บทความ
ปรากฏการณ์ที่มากกว่าพลิกโผ... "ซะการีย์ยา อมตยา" ซีไรต์ 2553
พลัน สิ้นเสียงประกาศที่ว่า " "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" " โดย " "ซะการีย์ยา อมตยา" " สามารถแทรกรวมบทกวีอีก 5 เล่ม จนกลายเป็นผู้คว้าชัยจากการตัดสินครั้งสุดท้ายของรางวัล "วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน" หรือ "ซีไรต์" ประจำปี 2553
เสียง ดังโครมก็ดังสนั่นทั่ววงวรรณกรรม เป็นเสียงทั้งจากการเก็งโผที่เจ้ากรมข่าวลือถึงกับคะมำหงาย ทั้งจากความเชื่อ และขนบเดิมๆ อย่าง "ฉันทลักษณ์" ซึ่งหยั่งรากมากว่า 700 ปีนับแต่สมัยอยุธยา จนเป็นส่วนสร้างวาทกรรมในปัจจุบันอย่าง "ฉันทลักษณ์คือมงกุฎแห่งกวีนิพนธ์" ก็ถูกพลิกคว่ำซะแทบไม่ทันตั้งตัว
เพราะ ที่ผ่านมาแม้ "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" จะได้รับการยอมรับถึงคุณค่าแห่งสารและศิลป์ แต่น้อยคนนักที่จะมั่นใจว่า "บทกวีไร้ฉันทลักษณ์" หรือ "FREE VERSE" เล่มนี้ ที่แม้จะมีในโลกตะวันตกมากว่า 300 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในสังคมเขียนอ่านของไทย จะสามารถฝ่าและแหวกกรอบความคิดข้างต้นได้
คำตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ จากกรรมการทั้ง 7 ท่าน คือ อดุลย์ จันทรศักดิ์, ประภัสสร เสวิกุล, ชมัยภร แสงกระจ่าง, รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ, รศ.สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์, ผศ.ดร.เสาวณิต วิงวอน และโกศล อนุสิม หลังจากอภิปรายอย่างละเอียดถึงสามเล่มสุดท้ายในเช้าวันตัดสินตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่ายโมง ก่อนลงคะแนนลับที่ยกให้เล่มนี้ทุกคะแนนจึงสร้างสิ่งที่ยิ่งกว่าพลิกโผให้ เกิดขึ้น
ในมุมของ "รศ.สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์" ที่มองว่าจุดเด่นของเล่มนี้คือ "วิธีคิด" ที่ตนประทับใจแทบทุกบท และถ้าใครได้อ่านก็อาจช่วยต่อยอดวิธีคิด โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ในสังคมที่ไร้การคิดวิเคราะห์ ป้อนอะไรก็เชื่ออย่างนั้น ให้เกิดกระบวนการทางความคิดและการตั้งคำถามขึ้น
แม้ว่าเรื่องของไร้ฉันทลักษณ์ จะสร้างความกังวลให้กรรมการบางท่านในช่วงก่อนหน้าก็ตาม
"กรรมการ บางท่านกังวลเหมือนกันว่ารุ่นใหม่จะไม่เขียนโคลง ฉัน กาพย์ กลอนแล้ว จะมีแต่ฟรีเวิร์ส แต่สุดท้ายก็คุยกันว่าสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ตรงนี้ เพราะถึงไม่มีหญิงสาวฯจะแหวกทั้งเนื้อหา สาระ การนำเสนอ แต่ก็แหวกอย่างมีคุณค่าและทรงพลัง เคยมีการกล่าวไว้ว่าการเขียนฟรีเวิร์สเหมือนเล่นเทนนิสโดยไม่มีเน็ต ไม่มีกฎกติกา ไม่ใช่เล่นได้ง่ายๆ เหมือนใครก็เขียนได้ แต่เขียนให้ดีไม่ได้ง่าย แล้วถ้าวางจังหวะไม่ดีก็เป็นร้อยแก้วได้ทันที"
และเจ้าตัวเชื่อว่า การตัดสินนี้ส่งผลถึงกำลังใจในการเขียนของคนรุ่นใหม่แน่ๆ ส่วนจะเขียนได้ดีหรือเปล่านั้น ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ขณะที่ รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ ก็กล่าวพร้อมรอยยิ้มว่า ตัวเองก็แทบจะไม่เชื่อเหมือนกัน หลังรู้ผลคะแนนลับ
และผลนี้อาจจะส่งผลสะเทือนถึงวงวรรณกรรม
"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ใช้ฉันทลักษณ์หรือไม่ แต่อยู่ที่ใช้ได้ดีหรือเปล่า
ฉันทลักษณ์ แปลว่าการวางรูปเสียงและจังหวะอย่างมีแบบแผน ร้อยกรองอิสระไม่ได้แปลว่าไม่มีฉันทลักษณ์ เพียงแต่ไม่เป็นแบบแผนตามขนบในสังคมนั้นๆ แต่ก็ทรงพลังได้ เป็นงานที่เขียนได้ยากมาก ต้องมีการจับจังหวะของเชิงความคิด ซึ่งต้องนำเสนอในเชิงจังหวะของคำด้วย
งานเล่มนี้คืองานเชิงปรัชญา เชิงความคิด และเมื่อเลือกที่จะเสนอในรูปแบบของร้อยกรองอิสระ ก็ทำให้เกิดความเหมาะเจาะที่เหมาะสม มีความละเมียดละเอียดอ่อน ในเชิงของการใช้ถ้อยคำ การวางคำ การตัดคำ เพื่อให้เกิดพลังกระตุ้นความคิดได้ ซึ่งกวีต้องใช้ความชำนาญอย่างมากให้ทุกอย่างสอดรับกัน เพราะไม่มีฉันทลักษณ์มากำหนด"
และสิ่งหนึ่งที่งดงามในเล่มนี้ คือความเป็นสากล
"ฉีก ทุกด้าน ทั้งรูปแบบและเนื้อหา งานไม่ผูกกับพื้นที่มีความเป็นสากลและสังคมปัจจุบัน อย่างเรื่องความรุนแรงก็ข้ามมิติพื้นที่ไปได้ ที่คะแนนเป็นเอกฉันท์เพราะทำให้เราอยากกลับไปอ่านอีก หรืออ่านกี่ครั้งกี่หนก็มีการตีความ ตั้งคำถาม กระตุ้นความคิดได้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่ปิดโอกาสหรือยัดเยียดความคิด ซึ่งแต่ละคนก็ตีความไม่เหมือนกัน ผ่านอารมณ์ที่ไม่หดหู่ และการอ้างของเขาในเรื่องที่บันดาลใจมา ก็ทำให้เราอยากรู้อยากหาอยากค้นคว้าด้วย เปิดโลกของความหลากหลายให้คนอ่าน" รศ.ดร.สรณัฐอธิบาย
ส่วนประธานกรรมการตัดสิน ""อดุลย์ จันทรศักดิ์"" ก็บอกยิ้มๆ ว่า "เราไม่ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ เขาสร้างของเขาเอง"
ก่อน ว่า เขาเข้าใจดีว่าการตัดสินครั้งนี้ คงทำให้หลายคนตกใจอยู่ เพราะเป็นครั้งแรกที่บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ได้ซีไรต์ แถมเมื่อดูรายชื่อคณะกรรมการตัดสิน ก็ยิ่งทำให้เรื่องที่ว่ายิ่งเป็นเรื่องยากจะคาดคิด โดยเฉพาะเมื่อกวีที่เขียนบทกวีฉันทลักษณ์มาตลอดชีวิตอย่างเขา เป็นประธานกรรมการ
""ทั้งชีวิตผมเขียนงานฉันทลักษณ์ ตอนผมเขียนเอง ผมเคร่งขนบ แต่เวลาผมอ่าน ผมหาคุณค่าของแต่ละเล่มได้
ผม พูดได้เต็มปากเลยว่าคุณค่าของบทกวีไม่ได้อยู่ที่ฉันทลักษณ์ ฉันทลักษณ์เป็นเพียงกระบวนท่า ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการเป็นกวี เพราะคุณค่าแท้จริงอยู่ที่พลังทางความคิด จังหวะของคำ การใช้ภาษา วรรณศิลป์ เนื้อหา และกลวิธีการนำเสนอ""
ซึ่ง "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" มีทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
"การ เขียนงานอย่างซะการีย์ยา จะเขียนให้ดีไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะว่าการเขียนฉันทลักษณ์เป็นเหมือนวงดนตรีที่มีกลองให้จังหวะ คุณร้องเพลงให้เข้าจังหวะก็เพราะแล้ว แต่งานไร้ฉันทลักษณ์ต้องให้จังหวะด้วยเสียงตัวเอง ถ้าร้องไม่เพราะก็ไปตั้งแต่ 2 ประโยคแรกแล้ว ต้องจับใจเอาคนอ่านให้อยู่ถึงจะรอด แล้วเล่มนี้มีทั้งพลังและเสน่ห์ในการนำเสนอสาร ปรัชญา ความคิด ทุกอย่างชัดเจน อ่านแล้วชวนขนลุก อย่างบท "จนกว่าพลทหารคนสุดท้ายจากแนวรบจะกลับมา" ผมให้ร้อยคะแนนเต็มแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเล่นกับกลวิธี"
และที่น่าขนลุกมากกว่าในความคิดของอดุลย์ คือยิ่งอ่านก็ยิ่งต่อยอดทางความคิด
ซึ่ง ในประเทศที่ยึดตราซีไรต์เป็นสิ่งสำคัญของการคัดเลือกหนังสือนอกเวลาให้เด็ก อ่านนั้น แม้ตอนพิจารณากันจะไม่ได้คิดถึงประเด็นดังกล่าว แต่ก็เป็นผลพวงที่นับว่าดีไม่น้อย
"บทกวีเล่มนี้จะสอนให้คิด ถ้าเด็กได้อ่านและคิด เด็กจะยืนอยู่และเดินต่อไปได้" และที่สำคัญคือ...
"วันนี้ถ้าเคยมีกำแพงในใจใคร เราก็ทลายกำแพงนั้นราบแล้ว"
**ที่มา หน้า 24 ,หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 11 ก.ย. 2553