บทความ

ปัจเจกชนปฐมบทแห่งปัญหาสังคม

by แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า @December,06 2006 09.50 ( IP : 58...116 ) | Tags : บทความ

บทวิจารณ์หนังสือรวมเรื่องสั้น ชื่อ ‘ปัจเจกชนครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’ ของ ‘สิตางศุภา’ วิจารณ์โดย แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า ……………………………………………………………………… ปัจเจกชนปฐมบทแห่งปัญหาสังคม โดย  แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า

  ปัจจุบันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการข่มขืน ปัญหาการทารุณกรรมเด็ก ปัญหาอาชญากรรมปล้น-ฆ่า ปัญหาวัยรุ่นกับการเสพยาเสพติด และการขายบริการ ฯลฯ  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่รอการแก้ไขทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงคนทุกคนในสังคมที่ต้องช่วยกันพยายามหาทางออก โดยมีส่วนร่วมในการแก้ไขไม่มากก็น้อย และบ่อยครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น เรามักจะตั้งคำถามเอากับตนเองอยู่เสมอว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มาจากไหน? เกิดขึ้นได้อย่างไร? และใครเป็นผู้ก่อ? ซึ่งคำถามต่างๆ ที่กล่าวมานี้เราอาจจะค้นพบคำตอบได้ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ ‘ปัจเจกชนครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’ เขียนโดยนักเขียนหญิงนาม “สิตางศุภา”

  ‘ปัจเจกชนครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นทั้งหมด ๙ เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนนำเสนอปัญหาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาวัยรุ่น ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นล้วนมาจาก “ปัจเจกชนธรรมดาๆ คนหนึ่ง” นั่นเอง

๑.เรื่อง ‘ปัจเจกชน’

  ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาการกระทำใดๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ล้วนแต่เป็นไปเพื่อตนเองทั้งนั้น แม้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเสียสละที่สุด เมื่อค้นลึกลงไปถึงแก่นแท้แล้ว ก็ยังคงหนีไม่พ้นการกระทำที่เป็นไปเพื่อตนเองอยู่ดี เช่นเดียวกับศิลปินที่รังสรรค์งานศิลปะ แม้จะหยิบข้ออ้างใดๆ มากล่าวอ้าง ก็ยังคงหนีไม่พ้นเป็นการกระทำเพื่อตนเองเช่นกัน และคำว่า ‘เพื่อตนเอง’ นี่เอง แก่แท้ที่เป็นหัวใจหลักและสำคัญที่สุดก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘ปัจจัยสี่’ และต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ก็ไม่ใช่วิสัยที่ผิดปกติธรรมดาของมนุษย์แต่อย่างใด เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะกระทำสิ่งใดๆ ก็ได้ที่ ‘เพื่อตนเอง’ โดยเท่าเทียมกัน ทว่าตัวแปรอันสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการแสวงหานั้นก็คือ ‘โอกาส’ และคำว่า ‘โอกาส’ นี่เอง ที่ทำให้คนเราไม่เท่าเทียมกัน (เพราะโอกาสไม่ได้มีเหมือนกันทุกคน) จึงก่อให้เกิดการเลื่อมล่ำกันขึ้นกับผู้คนในสังคม และแน่นอนพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งยังมีความต้องการปัจจัยสี่ (เพื่อตนเอง) อยู่มาก แต่โอกาสกลับมีไม่เท่าเทียมกัน มนุษย์จึงต่างดิ้นรนแสวงหาโอกาสให้กับตนเอง และขั้นตอนการแสวงหานี่เอง จึงเป็นจุดกำเนิดของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

  ทว่าการแสวงหาโอกาสของมนุษย์นั้น ก็มีวิถีทางที่แตกต่างกันออกไป ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัย สภาพแวดล้อม ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคล เช่นเรื่องสั้นเรื่อง ‘ปัจเจกชน’ ผู้เขียนได้สะท้อนความต้องการของมนุษย์ ผ่านตัวละครของเด็กทั้งสอง และในขณะเดียวกัน ผู้เขียนยังได้อาศัยเด็กทั้งสองเป็นกระจกสะท้อนกลับให้เห็นพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใหญ่อีกด้วย

  เรื่อง ‘ปัจเจกชน’ เริ่มต้นที่พีรมานหญิงสาวออกจากงานแล้วไปอยู่กับครอบครัวของพี่ชายที่ต่างจังหวัด ซึ่งครอบครัวของพี่ชายประกอบด้วย พี่ชาย พี่สะใภ้ และลูกชายอีกสองคน ในขณะที่อยู่นั้นพีรมานก็อยู่ไปวันๆ โดย “...รู้สึกเคว้งคว้างราวผึ้งงานตัวน้อยร่วงหล่นจากรังเพราะไฟแห่งความเปลี่ยนแปลง” (หน้า ๑๓) และในขณะที่เธอยังคงรู้สึกเช่นนั้น สิ่งเดียวที่เธอทำได้ก็คือ ช่วยพี่ชายและพี่สะใภ้เลี้ยงลูกชายทั้งสอง และจากการที่เธอเลี้ยงเด็กทั้งสองทำให้เธอได้เห็นพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมา สุดท้ายเธอก็รับรู้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่ “...ผูกจิตครุ่นคิดของตนไว้กับความกังขามาเนิ่นนาน...” (หน้า ๓๓) จนเธอกลับไปเป็นคนที่ “...ไม่มีคนประเภทใดที่ต้องขยาดหวาดกลัวอีกต่อไป ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือความเลวร้ายใดทำให้ความเป็นตัวของตัวเองที่แสนอิสระต้องสั่นคลอน ไขว้เขวและกังขาได้ เพราะประจักษ์เห็นบางสิ่งบางอย่างซึ่งเปิดทางสู่ความกล้าแข็งภายในใจ...” (หน้า ๓๓)

  เรื่องนี้ผู้เขียนวิเคราะห์ตัวละครของเด็กทั้งสองออกมาในแนวจิตวิทยา (Psychological) โดยผ่านมุมมองของพีรมานตัวเอกของเรื่อง อีกทั้งผู้เขียนเองยังได้อาศัยการวิเคราะห์นั้นสะท้อนกลับไปยังตัวละครอีกตัวหนึ่งด้วย ซึ่งตัวละครตัวนี้คือเจ้าของค่ายเทปที่พีรมานเคยทำงานอยู่ด้วย บทบาทของตัวละครตัวนี้ (เจ้าของค่ายเทป) ผู้เขียนเขียนแทรกเข้าสู่ความคิดของพีรมานเป็นระยะๆ สลับกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งของตัวละครที่เป็นเด็กทั้งสองกระทำในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่น้องก้อง (หลานชายคนเล็กของพีรมาน) หยิบของเล่นออกมาเล่นโชว์เมื่อตอนที่พี- รมานนั่งคุยกับพี่สะใภ้ ผู้เขียนบรรยายพฤติกรรมพร้อมกับวิเคราะห์ว่า

  “...ดวงตากลมๆ ของน้อยจับจ้องอยู่ที่ปฏิกิริยาของผู้มาเยือนอยู่ตลอดเวลา เขาคงคิดว่าการที่ของเล่นชิ้นหนึ่งสามารถหมุนใบพัดได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่าทึ่งเสียเต็มประดา และการเป็นเจ้าของมันก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจโดยเฉพาะถ้ามีใครแสดงอาการอยากได้ เขาจะรู้สึกว่าสิ่งนั้นมีค่าอย่างยิ่ง และการได้ครอบครองมันก็ทำให้ตนกลายเป็นคนสำคัญ” (หน้า ๑๕)

  ซึ่งผู้เขียนก็ได้ยืมพฤติกรรมของเด็กมาสะท้อนพฤติกรรมของเจ้าของค่ายเทปในเรื่อง

  “...คุณคิดว่ารถคันใหม่ของผมเข้าท่าไหม ยี่ห้อ...ประกอบทั้งคันเชียวนะ วันก่อนผมขับไปแถว...สาวๆ กรี๊ดกันยกใหญ่ พวกเด็กหนุ่มๆ ก็มาลูบๆ คลำๆ อย่างอยากได้อยากมี ผมรู้สึกยืดเป็นบ้าเลยว่ะ...” (หน้า ๑๖)

  ตลอดเรื่อง ‘ปัจเจกชน’ นั้นผู้เขียนได้ใช้เทคนิคการเขียนแบบตัดสลับเช่นนี้ไปตลอดจนจบเรื่อง และเมื่ออ่านจบทำให้ครุ่นคิดถึง ‘นัยยะ’ บางอย่างที่ผู้เขียนต้องการจะบอกกล่าวกับผู้อ่านผ่านพฤติกรรมของตัวละคร ซึ่ง ‘นัยยะ’ ที่แฝงไว้ในเนื้อเรื่องจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “พฤติกรรมต่างๆ ในตัวของผู้ใหญ่ไม่ว่าจะด้านดีหรือร้ายย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก” นั่นเอง

  ไม่เพียงแต่นัยยะดังกล่าวที่ผู้เขียนต้องการจะบอกกล่าวให้ผู้อ่านได้รับรู้ในข้างต้นเท่านั้น ผู้เขียนยังได้อาศัยตัวละครเอก (พีรมาน) โต้ตอบกับคำถามที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า “อิสระชน คนทำงานศิลปะ หรือศิลปินนั้น ควรหรือไม่ที่จะคำนึกถึงผลประโยชน์ของตนเอง” ว่า

  ”...ผมไม่ได้มีปัญหา พวกมันต่างหากที่อวดเบ่ง สร้างภาพกับสาธารณชนให้ผิดเพี้ยนจากความจริง พยายามบอกใครต่อใครว่าเป็นปัจเจกชน นิยมศิลปะ รักอิสระทั้งที่เวลาผลิตงานก็คำนึงถึงยอดขายก่อนอย่างอื่น เวลาหาเมียก็ต้องดูฐานะและนามสกุลก่อนหน้าตาและคุณสมบัติอื่น คุณคิดว่ามันมีคุณสมบัติของปัจเจกชนตรงไหน – ตรงที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองไงคะ เพราะเมื่อแปลตามศัพท์แล้ว อินดิวิดวลลิสม์หมายถึงลัทธิเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งลัทธิทุนนิยมแพร่หลายเรื่อยมานั้น ปัจเจกชนก็คือนายทุนย่อยๆ ที่เป็นอิสระจากรัฐหรือองค์กรของนายทุนใหญ่ อันนี้พีอ่านจากหนังสือจิตวิทยาสังคมนะคะ...” (หน้า ๓๐ เน้นโดยผู้เขียน)

  และไม่เพียงแค่สองประเด็นที่กล่าวมาแล้วเท่านั้นที่ผู้เขียนต้องการสื่อออกมา ผู้เขียนยังได้อาศัยเหตุการณ์ของตัวละครกล่าวเตือนไปยังศิลปินในทำนองว่า “อย่าได้ลุ่มหลงอยู่กับถ้อยคำสรรเสริญต่างๆ เพราะมันอาจจะเป็นการชื่นชมที่ออกมาโดยปราศจากเหตุผลและการเข้าใจอย่างแท้จริง” ดังที่สะท้อนออกมาโดยอาศัยพฤติกรรมของเด็กละเลงสีในตอนที่

  …ภาพของน้องก้องทำให้ผู้เป็นแม่หัวเราะ ตัวของเขาเปรอะเปื้อนสีอยู่บนพื้นเขรอะขระไปด้วยสีโปสเตอร์ซึ่งหกเรี่ยราดเลอะเทอะ กระดาษขาวเปื้อนสีหลายแผ่นกราจัดกระจายเต็มบ้าน

  “งานศิลปะอันยิ่งใหญ่ของศิลปินน้อย”  พี่สะใภ้ประกาศอย่างภาคภูมิใจ    เด็กชายตาลุก วาวอย่างภาคภูมิ “น้องพีดูการใช้สีและการวางคอมโพสิคะ คนโตๆ ยังทำไม่ได้เลย”

  หญิงสาวมองภาพต่างๆ เหล่านั้น และสิ่งที่พี่สะใภ้พูดนั้นมีส่วนจริง เมื่อคิดว่าเป็นผลงานของเด็กวัยสามขวบเศษก็ยิ่งรู้สึกทึ่ง แม้ว่ารอยสีบนกระดาษนั้นจะเห็นชัดว่าเกิดจากฝ่ามือและฝ่าเท้าน้อยๆ (หน้า ๒๑)

  กับนักแต่งเพลง

  ...ผมจะให้ชื่องานเพลงนิวเอจชุดนี้ว่าอะไรดี Spirit of Freedom หรือ Spirit of Individual    คุณฟังดูแล้วรู้สึกเบาล่องลอยมั้ย คุณรู้มั้ยว่าผมใช้เวลาทำงานนี้นานแค่ไหน แค่เดือนเดียวเอง จับซาวนด์นั่นมาปนกับซาวนด์นี่ นักวิจารณ์ต้องชมว่าผมเป็นอัจฉริยะแน่ๆ... (หน้า ๒๑)

  ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ดีๆ แล้วผู้เขียนยังส่งสารผ่านตัวละครไปยังนักวิจารณ์พร้อมกันด้วยในทำนองว่า “บางครั้งผลงานของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ต่างๆ ที่วิจารณ์และชื่นชมนักหนาอาจไม่ใช่อะไรนอกจากความบังเอิญที่จับเอาองค์ประกอบต่างๆ มาร่วมกันอย่างไม่ได้ตั้งใจ หรือมั่วๆ จนเกิดความพอดีประกอบกับถ้อยคำชื่นชมที่เกินจริง” นั่นเอง

  เรื่อง ‘ปัจเจกชน’ เป็นเรื่องสั้นที่โดดเด่นในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของตัวละครโดยผ่านหลักจิตวิเคราะห์ได้อย่างน่าอ่าน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมว่า “แท้จริงแล้วปัญหาสังคมนั้นก็คือ ปัญหาของปัจเจกชนแต่ละคนที่หลอมรวมกันจนกลายเป็นปัญหาสังคมใหญ่”

  และที่โดดเด่นที่ไม่อาจจะละเลยได้ก็คือ การที่ผู้เขียนอาศัยการบรรยายความคิดของตัวละครสร้าง ‘นัยประหวัด’ (Connotation) เช่นตอนที่เด็กทั้งสองแย่งรถจักยานกัน ผู้เขียนก็ให้พี-รมานคิดว่า

  “กะอีแค่แร่ธาตุใต้ดินที่แต่งหลอมให้เป็นรูปร่างจนมีคนให้คุณค่า ทั้งที่พ้นจากนาทีนี้ มันก็เอียงล้มตากแดดตากฝนอย่างไร้คุณค่า ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตยิ่งใหญ่กว่า ฉะนั้นเศษเหล็กเหล่านี้ไม่ควรกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พี่น้องต้องขัดใจกัน” (หน้า ๒๙)

  และเมื่อนำไปโยงกับเหตุการณ์ของเจ้าของค่ายเทป ที่กำลังมีปัญหากับศิลปินในสังกัดซึ่งออกไปเปิดบริษัทเทปแข่ง ก็ทำให้ทราบถึงนัยประหวัดที่ผู้เขียนต้องการสื่อนั้นก็คือ ‘เงิน-ทอง’ นั่นเอง

๒.เรื่อง ‘ครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’

  มีประโยคหนึ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอว่า “เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน” ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นประโยคที่ชี้ให้เห็นถึงความจริงมากที่สุด อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘สัจธรรม’ เลยก็ว่าได้ และประโยคนี้จึงเป็นข้อสรุปทั้งหมดของเรื่อง ‘ครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’ ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนเองต่อแง่มุมของคำว่า อุดมการณ์ อุดมคติ และความรัก

  อุดมการณ์กับความรัก

  เรื่องนี้ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนในแง่อารมณ์ความรัก-ใคร่ที่อยู่เหนืออุดมการณ์ โดยครั้งแรกนั้นผู้เขียนให้ตัวละครเผชิญอยู่ในเหตุการณ์ของเดือนตุลาฯ ที่เต็มไปด้วย “...อารมณ์รุนแรง ครั้งมีการกวาดล้างจับและฆ่า เลือดและน้ำตาของคลื่นหนุ่มสาวทำให้เธอเสียขวัญ ร้องไห้ฟูมฟายอย่างบ้าคลั่ง” (หน้า ๓๗) ก่อนจะไปจบที่ “...เขาตะกองร่างอวบอัดเปล่งปลั่งสั่นเทาไว้ในอ้อมแขน เหมือนคู่พระนางในหนังรักกลางเปลวไฟสงคราม จากนั้นก็ชวนเธอหลุดจากบรรยากาศและข่าวสารอันข่มขื่นมายังทะเล ให้อายเกลือจากน้ำเค็มพร้อมลมเย็นกลางฟ้ากว้างช่วยปัดเป่า เรียกขวัญด้วยกันกับความเป็นชายของเขา” (หน้า ๓๘) ซึ่งตรงนี้ที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงความต้องการดังกล่าว (อารมณ์ใคร่ที่อยู่เหนืออุดมการณ์) และยิ่งแน่ใจขึ้นไปอีกเมื่อผู้เขียนย้ำความคิดเดิมที่

  “หญิงสาวตอบตนเองไม่ได้ ทำไมถอนใจจากเขายากนัก ยากกว่าทำใจรับทรราชย์ขึ้นครองประเทศเสียอีก ยากอย่างที่ไม่คิดว่าจะมีอะไรยากขนาดนี้...” (หน้า ๓๘)

  และเมื่อความต้องการในความรัก-ใคร่สุกงอมมากพอ ผู้เขียนจึงได้ให้ตัวละครสะท้อนภาวะปรกติวิสัยของมนุษย์ออกมาตามความเป็นจริงคือ

  …เธอตัดสินใจว่าจะยอมตาย

  หันหลังให้กับอนาคต ผองเพื่อน ประชาชน ประเทศชาติ ปิดหูปิดตาจากข่าวสารข้อมูลการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ ดำดิ่งจ่อมจมอยู่กับสิ่งทีเธอกับเขาเรียกมันว่า...ความรัก
        (หน้า ๓๙)

  ทว่าเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ผู้เขียนก็ให้ตัวละครกลับไปบรรยายข้อสรุปกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า    “ถ้าวันนั้นละก็ ไม่ใช่ความสุข เพราะนั่นไม่ใช่ความรักที่แท้จริงในความหมายของทุกเพศทุกวัย” (หน้า ๓๙)

  และที่ผู้เขียนเขียนออกมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อะไรเลย นอกจากเป็นบทสรุปของประโยคที่ว่า ‘ความรักทำให้คนตาบอด’ นั้นก็เพราะตัวละครก็ได้สารภาพออกมาตรงๆ ว่า

  “มันเป็นช่วงที่ยืนอยู่ระหว่าสองขั้วต่าง สุขและทุกข์เอียงไปทางโน้นทีทางนี้ที” (หน้า ๓๙)

  และก็ด้วยประโยคนี้ เมื่อมองจากเค้าโครงของเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวพันกับอุดมการณ์ และเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว จึงทำให้คิดถึงนัยประหวัดไปถึงความสับสนของหนุ่มสาวในยุคนั้น (บางคน) ที่ยืนอยู่ท่ามกลางของลัทธิทางการเมือง ๒ ลัทธินั้นก็คือ ‘ลัทธิสังคมนิยม’ กับ ‘ลัทธิทุนนิยม’ โดยผู้เขียนได้ให้ตัวละครอธิบายความคิดออกมาว่า

  “...และผมก็เห็นแก่ตัวเหลือเกินเพราะจะทิ้งฝ่ายไหนก็กลัวตัวเองเจ็บ โดยเฉพาะกลัวคำครหาดูเอาเถอะ แค่ครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องความรัก จดจ่อกับเรื่องของเราก็ถูกมองว่าเอียงขวา หลงใหล หมกมุ่นกับความคิด ความรู้สึกแบบเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมศักดินา ซึ่งพวกเขาเอามาเผา ตอนนั้นผมเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง พวกมันด่าว่าผมทรยศเพื่อนร่วมรุ่น...” (หน้า ๓๙-๔๐)

  ซึ่งผู้เขียนก็ปลอบโยนความคิดเหล่านั้นว่า

  “...แต่นั่นก็ทำให้ผมเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ได้อีกเยอะ” (หน้า ๔๐)

  และ

  “...ถ้าเพื่อนฝูง สังคมนิยมยกย่องบางคนที่หนีการจับกุมเข้าป่า เขาจะเป็นกระบอกเสียงแทนรัฐบาล ยืนยันว่าหมอนั่นมิใช่วีรบุรุษตัวจริง โน้มน้าวคนฟังให้เชื่อว่าไม่มีใครทำเพื่อใครอย่างบริสุทธิ์ใจหรอก คุณรู้หรือไม่ว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อทำเลวต่างหากเล่า” (หน้า ๔๐)
  ความรักกับโลกแห่งความเป็นจริง

  ในเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่ผู้เขียนได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์กับความรักผ่านตัวละครดังที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น ผู้เขียนยังได้สอดแทรกและเผยให้เห็น ความรักท่ามกลางโลกแห่งความเป็นจริงอีกด้วยว่า แท้จริงแล้วมันไม่ได้สวยงาม หวานหอมเสมอไป ดั่งเช่นตอนที่ชายหนุ่มถูกจับแต่งงานกับผู้หญิงคนอื่นทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน ก่อนที่จะมาเจอ ’เธอ’ (หญิงสาวคนแรกของเขา) และสุดท้ายเขาก็ทำลายกำแพงที่ขวางกั้นอยู่โดย “เขาตามเธอไป ตัดสินใจตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะจบกับภรรยาตามกฎหมาย...” (หน้า ๓๙)

  ทว่าขึ้นชื่อว่ามนุษย์ก็ย่อมจะมีความอ่อนไหว และอ่อนแอกับความต้องการของตนเองอยู่เสมอ แล้วมันจึงเป็นเหตุให้ชายหนุ่ม กลับไปมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ถูกจับแต่งด้วยจนท้อง และนี่จึงเป็นสาเหตุให้หญิงสาวต้องดำดิ่งอยู่กับความทุกข์ทรมานนานถึงเจ็ดปี แต่กระนั้นหญิงสาวก็ยังเลือกที่จะอยู่กับเขาโดยให้เหตุผลว่า

  ถ้ารักลูก รักแม่ของตนก็จงอย่าทำร้ายพวกเขาอีก ลูกชายคนโตเริ่มติดพ่อ ลูกสาวคนเล็กกำลังเรียกพ่อได้ เด็กวัยนี้อาจไม่รับรู้อะไรนักหากขาดพ่อ แต่ทำไมคนที่ทำถูก ต้องแบกรับภาระทั้งหมดไว้ตามละพังด้วยเล่า…” (หน้า ๔๔)

  ซึ่งโดยลึกๆ ในใจเธอก็ยังมีความรู้สึกผิดที่ “...มีต่อตัวเองซึ่งกระทำให้ผู้หญิงและเด็กคู่หนึ่งต้องรับทุกข์...” (หน้า ๔๕) และเธอก็เก็บความรู้สึกเล่านั้นไว้เพื่อรอเวลาว่า “สักวันหนึ่งเมื่อลูกปีกกล้าขาแข็ง เติบโตจนมีชีวิตของพวกเขาเอง เธอจะไถ่บาป และจะไม่ยอมทนอยู่กับผู้ชายคนนี้” (หน้า ๔๕)

  สุดท้ายเมื่อชีวิตได้ดำเนินมาถึงจุดหมายปลายทาง เรื่องราวในอดีตที่เจ็บช้ำก็ได้รับการปลดปล่อยไปอย่างเข้าใจโดยสรุปว่า

  “เรื่องที่มันแล้วก็ให้มันแล้วไปเถอะ” เธอพูด “คิดเสียว่ามันไม่เกิดขึ้น เพราะเรากำลังอยู่ที่เดิม จุดเดิมที่เรารู้สึกรักใคร่เสน่หากัน และนับจากวันนี้ เวลาจะหยุดอยู่ตรงนี้ ในแบบที่เราปรารถนา เพราะมันจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะกลับมาสู่จุดเริ่มต้น” (หน้า ๕๑)

  ภาพสุดท้ายของเรื่องคือทั้งคู่ (ในวัยหกสิบ) เดินลงสู่ทะเลและ “...ว่ายออกไปให้ไกลที่สุด...จนสุดท้ายของลมหายใจเฮือกสุดท้าย” (หน้า ๕๒) ซึ่งนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการกระโจนลงสู่ห้วงมหาสมุทรแห่งความรัก-ใคร่อีกครั้งตามวิถีสามัญแห่งปัจเจก ก่อนชีวิตดับสูญ

  เรื่องนี้ผู้เขียนเขียนได้อย่างลงตัว เผยให้เห็นความคิด ความรู้สึกของปัจเจกชนออกมาได้อย่างหมดเปลือก อีกทั้งยังฉายให้เห็นความนึกคิดของนักอุดมการณ์ที่ได้เปลี่ยนความคิดไปพร้อมกับกาลเวลาว่า

  “...สังคมกำลังหักเห ลมกำลังเปลี่ยนทิศ อุดมการณ์กลายเป็นทฤษฎีตบตา มูลค่าการซื้อขายในประเทศถีบตัวสูงขึ้นแบบที่คนสติดีไม่เคยนึกฝัน ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอากำลังเฟืองฟูล้นประสิทธิภาพ ในฐานะผู้อยู่ในเกม เขาควรรีบโกยเหมือนเด็กแย่งทานในงานบุญ” (หน้า ๔๗)

  นี่กระมั่งที่เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “นักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์หายไปในจากสังคม”

๓.เรื่อง ‘แม่จักรกล’

  เทคโนโลยีต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้น ล้วนแต่เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่และอำนวยความสะดวกสบายแก่มวลมนุษยชาติแทบทั้งสิ้น และเกือบทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็มีทั้งด้านดีและด้านร้ายด้วยกันทั้งนั้น เทคโนโลยีก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากกฎข้อนี้ไปได้ โดยเฉพาะสังคมยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งดังกล่าวมากเป็นพิเศษ แทบจะเรียกได้ว่าตลอดเวลา (หรือตลอดชีวิต) ในชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้นล้วนแต่เกี่ยวพันกับสิ่งที่เราเรียกว่า ‘เทคโนโลยี’ อยู่ตลอด ฉะนั้นไม่สงสัยเลยว่าทำไมปัญหาสังคม โดยเฉพาะสังคมวัยรุ่นนั้นจึงเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปัญหาอาชญากรรม ขมขืน ฯลฯ เพราะปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘เทคโนโลยี’ แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ วีดีโอเกม ซึ่งทั้งหมดก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมยุคใหม่แทบจะเรียกได้ว่าอย่าง ‘สมบูรณ์’ และโดยที่เราไม่รู้ตัวมันก็เข้ามาครอบงำความคิด ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างกลมกลืน

  ‘แม่จักรกล’ เรื่องสั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้เป็นอย่างดี ตัวละครผู้เป็นแม่และพ่อซึ่งมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับที่ทำงาน ปล่อยให้ลูก (ผู้หญิง) อยู่กับพี่เลี้ยงที่เอาแต่ “…คุยโทรศัพท์กับเพื่อนหรือแฟนอย่างออกรสชาติ…” (หน้า ๕๖) ฉะนั้นเมื่อเด็กอยู่ตามลำพังกับพี่เลี้ยงจึง “...ถูกตะคอก ตวาด ผลัก ดันอย่างหงุดหงิดรำคาญ บางครั้งก็ถูกจับกระแทกหรือตีเพราะเสียอารมณ์” (หน้า ๕๖) ซึ่งพ่อ-แม่ของเด็กก็ไม่รู้เรื่องนี้ เพราะพี่เลี้ยงมักจะอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุ

  แต่เมื่อแม่ของเด็กมีเวลาเลี้ยงลูกก็เลี้ยงแบบโลกตะวันตกที่ “ได้ยินมาว่าแม่ทางซีกโลกตะวันตกไม่ตีลูก ให้อิสระแก่ลูกที่จะทำสิ่งต่างๆ...” (หน้า ๕๗) โดยไม่เข้าใจบริบททางสังคมอย่างแท้จริง จึงทำให้เด็กกลายเป็นคน “...ไม่เคยไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ ไม่เคยไม่มีในสิ่งที่เพื่อนมี แค่เพียงเอ่ยปากออดอ้อนหรือออกแรงร้องไห้กระทืบเท้า ไม่ยอมกินข้าวบางมื้อ พ่อแม่ก็ต้องหามาประเคน พร้อมทั้งปลอบกันเองว่า – ลูกยังเล็กนัก” (หน้า ๕๘)

  ทว่าเมื่อเด็กโตเป็นสาวก็ยังเลี้ยงลูกแบบตามใจและเอาใจจนเกินขอบเขตถึงขนาดว่า

  “เรื่องช่วยแบ่งเบาภาระไม่ต้องพูดถึง อย่าว่าแต่ล้างจาน กวาดบ้านถูกบ้าน (ซึ่งต่อมาเป็นงานของลูกจ้างทำงานบ้านไปโดยปริยาย) แค่จับมีดปลอกผลไม้กินเองก็ยังขัดเขิน ครั้งหนึ่งเราส่งเพื่อนล่องหนไปผลักมือขณะหล่อนถือมืดให้คมมีดบาดนิ้วจนเลือดไหล หล่อนร้องไห้เหมือนใกล้ตาย พ่อแม่ตระหนกตกตื่น วิ่งปฐมพยาบาลกันจ้าละหวั่น แล้วห้ามไม่ให้หล่อนแตะมีดอีก”
(หน้า ๕๙-๖๐)

  ฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่ของเด็กสาวหลังกลับจากโรงเรียนจึงอยู่ที่

  “ทุกวันหลังกลับจากโรงเรียน หล่อนจะจดจ่ออยู่แต่หน้าจอเกมคอมพิวเตอร์ จับจ้องโทรทัศน์ เฮฮากับรายการเกมโชว์ มีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครโทรทัศน์ดาษดื่น อยากมีอยากได้ตามคำชักจูงของโฆษณาสารพัน” (หน้า ๖๐)

  และด้วยการเลี้ยงเช่นนี้เองส่งผลให้เด็กสาวมีพฤติกรรมที่เอาแต่ใจ สร้างเงื่อนไขและสร้างสถานการณ์ต่างๆ มาต่อรองเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการเช่น เมื่อพ่อขีดเส้นตายห้ามคบกับชายหนุ่ม เพราะว่ายังไม่ถึงเวลา เด็กสาวถึงขนาดยอมลงทุนโดย

  “...หล่อนลงทุนกลืนน้ำยาล้างห้องน้ำ (แอบผสมน้ำเจือจาง) เข้าท้องคืนนั้น พ่อจึงลดบทบาทตนกลับสู่ที่เดิม” (หน้า๖๒)

  และตั้งแต่นั้นมา เด็กสาวจึงได้คบกับชายหนุ่มอย่างสมใจจนเกิดพลาดท้องและแอบขโมยเงินของแม่ไปทำแท้ง สุดท้ายชายหนุ่มก็ตีจากไปมีคนใหม่ เด็กสาวรู้ (จากปากของแม่) ความที่ไม่เคยมีใครขัดใจและเป็นคนที่ไม่เคยเสียสละให้ใครฟรีๆ จึงทำให้เด็กสาวก่อปัญหาอาชญากรรมขึ้นโดยยิงเด็กหนุ่มตายและยิงตัวเองตาม (แต่เด็กสาวไม่ตาย)

  เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงดูของพ่อ-แม่ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แม้ประเด็นปัญหาจะยังไม่มีแง่มุมที่ใหม่นัก ทว่าสิ่งที่ผู้เขียนทำได้ดีคือการเขียนที่มุ่งเน้นไปที่การบรรยายต้นเหตุและผลของพฤติกรรมของตัวละครที่สะท้อนออกมาจากการเลี้ยงดู อย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ

๔.เรื่อง ‘ความผิด’

  คำสอนที่สืบทอดต่อๆ กันมาหลายชั่วอายุคน เรามักพบว่าล้วนแต่เป็นคำสอนที่ดี โดยเฉพาะถ้าผู้ใดได้ปฏิบัติตาม ทว่าสังคมและยุคสมัยเปลี่ยนไปอยู่เสมอ คำสอนจากคนยุคหนึ่ง อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่ตัวผู้ปฏิบัติในอีกยุคอีกสมัยหนึ่งก็ได้ เช่นเรื่องสั้นเรื่อง ‘ความผิด’

  ‘ความผิด’ เป็นเรื่องของหญิงคนหนึ่งซึ่งต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิดในจิตใจที่ฝังลึกจากการตายของแม่ โดยเธอถูกน้องสาวกล่าวหา (ลับหลัง) ว่าแม่ตายเพราะเธอไม่ยอมพาแม่ไปฉีดยาหลังจากที่แม่ถูกตะปูขึ้นสนิมแทงที่ใต้ฝ่าเท้า เป็นผลทำให้แม่ของเธอเป็นโรคบาดทะยักจนต้องตัดขาทิ้งและตายไปในที่สุด อันที่จริงเรื่องนี้ (การตายของแม่) จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเธอหรือน้องพาแม่ไปรักษาเสียตั้งแต่ต้น แต่ด้วยความที่เธอมีภาระการงานมากมายจึง “…ฉันจำต้องปัดภาระให้น้อง...” (หน้า ๗๒) แต่น้องสาวของเธอเองกลับคิดว่า “...ในเมื่อแม่ไม่เอ่ยปาก หล่อนจึงมั่นใจว่าฉันพาท่านไปฉีดยาแล้ว” (หน้า ๗๒) ซึ่งผู้เขียนชี้ให้เห็นถึง สังคมครอบครัวที่ถูกถ่างกว้างออกจากกันด้วยภาระหน้าที่การงาน ถึงแม้จะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่เวลาส่วนใหญ่กลับหมดไปกับการเดินทางไปทำงาน (โรงเรียน-มหาวิทยาลัย) บ้านจึงเป็นเพียงแค่ที่ซุกหัวนอนเพื่อเป็นเกาะป้องกันการถูกตราหน้าว่า ‘คนจรจัด’ เท่านั้น

  การถูกน้องสาวกล่าวหาลับหลังให้บรรดาญาติๆ ว่าเธอมีส่วนทำให้แม่ต้องตายนั้นฝังลึกเข้าไปในจิตใจของเธอ ผนวกกับเธอตกงานอย่างกะทันหันทำให้เธอเกิดอาการเครียด เป็นผลให้เธอคิดมากจนเกิดอาการทางจิตที่ตอกย้ำอยู่กับความผิดอย่างซ้ำซาก ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเธอปฏิเสธและตามแก้ข้อกล่าวหาในประเด็นเรื่องการตายของแม่ก็คงไม่มีอะไรเลวร้ายนัก ทว่าผู้เขียนได้สร้างตัวละครให้เกิดปมทางจิตกับคำสอนของแม่เมื่อครั้งหนึ่งในวัยเด็กของเธอ และปมนั้นก็คือ

  “...แม่ลงโทษฉันด้วยไม้เรียวตอนอายุ ๘ ขวบ เพราะต่อยเด็กชายร่วมห้องเรียนปากแตก ด้วยเหตุที่เขาบอกว่าเด็กผู้หญิงโง่งี่เง่า และภาพสมัยมัธยมซึ่งฉันมักเข้าห้องเรียนวิขาจริยธรรมสาย โยนร้องเท้าเสียงดังโครมบนที่เก็บหลังห้องให้ทุกคนได้ยินทุกครั้งโดยเฉพาะครูผู้ชายผู้สอน มานั่งขีดเขียนเล่นอย่างต่อต้านแทนการตั้งใจฟังเขา เพราะคาบแรกของเขาไม่พอใจความซุกซนของฉัน จึงกล่าวหาว่าฉันหลงความสวยของตัวเอง มาเรียนเพื่อหาผัวรวยๆ อีกระดับหนึ่ง ครั้งเล่าให้แม่ฟังอย่างผู้ชนะเมื่อฉันสามารถทำคะแนนสูงสุดในระดับชั้นได้ แม่โกรธมาก ตีฉันนับทีไม่ถ้วน ราวกับกำลังฆ่าแมลงศัตรูพืช หรือหน่อพันธุ์อันผิดเพี้ยนเพื่อให้ลูกสาวคนโตได้เติบใหญ่เป็นส้มชั้นดีอย่างที่แม่เป็น (หน้า ๗๕-๗๖)

  ซึ่งสาเหตุที่แม่ทำโทษเธอก็เพราะ

  “คิดแต่เอาชนะคะคานกันแบบนี้ ชีวิตจะมีความสุขไปได้อย่างไร” แม่พูดหลังวางไม้เรียว (หน้า ๗๖)

  และแม่ก็หยิบยืนคำสอนที่สืบทอดต่อๆ กันมาว่า

  “เราต้องให้อภัยคนแบบนี้” แม่ลูบหัวฉันอย่างปลอบโยน “และหลีกเลี่ยงการปะทะกับเขาทุกรูปแบบ เพราะเขาคิดได้แค่นี้ ทั้งที่อายุอานามขนาดนั้นแล้ว ไม่ว่าหนูพิสูจน์ให้เห็นความจริงอื่นใด เขาไม่มีทางเข้าใจได้มากกว่าเก่าหรอก หนูจะเปลืองสมอง เปลืองเวลาเปล่าๆ ปลี้ๆ”
  (หน้า ๗๖)

  นี่เองที่เป็นปมที่ทำให้เธอไม่ตอบโต้ ปฏิเสธ หรือโต้แย้งใดๆ กับคำกล่าวของน้อง แม้ว่าเธอจะพูดกับน้องสาวของเธอเมื่อครั้งหนึ่ง แต่กลับถูกย้อนกลับด้วยการทวงบุญคุณที่น้องสาวกับสามี ไม่ขายมรดกแล้วไปซื้อคอนโดอยู่กันเองเพราะกลัวเธอจะเหงา

  เรื่องนี้ผู้เขียนได้บรรยายถึงความขัดแย้งที่อยู่ภายในใจของตัวละครได้ดี สะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจของตัวละครที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของปมปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ซึ่งอิทธิพลของมันมีมากจนอยู่เหนือความรู้สึกของเธอ จนสุดท้ายมันก็ส่งผลให้เธอต้องตกอยู่ภายใต้ภาพหลอนต่างๆ นานาที่เธอสร้างขึ้น แล้วเธอก็ “ฉันกลายเป็นเหยื่อรายใหม่ของจิตแพทย์...” (หน้า ๗๑)

๕.เรื่อง ‘คน’

  เรื่องที่ว่าด้วยความรู้สึกแปลกแยกของตัวละคร ซึ่งผู้เขียนถ่ายทอดออกมาในแนวการเขียนแบบเหนือจริง (Surrealism) โดยให้ตัวละครเอกหญิงสาวตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตนเองอยู่ในกระเพาะอาหารของมนุษย์ ซึ่งกำลังย่อยอาหารที่ถูกกินเข้าไป ผู้เขียนได้เขียนถึงกระบวนการย่อยอย่างเป็นระบบก่อนที่อาหารเหล่านั้นจะกลายเป็นของเสีย (ส่วนเกินของร่างกาย) และถูกขับถ่ายออกไปในที่สุด หญิงสาวจึงต้องพยายามดิ้นรนไม่ให้ตนเองถูกย่อยเป็นของเสีย เพื่อถูกขับถ่ายออกไปอย่างไร้ค่า สุดท้ายเธอพยายามจนสำเร็จ “...เมื่อกำลังป่ายปีนเข้าสู่หลอดอาหาร ลมจากกระเพาะอาหารก็ผลักพัดร่างฉันให้ลื่นพรวดผ่านลำคอออกมาจากปาก…” (หน้า ๙๙)

  โดยแก่นของเรื่องแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ได้นำเสนอประเด็ดปัญหาอะไรใหม่นัก เสมือนเรื่องของคนที่รู้สึกแปลกแยกต่อผู้คนและสังคมรอบกายที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ทว่าเรื่องนี้จะต่างกับเรื่องที่กล่าวมาตรงที่ ตัวละครไม่ได้รู้สึกแปลกแยกกับระบบทุนนิยม โดยที่หญิงสาวให้เหตุผลว่า

  “ก็ฉันทำงานรับใช้ทุนนิยม ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อก้าวเข้ามาแล้วก็ต้องทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เต็มประสิทธิภาพ” ฉันบอก (หน้า๙๓)

  และ

  “ดวงตาของหล่อนจ้องมองราวกับเห็นฉันเป็นคนแปลกหน้า จริงอยู่ทุกคนต้องเรียนรู้ประโยคเหล่านี้จากวิชาหน้าที่พลเมืองในห้องเรียนชั้นประถม ไม่ว่าสังคมจะถูกครอบด้วยลัทธิใด พอใจหรือไม่ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องยึดมั่นคือ ศีลธรรมและหน้าที่” (หน้า ๙๓)

  แต่สิ่งที่ทำให้ตัวละครรู้สึกแปลกแยกก็คือ พฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ที่กระทำต่างหากที่ทำให้รู้สึกแปลกแยก ดังคำต่อว่าของเพื่อนร่วมงานว่า

  “...เพื่อนร่วมงานบางคนต่อว่าฉันจริงจังและเที่ยงตรงต่อกฎระเบียบของบริษัทเกินไป”                              (หน้า ๙๓)

  และเมื่อประเด็นของเรื่องอยู่ที่ความรู้สึกแปลกแยกดังกล่าวข้างต้น จึงพอทำให้เห็นภาพร่วมของสังคมยุคปัจจุบันได้ว่า ความรู้สึกแปลกแยกนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับระบบใดๆ ที่ครอบสังคมเราอยู่ หากอยู่ที่ความคิดและการกระทำของมนุษย์ต่อมนุษย์ต่างหากที่ทำให้คนเรามีความรู้สึกแปลกแยกต่อกัน ระบบดังกล่าวจึงเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดของตนเองเท่านั้น


๖.เรื่อง ‘คนขายตัว’

  เรื่องของหญิงสาวที่ขายอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น กล่องเสียง ไต นม จนสุดท้ายเธอกำลังจะขายหัวใจ

  เป็นเรื่องที่วิพากษ์ระบบทุนนิยมที่ “...จะเอื้อสิทธิและเสรีภาพในการค้า เพื่อความกินดีอยู่ดีของมวลมนุษย์ทุกหมู่เหล่าอย่างทั่วถึง...” (หน้า ๑๐๑) ได้อย่างค่อนข้างน่าอ่านเรื่องหนึ่ง ชี้ให้เห็นถึงอำนาจของเงินตราที่มีอยู่เหนือศักดิ์ศรีและจิตใจของมนุษย์ ดังคำที่เรามักได้ยินอยู่เสมอว่า ‘เงินคือพระเจ้า’

๗.เรื่อง ‘คนกลับตัว’

  เรื่องของชายหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเกือบทุกอย่าง ทั้งหน้าที่การงาน เงินทอง แต่กลับ “...รู้สึกเหงา โดดเดี่ยวและไร้ค่า ยิ่งทบทวนประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา ยิ่งรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นจุลินทรีย์ที่น่าจะเหยียบบี้แบนจมดิน” (หน้า ๑๑๑)

  ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้สร้างปมปัญหาที่ทำให้เกิดความรู้สึกดั่ง

Comment #1
Posted @December,06 2006 20.46 ip : 161...106

มาอ่านครับ  พี่แสงศรัทธา

ยินดีกับรางวัลนะครับ

ผมอ่านงานของพี่เมื่อนานแล้ว  คราวที่ไปรับค่าเรื่อง  พี่นิคม  ใจดี  ให้มา

บอกว่า  เล่มนี้ส่งประกวดด้วย  ผมก็รอลุ้นอยู่

คาดว่าปีหน้าคงได้คว้ารางวัลดีเด่นนะครับ

Comment #2
จรรยา
Posted @December,09 2006 19.41 ip : 203...154

ยอดเยี่ยมครับ

แสดงความคิดเห็น

« 8818
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ