอนด์ ดวงตาสีฟ้ามีพลัง และพลังนั้นราวระอุล้น เหนือหมื่นแสนล้านพลังมนุษย์รวมกัน”  และ “พระเจ้าถอนใจก่อนเปลี่ยนสีตาจากฟ้าเป็นม่วง แสด ชมพู ทั้งกลายร่างตามปฏิกิริยาที่รู้สึก เป็นมังกร ม้านั่ง ราชวัง ผ้าขนหนู และสิงโตคำราม”

แต่หากพิเคราะห์จากปริบทโดยรอบ และเนื้อหาทั้งหมดของเรื่อง จะเห็นได้ว่าเป้าหมายแท้จริง ที่ผู้เขียนต้องการจะล้อเลียนนั้นคือ “มนุษย์” (ผู้อ่าน) นี่เอง หาใช่ “พระเจ้า” แต่อย่างใด “พระเจ้า : เฮ้ย...ไอ้มนุษย์สมองเล็ก (พระองค์ตรัสด้วยอาการเปี่ยมกรุณา) ความเจ็บปวดนี่แหละ จะทำให้พวกเจ้าไม่ประมาท ใช้ชีวิตมีสติ ระมัดระวังไม่อยากกระทบกระทั่งกัน ความเจ็บปวดทางกาย จะทำให้พวกเจ้ารู้คุณค่าของสุขภาพ รู้จักปลง ความเจ็บปวดแม้ไม่เป็นที่ต้องการ แต่พวกเจ้าคิดไหม มันทำให้สังคมสงบและครุ่นคิดมากขึ้น”  และ

“เปล่า...มิได้พูดเพ้อตามแฟชั่น แต่พี่น้องข้า วิกฤติการเงินฉายภาพวิกฤตแห่งเราชัดเจน การจัดการในชีวิตประจำวันเดือนปี เราลากเอาบ้านหลังใหญ่ รถคันโต ลูกเมียชู้ อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์จิปาถะ กว่าจะโลกาภิวัตน์กับเขาเป็น ภาระเหล่านี้ก็ถูกลากเข้าพันตูซับซ้อนหนักหน่วง...โอ ข้าเหนื่อยเหลือเกิน ขอเป๊ปซี่หน่อย”  หรือจากบางตอนของเรื่องสั้น “คำสารภาพ”

“ผมล้วนหลอกตัวเองจนอยากอ้วกให้ตัวเองนัก และอย่างเชิญท่านรัฐมนตรีมาวันนี้ ทั้งที่รู้ท่านไม่มีวิสัยทัศน์อะไร ผมก็ยังเชิญมา ผมก็อยากอ้วกให้ตัวเองอีก  หลายๆ ครั้งที่อยากมีกระโถนห้อยคอ เพื่อจะอ้วกได้วันละหลายๆ หน...ผมคิดอยู่นานแล้วว่า ตัวเองคือผู้สานระบอบพินอบพิเทา หรือวัฒนธรรมหน้ากากอันชั่วร้ายให้ดำเนินต่อไปอย่างแข็งแกร่ง”

และอาจเป็นด้วยอารมณ์ขันอย่างร้ายกาจ กับบทสนทนาอันแหลมคมที่สอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเล่มนั่นเอง ที่ทำให้การเสียดสีนั้น ดูน่ารักน่าชัง มากกว่าจะจงใจจาบจ้วงของในเบื้องสูง หรือหากจะกล่าวให้ชัดยิ่งไปกว่านั้น ก็คงเป็นเพราะความที่ผู้เขียน “เล่น” ได้อย่าง “มือถึง” นั่นเอง

เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง ผ่านเรื่องเล่าเหนือจริงที่เปี่ยมจินตนาการทั้ง 13 เรื่อง เราอาจเปรียบได้ว่า “แม่มดบนตึก” เสมือนหญิงแก่กร้านโลก ผู้ใช้อารมณ์ขันอันร้ายกาจฟาดฟันเราครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งที่คมแส้โบยกระหน่ำ เจาะจงซ้ำลงบนที่เดิมๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักถึงสภาวะของอะไรบางอย่าง  การเสียดสีของผู้เขียนนั้น หาได้เป็นเพียงการเสียดสีอย่างขอไปทีแบบเอามัน หากแต่มันเป็นไปอย่างมีนัยสำคัญ ในการหยิกแกมหยอก กระตุ้นเตือนให้เราหันมาสำรวจตรวจสอบ ความเป็นไปของตนเองและผู้คนรอบข้าง รวมถึงปริบททางสังคมในระดับมหภาค

การตอกย้ำซ้ำๆ ผ่านเรื่องสั้นเรื่องแล้วเรื่องเล่าถึงสภาวะอันไร้แก่นสารในมิติต่างๆ ของชีวิต อย่างเรื่องเซ็กซ์ หรือการอุปโภคบริโภคที่เกินพอดี หากมองเพียงผิวเผินก็คงเสพรับได้เพียงอารมณ์ขันอันแปลกแยก ภายใต้สถานการณ์อันขื่นขม ซึ่งสื่อผ่านตัวละครที่หลุดโลก บ้าบิ่น โรคจิต และการเล่าเรื่องด้วยกลวิธีที่แตกต่าง แต่หากพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่าภายใต้การประชดประชันเสียดสีอย่างถึงแก่นของผู้เขียนนั้น หาได้ต้องการนำพาผู้อ่านไปสู่ทางตันของการตอบคำถามระดับอภิปรัชญาแบบเดิมๆ อย่าง “To Be or Not To Be”

ในทางตรงกันข้าม ด้วยท่าทีเสียดสีเกินจริงและเจตนาในการยั่วล้ออย่างจงใจ ที่ปรากฏอยู่ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ กลับแสดงเจตนารมณ์อันชัดเจนว่า “แม่มดบนตึก” มุ่งหมายจะทำหน้าที่มากไปกว่ากระจก ซึ่งสะท้อนสัจธรรมแบบ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเพียงทำหน้าที่บันทึกปากคำแห่งยุคสมัย  หากแต่ภายใต้การหยิกแกมหยอกไปจนถึงการโบยกระหน่ำด้วยอารมณ์ขันอย่างจงใจนั้น กลับกระตุ้นให้ผู้อ่านได้หยุดคิด ย้อนมองกลับมา เพื่อสำรวจตรวจสอบ “วิถี” และ “ชีวิต” ของตนเอง ว่าเป็นจริงดั่งที่ผู้เขียนพยายามสะกิดเตือนหรือไม่ ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามที่สำคัญกว่า อย่าง “How Should - To Be” หรือ “เราควรมีชีวิตอยู่ - อย่างไร” นั่นเอง

ในฐานะที่เราเป็นสัตว์ประเสริฐ ผู้ยกย่องตนเองอยู่เหนือห่วงโซ่อาหารทั้งปวง ควรหรือไม่ที่เราจักมีชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันตนเอง เท่าทันสัญชาตญาณดิบและข้อจำกัดของตัวเราเอง เท่าทันกระทั่งสิ่งที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาด้วยน้ำมือของเราเอง อย่างเช่น เทคโนโลยีและสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ นานา ทั้งนี้เพื่อให้เราหลุดพ้นจากการตกเป็น “ทาส” ของสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้เราตกอยู่ในสภาวะใหม่ที่ผู้เขียน “แม่มดบนตึก” เรียกเท่ๆ ว่า “เหยื่อที่รู้ตัว”.

.........................................

(เป็นงานเก่าที่เขียนไว้นานแล้วครับ ผมชอบงานเล่มนี้ของพี่ตุ้ยมากๆๆๆๆ รบกวนใครมีปก ช่วยโพสต์ให้หน่อยนะครับ)

Comment #1
onnom
Posted @April,11 2008 19.33 ip : 58...234

อยากได้มาไว้ในครอบครองสักเล่มค่ะ ขอบคุณที่แนะนำหนังสือดีๆ :))

Comment #2
แม่มด...หลงทาง
Posted @May,11 2008 01.03 ip : 118...253

กำลังทำละครเวทีเรื่อง "ช่างทาสี" ที่เป็นเรื่องสั้นของคุณปริทรรศอยู่ค่ะ

อ่านแล้วก็รู้สึกว่า เขามีมุมมองความคิดที่น่าสนใจค่ะ ทำให้อยากอ่านเรื่องอื่นๆอีกค่ะ

Comment #3
สุภาวดี อินทรัตน์
Posted @May,20 2010 12.14 ip : 125...34

สุดยอดเลยค่ะอาจารย์....


ไอดอลของ.หนู.

แสดงความคิดเห็น

« 1803
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ