บทความ
ส่ง เทภาสิต : นักประพันธ์เรื่องสั้นชั้นครู ในกระแสวรรณกรรมไทยสมัยใหม่
ศิลปวัฒนธรรม วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 28 ฉบับที่ 01
พรวิภา วัฒรัชนากูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ส่ง เทภาสิต : นักประพันธ์เรื่องสั้นชั้นครู ในกระแสวรรณกรรมไทยสมัยใหม่
วรรณกรรม หรือประพันธศาสตร์ ตามแนวคิดของเพลโตนักปราชญ์ชาติกรีกโบราณเห็นว่า เป็นเครื่องชี้นำชักจูงให้ผู้คนสนใจ ซาบซึ้งในความงาม ความจริง และความดีได้เช่นเดียวกันกับดนตรีและศิลปะ ศาสตร์ทั้งสามนี้เป็นเครื่องส่อสะท้อนถึงจิตวิญญาณ เป็นมาตรวัดความมีอารยะของมนุษย์มาแต่อดีต สำหรับชาติไทย จากหลักฐานวรรณกรรมเก่าแก่ที่มีการค้นพบ (ศิลาจารึก) ร่วมกับศิลป กรรมอื่น สื่อให้รู้ว่าเป็นชาติที่มีอารยะนับมาแต่ราวพุทธศักราช ๑๘๐๐ สมัยพ่อขุนรามคำแหง แห่งแคว้นสุโขทัย
กล่าวถึงยุคปัจจุบันในด้านวรรณกรรมสมัยใหม่ (ร้อยแก้ว) อาจสืบย้อนหาต้นเค้าการแปรเปลี่ยนความนิยมจากรูปแบบเดิม (ร้อยกรอง) ได้จากยุคที่ชาติไทยเปิดติดต่อกับชาวตะวันตกอย่างแพร่หลาย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การรับวัฒนธรรมต่างชาติในยุคนั้น มีนับจากส่วนที่เป็นวัตถุสิ่งของไปจนถึงด้านจิตใจความรู้สึกนึกคิด ปฏิสัมพันธ์ของชนชาวไทยต่อวัฒนธรรมแปลกใหม่นั้น เป็นไปทั้งในลักษณะรับและต้าน โดยบ้างลอกเลียนเอาเป็นแบบอย่าง บ้างดัดแปลงเปลี่ยนปรับ และบ้างผสมผสานคิดทำใหม่จากฐานเก่า
การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของชาติใดๆ ย่อมเกิดผลเป็นความเจริญ หรือความเสื่อมของสังคมเดิมได้ทั้งสองทาง ดังที่พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายไว้ว่า
"สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมจะเจริญก้าวหน้า และมีวิวัฒนา การไปตามกำหนดและขอบเขตของสิ่งนั้น ก็อยู่ที่มีคน ๒ จำพวกนี้คือ มีคนหนุ่มและคนแก่ ซึ่งต่างมีหน้าที่ช่วย และประสานกันในการงานให้เข้ากันได้ดี...ความพอดีคือมีสิ่งเก่าและใหม่ "ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป"...
...ถ้าจะเปรียบคนหนุ่มเหมือนกาลเวลาปัจจุบัน คนแก่เหมือนกาลเวลาอดีต สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมจะมีความเจริญก้าวหน้าไปได้ดี ย่อมมีปัจจัยเป็นส่วนใหญ่อยู่ที่ปัจจุบัน หาใช่อยู่ที่อดีตไม่ แต่ในคราวเดียวกันสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมจะมีความเสื่อมโทรมได้ ก็อยู่ที่ปัจจุบันเหมือนกัน
เหตุนี้ในการสร้างและส่งเสริมวัฒนธรรมให้วิวัฒนา การไปด้วยดี จึงอยู่ที่ต้องสร้างเสริมสิ่งใหม่อยู่บนรากฐานสิ่งเก่า ให้อดีตและปัจจุบันต่อเนื่องถึงกันเป็นอันเดียว คือสร้างปัจจุบันบนรากฐานของอดีต และปัจจุบันนี้เองจะเป็นรากฐานให้อนาคตเป็นผู้เสริมสร้างต่อเนื่องกันไป..."๑
วรรณกรรมไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ ก่อนรับวัฒน ธรรมตะวันตกเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อันเป็นยุคของการแพร่ขยายลัทธิจักรวรรดินิยมนั้น ยังมีลักษณะที่สืบทอดจากวรรณกรรมเดิมสมัยอยุธยาอยู่มาก ทั้งในด้านเนื้อเรื่อง กลวิธีการประพันธ์ และขนบที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ นิยมนำเรื่องเดิมมาแต่งในแบบฉันทลักษณ์ที่ต่างไป โดยแต่งเป็นร้อยกรองเน้นแสดงความสามารถด้านภาษาของกวี การสร้างสรรค์หรือผู้แต่งจำกัดอยู่ในหมู่ผู้มีการศึกษาในราชสำนักหรือวัด วัตถุประสงค์ของการแต่งมักเพื่อการต่างๆ ที่มิใช่การอ่านเฉพาะบุคคลอย่างเช่นปัจจุบัน อาทิ เพื่อการแสดง (ละครนอก ละครใน) การขับหรือร้อง (เสภา บทร้องสำหรับวงมโหรี เพลง-กลอนพื้นบ้าน) หรือการสอนศีลธรรม (เทศน์มหาชาติ) เป็นต้น
วรรณกรรมไทยในอดีตมีความสัมพันธ์สอดคล้องมาก กับวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของผู้คนตามปัจจัยสถานะ อาชีพและความเป็นอยู่ ภายหลังการรับอิทธิพลจากตะวันตก โดยทางชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายหรือทำงานในประเทศไทย และทางคนไทยที่ไปศึกษา วิทยาการในยุโรป ทำให้วัฒนธรรม "หนังสือ" หรือวรรณ กรรมของไทยเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านความสนใจเรียนรู้ การผลิต (เขียนหรือพิมพ์) และการบริโภค (การอ่านและซื้อหา) ไม่เพียงแต่หนังสือที่เป็นความรู้สารคดี ยังรวมถึงวรรณกรรมบันเทิงคดีอีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ นับแต่รัชสมัยพระปิยมหาราชนั้นเป็นไปโดยลำดับ ซึ่งแต่ละช่วงของการเปลี่ยนจะมีผู้นำริเริ่มที่เด่นชัด เป็นเสมือนหลักหมายให้สังเกตพัฒนาการแต่ละขั้น เริ่มจากองค์พระพุทธเจ้าหลวง และพระเจ้าน้องยาเธอบางพระ องค์ (อาทิ กรมหลวงพิชิตปรีชากร, กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) จนถึงชั้นพระโอรสและพระนัดดา (อาทิ พระมหาธีรราชเจ้า, กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) กับข้าราช การในพระองค์โดยเฉพาะที่เป็นนักเรียนทุนหลวง (อาทิ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, พระยาสุรินทรราชา, หลวง วิลาศปริวัตร)
ส่ง เทภาสิต (พ.ศ. ๒๔๔๒-๗๐) นับเป็นผู้อยู่ปลายขบวนของการเปลี่ยนแปลงในวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ เมื่อต้นทศวรรษ ๒๔๗๐ แม้จะเป็นนักประพันธ์ผู้มีอายุไม่ยืนยาว (เพียง ๒๘ ปี) และมีผลงานเขียนไม่มาก คือเป็นเรื่องสั้นและบทความเกี่ยวกับวรรณกรรม รวม ๑๔ เรื่องเท่านั้น แต่ความสามารถที่ปรากฏในวรรณ กรรมของเขาเป็นเสมือนจารึกที่เด่นชัด ซึ่งนักเขียนรุ่นต่อมายกย่องและยอมรับเป็นแบบอย่างการประพันธ์แนวใหม่ บทความนี้จะได้พิจารณาความเป็นมาของกระแสวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ นับแต่ปลายทศวรรษ ๒๔๒๐ ต่อเนื่องจนถึงต้นทศวรรษ ๒๔๗๐ อันเป็นช่วงที่งานเขียนของ ส่ง เทภาสิต ได้ปรากฏสู่สายตาผู้อ่าน ความมุ่งหมายของการเรียบเรียงบทความนี้ ผู้เขียนหวังเพื่อเป็นการฟื้นความระลึกถึง ความสามารถที่น่าชื่นชมของ นักประพันธ์สำคัญท่านนี้
วรรณกรรมไทยสมัยใหม่
ยุคพระพุทธเจ้าหลวง
(ทศวรรษ ๒๔๒๐-๓๐)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๔๕๓) ได้ทรงเปิดศักราชของการประพันธ์วรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ที่หันมานิยมร้อยแก้วและเริ่มวัฒนธรรมการอ่านหนังสือ เพื่อความรู้ความบันเทิงเฉพาะบุคคล ด้วยการทรงตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ โดยทรงชักชวนบรรดาพระโอรสและพระธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระชนกนาถ ให้ร่วมกันบริจาคหนังสือให้หอพระสมุดเมื่อปี ๒๔๒๔ กับยังทรงดำริให้มีการออก "หนังสือวชิรญาณ" เป็นวารสารรายเดือนอีกด้วย ซึ่งฉบับแรกได้ออกแจกให้แก่สมาชิกในวันเปิดหอพระสมุด เมื่อเมษายน ๒๔๒๗ (แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕) เนื้อหาของหนังสือประกอบด้วยเรื่องต่างๆ อาทิ วรรณคดี สารคดี เรื่องธรรมะ ความรู้ทั่วไป และนิทาน เป็นต้น๒
คณะนักเขียนของหนังสือวชิรญาณที่สำคัญ มีอาทิ องค์ผู้เริ่มก่อตั้งหอพระสมุดและหนังสือ โดยเรื่องที่ทรงส่งไปลงได้แก่ พระราชพิธี ๑๒ เดือน ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เป็นตอนๆ (ภายหลังจึงมีการพิมพ์รวมเล่ม) นักเขียนสำคัญพระองค์ต่อมาคือ พระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พ.ศ. ๒๓๙๘-๒๔๕๒) ได้ทรงนิพนธ์ร้อยแก้วเรื่องสนุกนิ์นึก๓ (เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุหนุ่ม ๔ รูป สนทนาเรื่องแผนการอนาคตภายหลังการลาสิกขา) เรื่องนี้นักวรรณคดีในปัจจุบันให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องสั้นไทยเรื่องแรก แต่บางท่านเห็นว่าน่าจะเป็นนวนิยาย ข้อสันนิษฐานนี้ไม่อาจยืนยันได้ เพราะเรื่องที่แต่งนั้นไม่จบบริบูรณ์ด้วยเกิดเหตุ การทักท้วงเรื่องความ "สมควร" ของเนื้อเรื่อง องค์ผู้ประพันธ์จึงทรงระงับการแต่งไป
บันเทิงคดีหรือเรื่องอ่านเล่นในหนังสือวชิรญาณนั้น แม้จะมีลักษณะสมัยใหม่ (modern) กล่าวคือ เป็นเรื่องของบุคคลธรรมดา ตัวละครไม่ใช่กษัตริย์ หรือเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องแนวสมจริง (realistic) แต่เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ก็ยังปรากฏร่องรอยขนบแนวคิดของวรรณคดียุคเก่าอยู่ เช่น ยังมีลักษณะของนิยายหรือนิทาน (ชาดก) คือเป็นเรื่องเล่าเป็นส่วนมาก ไม่ใคร่มีบทสนทนา ไม่มีการให้รายละเอียดตัวละคร ไม่ว่าด้านกายภาพ (รูปร่าง ลักษณะ อาชีพ) หรือด้านความรู้สึกนึกคิด การเล่าเรื่องยังมีลักษณะ "เทศนาโวหาร" ยืดยาว และเมื่อจบเรื่องมักมีโคลงสรุปข้อคิดสำคัญของเรื่องปิดท้าย ตัวอย่างทำนองนี้เช่นเรื่องนิทานพยาบาท๔ โดยพระองค์เจ้าไชยันตมงคล
ในบรรดานักเขียนประจำของหนังสือวชิรญาณ ผู้ที่มีสำนวนค่อนข้างสมัยใหม่ ได้แก่ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๔-๗๔) ผู้ทรงสนพระทัยอ่านวรรณกรรมต่างประเทศ ทำให้ทรงได้วัตถุดิบเรื่องราวของชาวต่างชาติมาเล่าสู่ผู้อ่านชาวไทย แต่การเล่าเรื่องทรงใช้คำพูด สรรพนาม หรือคำลงท้ายประโยคแบบไทย ทำให้ผู้อ่านปัจจุบันอาจรู้สึกว่าขัดเขินกับเนื้อเรื่องอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่นจากเรื่องแต่งงานแก้แค้น ซึ่งตัวละครเอกเป็น "ฝรั่ง" ได้เล่าเรื่องของตน ความตอนหนึ่งว่า
"โปรดฟังกระผมเล่าเหมือนเช่นอ่านหนังสือเรื่องเถิดขอรับ บางทีจะเหลือที่ใต้เท้าจะเชื่อว่าจริงได้ทั้งนั้น แต่ที่จริงเป็นความสัตย์ใช่มุสาเลย กระผมต้องยอมว่า กระผมออกกลุ้มกล้ำฉุนฉิว ทั้งแค้นทั้งขุ่นไม่น้อยเลย ใต้เท้าลองเอาฝ่าเท้าตรองดูเถิดขอรับ..."๕
เรื่องอ่านเล่นในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์นั้น มีปรากฏในหนังสือวชิรญาณอยู่เนืองๆ เรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นแนวการเขียนแบบเรื่องสั้นสมัยใหม่อย่างชัดเจน คือเรื่องอิล่อยป้อยแอ๖ (หมายถึง ความเหลวไหล การผัดผ่อนเวลา) เป็นเรื่องที่ผู้แต่งเขียนทำนองเล่าประสบ การณ์ว่าต้องแต่งเรื่องส่งหอพระสมุดวชิรญาณ แต่ก็ผัด ผ่อนเวลาไม่เริ่มเขียน ชะล่าใจว่ายังมีเวลา จนถึงวันกำหนดส่งเรื่อง ตั้งใจว่าจะตื่นขึ้นเขียนแต่เช้า ก็นอนตื่นสาย (บ่าย ๒ โมง) แล้วยังผัดขอกินข้าวก่อน ต่อด้วยไปนั่งรถเที่ยว กลับมาแล้วหิวต้องกินข้าวอีก เมื่อนั่งโต๊ะตั้งท่าจะเขียนก็คิดเรื่องไม่ออก ให้อยากไปนั่งชมจันทร์แต่ก็ห้ามใจไว้ได้ ที่สุดก็สรุปว่าเขียนประสบการณ์ของตนเอง ที่ผัดผ่อนการเขียนเรื่องส่งให้หนังสือวชิรญาณนี้เป็นอุทธาหรณ์
แนวการเขียนของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ นับว่าเป็นแบบ "สมสมัย" สะท้อนยุครอยต่อของการประพันธ์ไทยที่เริ่มรับอิทธิพลตะวันตก ไม่ล้าสมัยดังนักเขียนบางคนที่ร่วมยุคกับพระองค์ แต่ก็ยังไม่จัดว่า "นำ สมัย" โดยภาพรวมเรื่องสั้นที่ทรงประพันธ์ลงหนังสือวชิรญาณนั้น เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดมีความหลากหลาย ทั้งที่แปลหรือแปลงจากเรื่องฝรั่งและเรื่องทรงแต่งเอง ตัว อย่างเช่น เรื่องโรโมยุเลียด (นิทานเช็กสเปียร์ของชาลส์ แลมป์) เรื่องประกอบสำนวนหรือสุภาษิต๗ เช่น เรื่อง ตาบอดสอดตาเห็น ด้านเทคนิคการประพันธ์ทรงใช้แบบต่างๆ อาทิ การเล่าเรื่องจากบุรุษที่ ๑ (first person point of view) ที่เป็นหญิง เช่น เรื่องยังไงอิฉันถึงได้เป็นอีสาวทึนทึก การเขียนในรูปจดหมายประกอบเนื้อเรื่อง เช่น เรื่องกระโดดครั้งท้าย เป็นต้น
นักเขียนรุ่นหนังสือวชิรญาณที่นับว่ามีแนวการเขียน "นำสมัย" นั้น ได้แก่ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. (พ.ศ. ๒๔๑๙-๘๘) ซึ่งได้นิพนธ์เรื่องลงพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๔๓๙ ก่อนเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ (มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) และเมื่อเสด็จกลับมาแล้ว (ปี ๒๔๔๒) ก็ทรงเขียนเรื่องของนักเรียนอังกฤษไปลงพิมพ์อีก แนวการประพันธ์ที่โดดเด่นของพระองค์คือ สำนวนลีลาการเขียนที่กระชับ การเล่าเรื่องมีลักษณะทำนอง เรื่องสั้นสมัยใหม่ มักทรงใช้มุมมองบุรุษที่ ๑ เล่าเรื่องราวหรือประสบการณ์ของผู้เล่า เนื้อเรื่องมีบทสนทนาชัดเจน แต่ด้านตัวละครยังมีรายละเอียดน้อย ตัวอย่างเรื่องที่มีเนื้อเรื่องนำสมัย เช่น เรื่องอะไรแน่หนอ หรือผีมันหลอกช่างผีตามทีมัน คนเหมือนกันหลอกกันเองกลัวเกรงนัก เป็นเรื่องที่ผู้แต่งเสนอประเด็นเรื่องไสยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเนื้อความตอนหนึ่งดังนี้
"...ลุงว่าผีที่หลอกคนนี้ไม่มีดอก...ตามพวกฝรั่งนั้นมีคนอยู่สองจำพวกที่เชื่อแลไม่เชื่อเรื่องผีนี้ คือ (๑) พวกสะปิริตชัวริสต์เป็นพวกที่เชื่อแท้ แลอาจทดลองได้ต่างๆ ตามวิธีของเขา แล (๒) พวกไซแอนทิฟิค คือพวกที่เรียนวิชาไซแอนซ์ (วิทยาศาสตร์) เป็นพวกว่าไม่ มีแลจะไม่ยอมเชื่อว่ามีเป็นอันขาด เพราะว่าถ้าผีมีจริงแล้ว ตำราไซแอนซ์ที่เขาได้เรียนมาก็ไม่มีประโยชน์ ด้วยตรงกันข้ามไป..."๘
เรื่องอ่านเล่นในหนังสือวชิรญาณของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ มักมีเนื้อเรื่องเป็น "ฝรั่ง" เช่น เรื่องต้นร้ายปลายดี, จับผู้หญิงสองมือ หรือเรื่องแปลงจากฝรั่ง เช่น เรื่องหงส์ (มีเค้าจากเรื่อง Three Men in a Boat ของ Jerome K. Jerome พ.ศ. ๒๔๐๒-๗๐) แต่การแปลงก็ทรงปรับได้เป็นไทยๆ และยังคงอารมณ์ขันของเรื่องไว้ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างบางตอนจากเรื่องหงส์ ดังนี้
"...เช้าวันนั้นข้าพเจ้าก็สบายดีอยู่ แต่ครั้นไปอ่านอาการโรคตับเสียแล้วสิ [จากใบแจ้งความขายยาโรคตับ] ดูมีอาการตามที่แสดงนั้นบริบูรณ์ทุกอย่าง รวมทั้งอาการที่ว่า "มักรู้สึกไม่ใคร่อยากทำการอันใด" ด้วย
เมื่อข้าพเจ้าอยู่โรงเรียน คงจะตับไม่ปรกติยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะข้าพเจ้ารู้สึกไม่อยากทำการยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ไปเสียอีก ท่านผู้ใหญ่คอยแต่ตีด่าว่าข้าพเจ้าเกียจคร้าน หาทราบไม่ว่าเป็นด้วยตับข้าพเจ้าไม่ปรกตินั่นเอง ถึงตัวข้าพเจ้าก็พึ่งทราบต่อเมื่ออ่านแจ้งความขายยานั้นมาแล้ว ว่าการที่ข้าพเจ้าไม่ชอบไปโรงเรียนนั้นเป็นด้วยตับข้าพ เจ้าไม่ดี ประหลาดแต่ว่าถ้าตับเสียแต่เล็กๆ แล้ว ทำไมข้าพเจ้าจึงอยู่ได้จนป่านนี้"๙
หนังสือวชิรญาณนับว่าเป็นเวทีสำคัญ ให้นักประพันธ์มีชื่อของไทยหลายท่านได้แสดงฝีมือในวัยหนุ่ม จนต่อมาเป็นที่ประจักษ์ความสามารถแก่คนทั่วไป ท่านหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ น.ม.ส. นั่นเอง นักประพันธ์ท่านอื่นที่มีผลงานปรากฏเสมอ อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เช่น เรื่องนิทานเรื่องโข่ง๑๐, ถุ่ย ถุ่ย, เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง บุนนาค) เช่น เรื่องโมโลโมเก, อิเลิกเทิกลาก, จุดไต้ตำตอ, ซ่อนขุมทรัพย์ของคนตระหนี่, ขุนบัญญัติวรวาท (รัตน กลัมพากร) เช่น เรื่องแม่สื่อกระดาด, ทุกขะโต ทุกขะฐานํ, เนื้อคู่หนังคู่, ขุนประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) เช่น เรื่องทำคุณไม่บูชาโทษ โปรดสัตว์ไม่ได้บาป เป็นต้น
โดยภาพรวม "เรื่องอ่านเล่น" ในหนังสือวชิรญาณได้สะท้อนให้เห็น การเริ่มเปลี่ยนรูปแบบความนิยมของวรรณกรรมไทยจากขนบเดิม ที่ส่วนใหญ่เป็นร้อยกรอง เน้นแสดงความสามารถทางภาษาของผู้แต่ง เนื้อเรื่องมุ่งความบันเทิง (สนุก, ไพเราะ) หรือสอนศีลธรรม ต่อคนเป็นหมู่คณะ มีลักษณะเป็นเรื่องเหนือจริง (โลกสมมุติ) ชัดเจน มาเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ที่ใช้ร้อยแก้วเป็นสื่อ เนื้อเรื่องเน้นความสมจริง (เลียนแบบชีวิตคนจริง) เรื่องมีเอกภาพ กระชับไม่เยิ่นเย้อ (โวหารน้อย) ให้ความบันเทิงหรือหย่อนใจแก่รายบุคคล (อ่านเฉพาะตัว) ไม่เน้นการสอนศีลธรรม หรือการเสนอข้อคิดยังมีน้อย จากลักษณะการเริ่มเปลี่ยนแปลงไปของวรรณกรรมนี้ เห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กับการเปิดรับและเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ จากชาติตะวันตกของสังคมไทยอยู่มาก ซึ่งมีผลทำให้แนวคิด รสนิยม รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะชนชั้นนำเปลี่ยนแปลงไปด้วย
พระราชนิยมการประพันธ์
ในพระมหาธีรราชเจ้า
(ทศวรรษ ๒๔๔๐-๖๐)
ตามประวัติวรรณกรรมไทย ปัจจัยสำคัญที่มีความใกล้ชิดและส่งเสริมให้วรรณกรรมไทยสมัยใหม่พัฒนามาเป็นลำดับนั้นคือ วารสาร (magazine) ซึ่งเรียกเป็นสามัญในยุคแรกว่าหนังสือ ภายหลังการออกหนังสือวชิรญาณแล้ว ในต้นทศวรรษ ๒๔๔๐ เมื่อนักเรียนไทยที่ไปศึกษาในยุโรปทยอยกลับมา ก็ได้นำวัฒนธรรมการออกหนังสือพิมพ์ มาเผยแพร่ในหมู่ผู้มีการศึกษาของไทย ซึ่งเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับแต่มีการจัดการศึกษาหลวงและราษฎร์๑๑ คณะนักเรียนนอกชุดแรกที่ได้ออกหนังสือพิมพ์ โดยให้ชื่อว่าลักวิทยา มีสมาชิกหลักคือ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์), นายสนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) และนายนกยูง วิเศษกุล (พระยาสุรินทรราชา) ทั้งสามท่านล้วนมีบทบาทสำคัญในวงวรรณกรรมไทยสมัยใหม่
หนังสือลักวิทยาเริ่มออกในปี ๒๔๔๓ (และเลิกไปเมื่อปี ๒๔๔๖ เนื่องจากคณะผู้จัดทำมีงานราชการมากขึ้น) ได้แถลงวัตถุประสงค์ของหนังสือว่าเพื่อนำเสนอวรรณคดีตะวันตกในภาคภาษาไทย ด้วยวิธีการแปลและดัดแปลง เหตุนี้เองในปี ๒๔๔๔ จึงเกิดนวนิยายภาษาไทย (แต่มิได้แต่งโดยคนไทย) เรื่องแรกขึ้นชื่อเรื่องความพยาบาท๑๒ โดยพระยาสุรินทรราชา (พ.ศ. ๒๔๑๘-๘๕) ซึ่งใช้นามปากกาว่า "แม่วัน" แปลมาจากเรื่อง Vendetta (ปี ๒๔๒๙) ของ Marie Corelli (พ.ศ. ๒๓๙๘-๒๔๖๗) นักเขียนหญิงชาวอังกฤษ
เนื้อเรื่องของความพยาบาทนี้มีผู้วิเคราะห์ว่า เป็นนวนิยายแนว "ตลาด" ที่สะท้อนค่านิยมแบบ "วิกตอเรียนิยม" ของอังกฤษไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ เป็นยุคที่สังคมถือเคร่งครัดด้านศีลธรรมจรรยา แต่ความประพฤติจริงของคนกลับเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา เข้าทำนอง "หน้าไหว้หลังหลอก" การแปลของ "แม่วัน" ได้ตัดเนื้อหาของเรื่องส่วนที่สะท้อนและวิจารณ์สังคมอังกฤษออกเกือบหมด ทำให้ผู้อ่านชาวไทยยุคนั้นไม่เห็นทัศนะดังกล่าว ได้รู้แต่เรื่องของการชิงรักหักสวาทและการแก้แค้นเท่านั้น๑๓
เรื่องความพยาบาทนี้ทำให้ต่อมาเกิดนวนิยายไทยเรื่องแรก (แต่งโดยคนไทย) ขึ้นอย่างแท้จริง คือ หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพรหมณกุล พ.ศ. ๒๔๒๒-๒๕๐๖) นักเรียนฝึกหัดครูจากอังกฤษรุ่นเดียวกับ "ครูเทพ" ได้เขียนเรื่องที่ตนแต่งขึ้นชื่อความไม่พยาบาท๑๔ ลงในหนังสือรายเดือน ถลกวิทยา (ออกระหว่างปี ๒๔๔๓-๔๘)๑๕ โดยเลียนแบบเรื่องที่ "แม่วัน" แปล แต่เปลี่ยนให้เนื้อเรื่องจบตามแบบคติไทยคือ ไม่อาฆาตจองเวร ธรรมะชนะอธรรมในที่สุด
นักเขียนสำคัญของหนังสือลักวิทยาอีกท่าน คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (พ.ศ. ๒๔๑๙-๘๖) ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันว่าเป็น นักการศึกษา นักเศรษฐ ศาสตร์ เป็นผู้มีความเป็น "ครู" สูง ได้แต่งโคลงกลอน บทละคร และร้อยแก้ว (บทความ, เรื่องสั้น) อีกทั้งตำราเรียนไว้จำนวนมาก นามปากกาที่ท่านใช้ในการประพันธ์ มีอาทิ ครูเทพ, เขียวหวาน และนายถึก งานเขียนของครูเทพนั้น เป็นร้อยกรองจำนวนมากแต่เนื้อเรื่องหรือความคิดในบทกวี มักเป็นเรื่องสมัยใหม่คือเน้นเรื่องการศึกษา การอบรมเลี้ยงดูเยาวชน เรื่องเศรษฐกิจ และวิทยาการ
ผลงานประพันธ์ของท่านสะท้อนให้เห็นรอยต่อวัฒนธรรมใหม่แบบตะวันตก กับวัฒนธรรมเก่าแบบไทยอย่างชัดเจน คือ การใช้ฉันทลักษณ์ร้อยกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย) ซึ่งเป็นค่านิยมการประพันธ์เดิมของไทยที่เน้นแสดงฝีมือภูมิรู้ทางภาษาของกวี แต่ด้านเนื้อหาหรือประเด็นในโคลงกลอนของครูเทพ กลับนำเสนอแนวคิดเชิงวิชาการแบบตะวันตก ลักษณะนี้ทำ ให้เห็นความเป็นปราชญ์ทั้งตามขนบเก่า (ร้อยกรองไทย) และใหม่ (วิชาการตะวันตก) ของท่านอย่างเด่นชัด
ยุคปลายทศวรรษ ๒๔๔๐ ไปจนตลอดทศวรรษ ๒๔๕๐ ต่อ ๒๔๖๐ นั้น ผู้นำด้านการประพันธ์พระองค์สำคัญคือ พระมหาธีรราชเจ้า (พ.ศ. ๒๔๒๓-๖๘) ผู้ทรงริเริ่มพระราชนิยมหลายอย่างในสังคมไทย ดังที่ น.ม.ส. ได้ทรงเล่าไว้ในคำนำของเรื่องจดหมายจางวางหร่ำ (เมื่อคราวพิมพ์ปี ๒๔๗๘) ว่า
"...พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรง "เล่น" อยู่สามอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ ละครอย่างหนึ่ง สโมสรอย่างหนึ่ง ออกหนังสือพิมพ์อย่างหนึ่ง
ในเรื่องละครได้ทรงมาตั้งแต่ครั้งเสด็จอยู่เป็นนักเรียนในประเทศอังกฤษ และได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครมากเรื่องกว่าใครๆ ที่เราทราบ (อาจมีเว้นก็แต่ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) ดังที่ปรากฏอยู่ในวรรณ คดีแล้ว
ส่วนสโมสรนั้นก็ได้ทรงเริ่มตั้งแต่ในประเทศอังกฤษ คือสามัคคีสมาคมของนักเรียนไทย ครั้นเสด็จกลับกรุง เทพฯ แล้ว ก็ได้ทรงตั้งสโมสร คือ ทวีปัญญาสโมสร สโมสรเสือป่า และสโมสรอื่นๆ
การออกหนังสือพิมพ์ก็ทรงเริ่มในประเทศอังกฤษเช่นกัน...เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ [ปี ๒๔๔๖] แล้วก็ได้ทรงออก อัมพวะสมัย ทวีปัญญา จดหมายเหตุเสือป่า จดหมายเหตุของราชนาวีสมาคม ดุสิตสมิต เป็นต้น หนังสือพิมพ์เหล่านี้มีผู้อื่นเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ทรงพระราชนิพนธ์มากและโปรดเกล้าฯ ให้ชวนผู้อื่นเขียนด้วยเหมือนกัน..."๑๖
การ "เล่น" ออกหนังสือพิมพ์นั้น ในยุคก่อนถือ ว่าเป็นการให้การศึกษาหรือความรู้แก่ประชาชน (public) ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ ถือว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของชาติ ดังที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้เคยทำหน้าที่คณะบรรณาธิการชั่วคราว (ร่วมกับกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) ของหนังสือทวีปัญญาระยะหนึ่ง กับดำรงตำแหน่งสำคัญด้านการศึกษาคือเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้แสดงทัศนะไว้คราวหนึ่งว่า "หนังสือพิมพ์เป็นครูของคนทั่วไป...สอนแก่คนทุกชั้นไม่เลือกที่ไม่เลือกเวลา หนังสือพิมพ์ถ้าทำหน้าที่ผู้สอนได้ตรง ก็จะได้บุญเป็นผลดีแก่คนหมู่ใหญ่ โรงเรียนสอนแต่เฉพาะวิชาที่กำหนดไว้ให้สอน ส่วนหนังสือพิมพ์ถ้าคำนึงข้อ นี้ วางใจลงไปเพื่อการอย่างนี้ ฉันเห็นประโยชน์เหลือหลาย..."๑๗
หนังสือทวีปัญญา ได้ออกเผยแพร่อยู่ระหว่างปี ๒๔๔๗-๕๐ จึงยุติไป พระราชนิพนธ์ในพระมหาธีรราชเจ้าที่มีปรากฏนั้น มากมายนับตั้งแต่บทความ บทละคร (ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง) และเรื่องปกิณกะ ได้ทรงเสนอแนวคิดสำคัญต่างๆ ผ่านทางวรรณกรรมเหล่านี้ อาทิ การปลุกใจให้รักชาติ, การแนะนำวัฒนธรรมหรือ "แฟชั่น" ใหม่ (เช่น ทรงชักชวนให้ผู้หญิงนิยมนุ่งซิ่น และไว้ผมยาว), การให้เกียรติผู้หญิง, การเลิกระบบ "หลายเมีย" เพื่อแสดงถึงความเจริญ (มีการศึกษา) ของผู้ชายและชาติไทย, การประชาสัมพันธ์กิจกรรมเสือ ป่า เป็นต้น
บทละครพระราชนิพนธ์นับเป็นผลงานที่มีมากที่ สุดและน่าสนใจศึกษา กล่าวคือ นอกจากทรงสร้างสรรค์ ในลักษณะของวรรณกรรมแล้ว ยังทรงส่งเสริมการแสดงอีกด้วย โดยทรงเลียนแบบอย่าง "ละครอังกฤษ" เนื้อเรื่องของบทละครพูดพระราชนิพนธ์มักเป็นเรื่องสมัยใหม่ สะท้อนเหตุการณ์หรือบรรยากาศของยุคที่แต่ง เช่น เรื่องหัวใจนักรบ๑๘ และเสียสละ บางเรื่องทรงดัดแปลงมาจากของ "ฝรั่ง" เช่น เรื่องเพื่อนตาย๑๙, งดการสมรส, นินทาสโมสร๒๐, และหมอจำเป็น เป็นต้น ประเด็นที่มักปรากฏในเนื้อเรื่องบทละครคือ เรื่องการเสียสละ เรื่องประโยชน์ของกิจกรรมเสือป่า เรื่องผู้ชายมีหลายเมีย หรือผู้ชายแก่มีเมียสาวคราวลูก เป็นต้น ลักษณะเด่นของบทละครพูดในรัชกาลที่ ๖ คือ เนื้อเรื่อง บทพูด จนถึงโครงเรื่องมีความกระชับ บุคลิกและความคิดของตัวละครสมัยใหม่ ไม่มีการ "ร้องส่ง" คั่นฉาก (อย่างละครทั่วไปของยุค)
กวีอื่นที่มีผลงานแต่งบทละครในยุคนี้ มีอาทิ พระยาอุปกาศศิลปสิทธิ์ (แต่งเรื่องเข้าใจผิด๒๑), พระเทพศาสตร์สถิตย์ (แต่งเรื่องแว่นตาของคุณพี่), หลวงวิภัชวิทยาสาสน์ (แต่งเรื่องพลเมืองดี), หลวงบำเหน็จวรญาณ (แต่งเรื่องเสียรอย๒๒), พระพิสัณห์พิทยาภูน (แต่งเรื่องอำนาจยาควินิน) เป็นต้น โดยรวมเนื้อเรื่องบทละครของกวีเหล่านี้ มีบรรยากาศเป็นเรื่องในครอบครัว มักมีบทตลกทำนอง บ่าว (ส่วนใหญ่เป็น "เจ๊ก" พูดไทยไม่ชัด) เถียงกับนาย หรือเป็นเรื่องเข้าใจผิด "โอละพ่อ" ทำให้เนื้อเรื่องเยิ่นเย้อ บางเรื่องก็ "เชย" เพราะมุ่งสั่งสอนโดยตรง การแสดงมีขนบแบบเดิม เช่น การ "ป้อง" พูดกับคนดู และ/หรือ มีการร้องส่ง
นอกจากบทละคร (การแต่งและการแสดง) จะแพร่หลายในรัชสมัยพระมหาธีรราชเจ้าแล้ว วัฒนธรรม "หนังสือ" ยังเฟื่องฟูมากด้วย ในช่วงทศวรรษ ๒๔๕๐ ต่อเนื่องถึง ๒๔๗๐ นั้น ได้มีหนังสือพิมพ์รายเดือนและรายปักษ์ออกเผยแพร่หลายฉบับ อาทิ ผดุงวิทยารายปักษ์ (ออกระหว่างปี ๒๔๕๕-๕๘), ศรีกรุงรายเดือน (ปี ๒๔๕๖-๗๐), เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ (ปี ๒๔๕๘-๗๒), ศัพท์ไทยรายเดือน (ปี ๒๔๖๔-๗๐), ไทยเขษมรายเดือน (ปี ๒๔๖๗-๗๘), สารานุกูลรายสัปดาห์ (ปี ๒๔๖๘-๗๒) และเริงรมย์รายปักษ์ (ปี ๒๔๖๙-๗๒) เป็นต้น
หนังสือพิมพ์เหล่านี้เป็นเวทีให้นักเขียนและนักแปลวรรณกรรมสมัยใหม่ยุคแรกแสดงความสามารถ จนต่อมาได้เป็นนักประพันธ์มีชื่อจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีทั้งข้าราชการหนุ่มและสุภาพสตรีที่มีการศึกษารุ่นแรกๆ ตัว อย่างนักประพันธ์และผลงานในยุคนี้ที่ได้รับความนิยม อาทิ ม.จ.หญิงศุขศรีสมร เกษมศรี (พ.ศ. ๒๔๒๙-๒๕๐๖) ทรงใช้นามปากกา "ศ.ร." ได้แปลเรื่องเตลมา (Thelma) และแอบแซงธ์ (Absinth) (ปี ๒๔๕๕), คุณหญิงเสมอใจ จินดารักษ์ (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๒๑) ใช้นามปากกา "ซันฟลาวเวอร์" แปลเรื่องมรดกชั่วร้ายของตระกูล และเครื่องเพ็ชรของแดนเวอร์ส (ปี ๒๔๖๐), น.ส.ลม่อม สีบุญเรือง (พ.ศ. ๒๔๓๖-๖๒) นามปากกา "ยูปิเตอร์" แปลเรื่องความเขลาของนายโปลิศ (ปี ๒๔๕๕) และเรื่องปลาด (The Secret of an Empress) เป็น ต้น
ฝ่ายบรรดา "คุณหลวง" มีอาทิ หลวงรัชฏการโกศล (เกด กรัสนนท์ พ.ศ. ๒๔๓๐-ไม่ทราบปี) นาม ปากกา "บางขุนพรหม" แปลเรื่องอาร์แซงลูแปง ของ Maurice Leblanc (พ.ศ. ๒๔๐๗-๘๔), หลวงนัยวิจารณ์ (เปล่ง ดิษยบุตร พ.ศ. ๒๔๓๓-๗๓) นาม ปากกา "ศรีสุวรรณ" แปลเรื่องสมบัติอมรินทร์ (Trea-sure of Heavens) (ปี ๒๔๕๙) และทหารพระเจ้า นโปเลียน (Etienne Gerard), หลวงอรรถเกษมภาษา (เพ็ญ บุนนาค พ.ศ. ๒๔๓๓-๖๖) นามปากกา "คนดง" แปลเรื่องสืบเรื่องโจรสามส้อง และความลับในมหาสมุทร (ปี ๒๔๕๖), หลวงบุณยมานพพาณิชย์ (อรุณ บุณย มานพ พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๕๐๗) นามปากกา "แสงทอง" แปลเรื่องของ F.W. Bain (พ.ศ. ๒๔๐๖-๘๓) (๑๓ เรื่อง) เช่น อติรูป (ปี ๒๔๖๔), วนาวัลลี, ทินมารี นอก จากนี้ยังมีผลงานเขียนเด่น อาทิ เรื่องสั้นชุดคุณถึก (ปี ๒๔๗๗) และนิราศรอบโลก (ปี ๒๔๘๓), หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์ พ.ศ. ๒๔๓๙-๙๗) นามปากกา "แม่สอาด" แปลชุดเชอร์ลอคโฮล์มส์ ของ Sir Arthur Conan Doyle (พ.ศ. ๒๔๐๒-๗๓) ส่วนผลงานเขียนที่นับเป็นแนวใหม่ของวรรณกรรมไทย เช่น อาชญนิยายเรื่องแพรดำ (ปี ๒๔๖๕) และหน้าผี (ปี ๒๔๖๖) เป็นต้น
ความนิยมวรรณกรรมร้อยแก้วสมัยใหม่ นับจากกลางทศวรรษ ๒๔๕๐ ของสังคมไทย ทำให้เกิดนักประพันธ์และผลงานประเภทเรื่องสั้นและนวนิยายขึ้นมาก มาย แม้องค์พระมหาธีรราชเจ้าก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องแนวนี้ด้วย เรื่องหนึ่งซึ่งมีเนื้อเรื่องและแนวคิดน่าสนใจศึกษา คือเรื่องหัวใจชายหนุ่ม โดยทรงนำเสนอเรื่องในรูปจดหมาย (รวม ๑๘ ฉบับ) ฉากเวลาของเรื่องเป็นช่วงประมาณปี ๒๔๖๑-๖๓ เนื้อเรื่องเป็นการสะท้อนความคิดของหนุ่มนักเรียนนอก (จบจากออกซฟอร์ด) ต่อวัฒนธรรมและสังคมไทยในเรื่องต่างๆ เช่น การเห่อ "เจ้า" ของคนไทย, การรับราชการที่ต้องอาศัยระบบแนะ นำ-อุปถัมภ์ โดยไม่คำนึงถึงความสามารถของตัวบุคคล, ความไม่นิยมอาชีพค้าขายของคนไทย เพราะเห็นว่าไม่ทำให้ "เป็นใหญ่เป็นโต" อย่างรับราชการ, การต่อต้านการแต่งงานแบบคลุมถุงชน, ทัศนะเรื่องผู้หญิงสวยในยุคทศวรรษ ๒๔๖๐, ทัศนะต่อการมีเมียฝรั่ง, แนวคิดเรื่อง "เมียเดียว" และวิพากษ์เรื่อง "หลายเมีย" เป็น ต้น
แนวคิดต่างๆ ข้างต้นล้วนเป็นอิทธิพลจากการเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกของคนไทย แล้วย้อนมองเห็นจุดอ่อนความบกพร่องในวัฒนธรรมของตน กลุ่ม "นัก เรียนนอก" จึงพยายามเผยแพร่แนวคิดใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมาแต่อดีตเหล่านั้น แนวคิดส่วนใหญ่ข้างต้นเป็นประเด็นที่นักเขียนในยุคทศวรรษต่อมา (๒๔๗๐) ยังคงรณรงค์วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ดังเช่นในงานของ ม.จ.อากาศดำเกิง ดอกไม้สด และศรีบูรพา กล่าวได้ว่าพระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงบุกเบิกวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ที่เน้นเสนอแนวคิดแก่ผู้อ่าน นอกเหนือจากเพียงให้ความบันเทิงเป็นสำคัญ ตามขนบวรรณกรรมเดิมของไทย
"ส่ง เทภาสิต"
ประกายใหม่ในวงการประพันธ์ไทย
(นับแต่ทศวรรษ ๒๔๗๐)
บรรยากาศของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ในทศวรรษ ๒๔๖๐ คึกคักด้วยนักประพันธ์จำนวนมาก ทั้งที่ถนัดเรื่องแปลและแต่งเอง นอกจากนี้ยังมีนักเขียนเรื่องภาพยนตร์๒๓ อีกด้วย ในช่วงปลายทศวรรษผู้อ่านชาวไทยได้หันมานิยมเรื่องไทยๆ มากขึ้นกว่าเรื่องแปลหรือแปลง ดังที่หลวงสารานุประพันธ์ในฐานะบรรณาธิการของหนังสือเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ให้ข้อสังเกตไว้ที่ "น่า [หน้า] ของบรรณาธิการ" เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๔๖๖ ว่า
"...เมื่อ ๗-๘ ปีมาแล้ว ท่านคงจำได้ พวกเราชอบอ่าน [เรื่อง] ฝรั่งที่แปลเป็นภาษาไทยกันมาก ไม่สู้นิยมแต่งเรื่องไทยแท้กี่มากน้อย จนถึงบางคนแต่งเรื่องไทยขึ้น ต้องใช้พระเอกนางเอกเป็นฝรั่งเพื่อตบตาผู้อ่านฯ แต่มาบัดนี้สิเหตุการณ์ตรงข้ามเสียหมดแล้ว พวกเรากลับมีนิสัยมาชอบเรื่องไทยมากกว่าเรื่องฝรั่ง ดังนี้เล่าหนังสือรายเดือนต่างๆ ในยุคนี้ จึงพากันหันเข็มมาเดินให้ถูกความนิยมของผู้อ่าน คือหาเรื่องไทยลงเป็นจ้าละ หวั่น..."
นอกจากนี้ผู้จัดพิมพ์หนังสือรายหนึ่งซึ่งใช้นาม แฝงว่า "เพ็ชรรัตน์" ได้บอกถึงกฎเกณฑ์การเลือกพิมพ์นวนิยายของยุคนั้นใน "คำแถลงการณ์ของผู้จัดพิมพ์" ของหนังสือเรื่องศัตรูคู่กฤตยา (หรือผลแห่งความไม่ริษยา) พิมพ์เมื่อปี ๒๔๖๑ ดังนี้ "...[เรื่องที่จะพิมพ์] ต้องมีลักษณะ ๕ ประการ คือ เนื้อเรื่องจะต้องเป็นไปได้ เหมาะแก่กาล ไม่ก้าวร้าวกระทบกระเทียบเปรียบเปรยใครทั้งสิ้น มีเหตุผลสมจริง และเป็นคติสอนใจ..."๒๔ ข้อความที่อ้างมาทั้งสองนี้ทำให้เห็นว่าทศวรรษ ๒๔๖๐ (และได้ต่อเนื่องไปถึง ๒๔๗๐) วรรณกรรมไทยสมัยใหม่พัฒนาขึ้นทั้งในด้านปริมาณ คือ รูปแบบงานที่เป็นนวนิยายหรือเรื่องสั้น (แต่ง-แปล-แปลง), เรื่องภาพยนตร หรือบทละคร และด้านคุณภาพก็เริ่มมีการกำหนดมาตร ฐานขึ้นด้วย
ส่ง เทภาสิต เป็นนักเขียนส