บทความ

บทบาทของคนหนุ่มต่อวรรณกรรมไทย

by Pookun @December,12 2006 23.11 ( IP : 124...84 ) | Tags : บทความ

บทบาทของคนหนุ่มต่อวรรณกรรมไทย ยุคแรกรับอิทธิพลตะวันตก


    ในสมัยรัชกาลที่๔ อิทธิพลตะวันตกแพร่หลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาชัดเจนมากกว่าสมัยปลายอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินพระราโชบายเจริญ สัมพันธไมตรีกับประเทศตะวันตก เพื่อรับศิลปวิทยาการของเขามาสร้างความเจริญให้สยาม จิตรกรรม การพิมพ์ และการแพทย์

    สถาปัตยกรรมก็เช่นการใช้ช่องหน้าต่างโค้ง การสร้างวัดเลียนแบบสถาปัตยกรรมยุโรป การสร้างวังเช่นพระนครคีรีหรือเขาวัง

    จิตรกรรมก็เช่นภาพเขียนของขรัวอินโข่ง

    การตั้งโรงพิมพ์ของหมอบรัดเล และการรักษาแบบแผนการแพทย์สมัยใหม่ล้วนแสดงให้เห็นความก้าวหน้าไปทางอารยธรรมตะวันตก

    และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการศึกษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งศึกษากันทั้งภาษาและวรรณกรรม

    การศึกษาเริ่มจากในวัง เจ้านายผู้ยังทรงพระเยาว์ในสมัยนั้นได้ศึกษากับชาวต่างประเทศคนหนึ่งในจำนวนนี้คือ นางแอนนา เลียวโนเวนส์

    เจ้านายผู้ทรงพระเยาว์เหล่านี้เมื่อเจริญพระชนมพรรษาขึ้น จนได้ดำรงบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศ ก็ทรงเป็นกลุ่มคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ความเจริญผสมผสานเข้ากับ อารยธรรมแบบตะวันตก ผู้นำที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง รองลงมาได้แก่พระเจ้าน้องยาเธออีกหลายพระองค์ แต่ทางด้านวรรณกรรมแล้ว จะขอกล่าวถึงเพียงสองพระองค์ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในยุคแรก

    องค์แรกคือ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ต้นสกุล เกษมสันต์

    และองค์ที่สองคือพระองค์เจ้าคคนางค์ยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นสกุล คคนางค์

    เราคงจะจำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุเพียง ๑๕๑๖พรรษา นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพระราชภารกิจอันหนักอึ้งที่จะต้องทรงรับไว้ ในสมัยนั้นกิจการบ้านเมืองทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหา ศรีสุริยวงศ์ แม้เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในรัชกาลก่อนก็ไม่อาจคานอำนาจไว้ได้

    ดังนั้นในช่วง ๕๖ ปีแรกแห่งรัชกาล เราอาจจะมองเห็นภาพของ "คนหนุ่ม" คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าน้องยาเธอองค์รองๆลงไป เป็นฝ่ายหนึ่ง และฝ่าย "คนรุ่นเก่า" คือสมเด็จเจ้าพระยาอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง แต่กลุ่มแรกนั้นก็ได้โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ เจริญด้วยพระบารมีซึ่งเกิดจากพระปรีชาญาณและความรู้อันทรงศึกษามาแล้วเป็น อย่างดี ส่วนหนึ่งสะท้อนออกมาในรูปหนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ออกโดยคนไทยและเผยแพร่แก่ประชาชน เริ่มออกฉบับแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ เจ้าของและบรรณาธิการคือพระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์

    ดรุโณวาท มีทั้งสารคดีและบันเทิงคดี มีสาระทันสมัย แสดงความสามารถและสติปัญญาของคนหนุ่มซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นให้ ประจักษ์ต่อขุนนางข้าราชการและประชาชน ชื่อหนังสือพิมพ์บอกอยู่ในตัวแล้วว่า เป็น "โอวาทหรือคำสอนของคนหนุ่ม"

    ผลจากวรรณกรรมบวกกับพระปรีชารอบรู้ในหลายๆด้าน กิจการงานเมืองทั้งปวงก็เปลี่ยนมาอยู่ในฝีมือของคนรุ่นใหม่เหล่านี้จนหมด สิ้นในระยะต่อมา

    นอกจาก ดรุโณวาท ก็คือ วชิรญาณวิเศษ ออกเมื่อพ.ศ.๒๔๒๗ เป็นหนังสือของหอพระสมุดวชิรญาณในสมัยที่พระองค์เจ้าคคนางค์ยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงเป็นสภานายกและอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเขียนสำคัญได้แก่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และกรมหลวงพิชิตปรีชากร

    เมื่อถึง พ.ศ.๒๔๒๙ บทบาทของกรมหลวงพิชิตปรีชากรในฐานะ "คนรุ่นใหม่" ก็ได้ปรากฏขึ้น เมื่อนิพนธ์เรื่อง สนุกนึก

    เรื่องนี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นของวรรณกรรมไทยที่ได้รับ อิทธิพลตะวันตกในยุคแรกอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่ารูปแบบการเขียนยังเป็นแบบเก่า คือเล่าติดต่อกันไปเหมือน สามก๊ก และ ราชาธิราช ไม่มีการใช้เครื่องหมายคำพูด หรือการขึ้นบรรทัดใหม่เมื่อมีบทสนทนา ฯลฯ อย่างวิธีการเขียนนิยายปัจจุบัน แต่แนวคิดนั้นได้รับแนวตะวันตก คือแนวสัจนิยม ( realism) มาอย่างเห็นได้ชัด

    เนื้อเรื่องของ สนุกนึก บรรยายถึงพระสงฆ์หนุ่มๆ ๔ รูปพูดคุยกันว่าเมื่อสึกแล้วจะออกไปประกอบอาชีพต่างๆกัน เช่นทำราชการ และค้าขาย ผู้ที่ยังลังเลไม่สึกก็มีอุบาสิกาเตรียมมาจัดการให้สึกเพื่อจะเอาไปเป็นลูก เขย ข้อสำคัญคือฉากในเรื่องระบุว่าเป็นวัดบวรนิเวศ

    ข้อนี้เอง เมื่อลงตีพิมพ์ก็เกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้น เพราะคนอ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงเนื่องจากคนไทยยังไม่คุ้นกับกลวิธีการ แต่งแบบสมจริงเช่นนี้ กลายเป็นเรื่องให้วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆจนสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา ปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะนั้นทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศเดือดร้อนพระทัยว่าทำให้วัดมัวหมอง ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกริ้วและกล่าวโทษกรมหลวงพิชิตปรีชากรพอประมาณแล้วก็ทรงไกล่เกลี่ยให้ เรื่องยุติลงเพียงแค่นั้น เป็นอันว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯก็ไม่ติดพระทัยจะกล่าวถึงเรื่องนี้อีก ส่วน สนุกนึก ก็ค้างอยู่เพียงตอนแรก ทิ้งปัญหาไว้ให้นักวิชาการถกเถียงกันว่าเรื่องนี้เป็นนวนิยายหรือเรื่อง สั้นกันแน่ และยังไม่มีคำตอบตายตัวมาจนปัจจุบัน

    สมัยนี้ เมื่อหยิบเรื่อง สนุกนึก ขึ้นมาอ่านด้วยสายตาคนปัจจุบัน ก็คงไม่เห็นว่ามีอะไรอื้อฉาวเป็นเรื่องเป็นราวได้ถึงขนาดนั้น อาจจะเป็นเรื่องค่อนข้างธรรมดาด้วยซ้ำไป เพราะตามปกติแล้วชายหนุ่มเมื่ออายุครบ ๒๐ปี ก็มักจะบวชสักหนึ่งพรรษาก่อนสึกออกไปประกอบอาชีพและมีครอบครัว ระหว่างบวชอยู่ เมื่อรวมกลุ่มกันก็คุยกันเรื่อยเปื่อยฆ่าเวลาไปบ้าง ไม่สู้จะสำรวมนักก็ไม่แปลกอะไร แต่ถ้ามองด้วยสายตาของคนรุ่นเก่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหญ่เพราะวัดบวรนิเวศ เป็นวัดที่สำคัญที่สุดในสมัยนั้น วัดนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่หลายปีขณะผนวช และทรงสถาปนาธรรมยุติ

กนิกายซึ่งได้ชื่อว่าเคร่งครัดมากก็ที่วัดนี้ ต่อมาเป็นวัดที่พระราชวงศ์ผนวชกันโดยมาก รวมทั้งกรมหลวงพิชิตปรีชากรด้วย เจ้าอาวาสนั้นเล่าก็เป็นเจ้านายผู้ใหญ่ เมื่อมีเรื่องเล่าว่าพระหนุ่มๆในวัดคุยกันอย่างไม่สำรวม บวชแล้วก็ไม่ได้นำพระธรรมไปกล่อมเกลาจิตใจ ซ้ำยังมีบทบาทของอุบาสิกาที่มาวัดเพื่อคอยจังหวะจะสึกพระไปเป็นลูกเขยอีก ด้วย ก็ย่อมเป็นเป้าหมายการวิพากษ์วิจารณ์ได้มาก

    ส่วนที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นทัศนคติต่อการบวช แสดงผ่านทาง ความคิดเห็นของพระสมบุญว่า

    "ผ้ากาสาวพัตรเป็นที่พึ่งของคนยาก ถึงไม่ทำให้ดีก็ไม่ทำให้ฉิบหาย ไม่ดิ้นไม่ขวนขวายแล้วไม่มีความทุกข์ เป็นที่พักที่ตั้งตัวของผู้แรกจะตั้งตัวดังนี้"

    หมายความว่าการอยู่ในสมณเพศไม่ยอมสึกนั้นไม่ได้เกิดจาก ความศรัทธาในศาสนา แต่การอยู่วัดเปรียบได้กับหอพักชนิดไม่เสียเงินสำหรับผู้ยังไม่มีทางประกอบ อาชีพ ถ้าอยู่ไปวันๆไม่ทะเยอทะยานอะไรมากก็ไม่มีความทุกข์ พูดง่ายๆคืออยู่อย่างนี้ขี้เกียจและอาศัยเกาะเป็นกาฝากได้อย่างสบายนั่นเอง จนกว่ามีลู่ทางไปดีกว่านี้ได้ก็ค่อยสึก

    กรมหลวงพิชิตปรีชากรนั้นถ้าเทียบกับทางฝ่ายสมเด็จพระมหา สมณเจ้ากรมพระยาปวเรศฯแล้ว ฝ่ายแรกน่าจะจัดเข้าประเภท "คนรุ่นใหม่" หรือ "คนหนุ่ม" ส่วนฝ่ายหลังคือ "คนรุ่นเก่า" กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงรับการศึกษาแผนใหม่ตามแบบเจ้านายรุ่นใหม่ เมื่อนิพนธ์เรื่อง สนุกนึก ทำนองนิยายฝรั่ง การสร้างเหตุการณ์เลียนแบบชีวิตคนจริงๆให้สมจริง ไม่ใช่นิทานประเภท "แต่ปางหลังยังมีจอมกษัตริย์" ดังนั้นความคิดอ่านของพระหนุ่มๆทั้ง ๔รูป จึงเป็นความคิดที่ไม่น่าจะไกลจากคนจริงๆนัก คือยังเป็นปุถุชน มีกิเลสและความเห็นแก่ตัวเช่นคนธรรมดา ไม่ใช่ว่าครองผ้าเหลืองแล้วจะตัดกิเลสได้หมดสิ้นเสมอไป

    แต่ความสมจริงนั้นเมื่อแนบเนียนจนเหมือนเรื่องจริง บางครั้งความจริงก็ระคายหูได้มากกว่าความเท็จ ยากที่คนรุ่นเก่าจะยอมรับได้ เพราะถึงมีเหตุผลสมัยใหม่อย่างไร ก็ยังไม่อาจหักล้างความคิดที่ว่าสถาบันศาสนาเป็นเรื่องที่ต้องเคารพ และพระก็ไม่ควรออกนอกลู่นอกทางอยู่นั่นเอง

    เรื่องทางธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าเรื่องทางโลก แตะต้องได้ยาก

    เพราะเหตุนี้ สนุกนึก จึงไม่จบ หลังจากนั้นแม้ไม่มีเหตุการณ์อื้อฉาวใดๆเกิดขึ้นอีก วชิรญาณวิเศษยังออกตีพิมพ์อยู่จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๓๗ เรื่องสั้นแนวอื่นแพร่หลายสืบต่อมาไม่ขาดสาย แต่เรื่องทำนองเดียวกับ สนุกนึก ไม่ได้ปรากฏออกมาอีกเลย


    ดร.แพรมน และ นายตะวัน จากวิชาการดอดคอม

แสดงความคิดเห็น

« 7025
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ