บทความ
แม่น้ำจรเข้ หรือ จำปูน?
ศิลปวัฒนธรรม วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 12
วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์
แม่น้ำจรเข้ หรือ จำปูน?
เป็นที่น่าสังเกตว่านักเขียนผู้ยิ่งใหญ่มักจะเกิดมาพร้อมกับโรคประจำตัวที่ร้ายแรงและความตายที่มาก่อนเวลาและอายุวัยอันสมควร อาทิ ม.จ. อากาศดำเกิง (๒๗), อ. อุดากร (๒๘), ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน (๓๙), กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (๔๐) หรือ เทพ มหาเปารยะ นักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น ในวาระครบ ๑๐๐ ปี เรื่องสั้นไทย ด้วยอายุวัย ๓๘ พร้อมกับเรื่องสั้นคลาสสิคในดวงใจของนักเขียนและคนทำหนัง (รุ่นใหม่) เรื่องจำปูน
จำปูน เป็นผลงานของ เทพ มหาเปารยะ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และนักแปล เขาเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับการศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และปีนัง จากนั้นก็เข้าทำงานตามบริษัทต่างๆ หลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์ Bangkok Daily Mail ผู้จัดการโรงภาพยนตร์พัฒนากร และผู้จัดการบริษัทป่าไม้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว กรมรถไฟ จนกระทั่งสุขภาพทรุดโทรม เป็นวัณโรคจึงลาออกจากงาน พักผ่อนและเขียนหนังสืออยู่กับบ้านอย่างจริงจัง
ในช่วงเวลานั้นเทพมีฐานะทางด้านการประพันธ์แล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างผลงานโดดเด่นอะไรโดยทันที เมื่อเขาเขียนเรื่องสั้นขนาดยาวชื่อจำปูน ลงในนิตยสารรายเดือน สิลปิน ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นามของเทพก็ขจรขจายในแวดวงวรรณกรรมระดับแนวหน้า
จำปูน บอกเล่าจากหมอสองคนถึงคนไข้หนุ่มที่สะเทือนใจที่เห็นหญิงสาวคนรักถูกจระเข้กัดกินอย่างทรมานตา เธอชื่อจำปูน เธอตายเพราะสาเหตุใดยังเป็นปริศนาสำหรับเขาตลอดไป
เมื่อเรื่องราวของจำปูนได้รับการถ่ายทอดออกมา นอกจากจะสร้างความเกรียวกราวทางการอ่านแล้ว เรื่องราวของจำปูนยังเป็นคดีความกับชาวบ้านที่ภูเก็ตอย่างครึกโครมด้วย เมื่อเจ้าสัวคนหนึ่งเดือดร้อนและฟ้องร้องว่า เทพเอาเรื่องราวของตนมาเขียน และมีบางฉากที่บิดเบือนทำให้เขาเสียหายระดับจังหวัด ซึ่งหลังจากพิสูจน์ในแง่การประพันธ์แล้ว ทุกอย่างยกประโยชน์ให้วรรณกรรม
๒๐ ปี ต่อมา จำปูน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ฉบับที่น่าจดจำและอลังการงานสร้างคือฉบับของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล มีการทำงานร่วมทุนระหว่างบริษัทละโว้ภาพยนตร์ กับบริษัทชอว์บราเดอร์ ของฮ่องกง
จำปูน ได้รับการถ่ายทำเป็น ๒ เวอร์ชั่น คือไทยและฮ่องกง ดังนั้นคนไทยก็จะดูจำปูนชื่อเดียวกันด้วยบทบาทการแสดงของ แมน ธีรพล, ทักษิณ แจ่มผล, ธานินทร์ อินทรเทพ, ทัต เอกทัต, สมจิตต ทรัพย์สำรวย, ส.อาสนจินดา และ มิส จูลี่ ซีเหย่น เป็นจำปูนฉบับของไทย เรื่องราวดำเนินตามหนังสือและการเสริมตัวละครเข้าไปเพื่อให้เรื่องราวเข้มข้นขึ้น
ส่วนเวอร์ชั่นฮ่องกง มีการดัดแปลงเรื่องราวให้โดนใจชาวฮ่องกงขึ้นมาหน่อย ตั้งชื่อว่าแม่น้ำจรเข้ (Crocodile River หรือ Ngok yue hiu) เปลี่ยนเนื้อหาเล็กน้อยให้เป็นครอบครัว ๒ ครอบครัวไม่ถูกกัน มีแม่น้ำขวางกั้นเป็นอุปสรรค ซึ่งในตอนจบนางเอกซึ่งถูกพ่อกีดกันแถมยิงปืนใส่พระเอกซึ่งลอยคออยู่ในแม่น้ำ ตัดสินใจว่ายน้ำมาหาพระเอกจนคนทั้งสองตายในแม่น้ำจรเข้ หนังเปลี่ยนชื่อจากจำปูนเป็นลั่นทม นำแสดงโดย จางชุง, ลีติง, หลอเหว่ย มีอาคม มกรานนท์, เยาวเรศ นิศากร, แมน ธีรพล ร่วมแสดง หนังเด่นมากในแง่การนำเสนอเรื่องราวดราม่า และภาพวัฒนธรรมไทย และภาพบ้านเมืองสมัยต้นๆ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐
จำปูน ฉบับภาพยนตร์เต็มไปด้วยคุณภาพในด้านงานสร้าง แต่สำหรับด้านการดัดแปลง ด้วยปัจจัยที่จำกัดของเนื้อหาซึ่งมาจากเรื่องสั้น และจุดสำคัญของเรื่องอยู่ในช่วงจำปูนดิ้นรนที่จะไปหาคนรัก พบภาพบาดตาบาดใจ และย้อนกลับมาให้จระเข้พิพากษา ซึ่งกินเวลาไม่นานนัก ทำให้เนื้อหาของหนังไกลจากความคมเข้มของเทพ มหาเปารยะ นักเขียนเรื่องสั้นผู้ซึ่งต่อสู้กับแม่น้ำเลือดที่เป็นพิษในร่างกายในระหว่างการเขียนจำปูน
หากผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ประสงค์จะดัดแปลงจำปูนออกมาเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง ควรจะเล่าเรื่องของเทพลงไปด้วยจำปูน จะสมบูรณ์มาก