บทความ
สุชาติ สวัสดิ์ศรี งานศิลปะครั้งที่ 4 และรอยฟกช้ำระหว่างการเดินทาง
สุชาติ สวัสดิ์ศรี งานศิลปะครั้งที่ 4 และรอยฟกช้ำระหว่างการเดินทาง
โดย ผู้จัดการรายวัน 6 ธันวาคม 2549 17:42 น.
เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ นักเขียนรางวัลโนเบลพูดถึงการทำงานเขียนไว้อย่างชวนฟังและชวนเหงาว่า 'งานเขียนเป็นงานที่โดดเดี่ยว'
แต่สำหรับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี พญาไม้แห่งวงการวรรณกรรมไทย ผู้ได้รับฉายาว่า 'บรรณาธิการเครางาม' กลับรู้สึกว่าไม่ใช่งานเขียนเท่านั้นที่โดดเดี่ยว แต่เขายังหมายรวมถึงงานศิลปะแขนงอื่นๆ
ชีวิตของคนที่ขลุกอยู่กับงานวรรณกรรมมาตลอด และมาเริ่มจับงานศิลปะเอาเมื่อวัยใกล้ 60 ปี อาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายเท่าไหร่กับการไปเริ่มต้นนับหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นดูเหมือนว่านั่นจะกลายเป็นผลดีสำหรับคนชื่อสุชาติ เพราะเขาบอกว่ามันทำให้เขาไม่ยึดติดกับกรอบใดๆ และย้ำเสมอว่าเขาก็แค่ระดับอนุบาล
เปรียบกับนักมวย ในมุมมองของคนทำงานศิลปะหลายคนอาจมองว่างานของสุชาติยังไม่เฉียบคม หมัดยังไม่หนักหน่วง ฟุตเวิร์กยังไม่ดี หรืออะไรก็ตามแต่ แต่หากกล่าวในแง่ของความสม่ำเสมอและการยืนระยะกันแล้วคงปฏิเสธได้ยากถึงพลังในการทำงานของเขา
4 ครั้งแล้วสำหรับงานแสดงศิลปะของเขา และทุกครั้งเขาก็ดูจะหาสิ่งแปลกใหม่มาท้าทายตัวเองได้เสมอ นับตั้งแต่งานแสดงศิลปะของเขาครั้งแรกเมื่อปี 2546 ในชื่อ 'สุชาติโทเปีย' (SUCH-ARTOPIA) และปีต่อๆ มากับ 'สุชาติมาเนีย' (SUCH-ARTMANIA) 'สุชาติเฟลเลีย' (SUCH-ARTFAILURE) และครั้งล่าสุดที่จัดแสดงอยู่ที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ในชื่อว่า 'ประวัติศาสตร์ส่วนตัว' (PERSONAL HISTORIES) ซึ่งครั้งนี้เขาข้ามสื่อมาจับศิลปะในแขนงที่เรียกว่า 'หนังทดลอง'
'ปริทรรศน์' จึงไปจับเข่าคุยกับเขาอีกครั้งหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องงานครั้งล่าสุดที่ผ่านมาและอีกหลายมุมมองเกี่ยวกับศิลปะ รวมถึงรอยฟกช้ำต่างๆ ที่เขาได้รับจากการทำงาน เพราะเขาพูดไว้ว่า 'การทำงานศิลปะเหมือนกับการต่อสู้กับตัวเอง'
ประวัติศาสตร์ส่วนตัว
งานศิลปะคือประวัติศาสตร์ส่วนตัวของผู้สร้าง งานครั้งนี้จึงถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ 'โลกใหม่' ของเขาที่ได้ลองก้าวเข้ามา
"มองในแง่ของงานจิตรกรรมมันก็ยังไม่ถึงใจผม ซึ่งคุณเทพศิริ สุขโสภาก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าภาพของผมมันยังไม่เห็นคน เป็นแค่ความเคลื่อนไหวของเทคนิค ผมว่าเป็นแง่มุมวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีทีเดียวซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดของผมก็ได้เพราะผมไม่ได้เรียนศิลปะ เพราะฉะนั้นผมไม่อาจไปนับหนึ่งได้เหมือนคนที่เขาเรียนมาโดยตรง ถ้าให้ผมเป็นเขียนงานภาพเหมือน ผมตกม้าตาย ผมกระโดดก้าวมาสู่มันด้วยความรู้สึกเริ่มต้นนับหนึ่งตามแบบของผมเอง ใช้จินตนาการ ใช้อารมณ์ ใช้ประสบการณ์ หรือความต้องการที่จะทำให้เสร็จ แทนที่จะเสร็จบนหน้ากระดาษออกมาเป็นเล่มหนังสือก็เสร็จบนผ้าใบ แล้วต่อมาก็พยายามที่จะไม่ซ้ำที่เดิม
"ผมคิดว่าพื้นฐานเดิมของงานภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวที่เราเรียกว่าหนัง มันก็เป็นส่วนต่อขยายของงานจิตรกรรม ต่อมาจากรูปถ่ายเมื่อนำมาต่อกันหลายๆ รูปและทำให้เคลื่อนไหว เราก็เรียกมันว่าภาพยนตร์ ว่าไปแล้วมันก็รากเหง้าพื้นฐานอันเดียวกันคือมาจากจิตรกรรม เราจะพบว่าหนังทดลองบางเรื่องมีลักษณะของภาพนิ่งที่แช่ไว้ เหมือนกับคนไปดูภาพนิ่งบนฝาผนัง
"ครั้งนี้ก็เช่นกันกระมัง คือพยายามนำเสนอสิ่งที่ผมเรียกว่าหนังทดลองหรือจิตรกรรมวิดิทัศน์ มันไม่ได้เป็นเรื่องราวที่ต้องมีตอนต้น ตอนกลาง ตอนจบตามขนบของเรื่องเล่าที่ทำเป็นหนังสั้นกัน แต่มันก็เหมือนใช้ฟิล์มมาแทนกระดาษหรือผ้าใบ ถ่ายออกมาเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แล้วก็เอามาจัดองค์ประกอบ เอามาตัดต่อ ซึ่งเทคนิคของคอมพิวเตอร์สมัยใหม่มันทำตรงนี้ได้
"งานศิลปะมันคือประวัติศาสตร์ส่วนตัวของผู้สร้างงานทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าจะนำเสนอโดยสื่อแบบไหน ที่ใช้ชื่อนี้ก็เพราะผมมีความคิดว่าคนทำงานศิลปะนั้นล้วนมีประวัติศาสตร์ของเขา ชิ้นงานของเขาที่ทำขึ้นมาไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ใดก็ตามมันจะสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ส่วนตัวของเขา ผมใช้คำว่า Histories แทนที่จะใช้คำว่า Memories
"สิ่งที่ผมคิดว่างานครั้งนี้เป็นส่วนต่อขยาย เป็นโลกใหม่ในแง่ของการนำเสนอชิ้นงาน มันไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับคนอื่น แต่สำหรับผมใหม่ ผมถือว่าผมไม่ได้ย่ำอยู่ที่เดิม หนังทดลองไม่ใช่หนังที่คุณทำให้ดูไม่รู้เรื่องหรือต้องภาพไหวๆ แล้วเรียกว่าหนังทดลอง แต่มันต้องมีความคิด มีสิ่งที่เรียกว่ามโนทัศน์หรือคอนเซ็ปต์ ผมก็ต้องคิดตรงนี้ให้ชัด และมันก็มีในลีลาต่างๆ กันซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นประวัตศาสตร์ส่วนตัวของผม อย่างเช่นบางเรื่องเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม บางเรื่องก็เป็นเรื่องของมนัส เศียรสิงห์ บางเรื่องก็เป็นนิยายทัศนศิลป์"
งานศิลปะคือการต่อสู้และการเดินทาง
เขาพูดไว้เหมือนจั่วหัวข้างบน แต่มันเป็นการต่อสู้กับสิ่งใด และเป็นการเดินทางไปสู่จุดหมายใด??
"ทุกคนที่ทำงานศิลปะมันก็คือต่อสู้เพื่อให้งานนั้นสำเร็จอย่างที่ใจต้องการ อย่างที่วาดหวังไว้ จะโดยสื่อใดหรืออุปกรณ์ใดก็แล้วแต่ แต่จุดมุ่งหมายผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่จะต้องดูต่อเนื่อง เราไม่สามารถที่จะบอกว่าคนคนนั้นเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมเพราะงานชิ้นเดียวหรือการแสดงงานชิ้นเดียว ผมมักจะพูดเสมอว่าการทำงานศิลปะไม่ใช่การตากอากาศ มันเป็นเรื่องที่จะต้องผูกพัน มีใจกับมันชัดเจนระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็จะต้องนำเสนอผลงานต่อเนื่อง
"คุณจะต้องต่อสู้กับมันหรือที่เรียกว่าต่อสู้กับตัวเอง แต่ชิ้นงานที่ออกมาอาจจะเป็นเรื่องลีลาต่างๆ อาจจะซีเรียสหรือไม่ก็ได้ แต่ขณะที่ทำงานในชั่ววินาทีหนึ่งไปยังวินาทีหนึ่ง ตรงนั้นแหละครับ เมื่อมันจบ เมื่อมันเสร็จ นั่นแหละความสุข แต่ตอนที่ทำผมไม่รู้ว่ามันมีความสุขหรือเปล่า คือมันกำลังทำหน้าที่ ทำงาน เหมือนที่ท่านพุทธทาสบอกว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม จะเรียกว่าการทำงานศิลปะเป็นการปฏิบัติธรรมมันก็ดูยิ่งใหญ่ มีบางคนเขาเรียกอย่างนั้นแต่ผมไม่เรียก
"ผมจึงคิดว่ามันเป็นการต่อสู้กับตัวเอง เหมือนคนที่พยายามจะทำจิตให้นิ่งหรือคนที่ทำสมาธินั่นแหละ
"ดังนั้น การนำเสนอผลงานต่อเนื่องจึงเป็นจุดมุ่งหมายของงานศิลปะ และในขณะที่นำเสนอความต่อเนื่องนั้นมันก็คงเป็นการแสดงตัวตนของคุณที่คนอี่นเขาอยากจะมอง คือผมไม่อยากจะอธิบายว่าผมมีหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้าอย่างนี้ ซึ่งจะอธิบายก็ได้เพราะว่าผมก็ถนัดเรื่องนี้อยู่ แต่ว่าเมื่อนำเสนอผลงานเป็นสิ่งที่เรียกว่างานศิลปะแล้ว ผมคิดว่ามันควรจะวางตัวอยู่ในที่ซ่อนคือให้คนเขาคิด ถ้าเขาคิดต่อ คิดขยาย คิดไปได้มากกว่าเรา มันควรจะเรียกว่าความสำเร็จ ใช่มั้ย?
"ตรงนี้แหละครับคือความมุ่งหมาย แต่ความมุ่งหมายใกล้ๆ ง่ายๆ ของผมก็แค่ให้คนเห็นว่าทำงานต่อเนื่อง และมีส่วนต่อขยายที่ไม่ย่ำอยู่กับที่ อย่างน้อยก็ในแง่ของความพยายามที่จะต่อสู้กับสื่อแบบใหม่ ซึ่งรวมความแล้วผมก็ยังสรุปว่ายังอยู่ในระดับอนุบาล"
รอยฟกช้ำ
หากงานศิลปะคือการต่อสู้และการเดินทาง การต่อสู้และการเดินทางตลอด 4 ปี คงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดรอยฟกช้ำจากการต่อสู้ หรือจากการสะดุดล้มบ้างไม่มากก็น้อย
"แน่นอน เยอะมาก ที่บอกว่าเยอะมากผมก็รับมือกับมันได้ อาจจะเป็นเพราะผมมาเริ่มต้นช้า ฉะนั้น ผมจึงมีวุฒิภาวะระดับหนึ่งที่จะรับรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งตรงนี้ผมจึงเสียดายแทนพวกคนหนุ่ม คนสาวที่เขามีฝีมือดี มีวิธีการดี มีความคิดดี แต่ว่าเข้ามาชั่วคราวแล้วก็หายไป ผมคิดว่ารอยฟกช้ำที่คนพวกนี้เผชิญอยู่ มันไม่น่าจะเรียกว่าเป็นความผิดของเขา
"แต่ถ้าหากหมายถึงรอยฟกช้ำจากคำวิจารณ์ต่างๆ ผมคิดว่าผมมีกำลังภายในมากพอที่จะมีข้อมูล มีคำอธิบาย แต่ผมไม่ต้องการอธิบาย คือคนที่พูดเขาก็มองในมุมมองของเขา ถ้าหากเขาได้ฟังคำอธิบายของผมบางทีเขาอาจจะมองตามมุมมองของผมบ้างก็ได้ แต่ถ้าหากเราไม่ให้เขาแสดงความคิดเห็น เราก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าบุคคลที่สาม คือสิ่งที่เรียกว่าครูบาอาจารย์หรือนักวิเคราะห์วิจัยซึ่งเขาก็กำลังทำหน้าที่ของเขา ฉะนั้น ผมจึงเข้าใจ
"เพราะผมอาจเขียนบทความได้ เขียนบทนำได้ แต่พอมาเขียนงานสร้างสรรค์มันไม่ค่อยสด ผมก็เลยข้ามสื่อดู เมื่อข้ามสื่อแล้ว ผมดูเป็นอิสระเพราะคนรู้ว่าผมเป็นใครมาจากไหน แต่ไม่รู้ว่าผมจะออกมาอย่างไร ออกหัว ออกก้อย ผมก็บอกว่าผมแค่อนุบาล ฉะนั้น ก็อย่าหวังอะไรมาก หนังทดลองครั้งนี้ก็เช่นกัน
"นอกจากนั้น รอยฟกช้ำบางส่วนก็เกิดขึ้นจากตัวผมเอง เพราะอย่างน้อยที่สุดรอยฟกช้ำที่เกิดขึ้นกับเรา ก็คือเรารู้สึกว่าเราทำงานที่เคยทำมาแล้ว ทำงานย่ำรอยเดิม เราพยายามจะไปแต่ไปไม่ได้ วาดรูปคนก็วาดไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ มีบางคนบอกว่าก็ลื้อหลุดมาแล้วจะไปพะวงตรงนี้ทำไม แต่ผมมีความรู้สึกว่าผมอยากจะกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่ากระดูกสันหลัง สิ่งที่ใครๆ เขาถือว่าเป็นการนับหนึ่ง
"เพราะเมื่อผมกระโจนมาแล้วก็ต้องเรียนรู้ในขณะที่ทำงาน หมายความว่าถึงจะมีรอยฟกช้ำในลักษณะไหนก็ตาม ไม่ว่าจะจากตัวเราเองหรือจากข้างนอก เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะวางตัวของเราให้นิ่ง ซึ่งบางทีก็สำเร็จ บางทีก็ไม่สำเร็จ"
การเดินทางกลับคือการเดินทางอีกครั้งหนึ่ง
ไม่ว่าการเดินทางไปหรือการเดินทางกลับล้วนถือเป็นการเดินทางทั้งสิ้น การเดินทางกลับของสุชาติ สวัสดิ์ศรี
"จุดมุ่งหมายของผมก็เหมือนจุดมุ่งหมายเวลาผมเขียนหนังสือ ทำหนังสือ คือพยายามที่จะให้ได้สิ่งที่เรียกว่าความเป็นเลิศ จะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่พยายามจะไปให้ถึง แม้จะไปไม่ถึงก็ไม่เป็นปัญหา เพราะอย่างที่มีนักบวชท่านหนึ่งพูดไว้ว่า การเดินทางกลับคือการเดินทางต่อ ฉะนั้น ระหว่างเดินทางต่างหากคือการเดินทาง จะไปคิดว่ามาถึงที่หมายแล้ว ต้องกลับแล้ว ไม่ใช่ แต่มันคือการเดินทางอีกครั้งหนึ่ง
"แม้ว่าผมจะนำเสนองานในลักษณะต่อขยาย ผมคิดว่าผมก็จะกลับมาหาวรรณกรรม เพราะวิธีนำเสนอของผมเป็นการนำเสนอของคนที่มีฐานด้านวรรณกรรม ภาษาภาพที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะบนอะไรมันเป็นสิ่งที่มีพื้นฐานมาจากหนังสือ มาจากคำ ซึ่งคำเกิดก่อนภาพหรือภาพเกิดก่อนคำก็มีการถกเถียงในแง่วิชาการมานานแล้ว เพราะฉะนั้นลักษณะที่เรียกว่าวนกลับมาก็คือลักษณะที่กลับมาเป็นงานพื้นฐานคืองานจิตรกรรม ส่วนภาพรวมทั้งหมดคืองานทางด้านวรรณกรรมที่ผมยังมีความผูกพันอยู่
"มีคนถามผมว่าเวลาผมทำงานด้านจิตรกรรมหรือศิลปะที่ไม่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม ผมคิดแบบคนเขียนหนังสือหรือเปล่า ผมชัดเจนตรงนี้ว่า ไม่ หมายความว่าโดยเทคนิค โดยวิธีนำเสนอมันก็ไม่ใช่แล้ว เพราะมันอยู่ในพื้นที่ที่ต่างกัน อยู่ในมิติที่ต่างกันด้วย"
........................
"เราสร้างงานขึ้นมามันก็เหมือนกับเป็นสมบัติกลางที่คนจะติ จะชม ยิ่งมีคนพูดถึงในมุมมองต่างๆ มาก นั่นแหละครับคือความสำเร็จ"
เสียงจากเพื่อนและผู้ชม
สนธยา ทรัพย์เย็น
ผู้ก่อตั้งดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ และบรรณาธิการฟิล์มไวรัส
"หนังชุดนี้มันเป็นส่วนขยายของการทำจิตรกรรมทัศนศิลป์และการเขียน ซึ่งความสนใจเรื่องการเขียนหนังสือ การใช้คำ การวาดภาพ ของคุณสุชาติก็คงจะเห็นชัดอยู่แล้ว เพราะว่าหนังก็จะเล่นกับเรื่องของลวดลาย สี มีถ้อยคำเยอะ แต่แทบจะไม่มีการเล่าเรื่องตามลักษณะของหนังทั่วไป มีคำเล็กๆ น้อยๆ เป็นถ้อยคำสั้นๆ ประโยคสั้นๆ ทั้งหมดนี้ถูกนำมาเชื่อมโยงกันแต่ไม่ได้เล่าเรื่องอะไรที่จับต้องได้ จะมีบางเรื่องที่ออกการเมืองหน่อยก็ดูจะมีประเด็น มีโครงเรื่องที่เห็นชัดเจน อย่างเรื่องของคุณมนัส เศียรสิงห์
"แต่หนังทั้งหมดโดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพจินตนาการ เหมือนกับหนังนามธรรม แม้หนังที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยจะเป็นหนังที่มีเรื่องราว แต่มันก็มีหนังอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะยืมโครงสร้างเรื่องราวมาใช้บ้างก็ได้ หรือไม่ยึดติดอยู่กับกรอบเกณฑ์ใดๆ เลย ใช้จินตภาพของศิลปินหรือใช้การด้นสด อาจจะมีโครงเรื่องอยู่บางๆ แล้วพัฒนาไปเป็นอะไรที่อิสระมากๆ บางทีพอเราดูอะไรที่มันฟรีฟอร์มมากๆ จะเหมือนว่ามันจับต้องไม่ได้ แต่งานกลุ่มนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะบริสุทธิ์มากหน่อย
"การเรียบเรียงในหนังของคุณสุชาติ โดยจังหวะ โดยฉันทลักษณ์ทางภาพที่นำมาเชื่อมโยงกัน เรื่องนี้คงเป็นวิถีทางของศิลปินแต่ละคน ซึ่งอย่างของคุณสุชาติก็น่าจะเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่งานของคนยุคใหม่ แต่เป็นงานของคนที่ผ่านประสบการณ์ จะมีการหมกมุ่นครุ่นคิดในบางเรื่องที่เป็นส่วนเฉพาะของคุณสุชาติ บังเอิญคุณสุชาติเป็นคนที่เปิดกว้าง มองว่าศิลปะทุกสาขามันมีแกนร่วมที่ต่อถึงกันได้อยู่แล้ว ภาพยนตร์มันก็เป็นสิ่งที่สะท้อนความหมกมุ่น ความสนใจของคุณสุชาติไปโดยปริยาย
"เท่าที่ดูจะเห็นว่าคุณสุชาติเป็นคนที่ดูงาน คนที่เข้าใจศิลปะด้านนี้ว่าเวลาที่เปลี่ยนสาขาของงานจะใช้วิธีการถ่ายทอดอย่างไรได้บ้าง ในเชิงเทคนิคแล้วคิดว่าก็คงเป็นธรรมดาของคนที่เพิ่งจับศิลปะสาขาใหม่ที่อาจจะมีความไม่คุ้นเคย ไม่สละสลวยเท่าที่ควร แต่ถ้าดูที่แนวของความคิด ดูที่ลักษณะการเรียบเรียงผมว่าคุณสุชาติก็เป็นคนที่รู้จังหวะและสะท้อนความมีรสนิยมของตัวเอง ผมว่าคุณสุชาติมีเซ็นส์ทางนี้"
รัศมี เผ่าเหลืองทอง
ผู้ก่อตั้งคณะละครสองแปด
"งานของคุณสุชาติมีอะไรน่าสนใจเยอะ เพราะว่าตัวคนทำมีสายตา มีความรู้ มีประสบการณ์ มีสิ่งที่จะพูดเยอะ คิดว่าคุณสุชาติน่าจะสนุกที่จะทำต่อไป เพราะต้องถือว่าคุณสุชาติเอาสิ่งที่อยากจะลองทำมาแบ่งปันกันดู ไม่ใช่การนำเสนองานสู่ผู้ชมที่เป็นสาธารณะ เรามาดูงานในฐานะของผู้ติดตามงานคุณสุชาติ หรือว่าเป็นเพื่อนที่รู้จักงาน รู้จักตัว รู้จักความคิด จึงไม่ได้รู้สึกว่าหนังจะต้องมีต้น กลาง จบที่เข้าใจได้
"ในประสบการณ์ของคนดูเองหรือในฐานะผู้ร่วมงานของคุณสุชาติ ดูแล้วก็สนุกมาก เพราะมันมีนัยประวัติถึงอะไรหลายๆ อย่าง เหมือนได้คุยกันกับคนทำผ่านงานหนังชุดนี้ ซึ่งบางเรื่องเราก็อาจจะมีสิ่งที่จะคุยด้วยไม่มาก บางเรื่องเราอาจจะมีสิ่งที่จะคุยด้วยมากหน่อย แต่โดยรวมแล้วอย่างเช่นชุดที่เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทย ตั้งแต่ 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะของคนที่อยู่ร่วมยุคสมัย เรารู้สึกว่ามันมีสิ่งที่เป็นความนัยและรู้สึกร่วมกันอยู่เยอะ มันน่าสนใจและคิดว่าการดูอย่างไม่ตั้งความหวังอะไรไว้ ดูอย่างเปิด ทำให้ดูได้สนุกมากกว่าที่จะดูอย่างตั้งความหวังว่าคนทำต้องพูดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ต้องเล่าเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ จึงเหมือนเป็นเพื่อนมานั่งคุยกันมากกว่า และคุยในรสชาติต่างๆ กัน
"อย่างเรื่อง 'แม่ไม้' เราก็ยังรู้สึกว่ามีความน่าสนใจในการมอง การหยิบเอาสิ่งที่เป็นงานวรรณกรรมออกมาเป็นสื่อที่เรียกว่ามัลติมิเดียสั้นๆ และถ้าย้อนกลับไปที่ชุด 2475 จนถึงปัจจุบันก็จะเห็นว่าคุณสุชาติไม่ได้ทิ้งการเขียนหนังสือ เพราะบทกวีสามบรรทัดที่ปรากฏอยู่ในงานชิ้นนี้ก็เป็นบทกวีที่มีความคมคาย"
**************************
เรื่อง กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล